121 ทีมไม่มีพวกเขา : จังหวัดไหนบ้างในไทยที่ไม่มีทีมฟุตบอล?

121 ทีมไม่มีพวกเขา : จังหวัดไหนบ้างในไทยที่ไม่มีทีมฟุตบอล?

121 ทีมไม่มีพวกเขา : จังหวัดไหนบ้างในไทยที่ไม่มีทีมฟุตบอล?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

แม่ฮ่องสอนกับบึงกาฬ เป็น 2 จังหวัดที่ยังไม่เคยมีทีมฟุตบอลอาชีพมาก่อน แต่รู้หรือไม่ว่า ไทยลีก ทั้ง 4 ระดับ ในฤดูกาล 2019 ไม่ได้มีแค่ 2 จังหวัดเท่านั้นที่ไม่มีทีมฟุตบอลเข้าร่วมการแข่งขัน

 

เพราะหากสำรวจลึกลงไป จะพบว่ามีถึง 17 จังหวัด ที่ไม่มีทีมฟุตบอลเข้าร่วมการแข่งขันฟุตบอลลีกอาชีพ (T1-T4) ของสมาคมกีฬาฟุตบอลฯ ส่วนจะมีจังหวัดไหนบ้าง ด้วยเหตุผลอะไร ติดตามได้ที่นี่

จังหวัดแม่ฮ่องสอน

เริ่มกันที่ 1 ใน 2 จังหวัดที่ยังไม่เคยมีทีมฟุตบอลอาชีพ นั้นคือ จังหวัดแม่ฮ่องสอน ดินแดนที่อยู่ในอ้อมกอดขุนเขา แม้ว่าตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา จะมีข่าวลือตามสื่อกีฬาออกมาเสมอว่า แม่ฮ่องสอน เตรียมส่งทีมเข้าร่วมการแข่งขันฟุตบอลลีกอาชีพ แต่สุดท้ายเป็นเรื่องที่ยังไม่เคยเกิดขึ้นจริง

 1

อุปสรรคมากมาย ที่ทำให้จังหวัดนี้ยังไม่มีทีมฟุตบอลอาชีพ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องงบประมาณที่ยังขาดนายทุนเข้ามาสนับสุน สนามแข่งขันที่ยังไม่ได้ผ่านมาตรฐาน รวมไปถึงเรื่องการเดินทางที่ค่อนข้างลำบากในการออกไปเยือนคู่แข่งในแต่ละครั้ง เอาแค่การเดินทางเข้าสู่จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นจังหวัดที่ใกล้สุดยังใช้เวลาเดินทางเกือบ 6 ชั่วโมง ครั้นจะขึ้นเครื่องบินก็มีค่าใช้จ่ายที่สูงมาก

แต่ใช่ว่าจังหวัดแม่ฮ่องสอนจะตัดขาดจากโลกฟุตบอลไปทั้งหมด เมื่อพวกเขาก็ยังส่งทีมฟุตบอลเข้าร่วมการแข่งขันในทัวร์นาเมนต์ต่างๆ รวมไปถึงการแข่งขันฟุตบอลลีกเยาวชนแห่งชาติ (Thailand Youth League) จังหวัดแม่ฮ่องสอนก็ส่งนักเตะเยาวชนเข้าร่วมการแข่งขัน ในนาม สมาคมกีฬาจังหวัดแม่ฮ่องสอน ส่วนทีมอาชีพนั้นยังคงต้องรอต่อไป

จังหวัดบึงกาฬ

อีกหนึ่งจังหวัดที่ยังไม่เคยมีทีมฟุตบอลอาชีพ ก็คือ บึงกาฬ จังหวัดน้องใหม่ที่เพิ่งถือกำเนินขึ้นเมื่อ 23 มีนาคม พ.ศ.2554 โดยแยกตัวมาจากจังหวัดหนองคาย และการที่เป็นจังหวัดใหม่ ก็ทำให้ที่นี่ยังไม่มีทีมฟุตบอลอาชีพนั้นเอง

 2

ก่อนหน้านี้ในปี พ.ศ.2555 จังหวัดบึงกาฬเคยมีแผนส่งทีมฟุตบอลอาชีพเข้าร่วมการแข่งขันของสมาคมกีฬาฟุตบอล แต่ก็ต้องพับแผนเอาไว้ เนื่องจากยังขาดความพร้อมเรื่องสนามแข่งขัน แม้จะมีการเปิดทางให้ไปเช่าสนามในจังหวัดใกล้เคียง ทางผู้ใหญ่ในจังหวัด ก็กลัวว่าแฟนบอลจะเดินทางลำบาก จึงล้มเลิกความคิดไปในเวลานั้น หลังจากนั้นข่าวการการก่อตั้งทีมฟุตบอลอาชีพของจังหวัดบึงกาฬไม่เคยเกิดขึ้นอีกเลย

จังหวัดพะเยา

เป็นปีที่ 2 แล้วที่จังหวัดพะเยา ไม่มีทีมเข้าร่วมแข่งขันฟุตบอลลีกอาชีพ เมื่อ “อินทรีแห่งขุนเขา” พะเยา เอฟซี ตัดสินใจประกาศขอหยุดพักส่งทีมเข้าร่วมการแข่งขัน 2 ปี หลังจากจบการแข่งขันฤดูกาล 2017

 3

พะเยา เอฟซี ถือเป็นสโมสรฟุตบอลอาชีพทีมเดียวของจังหวัด โดยเล่นในลีกล่างสุดของฟุตบอลลีกอาชีพนานถึง 7 ฤดูกาล ก่อนขยับขึ้นมาเล่นในฟุตบอล ไทยลีก 3 ในฤดูกาล 2017 พร้อมกับทำผลงานได้น่าทึ่ง เมื่อเป็นทีมฟุตบอลงบน้อย แต่สามารถทำผลงานจบในอันดับที่ 5 ของตารางคะแนนตอนบน กระทั่งตัดสินพักทีมและเงียบหายไป

จังหวัดอำนาจเจริญ

อำนาจ ยูไนเต็ด  อีกหนึ่งทีมจาก ไทยลีก 3 ฤดูกาล 2017 ที่ยื่นเรื่องขอพักทีมชั่วคราวเป็นเวลา 2 ปี ส่งผลให้จังหวัดอำนาจเจริญไม่มีฟุตบอลลีกอาชีพให้แฟนบอลได้ชมเข้าสู่ปีที่สองแล้ว

 4

จังหวัดอำนาจเจริญ มีทีมฟุตบอลอาชีพครั้งแรกในปี 2011 ภายใต้ชื่อ อำนาจเจริญ ทาวน์ ที่พวกเขาต้องต่อสู้กับการเอาตัวรอดในแต่ละฤดูกาลจากปัญหาด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสนามแข่งขันเดิม (สนามเทศบาลอำอาจเจริญ) ที่ไม่ค่อยได้มาตรฐานสักเท่าไหร่ ว่ากันว่านี่คือสนามปราบเซียนแห่งหนึ่งของเมืองไทย

ต่อมาได้ย้ายไปใช้ สนามการกีฬาแห่งประเทศไทยจังหวัดอำนาจเจริญ ที่สร้างเสร็จพอดี ทำให้ปัญหาเรื่องสนามเหย้าหมดไป แต่ก็ยังเจอปัญหาใหม่ ในเรื่องงบประมาณในการทำทีม

ฤดูกาล 2013 อำนาจ ทาวน์ กำลังจะยุบทีมเนื่องจากประสบปัญหาทางการเงิน ก่อนที่จะได้ วิทยาลัยอาชีวศึกษาโปลีเทคอำนาจเจริญ เข้ามาอุ้มทีมให้อยู่รอด ทุกอย่างดูเหมือนจะไปในทิศทางที่ดี สุดท้ายนายทุนของทีม แบกภาระค่าใช่จ่ายไม่ไหว ทำให้ทีมกลับมาเจอปัญหาเดิม จนต้องประกาศพักทีมไปในที่สุด

จังหวัดหนองคาย

หนึ่งในจังหวัดที่ผู้คนให้ความสนใจในเกมลูกหนังเป็นอย่างมาก แม้ว่าทีมฟุตบอลประจำเมืองของพวกเขาจะเล่นอยู่ในลีกล่างสุดของเมืองไทยมาโดยตลอด รวมไปถึงไม่เคยประสบความสำเร็จเข้าไปเล่นในรอบแชมเปี้ยนลีกแม้แต่ครั้งเดียว

 5

แต่หากนับจำนวนแฟนบอลที่นี่ จัดเป็นตัวเลขที่สูง เมื่อเทียบกับจังหวัดอื่นๆ หนองคาย เอฟที เข้าสู่ระบบฟุตบอลอาชีพในปี 2010 ส่วนผลงานก็ขึ้นๆลงๆ ตามงบประมาณในแต่ละฤดูกาล แต่ก็สร้างสีสันได้ไม่น้อย ด้วยการดึงนักเตะจากประเทศลาว มาค้าแข้งบ่อยครั้ง ทำให้ฟุตบอลที่นี่ยิ่งดูคึกคักมากขึ้นไปอีก

น่าเสียดายหลังจากจบฤดูกาล 2016 ที่พวกเขาจบในอันดับ 9 ของลีกภูมิภาคโซนภาคตะวันออกเฉียงเหลือและไม่มีวี่แววว่าจะจะต้องหยุดพักทีม ได้ตัดสินใจงดส่งทีมเข้าร่วมการแข่งขันฟุตบอลลีกอาชีพ จากปัญหาเรื่องงบประมาณเหมือนที่หลายๆทีมเจอ และนี่ก็เป็นปีที่ 3 แล้วที่แฟนบอลจังหวัดหนองคาย ไม่ได้สัมผัสเกมการแข่งขันฟุตบอลลีกอาชีพ

จังหวัดนครพนม

อีกหนึ่งจังหวัดที่เข้าสู่ปีที่ 3 แล้วที่แฟนบอลไม่ได้ชมและเชียร์การแข่งขันฟุตบอลลีกอาชีพ สำหรับจังหวัดนครพนม อีกหนึ่งเมืองที่ผู้คนให้ความคลั่งไคล้ในเกมลูกหนังไม่แพ้ที่อื่น ที่สำคัญที่นี่สร้างนักเตะฝีเท้าดีป้อนเข้าสู่ตลาดลูกหนังเมืองไทย โดยมี นครพนม เอฟซี เป็นฐานผลิตชั้นยอด

 6

นครพนม เอฟซี ทีมฟุตบอลอาชีพเดียวที่จังหวัดนครพนม เคยมี ก่อตั้งในปี 2009 ฤดูกาลที่มีสโมสรตามต่างจังหวัดเกิดขึ้นมากมาย โดยนครพนม เอฟซี เป็นอีกหนึ่งทีมในลีกภูมิภาคที่ต้องรับมือกับการหารายได้เข้าสู่ทีมตามระบบฟุตบอลอาชีพ

แต่ปัญหาที่พวกเขาเจอหนักกว่าก็คือ การเมืองฟุตบอลภายในจังหวัด ที่เมื่อขั้วหนึ่งขึ้นอีกขั้วหนึ่งก็มักจะโดนอีกขั้วหนึ่งโจมตีเรื่องการบริหารจัดการจนทำให้ทีมฟุตบอลอาชีพของจังหวัดนี้ไปได้ไม่ไกลเท่าที่ควรจะเป็น

อีกทั้งพวกเขาเคยถูกสมาคมกีฬาฟุตบอลฯ ลงโทษแบบ 1 ปี จากเหตุการณ์ทะเลาะวิวาท สุดท้ายก็ต่อสู้จนได้กลับมาแข่งต่อ แต่น่าเสียดายที่เมื่อจบฤดูกาล 2016 นครพนม เอฟซี จบในอันดับสุดท้าย แม้จะมีโอกาสได้แก้ตัวในการส่งทีมต่อ โดยมีข้อแม้ต้องทำแผนปรับปรุงทีมให้ฝ่ายจัดการแข่งขัน แต่พวกเขาเลือกที่จะพักทีมอย่างไม่มีกำหนดจนถึงทุกวันนี้

จังหวัดมุกดาหาร

อีกหนึ่งจังหวัดติดน้ำโขงที่ไม่มีทีมฟุตบอลเข้าร่วมการแข่งขันฟุตบอลลีกอาชีพในฤดูกาลนี้ หลังจากที่ มุกดาหาร ซิตี้ ทีมฟุตบอลประจำเมืองเข้าร่วมแข่งขันฟุตบอลลีกภูมิภาคมานานถึง 9 ฤดูกาล ก่อนที่จะจบด้วยอันดับสุดท้ายของฟุตบอลลีกภูมิภาค โซนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในฤดูกาล 2017 ก่อนถูกปรับตกชั้นไปเริ่มต้นใน ไทยแลนด์ อเมเจอร์ลีก

 7

การถูกปรับตกชั้นไปเริ่มต้นใหม่ในลีกสมัครเล่นก็ทำให้ มุกดาหาร ซิตี้ ตัดสินใจหยุดส่งทีมเข้าร่วมการแข่งขันของสมาคมกีฬาฟุตบอลทันที ซึ่งนี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่พวกเขาจบในอันดับสุดท้ายของโซนภาคอีสาน หลังจากก่อนหน้านี้ก็รั้งอันดับสุดท้ายของตารางมาแล้ว 3 ครั้ง (ฤดูกาล 2013,2014,2015) เรียกว่าเป็นทีมจอมแจกแต้มประจำโซนเลยก็ว่าได้

จังหวัดร้อยเอ็ด

เมื่อเอ่ยถึงมหาอำนาจลูกหนังลีกภูมิภาค จังหวัดแรกๆที่แฟนบอลนึกถึงก็คือ ร้อยเอ็ด เมืองที่ผู้กระแสฟุตบอลลีกคักคักไม่น้อยหน้าใคร โดยเฉพาะการที่ “กระรอกขาวจ้าวสนาม” ร้อยเอ็ด ยูไนเต็ด ผงาดคว้าแชมป์โซนภาคอีสาน 3 สมัยติดต่อกัน

 8

หลังจบฤดูกาล 2017 ร้อยเอ็ด ยูไนเต็ด ประกาศพักทีมสร้างความตกใจให้กับแฟนบอลทั้งประเทศ โดยสาเหตุหลักก็มาจากปัญหาข้อพิพาทกับ 2 นักเตะต่างชาติที่ไปร้องเรียนสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (ฟีฟ่า) และไม่สามารถตกลงกันได้ ส่งผลต่อการทำคลับไลเซนซิ่ง สุดท้ายจึงตัดสินใจงดส่งทีมและไปเริ่มใหม่ในลีกสมัครเล่น

ฤดูกาล 2018 ร้อยเอ็ด ยูไนเต็ด ส่งทีมเข้าแข่งขันไทยแลนด์ อเมเจอร์ลีก เพื่อหวังที่จะหวนกับคืนสู่ฟุตบอลอาชีพอีกครั้ง ซึ่งไม่ใช่แค่ ร้อยเอ็ด ยูไนเต็ด ทีมเดียวในจังหวัดร้อยเอ็ด ที่ส่งทีมเข้าแข่ง เมื่อมีถึง 3 ทีมที่เข้าร่วมการแข่งขัน แต่สุดท้ายก็ไปไม่ถึงดวงดาวแม้แต่ทีมเดียว ทำให้จังหวัดร้อยเอ็ด ยังคงต้องรอคอยการกลับมาสัมผัสบรรยากาศฟุตบอลอาชีพต่อไป

จังหวัดนครสวรรค์

นี่คือมหาอำนาจลูกหนังภูธรในอดีต และเป็นจังหวัดที่ผลิตนักเตะฝีเท้าดีเข้ามาประดับวงการฟุตบอลมากมาย แต่วันนี้พวกเขาไม่ได้อยู่ในสารบบฟุตบอลลีกอาชีพ หลังจาก นครสวรรค์ เอฟซี ต้องตกชั้นไปเริ่มต้นใหม่ในลีกสมัครเล่น หลังจากจบอันดับรองสุดท้ายของ ออมสิน ลีก (T4) โซนภาคเหนือ

 9

ก่อนหน้านี้จังหวัดนครสวรรค์ มีทีมฟุตบอลอาชีพถึง 2 ทีม ได้แก่ นครสวรรค์ เอฟซี และ ปากน้ำโพ เอ็นเอสอาร์ยู ซึ่ง ปากน้ำโพฯ ก็กระเด็นตกชั้นไปเริ่มต้นใหม่ในลีกสมัครเล่นก่อนหน้า นครสวรรค์ เอฟซี 1 ปี

ซึ่งหากย้อนกลับไปก่อนหน้านี้ 5-6 ปี ทั้งสองทีมต่างก็เป็นทีมชั้นนำของลีกภูมิภาค น่าเสียดายที่ทั้งสองสโมสรต้องไปเริ่มสร้างกันใหม่ในระดับลีกสมัครเล่น

จังหวัดพิจิตร

ไม่น่าเชื่อว่า จังหวัดที่เคยสัมผัสเกมลีกสูงสุดของเมืองไทยมาแล้ว ในยุคที่ สโมสรพนักงานยาสูบ ย้ายไปใช้สนาม อบจ.พิจิตร เป็นรังเหย้า พร้อมกับใช้ชื่อทีมว่า ทีทีเอ็ม พิจิตร ถึง 2 ฤดูกาล หรือทีมประจำจังหวัดดั้งเดิม พิจิตร เอฟซี ที่เคยได้รับกระแสตอบรับที่ดีจากแฟนบอล

 10

แต่ปัจจุบันกลับไม่มีสโมสรอยู่ในลีกอาชีพอยู่ในจังหวัด โดยในเคสของ พิจิตร เอฟซี ตรงที่พวกเขาไม่มีปัญหาด้านการเงิน แต่กลับรู้สึกว่า พวกเขาไม่ได้รับความเป็นธรรมจากสมาคมฟุตบอลฯ  จนตัดสินใจขอพักทีม 1 ปี ในฤดูกาล 2016 (เคยให้ อยุธยา วอริเออร์ ยืมสิทธิ์ 1 ฤดูกาล)

ต่อมา พิจิตร เอฟซี ถูกลงโทษจากสมาคมแบนเพิ่มอีกเป็น 2 ปี และกำหนดพ้นโทษกลับมาแข่งขันฟุตบอลลีกอาชีพได้ในปี 2019 เมื่อถึงเวลาพ้นโทษ พิจิตร เอฟซี ก็ยังคงไม่มีการเตรียมทีมและส่งทีมเข้าร่วมการแข่งขันฟุตบอลลีกอาชีพ นั้นทำให้ จังหวัดพิจิตร เหินห่างจากฟุตบอลลีกอาชีพเข้าสู่ปีที่ 4 แล้ว

จังหวัดเพชรบูรณ์

เพชรบูรณ์ เอฟซี จัดเป็นทีมจอมแจกแต้มประจำโซนภาคเหนือ เมื่อพวกเขามักจะอยู่รั้งท้ายของตารางคะแนนมาโดยตลอด 8 ฤดูกาลที่โลดแล่นอยู่ในฟุตบอลลีกภูมิภาค ก่อนที่จะถูกปรับตกชั้นหลังจบฤดูกาล 2016

 11

แม้จะถูกปรับตกชั้นไปเริ่มต้นใหม่ในลีกสมัครเล่น ตั้งแต่ปี 2017 เป็นต้นมา แต่พวกเขาก็ไม่ได้ล้มเลกความตั้งใจ ะะหวนกลับคืนสู่ลีกอาชีพให้ได้อีกครั้งหนึ่ง

น่าเสียดายที่พวกเขายังทำไม่สำเร็จ ตลอด 3 ครั้งในการเล่นฟุตบอลลีกสมัครเล่น นั้นทำให้ฤดูกาล 2019 นี้ เป็นปีที่ 3 แล้วที่จังหวัดเพชรบูรณ์ ไม่ได้สัมผัสการแข่งขันฟุตบอลลีกอาชีพ

จังหวัดอุทัยธานี

นี่คือจังหวัดที่ทีมฟุตบอลประจำเมืองมีชื่อลงท้ายแหวกแนวออกไปจากทีมอื่นๆในเมืองไทย ที่ไม่ใช่ เอฟซี หรือ ยูไนเต็ด แต่เลือกใช้คำว่า ฟอเรสท์ มาต่อท้ายชื่อจังหวัด ซึ่งพวกเขาส่งทีมเข้าร่วมการแข่งขันฟุตบอลลีกอาชีพมาตั้งแต่ปี 2010

 12

ฤดูกาล 2014 อุทัยธานี ฟอเรสท์ ที่แม้จะรอดพ้นจากการจบอันดับสุดท้ายของตาราง แต่ด้วยปัญหาทางด้านการเงินก็ทำให้พวกเขาขอหยุดพักส่งทีม 1 ปี ถือเป็นทีมแรกๆที่ใช้วิธีการนี้ และหลังจากหยุดพักไป 1 ปี พวกเขากลับมาแข่งขันอีกครั้งในปี 2016 พร้อมกับย้ายจากโซนภาคเหนือมาเล่นอยู่ภาคกลาง ที่ไม่ต้องเดินทางไกล

สุดท้ายพวกเขาก็จบด้วยอันดับบ๊วยของตารางคะแนน ถูกปรับตกชั้นไปเริ่มนับหนึ่งใหม่ในลีกสมัครเล่น ก่อนที่สโมสรจะตัดสินใจยุบทีมไปในที่สุด นั้นก็ทำให้จังหวัดอุทัยธานี ไม่มีทีมฟุตบอลอาชีพในเวลานี้

จังหวัดลพบุรี

จังหวัดลพบุรีผงาดคว้าแชมป์ โปรลีก 2007 ส่งเข้าพวกเขาได้สิทธิ์เข้ามาเล่นในฟุตบอลลีกอาชีพในปี 2008 ภายใต้ชื่อ ลพบุรี เอฟซี ก่อนที่จะอยู่เล่นในฟุตบอลอาชีพ 5 ปี กระทั่งตัดสินใจปฎิเสธการส่งทีมเข้าร่วมแข่งขันฟุตบอลลีกอาชีพในปี 2013

 13

หนึ่งในสาเหตุดังกล่าว มาจากการ เตรียมต้อนรับ สโมสรพนักงานยาสูบที่เตรียมย้ายรังเหย้ามาอยู่ที่จังหวัดลพบุรี

ส่งผลให้ ลพบุรี เอฟซี สโมสรฟุตบอลประจำเมืองถูกแบนจากการแข่งขัน 2 ปี ที่สำคัญทางยาสูบ ก็ไม่ได้มาอยู่ที่นี่อย่างจริงจัง ก่อนจะย้ายหนีหายไปในเวลาต่อมา ทำให้แฟนบอลจังหวัดลพบุรี พลาดการสัมผัสฟุตบอลลีกอาชีพ

ในปี 2015 ลพบุรี เอฟซี ได้สิทธิ์กลับมาแข่งขันอีกครั้งโดยถูกจับไปอยู่ในโซนภาคเหนือ ซึ่งค่อนข้างมีปัญหาเรื่องการเดินทางไปแข่งขันในเกมเยือน สุดท้ายพวกเขาตัดสินใจยุติการส่งทีมเข้าร่วมการแข่งขันอีกครั้ง โดยในการหยุดในครั้งนั้น ก็ลากยาวมาจนถึงปัจจุบัน

จังหวัดเพชรบุรี

จังหวัดแห่งนี้เคยมีมนต์เสน่ห์ที่น่ารักในการแข่งขันฟุตบอลลีกอาชีพ ด้วยการที่สโมสรเพชรบุรี เอฟซี จะมีการถือขนมหม้อแกง มามอบให้กับคู่แข่งทุกนัดที่เล่นในบ้าน ส่วนหนึ่งก็มาจากเจ้าของทีมทำธุรกิจร้านขนมหวาน-ของฝากชื่อดังของจังหวัด

 14

ต่อมา เพชรบุรี เอฟซี ได้เปลี่ยนมือเจ้าของทีมจาก จเร บุญส่ง (ผู้ล่วงลับ) มาเป็นนักการเมืองชื่อดังในท้องถิ่น แต่หลังจากทำไปได้เพียงแค่ 1 ฤดูกาล ก็ตัดสินใจขอหยุดพักส่งทีมเข้าร่วมการแข่งขันฟุตบอลลีกอาชีพ ในฤดูกาล 2016  

และก็ไม่มีใครคิดว่าการพักทีมในครั้งนั้นของพวกเขาจะยาวนานมาถึงปัจจุบัน ที่กินเวลาเข้าสู่ฤดูกาลที่ 4 แล้ว ที่จังหวัดแห่งนี้ไม่มีทีมฟุตบอลให้แฟนบอลได้ชม

จังหวัดนครนายก

นครนายก เป็นอีกหนึ่งจังหวัดที่ส่งทีมเข้าร่วมการแข่งขันฟุตบอลลีกอาชีพในฤดูกาล 2009 พร้อมกับอีกหลายๆจังหวัดมีจุดเริ่มต้นในปีดังกล่าว ก่อนที่จะอยู่เล่นในฟุตบอลลีกอาชีพมายาวนานถึง 10 ฤดูกาล แถมยังเคยเป็น พัทธมิตรลูกหนังกับ เมืองทอง ยูไนเต็ด อีกด้วย

 15

กระทั่ง นครนายก เอฟซี จบในอันดับที่ 7 จากจำนวน 10 ทีมของโซนภาคตะวันออก น่าเสียดายที่ 3 ทีมที่มีคะแนนน้อยกว่าพวกเขาคือทีมสำรองของสโมสรในโตโยต้าไทยลีก ทำให้พวกเขาต้องตกชั้นตามระเบียบของฝ่ายจัดการแข่งขัน ส่งผลให้ปีนี้ จังหวัดนครนายก ไม่ได้สัมผัสฟุตบอลลีกอาชีพครั้งแรกในรอบ 10 ปี

จังหวัดชุมพร

อีกหนึ่งทีมที่เพิ่งตกชั้นลงไปเริ่มต้นใหม่ในฟุตบอลลีกสมัครเล่นก็คือ ชุมพร เอฟซี อีกหนึ่งทีมดังจากทางภาคใต้ ที่จบในอันดับสุดท้ายของตาราง ออมสิน ลีก (T4) โซนภาคใต้เมื่อปีที่แล้ว

 16

จังหวัดชุมพร ส่งทีมเข้าร่วมการแข่งขันฟุตบอลลีกอาชีพตั้งแต่ปี 2010 ซึ่งนอกเหนือจากปัญหาเรื่องงบประมาณการทำทีมที่พวกเขาต่อสู้มาโดยตลอดแล้ว ก็ยังมีปัญหาเรื่องการเดินทางไปเยือนคู่แข่งที่ระยะทางดูจะไกลกว่าใครเพื่อนในโซนภาคใต้ จนเคยมีความพยายามต่อรองกับฝ่ายจัดการแข่งขันให้ย้ายมาเล่นในโซนภาคกลางตะวันตกเหมือนที่ พีที ประจวบ เอฟซี เคยทำได้

ฤดูกาล 2016 พวกเขายื่นเรื่องสำเร็จ แต่ก็เป็นเพียงแค่ฤดูกาลเดียวเท่านั้นก่อนจะกลับมาอยู่ในโซนภาคใต้เหมือนเดิมในปีถัดมา แฟนบอลชาวจังหวัดชุมพร ต่างก็หวังว่าทีมรักของพวกเขาจะไม่เป็นเหมือนทีมอื่นๆที่เมื่อตกชั้นไปแล้วหายยาวเข้ากลีบเมฆ

จังหวัดพังงา

จังหวัดสุดท้ายที่ไม่มีทีมฟุตบอลอาชีพเข้าร่วมการแข่งขันฟุตบอลลีกอาชีพในฤดูกาลนี้ก็คือ จังหวัดพังงา ที่พวกเขาเคยส่งทีมเข้าร่วมการแข่งขันฟุตบอลลีกภูมิภาคโซนภาคใต้มาอย่างยาวนาน ก่อนที่จะหายหน้าหายตาไปจากสารบบฟุตบอลเข้าสู่ปีที่ 2 แล้ว

 17

พังงา เอฟซี ทีมฟุตบอลประจำจังหวัดนี้ถือเป็นทีมแกร่งของโซนภาคใต้ในยุคแรกเริ่มฟุตบอลลีกอาชีพ ก่อนที่ระยะหลังๆจะประสบปัญหาด้านการเงินทำให้ผลงานของทีมมารั้งท้ายตารางคะแนนภาคใต้ โดยเฉพาะในปี 2015 พวกเขาจบในอันดับสุดท้าย โชคดีที่ยังรอดพ้นการถูกปรับตกชั้น

ในปี 2016 พวกเขาจบในอันดับรองสุดท้ายแต่ยังได้สิทธิ์เข้าร่วมการแข่งขันต่อในปีต่อมา แต่ฤดูกาล 2017 ฝ่ายจัดการแข่งขันให้ความสำคัญกับการทำคลับไลเซนซิ่งมาก และพังงา เอฟซี ก็ไม่ผ่านการตรวจ ส่งผลให้พวกเขาต้องพักการส่งทีมไปในที่สุด

 18

อัลบั้มภาพ 18 ภาพ

อัลบั้มภาพ 18 ภาพ ของ 121 ทีมไม่มีพวกเขา : จังหวัดไหนบ้างในไทยที่ไม่มีทีมฟุตบอล?

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook