ลิเวอร์พูลอุรุกวัย, บาร์เซโลน่าเอกวาดอร์.. เหตุใดชื่อทีมยุโรปถึงไปอยู่ในละติน?

ลิเวอร์พูลอุรุกวัย, บาร์เซโลน่าเอกวาดอร์.. เหตุใดชื่อทีมยุโรปถึงไปอยู่ในละติน?

ลิเวอร์พูลอุรุกวัย, บาร์เซโลน่าเอกวาดอร์.. เหตุใดชื่อทีมยุโรปถึงไปอยู่ในละติน?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เมื่ออเมริกาใต้เต็มไปด้วยทีมดังจากจากยุโรป พวกเขาย้ายไปเล่นที่นั่นตั้งแต่เมื่อไร?

ปี 2007 อาร์เซนอล สร้างประวัติศาสตร์ด้วยการคว้าแชมป์ระดับทวีปมาครองได้เป็นครั้งแรกด้วยกฎอเวย์โกล หลังเสมอกับ คลับ อเมริกา จากเม็กซิโก ในนัดชิง โคปา ซูดาเมริคานา ด้วยสกอร์ 4-4 จากการลงเล่นสองนัด

หลายคนอาจจะสงสัยว่าทีมจากลอนดอนไปเกี่ยวข้องกับกับทีมจากเม็กซิโก ในฟุตบอลถ้วยของอเมริกาใต้ได้อย่างไร ถูกต้องแล้ว นี่ไม่ใช่อาร์เซนอลจากอังกฤษ แต่คือ อาร์เซนอล เดอ ซารานดี ทีมชื่อเหมือนจากลีกอาร์เจนตินา

 

พวกเขาไม่ใช่ทีมแรกและทีมเดียวจากแดนละติน ที่มีชื่อเหมือนกับทีมจากยุโรป เพราะยังมีสโมสรในอเมริกาใต้อีกมากมาย ที่มีชื่อพ้องกับต้นฉบับอย่างตั้งใจ  

อะไรคือเหตุผลที่ทำให้ชื่อทีมยุโรป มาอยู่ในอเมริกาใต้ ร่วมหาคำตอบไปพร้อมกับ Main Stand

ฟุตบอลในอเมริกาใต้  

แม้ว่าชาวสเปนและโปรตุเกส จะเป็นคนกลุ่มแรกที่เดินทางถึงอเมริกาใต้ และยึดครองประเทศในช่วงไล่ล่าอาณานิคม แต่ชนชาติที่นำฟุตบอลมาแนะนำให้คนในทวีปนี้ได้รู้จักกลับเป็นชาวอังกฤษ

 1

จุดเริ่มต้นต้องย้อนไปในช่วงต้นศตวรรษที่ 19 ที่หลายประเทศในอเมริกาใต้ ประกาศเอกราชจากการยึดครองของเจ้าอาณานิคม เช่นเดียวกับอาร์เจนตินา หลังจากปลดแอกจากสเปนแล้ว พวกเขาก็เริ่มต้นการปกครองในระบบสาธารณรัฐ โดยมีกรุงบัวโนสไอเรส เป็นศูนย์กลาง

และด้วยความที่ บัวโนสไอเรส เป็นเมืองท่าที่สำคัญมาตั้งแต่สมัยการยึดครองของสเปน ทำให้พวกเขามีโอกาสต้อนรับเรือที่เข้ามาเทียบท่ามากมาย หนึ่งในนั้นคือเรือจากอังกฤษ เหล่ากะลาสีเรือไม่เพียงแต่แวะมาพักผ่อนเท่านั้น พวกเขายังนำฟุตบอลมาด้วย

แม้ว่าในช่วงแรก ฟุตบอลจะเล่นกันในหมู่กะลาสีเรือที่ท่าเรือในบัวโนสไอเรส แต่หลังจากนั้น ชุมชนชาวอังกฤษที่เมืองนี้ก็ขยายตัวมากขึ้น จากการเข้ามาของบริษัท บริติช เรลเวย์ ที่มาพร้อมกับคนงานชาวอังกฤษ ทำให้ปี 1867 ลีกฟุตบอลอย่างไม่เป็นทางการได้ถือกำเนิดขึ้นครั้งแรกในอเมริกาใต้ที่อาร์เจนตินา

“มัน (ฟุตบอล) เข้ามาในช่วงปลายศตวรรษที่ 18 ช่วงเดียวกับที่ประเทศในภูมิภาคนี้กำลังเริ่มรวมตัวเป็นประเทศสมัยใหม่” โจชัว นาเดล ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัย นอร์ท แคโรไลนา กล่าวในหนังสือ Fútbol!: Why Soccer Matters in Latin America

“การย้ายถิ่นฐานครั้งใหญ่จากยุโรป ได้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางประชากร และบรรทัดฐานทางสังคม ‘ดั้งเดิม’ อะไรบางอย่าง ผู้อพยพมีส่วนช่วยทำให้ความนิยมของฟุตบอลเติบโต เช่นเดียวกับกีฬาก็ทำให้ประชากรใหม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับประเทศใหม่ได้”

 2

อย่างไรก็ดี ลีกในตอนนั้นยังเป็น การแข่งขันของทีมจากผู้อพยพเป็นหลัก โดยแบ่งเป็นลีกอังกฤษ และลีกสก็อตแลนด์ แต่มันก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ฟุตบอลค่อยๆ กลายเป็นที่รู้จักของคนท้องถิ่นมากขึ้น ในขณะเดียวกันการศึกษา ก็มีส่วนที่ทำให้ฟุตบอลเป็นที่แพร่หลายในทวีปอเมริกาใต้จากครูชาวต่างชาติจากยุโรป

แม้ว่าผู้อพยพจากยุโรป จะเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้คนในอเมริกาใต้ได้รู้จักกับฟุตบอล แต่เนื่องจากเป็นกีฬาชนิดใหม่ และเต็มไปด้วยกฎต่างๆมากมาย ทำให้ช่วงแรกมันกลายเป็นที่นิยมจากเหล่าผู้อพยพจากยุโรปเท่านั้น และกระแสก็ค่อยๆ จางไป

ทว่าการออกทัวร์อเมริกาใต้ของเหล่าทีมจากสหราชอาณาจักรในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ได้จุดกระแสฟุตบอลในดินแดนละตินให้ลุกโชนอีกครั้ง เมื่อพวกเขาไม่ได้มาเพียงแค่ลงเล่น แต่ยังช่วยสอนให้รู้จักกับวิธีเล่นแบบอังกฤษอีกด้วย

และมันก็ได้กลายเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ทีมจากอเมริกาใต้ ตั้งชื่อเลียนแบบทีมจากยุโรปในเวลาต่อมา

เมอร์ซี่ย์ไซด์แห่งละติน

เซาธ์แฮมป์ตัน คือทีมจากอังกฤษทีมแรกที่มาเยือนบัวโนสไอเรส ในปี 1904 จากคำเชิญของ Sociedad Hípica สโมสรของเหล่าชนชั้นสูงในเมืองหลวง เกมกระชับมิตรของพวกเขาได้รับความสนใจจากคนในท้องถิ่นอย่างล้นหลาม เช่นเดียวกันกับการทัวร์อาร์เจนตินาและอุรุกวัยของ นอตติงแฮม ฟอเรสต์ ในปีต่อมา

 3

เอฟเวอร์ตัน ก็เป็นอีกหนึ่งทีมที่มาเยือนทวีปแห่งนี้ พวกเขาและ ท็อตแนม ฮอตสเปอร์ ออกทัวร์อาร์เจนตินา และอุรุกวัยในปี 1909 และร่วมลงเตะนัดกระชับมิตรกับสโมสรท้องถิ่นหลายทีม

ทว่าการมาถึงของทอฟฟีสีน้ำเงินต่างออกไปจากทีมอื่น เมื่อพวกเขากลายเป็นแรงบันดาลใจให้กับกลุ่มคนในประเทศชิลีในการก่อตั้งสโมสรขึ้นมาในชื่อ เอฟเวอร์ตัน ฟุตบอลคลับ

ปี 1909 เดวิด ฟอกซ์เลย์ ผู้อพยพชาวอังกฤษ เป็นแกนนำกลุ่มวัยรุ่นในการก่อตั้งสโมสรในเมือง Cerro Alegre เมืองชายฝั่งของชิลี พวกเขาตัดสินใจใช้ชื่อทีมว่า เอฟเวอร์ตัน เอฟซี จากการที่สโมสรของอังกฤษมาทัวร์อาร์เจนตินาในช่วงเวลานั้นพอดี

พวกเขาใช้ชื่อนี้จนถึงปี 1950 ก่อนจะเปลี่ยนมาใช้ Everton de Viña del Mar แต่ในส่วนชุดแข่งยังคงเป็นสีเหลืองต่างจากต้นฉบับเช่นเดิม และ 100 ปีหลังการก่อตั้งของทั้งสองทีม เอฟเวอร์ตัน จากอังกฤษ และ เอฟเวอร์ตัน จากชิลี ก็มีโอกาสได้ฟาดแข้งกันเสียทีในปี 2010 โดยฝั่งแดนผู้ดีเป็นฝ่ายเอาชนะไป 2-0 ที่กูดิสันพาร์ค

“เราพยายามตื๊อเอฟเวอร์ตันเพื่อให้เกมนี้เกิดขึ้น และในที่สุดพวกเขาก็พูดว่า ‘โอเค เรามาจัดการแข่งขันกัน’” จอห์น เชียรอน ลูกครึ่งชิลี อังกฤษ ที่เดินทางไปกลับระหว่าง Viña del Mar กับอังกฤษมากกว่า 5 ครั้งเพื่อศึกษาประวัติศาสตร์ของ เอฟเวอร์ตัน ชีลี กล่าวกับ The Guardian

“ความจริงที่ว่าในที่สุดเกมนี้ก็เกิดขึ้นคือเรื่องมหัศจรรย์มาก”

 4

เอฟเวอร์ตัน ไม่ใช่ทีมเดียวจากอังกฤษ ที่มีคู่แฝดอยู่อีกฝั่งของโลก เมื่อ ลิเวอร์พูล คู่แข่งร่วมเมืองของพวกเขา ก็มีสโมสรที่ใช้ชื่อเหมือนกันอยู่ในประเทศอุรุกวัย ในชื่อ ลิเวอร์พูล มอนเตวิเดโอ

ลิเวอร์พูลแห่งอเมริกาใต้ ก่อตั้งขึ้นในปี 1915 หลังการก่อตั้งของ ลิเวอร์พูลแห่งแดนผู้ดี 23 ปี โดยตำนานเล่าว่าจุดกำเนิดของพวกเขามาจากนักเรียนที่ มอนเตวิเดโอกำลังมองหาชื่อที่เหมาะสมในแผนที่อังกฤษ ก่อนที่อาจารย์จะบอกว่าให้ใช้ชื่อ ลิเวอร์พูล เพราะเป็นเมืองท่าเหมือนกับเมืองของพวกเขา

 5

และดูท่าว่าตำนานจะเป็นจริง เมื่อในเว็บไซต์อย่างเป็นทางการของสโมสรลิเวอร์พูล มอนเตวิเดโอ ระบุว่าพวกเขาใช้ชื่อนี้เพราะมีวัฒนธรรมที่เชื่อมกันระหว่างสองพื้นที่นี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เรือบรรทุกถ่านหินที่มามอนเตวิเดโอส่วนใหญ่มาจากท่าเรือของอังกฤษ

สองทีมดังแห่งเมืองลิเวอร์พูล ยังมีเพื่อนร่วมชะตากรรมจากลีกเดียวกัน เมื่อในอาร์เจนตินา พวกเขามีทีมที่ชื่อว่า อาร์เซนอล เด ซารานดี สโมสรจากกรุงบัวโนสไอเรส ที่ก่อตั้งในปี 1957 และได้รับแรงบันดาลใจมาจากปืนใหญ่แห่งลอนดอน  

 6

เช่นเดียวกับ คลับ แอตเลติโก ยูเวนตุส แห่งบราซิล ที่แม้ว่าตอนแรกจะไม่ได้ใช้ชื่อนี้ในการก่อตั้ง แต่ก็เปลี่ยนมาใช้ตั้งแต่ปี 1925 เนื่องจาก รูฟอลโด เครสปี เจ้าของทีมชาวอิตาลี เป็นแฟนของทีมยูเวนตุส

อย่างไรก็ดี บางสโมสรไม่ได้เอามาแค่ชื่อเท่านั้น แต่ยังเอาชุดแข่งหรือแม้กระทั่งโลโก้มาด้วย

แค่ชื่อไม่พอ

ในขณะที่ บาร์เซโลนา กำลังทำผลงานได้อย่างโดดเด่นในลาลีกา โดยมีแต้มนำห่างคู่ปรับตลอดกาล เรอัล มาดริด อยู่หลายคะแนน ในอีกฟากหนึ่งของโลก บาร์เซโลนา เอสซี ก็กำลังเริ่มต้นฤดูกาลใหม่ในลีกสูงสุดของเอกวาดอร์

 7

อย่างที่เดากันได้ บาร์เซโลนา เอสซี ก็เป็นอีกหนึ่งทีมที่ใช้ชื่อเหมือนกับทีมจากยุโรป พวกเขาก่อตั้งในปี 1925 โดย Eutimio Pérez ผู้อพยพจากคาตาลัน และแน่นอนแรงบันดาลใจก็มาจากทีมในบ้านเกิด

ทว่า บาร์เซโลนา เอกวาดอร์ ไม่ได้เอามาแค่ชื่อเท่านั้น พวกเขายังเอาโลโก้ของ บาร์เซโลนา สเปน มาใช้อีกด้วย โดยโลโก้เวอร์ชั่นล่าสุดที่ออกแบบเมื่อปี 1955 ดัดแปลงให้ต่างจากต้นฉบับนิดหน่อย และเปลี่ยนใช้ชื่อย่อเป็น B.S.C (ต้นฉบับคือ FCB) โชคยังดีที่ชุดแข่งของพวกเขาเป็นสีเหลือง ไม่งั้นคงจะเหมือนกับต้นฉบับทุกกระเบียดนิ้ว

 8

ในขณะเดียวกัน เรอัล มาดริด คู่แข่งของบาร์ซา ก็เป็นอีกทีมที่เป็นแรงบันดาลใจให้กับสโมสรอเมริกาใต้ เรอัล โปโตซี สโมสรจากโบลิเวียคือทีมนั้น

โปโตซี ใช้ชื่อ เรอัล เหมือนกับทีมจากสเปน และแค่นั้นยังไม่พอ โลโก้ของพวกเขา แทบจะดราฟมาจาก “โลส บลังโกส” ด้วยสัญลักษณ์มงกุฏเหนือวงกลมสีทอง คาดด้วยสีน้ำเงิน โดยที่ต่างออกไปคงจะเป็นแค่ตัวอักษรข้างในเท่านั้น

 9

ทว่า แรงบันดาลใจของไม่ใช่แค่สิ่งที่เกิดขึ้นแค่ในละตินอเมริกาเท่านั้น แต่มันได้แพร่กระจายไปทั่วโลก ไม่เว้นแม้แต่ในยุโรปเอง

ไม่ใช่แค่อเมริกาใต้

ปรากฎการณ์เหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นแค่ในอเมริกาใต้เท่านั้น เพราะทั่วโลกยังมีอีกหลายสโมสรที่ชื่อ โลโก้ หรือแม้กระทั่งชุดแข่ง ไปเหมือนกับอีกทีมด้วยความตั้งใจ ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดคือ ยูเวนตุส ทีมดังแห่งลีกอิตาลี

 10

ม้าลายแห่งตูริน ก่อตั้งขึ้นในปี 1897 ก่อนที่หลังจากนั้น พวกเขาจะกลายเป็นต้นแบบให้กับหลายทีมทั่วโลก หนึ่งในนั้นคือ แอดิเลด ซิตี้ เอฟซี แห่งลีกออสเตรเลีย

แอดิเลด ก่อตั้งในปี 1946 โดยชาวท้องถิ่นเชื้อสายอิตาเลียน ก่อนจะเปลี่ยนมาใช้ชื่อ แอดิเลด ยูเวนตุส ในปี 1966 และมาใช้ชื่อปัจจุบัน ตั้งแต่ปี 1977 แต่ยังคงใช้ชุดแข่งลายทางขาวดำจวบจนถึงปัจจุบัน

 11

เช่นเดียวกับ บรุนสวิค ซีบราส์ เอฟซี ที่ก่อตั้งในปี 1948 ในชื่อ บรุนสวิค ยูเวนตุส โดยผู้อพยพชาวอิตาลี ปี 1980 ทีมเปลี่ยนมาใช้ชื่อ บรุนสวิค ยูไนเต็ด ยูเวนตุส ก่อนจะมาใช้ชื่อปัจจุบันในเวลาต่อมา และใช้ชุดแข่งลายทางขาวดำเหมือนกับ แอดิเลด

ยูเวนตุส ยังเป็นแรงบันดาลใจให้กับหลายทีมทั้งในและนอกอเมริกาใต้ที่ส่วนใหญ่ล้วนมีผู้ก่อตั้งเป็นชาวอิตาลี ไม่ว่าจะเป็น เทโร เอฟซี ของปานามา และ เดปอร์ติโว ทาชิรา ของเวเนซุเอลา

ขณะเดียวกัน ชุดแข่งของ ยูเวนตุส เองก็ได้รับแรงบันดาลใจมาจาก น็อตต์ส เคาน์ตี ของอังกฤษ หลังใช้ชุดสีชมพูในสมัยก่อตั้ง ทำให้ตอนม้าลายแห่งตูริน เปิดสนามยูเวนตุส สเตเดียม (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อตามสปอนเซอร์เป็น อัลลิอันซ์ สเตเดี้ยม) พวกเขาสร้างความฮือฮาด้วยการเชิญ น็อตต์ส เคาน์ตี ที่ตอนนั้นเล่นอยู่ในลีกวัน ลีกระดับ 3 ของอังกฤษมาลงเตะในนัดเปิดสนามใหม่ ซึ่งแสดงให้เห็นความสัมพันธ์ทางประวัติศาสตร์ของพวกเขาได้เป็นอย่างดี

“ผมต้องยอมรับว่าตอนแรกที่เห็นคำเชิญ ผมผงะเล็กน้อย ตอนที่เรานั่งดูตารางแข่ง เราเห็นว่าเรามีเกมในบ้านพบกับวอลซอลล์ในอีก 2 เกมต่อมา ก่อนจะบุกไปเยือน เอ็กซ์เตอร์ในอังคารต่อไป” เรย์ ทรูว์ ประธานสโมสร น็อตต์ส เคาน์ตี กล่าว

“แต่เนื่องจากความสัมพันธ์ทางประวัติศาสตร์ของทั้งสองสโมสร และศักดิ์ศรี เราจึงเตรียมที่จะทำทุกอย่างเพื่อให้เกมนี้เกิดขึ้น”

 12

นอกจากยูเวนตุสแล้ว ยังมีสโมสรอีกมายมายที่ต่างได้รับแรงบันดาลใจมาจากอีกสโมสร ไม่ว่าจะเป็น ลีดส์ ยูไนเต็ด ที่เปลี่ยนมาใช้ชุดเหย้าเป็นสีขาวตาม เรอัล มาดริด หรือ บาร์เซโลนา ที่มีทฤษฎีว่าชุดแข่งของพวกเขาถูกดัดแปลงมาจากชุดแข่งของ เอฟซี บาเซิล หรือแม้กระทั่ง บรากา แห่งโปรตุเกส ที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจาก อาร์เซนอล

สิ่งเหล่านี้คือวัฒนธรรมฟุตบอลที่แพร่กระจายไปทั่วโลก มันกลายเป็นเครื่องมือที่ทำให้คนในโลกใกล้กันมากขึ้น  เมื่ออีกทีมประทับใจสไตล์การเล่นของสโมสรหนึ่ง พวกเขาก็หยิบยืมหรือนำมาเป็นแรงบันดาลใจให้แก่สโมสรตนเอง

บางทีมอาจจะเป็นชุดแข่ง บางทีมอาจจะเป็นโลโก้ หรือบางทีมอาจจะนำชื่อไปใช้โดยตรง แต่ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะแม้แต่ในยุคปัจจุบัน ยังมีทีมใหม่ๆ ที่ชื่อ โลโก้ หรือชุดแข่ง คล้ายกัน ไม่ว่าบังเอิญหรือจงใจก็ตาม

ในบ้านเรายุคหนึ่ง บีอีซี เทโรศาสน (โปลิศ เทโร ในปัจจุบัน) ก็เคยใช้ชุดแข่งและโลโก้ คล้ายกับ อาร์เซนอล สโมสรพันธมิตร รวมถึง แมนเชสเตอร์ ซิตี้, เมลเบิร์น ซิตี้ และ นิวยอร์ค ซิตี้ เอฟซี ที่มีเจ้าของสโมสรเป็นคนเดียวกัน ก็มีชุดแข่งและโลโก้ที่คล้ายกัน ยิ่ง เมลเบิร์น ซิตี้ นั้น พวกเขาถึงกับเปลี่ยนชื่อมาจาก เมลเบิร์น ฮาร์ท มาเป็นอย่างที่เห็นในปัจจุบันอีกด้วย

 13

แรงบันดาลใจหรือในอีกมุมหนึ่งที่เรียกว่าการเลียนแบบอาจไม่ใช่เรื่องแปลกในโลกฟุตบอล เมื่อสุดท้ายแล้ว มันได้ก่อให้เกิดแรงกระตุ้นที่ผลักดันสโมสรให้ก้าวไปข้างหน้า เหมือนที่ บาร์เซโลนา เอกวาดอร์ ใช้ทีมดังแห่งสเปน ในเป็นแรงผลักดันในการก้าวมาเป็นทีมที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของประเทศด้วยแชมป์ลีก 15 สมัยและเข้าชิง โคปา ลิเบอร์ตาดอเรส คัพ มาแล้ว 2 ครั้ง

สุดท้ายแล้ว ไม่ว่าจะลอกเลียนแบบหรือแรงบันดาลใจ ก็อยู่ที่เลือกเองว่าจะใช้มันแบบไหน

อัลบั้มภาพ 13 ภาพ

อัลบั้มภาพ 13 ภาพ ของ ลิเวอร์พูลอุรุกวัย, บาร์เซโลน่าเอกวาดอร์.. เหตุใดชื่อทีมยุโรปถึงไปอยู่ในละติน?

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook