สนามตะกร้อในสหรัฐอเมริกามูลค่า 15 ล้านบาท ที่เกิดจากการผลักดันของชาว "ม้ง"

สนามตะกร้อในสหรัฐอเมริกามูลค่า 15 ล้านบาท ที่เกิดจากการผลักดันของชาว "ม้ง"

สนามตะกร้อในสหรัฐอเมริกามูลค่า 15 ล้านบาท ที่เกิดจากการผลักดันของชาว "ม้ง"
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เซปักตะกร้อ คือชื่อเรียกของกีฬาที่ใช้เท้าเตะลูกหวายให้ผ่านเน็ตเพื่อทำคะแนน รากศัพท์มาจากคำว่า เซปัก ในภาษามาเลซีย และ ตะกร้อ ในภาษาไทย ดังนั้นจึงไม่แปลกเลยที่กีฬาชนิดนี้จะโด่งดัง และเป็นที่รู้จักกันในภูมิภาคอาเซียน และไม่ว่าจะเดินไปตามสวนสาธารณะหรือแม้แต่สนามชั่วคราวหน้าโรงงานก็มักจะเห็นผู้เล่นหุ่นกำยำกระโดดเตะลูกหวายด้วยลีลาท่าทางที่สวยงามเสมอ

อย่างไรก็ตามหากเทียบในฝั่งของโลกตะวันตก หากเอ่ยคำว่า เซปักตะกร้อ พวกเขาจะตอบกลับมาว่า "What's Sepaktakraw?" เพราะไม่เคยเเละไม่คุ้นกับกีฬาชนิดนี้เลย อย่างดีที่สุดพวกเขาจะรู้จักมันในอีกชื่อว่า "คิก วอลเล่ย์บอล"

 

ปัจจุบันโลกของเราแคบลง วัฒนธรรมหลายอย่างถูกส่งผ่านกันง่ายขึ้นด้วยโลกแห่งอินเตอร์เน็ต และ ตะกร้อ เริ่มเดินทางไปทั่วโลก และบอกให้รู้ว่ากีฬาชนิดนี้คืออะไร โดยเฉพาะที่ มินเนโซต้า สหรัฐ อเมริกา ดินเเดนแห่งเสรีภาพที่ได้รับอิทธิพลของชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไปเต็มๆ พวกเขาตกหลุมรักมัน และได้สร้างสนามตะกร้อขึ้นมาด้วยงบประมาณกว่า 500,000 เหรียญสหรัฐ หรือกว่า 15 ล้านบาทเลยทีเดียว

ดวงดาวแห่งภาคเหนือ

รัฐมินเนโซตา เป็นรัฐที่ติดอันดับด้านความสะอาด ความสวยงามและความผ่อนคลายที่สุดของสหรัฐเนื่องจากที่นี่เป็นรัฐที่ประชากรมีอายุขัยยาวเป็นอันดับสองและเป็นรัฐที่มีเศรษฐกิจดีมีความมั่งคั่งเป็นอันดับห้าของประเทศ นอกจากนี้ชาวรัฐนี้ยังเป็นผู้ที่มีความสุขสูงสุด (GDP) เป็นอันดับสามของประเทศ และที่นี่ถูกเรียกขานว่า “ดวงดาวแห่งภาคเหนือ”

ปัจจุบันในสหรัฐอเมริกามีชาวเอเชียอาศัยอยู่ราวๆ 17 ล้านคน คิดเป็น 5.6% ของประชากรทั้งหมด ซึ่งใน มินเนโซต้า นี้คือรัฐที่มีชาวเอเชียที่ระบุตัวตนอยู่ 254,496 คน หรือตีเป็น 4.6% ของประชากรทั้งหมดในรัฐแห่งนี้ และเมืองที่มีชาวเอเชียอยู่มากที่สุดเป็นอันดับ 1 ในรัฐคือ เซนต์ พอล (St. Paul)

 1

ที่เซนต์ พอล แห่งนี้มีสถานที่หย่อนใจยอดฮิตคือสวนสาธราณะเซนต์ พอล ในวันที่มีแสงเเดดอ่อนๆ ผู้คนจะมารวมตัวกันเพื่อประกอบกิจกรรมต่างๆ สำหรับชุมชนเอเชียนั้นก็มักจะมารวมตัวกันที่นี่ และมีกิจกรรมเด่นๆของการแสดงของม้ง และชนชาติอื่นๆ ขณะที่เรื่องของกีฬานั้นไม่มีกีฬาชนิดใดที่จะเหมาะไปกว่าการเตะตะกร้ออีกเเล้ว พวกเขาทำแบบนี้ไปทุกเมื่อเชื่อวันจนได้รับความสนใจจากคนท้องถิ่น ด้วยลีลาที่สวยงามในแบบที่ชาวตะวันตกไม่เคยได้เห็นทำให้ ตะกร้อ กลายเป็นที่ไฮไลต์ของบรรยากาศการมาเที่ยวสวนธารณะเซนต์พอลไปโดยปริยาย 

ในปี 1976 มีผู้อพยพชาวเอเชียมาอยู่ที่ มินเนโซต้า มากมายหนึ่งในนั้นคือ ลี เปา เซียง ที่พาครอบครัวที่จากประเทศลาว เนื่องจากสงครามกลางเมือง และเขานำตะกร้อมาด้วย โดยเริ่มเล่นในค่ายผู้ลี้ภัย

 2

"ที่ค่ายลี้ภัยมีเน็ตตะกร้อติดตั้งอยู่แทบทุกแห่ง เราไม่มีสนามฟุตบอลเลย ดังนั้นจึงต้องตั้งเน็ตและเตะตะกร้อกันบนพื้นหญ้า" ลี  กล่าวถึงที่มาของสังคมตะกร้อในมินเนโซต้า ก่อนที่จะเริ่มจัดการแข่งขันเล็กๆขึ้นในกลุ่มช่วงเดือนกรกฎาคมของทุกปี จนกระทั่งกลายเป็นภาพจำของคนแถวนั้นที่จะได้เห็นชาวเอเชียรวมตัวเตะตะกร้อกันเป็นประจำ

เป็นรูปเป็นร่าง 

เมื่อตะกร้อเป็นที่นิยมในสวนสาธารณะเซนต์ พอล มากขึ้น ทำให้กลุ่มคนเอเชียก่อตั้งองค์กร เซปักตะกร้อเมริกา (Sepak Takraw of USA, Inc ) ขึ้นมาในปี 2014 ซึ่งเป็นองค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไร โดยหัวเรือใหญ่ครั้งนี้คือ เกา ชาง ที่มีตำแหน่งเป็นรองผู้อำนวยการนายอำเภอแห่งแรมซี่ย์ เคาน์ตี้ ที่อยากจะให้ตะกร้อเป็นที่รู้จักมากขึ้นในสหรัฐอเมริกา และเขายังเคยส่งทีมตะกร้อที่มาจาก เซนต์ พอล มาแข่งขันตะกร้อ คิงส์ คัพ ที่เมืองไทยเมื่อปี 2012 มาเเล้วอีกด้วย

ชาง มักจะใช้เวลาไปกับการเตะตะกร้อเสมอ แม้เขาจะยอมรับว่าตัวเองแก่เเล้ว แต่ก็ยังเลิกเล่นไม่ได้ เพราะตะกร้อทำให้เขารู้สึกมีชีวิตที่กระชุ่มกระชวย ชาง ชวนเพื่อนๆ และรุ่นน้องในที่ทำงานหลายคน จัดตั้งทีมเซปักตะกร้อขึ้นมา

"อาจจะมีหลายที่ในอเมริกาทั้ง แคลิฟอร์เนีย, วิสคอนซิน, เท็กซัส, ไอโอวา แต่ที่ มินเนโซต้า คือดินแดนแห่งตะกร้อที่ยิ่งใหญ่ที่สุด ทุกครั้งที่เราไปปรากฎตัวในการแข่งขันตามที่ต่างๆในอเมริกา เรามักจะได้ยินคนอื่นๆบอกว่า ไม่มีทางเราแค่มาเล่นกันสนุกๆ ใครจะไปเอาชนะ มินเนโซต้า ได้" ชาง กล่าวอย่างภูมิใจ

 3

ด้วยความภาคภูมิใจนี้เองทำให้เขากระตือรือร้นพยายามจะจัดตั้งลีกตะกร้อ รวมถึงให้ความรู้และวิธีการเล่นกับคนท้องถิ่น ซึ่งมันก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ ทุกๆวันหยุดจะมีคนมาดูตะกร้อในเซนต์ พอล ปาร์ค มากขึ้น เป็นเงาตามตัว ที่สำคัญ ชางไม่ได้แค่พูดเท่านั้นเขาพยายามยื่นข้อเสนอต่อสภาเมืองเพื่อของงบประมาณดังกล่าว และหากสมาชิกในสภายกมือสนับสนุนเป็นเอกฉันท์ ณ เซนต์ พอล ปาร์ค จะมีสนามตะกร้ออาชีพแห่งแรกในสหรัฐอเมริกาเลยทีเดียว 

ก่อนหน้านี้กลุ่มคนเล่นตะกร้อกระจายตัวตามที่ต่างๆใน เซนต์ พอล เพราะสนามยังมีไม่เพียงพอ มีหล่ายกลุ่มที่เล่นอยู่ในสนามของโรงเรียนประถม,สนามเด็กเล่น  Scheffer ใน Frogtown และใกล้ๆกับศูนย์การค้า ม้ง วิลเลจ ดังนั้นหากมีสนามเพิ่มเติมในเซนต์พอล ปาร์ค จะเป็นการรวมตัวของคนที่รักตะกร้อเข้าด้วยกัน และจะทำให้ความเข้มข้นในการแข่งขันสูงขึ้นอีกด้วย

 4

"มันรู้สึกดีมาก เราเองได้รับการสนับสนุนจากชุมชนก็ไม่น้อย แต่เรายังต้องการเงินอีกราว 250,000 ดอลลาร์ เพื่อสร้างสนามอีกสัก 4 สนามเพื่อรองรับการแข่งขันแบบลีกมากขึ้น" ชาง กล่าว

ผลักดันไม่หยุดยั้ง

หลังจากร่วมผลักดันกันมาหลายปี การพัฒนาและเป้าหมายที่เป็นรูปเป็นร่าง ทำให้ในที่สุดเเล้วสภาเมือง เซนต์ พอล ทุบโต๊ะอนุมัติให้จัดตั้งโครงการดังกล่าว และทำให้ เซนต์ พอล ปาร์ค กลายเป็นสถานที่แรกในอเมริกา ในเดือนกันยายนปี 2018 โดยได้รับการสนับสนุนจาก คณะกรรมการมินเนโซต้า ซูเปอร์ โบวล์, กองทุนมนุษยศาสตร์และมรดกทางวัฒนะธรรม, เนเบอร์ฮูด สตาร์ โปรเเกรม ,เขตอนุรักษ์เซนต์พอล ปาร์ค, แรมซี่ เคาน์ตี้ และ องค์กรเซปักตะกร้อแห่งอเมริกา 

ความพยายามที่ยาวนานของชุมชนชาวม้งและเจ้าหน้าที่ เซนต์ พอล ทำงานร่วมกันเพื่อตามหาผู้สนับสนุนเงินจำนวน 500,000 เหรียญเพื่อสร้างเป็นสนามตะกร้อที่มีพื้นเป็นหญ้าเพิ่มขึ้นอีก 4 สนาม รวมเป็นทั้งหมด 5 สนาม โดยสังเวียนนี้ไม่ใช่มีไว้เพื่อการแข่งเพียงอย่างเดียวเท่านั้นแต่จะกลายเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้กีฬาตะกร้อของเมืองอีกด้วย 

 5

"ทุกคนในเมืองจะมีโอกาสได้เล่นตะกร้อด้วยกันไม่ว่าคุณจะเป็นคนขาว เป็นแอฟริกัน-อเมริกัน เป็นม้ง หรือว่าเป็นชาวละตินก็ตาม” ฟง เฮาจ ส.ส. แห่งมินเนโซต้า กล่าว 

“และเมื่อถึงวันหนึ่งที่กีฬาชนิดนี้บรรจุเข้าโอลิมปิก เกมส์ ทีมที่เป็นตัวแทนของสหรัฐอเมริกาจะต้องเป็นทีมจาก มินเนโซต้า แน่นอน" ลี เป่า เซียง ที่เปลี่ยนตัวเองจากผู้อพยพสู่ประธานเซปักตะกร้อแห่งอเมริกากล่าวอย่างมั่นใจ หลังก่อนหน้านี้ทีมตะกร้อของ เซนต์ พอล มีผู้สนับสนุนมากขึ้นในการไปแข่งขันตามที่ต่างๆ ทั้งในยุโรปและดินแดนต้นตำรับอย่างเอเชียตะวันอออกเฉียงใต้ 

ทุกคนในชุมชนยินดีกับเรื่องนี้เป็นอย่างมาก การมีกีฬาให้ดู มีสถานที่ให้เล่นนั้นคือสิ่งที่ดีอย่างไม่ต้องสงสัย ภาพของคนเล่นกีฬาในสวนสาธารณะคือภาพที่สามารถแสดงให้เห็นได้ว่าสถานที่แห่งนั้นมีประชากรที่มีความสุขกับการใช้ชีวิต

"เราภูมิใจมากที่ได้มีสนามตะกร้อเป็นของตัว มันเข้ามาเพิ่มความมีชีวิตชีวาให้กับเมืองของเรา" ไมค์ ฮาล์ม ผอ.ของสวนสาธารณะเซนต์พอล ยืนยันชัดเจนว่า ตะกร้อ กลาวเป็นที่นิยมในหมู่หนุ่มสาวมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัดนับตั้งแต่มีสนามให้เล่นอย่างเป็นทางการ 

จากกีฬาของผู้อพยพ วันนี้ เซปักตะกร้อ กลายเป็นที่นิยมและรู้จักกันอย่างเเพร่หลายใน มินเนโซต้า แถมสนามสำหรับการซ้อมของพวกเขายังมีมูลค่ามหาศาลอีกด้วย ไม่แน่ในอนาคตหากตะกร้อถูกบรรจุลงในการเเข่งขันโอลิมปิกฤดูร้อนเข้าจริงๆ ทีมชาติไทยอาจจะได้เจอกับคู่แข่งจากชาติที่ไม่เคยคิดว่าจะมาเตะตะกร้ออย่างสหรัฐอเมริกามาเป็นก้างขวางคอก็เป็นได้...

อัลบั้มภาพ 6 ภาพ

อัลบั้มภาพ 6 ภาพ ของ สนามตะกร้อในสหรัฐอเมริกามูลค่า 15 ล้านบาท ที่เกิดจากการผลักดันของชาว "ม้ง"

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook