สาวโรงงานสู่เหรียญทองโอลิมปิก : ขุดจุดเริ่มต้นสู่ความยิ่งใหญ่ของทีมนักตบลูกยางญี่ปุ่น

สาวโรงงานสู่เหรียญทองโอลิมปิก : ขุดจุดเริ่มต้นสู่ความยิ่งใหญ่ของทีมนักตบลูกยางญี่ปุ่น

สาวโรงงานสู่เหรียญทองโอลิมปิก : ขุดจุดเริ่มต้นสู่ความยิ่งใหญ่ของทีมนักตบลูกยางญี่ปุ่น
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เมื่อความสามารถเพียงอย่างเดียวไม่พอที่จะได้มาซึ่งเกียรติยศและความสำเร็จ

ปี 1964 คือปีแห่งการเฉลิมฉลองของญี่ปุ่น พวกเขาได้รับเสียงชื่นชมจากนานาชาติในการจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก 1964 โอลิมปิกครั้งแรกบนผืนแผ่นดินเอเชียได้อย่างสมบูรณ์แบบ ในขณะเดียวกันทีมวอลเลย์บอลหญิงญี่ปุ่น ยังสามารถคว้าเหรียญทองโอลิมปิกเหรียญประวัติศาสตร์มาครองได้สำเร็จ

การคว้าเหรียญทองในครั้งนั้นถือเป็นเรื่องใหญ่ในวงการกีฬาญี่ปุ่น เพราะเหตุการณ์นี้ได้ถูกเลือกให้เข้ามาอยู่ใน 10 เหตุการณ์ความสำเร็จของชาวอาทิตย์อุทัยที่เกิดขึ้นในศตวรรษที่ 20 และรั้งอันดับ 5 ในการจัดอันดับของหนังสือพิมพ์อาซาฮี ในช่วงปลายปี 1999

ทว่า เบื้องหลังในความสำเร็จของพวกเธอ ก็ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ แต่ต้องแลกมาด้วยหยาดเหงื่อและคราบน้ำตาของความพยายามที่จะเอาชนะกำแพงที่สูงชัน พบกับเรื่องราวของ “แม่มดแห่งตะวันออก” กับการเดินทางของพวกเธอ

สาวโรงงาน
ในช่วงทศวรรษที่ 1960 ญี่ปุ่นกำลังอยู่ในช่วงฟื้นฟูประเทศจากการเป็นชาติที่แพ้สงคราม พวกเขามุ่งเน้นอุตสาหกรรมเป็นหลัก โดยมีโรงงานตั้งอยู่มากมายทั่วทุกมุมเมือง และโรงงานก็มีกีฬาให้พนักงานได้เล่นเพื่อผ่อนคลาย หนึ่งในนั้นคือวอลเลย์บอล

นิชิโบะ ไคซุกะ คือทีมวอลเลย์บอลจากโรงงานที่โดดเด่นที่สุดในยุคนั้น พวกเขามีผู้เล่นที่สูงถึง 170 เซนติเมตรอย่าง มาซาเอะ คาไซ เป็นตัวนำทีม ทำให้การฟอร์มทีมชาติญี่ปุ่นเพื่อลงแข่งในระดับนานาชาติ สาวจากโรงงาน นิชิโบะ จึงถูกเรียกติดเข้ามาเกือบยกทีม

japanese-1943
รายการแรกในเวทีระดับโลกของพวกเธอคือ ศึกวอลเลย์บอล เวิลด์ แชมเปียนชิพที่บราซิลในปี 1960 แม้จะเป็นการแข่งขันระดับนานาชาติเป็นครั้งแรก แต่ทีมวอลเลย์บอลหญิงญี่ปุ่นก็ทำผลงานได้ดีเกินคาด จบในตำแหน่งรองแชมป์ โดยพ่ายต่อ สหภาพโซเวียต ยักษ์ใหญ่วอลเลย์บอลหญิงในยุคนั้นแค่เกมเดียวเท่านั้น

สองปีต่อมา ญี่ปุ่นก็กลับมาล้างแค้นได้สำเร็จในการแข่งขันเวิลด์ แชมเปียนชิพที่โซเวียต พวกเธอไล่ปราบทั้งทีมยุโรปและอเมริกาใต้ ก่อนเอาชนะโซเวียตเจ้าภาพ ขึ้นไปครองเบอร์หนึ่งของรายการได้สำเร็จ จนทำให้ Pravda สื่อในท้องถิ่นของเจ้าภาพตั้งฉายาให้พวกเธอว่า “แม่มดแห่งตะวันออก”

“ในญี่ปุ่น แม่มดเป็นสิ่งที่น่ากลัว” มาซาเอะ คาไซ กัปตันทีมกล่าวกับ เฮเลน แมคนอตัน ของ SOAS แห่งมหาวิทยาลัยลอนดอน

oriental-witches_8_-bi-to-chi
“แต่ชื่อเล่นนี้ไม่ได้สื่อไปทางนั้น มันเป็นคำที่อธิบายวิธีการเล่นวอลเลย์บอลของเรา ที่พวกเขาไม่เคยเห็นมาก่อน”

แม่มดแห่งตะวันออก สร้างชื่อเสียงขจรขจายไปทั่วโลกในการแข่งขันที่โซเวียต แต่เบื้องหลัง พวกเธอและโค้ชมีแผนที่จะวางมือหลังทัวร์นาเมนต์นั้น  

ภารกิจที่ไม่มีทางเลือก
ในค่านิยมสังคมญี่ปุ่นในอดีต การแต่งงานคือเรื่องสำคัญของผู้หญิงแดนอาทิตย์อุทัยพวกเขามีแนวคิดว่าหลังทำงานได้สักพักผู้หญิงก็ควรแต่งงาน อยู่กับเหย้าเฝ้ากับเรือน คอยดูแลสามีที่ออกไปทำงานนอกบ้าน

ยิ่งไปกว่านั้น ความคิดของคนญี่ปุ่นในทศวรรษที่ 60 ยังมองว่าผู้หญิงควรแต่งงานตอนอายุไม่เกิน 25 ปี เพราะหลังจากนั้นหากใครยังไม่ได้แต่งงานจะถูกเรียกว่า “เค้กคริสมาสต์” ซึ่งเปรียบเปรยว่าหลังวันที่ 25 ธันวาคม (อายุ 25) พวกเธอจะไม่มีค่าอีกต่อไป 

สิ่งนี้ไม่เว้นแม้แต่นักกีฬา ทำให้แม้ว่าทีมวอลเลย์บอลหญิงญี่ปุ่นจะคว้าแชมป์เวิลด์แชมเปียนชิพในปี 1962 แต่อายุอานามผู้เล่นในทีมส่วนใหญ่อยู่วัยเกือบ 30 ปีทั้งนั้น ทำให้ผู้เล่นส่วนใหญ่ตั้งใจที่จะวางมือ และกลับไปใช้ชีวิตตามปกติ รวมไปถึง มาซาเอะ คาไซ กัปตันวัย 29 ปีที่มีแผนจะแต่งงานกับชายหนุ่มที่กำลังคบกันอยู่

en-denshopd-i93-00051-1
ทว่าการประกาศว่าวอลเลย์บอลหญิง จะถูกบรรจุลงในกีฬาโอลิมปิก 1964 เป็นครั้งแรก ทำให้เกิดเสียงเรียกร้องจากสาธารณชนให้ผู้เล่นและโค้ชชุดแชมป์เวิลด์ แชมเปียนชิพ ที่โซเวียตกลับมารับใช้ชาติอีกครั้ง ด้วยเป้าหมายในการคว้าเหรียญทองในกีฬาโอลิมปิก 1964 โดยเฮเลน แมคนอตัน อธิบายถึงเหตุการณ์ในตอนนั้นในบทความ  The Oriental Witches: Women Volleyball and the 1964 Tokyo Olympics ของเธอว่า

“ความคาดหวังจากสาธารณชนมันยิ่งใหญ่มาก ทีมได้รับจดหมายกว่า 5,000 ฉบับที่โน้มน้าวให้ ‘แม่มดตะวันออก’ เล่นต่อไป ต้นปี 1963 สมาชิกของทีมได้รับมันเช่นกัน หลังวันหยุดปีใหม่ ทำให้ผู้เล่นส่วนใหญ่ตัดสินใจที่จะเล่นต่อจนถึงโอลิมปิก”  

อันที่จริง มาซาเอะ คาไซ กัปตันวัย 29 ปี กำลังคบหาอยู่กับชายหนุ่มจากโอซากา เธอมีตัวเลือกว่าจะแต่งงานอยู่บ้าน หรือเข้าร่วมฝึกซ้อมเพื่อทีมชาติญี่ปุ่น แต่สุดท้าย คาไซ ก็เลือกอย่างหลัง

“คาไซ ยอมล้มเลิกความคิดที่จะแต่งงานในตอนนั้น และตั้งเป้าหมายสู่เหรียญทองในโตเกียวโอลิมปิก ในการสัมภาษณ์ คาไซบอกว่าเธอตัดสินเล่นต่อเพราะรู้สึกว่าสาธารณชนในตอนนั้น ‘ไม่อนุญาตให้เธอเลิกเล่น’”

ภารกิจที่แพ้ไม่ได้ของพวกเธอเริ่มต้นขึ้นแล้ว

c120005d533b44ea92b
โค้ชปีศาจ
ทางเดียวที่จะตอบรับความคาดหวังของคนทั้งชาติได้คือการคว้าเหรียญทองเท่านั้น แต่จะทำได้อย่างไร ในเมื่อโอลิมปิกก็ไม่ใช่งานง่าย พวกเธอต้องเจอกับผู้เล่นยุโรป  และอเมริกาที่มีร่างกายที่สูงใหญ่

พวกเธอจะทำอย่างไร เพื่อจะก้าวผ่านกำแพงที่สูงชันได้ และเมื่อเอาชนะลักษณะทางร่างกายไม่ได้ ก็ต้องใช้เทคนิคเข้าสู้ ญี่ปุ่นตัวเล็กก็จริง แต่พวกเธอก็มีความว่องไวเป็นอาวุธ และสิ่งที่จะทำให้นักกีฬามีประสิทธิภาพมากพอ ก็คือการซ้อมให้หนักขึ้น หนักขึ้น และหนักขึ้น

ภายใต้การคุมทีมของ ฮิโรฟุมิ ไดมัตสึ อดีตทหารผู้ผ่านสงครามโลก ทีมวอลเลย์บอลหญิงญี่ปุ่น  ต้องฝึกซ้อมหลังเลิกงานโดยไม่มีวันหยุดนอกจากวันปีใหม่ โดยเริ่มฝึกซ้อมตั้งแต่เวลา 16.30 จนถึงเที่ยงคืนของทุกวัน และมีเวลาเบรกแค่เพียง 15 นาที ในขณะที่ คาไซ กัปตันทีม ต้องซ้อมหนักว่าคนอื่นโดยเริ่มตั้งแต่ 3 โมงเย็นถึงตีสาม

“นี่คือเวลาที่จะไม่มีอย่างอื่นมาข้องเกี่ยว ผู้เล่นต่างรู้ดีว่าเขาไม่มีชีวิตให้เรื่องอื่น พวกเขาทำเพราะพวกเขาเลือกที่จะทำ การเตรียมตัวเพื่อชัยชนะเป็นเรื่องของตัวเอง เป็นความท้าทายส่วนตัว มันเป็นสิ่งที่ต้องยอมรับโดยไม่มีคำถาม” ไดมัตสึกล่าวกับ Sports Illustrated

co
หนึ่งในเทคนิคที่ ไดมัตสึ นำมาใช้กับลูกทีมของเขาคือท่าไคเต็ง เรชิบุ (รับแล้วม้วนตัว) ซึ่งเป็นท่าที่ประยุกต์มาจากยูโด และเป็นอาวุธลับที่ทำให้คว้าแชมป์เวิลด์ แชมเปียนชิพ ในปี 1962 วิธีฝึกก็คือ ให้โค้ชโยนลูกให้ผู้เล่นหมุนตัวไปตีสลับซ้ายขวาไปเรื่อยๆ และทำซ้ำๆเป็นร้อยๆพันๆรอบ จนกว่าร่างกายจะจำได้

แม้การฝึกซ้อมแบบนี้จะทำให้บางคนรับไม่ไหว ถึงขั้นลงไปนอนพับ หรือร้องไห้เพราะความเหนื่อย แต่ไดมัตสึ ก็ไม่สนใจแถมยังพูดกับคนเหล่านั้นว่า

“ถ้าเธออยากอยู่บ้านกับแม่ ก็กลับไปซะ เราไม่ได้อยากให้เธออยู่ที่นี่ เมืองนี้มีหมู่บ้านเกาหลีอยู่ ถ้ามันยากไปสำหรับเธอ ไปเล่นกับพวกเขาที่นั่นดีกว่านะ” หรือ “เธอไม่ได้เรื่อง เลิกไปเสียเถอะ”

ไดมัตสึ ยังขึ้นชื่อเรื่องการลงโทษที่สุดโหดเมื่อผู้เล่นทำผิด ครั้งหนึ่งเมื่อถึงเวลาอาหารเย็น แม้ว่ารถเข็นอาหารจะมาถึงแล้ว แทนที่เขาจะให้ลูกทีมหยุดซ้อม แต่ไดมัตสึกลับให้ผู้เล่นของเขาซ้อมหนักขึ้นเรื่อยๆ ก่อนจะอนุญาตให้รับประทานอาหารช้าไปจากเดิมครึ่งชั่วโมง แถมเมื่อถึงเวลา เขาก็อนุญาตเฉพาะทีมตัวจริงได้กิน ในขณะที่ผู้เล่นสำรองต้องซ้อมต่อไป ส่วนตัวเขานั่งกินอาหารอย่างสบายใจ

แน่นอนการฝึกซ้อมที่เข้มงวดและการลงโทษแบบนี้ของเขาถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักจากคนภายนอก โดยเฉพาะสหภาพแรงงานของบริษัท ที่มองว่าเป็นการทารุณมนุษย์มากเกินไป จนไดมัตสึถูกตั้งฉายาว่า “โค้ชปีศาจ”  

51725355_10157116082297445_90
อันที่จริงไดมัตสึ ก็เห็นด้วยว่าการฝึกซ้อมของเขามันโหดร้าย แต่เขาจำเป็นต้องทำ เพราะนอกจากพัฒนาทักษะทางร่างกายแล้ว เขายังต้องฝึกจิตวิญญาณในการต่อสู้ให้ผู้เล่น เพื่อที่จะเอาชนะโซเวียต คู่ปรับสำคัญที่เหนือกว่าทั้งในด้านส่วนสูงและพละกำลัง

และผู้เล่นก็ต่างรู้ดีในเรื่องนี้ ทำให้พวกเธอยังคงหนุนหลังไดมัตสึ แม้ว่าเขาจะโดนโจมตีจากคนในประเทศแต่ไหนก็ตาม

“ฉันเชื่อใจและนับถือโค้ชไดมัตสึ ทีมมีความสุขที่ได้รับคำแนะนำจากเขา เพราะว่าเราเชื่อมั่นในตัวเขา” คาไซ กัปตันญี่ปุ่นกล่าว

“เขาเคยเป็นนักวอลเลย์บอลสมัยมหาวิทยาลัย มานิจิโบะ (ชื่อเล่นของทีมของบริษัท) หลังจากเป็นทหารในสงคราม ทีมและฉันทำตามการฝึกซ้อมของเขาอย่างหนัก เพราะว่านิสัยความเป็นมนุษย์ที่ยิ่งใหญ่ของเขา เขาเป็นผู้ชายที่เชื่อใจได้ และเราก็เคารพในความเป็นมนุษย์ของเขา”

“ทุกครั้งที่ทีมชนะ เขาจะกระตุ้นเราว่าการฝึกซ้อมอย่างหนักของเขาคือทางที่ถูกต้อง ดังนั้นเราจึงฝึกซ้อมอย่างหนักอีกครั้ง และเราก็ชนะอีกครั้ง เรามีสายสัมพันธ์ที่แนบแน่นระหว่างเขากับทีม”

และแล้วการฝึกซ้อมที่โหดหินของเขาก็ถึงเวลาพิสูจน์ในโอลิมปิก 1964

getimage(1)
ศึกชี้ชะตา
ว่ากันว่ามันคือการถ่ายทอดสดที่มียอดผู้ชมมากที่สุดตลอดกาลของญี่ปุ่น 1 ทุ่มของวันที่ 23 ตุลาคม 1964 ผู้ชมกว่า 100 ล้านคนและอีก 4,000 คนที่สนาม โคมาซาวะ ยิมเนเซียม รวมไปถึง เจ้าหญิงมิจิโกะ ที่ต่อมาขึ้นเป็นราชินีของญี่ปุ่น ต่างเฝ้าชมการแข่งขันนัดประวัติศาสตร์ระหว่างญี่ปุ่นกับโซเวียต

ก่อนหน้านี้ สาววอลเลย์บอลญี่ปุ่น ทำผลงานได้อย่างยอดเยี่ยม ไล่ต้อนทั้ง สหรัฐอเมริกา โรมาเนีย เกาหลีใต้ โปแลนด์ คว้าชัย 4 นัดรวด และเสียไปเพียงแค่เซตเดียว พวกเธอจำเป็นต้องชนะอีกนัดเดียวก็จะคว้าเหรียญทอง

ราวกับพรหมลิขิต เมื่อในนัดสุดท้ายญี่ปุ่นต้องเจอกับสหภาพโซเวียตคู่ปรับเก่า ซึ่งเป็นเจ้าวอลเลย์บอลหญิงในยุคนั้น ทำให้เกมวันนั้นกลายเป็นเกมนัดสำคัญที่หลายคนจับตามอง ถึงขนาดถนนในกินซ่าว่างโล่งตั้งแต่ช่วงบ่ายแก่ๆ

แม้จะทำผลงานได้อย่างสุดยอด แต่ญี่ปุ่น ต้องแบกความกดดันของคนในประเทศ ยิ่งไปกว่านั้นการที่ อาคิโอะ คามินางะ พลาดทำได้เพียงเหรียญเงินในกีฬายูโด ยิ่งทำให้ความคาดหวังต่อทีมวอลเลย์บอลสาวทวีคูณขึ้นไปอีก ในฐานะกีฬาที่ได้ลุ้นเหรียญทองเหรียญสุดท้าย ก่อนที่จะมีพิธีปิดในวันรุ่งขึ้น ถึงขนาดสมาชิกคนหนึ่งในทีมพูดว่า “ถ้าเราแพ้ เราคงต้องหนีออกจากประเทศแน่ๆ”

แต่ค่ำวันนั้น ญี่ปุ่นเป็นฝ่ายทำได้ดีกว่าอย่างชัดเจน เอาชนะไปได้ 2 เซตรวดด้วยสกอร์ 15-11 และ 15-8 โอกาสพวกเขาอยู่ใกล้แค่เอื้อมเพราะต้องการเพียงแค่เซตเดียวก็จะชนะ

image_l
และเซตที่ 3 ญี่ปุ่นออกนำไปไกลถึง 11-3 คาไซ ย้อนความหลังในอัตชีวประวัติส่วนตัวว่าตอนนั้นเธอคิดว่า “มีโอกาสแล้ว เรามีโอกาสชนะ” ทว่าโซเวียตก็ไล่มาเป็น 13-6 ให้พวกเธอเริ่มหายใจไม่ทั่วท้อง

แม้จากนั้น ญี่ปุ่นจะทำแต้มหนีห่างออกไป 14-8 แต่กลายเป็นว่าพวกเธอช็อตไปดื้อๆ จนรัสเซียไล่มาเป็น 14-13 เกมกำลังตึงเครียดอย่างหนัก โมเมนตัมเริ่มกลับมาอยู่ฝั่งรัสเซีย จนไดมัตสึต้องขอเวลานอก

“พวกเธอกำลังทำอะไรอยู่ ใจเย็นๆ เราขอแค่แต้มเดียวก็จะชนะ สบายๆหน่อย” ไดมัตสึ บอกกับลูกทีม

ญี่ปุ่นกับโซเวียดผลัดกันเสิร์ฟไปมา แต่ก็ไม่มีฝ่ายใดทำแต้มเพิ่มได้ (ในสมัยนั้นทีมเสิร์ฟเท่านั้นที่จะได้คะแนน) เจ้าภาพได้เซตพอยท์ 5 ครั้งแต่ก็ไม่สามารถปิดเกมได้เสียที

แต่แล้วในการเสิร์ฟของ เอมิโกะ มิยาโมโต ที่บรรจงใช้มือซ้ายหวดบอลพุ่งเป็นจรวด จนคู่แข่งเกือบควบคุมบอลไม่ได้ บอลล้นข้ามเน็ต ทำให้ผู้เล่นโซเวียตแถวหน้าพยายามสะบัดมือหวังเปลี่ยนทิศ แต่กรรมการเป่าหยุดเกมเป็นลูกฟาวล์ ญี่ปุ่นได้แต้มสำคัญในที่สุด  

clm1611290004-p1
สิ้นเสียงนกหวีด สาวญี่ปุ่นพากันโห่ร้องด้วยความดีใจกลางคอร์ท ท่ามกลางเสียงเฮไปทั่วสนาม โค้ชไดมัตสึทำเพียงแค่นั่งลงอย่างเงียบๆ มองดูลูกทีมของเขาที่กำลังเฉลิมฉลอง น้ำตาที่เอ่อล้นอยู่ในเบ้าตา ไม่มีใครรู้ว่ามันคือความดีใจ ความอัดอั้นใจ หรือความรู้สึกผิดต่อลูกทีม แต่วันนั้นเขาได้จารึกประวัติศาสตร์ให้กับญี่ปุ่นได้แล้ว

3 ทุ่ม ตามเวลาท้องถิ่น ธงฮิโนะมารุ ถูกเชิญขึ้นสู่ยอดเสา พร้อมกับเพลงชาติ คิมิงะโยะ ที่บรรเลงคลอไปกับความยินดีของคนทั้งประเทศ เหรียญทองกีฬาวอลเลย์บอลหญิงเหรียญแรกของโอลิมปิกเป็นของญี่ปุ่น

หลังเสียงนกหวีด
ญี่ปุ่นปิดฉากโอลิมปิกในบ้านตัวเองได้อย่างชื่นมื่น พวกเขาคว้าเหรียญทองสุดท้ายที่มีลุ้นได้สำเร็จ พร้อมกับชื่อเสียงของ “แม่มดแห่งตะวันออก” ที่โด่งดังไปทั่วโลก

kas069-jlp15178235
หลังจากวันนั้นสมาชิกของทีมก็ได้แยกย้ายกันไปตามเส้นทางของตัวเอง พวกเธอได้เลิกเล่นสมใจ คาไซ ก็ได้แต่งงานอย่างที่เธอหวัง วีรสตรีของประเทศได้รับการแนะนำคู่ดูตัวจากนายกรัฐมนตรี เอซาคุ ซาโต ก่อนที่เธอจะตกลงปลงใจแต่งงานกับ คาสุโอะ นาคามูระ เจ้าหน้าที่หน่วยป้องกันตัวเอง

การแต่งงานของเธอในเดือนพฤษภาคม 1965 กลายเป็นวาระของประเทศ ข่าวการแต่งงานของเธอขึ้นหน้าหนึ่งในทุกสื่อ รวมไปถึงเป็นหัวข้อข่าวทางทีวี

ส่วนโค้ชไดมัตสึ หลังยุติสถิติ 175 นัดติดต่อกันที่รับตำแหน่ง เขาได้เขียนหนังสือเกี่ยวกับ จิตวิญญาณในการต่อสู้ และกลายเป็นหนังสือขายดีไปทั่วทั้งประเทศ นอกจากนี้ยังได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และอยู่ในตำแหน่งถึง 10 ปี ก่อนจะเสียชีวิตไปในปี 1978 ด้วยวัย 57 ปี

51991347_10157116081367445_56
ในขณะที่วอลเลย์บอลหญิงญี่ปุ่น พวกเธอยังคว้าเหรียญทองได้อีกครั้งในปี 1976 และเหรียญเงินอีก 2 ครั้งในปี 1968 และ 1972 ก่อนจะค่อยๆซบเซา และเพิ่งกลับมาคว้าเหรียญทองแดงในโอลิมปิกที่ลอนดอน 2012  และมุ่งมั่นที่จะคว้าเหรียญทองอีกครั้งใน 2020 ที่ตัวเองเป็นเจ้าภาพ

แม้ว่าเรื่องราวของพวกเธอจะจางหายไปตามเวลา แต่ชื่อของ “แม่มดแห่งตะวันออก” ก็อยู่ในความทรงจำของคนทั่วโลกมาจนถึงวันนี้

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook