สำรวจประชากรอาเซียนในไทยลีก 10 ปีหลังสุด เติบโตขึ้นแค่ไหน?

สำรวจประชากรอาเซียนในไทยลีก 10 ปีหลังสุด เติบโตขึ้นแค่ไหน?

สำรวจประชากรอาเซียนในไทยลีก 10 ปีหลังสุด เติบโตขึ้นแค่ไหน?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ย่างก้าวเข้าสู่ขวบปีที่ 10 ของฟุตบอลลีกอาชีพไทยยุคใหม่ นับตั้งแต่มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างครั้งสำคัญในปี 2009 ก็มีผู้เล่นมากมายจากหลายสัญชาติจากทั่วโลก เดินทางมาค้าแข้ง และขีดเขียนใหม่ๆ บนลีกอาชีพดินแดนสยาม

หนึ่งในภูมิภาคที่ส่งนักเตะเข้ามาสร้างกระแส ทำให้ลีกของไทยมีชีวิตชีวา และมีผู้ติดตามมากขึ้น คงหนีไม่พ้น “ผู้เล่นจากภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” ที่เดินทางโยกย้ายข้ามพรมแดน มาค้าแข้งในเมืองไทย

พร้อมกับมุมมองใหม่ๆที่มีต่อลีกไทย ว่า ลีกฟุตบอลที่น่าท้าทาย หลังพ้นผ่านยุคที่ เอส-ลีก สิงคโปร์ และ วี-ลีก เวียดนาม ที่เคยได้รับความนิยมจากบรรดาแข้งอาเซียน รุ่นก่อนหน้านี้

อย่างไรก็ดี ตัวเลขที่เพิ่มขึ้น-ลดลง กระแสของผู้เล่นอาเซียนในลีกสูงสุดไทย ล้วนเปลี่ยนแปลง ผกผันไปตามเทรนด์ของลีกยุคนั้น รวมถึงกฎจากไทยลีกที่เปิดโอกาส และเอื้อให้ แข้งเพื่อนร่วมภูมิภาคอาเซียนของไทย ได้เข้ามาทำหากินในเมืองไทยได้ง่ายขึ้น จากเดิมที่ไม่เคยมีโควต้าอาเซียนมาช่วย

10 ปีที่ผ่านมา ประชากรแข้งอาเซียน บนสังเวียน โตโยต้า ไทยลีก เติบโตขึ้นมากน้อยแค่ไหน และในแต่ละปี เป็นไปในทิศทางใด หาคำตอบได้ที่นี่

 

ฤดูกาล 2009

พ.ศ.2552 ถือเป็นปีที่ฟุตบอลลีกอาชีพเมืองไทยมีการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นการก่อกำเนินฟุตบอลลีกภูมิภาค ที่ทำให้มีสโมสรฟุตบอลต่างจังหวัดผุดขึ้นมาทั่วเมืองไทย รวมไปถึงฟุตบอลลีกสูงสุดที่ “กิเลนผยอง” เอสซีจี เมืองทอง ยูไนเต็ด ผงาดคว้าแชมป์ลีก ยิ่งเป็นการปลุกกระแสให้วงการลูกหนังไทยติดลมบน นับเป็นปีที่ฟุตบอลไทยลีกก้าวเข้าสู่ยุคใหม่อย่างเต็มตัว

ฤดูกาลดังกล่าว แต่ละทีมต่างก็มีการดึงนักเตะต่างชาติฝีเท้าดีเข้ามาค้าแข้งหลายราย โดยมีนักเตะอาเซียนเพียงแค่รายเดียวเท่านั้นที่มีชื่อเข้าร่วมการแข่งขันไทยลีก นั้นก็คือ ลำเนา สิงโต ซุปเปอร์สตาร์ทีมชาติลาว ที่มาเล่นให้กับ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค

ฟอร์มการเล่นของ ลำเนา สิงโต ในฟุตบอลลีกสูงสุดเมืองไทย อาจไม่ได้โดดเด่นถึงขั้นยกระดับทีม แต่อย่างน้อย เขาก็เป็นสามารถสร้างอิมแพค และเป็นแรงบันดาลใจให้นักเตะสัญชาติลาวรุ่นต่อมา มีฮึดในการพัฒนาฝีเท้าเพื่อมาค้าแข้งในเมืองไทย

 

ฤดูกาล 2010

นี่คือฤดูกาลเดียวในรอบ 10 หลังสุดของฟุตบอลไทยลีก ที่ไม่มีนักเตะเพื่อนบ้านในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เข้ามาวาดลวดลาย เมื่อโควตาต่างชาติของแต่ละทีมก็มีไว้สำหรับนักเตะจาก อเมริกาใต้, ยุโรป และ แอฟริกา โดยทางฝั่งเอเชียก็จะหนักไปทางนักเตะจากเกาหลีใต้



ฤดูกาล 2011

หลังจากไร้เงานักเตะอาเซียน 1 ฤดูกาล ปีถัดมา ก็มีนักเตะเพื่อนบ้านตบเท้าเข้ามาค้าแข้งไทยลีกอีกครั้ง โดยเฉพาะนักเตะจากประเทศลาว ที่เข้ามาโชว์ฝีเท้าถึง 2 คน ได้แก่ กัลยา สายสมหวัง และ คำแพง สายวุฒิ 2 คีย์แมนคนสำคัญของ ขอนแก่น เอฟซี ที่แม้ว่าผลงานของต้นสังกัดอาจจะดีไม่พอที่จะอยู่ต่อในลีกสูงสุด แต่ทั้งสองก็ทำให้ผู้คนฝั่งประเทศลาวหันมาสนใจฟุตบอลไทยลีกมากขึ้น

นอกจาก 2 นักเตะชาวลาวแล้ว ในปีดังกล่าวก็ยังมีอีก 2 นักเตะที่มาจากเพื่อนบ้านในภูมิภาคอาเซียน นั้นก็คือ คิม โบเรย์ (กัมพูชา) และ จอห์น วิลกินสัน (สิงคโปร์) โดยในรายแรกนั้นมาเล่นให้กับศรีสะเกษ เอฟซี ที่โอกาสในการลงสนามของเขามีน้อย ส่วน จอห์น วิลกินสัน แข้งชาวอังกฤษที่ถือสัญชาติสิงคโปร์ แม้ผลงานส่วนตัวเขาก็อยู่ในระดับที่น่าพอใจกับ เพื่อนตำรวจ แต่ก็ไม่ดีพอที่ทำให้ทีมเลือกใช้งานต่อในปีถัดมา
 

ฤดูกาล 2012

ฤดูกาล 2012 นักเตะอาเซียนยังไม่ค่อยได้รับความสนใจจากบรรดาสโมสรต่างๆในเมืองไทยมากนัก โดยในเลกแรกไม่มีนักเตะต่างชาติในภูมิภาคนี้ เข้ามาค้าแข้งในไทยลีกแม้แต่รายเดียว ก่อนที่เลกสองจะมีการนำเข้ามา 3 ราย

ซึ่งทั้ง 3 ราย ได้ย้ายมาอยู่กับ “กว่างโซ้งมหาภัย” สิงห์ เชียงราย ยูไนเต็ด เพียงทีมเดียว ได้แก่ วิคเตอร์ อิกโบเนโฟ (อินโดนีเซีย), เกร็ก เอ็นโวโคโล (อินโดนีเซีย) และ เอ็มเมอร์สัน เซซาริโอ้ (ติมอร์ เลสเต) ซึ่งหากคลิกเข้าไปดูโปรไฟล์ ก็จะเห็นว่าทั้ง 3 ไม่ใช่อาเซียนขนานแท้เสียด้วย

เพราะทั้ง เกร็ก และ วิกเตอร์ เป็นนักฟุตบอลไนจีเรีย ที่ได้สัญชาติเป็น อินโดนีเซีย ส่วน เอ็มเมอร์สัน ก็เป็นแข้งบราซิล ที่โอนสัญชาติมาเป็น ติมอร์ เลสเต

 f

ฤดูกาล 2013

ฤดูกาล 2013 เทรนด์นักเตะอาเซียนที่เข้ามาเปลี่ยนแปลง จากนักเตะแปลงสัญชาติมาเป็นการตามหาพวกแข้งเลือดผสมที่เคยผ่านการเล่นในยุโรป ทั้งสิ้น 2 ราย คนแรกคือ ฮาเวียร์ ปาตินโญ่ ลูกครึ่งสเปน-ฟิลิปปินส์ และอีกหนึ่งคนคือ อิรฟาน บัคดิม ลูกครึ่งเนเธอร์แลนด์-อินโดนีเซีย

ฮาเวียร์ ปาตินโญ่ ดาวยิง “ปราสาสายฟ้า” บุรีรัมย์​ ยูไนเต็ด มีส่วนสำคัญในการพาทีมคว้าแชมป์ไทยลีก หลังจากยิงไป 14 ประตู ขณะที่ อิรฟาน บัคดิม ซูปเปอร์สตาร์จากอินโดนีเซีย ดูจะคว้าน้ำเหลวในการมาค้าแข้งที่เมืองไทย กับ ชลบุรี เอฟซี เพราะฟอร์มไม่เปรี้ยงปร้างอย่างที่หลายคนคาดหวัง

 

ฤดูกาล 2014

ฟอร์มอันร้อนแรงของ ฮาเวียร์ ปาตินโญ่ ทำให้เขาได้อยู่วาดลวดรายต่อในฟุตบอลลีกสูงสุดเมืองไทย ขณะที่ อิรฟาน บัคดิม ออกไปหาความท้าทายใหม่ที่ประเทศญี่ปุ่น แต่จำนวนนักเตะอาเซียนในฤดูกาล 2014 ก็ยังเหมือนเดิม เมื่อได้ เซอร์จิโอ ฟาน ไดจ์ค ที่เป็นนักเตะลูกครึ่งเนเธอร์แลนด์-อินโดนีเซีย เหมือนกับ บัคดิม เข้ามาแทนที่

โดยทั้งสองนักเตะลูกครึ่ง ต่างก็ทำผลงานได้ดี โดยเฉพาะ ฮาเวียร์ ปาตินโญ่ ที่ซัดไป 21 ประตู รั้งรองดาวซัลโวของลีก ขณะที่ ฟาน ไดจ์ค ที่มาในเลกสองก็โชว์ฟอร์มได้ดี ส่งผลให้บรรดาทีมต่างๆในเมืองไทย เริ่มปรับเปลี่ยนทัศนคติมามองหานักเตะลูกครึ่งที่มีเชื้อสายในภูมิภาคนี้มากขึ้นกว่าเดิม



ฤดูกาล 2015

ผลงานที่ยอดเยี่ยมของแข้งลูกครึ่งยุโรป-อาเซียน ก็ทำให้จำนวนนักเตะในภูมิภาคอาเซียนของฟุตบอลไทยลีกมีตัวเลขเพิ่มมากขึ้น แม้จะไม่มากด้วยข้อกำจัดเรื่องโอกาสในการลงสนามที่จำกัด (ส่งลงสนามได้ในโควต้าเอเชีย 1 ที่นั่ง) แต่ก็มีแนวโน้มที่ดีขึ้น

ในฤดูกาล 2015 มีนักเตะต่างชาติที่ถือสัญชาติประเทศในอาเซียน 5 ราย เริ่มจากเซอร์จิโอ ฟาน ไดจ์ค ได้รับการต่อสัญญาจากสุพรรณบุรี อีกหนึ่งฤดูกาล ส่วน วิเตอร์​ อิกโบเนโฟ่ และ เกร็ก เอ็นโวโคโล ก็กลับมาวาดลวดลายอีกครั้งหนึ่ง  

อีก 2 คนก็คือ ติเอโก้ เรนาน แข้งบราซิลที่โอนสัญชาติมาเป็น ติมอร์ เลสเต และ ฮัสซัน ซันนี่ ผู้รักษาประตูจากสิงคโปร์ ที่มาปีแรกก็สร้างแรงสั่นสะเทือนถึงฟอร์มการเซฟอันยอดเยี่ยมกับ อาร์มี่ ยูไนเต็ด



ฤดูกาล 2016

ฤดูกาล 2016 จาก 5 นักเตะต่างชาติ (อาเซียน) เหลือเพียงแค่ 3 คนเท่านั้นที่ได้ค้าแข้งต่อในเมืองไทย ประกอบไปด้วย อัสซัน ซันนี่, วิเตอร์​ อิกโบนิเฟ่ และ เกร็ก เอ็นโวโคโล โดยรายหลังสุดนี้ได้เล่นเพียงแค่เลกแรกเท่านั้น ก่อนจะถูกยกเลิกสัญญาไปในที่สุด

นั้นก็เป็นการส่งสัญญาณว่า นักเตะต่างชาติ (อาเซียน) กำลังจะลดจำนวนลงเรื่อยๆ โดยเฉพาะเรื่องความสามารถและฝีเท้าที่ไม่ได้เหนือกว่านักเตะไทยมากนัก ทำให้สโมสรต่างๆ ไม่ค่อยนิยมที่จะใช้ผู้เล่นร่วมภูมิภาค เพราะมองว่าเป็นการสิ้นเปลืองโควตานักเตะต่างชาติอีกด้วย

 

ฤดูกาล 2017

ในปี 2017 นักเตะจากภูมิภาคอาเซียน ลดลงเหลือเพียงแค่ 2 รายเท่านั้น คนแรกคือ วิเตอร์ อิกโบนิเฟ่ ที่ย้ายจาก ราชนาวี ไปอยู่กับ นครราชสีมา มาสด้า เอฟซี ขณะที่อีกหนึ่งคน ก็คือแข้งสัญชาติลาวที่เล่นเมืองไทยมาหลายปี แต่เพิ่งได้ขยับมาเล่นไทยลีก อย่าง เกดสะดา สุกสะหวัด ที่ค้าแข้งให้กับ ซุปเปอร์พาวเวอร์ สมุทรปราการ
 


ฤดูกาล 2018

ฤดูกาล 2018 บริษัทไทยลีก ได้มีการปรับเปลี่ยนกฏโควตานักเตะต่างชาติด้วยการเพิ่มโควตาแข้งอาเซียนเข้ามา (โดยไม่นับผู้เล่นสัญชาติติมอร์) นั่นทำให้ตลาดซื้อขายนักเตะในภูมิภาคนี้คึกคักมากขึ้น โดยมีนักเตะเพื่อนบ้านในภูมิภาคนี้พาเหรดกันเข้ามาค้าแข้งในเมืองไทยถึง 16 ราย แบ่งเป็นในเลกแรก 12 รายและเพิ่มมาในเลกสองอีก 4 คน

ฟิลิปปินส์ เป็นชาติที่มีนักเตะเข้ามามากที่สุดจำนวน 5 ราย แต่ที่ประสบความสำเร็จมากสุด คงหนีไม่พ้น อ่อง ธู แม้ว่าต้นสังกัดของเขา (โปลิศ เทโร) ​จะต้องตกชั้นไปเล่นในไทยลีก 2 ก็ตาม แต่ดาวยิงทีมชาติเมียนมาร์ สร้างปรากฏการณ์ต่างๆเอาไว้มากมาย ทั้งจำนวนประตู แอสซิสต์ รวมถึงการเรียกกองเชียร์เพื่อนร่วมชาติ เข้ามาเชียร์ฟุตบอลในสนามได้อย่างเนืองแน่น

 

ฤดูกาล 2019

ในฤดูกาลใหม่ที่จะกำลังเริ่มต้นขึ้นนี้ บริษัทไทยลีก ได้มีการปรับกฏระเบียบของโควตาอาเซียนอีกครั้งหนึ่ง จากเดิม 3+1+1 จะเปลี่ยนมาเป็น 3+1+3 แบ่งเป็น นอกเอเชีย 3 คนเท่าเดิม, เอเชีย 1 คนเท่าเดิม และ อาเซียน สูงสุด 3 คน ที่สำคัญทั้งหมด 7 คน สามารถส่งลงสนามพร้อมกันได้ทั้งหมด

ฟิลิปปินส์ ยังคงเป็นชาติที่ได้รับความนิยมมากที่สุด จากรายชื่อล่าสุดที่ส่งชื่อเข้าร่วมการแข่งขัน ฤดูกาล 2019 มีทั้งสิ้น 9 คน ขณะที่ เมียนมาร์ ก็เพิ่มจาก 3 มาเป็น 5 คน นำโดย สิ ธู อ่อง และ ซอ มิน ตุน สองนักเตะเมียนมาของชลบุรี เอฟซี

ที่น่าสนใจที่สุดก็คงหนีไม่พ้น นักเตะจากเวียดนาม ที่ฤดูกาลนี้มี 2 แข้งดีกรีทีมชาติเวียดนามอย่าง ดัง วาน ลัม และ เลือน ซวน ตรวง มาวาดลวดลายให้แฟนบอลชาวไทยได้เห็นกันอย่างใกล้ชิด

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook