โซมาลีแลนด์ : สร้างฟุตบอลทีมชาติทั้งที่ยังไม่มีประเทศ

โซมาลีแลนด์ : สร้างฟุตบอลทีมชาติทั้งที่ยังไม่มีประเทศ

โซมาลีแลนด์ : สร้างฟุตบอลทีมชาติทั้งที่ยังไม่มีประเทศ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

แม้จะยังไม่มีชาติไหนยอมรับพวกเขาเป็นประเทศมานานเกือบ 30 ปี แต่ก็ไม่สามารถปิดกั้นการสร้างทีมชาติของพวกเขาได้

ท่ามกลางพื้นที่ที่ส่วนใหญ่เป็นทะเลทรายบริเวณตะวันออกสุดของทวีปแอฟริกา หรือที่เรียกกันว่านอแห่งแอฟริกา (Horn of Africa) มีดินแดนที่ “เกือบ” จะเรียกได้ว่าเป็นประเทศตั้งอยู่

พวกเขามีทั้งอาณาเขตที่ชัดเจน ประชาชน สกุลเงิน หรือแม้แต่ระบบการปกครอง แต่ก็ไม่เคยได้รับการยอมรับจากนานาชาติแม้แต่ประเทศเดียว นับตั้งแต่ประกาศเอกราชเมื่อหลายสิบปีก่อน

 

ดินแดนแห่งนี้ชื่อว่า “โซมาลีแลนด์”

อย่างไรก็ดี แม้จะไม่ได้รับการรับรองเป็นประเทศ แต่พวกเขาก็อยากมีทีมฟุตบอลเพื่อลงแข่งในระดับนานาชาติ เหมือนดังเช่นประเทศอื่น  

พบกับเรื่องราวของฟุตบอลในโซมาลีแลนด์ กับเป้าหมายกับเป้าหมายในการสร้างทีมชาติตั้งแต่รากฐานของพวกเขา

เอกราชที่ไม่มีใครรับรอง

โซมาลีแลนด์ถือเป็นดินแดนที่มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์มาตั้งแต่โบราณ จากการตั้งอยู่ทางตะวันออกสุดของทวีป และใกล้กับอาหรับ จึงเป็นเหมือนประตูหน้าด่านในการส่งผ่านวัฒนธรรมของตะวันออกกลางมาสู่แอฟริกา

 1

หลังได้รับเอกราชจากอังกฤษ พวกเขาก็ถูกผนวกรวมเข้ากับ โซมาเลียในปี 1961 และต้องอยู่ภายใต้การปกครองของรัฐบาลทหาร ที่มี โมฮัมเหม็ด ซิอัด แบร์เร ผู้นำจอมเผด็จการเป็นผู้บัญชาการ  

แต่อำนาจใดที่ได้มาในทางไม่ถูกต้องก็ล้วนไม่ยั่งยืน แม้ว่า แบร์เร จะใช้ความรุนแรงปราบปรามผู้ต่อต้านมาตลอด แต่ในที่สุดเขาก็ถูกโค่นล้มจนได้ในปี 1991 ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของสงครามกลางเมืองโซมาเลีย

จากสงครามกลางเมืองที่มีแต่ความวุ่นวาย โซมาลีแลนด์ จึงขอแยกตัวออกมาปกครองตัวเอง และประกาศเอกราชในวันที่ 26 มิถุนายน 1991 ในชื่อสาธารณรัฐโซมาลีแลนด์

 2

โซมาลีแลนด์ มีคุณสมบัติการเป็นประเทศอย่างสมบูรณ์ พวกเขามีสกุลเงินชิลลิงโซมาลีแลนด์ของตัวเอง มีหนังสือเดินทาง มีสถานีโทรทัศน์ มีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ทุกอย่างดูสงบและเป็นระเบียบเรียบร้อยกว่าโซมาเลียเสียอีก

อย่างไรก็ดี กลับไม่มีชาติไหนให้การรับรองพวกเขาเป็นประเทศแม้แต่ชาติเดียวตลอดกว่า 30 ปี

ทีมชาติที่รางเลือน

เช่นเดียวกับสถานะความเป็นประเทศของโซมาลีแลนด์ ฟุตบอลทีมชาติของพวกเขา ไม่สามารถลงเล่นในเกมระดับนานาชาติ หลังไม่ได้ถูกรับรองจากสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ หรือฟีฟ่า

 3

แต่ถึงกระนั้นพวกเขาก็ยังเป็นสมาชิกของสหพันธ์แห่งสมาคมฟุตบอลอิสระ (CONIFA) องค์กรฟุตบอลสำหรับชาติที่ไม่ได้รับการรองรับสถานะเป็นประเทศที่มีอยู่ทั่วโลก โดยสมาชิกขององค์กรนี้มีตั้งแต่ที่เราคุ้นหูกันอย่าง ทิเบต ทมิฬอีแลม และ ไซปรัส หรือที่อาจจะไม่เคยได้ยินชื่ออย่าง บาราวา หรือ ตูวาลู

การแข่งขันอย่างเป็นทางการนัดแรกของโซมาลีแลนด์ เกิดขึ้นในปี 2014 โดยเป็นการพบกับ ซีแลนด์ ชาติเล็กๆนอกฝั่งทะเลเหนือ และเสมอกันไปด้วยสกอร์ 2-2 ก่อนที่อีก 2 ปีต่อมา พวกเขาจะได้ลงเล่นในฟุตบอลโลกเป็นครั้งแรก ทว่ามันไม่ใช่ฟุตบอลโลกที่เรารู้จักกัน แต่เป็นฟุตบอลโลกของคนไร้รัฐ 2016 ที่จัดขึ้นในอับคาเซีย ดินแดนที่ต้องการแยกตัวจากจอร์เจีย

ทัวร์นาเมนต์ระดับโลกครั้งแรกของ โซมาลีแลนด์ พวกเขาคว้าชัยไปได้เพียงนัดเดียวจากการเอาชนะ เกาะชากอส หมู่เกาะในมหาสมุทรอินเดีย และแพ้ไป 3 นัดจบในอันดับ 10 จาก 12 ทีมที่เข้าร่วม แต่นั่นก็คือการทำให้โลกตระหนักถึงตัวตนของโซมาลีแลนด์ในวงการฟุตบอล   

 4

อย่างไรก็ดี แม้จะเรียกได้ว่าทีมชาติ แต่ผู้เล่นส่วนใหญ่ของทีมล้วนเป็นนักเตะสมัครเล่นที่อาศัยอยู่ต่างประเทศ โดยเฉพาะสหราชอาณาจักร โดยมีทั้งนักฟุตบอลในลีกสมัครเล่น ครูพละ หรือแม้กระทั่งเจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาล

ชาวโซมาลีแลนด์เอง ก็ตระหนักถึงปัญหาในเรื่องนี้ ทีมชาติที่แท้จริงของพวกเขาที่สามารลงเล่นในฟุตบอลโลกหรือแอฟริกัน เนชั่น คัพไม่สามารถเกิดขึ้นได้แน่ หากต้องพึ่งพานักเตะที่ไม่ได้อยู่ในประเทศ แถมส่วนใหญ่ยังเป็นแค่มือสมัครเล่น

ระบบเยาวชนดูจะเป็นการแก้ปัญหาที่ยั่งยืนที่สุด เพราะหากสามารถสร้างนักเตะเยาวชนขึ้นมาได้อย่างต่อเนื่อง พวกเขาก็จะมีนักฟุตบอลให้ใช้งานได้อย่างไม่ขาดตอนในอนาคต

แต่จะทำได้อย่างไร เมื่อชาวโซมาลีแลนด์มีฐานะค่อนข้างยากจน เนื่องจากไม่ได้รับการรับรองเป็นประเทศ ทำให้พวกเขาถูกตัดความช่วยเหลือจากนานาชาติ รายได้เฉลี่ยต่อหัวแค่เพียงราว 11,000 บาทต่อปี หรือราว 916 บาทต่อเดือนเท่านั้น

 5

นอกจากนี้ ระบบสาธารณสุขก็ยังล้าหลัง มีเด็ก 1 คนจาก 11 คนที่สามารถมีชีวิตอยู่จนถึงอายุ 5 ขวบ อายุเฉลี่ยของคนในชาตินี้แค่เพียง 50 ปีเท่านั้น แค่เพียงใช้ชีวิตให้รอดไปวันๆ ก็เป็นเรื่องยากแล้ว การจะสร้างระบบเยาวชนขึ้นมาดูจะเป็นเรื่องไกลตัวสำหรับพวกเขา

ทว่า การมาถึงของกลุ่มเด็กหนุ่มจากเมืองผู้ดีก็ทำให้ความหวังของพวกเขาลุกโชนขึ้น

อ้ายมาสี่คน

โซมาลีแลนด์ ก็เหมือนกลุ่มคนไร้รัฐอื่นๆ พวกเขามีประชากรกระจัดกระจายอาศัยอยู่ทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสแกนดิเนเวีย สหรัฐอเมริกา และ สหราชอาณาจักร

 6

อาห์เหม็ด อาลี, มูฮัมหมัด ซาอีด, อับดีซาลาม อาเหม็ด และ ฮุสเซน อาดาน สี่หนุ่มจากแดนผู้ดีคือหนึ่งกลุ่มคนเหล่านั้น พวกเขามีเชื้อสายโซมาลีแลนด์ แต่ที่โชคดีไปกว่านั้นพวกเขามีความรู้เรื่องโค้ช และมีเป้าหมายที่จะทำให้ฟุตบอลในบ้านเกิดของพวกเขาพัฒนาขึ้น

ทั้งสี่ร่วมก่อตั้งสถาบันที่ชื่อว่า “โซมาลีแลนด์ ฟุตบอล อคาเดมี” ที่โซมาลีแลนด์ โดยหวังจะเป็นรากฐานในการสร้างนักฟุตบอลฝีเท้าดีให้กับบ้านเกิด

“เราคิดว่าเด็กๆทุกคนควรมีโอกาสได้เล่นฟุตบอล” อาลี อดีตโค้ชและแมวมองชุมชนของ เวสต์บรอมวิช อัลเบียน และ คาร์ดิฟฟ์ ซิตี้ ที่ปัจจุบันเป็นหัวหน้าศูนย์เยาวชนฟุตบอลและการอบรมโค้ชกล่าวกับ BBC

แม้ว่าทั้งสี่จะมีความรู้เรื่องโค้ช แต่ในดินแดนที่แห้งแล้งแห่งนี้ไม่มีอะไรเตรียมไว้ให้พวกเขาเลย แม้แต่โครงสร้างพื้นฐาน เงิน หรือแม้กระทั่งผู้เล่น การไม่ได้เป็นสมาชิกฟีฟ่า จึงทำให้พวกเขาไม่ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนระดับนานาชาติหรือแม้แต่รัฐบาล

“ในประเทศอื่นส่วนใหญ่พวกเขามีระบบโครงสร้างพื้นฐานอยู่แล้ว ตรงกันข้ามกับที่นี่ ความท้าทายคือต้องสร้างทุกอย่างตั้งแต่รากขึ้นมา สิ่งเหล่านี้ทำให้เราตื่นเต้นมาก มันคือการเริ่มต้นตั้งแต่รากหญ้าเพื่อวันหนึ่งจะสร้างทีมชาติขึ้นมา”   

“พวกเราสี่คนไปที่กระทรวงกีฬาและพูดว่า ‘ดูสิ เราทำให้ฟรีนะ เราจะทำทั้งพัฒนาระบบเยาวชนและคอร์สอบรมโค้ช’”

“พวกเขาพูดว่าเดินหน้าต่อไปได้เลย และบอกเราถ้ามีอะไรที่เราช่วยได้ ตราบใดที่ไม่ใช่เรื่องเงิน”

ไร้เงินแต่ยังมีแรงใจ

ช่วงแรกที่พวกเขามาถึง เด็กหนุ่มทั้งสี่คนแทบจะหมดกำลังใจ แต่เมื่อพึ่งพารัฐบาลไม่ได้ พวกเขาก็ต้องพึ่งตัวเอง ทั้งสี่เดินหน้าหาผู้รับบริจาคเงินและอุปกรณ์การฝึกซ้อมจนสามารถเปิดคอร์สสอนฟุตบอลได้

“ที่อังกฤษ ทุกอย่างถูกเซ็ตไว้หมดแล้ว คุณแค่ไปที่นั่นเพื่อจัดการอบรม แต่ที่นี่มันเริ่มจากศูนย์อย่างแท้จริง” อาลีกล่าว

 7

เมื่อทุกอย่างพร้อมแล้ว พวกเขาเริ่มต้นจากการเปิดสอนฟุตบอลและอบรมโค้ชที่สถาบันที่กรุงฮาเกซา จากนั้นจึงเดินทางไปทั่วประเทศ ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาพวกเขาได้อบรมโค้ชไปแล้ว 132 คนและสอนฟุตบอลไปกว่า 1,600 คน

“มีเด็กๆมากมายที่เล่นฟุตบอลข้างถนน แต่พวกเขาไม่ได้ตั้งเป็นทีม”  อาลีกล่าว

“ครั้งหนึ่งเราเคยมีเด็ก 140 คนโผล่มาเล่นฟุตบอลข้างละ 7 คน ตอนแรกอาจจะมีแค่หนึ่งคน และสัปดาห์ต่อมาเขาพาเพื่อนมาอีก 6 คน และหลังจากนั้นพวกเขาก็พาเพื่อนมาอีก 20 คน ก่อนที่คุณจะรู้ตัวคุณอาจจะมีเด็กเป็นร้อยที่ต่างอยากลงเล่น”

อาดาน เป็นอีกหนึ่งคนที่ต้องการผลักดันฟุตบอลของที่นี่ให้ไปไกลขึ้น เขาย้ายมาอยู่โซมาลีแลนด์ตั้งแต่ปี 2017 และก่อตั้ง ออล สตาร์ สปอร์ต อคาเดมี ซึ่งเป็นหนึ่งใน 7 ศูนย์ที่อยู่ภายใต้การดูแลของ โซมาลีแลนด์ ฟุตบอล อคาเดมี

 8

“คนชาตินี้เขาชื่นชอบฟุตบอลมาก ลองบอกชื่อทีมมาซักทีม พวกเขาจะบอกชื่อนักเตะในทีมนั้น”

“ผมเคยเดินไปรอบๆเมืองและดูเด็กเล่นกันตามท้องถนน พวกเขาเตะขวดหรือถุงเท้าที่ม้วนเป็นก้อนกลมเหมือนลูกบอล”

รากฐานมาก่อนทีมชาติ

ผ่านมา 1 ปีตั้งแต่ทั้งสี่คนมาถึง พวกเขาสามารถก่อตั้งลีกสำหรับเด็กผู้ชายรุ่นอายุไม่เกิน 13 15 และ 17 ปีได้สำเร็จ ในขณะเดียวกันพวกเขายังได้ร่วมพัฒนาวงการฟุตบอลหญิง และเพิ่งจัดการแข่งขันของเด็กผู้หญิงไปเมื่อปีก่อน

 9

อคาเดมี ยังทำงานร่วมกับ ไลออน เกต ศูนย์กีฬาที่ก่อตั้งโดย มูฮัมหมัด ยูซุฟ อีกหนึ่งผู้อพยพจากอังกฤษ ศูนย์ดังกล่าวตั้งอยู่ในพื้นที่ที่ยากจนที่สุดของ ฮาเกซา โดยมีเป้าหมายเพื่อต่อสู้กับความรุนแรงของพวกแก๊ง ที่ผ่านมาไลออน เกต ได้เคยอบรมอดีตสมาชิกกลุ่มโจรให้เป็นโค้ชและเจ้าหน้าที่มาแล้วหลายคน

นอกจากนี้ การที่โซมาลีแลนด์เป็นชาติที่มีอัตราการว่างงานสูงในหมู่เยาวชน ทำให้มักจะมีคนเดินทางออกไปนอกประเทศโดยเฉพาะอย่างยิ่งลิเบียหรือยุโรป เพื่อตามหาชีวิตที่ดีขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเด็กหนุ่มอายุไม่เกิน 14 ปี

อย่างไรก็ดี การเดินทางไปที่แห่งนั้นย่อมแลกมาด้วยความเสี่ยง หลายคนกลายเป็นศพระหว่างทาง หลายคนถูกทำร้าย หลายคนหายสาบสูญ ทว่าฟุตบอลได้กลายเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่ทำให้เด็กเหล่านั้นเปลี่ยนใจ

“เราเคยมีแม่มาร้องไห้และกอดเรา เพราะว่าเราทำให้ลูกเธอเลิกคิดที่จะอพยพ เรามอบความหวังให้พวกเขาและอะไรบางอย่างที่ทำให้เขาตั้งตาคอย เราไม่รู้เรื่องนี้มาก่อนเลย” อาลีกล่าว

“สำหรับบางคน การโค้ชให้อาจจะเป็นการพัฒนาผู้เล่นให้ลงเล่นในพรีเมียร์ลีกได้  แต่สำหรับเรามันคือการให้ความหวังในดำเนินชีวิตต่อไปแก่พวกเขา และไม่ยอมแพ้”

การได้รับการรับรองจากฟีฟ่า อาจจะเป็นเรื่องที่สำคัญสำหรับพวกเขา แต่ในตอนนี้สิ่งที่สำคัญยิ่งกว่าคือสร้างนักเตะและโค้ชให้มากที่สุด เพื่อฟอร์มทีมที่แข็งแกร่งในรุ่นอายุไม่เกิน 15 ปีและ 17 ปีเสียก่อน

 10

“99 เปอร์เซ็นต์ของผู้เล่นที่นี่มีลักษณะร่างกายที่ดี พวกเขาสามารถวิ่งได้ดีและมีเทคนิคดี พวกเขามีฝีมือเพราะว่าเล่นฟุตบอลข้างถนนมาไม่น้อย” อาลี กล่าว

“ผมคิดว่ามันสามารถเปรียบเทียบได้กับสลัมในบราซิล เรามีดาวรุ่งมากมาย หลายคนก็มีความสามารถ แต่พวกเขาจำเป็นต้องมีโค้ชเพื่อช่วยเติมเต็มศักยภาพของพวกเขา”

อย่างไรก็ดี สิ่งสำคัญที่สุดสำหรับ โซมาลีแลนด์ ตอนนี้คือการได้ลงเล่นกับทีมที่ได้รับรองในฐานะ “ประเทศ” แม้จะแค่ในระดับเยาวชน เพราะมันคือโอกาสในการถูกยอมรับ หากทีมฟุตบอลได้รับการยอมรับ โอกาสในการยอมรับในฐานะประเทศของพวกเขาก็มีมากขึ้นไปด้วย

“เรากำลังพยายามทำให้ได้รับการยอมรับ และกีฬาก็เป็นทางที่ดีที่สุด” อาดานกล่าว

ถ้าเราถามผู้คนในโซมาลีแลนด์ว่า ‘เมืองหลวงของอียิปต์คืออะไร?’ ส่วนมากตอบไม่ได้ แต่ถ้าเราถามว่า ‘ใครคือนักเตะที่เก่งที่สุดของอียิปต์?’ พวกเขาตอบได้ทันทีว่า “ซาลาห์”

“ฟุตบอลเป็นเหมือนภาษาสากล ถ้าเราสามารถสร้างนักเตะฝีเท้าดีและพวกเขาทำผลงานจนเป็นที่รู้จักในเวทีระดับนานาชาติ มันก็จะทำให้โซมาลีแลนด์ เป็นที่รู้จักเช่นกัน”

 11

“ผู้คนของโซมาลีแลนด์มีแพชชั่นเกี่ยวกับชาติของเขามาก ถ้ามีกลุ่มของคนที่เป็นตัวแทนของโซมาลีแลนด์ในเวทีระดับโลก มันไม่ใช่แค่สำหรับเยาวชน แต่คือสำหรับคนทุกคนในชาติ”

“ผมหวังว่าวันหนึ่งมันจะเกิดขึ้นจริง แต่ตอนนี้เรายังมีทางอีกไกลที่ต้องเดินไป”

อัลบั้มภาพ 11 ภาพ

อัลบั้มภาพ 11 ภาพ ของ โซมาลีแลนด์ : สร้างฟุตบอลทีมชาติทั้งที่ยังไม่มีประเทศ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook