จากสนามบอลสู่ค่ายมวย : "พีรภัทร ศิริเรือง" นักวิทย์’กีฬาที่เคยทำงานกับ คาร์ดิฟฟ์ ซิตี้

จากสนามบอลสู่ค่ายมวย : "พีรภัทร ศิริเรือง" นักวิทย์’กีฬาที่เคยทำงานกับ คาร์ดิฟฟ์ ซิตี้

จากสนามบอลสู่ค่ายมวย : "พีรภัทร ศิริเรือง" นักวิทย์’กีฬาที่เคยทำงานกับ คาร์ดิฟฟ์ ซิตี้
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เพชรยินดี อคาเดมี กลายเป็นค่ายมวยไทยแห่งแรก ที่มีการนำเอาระบบวิทยาศาสตร์การกีฬาเข้ามาใช้อย่างเต็มรูปแบบ โดยมีชายหนุ่มวัย 28 ปี ผู้เคยมีประสบการณ์การทำงานกับสโมสร คาร์ดิฟฟ์ ซิตี้ อยู่เบื้องหลัง

มวยไทย ถือเป็นศิลปะการต่อสู้และกีฬาที่อยู่คู่กับบ้านเรามาอย่างยาวนาน และผ่านวิวัฒนาการมาหลายยุคสมัย จนถึงปัจจุบันที่เข้ายุคสู่ มวยไทยอาชีพเต็มตัว

หลายๆค่าย จึงต้องหารูปแบบแนวทางในการพัฒนาศักยภาพนักมวยในสังกัด เพื่อให้มีความพร้อมที่สุดก่อนขึ้นไปชกบนเวที

 

เช่นกันกับค่ายมวย เพชรยินดี ของเสี่ยโบ๊ท - ณัฐเดช วชิรรัตนวงศ์ หัวหน้าคณะและโปรโมเตอร์ ที่มีความคิดที่แตกต่างออกไป ในการนำเอาเทคโนโลยี และวิทยาศาสตร์การกีฬาที่ทันสมัย เข้ามาใช้ดูแลนักชกในค่าย โดยมี ฮอต - พีรภัทร ศิริเรือง หนุ่มนักเรียนนอกวัย 28 ปี รับผิดชอบดูแลเรื่องดังกล่าว

หลายคนอาจยังไม่คุ้นกับชื่อของเขา แต่สิ่งที่เราอยากบอกก็คือ เขาเป็นคนไทยเพียงไม่กี่คน ที่มีโอกาสได้ร่วมงานกับ สโมสรฟุตบอลอาชีพในลีกอังกฤษ ในตำแหน่ง นักวิทยาศาสตร์กีฬา ให้กับ คาร์ดิฟฟ์ ซิตี้ ทีมประจำเมืองหลวงของ เวลส์ เป็นเวลา 1 ฤดูกาล

 1

ความแตกต่างของสโมสรฟุตบอลอาชีพลีกแดนผู้ดี กับค่ายมวยในไทยเป็นอย่างไร และอะไรทำให้เขาหวนกลับมาทำงานในแผ่นดินเกิด ด้วยการนำเอาวิทยาศาสตร์การกีฬา เข้ามาประยุกต์ใช้กับ มวยไทย

เด็กบ้าบอลสู่นักเรียนเกียรตินิยม

“จริงๆ กีฬาแรกที่ผมให้ความสนใจคือฟุตบอลเหมือนกับเด็กผู้ชายทั่วไป ตอนอายุ 6-7 ขวบ ผมเคยไปฝึกฟุตบอลกับโค้ชที่เป็นระดับตำนานทีมชาติอย่าง อาจารย์ป้ำ วรวรรณ ชิตะวณิช, อาจารย์ดาวยศ ดารา”

 2

พีรภัทร ศิริเรือง ย้อนความหลังถึงความสนใจด้านกีฬาในวัยเด็กของตนเอง โดยเริ่มจากการฝึกหัดเตะฟุตบอล ก่อนลงลึกในรายละเอียดและศึกษาเรื่องกีฬามากขึ้น  จนตัดสินใจไปเรียนต่อในต่างแดน ด้วยการเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนที่ Klien Seminarie Hoogstraten โรงเรียนไฮสคูลที่ ประเทศเบลเยียม เป็นเวลา 2 ปี

รวมถึงการบินไป ศึกษาต่อในระดับปริญญาตรี University of Portsmouth ที่ประเทศอังกฤษ ในสาขา BSc (Hons) Sports and Exercise Science  ซึ่งเป็นสาขาที่ศึกษาเกี่ยวกับ วิทยาศาสตร์การกีฬา และชีวกลศาสตร์การกีฬา เฉพาะทางเกี่ยวกับการทำงานของกล้ามเนื้อ กระดูก เอ็น และข้อต่อ

การเรียนต่อที่อังกฤษของ พีรภัทร เป็นอะไรที่ยากมากสำหรับเด็กไทยคนหนึ่งเช่นเขา เนื่องจากเขามีต้นทุนที่น้อยกว่าเพื่อนๆในชั้นเรียนด้านภาษา เขากลายเป็นคนที่เรียนรู้ได้ช้าสุดในคลาสเรียน เนื่องจาก 99 เปอร์เซนต์ของนักเรียนสาขานี้ เป็นคนอังกฤษ

เขาใช้เวลาหนึ่งปีเต็ม เพื่อปรับตัวทั้งเรื่องการเรียน การใช้ชีวิต  และต้องพยายามหนักกว่าเพื่อนคนอื่นหลายเท่าตัว พีรภัทร ยกตัวอย่างการเขียนบทความวิชาการ 1 ชิ้น เขาต้องใช้เวลาถึง 1 เดือน  ขณะที่เพื่อนคนอื่นใช้เวลาเพียงแค่สองอาทิตย์เท่านั้น

แต่สิ่งหนึ่งที่ทำให้เขาไม่ยอมแพ้ ในการศึกษาต่อที่ต่างแดน คือ ความมุ่งมั่นที่อยากยกระดับ วงการวิทยาศาสตร์การกีฬาในไทย เนื่องจากเขามองว่ายังล้าหลังจากชาติชั้นนำอย่าง อังกฤษ อยู่มากพอสมควร

"ผมรู้สึกว่าต้องเรียนให้สุด เพื่อนผมที่เรียนวิทยาศาสตร์การกีฬาที่ไทยมีแค่ประมาณ 5% เท่านั้น ที่สามารถนำความรู้ออกมาใช้ต่อได้ แถมยังไม่สามารถใช้ความรู้ที่เรียนมาได้หมด 100% ในโลกภายนอก”

“มหาวิทยาลัยในไทย พัฒนาแค่วิชาการ แต่ไม่ได้พัฒนาคนจริงๆ พอได้เรียนรู้เยอะๆ ผมก็รู้สึกว่า โลกมันก็ดูกว้างขึ้น การนำเทคโนโลยีใหม่ๆจากต่างประเทศมาใช้มันสะดวกมากในการฝึกฝนนักกีฬา สิ่งที่เราเห็นจากที่อังกฤษ มันสามารถนำมาใช้ที่นี่ได้เยอะมาก"

แน่นอนการได้เรียนต่อ และใช้ชีวิตที่อังกฤษ ทำให้เขาได้เห็นถึง ความคลั่งไคล้กีฬา ของชนชาติต้นกำเนิดกีฬาฟุตบอล รวมถึงโครงการการกีฬาที่ดี ทั้ง ระบบเยาวชน การนำเอาวิทยาศาสตร์มาใช้ดูแลนักกีฬาอย่างเต็มประสิทธิภาพ

 3

"ถ้าพูดถึงเรื่องฟุตบอล สิ่งที่แตกต่างระหว่างเขาและเรา คือระบบเยาวชน ระบบที่นั่นสุดยอดมาก มีการแข่งขันตั้งแต่อายุ 12, 14, 16 และทีมสำรอง 18 ปี ไปจนถึงการแข่งระหว่างตัวจริงกับตัวสำรอง เรื่องความเป็นมืออาชีพก็มีความแตกต่าง เด็กที่นั่นพอถึง U16 ครอบครัวจะสนับสนุนเต็มที่ โดยที่พยายามบาลานซ์เรื่องการเรียน และกีฬา ให้ดีและมีคุณภาพ มากกว่านักเรียนไทย"

“ถ้าให้พูดถึงความล้าหลังเรื่องนี้ ระหว่างไทย กับอังกฤษ ผมว่าอีก 15-20 ปี ก็ยังตามเขาไม่ทันเลย...” พีรภัทร เผย

ในที่สุดความตั้งใจของ พีรภัทร ก็ผลิดอกออกผล เขาศึกษาจนจบปริญญา และคว้ารางวัลวิทยานิพนธ์เกียรนิยมอันดับ 1 ด้านชีวกลศาสตร์ ก่อนศึกษาต่อระดับปริญญาโท จบด้วยเกียรตินิยมอันดับสอง

หลังเรียนจบระดับปริญญาโท เขาเริ่มมองหาความท้าทายใหม่ ในการทำงานจริงๆ และด้วยความที่ชื่นชอบฟุตบอลเป็นทุนเดิม ทำให้ พีรภัทร ตัดสินใจเดินทางมายังสโมสร คาร์ดิฟฟ์ ซิตี้ ทีมในลีก แชมเปียนชิพ ในฤดูกาล 2014-15  เพื่อสมัครงาน

ร่วมงานคาร์ดิฟฟ์ ซิตี้

"หลังจากเรียนจบ ป.โท ผมยังเหลือ วีซ่าอีกหนึ่งปีเลยไม่รู้ว่าจะยังไงดี จะอยู่ห้องแล็บต่อหรืออย่างจะออกไปเจอชีวิตจริงบ้างว่ามันเป็นยังไง สุดท้ายผมเลยตัดสินใจมาสมัครงาน กับสโมสรฟุตบอลคาร์ดิฟฟ์ ซิตี้ เนื่องจากเจ้าของสโมสรเป็นคนมาเลเซีย (วินเซนต์ ตัน)  ผมคิดว่าการคุยกับคนอาเซียนด้วยกัน น่าจะง่ายกว่าคนไทยคุยกับคนอังกฤษ”

“ผมส่งประวัติไปหา CEO ของเขา รออยู่เดือนสองเดือน จากนั้นหัวหน้าฝ่ายบุคคลของสโมสร ได้ประสานให้ผม ส่งอีเมลล์ ติดต่อกับหัวหน้าทีม วิทยาศาสตร์การกีฬาของสโมสรคาร์ดิฟฟ์ จึงได้มาทำงานที่นี่"

 4

การร่วมงานกับสโมสรคาร์ดิฟฟ์ ซิตี้ เป็นเวลา 1 ฤดูกาล ทำให้ พีรภัทร ได้เรียนรู้การทำงานแบบมืออาชีพด้านวิทยาศาสตร์การกีฬา ประสบการณ์สอนให้เขาได้รู้ถึงสิ่งที่ในห้องแล็บไม่สามารถสอนได้

เช่นเรื่องของการดูแล สภาพร่างกายให้กับ นักกีฬา ที่แต่ละคนล้วนมีมูลค่าหลายล้านบาท นำโดย ฟาบิโอ ดา ซิลวา อดีตแข้งแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ภายใต้การคุมทัพของ สก็อตต์ ยัง ที่เข้ามารับช่วงต่อจาก โอเล กุนนาร์ โซลชา

“ในห้องแล็บ กว่าจะได้บทความสักชิ้น เราต้องศึกษามาจากนักกีฬาธรรมดาระดับ เกรดบี เกรดซี แต่ในชีวิตจริงเราต้องมาคลุกคลีกับนักกีฬาที่เป็นเกรดเอ ทำให้เห็นถึงความแตกต่างไม่ว่าจะด้านร่างกาย ทัศนคติ ที่แตกต่าง จากบทความวิชาการเยอะมาก”

“สิ่งหนึ่งที่นักกีฬาเกรดเอ มี คือความเป็นมืออาชีพสูง เขาเปิดรับทุกสิ่งที่เราบอก นั่นจึงทำให้การทำงานไม่ยากเกินไป ผมอยู่กับทีมเกือบหนึ่งฤดูกาล ก็ได้เห็นการทำงานที่เป็นระบบมืออาชีพจริงๆ ที่นั่นเขาจะแบ่งฝ่ายชัดเจน จนเห็นได้เลยว่า นักวิทยาศาสตร์การกีฬา มีอิทธิพลต่อการทำให้ร่างกายนักกีฬาพร้อมแค่ไหน”

“ถ้าช่วงปลายซีซั่นจะเป็นช่วงเวลา ที่ลำบากสุด เพราะนักกีฬามีความเสี่ยงได้รับบาดเจ็บ เนื่องจากใช้กล้ามเนื้อหนักเกินไป ดังนั้น ช่วงกลางถึงท้ายซีซั่น เราต้องพยายามบาลานซ์ให้สุขภาพกับอาการบาดเจ็บ อยู่กึ่งกลางระหว่างกัน ไม่ให้หนักไปกว่านั้น”

 5

คาร์ดิฟฟ์ ซิตี้ จบซีซั่นด้วยอันดับ 11 ของตาราง เป็นช่วงเวลาเดียวกับที่ พีรภัทร ตัดสินใจกลับเมืองไทย หลังจากใช้ชีวิตที่ อังกฤษ นานถึง 4 ปี เพื่อหาแรงบันดาลใจ ก่อนกลับไปศึกษาต่อในระดับปริญญาเอกที่เขาตั้งใจไว้

ประจวบเหมาะกับเวลานั้น เสี่ยโบ๊ท - ณัฐเดช วชิรรัตนวงศ์ โปรโมเตอร์คนดังแห่งค่ายมวยเพชรยินดี กำลังมองหานักวิทยาศาสตร์การกีฬาฝีมือดี เข้ามาดูแลนักชกในค่าย รวมถึงเคยทาบทาม พีรภัทร มาแล้วครั้งหนึ่งในช่วงที่ยังศึกษาอยู่ จึงได้ชักชวนให้เขามาทำงานที่ค่ายมวยเพชรยินดี อีกครั้ง

“ตอนนั้นผมก็เปิดฟังรายการวิทยุตามปกติ วันนั้นบังเอิญ ดีเจเขาเชิญนักวิทยาศาสตร์การกีฬาคนหนึ่ง มาให้ความรู้ ผมฟังแล้วก็รู้สึกชอบ สนใจ หลังจบรายการผมก็โทรไปหาดีเจ ถามไอ้เด็กคนนี้เป็นใคร ผมอยากได้มาทำงานด้วย เขาก็ให้เบอร์โทรน้องมา”

“ผมก็แปลกใจเพราะน้องเขาติดตามมวยไทยด้วย รู้จักผม รู้จักค่ายเรา ก็เชิญเขามาคุยที่ค่าย แต่ว่าตอนนั้น เขายังเรียนอยู่ เขารับปากว่าถ้าเรียนจบ เขาจะมาทำงานกับผม ผมก็รอนะ แต่ก็ติดตามเขาอยู่ตลอด เห็นเขาไปทำงานให้ สโมสรฟุตบอลคาร์ดิฟฟ์ ก็คิดว่าน้องเขาคงไปไกลแล้ว แต่สุดท้ายเราก็ได้มาร่วมงานกัน ผมก็บอกเขาว่า ฮอต มึงอยากได้อะไรบอกมาเลยนะ พี่สนับสนุนเต็มที่” เสี่ยโบ๊ท ณัฐเดช กล่าว

ติดตามเรื่องราว ณัฐเดช วชิรรัตนวงศ์ ได้ที่นี่

จาก คาร์ดิฟฟ์ ซิตี้ สู่ เพชรยินดี คิงส์ดอม

"วันแรกที่เข้ามา ผมรู้สึกตื่นเต้นมาก เพราะหลายคนเป็นนักมวยที่เราติดตามผลงานมาก่อนในสมัยเป็นแฟนมวย แต่ตอนนี้เราได้จับต้องเขาจริงๆ อย่างเพชรมรกต, พลังพล, ไข่มุกขาว เป็นนักมวยที่ทำให้เรารู้สึกตื่นเต้นมาก”

 6

ฟุตบอล อาจเป็นรักแรกของ พีรภัทร แต่ก็ไม่ใช่กีฬาประเภทเดียวที่เขาชื่นชอบ เพราะเขาเป็นคนหนึ่งที่ หลงใหลในเสน่ห์ของกีฬา มวยไทย นับตั้งแต่การได้ดูมวยครั้งแรก ในศึกวันมิตรชัย นัดปฐมฤกษ์ เมื่อปี 2010 และเขาก็ยังติดตามมวยไทยมาเรื่อยๆ

ถึงกระนั้น การนำระบบวิทยาศาสตร์มาใช้กับค่ายมวยไทย ก็เป็นอะไรที่ใหม่มาก และไม่มีตำราเล่มไหนไกด์เขาได้ อีกทั้งการสร้างร่างกายของ นักฟุตบอลอาชีพ กับนักมวยไทย ก็มี วงจรที่แตกต่างกันมากพอสมควร ที่เขาต้องปรับแต่งรายละเอียด เพื่อหาโปรแกรมที่เหมาะสมกับงานใหม่ของตัวเอง

“ความแตกต่างก็คือ ฟุตบอล เราทำร่างกายให้นักกีฬาพร้อมตลอดซีซั่น โดยหาจุดกึ่งกลางรักษาบาลานซ์ระหว่างการบาดเจ็บกับประสิทธิภาพตลอด 12 เดือน แต่สำหรับนักมวย การฝึกซ้อมอาทิตย์แรกคือการสร้างร่างกาย อาทิตย์ที่สอง คือการเร่งให้ถึงจุดพีก ส่วนอาทิตย์ที่สาม ต้องรักษาสภาพเขา ระหว่างอยู่ในจุดพีค ไม่ให้มีอาการบาดเจ็บ”

“ช่วงที่นักมวยร่างกายพีคๆสุด ก็เป็นช่วงเดียวกับที่ เขาอ่อนไหวมากสุด บางทีเจอลมเข้าไปนิดหน่อยก็คัดจมูก เจ็บคอ เป็นหวัดง่าย พอมาสัปดาห์สุดท้าย จะเป็นเรื่องลดน้ำหนัก ก่อนไปขึ้นชก เมื่อชกเสร็จ นักมวยก็กลับไปฉลองต่างจังหวัด พอถึงกำหนดกลับเข้าค่าย ก็กลายเป็นว่าร่างกายติดลบเหมือนเดิม เท่ากับเราต้องมาสร้างร่างกายกันใหม่ตั้งแต่สัปดาห์แรก”

“80% ของนักมวยที่กลับมาค่าย ช่วง 3 วันแรก เขาต้องขับสิ่งที่ไม่ดีออกมาให้หมดเพื่อมารีสตาร์ทร่างกายใหม่ แต่เราเข้าใจนะ เขามาที่นี่เก็บตัว 21 วัน ก่อนชกมันเหมือนอยู่ในพื้นที่ที่จำกัด ออกไปไหนไม่ได้เลย มีแค่วันอาทิตย์ที่อาจจะได้เจอกับแฟนบ้าง จึงไม่แปลกที่หลังจากต่อยเสร็จ เขาจะไปสังสรรค์ ตอนแรกตกใจ แต่หลังๆก็ทำความเข้าใจได้ และบอกให้เขาสังสรรค์อยู่ในขอบเขต”

 7

พีรภัทร บอกกับเราว่า นักกีฬาในสโมสรฟุตบอลอาชีพ ก็มีบางคนที่ออกไปดื่มบ้าง หลังแข่งขันเสร็จ แต่ด้วย ระดับการแข่งขันที่สูงมาก ทำให้นักเตะทุกคนมีความเป็นมืออาชีพในตัวเอง ต่างจากนักมวยที่มีวงโคจรการสร้างร่างกายที่แตกต่างกันออกไป

ความแตกต่างที่เกิดขึ้นทำให้ พีรพัฒน์ ต้องใช้เวลาปรับตัวนานแรมปี เพื่อทำความเข้าใจกับวิถีนักมวยอาชีพ แม้จะเป็นเรื่องยากในการดูแลอย่างทั่วถึง เนื่องจาก เพชรยินดี เป็นค่ายมวยขนาดใหญ่ทำให้มีจำนวนนักมวยที่มากกว่าเทรนเนอร์

แต่การทำงานกลับราบรื่นของเขา เนื่องจากทุกคนในค่ายทั้ง นักมวย เทรนเนอร์ เปิดใจรับคำแนะนำของเขา ที่หยิบเอาเทคโนโลยีใหม่ๆมาช่วยยกระดับให้ร่างกาย

 8

“เพชรยินดีเป็นค่ายที่ใหญ่มีเทรนเนอร์ 12 คน นักมวย 30 คน การซ้อมไม่เหมือนค่ายต่างจังหวัดที่มีแค่คนหรือสองคนที่จะสามารถโฟกัสได้ตลอด ที่นี่ซ้อม พร้อมกัน 12 คน นักมวยมีรายการเยอะอย่าง สมมุติใน 2 สัปดาห์ มีรายการแข่งถึง 15 คน เลยก็มี ทำให้ 12 คนชุดแรกซ้อมเป้า ส่วนอีก 12 คนรอเตะเป้าชุดสอง ที่เหลือเป็นนักมวยที่จะลงแข่งรายการถัดไปอีกเท่ากับวันหนึ่งซ้อมเกือบสามสิบคน”

“เราเลยต้องมาคิดว่ามันจะมีวิธีการไหนไหมที่จะทำให้การซ้อมมีประสิทธิภาพ ผมเลยต้องเอาระบบที่เรียกว่ามอนิเตอร์ หรือการวัดค่าหัวใจออกมาใช้ ซึ่งจะเอาสายคาดอก คาดไว้ที่ตัวนักมวย แบบนักบอลเลย มันจะมีชื่อนักมวยคนต่างๆขึ้นบนหน้าจอ ซึ่งเราจะรู้ว่าจุดไหนที่จะมีประโยชน์ต่อการพัฒนาร่างกายเขามากที่สุด”

“หลังซ้อมเสร็จถึงเวลาพักผ่อนอัตราการเต้นหัวใจจะลดลงหรือเปล่า ถ้าไม่มีเทคโนโลยีผมก็คงไม่มีปัญญาคุมนักมวยมากขนาดนี้นะ เพราะผมไม่รู้ว่านักมวยที่เตะเป้าดังๆ มันถึงจุดพีคของเขาจริงๆหรือเปล่า จึงต้องเอาเทคโนโลยีเข้ามาช่วย เพื่อให้เขาเตะได้อย่างมีประสิทธิภาพมากสุด และมีประโยชน์ต่อร่างกาย”

ใจแลกใจไม่ใช่เก่งแค่ทฤษฎี

"นักมวยที่นี่การที่เขาจะยอมรับใครคนหนึ่งมาดูแลร่างกายเขา ไม่ใช่เรื่องง่าย เราเองไม่ได้เป็นนักมวยมาก่อน สิ่งหนึ่งที่เราต้องทำ คือการพิสูจน์ตัวเองให้เขาเห็น เพราะเขาซ้อมมวยมันเหนื่อย ผมก็ต้องเล่นกีฬาที่เหนื่อยพอๆกับมวยให้เขาเห็น นี่คือสิ่งที่ผมวัดใจเขา ให้เขาเชื่อใจเรา"

 9

สำหรับเด็กคนหนึ่งที่อายุเพียงแค่ 27 ย่าง 28 และไม่เคยผ่านการเป็นนักมวย เทรนเนอร์มาก่อน การสร้างความเชื่อใจให้กับนักชกอาชีพ ที่บางคนมีอายุมากกว่าเขา เป็นที่เรื่องยากเหมือนกัน

แต่ในฐานะนักวิทยาศาสตร์การกีฬา หากจะทำให้นักกีฬายอมรับต้องไม่ใช่การนำความรู้แค่ทฤษฎี มาปรับใช้เท่านั้น แต่ต้องเข้าใจให้ลึกถึงความเหนื่อย และสภาพจิตใจของนักกีฬาจริงๆ นั่นทำให้ พีรภัทร เลือกเล่นกีฬาที่ใช้ร่างกายอย่างหนัก ไม่ต่างจากมวยเพื่อซื้อใจนักกีฬา

เขาลงแข่งขันรายการ Ironman 3 ปี ติดต่อกัน ซึ่งเป็นการแข่งขันอันสุดหฤโหด และใช้ร่างกายอย่างหนักแบ่งเป็นว่ายน้ำ 3.8 กิโลเมตร ปั่นจักรยาน 180 กิโลเมตร และวิ่ง 42.2 กิโลเมตร ภายในเวลา 17 ชั่วโมง

 10

เมื่อนักกีฬาเปิดใจรับ สิ่งต่อมาคือเลือกกระบวนการวิทยาศาสตร์การกีฬาเพื่อนำมาปรับใช้ โดย พีรภัทร บอกว่านี่คือสิ่งที่ทำให้สามารถยกระดับนักมวยไทยได้จริงจากการทำงานที่ผ่านมา

"เรานำระบบวัดค่าเลือดดูกรดแลคติกของร่างกายมาใช้ สำหรับนักมวยคนไหนที่ตั้งเป้าว่าจะดันให้เขาไปถึงชิงแชมป์โลกมวยสากลหรือมวยไทยรายการใหญ่ ก็จะมีการวัดอัตราการใช้ออกซิเจนสูงสุด”

“มันเป็นประโยชน์ต่อนักมวยที่จะทำให้รู้ว่าเมื่อกลับมาซ้อมอีกครั้ง สภาพร่างกายของเขาอยู่จุดไหน หรือจังหวะที่พักยกตอนเทรนเนอร์ให้น้ำ การเต้นหัวใจลดลงหรือไม่ เมื่อเขารู้ว่าร่างกายเขาไม่ดี เขาก็จะปรับปรุงตัว”

 11

หลังผ่านไปสองปี ผลงานของเขา เห็นชัดเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะบรรดามวยดาวรุ่งอายุน้อยหลายคนของ ค่ายเพชรยินดี สามารถพัฒนาตัวเองขึ้นมาต่อยในรายการใหญ่ๆ และมีค่าตัวพุ่งพรวดขึ้นมาหลายหมื่น จนถึงเงินแสน ซึ่งมีเรื่องของ วิทยาศาสตร์การกีฬา ที่เขานำมาประยุกต์ใช้ เป็นหนึ่งในตัวช่วยสำคัญของค่าย

"นักมวยเจเนอเรชั่นใหม่ที่ผมทำ 80% สามารถประสบความสำเร็จกับการเป็นขวัญใจแฟนมวยเพราะได้รับการพัฒนาร่างกายได้เห็นถึงการเติบโตความพร้อมต่างๆ นักมวยรุ่นใหม่ที่ขึ้นชกศึกวันสถาปนาเวทีราชดำเนิน หากย้อนไปเมื่อ 2 ปีที่แล้ว พวกเขายังเป็นแค่นักมวยโนเนมที่ไม่มีใครรู้จักจน”

 12

“แต่วันนี้เขาได้ขึ้นชกรายการใหญ่ มันเป็นสิ่งที่ผมรู้สึกว่านี่คือความสุขที่สุดของผมแล้ว มาช่วงแรกอาจจะภูมิใจที่มีส่วนทำให้นักมวยเป็นแชมป์โลกได้ มีส่วนทำให้นักมวยค่าตัวห้าหกหมื่น ชนะคนที่ค่าตัวแสนห้า”

“อย่างดีเซลเล็กปีที่แล้วเขาแพ้ลุ่มๆดอนๆมาตลอด แต่มา 6-7 เดือนหลังเขาพัฒนาขึ้นไปถึงมวยคู่เอกได้แล้ว”

จะก้าวหน้าต้องเปิดใจรับ

"เพชรยินดีสามารถอุดรอบรั่วของตัวเองได้ด้วยวิทยาศาสตร์การกีฬา ไม่ใช่ว่าเปิดรับวิทยาศาสตร์การกีฬาแล้วเราจะเข้ามาเปลี่ยนแปลงขนบธรรมเนียมเก่าๆของมวยไทย แต่เข้ามาหาจุดกึ่งกลางระหว่างกัน มันก็จะวินทั้งสองฝ่ายวิทยาศาสตร์การกีฬาเองก็อยากรู้ว่าสิ่งที่ดีๆของมวยไทยสมัยก่อนคืออะไร มวยไทยเองก็ต้องเปิดรับวิทยาศาสตร์การกีฬาด้วย"

 13

ความสำเร็จของค่ายมวยเพชรยินดี จึงนับเป็นตัวอย่างที่ดี ของการเปิดรับเอา วิทยาศาสตร์การกีฬา มาปรับใช้กับ กีฬาศิลปินการต่อสู้ที่มีมาอยางช้านาน เพื่อช่วยให้ นักกีฬามีพัฒนาการและคุณภาพมากขึ้น

ซึ่งในมุมมองของ พีรภัทร ศิริเรือง เขายังมีความฝันที่อยากเห็น วงการกีฬาอาชีพ ในประเทศไทย ทุกประเภท ทำความเข้าใจและเปิดรับ วิทยาศาสตร์การกีฬา เข้ามาใช้มากขึ้น รวมถึง การนำเอาองค์ความรู้เรื่องพวกนี้ ออกใช้งานในวงกว้าง เพื่อพัฒนาและยกระดับวงการกีฬาให้ดียิ่งขึ้นมากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

 14

"สิ่งหนึ่งที่วงการกีฬาของเรายังไปไม่ถึงไหน คือเรื่องของวิทยาศาสตร์การกีฬา เพราะของไทยยังกองอยู่แต่ในมหาวิทยาลัย”

“มหาวิทยาลัยเองก็พยายามจะสร้างชื่อให้โด่งดัง ไม่ใช่เพราะสร้างนักกีฬา แต่มาจากการสร้างบทความวิชาการ วิทยาศาสตร์การกีฬา จึงเติบโตอยู่แค่ในทางวิชาการเท่านั้น”

“ฉะนั้นแล้วเราก็ต้องเอาสิ่งที่อยู่ในมหาลัยหรือในวิชาการออกมาใช้กับนักกีฬาจริงๆให้ได้มากที่สดให้เขาได้เรียนรู้ประโยชน์ ถึงจะเป็นการยกระดับวิทยาศาสตร์การกีฬาของประเทศไทยจริงๆ" อดีตนักวิทยาศาสตร์การกีฬาของสโมสรคาร์ดิฟฟ์ ซิตี้ กล่าวทิ้งท้าย

อัลบั้มภาพ 14 ภาพ

อัลบั้มภาพ 14 ภาพ ของ จากสนามบอลสู่ค่ายมวย : "พีรภัทร ศิริเรือง" นักวิทย์’กีฬาที่เคยทำงานกับ คาร์ดิฟฟ์ ซิตี้

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook