จากยาบรรเทาริดสีดวง : รู้หรือไม่? ลีกอาชีพไทยเคยใช้ชื่อว่า "ปลามังกรลีก"

จากยาบรรเทาริดสีดวง : รู้หรือไม่? ลีกอาชีพไทยเคยใช้ชื่อว่า "ปลามังกรลีก"

จากยาบรรเทาริดสีดวง : รู้หรือไม่? ลีกอาชีพไทยเคยใช้ชื่อว่า "ปลามังกรลีก"
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

“ผมยังมีหลักฐานอีกหลายอย่างที่จะต้องชี้แจงให้ท่านทราบ… กรุณานั่งลงก่อน… ผมยังไม่นั่ง… ทำไมคุณถึงไม่นั่ง?... ‘ก็ลมมันเย็น’”

เชื่อว่าแฟนบอลชาวไทยคงคุ้นเคยกับ ประโยคดังกล่าว จากโฆษณายาบรรเทาริดสีดวง ตราปลามังกร ที่เคยโด่งดังทางวิทยุ โทรทัศน์ เมื่อหลายสิบปีก่อน 

แต่หากเอ่ยถึง “ปลามังกรลีก ดิวิชั่น 1” เชื่อเหมือนกันว่าเป็นชื่อที่ไม่ค่อยคุ้นหู แฟนบอลไทยสักเท่าไหร่

 

จนบางท่านอาจไม่เคยรู้มาก่อนด้วยซ้ำว่า ยาบรรเทาริดสีดวงเจ้าดังรายนี้ เคยมาเป็น สปอนเซอร์การแข่งขันอย่างเป็นทางการลีกฟุตบอลอาชีพในไทย 

Main Stand ขอพาผู้อ่านไปย้อนความทรงจำ กับครั้งหนึ่งที่ “ยาตราปลามังกร” เคยหนุนหลังวงการลูกหนังไทย ในยุคที่ลีกรองเวลานั้น แทบไม่มีมูลค่า ที่ใครจะสนใจมาลงทุนเฉกเช่นทุกวันนี้

 1

ยาปลามังกรคือใคร?

แบรนด์ตรา “ปลามังกร” มีต้นกำเนิดมาจาก บริษัท สุวรรณโอสถ (ตราปลามังกร) จำกัด ซึ่งประกอบธุรกิจผลิตยาแผนโบราณ โดยมีผู้ก่อตั้งคือ นายไต้เล่ง แซ่ก๊วย ชาวจีนจากมณฑลซัวเถา ที่อพยพย้ายมาตั้งรกรากทำมาหากินในเมืองไทย ในช่วงที่จีนมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง

นายไต้เล่ง เริ่มทำงานจากการเป็นลูกจ้างในร้านขายยา ก่อนที่จะเรียนรู้ จนสามารถผลิตเองได้ในเครื่องหมายการค้า ตราปลามังกร 

ซึ่งคำว่า “ปลามังกร” มีที่มาจาก สัตว์เทพในตำนาน ที่เล่าขานกันว่า หาก ปลาหลีฮื้อ ตัวใด มีความเพียรพยายามขั้นสูง จนสามารถว่ายน้ำและกระโดดข้ามประตูแห่งสวรรค์ จะได้จุติเป็น ปลาเทพมังกร 

แบรนด์ ปลามังกร จึงได้ใช้รูปปลาเทพมังกร มาเป็นลักษณะของเครื่องหมายการค้า ที่บริเวณกลางปลายหาง จะมีสัญลักษณ์ หยิน-หยาง อยู่ แสดงถึงความสมดุลของธาตุ และการเคลื่อนไหวที่ไม่สิ้นสุด ลอยอยู่เหนือน้ำ ซึ่งน้ำ เปรียบดั่งสัญลักษณ์ของความคงอยู่ได้ทุกสถานะ  

 2

ต่อมาได้มีการขยายกิจการจนเปิดร้านยาเป็นของตัวเอง ขยับมาเป็น ห้างหุ้นส่วนจำกัด และบริษัท ในรุ่นต่อมา จนถึงปัจจุบัน ที่ทายาท “ทรัพย์ศรีทอง” รุ่นที่ 3 บริหารกิจการ 

ด้วยความที่ สุวรรณโอสถ พยายามสร้างภาพลักษณ์ใหม่ๆ แก่ผู้บริโภค เพราะในอดีตหากเอ่ยถึง ยาแผนโบราณ ก็อาจรู้สึกถึงความไม่ทันสมัย ไม่ปลอดภัย และขาดความเป็นมาตรฐาน 

ตราปลามังกร จึงขยับขยายสู่วงการโฆษณาแทบทุกรูปแบบ จนกลายเป็นแบรนด์ที่ติดหูคนไทย พร้อมวลียอดฮิตอย่าง “ก็ลมมันเย็น” ที่ถูกเปิดวนซ้ำๆ จนสามารถจำโฆษณายาบรรเทาริดสีดวงทวาร ชิ้นนี้ได้เป็นอย่างดี

แต่จะด้วยความบังเอิญหรือตั้งใจ ที่ต้องการขยายแบรนด์ให้คนรู้จักในวงกว้างมากที่สุด วันหนึ่ง แบรนด์ ปลามังกร ได้ขยับมาสู่วงการฟุตบอลลีกอาชีพ ด้วยการเป็น ผู้สนับสนุนหลักการแข่งขัน ฟุตบอลดิวิชั่น 1 ประจำฤดูกาล 1999 พร้อมกับเปลี่ยนชื่อในซีซั่นนั้นเป็น “ปลามังกรลีก ดิวิชั่น 1”

ปลามังกร ลีก ดิวิชั่น 1

สำหรับฟุตบอลดิวิชั่น 1 ก่อตั้งขึ้นในปี 1997 โดยมีจุดประสงค์เพื่อต้องการให้เป็น ลีกระดับที่ 2 เพื่อรองรับสโมสรที่ตกชั้นจาก จอห์นนี่ วอล์กเกอร์ ไทยแลนด์ ซอกเกอร์ ลีก ฤดูกาล 1996 และสโมสรที่เลื่อนชั้นมาจากถ้วย ข. ลงเล่นกันในลีกแห่งนี้ 

สโมสรส่วนใหญ่จึงเป็นพวกทีมองค์กร หน่วยงานราชการ ที่ตกชั้นลงมา หรือทีมที่วนเวียนอยู่ใน ถ้วย ก. และ ข.เดิม โดยใน 2 ฤดูกาลแรกยังคงใช้ชื่อการแข่งขัน ฟุตบอลดิวิชั่น 1 กระทั่งในฤดูกาล 1999 ได้มีการเปลี่ยนมาใช้ชื่อ “ปลามังกรลีก ดิวิชั่น 1” ตามชื่อผู้สนับสนุนการแข่งขัน 

 3

“ต้องยอมรับว่าในยุคนั้น ถือเป็นเรื่องที่ค่อนข้างแปลกใหม่มาก ที่จะมีสินค้ามาเป็นผู้สนับสนุนลีกรอง อย่าง ดิวิชั่น 1 ซึ่งผมก็ไม่ทราบว่าตัวเลขมูลค่าเงินมันมากน้อยอย่างไร เพราะดิวิชั่น 1 เวลานั้น เป็นลีกที่ไม่ได้รับความนิยม ยิ่งเมื่อตัวที่ดูผลิตภัณฑ์สินค้าที่ขึ้นชื่อของตราปลามังกร ก็เป็นยาบรรเทาริดสีดวงทวาร ซึ่งดูไม่ค่อยเข้ากับฟุตบอลสักเท่าไหร่”

วสันต์ จันทร์ประนต เจ้าของเพจ สารานุกรมฟุตบอลไทย ที่ศึกษาข้อมูลและติดตามบอลอาชีพไทย มาเป็นเวลานาน อธิบายถึงความรู้สึกในช่วงเวลานั้นที่เขารู้สึกแปลกใจกับการเห็น ฟุตบอลดิวิชั่น 1 มีแบรนด์สินค้าที่คาดไม่ถึงเข้ามาสนับสนุนการแข่งขัน 

เมื่อเทียบกับลีกสูงสุดที่มี จอห์นนี วอกเกอร์, คาลเท็กซ์ และ จีเอสเอ็ม ที่เป็น Official Title Sponsor (ผู้สนับสนุนหลักการแข่งขันอย่างเป็นทางการ) ปลามังกร ดูเป็นชื่อที่แตกต่างออกไป 

การแข่งขัน “ปลามังกรลีก ดิวิชั่น 1” ฤดูกาล 1999 มีสโมสรเข้าร่วมดวลแข้งทั้งสิ้น 10 สโมสร ประกอบด้วย ราชประชา ที่ตกชั้นจาก คาลเท็กซ์ ไทยแลนด์ลีก, ชลบุรี-สันนิบาตฯ สมุทรปราการ, ราชนาวี, ตำรวจ, ธนาคารทหารไทย, ธนาคารเพื่อการเกษตรฯ, พนักงานยาสูบ, ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ และสองทีมที่เลื่อนชั้น จาก ถ้วย ข. อย่าง  การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และ เซ็นทรัล ร่วมทำฟาดแข้งกัน

หลังผ่านการแข่งขันไป 18 นัด แชมป์ฟุตบอล “ปลามังกรลีก ดิวิชั่น 1” ตกเป็นของ ตำรวจ ที่มี วิฑูรย์ กิจมงคลศักดิ์ ทำหน้าที่โค้ชแอนด์เพลเยอร์ และมีขุมกำลังนักเตะชุดนั้น อาทิ ประเสริฐ ช้างมูล, พนมกรณ์ สายสอน, สมชาย มากมูล, ยอดชาย เดชเลย์ ดาวซัลโวประจำซีซั่นดังกล่าว คว้าสิทธิ์เลื่อนชั้นขึ้นสู่ลีกสูงสุดพร้อมกับ ราชนาวี รองแชมป์

หลังจากวันนั้น 

“ปลามังกรลีก ดิวิชั่น 1” จึงถือเป็นมิติใหม่และนับเป็นครั้งแรกของ ลีกอาชีพระดับรองของ ที่มีการใช้ชื่อ ผู้สนับสนุนการแข่งขันอย่างเป็นทางการ มาไว้ในชื่อลีก 

เพราะหลังจบฤดูกาล 1999 ฟุตบอลดิวิชั่น 1 ไม่มีสปอนเซอร์เจ้าใดเข้ามาทำการสนับสนุนอีกนานถึง 12 ปี 

ปัจจัยสำคัญหนึ่งเกิดจาก กระแสความนิยมที่ลดลง และสภาพลีกที่ค่อนข้างซบเซา แม้แต่บนลีกสูงสุด ที่ภายหลังจากหมดสัญญากับ GSM ในฤดูกาล 2004 การแข่งขันไทยลีก ก็ขาดผู้สนับสนุนไปอีก 6 ฤดูกาล จนถึงซีซั่น 2010 ที่ได้เครื่องดื่มเกลือแร่ “สปอนเซอร์” เข้ามาเป็นสปอนเซอร์ลีกตามชื่อยี่ห้อสินค้า

ส่วนดิวิชั่น 1 ในฤดูกาล 2012 แบรนด์จักรยานยนต์ชื่อดังระดับโลก “ยามาฮ่า” ได้เข้ามาเป็นสปอนเซอร์การแข่งขัน พร้อมกับเปลี่ยนชื่อรายการเป็น ยามาฮ่า ลีก วัน และ ยามาฮ่าลีก ดิวิชั่น 1 จนถึงซีซั่น 2016 ก่อนที่จะเป็นเครื่องดื่มชูกำลัง M-150 ที่เข้ามาสนับสนุนลีกรอง ในชื่อ M-150 แชมเปียนชิพ ตั้งแต่ฤดูกาล 2017 ถึงปัจจุบัน

ขณะที่ ยาบรรเทาริดสีดวง ตราปลามังกร แม้จะไม่ได้เฉียดเข้ามาสนับสนุนวงการลูกหนังอีกเลย แต่แบรนด์ดังเจ้าของประโยคฮิต “ก็ลมมันเย็น” ยังคงให้การสนับสนุนกีฬาอาชีพอื่นๆ ในไทย โดยเฉพาะ มวยไทย ที่บรรดาเซียนมวย น่าจะคุ้นเคยและเห็นโฆษณาของพวกเขาอยู่เป็นประจำ ยามมีการถ่ายทอดสดชกมวยตามช่องต่างๆ 

นั่นคือเรื่องราวที่เกิดขึ้นในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาของฟุตบอลอาชีพไทย จากวันวานที่เป็นเพียงลีกที่ไม่ได้มีมูลค่าสูงนัก มาถึงวันนี้ที่แม้แต่ลีกรอง ก็มีมูลค่าทางการตลาด และสามารถสร้างแรงดูดดึงให้สินค้า บริการต่างๆ หันมาสนใจเข้ามาเป็นสนับสนุนไทยลีก 2 

ในมุมมองของ วสันต์ จันทร์ประนต จากเพจสารานุกรมฟุตบอลไทย บอกกับเราว่า ฟุตบอลลีกรองในปัจุบันนั้น มีเสน่ห์ ความสนุกของการแข่งขัน และคุณภาพผู้เล่นที่ไม่แพ้ลีกสูงสุด รวมถึงการได้ทีมจังหวัดเข้ามา ก็ช่วยทำให้ลีกแห่งนี้แข็งแรงมากขึ้น ต่างจากวันวานที่เป็นการแข่งขันที่มีแต่ ทีมองค์กรเกรดรอง 

“ถ้าวัดว่า ไทยลีก มีความน่าสนใจ 100 เปอร์เซนต์ ผมมองว่าทุกวันนี้ ไทยลีก 2 ก็ได้รับความสนใจไม่ต่ำกว่า 70 เปอร์เซนต์ ไม่ใช่ 50 เปอร์เซนต์นะ  ดังนั้นลีกจึงมีมูลค่าขึ้นมาก ถ้าเป็นคุณภาพผู้เล่นไทย ส่วนใหญก็ไม่ได้แตกต่างกับไทยลีก ยกเว้นพวกเกรดทีมชาติ ที่แตกต่างกันจริงๆ มีเพียงแค่ตัวต่างชาติเท่านั้น ขนาดนักฟุตบอลเกรดอย่าง ธนบูรณ์ เกษารัตน์ ยังยอมลงมาเล่นระดับ ไทยลีก 2 เลยทุกวันนี้”

4

“อีกอย่าง ไทยลีก 2 เป็นลีกที่ทุกทีม มีความคาดหวังว่าอีกก้าวเดียวจะได้ขึ้นไทยลีก ก็ทำให้การแข่งขันมีความสนุกเข้มข้น ยิ่งโดยเฉพาะช่วงกลางถึงท้ายฤดูกาล สังเกตได้จากทีมที่มีลุ้นเลื่อนชั้นมีมากถึง 5-6 ทีมในแต่ละฤดูกาล การแข่งขันสามารถพลิกได้ตลอด ขณะที่ลีกสูงสุดทีมลุ้นแชมป์เต็มที่มีไม่เกิน 2-3 ทีมเท่านั้น”

“เราจึงเห็นได้ว่า ทุกวันนี้ไม่ใช่แค่สปอร์เซอร์หลักของการแข่งขันเท่านั้น ที่ภาคธุรกิจสนใจอยากเป็น สปอนเซอร์  พวกสโมสรต่างๆใน ไทยลีก 2 ก็มีแบรนด์ธุรกิจเข้าไปสนับสนุน เป็นสปอนเซอร์ให้ทีมเยอะขึ้น เพราะส่วนมากในไทยลีก 2 จะเป็นทีมจังหวัด ที่ฐานแฟนบอลเยอะอยู่แล้ว อย่าง หนองบัวฯ, อยุธยา, ขอนแก่น หรือ อุดรฯ ที่มีแฟนบอลถึง 4-5 พันต่อนัด ซึ่งมากกว่าไทยลีกบางสโมสรอีก ก็เป็นสิ่งที่แตกต่างกันออกไปหากเทียบกับลีก เมื่อ 20 ปีก่อน”

อัลบั้มภาพ 5 ภาพ

อัลบั้มภาพ 5 ภาพ ของ จากยาบรรเทาริดสีดวง : รู้หรือไม่? ลีกอาชีพไทยเคยใช้ชื่อว่า "ปลามังกรลีก"

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook