แบดบอยส์แห่งดีทรอยต์ : ยุคสมัยที่ตัวร้ายครอง NBA

แบดบอยส์แห่งดีทรอยต์ : ยุคสมัยที่ตัวร้ายครอง NBA

แบดบอยส์แห่งดีทรอยต์ : ยุคสมัยที่ตัวร้ายครอง NBA
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

"ไม่ต้องสงสัยเลยว่าพวกเขาพยายามที่จะอัดใส่ผมและพร้อมที่จะทำให้ผมเจ็บตัว"

นี่คือคำโอดโอยของ ไมเคิล จอร์แดน นักบาสเก็ตบอลที่ว่ากันว่าเก่งที่สุดในประวัติศาสตร์ พูดถึงทีมเล็กๆทีมหนึ่งที่เขาไม่อาจจะเอาชนะได้ในเวลานั้น นั่นคือ ดีทรอยต์ พิสตันส์ ในยุคที่ทีมๆ นี้ถูกเรียกว่า "แบดบอยส์" ด้วยสไตล์การเล่นที่ถูกสื่อเรียกกันว่าเหมือนกับพวกกุ๊ย (Thug) พวกเขาเล่นหนักตลอดทั้งการแข่งขัน ทั้งในและนอกเกม ทั้งการกระทำและวาจา และนี่คือสิ่งที่ทำให้ "เอ็มเจ" ต้องพบกับความพ่ายแพ้ถึง 2 ครั้ง 2 คราในเส้นทางสู่การชิงแหวนแชมป์ NBA

 

จากความโหดในสนามเปลี่ยนแปลงเป็นเสน่ห์ที่ทำให้ แบดบอยส์ กลุ่มนี้กลายเป็นไอค่อนของ NBA ในช่วงปลายยุค 1980 แต่ความเป็นไอค่อนนั้นมาจากการสวมบทตัวร้าย ที่ร้าย … จนได้ใจ

คาแร็คเตอร์ 

ดีทรอยต์ คือเมืองที่เม็ดเงินสะพัดถึงขีดสุดในช่วงทศวรรษ 1920 เพราะ ณ เวลานั้น ดีทรอยต์ ขึ้นชื่อว่าเป็นเมืองแห่งอุตสาหกรรมยานยนต์ มีโรงงานผลิตรถยนต์มากมาย ดังนั้นเม็ดเงิน, ผู้คน, ความเจริญ และ ชื่อเสียงย่อมมีมากจนทำให้เมืองนี้เติบโตและคึกครื้นถึงขีดสุด และเป็นเมืองที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 4 ของสหรัฐอเมริกา 

 1

อย่างไรก็ตามไม่มีสิ่งใดคงอยู่ตลอดไป ทุกอย่างบนโลกนี้ล้วนต้องปรับตัวเพื่อเอาตัวรอดเสมอ ทศวรรษ 1950 ดีทรอยต์ เจอกับฝันร้ายครั้งใหญ่ที่ทำให้เมืองแห่งนี้เปลี่ยนไปจากหน้ามือเป็นหลังมือ จากเจริญสุดกลายเป็นตกต่ำสุดๆ อย่างน่าใจหาย 

ในช่วงเวลานั้นประชากรของประเทศเริ่มหดตัวลงอย่างรวดเร็วสืบเนื่องจากผลกระทบของสงครามโลกครั้งที่ 2 ธุรกิจการผลิตยานยนต์ที่เป็นเงินกระเป๋าหลักประสบปัญหาเศรษฐกิจถดถอยจนต้องย้ายโรงงานไปอยู่เมืองอื่น ปัญหาเหล่านี้สะสมทีละเล็กทีละน้อย จนทำให้ที่สุดแล้วก็เกิดการจราจลกลางเมือง มีการเผชิญหน้ากันระหว่างตำรวจและชาวแอฟริกันอเมริกันที่ส่วนใหญ่เป็นอดีตลูกจ้างโรงงานต่างๆ มีผู้เสียชีวิต 43 รายบาดเจ็บกว่า 1,000 คน ขณะที่อาคารรวมถึงโรงงานต่างๆ ทั้งหลายโดนทำลายไปก็ไม่น้อย 

 2

บ้านแต่ละหลัง โรงงานแต่ละแห่งที่เคยเฟื่องฟู กลายสภาพเป็นเหมือนบ้านร้างที่ไร้การดูแล ถนนหนทางที่เคยพลุกพล่านก็บางตาลงอย่างชัดเจน เมืองแห่งนี้ไร้แต้มต่อใดจากภาวะล้มละลาย นี่คือเหตุผลที่ ดีทรอยต์ กลายเป็นเมืองที่มีภาพลักษณ์ของความรุนแรง เป็นแหล่งซ่องสุมของอาชญากรรมในสายตาคนนอกนับตั้งแต่นั้น... ด้วยคาแร็คเตอร์ "อันเดอร์ด็อก" ที่ถูกยัดเยียดแและฝังหัวมายาวนาน อาจจะเป็นเหตุผลที่ว่าทำไมผู้คนในเมืองที่เสื่อมโทรมแห่งนี้จึงคลั่งไคล้กลุ่ม แบดบอยส์ ในทีม ดีทรอยต์ พิสตันส์ และยกให้เป็นกระบอกเสียงของคนทั้งเมืองไปโดยปริยาย เพราะทีมแห่งนี้ไม่มีพระเอก พวกเขารวมเอาเหล่าตัวแสบจับยัดใส่กระด้ง ก่อนจะท้าชนตัวแทนทุกรัฐทั่วอเมริกาพร้อมประกาศตัวว่า "พวกข้ามาจาก ดีทรอยต์ โว้ย ใครอยากเจอก็เข้ามา" ด้วยความภาคภูมิใจ

จุดเริ่มต้น

ในช่วงต้นยุค 1980 ดีทรอยต์ พิสตันส์ ใน NBA จัดว่าเป็นเพียงทีมไม้ประดับ ลงแข่งเมื่อไหร่ก็ผูกหัวแม่มือไว้ก่อนได้เลยว่าแพ้เละแน่ๆ สภาพทีมๆ นี้ไม่ต่างจากสภาพของเมืองที่ไม่มีเงินลงทุนอะไรมากมายนัก ผู้เล่นส่วนใหญ่ไม่มีชื่อเสียงและมักจะได้ใช้ของเหลือจากทีมอื่นๆ เอามาเป็นกำลังหลักของตัวเองเสมอ และไม่ใช่แค่ผู้เล่นเท่านั้น ขนาดโค้ช พวกเขายังเอาคนที่ถูกเรียกว่า "ศพที่มีชีวิต" หรือ "Dead Man Walking" มาเป็นกุนซือของทีมอีกด้วย และเขาคนนั้นคือ ชัค เดลี่ย์

"โค้ชเดลี่ย์" มีคุณสมบัติเหมาะกับความย่ำแย่ของทีม ดีทรอยต์ อย่างที่สุด เขาไม่เคยคุมทีมไหนได้เกิน 1 ฤดูกาลเลยด้วยซ้ำ แถมการแต่งตัวของเขายังแปลกๆ เพราะชอบใส่ชุดสูทหรูหราลงคุมทีมข้างสนาม จนได้ฉายาจากสื่อว่า "แด๊ดดี้ ริช" ที่ดูเป็นคนน่าเบื่อ และก่อนที่จะมาเป็นนายใหญ่ที่ พิสตันส์ เขาเพิ่งโดน คลีฟแลนด์ คาวาเลียร์ส ไล่ออกจากทีมหลังจบฤดูกาล 1982 และหลังจากได้งานที่ พิสตันส์ เขานำตัวลูกศิษย์ในทีมเก่าอย่าง บิล แลมเบียร์ ติดมาด้วย 1 คน 

"ขยันผิดที่ 10 ปีก็ไม่รวย" คือคำเปรียบเทียบของคนเก่งที่ไปอยู่ผิดที่ผิดทาง และในส่วนของ ชัค เดลี่ย์ นั้นก็พอจะนับรวมแบบนั้นได้ เขาเป็นโค้ชที่มีจุดเด่นในด้านจิตวิทยา แม้จะไม่เคยประสบความสำเร็จมาก่อน แต่งานที่ พิสตันส์ กับเหล่าผู้เล่นโนเนมทั้งหลายดูจะเป็นอะไรที่เหมาะสมกับสิ่งที่เขาซ่อนอยู่ในตัว 

 3

ชัค เดลี่ย์ มาในมาดใหม่ที่ พิสตันส์ เขารู้ว่าศักยภาพที่ลูกทีมมีในตอนนั้นจะให้ไปเล่นเกมบุกสวยงามแข่งกับโคตรทีมแห่งยุคอย่าง บอสตัน เซลติกส์ หรือ แอลเอ เลเกอร์ส คงเป็นไปไม่ได้ ดังนั้นเขาจึงปรับแท็คติกมาให้ลูกทีมเน้นเกมรับเป็นพิเศษ และยังมีปัจจัยอื่นๆ อีกมากที่ เดลี่ย์ เข้ามาเปลี่ยนแปลงลูกทีมของเขาทุกคน 

เขาเลือกให้แต่ละคนทำงานในแบบที่ตัวเองถนัด แลมเบียร์ ได้รับการอนุญาตให้เล่นรุนแรงและสกปรกได้เต็มที่ เพราะเขารู้ดีว่ามันจะเป็นประโยชน์สูงสุดของทีม ยิ่งในช่วงเวลานั้น NBA ยังไม่มีกฎยิบย่อยในการเซฟผู้เล่นทำให้เรื่องความแรงและการปะทะนั้นถือเป็นเรื่องธรรมดาของ NBA เลยทีเดียว เพียงแต่ว่า พิสตันส์ คือทีมที่พร้อมจะใช้มันบ่อยที่สุด

อีกทั้งเรื่องการปกครองลูกทีมเขายังให้ความสะดวกสบายแบบเต็มที่ และผู้เล่นแต่ละคนสามารถแสดงตัวตนของตัวเองออกมาได้เมื่อลงสนาม มันคือเกมจิตวิทยาเล็กๆ น้อยๆ ที่ทำให้ ชัค เดลี่ย์ เริ่มได้ใจเหล่าลูกทีม และเด็กๆ ของเขาก็พร้อมจะทำตามที่สั่งอย่างเต็มใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ไอเซห์ โธมัส ชายร่างเล็กที่ ชัค เดลี่ย์ มอบบทบาทพระเอกในหมู่คนร้ายให้กับเขา

เลือกหัวหอกสู่ยุคใหม่ 

ทุกทีมจำเป็นที่จะต้องมีแม่ทัพที่นำทีมลงไปสู้ศึกในสนามรบ และหัวใจของ "แบด บอยส์" ยุคนั้นคือ ไอเซห์ โธมัส ชายร่างเล็กหากเทียบกับส่วนสูงนักบาสเก็ตบอลคนอื่นๆ ใน NBA โดยดึงตัวมาจากมหาวิทยาลัย อินเดียน่า ในปี 1981 และกลายเป็นการดราฟต์ที่ดีที่สุดในประวัติศาสตร์ของ พิสตันส์ เมื่อเขาเข้ามาและกลายเป็นผู้นำของทีมได้อย่างรวดเร็ว

 4

โธมัส เติบโตในครอบครัวขนาดใหญ่ในย่านเสื่อมโทรมของ ชิคาโก้ เขาเป็นคนที่มีความห้าวหาญในตัวแบบสุด มีนิสัยไม่พอใจกับคำว่า "แค่ชัยชนะ" แต่เขาต้องการที่จะ "ทำลายการแข่งขันให้สิ้นซาก" และเหนือสิ่งอื่นใดคือเขาเร็วเหมือนจรวด เขารู้วิธีฝ่าคู่แข่งเข้าไปทำแต้ม สไตล์การเล่นของเขาสร้างเซอร์ไพรส์ได้เสมอ บางครั้งบอลอยู่ในมือเขาได้ไม่กี่วินาทีเขาก็จัดการเปลี่ยนแปลงมันให้เป็นสกอร์ได้เสมอไม่ว่าจะเป็นการชู้ตเองหรือว่าแอสซิสต์ก็ตาม ดังนั้นผู้เล่นที่มีทั้งความเป็นผู้นำและฝีมือคือสิ่งที่ ชัค เดลี่ย์ ตามหาอยู่พอดิบพอดี 

"ผมพยายามทุ่มสิ่งที่มีเพื่อเอาชนะไมเคิล จอร์แดน ให้ได้ เขาอาจจะเป็นผู้เล่นที่เก่งที่สุดในโลก แต่ในระหว่างนี้ผมจะทำทุกอย่างเพื่อเอาชนะเขา" นี่คือทัศนคติของ ไอเซห์ โธมัส

ความสัมพันธ์ในทีม พิสตันส์ ยุคของ ชัค เดลี่ย์ ถือว่าเป็นไปได้อย่างแน่นแฟ้น ผู้เล่นทุกคนรู้สึกว่าต่างคนต่างเป็นเหมือนคนในครอบครัว โดยมี โธมัส เป็นพี่ใหญ่ ครั้งหนึ่ง เดนนิส ร็อดแมน หนึ่งในสมาชิกทีมแบดบอยส์ชุดนี้ยังยอมรับว่า โธมัส เป็นเหมือนพี่ชาย ส่วน ชัค เดลี่ย์ เป็นเหมือนพ่อของเขา ทั้งๆ ที่ความจริงแล้วประโยคซึ้งจะไม่ออกจากปากคนที่หลุดโลกอย่างเขาบ่อยนัก สิ่งที่ยืนยันได้คือในวันที่ ร็อดแมน ย้ายไปอยู่กับ ชิคาโก้ บูลส์ ในภายหลังเขายังกล้างัดใส่ขาใหญ่ของทีมอย่าง ไมเคิล จอร์แดน มาแล้ว

 5

แรงขับจากเหล่าตัวแสบเริ่มเห็นผลขึ้นทีละเล็กทีละน้อย ชัค เดลี่ย์ สามารถพาทีมเข้าไปเล่นรอบเพลย์ออฟครั้งแรกในรอบ 7 ปีได้สำเร็จหลังเริ่มงานได้ไม่นาน แม้ช่วงแรกๆ จะได้ลิ้มรสกับความพ่ายแพ้ให้กับ บอสตัน เซลติกส์ ที่มีผู้เล่นอย่าง แลร์รี่ เบิร์ด แต่เด็กๆ ของ เดลี่ย์ เอาความพ่ายแพ้เป็นกระดาษทรายขัดกระดูกของพวกเขาให้เงาแว้บเพื่อรอให้ถึงวันของพวกเขา 

หลังจากเก็บเล็กผสมน้อยมาหลายปีในที่สุด ชัค เดลี่ย์ ก็สามารถหาผู้เล่นที่จะเติมเต็มแท็คติกของเขาได้ทั้งหมด และมันเป็นดรีมทีมที่เขาเฝ้ารอ บิล แลมเบียร์, เดนนิส ร็อดแมน, ริค มาฮอร์น, โจ ดูมาร์ส, จอห์น แซลลี่ และ ผู้นำทีมเข้าสู่ยุคใหม่ ไอเซห์ โธมัส 

การมาของผู้เล่นอย่าง ร็อดแมน และ ดูมาร์ส ทำให้ พิสตันส์ ที่มีจุดเด่นเรื่องเกมรับเด่นอยู่แล้วแกร่งเข้าไปอีกและทำให้ แบดบอยส์ เป็น แบดบอยส์ ทีสมบูรณ์แบบ นาทีนี้ เป้าหมายแค่เข้ารอบเพลย์ออฟมันต่ำไปเสียแล้ว เพราะ พิสตันส์ สามารถเข้าชิงแชมป์สายตะวันออกได้สำเร็จในปี 1987 แต่ก็ไม่อาจต้านทาน เซลติกส์ ทีมแกร่งแห่งยุคได้แม้ว่าจะสู้ได้สนุกถึง 7 เกมก็ตาม แต่เหล่าเด็กเลวก็ยังมีสภาพจิตใจที่แข็งแกร่งพอที่จะรับมือกับความพ่ายแพ้ 1 ปีหลังจากนั้น พิสตันส์ เดินทางมาเจอกับอริเก่าอีกครั้ง และหนนี้พวกเขามีบทเรียนในความพ่ายแพ้มาแล้ว และประวัติศาสตร์ก็ไม่ซ้ำรอยจนได้ 

 6

เหล่าแบดบอยส์ ลงสนามและเอาชนะซี่รี่ส์ต่อ เซลติกส์ ได้ 4-2 และใน 6 เกมที่เจอกันมีเพียงหนเดียวเท่านั้นที่ เซลติก สามารถทำแต้มได้เกิน 100 แต้ม และมีค่าเฉลี่ยต่อเกมเพียง 92 คะแนนเท่านั้น

"เกมรับของ พิสตันส์ ดีที่สุดเท่าที่เคยมีมา คุณจะเจอการวิ่งเพรสซิ่งแบบเต็มสนาม โค้ชของทีมเติมทัศนคติของนักสู้ให้ทีมเยอะมาก และเห็นได้เลยว่า เดนนิส ร็อดแมน วิ่งไม่หยุดหลังจากเสียบอล หรือแม้แต่ตอนที่บล็อคกับรีบาวด์ได้" บับบ้า เออร์ดาน หัวหน้าบอลบอยของพิสตันส์ ที่อยู่ข้างสนามในยุค '86-'91 กล่าวไว้เช่นนั้น

จริงอยู่ที่ในปี 1988 เส้นทางสู่ถ้วย แลร์รี่ โอ ไบรอัน สิ้นสุดลงในรอบชิงชนะเลิศ เมื่อ พิสตันส์ ต้านทาน แอลเอ เลเกอร์ส ในยุค คารีม อับดุล จาบาร์ กับ แมจิค จอห์นสัน ไม่ไหว พ่ายไป 4-3 เกม แต่พวกเขาไม่สูญเสียโมเมนตัมเลย เพราะปีถัดมา พวกเขาตะลุยรอบเพลย์ออฟอย่างร้อนแรง ย้ำแค้น เซลติกส์ แบบกวาดซีรี่ส์ 3-0 (ช่วงนั้นเพลย์ออฟรอบแรกยังแข่งกันแบบชนะ 3 ใน 5 เกม) และกวาด มิลวอกี้ บัคส์ อีก 4-0 ในรอบต่อมา 

ที่สุดแล้ว แบดบอยส์ ก็พา พิสตันส์ เข้ามาถึงรอบชิงแชมป์สายอีกครั้ง เพียงก้าวเดียวเท่านั้น พวกเขาก็จะได้เข้าชิงแชมป์ NBA… และอุปสรรคที่ขวางอยู่คือ ชิคาโก้ บูลส์ ของ ไมเคิล จอร์แดน นั่นเอง

แบดบอยส์อหังการ

คงไม่ต้องพูดถึงความเก่งกาจของ ไมเคิล จอร์แดน ให้มากมายนัก เมื่อเขาอยู่ในฐานะนักบาสเก็ตบอลที่เก่งที่สุดตลอดกาล ดังนั้น พิสตันส์ ต้องห้ามเหลิงกับความสำเร็จที่เกิดขึ้นเด็ดขาด เพราะของจริงจะเริ่มหลังจากนี้ ในเกมชิงแชมป์สายตะวันออกปี 1989 

 7

อย่างที่กล่าวไว้ในข้างต้น ปกติ พิสตันส์ ถูกวางแท็คติกมาให้เล่นเกมรับตามแบบฉบับ ชัค เดลี่ย์ อยู่แล้ว แต่ว่าการเจอกับโคตรคนอย่าง จอร์แดน ทำให้พวกเขาเพิ่มบางสิ่งบางอย่างเข้าไป ไอเซห์ โธมัส หัวหอกของทีมจึงเริ่มไอเดียใหม่ที่เขาตั้งชื่อมันว่า "จอร์แดน รูลส์" (กฎในการจับตายจอร์แดน) และวิธีการของมันมีอยู่ว่า

"ถ้า ไมเคิล อยู่ในจุดที่ทำคะแนนได้ เราจะผลักเขาออกจากจุดนั้นด้วยการเล่นดับเบิ้ลทีม ถ้าเขาย้ายไปปีกซ้ายจากจะรุมเขาทันที จริงอยู่ที่เขาเป็นพวกทำแต้มใส่คุณได้แม้จะอยู่หน้าร้านฮ็อทด็อก แต่เราต้องจับตาเขา หากเขาเข้ามาถึงใต้แป้นเราจะเอาพวกบิ๊กแมนเข้าเล่นงานเขาทีเดียว 2 คนเลย เราต้องตอกเขาเข้าฝาโลง หลายคนอาจจะบอกว่าเราเล่นสกปรก แต่เราไม่ได้เป็นแบบนั้น เราใช้ความแข็งแกร่งของร่างกายเข้าสู้" ชัค เดลี่ย์ ว่าไว้เช่นนั้น

 8

ทุกอย่างในซีรี่ส์ชิงแชมป์สายตะวันออกเป็นอย่างที่ ดูมาร์ส ว่า ผู้เล่น พิสตันส์ แทบไม่สนผู้เล่นคนอื่นๆของ บูลส์ เลย การหยุดจอร์แดน ที่มีศักยภาพยิงคนเดียว 40-50 แต้มได้ คืองานหลักของพวกเขาในทุกๆ เกมที่เจอกัน ดูมาร์ส, โธมัส, ร็อดแมน ผลัดกันประกบติดจอร์แดน และพุ่งเข้าปะทะในจังหวะทำแต้ม บวกกับการที่ จอร์แดน เองเป็นพวกมั่นใจในตัวเองสูง ยิ่งโดนประกบเขายิ่งอยากเอาชนะ นั่นจึงให้ จอร์แดน รูลส์ ทำหน้าที่ของมันได้อย่างยอดเยี่ยม และสุดท้ายก็ได้ผล พิสตันส์ เอาชนะ ซีรี่ส์ นี้ไปได้ 4-2 เกม เมื่อคว่ำราชาได้เหล่าแบดบอยส์ก็ยิ่งมั่นใจขึ้นไปอีกหลายเท่า และเกมนัดชิงก็ไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป

เกมนัดชิงกับ เลเกอร์ส ในยุคที่ คารีม อับดุล จาบาร์ กำลังจะรีไทร์ และ เมจิค จอห์นสัน ก็กำลังมีอาการบาดเจ็บ กลายเป็นการไล่ยำม้วนเดียวจบของ พิสตันส์ ที่กวาด เลเกอร์ส ไป 4-0 คว้าแชมป์สมัยแรกในประวัติศาสตร์ของทีมด้วยสไตล์ที่กลายเป็นแบรนด์ติดตัวพวกเขาไปตลอดกาล และกลายเป็นความภูมิใจของชาว ดีทรอยต์ ที่มักจะโดนดูถูกว่าเป็นเมืองบ้านป่าเมืองเถื่อนด้อยพัฒนามาตลอด

"มันเหมือนเป็นการรวมเรื่องของชาวดีทรอยต์เข้าไว้กับเรื่องกีฬา ที่นี่มีครอบครัวชนชั้นแรงงานซึ่งใช้ชีวิตอย่างยากลำบากมากมาย การคว้าแชมป์ครั้งนี้ทำให้เมืองของเราแข็งแกร่งขึ้น ชาวดีทรอยต์ภาคภูมิใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น และไม่ใช่แค่ดีทรอยต์เท่านั้น มันรวมถึงรัฐมิชิแกนทั้งรัฐเลยทีเดียว" ริค มาฮอร์น กล่าวอย่างตื้นตันหลังสร้างประวัติศาสตร์ได้สำเร็จ 

 9

ปี 1990 คือปีที่ แบดบอยส์ ตอกย้ำความสำเร็จในปี 1989 และเป็นเหมือนการบอกกว่า พวกเขาไม่ได้มีดีแค่การเล่นเกมหนักๆ เท่านั้น และการได้แชมป์ก็ไม่ใช่เรื่องฟลุ๊ค เมื่อ พิสตันส์ ต้องมาเจอกับ ชิคาโก้ บูลส์ อีกครั้งในศึกชิงแชมป์สายตะวันออก และหนนี้เป็นหนังม้วนเดิมภาพ ไมเคิล จอร์แดน กลิ้งโคโล่กลายเป็นช็อตที่ทำให้แฟนๆ ชาวดีทรอยต์เฮลั่นสนาม แฟนของ พิสตันส์ คนหนึ่งนำเสื้อเบอร์ 23 ของ จอร์แดน เข้ามาชมข้างสนามและทุกครั้งที่จอร์แดนล้ม เขาก็จะซัดหมัดใส่เสื้อตัวนั้นราวกับว่าเขาเป็นส่วนหนึ่งในการไล่อัดจอร์แดน ในสนามเลยทีเดียว

บรรยากาศดังกล่าวบอกได้ว่า ดีทรอยต์ พิสตันส์ เป็นมากกว่าทีมกีฬา พวกเขาขับเคลื่อนเมืองที่กำลังตกต่ำให้กลับมามีชีวิตชีวาและกล้ายืดอกเดินเท่แบบไม่ต้องหลบหน้าแฟนๆ ทีมไหนเลย 

"เราชอบบาสเก็ตบอลที่เล่นด้วยความแข็งแกร่ง ผมคิดว่า ดีทรอยต์ แสดงให้เห็นแล้วว่าพวกเขาสามารถเตะก้นจอร์แดนได้ ผมคิดว่าแฟนๆ ต้องรักที่ได้เห็น มาฮอร์น และ แลมเบียร์ ทำให้ใครบางคนลงไปกอง แล้วยังมี ไอเซห์ ที่เป็นเหมือนไอ้หนุ่มข้างถนน พวกเขาอาจจะเล่นได้ไม่ประทับใจคนอื่นๆ เพราะมันไม่ตื่นเต้น แต่พวกเขาทำให้คุณยอมจ่ายเพื่อมาดูว่าทีมพิสตันส์เป็นอย่างไร" เทอร์รี่ ฟอสเตอร์ นักข่าวของ ดีทรอยต์ นิวส์ เขียนถึงความเป็นจุดขายของ แบดบอยส์ ชุดนั้น ที่สามารถเข้าชิงแชมป์ NBA ได้เป็นปีที่ 2 ติดต่อกัน โดยด่านสุดท้ายคือ พอร์ทแลนด์ เทรลเบลเซอร์ส

 10

การเจอกับ เทรลเบลเซอร์ส ไม่ใช่เรื่องที่จะเอาชนะกันง่ายๆ ว่ากันว่าที่ โรส การ์เด้น รังเหย้าของพวกเขา มีบรรยากาศที่สามารถข่มขวัญคู่แข่งได้ พวกเขาผ่านมาทั้ง แอลเอ เลเกอร์ส, ซีแอตเทิล ซูเปอร์โซนิค และ ฟีนิกซ์ ซันส์ ซึ่งถือว่าเป็นของแข็งในสายตะวันตก แต่ขึ้นชื่อว่า แบดบอยส์ พวกเขาไม่กลัวอยู่แล้ว 

"เทรลเบลเซอร์ส เป็นคู่แข่งที่น่าเกรงขามมาก และ โรส การ์เด้น คือสนามที่เล่นยากที่สุดใน NBA ทว่าดีทรอยต์ ไปถึงที่นั่นและบอกว่า 'ฟังนะพวก เราไม่กลัวแกว่ะ เดี๋ยวเราจะยำคาบ้านแกให้ดู' นั่นคือสิ่งที่น่าทึ่งมาก ทั้งๆ ที่ส่วนใหญ่จะใจฝ่อและบอกตัวเองว่า 'เอาล่ะ เราจบเห่แล้ว'" แดน รีช นักจัดรายการวิทยุที่เป็นแฟนพันธุ์แท้ของ พิสตันส์ กล่าว

สุดท้ายก็เป็นเช่นนั้น พิสตันส์ เดินหน้าคว้าชัยในนัดชิง 4 ต่อ 1 เกม ซึ่งนับว่าเป็นชัยชนะที่ขาดลอย ชัค เดลี่ย์ และเด็กๆ ของเขาปลดปล่อยความสะใจออกมาอีกครั้ง พวกเขาไม่สนว่าใครจะกล่าวหาว่าเป็นทีมที่เล่นสกปรก เพราะบทสรุปคือ แบดบอยส์ ได้แหวน 2 วงแบบ 2 ปีติด ของแบบนี้ไม่มีทางเลยที่จะคว้ามาได้ด้วยความสกปรกเพียงอย่างเดียว กล่าวคือ แบดบอยส์ ชุดนนี้คือส่วนผสมที่ลงตัวของความห้าว, ความมุ่งมั่น, มันสมอง และแรงขับจากท้องถิ่น แน่นอนว่า ดีทรอยต์ พิสตันส์ สมควรได้รับการยกย่องแบบไร้ข้อโต้แย้งทุกประการ 

 11

"เราคือทีมที่มีเกมรับดีที่สุดเท่าที่โลกเคยมีมา และในเกมบุกเราสามารถจะถล่มใส่ใครก็ได้ ไม่ว่าจะวงนอกหรือวงใน ในการจัดอันดับแต่ละครั้งพวกเขาอาจจะไม่อยากยกตำแหน่งที่สุดของที่สุดให้เรา แต่ที่แน่ๆ พวกเขาปฎิเสธมันไม่ได้หรอก" เจมส์ เอ็ดเวิร์ดส์ หนึ่งในสมาชิกของทีมตอบคำถามที่ว่า พิสตันส์ ในปี 1989-90 นั้นคือสุดยอดทีมบาสเก็ตบอลอันดับ 1 ของ NBA หรือเปล่า

แบดบอยส์ เอฟเฟ็คต์

การเล่นที่รุนแรงหนักหน่วงของ แบดบอยส์ แทบจะจบลงทันทีเมื่อถูก NBA แก้กฎเรื่องการทำฟาวล์ใหม่ป้องกันไม่ให้นักกีฬาเข้าปะทะกันถึงลูกถึงคนจนอาจทำให้ใครบาดเจ็บได้ ซึ่งกฎนี้เองมี ไมเคิล จอร์แดน คือผู้สนับสนุนให้ NBA เปลี่ยนแปลงมัน จนทำให้มีหลายคนแซวว่า NBA เปลี่ยนกฎนี้เพื่อ MJ โดยเฉพาะหรือเปล่า 

ไม่เว้นแม้แต่ เมจิค จอห์นสัน ทื่เคยติดทีมชาติสหรัฐอเมริกา ร่วมกับ จอร์แดน ยังเผลอแซววันที่ถ่ายรูปหมู่ว่า "อย่าใกล้ไมเคิลมากนะ เดี๋ยวจะเสียฟาวล์เอา" แม้จะดูเหมือนเป็นมุกตลกแต่ก็ทำให้ใครหลายคนเผลอคิดไปตามต่างๆ นานา

หลังจากเปลี่ยนกฎเกมก็เปลี่ยนไป จอร์แดน พา บูลส์ มาเจอ พิสตันส์ อีกครั้ง หนนี้ กระทิงแห่งชิคาโก้ ถลุง พิสตันส์ เละเทะถึง 4-0 เลยทีเดียว แม้จะดูเป็นทฤษฎีสมคบคิด ทว่าความจริงแล้ว บูลส์ ชุดนั้นสมบูรณ์แบบมากขึ้นผู้เล่นในทีมคนอื่นๆ อาทิ สก็อตตี้ พิพเพ่น ต่างก็ยกระดับตัวเองขึ้นมาได้ จน จอร์แดน ไม่ต้องเป็นเดอะ แบก อีกแล้ว ขณะที่ตัวของ MJ เองก็เรียนรู้ที่จะเป็นนักบาสที่เล่นเป็นทีมมากขึ้นอีกด้วย จนที่สุดแล้ว ชิคาโก้ บูลส์ ก็คว้าแชมป์ NBA ในปี 1991 จนได้

"มันเป็นส่วนหนึ่งของพลัง มีหลายสิ่งหลายอย่างสนับสนุนให้มันเกิดขึ้น ผมคิดว่าหนึ่งในนั้นคือ ไมเคิล เจอระบบการเล่นที่ลงตัว เขาต้องปรับตัวให้เข้ากับทีม เขาต้องเริ่มไว้ใจเพื่อนๆ และในที่สุดฟอร์มที่สุดยอดก็ออกมาพร้อมๆ กับความเคารพนั้น" ฟิล แจ็คสัน ตำนานโค้ชของ บูลส์ กล่าว

จะด้วยเหตุผลใดก็ตาม ไม่ว่าจะเพราะเปลี่ยนกฎ, พิสตันส์เข้าสู่ช่วงขาลง, บูลส์กำลังเดินทางมาถึงจุดพีก คำตอบทั้งหมดมันอยู่ที่ว่า แบดบอยส์ คือคุณค่าที่จอร์แดน คู่ควร พวกเขารับบทตัวร้ายได้อย่างน่าประทับใจจนโลกต้องจดจำมาจนถึงทุกวันนี้

อัลบั้มภาพ 11 ภาพ

อัลบั้มภาพ 11 ภาพ ของ แบดบอยส์แห่งดีทรอยต์ : ยุคสมัยที่ตัวร้ายครอง NBA

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook