อิจฉาหรือหาความยุติธรรม : ทำไมกรีฑาโลกถึงสงสัยในความเป็นหญิงของแคสเตอร์ เซเมนยา?

อิจฉาหรือหาความยุติธรรม : ทำไมกรีฑาโลกถึงสงสัยในความเป็นหญิงของแคสเตอร์ เซเมนยา?

อิจฉาหรือหาความยุติธรรม : ทำไมกรีฑาโลกถึงสงสัยในความเป็นหญิงของแคสเตอร์ เซเมนยา?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

กาลครั้งหนึ่งในอดีต หลวงวิจิตรวาทการ เคยแต่งสำนวนที่ดูจะสะท้อนความเป็นจริงของสังคมไม่ว่าจะที่ไหนก็ได้ไม่น้อย ความว่า …

"อันที่จริง คนเขาอยาก ให้เราดี

แต่ถ้าเด่น ขึ้นทุกที เขาหมั่นไส้

จงทำดี แต่อย่าเด่น จะเป็นภัย

ไม่มีใคร อยากเห็น เราเด่นเกิน"

มองเข้าไปในใจความข้างต้นก็จะเห็นว่า แม้คนเก่ง คนดี ล้วนเป็นที่ต้องการของทุกสังคม แต่ในหลายๆ ครั้ง ความเก่ง ความดี นั้นกลับกลายเป็นที่น่าหมั่นไส้ เพราะต่างคนก็ต่างจิตต่างใจ หลายคนชื่นชอบ ชื่นชมในสิ่งที่ทำให้คนผู้นั้นโดดเด่น ทว่าบางคนกลับรู้สึกไม่ปลื้มกับสิ่งนั้น ซึ่งก็มีหลายที่มี ทั้งความอิจฉา รวมถึงปรามาสว่าคนผู้นั้นไม่ใช่ตัวจริงของจริง

แม้แต่วงการกีฬาเอง ก็มีหลายกรณีที่ความโดดเด่นของนักกีฬาสักคนกลายเป็นที่ไม่ปลื้มของผู้คน แต่ในกรณีของ แคสเตอร์ เซเมนยา สุดยอดนักกรีฑาระยะกลางเพศหญิงสัญชาติแอฟริกาใต้ เรื่องราวความโดดเด่นจนสามารถครองวงการนี้ไว้ได้ด้วยสองเท้ากลับนำมาซึ่งข้อหาที่ร้ายแรงกว่าที่หลายคนคาดคิด

เพราะข้อหาที่หลายคนกล่าวถึงและต้องการให้พิสูจน์อย่างชัดแจ้งแม้เวลาจะผ่านไปกว่าทศวรรษ คือเรื่องที่ว่า เธอนั้นเป็นผู้หญิง หรือแท้จริงคือผู้ชายกันแน่?

ผู้เปลี่ยนวงการ

แม้ แคสเตอร์ เซเมนยา จะเริ่มฝึกฝนวิ่งตั้งแต่วัยเด็กเพื่อเพิ่มทักษะในการเล่นกีฬาฟุตบอล แต่พรสวรรค์ที่ติดตัวมาแต่กำเนิดก็ได้ทำให้การวิ่งกลายมาเป็นกีฬาหลักที่สร้างชื่อเสียงและเกียรติยศให้กับเธอแล้วมากมาย

 1

ชื่อของเซเมนยาเริ่มเป็นที่รู้จักตั้งแต่ปี 2008 เมื่อเธอสามารถคว้าเหรียญทองได้ในการแข่งขันกรีฑาเยาวชนโลกและกีฬาเยาวชนเครือจักรภพอังกฤษ หรือ คอมมอนเวลธ์ ยูธ ในการแข่งขันวิ่ง 800 เมตร ก่อนที่ในปีต่อมาจะเป็นที่รู้จักของผู้คนทั่วโลก เมื่อเธอสามารถคว้าเหรียญทองวิ่ง 800 เมตรในศึกกรีฑาชิงแชมป์โลก ด้วยเวลาที่แพ้สถิติโลกเพียง 2 วินาทีเท่านั้น

และนับตั้งแต่นั้นมา เซเมนยาก็กลายเป็นนักวิ่งระยะกลางที่ทั้งโลกต้องครั่นคร้าม เมื่อเธอกวาดเหรียญทองในการแข่งขันวิ่งรายการต่างๆ แทบเรียบวุธ ... 15 เหรียญทองในศึกชิงแชมป์แอฟริกาใต้ บ้านเกิด, 3 เหรียญทองศึกชิงแชมป์แอฟริกา, 19 เหรียญทองไดมอนด์ลีก, 3 เหรียญทองศึกชิงแชมป์โลก และ 2 เหรียญทองโอลิมปิก แค่นี้ก็คงบอกถึงความเก่งกาจของเธอได้แล้วกระมัง

ไม่เพียงเท่านั้น สถิติในการวิ่งยังถือว่าน่าสนใจมาก เมื่อเธอสามารถรักษามาตรฐานเวลาไว้ได้เป็นอย่างดี โดยในระยะ 1,500 เมตร เซเมนยาสามารถกดเวลาที่ดีที่สุดลงมาต่ำกว่า 4 นาทีได้เมื่อปี 2018 ส่วนระยะถนัด 800 เมตร เจ้าตัวสามารถกดเวลาต่ำกว่าเดิมได้มาตลอด 3 ปีหลังสุด สถิติที่ดีที่สุดตอนนี้อยู่ที่ 1:54.25 นาที ซึ่งเพิ่งทำได้เมื่อปี 2018 และช้ากว่าสถิติโลกของ ยาร์มิน่า คราโตชวิโลว่า ที่ทำไว้ตั้งแต่ปี 1983 เพียงไม่ถึง 1 วินาทีเท่านั้น ... เรียกได้ว่าหากจะหาคนทำลายสถิติโลกที่อยู่ยงคงกระพันกว่า 30 ปีได้ ก็คงมีแค่เธอนี่แหละ

ผิดด้วยหรือที่เร็วเกินไป?

แน่นอน ด้วยผลงานความสำเร็จที่มากมายเช่นนี้ หลายคนย่อมสงสัยว่าเธอได้มันมาด้วยความใสสะอาดหรือไม่? ทว่าประเด็นที่ผู้คนสงสัยนั้น ดูจะลึกลับเกินจินตนาการที่คิดไว้โดยทั่วไปมากโขเลยทีเดียว

 2

จุดเริ่มต้นของเรื่องดังกล่าวต้องย้อนกลับไปถึงปี 2009 หรือเมื่อ 10 ปีก่อน ตอนที่เธออายุได้เพียง 18 ปี เมื่อสถิติ 1:55.45 นาที ที่เธอทำได้ในตอนที่คว้าเหรียญทองวิ่ง 800 เมตรในศึกชิงแชมป์โลกเมื่อเดือนสิงหาคม เร็วกว่าที่ทำไว้ในการแข่งขันกรีฑาเยาวชนชิงแชมป์แอฟริกาเมื่อ 1 เดือนก่อนหน้าถึง 4 วินาที

โดยปกติแล้ว ข้อสงสัยที่มักจะผุดขึ้นเป็นอย่างแรกเวลาเกิดเหตุการณ์ลักษณะนี้คือ การใช้สารกระตุ้น แต่ด้วยสถิติที่สหพันธ์กรีฑานานาชาติ หรือ IAAF เปิดเผยว่า เซเมนยาทำเวลาในการวิ่งระยะ 800 เมตร ได้เร็วกว่าเมื่อปีก่อนหน้าคว้าแชมป์โลก 8 วินาที และเร็วกว่าเดิม 25 วินาที ในระยะ 1,500 เมตร รวมถึงรูปพรรณสันฐานที่ดูไม่ค่อยคล้ายกับผู้หญิงโดยทั่วไป ประเด็นที่พวกเขาสงสัยจึงกลายเป็นอีกสิ่งที่ร้ายแรงไม่ต่างกันเลย …

นั่นคือ แท้จริงแล้ว แคสเตอร์ เซเมนยา เป็นผู้หญิง หรือเป็นผู้ชายกันแน่?

 3

IAAF ซึ่งสงสัยในประเด็นนี้มาตั้งแต่ระหว่างการแข่งขันจึงได้ตัดสินใจขอให้เซเมนยาเข้ารับการทดสอบเพศเพื่อคลายข้อสงสัยหลังจากการแข่งขันสิ้นสุด ทว่าข่าวดังกล่าวกลับหลุดไปถึงหูสื่อก่อนที่การแข่งขันวิ่ง 800 เมตรรอบชิงชนะเลิศ ซึ่งเธอต้องทำการแข่งขันจะเริ่มขึ้นเพียง 3 ชั่วโมง ไม่ต้องสงสัยเลยว่า เรื่องดังกล่าวทำให้คนในแวดวงกรีฑา นำโดย ไมเคิล จอห์นสัน อดีตยอดลมกรดระยะสั้นชาวอเมริกัน ครอบครัว รวมถึงคนทั่วทั้งประเทศแอฟริกาใต้เดือดเป็นไฟ

"เธอเป็นสาวน้อยของผมนะ ผมเลี้ยงมากับมือและไม่เคยสงสัยถึงเพศของเธอเลยแม้แต่น้อย จะให้พูดอีกกี่ล้านรอบ ผมก็ยืนยันว่า ลูกสาวของผมเป็นผู้หญิง" นี่คือสิ่งที่ เจค็อป คุณพ่อของ แคสเตอร์ เซเมนยา เปิดใจกับสื่อท้องถิ่นหลังมีกระแสข่าวเรื่องเพศของเธอ

แม้จะเจอกับเรื่องราวที่ร้ายแรงเช่นนั้น แต่ก็ต้องนับถือจิตใจของเซเมนยาที่ไม่หวั่นไหวกับเหตุการณ์ดังกล่าว เจ้าตัวสามารถคว้าเหรียญทองสมใจปรารถนา ก่อนจะเข้ารับการตรวจเพศตามที่ IAAF ร้องขอ … ซึ่งแม้มีข่าวลือว่า เธอเป็นคนที่มีทั้งสองเพศในร่างเดียวกัน แต่ทาง IAAF ก็ไม่ได้เปิดเผยผลการทดสอบออกมาอย่างเป็นทางการแต่อย่างใด

 4

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ IAAF ปฏิบัติต่อเธอสืบเนื่องจากการตรวจเพศก็คงพอที่จะตอบข้อสงสัยในผลการทดสอบที่เป็นความลับได้อยู่ เมื่อในเดือนพฤศจิกายน 2009 รัฐมนตรีกีฬาของแอฟริกาใต้เปิดเผยว่า ได้ทำข้อตกลงกับ IAAF ถึงการอนุญาตให้เซเมนยาเก็บเหรียญทองของเธอไว้ได้เป็นที่เรียบร้อย ก่อนที่อีก 8 เดือนต่อมา หรือในเดือนกรกฎาคม 2010 IAAF จะเปิดไฟเขียวให้เซเมนยาสามารถลงแข่งขันกรีฑาในประเภทหญิงที่ IAAF รับรองได้โดยที่ไม่มีปัญหา

อย่างไรก็ตาม ปัญหาเรื่องการตรวจเพศในเวลานั้นก็ทำให้ต้องมีหลายฝ่ายที่ต้องรับผิดชอบ เมื่อ วิลเฟรด แดเนี่ยลส์ โค้ชของเซเมนยาที่ทำงานร่วมกับ Athletics South Africa (ASA) หรือองค์กรดูแลวงการกรีฑาของแอฟริกาใต้ ตัดสินใจลาออกจากหน้าที่เพราะรู้สึกว่า ASA ไม่ได้ให้คำแนะนำที่เหมาะสม และไม่สามารถปกป้องลูกศิษย์ของเขาจากเรื่องนี้ไว้ได้ ขณะที่ฝ่ายการเมืองก็หยิบยกประเด็นนี้มาโจมตีผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องอย่างยกใหญ่

กฎใหม่ทำพิษ

หลังจากที่ IAAF เปิดไฟเขียวเมื่อปี 2010 เซเมนยาก็สามารถกลับมาลงสนามแข่งได้อีกครั้ง พร้อมทั้งกวาดรางวัลความสำเร็จไปมากมาย ซึ่งอันที่จริง ผลการแข่งขันในหลายรายการที่เธอประสบกับความพ่ายแพ้ ทั้งในศึกชิงแชมป์โลกเมื่อปี 2011 และโอลิมปิก 2012 ก็น่าจะพิสูจน์ได้ในระดับหนึ่งว่า เธอเองก็ไม่ได้เก่งกาจจนไร้เทียมทานเหมือนที่คนเขาพูดกันเสียทีเดียว

 5

ทว่าทาง IAAF เองก็ต้องการที่จะให้การแข่งขันกรีฑานั้นมีความสูสีและเท่าเทียมกันมากขึ้น ซึ่งปัญหาเรื่องของผู้หญิงที่มีฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน หรือฮอร์โมนเพศชายสูงโดยธรรมชาติ คือหนึ่งในประเด็นสำคัญที่พวกเขาเองก็แก้ไม่ตก เพราะฮอร์โมนดังกล่าวมีคุณสมบัติสำคัญคือ ช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงของกระดูกและกล้ามเนื้อ ซึ่งถือเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งยวดในการวิ่ง

ปี 2011 IAAF เคยออกกฎว่า นักกรีฑาหญิงซึ่งมีฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนสูงโดยธรรมชาติ จะต้องรับประทานยาที่มีสรรพคุณลดปริมาณฮอร์โมนดังกล่าวลงจนเทียบเท่ากับผู้หญิงโดยปกติ เรื่องดังกล่าวมีส่วนอย่างยิ่งกับการที่ผลงานส่วนตัวของเซเมนยาตกลงไปจากเดิมจนไม่สามารถคว้าเหรียญทองในศึกชิงแชมป์โลกที่แตกู และโอลิมปิกที่ลอนดอนได้ (เจ้าตัวได้รับเหรียญทองในภายหลังเนื่องจาก มาริยา ซาวิโนว่า เจ้าของเหรียญเดิมจากรัสเซียตรวจสารกระตุ้นไม่ผ่านจากคดีที่รัฐบาลให้การสนับสนุนการโด๊ป) และทำให้เจ้าตัวตัดสินใจลดโปรแกรมแข่งขันในช่วงเวลาดังกล่าวไป

ทว่าเรื่องราวของ ดูตี ชานด์ นักวิ่งระยะสั้นชาวอินเดีย ซึ่งถูกตรวจพบว่ามีฮอร์โมนดังกล่าวสูงโดยธรรมชาติ จนถูกตัดสิทธิ์ลงแข่งขันกีฬาเครือจักรภพอังกฤษและเอเชี่ยนเกมส์เมื่อปี 2014 ก็กลายเป็นจุดพลิกผันแรก เมื่อชานด์ตัดสินใจสู้คดีเพื่อเรียกร้องความบริสุทธิ์ จนที่สุดแล้ว ศาลกีฬาโลก หรือ CAS ได้มีคำตัดสินให้ยกเลิกกฎดังกล่าว เนื่องจากขาดหลักฐานที่เพียงพอว่า ฮอร์โมนเทสโทนสเตอโรนที่มากตามธรรมชาติ สามารถเพิ่มสมรรถภาพของผู้หญิงในการแข่งขันได้จริง ซึ่งการยกเลิกกฎข้อดังกล่าว ก็ดูจะสอดรับกับผลงานในลู่ของเซเมนยาที่ดีขึ้นเรื่อยๆ

 6

อย่างไรก็ตาม แม้ทาง IAAF ยืนยันอย่างหนักแน่นว่า จะเชื่อถือในหลักฐานยืนยันเรื่องเพศของทางนักกีฬาที่แต่ละประเทศส่งมาโดยไม่มีข้อโต้แย้ง แต่ความพยายามที่จะกำหนดมาตรฐานในเรื่องของฮอร์โมนเพศชายที่พบในนักกรีฑาหญิงให้ชัดเจนนั้นยังไม่หมดไป พวกเขาจึงออกกฎใหม่ขึ้นเมื่อเดือนเมษายน 2018 ว่า นักกรีฑาหญิงในระยะกลางที่มีฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนสูงโดยธรรมชาติ จะต้องรับประทานยาลดฮอร์โมนดังกล่าวลง โดยมีผลการศึกษาอ้างอิงว่า นักกีฬาในกลุ่มดังกล่าวถือความได้เปรียบกว่าคู่แข่งในการแข่งขัน ซึ่งในการวิ่งระยะ 800 เมตร นักกรีฑาหญิงที่มีฮอร์โมนดังกล่าวสูง จะกุมความได้เปรียบทางเวลาเหนือกว่าผู้หญิงโดยทั่วไป 1.8%

แต่ด้วยกฎเกณฑ์ที่ไม่ได้มีการบังคับใช้สำหรับนักวิ่งระยะสั้น, ระยะไกล และนักกรีฑาประเภทลาน หลายคนจึงอดรู้สึกไม่ได้ว่า การออกกฎดังกล่าว มีขึ้นเพื่อสกัดดาวรุ่ง แคสเตอร์ เซเมนยา โดยเฉพาะ!

สู้เพื่อวิ่งอย่างอิสระ

เรื่องที่มีผู้ตั้งข้อสังเกตดังกล่าวนั้นจะว่าไปก็ไม่ใช่เรื่องที่น่าแปลกใจนัก เพราะหากเทียบกับเรื่องราวในอดีต ดูจะเห็นได้ชัดว่าเซเมนยาคือนักกรีฑาหญิงที่มีระดับฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนสูงใกล้เคียงกับเพศชาย เพราะในช่วงเวลาที่เธอต้องเทคยาลดฮอร์โมน ผลงานก็ตกต่ำลง ส่วนในระยะหลังที่มีการยกเลิกกฎดังกล่าว ผลงานก็ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

 7

แต่ปัญหาสำคัญก็คือ ปริมาณฮอร์โมนที่มากเกินผู้หญิงนั้นคือสิ่งที่เกิดขึ้นกับเธอโดยธรรมชาติ ไม่ใช่จากการใช้สารกระตุ้น การปฏิบัติในลักษณะนี้จึงถือเป็นสิ่งที่ดูจะไม่ชอบธรรมนัก

จากประเด็นนี้ ทำให้สมาชิกของมูลนิธิกีฬาหญิง และพันธมิตรนักกีฬาจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็น บิลลี่ จีน คิง ตำนานวงการเทนนิส, แอบบี้ แวมบัค และ เมแกน ราพิโน นักเตะทีมชาติสหรัฐอเมริกาดีกรีแชมป์โลกและโอลิมปิก รวมถึง ดูตี ชานด์ ลงนามในจดหมายเปิดผนึกเพื่อเรียกร้องให้ IAAF ยกเลิกกฏที่มีลักษณะการเลือกปฏิบัติเช่นนี้เสีย โดยให้เหตุผลว่า "ไม่ควรมีผู้หญิงคนใดที่ต้องเปลี่ยนแปลงตัวเองเพื่อให้ได้ลงแข่งขันในกีฬาของผู้หญิง" เช่นเดียวกับองค์กรที่ดูแลด้านสิทธิมนุษยชน ฮิวแมน ไรท์ส วอทช์ (Human Rights Watch) ก็ออกมาโจมตี IAAF ในประเด็นดังกล่าวเช่นเดียวกัน

 8

ขณะเดียวกัน เซเมนยาก็ตัดสินใจนำเรื่องนี้เข้าสู่กระบวนการกฎหมาย เพื่อให้ศาลมีมติยกเลิกกฎดังกล่าว ซึ่งรัฐบาลของแอฟริกาใต้ได้ให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ โดย โธโกซิเล ซาซ่า รัฐมนตรีกีฬาของประเทศประณามว่ากฎข้อดังกล่าวนั้นเลวร้ายไม่ต่างจาก อะพาทไทด์ (Apartheid) นโยบายแบ่งแยกสีผิวที่เคยเป็นฝันร้ายในความเป็นจริงของชาวแอฟริกาใต้ยุคหลังอาณานิคมเลยทีเดียว

"มนุษยชาติเคยประกาศว่า นโยบายอะพาทไทด์ คืออาชญากรรมต่อสิทธิมนุษยชน เราจึงขอให้ทั่วโลกร่วมกันยืนหยัดเคียงข้างเราเพื่อต่อสู้ในสิ่งที่เราเชื่อว่าเป็นการฝ่าฝืนสิทธิมนุษยชนนี้อีกครั้ง”

 9

ถึงตอนนี้ เรื่องราวดังกล่าวกำลังจะเข้าสู่การพิจารณาของศาลกีฬาโลก หรือ CAS ในช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ 2019 นี้ ซึ่งทีมทนายของเซเมนยาเปิดเผยผ่านแถลงการณ์ยืนยันว่า "คุณเซเมนยาคือผู้หญิงอย่างไม่ต้องสงสัย และยืนยันที่จะขอต่อสู้เพื่อสิทธิในการวิ่งโดยที่ไม่ต้องมีการตรวจสุขภาพในเรื่องที่ไม่จำเป็นอีก เพราะเธอต้องการวิ่งอย่างมีอิสระ"

แถลงการณ์ยังระบุด้วยว่า "แม้ผู้หญิงจะมีความแตกต่างในพัฒนาการทางเพศ แต่เรื่องดังกล่าวก็ไม่ต่างอะไรกับพันธุกรรมที่หลากหลายเลยแม้แต่น้อย สังคมควรเปิดใจรับและร่วมยินดีในสิ่งที่เป็นของขวัญจากพันธุกรรมของเธอ มิใช่ต่อต้านและเลือกปฏิบัติเช่นนี้"

 10

แต่จากเรื่องราวมากมายเกี่ยวกับเธอ แคสเตอร์ เซเมนยา รู้สึกอย่างไรเกี่ยวกับวิบากกรรมจากธรรมชาติซึ่งถาโถมมาเช่นนี้? บางทีสิ่งที่เธอเปิดใจกับนิตยสาร You ของแอฟริกาใต้เมื่อปี 2009 ในช่วงที่สร้างชื่อเสียงและต้องเผชิญกับข้อสงสัยเรื่องเพศใหม่ๆ น่าจะตอบคำถามนี้ได้ดีที่สุดแล้ว …

"ฉันรู้สึกว่ามันเป็นเรื่องตลกนะ และก็ไม่ได้ทำให้ฉันรู้สึกอะไรเลย เพราะพระเจ้าได้สร้างฉันให้เป็นอย่างที่ฉันเป็นอยู่นี้ ซึ่งฉันยอมรับในสิ่งนั้น และภูมิใจในสิ่งที่ฉันเป็นค่ะ"

อัลบั้มภาพ 10 ภาพ

อัลบั้มภาพ 10 ภาพ ของ อิจฉาหรือหาความยุติธรรม : ทำไมกรีฑาโลกถึงสงสัยในความเป็นหญิงของแคสเตอร์ เซเมนยา?

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook