"พอลลีน งามพริ้ง" : ฟุตบอลไทยคือภาพจำลองการเมือง ถ้าไม่เท่าเทียมก็ไม่พัฒนา

"พอลลีน งามพริ้ง" : ฟุตบอลไทยคือภาพจำลองการเมือง ถ้าไม่เท่าเทียมก็ไม่พัฒนา

"พอลลีน งามพริ้ง" : ฟุตบอลไทยคือภาพจำลองการเมือง ถ้าไม่เท่าเทียมก็ไม่พัฒนา
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ในวัย 52 ปี “พอลลีน งามพริ้ง” อาจเป็นคนๆหนึ่งที่ผ่านการใช้ชีวิตมาหลากหลายรูปแบบ ตามบทบาทหน้าที่ อายุ สถานการณ์ที่เปลี่ยนไป และรูปลักษณ์ภายนอกที่เปลี่ยนแปลง

จากผู้ชายที่มี คาแรกเตอร์ ความเป็นผู้นำ หัวก้าวหน้า ท่าทางสุขุม ท่าทีแข็งกร้าว ชัดเจน ตรงไปตรงมา หนักแน่นในทุกๆการกระทำและคำพูด จนผู้คนในวงการฟุตบอลต่างให้การยอมรับ นับถือในตัวตนของ พินิจ งามพริ้ง

มาจนถึงปัจจุบัน เธอออกมาเปิดเผยตัวเองต่อสังคมในชื่อ “พอลลีน” พาลินี งามพริ้ง เป็น ผู้หญิงข้ามเพศ ที่ตัดสินใจเข้าสู่สนามการเมือง ในบทบาท ประธานยุทธศาสตร์ พรรคมหาชน พร้อมกับได้ถูกเสนอเป็น 1 ในแคนดิเดตตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ในการเลือกตั้งทั่วไป พ.ศ.2562 ที่กำลังเกิดขึ้นในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า

หลายปีก่อน ตอนที่ผู้เขียน เป็นเพียงแค่เด็กคนหนึ่งจากต่างจังหวัด ที่เข้ามาเชียร์ฟุตบอลทีมชาติไทย ในสนามราชมังฯ ยืนอยู่สุดปลายแถวของกลุ่ม เชียร์ไทย พาวเวอร์ มองไปที่ด้านหน้า ผู้เขียนยังคงจดจำ ผู้ชายคนหนึ่ง ที่มีความสง่างาม และออร่าของความเป็นผู้นำได้ดี

 

ในวันนี้ ผู้ชายคนนั้นที่เราเคยชื่นชม นั่งอยู่ตรงหน้าเรา ในลุคส์ที่เปลี่ยนไป เป็นผู้หญิงข้ามเพศ หากแต่ตลอดการสนทนา ทุกคำตอบจากปากเขา ไม่เคยทำให้ ผู้เขียนรู้สึกว่า ความน่าเชื่อถือ ความเป็นผู้นำ ความเป็นคนยึดมั่นในอุดมการณ์ ความเชื่อของตัวเองอย่างแน่วแน่ของผู้ชายคนนั้นในวันนั้น ลดลงไปเลยแม้แต่นิดเดียว ด้วยสัตย์จริง

“ไม่ได้ฝัน​ จะเป็นนายกฯ มันจึงไม่ได้ไกลเกินฝัน การเป็นนายกฯ​ ไม่ได้เป็น​ ‘เป้าหมาย’  แต่เป็นเพียง ‘เครื่องมือ’ ที่จะเปลี่ยนแปลงประเทศนี้​ ไปสู่ความเท่าเทียมกัน”

“เพราะคนทุกคนย่อมมีเหตุและผลในการเปลี่ยนแปลงอะไรสักอย่างในชีวิต” อาจเป็นคำที่ใช้อธิบายความเป็น พอลลีน งามพริ้ง ในวันนี้ได้ดีที่สุด

เธอตัดสินใจลงสู่การเลือกตั้งระดับประเทศ สนามการต่อสู้ที่เธอบอกกับผู้เขียนว่า เป็นการเปลี่ยนแปลงในชีวิตที่ไม่เคยคิดฝันมาก่อน แต่มีเหตุและผลที่ตัดสินใจเลือกเดินบนเส้นทางนี้

 

อะไรคือเหตุผลที่คุณตัดสินใจลงสู่สนามการเมืองระดับประเทศ หลังเปลี่ยนแปลงตัวเองจากผู้ชายที่ชื่อ พินิจ มาเป็นผู้หญิงข้ามเพศที่ชื่อ พอลลีน?

เราไม่ได้มีความตั้งใจว่าจะกลับมาเมืองไทยเพื่อลงการเมืองค่ะ เรากลับมาเพื่อต้องการเปิดเผยตัวเองออกมาให้ทุกคนสบายใจ และตัวเองสบายใจ

 1

การเก็บอะไรไว้ข้างใน ไม่เป็นผลดีกับใครทั้งนั้นแหละ ตอนนี้เราจริงใจกับตัวเอง จริงใจกับทุกคนว่าเราเป็น “พอลลีน” ผู้หญิงข้ามเพศ ซึ่งเราหวังจะถ่ายทอดเรื่องราวของเรา ให้เป็นประโยชน์ต่อ ครอบครัว หรือผู้คนที่กำลังเจอปัญหา ในเรื่องของการไม่รู้จักตัวเอง ไม่มีความสุขในชีวิต ให้ยอมรับตัวเอง และยอมรับความแตกต่างของคนอื่นมากขึ้น

เราก็ใช้ชีวิตแบบผู้หญิงข้ามเพศธรรมดาคนหนึ่ง เป็นปกติ จนกระทั่งวันหนึ่ง พรรคมหาชน แสดงความสนใจ และได้ชักชวนให้เรา เข้ามาทำงานในพรรค ทั้งหลังบ้านและหน้าบ้าน (ตำแหน่งประธานยุทธศาสตร์พรรค) ไม่ใช่แค่เข้ามาเป็นผู้สมัครอย่างเดียว

ต้องยอมรับว่า ระยะเวลาค่อนข้างกระชั้นชิดมาก และตัวพอลลีนเอง ก็ไม่ได้มี Passion (แรงปรารถนา) อยากเป็นนักการเมืองมาตั้งแต่แรก แต่ Passion นี้ มันติดตัวเรามาจากบุคคลเก่า นั่นคือ คุณพินิจ งามพริ้ง ที่เขาทำงานการเมืองในวงการฟุตบอลมาอย่างเข้มข้น และก็ได้รู้จักกับนักการเมืองเยอะแยะ เพราะวงการฟุตบอล ก็เป็นภาพจำลองการเมืองไทยเหมือนกัน

ซึ่ง Passion นี้ มันอยู่ในตัวเราตอนที่เป็น ผู้ชาย พอเราเปลี่ยนมาเป็น ผู้หญิงข้ามเพศ ช่วงแรกเราไม่ได้คิดถึงเรื่องพวกนี้เลย แต่หลังจากนั้นเราเริ่มมีความคิดว่า เราอาจจะสามารถทำได้ดี เพราะเรามีความผสมผสานกันระหว่างชายและหญิง เราไม่เคยปฏิเสธว่า เราเคยเป็น ผู้ชาย มาก่อน

ด้วยความรู้ ประสบการณ์ต่างๆที่เราสั่งสมมา ตั้งแต่การเป็น ผู้บริหารบริษัทเอกชน, นักการตลาด, สื่อมวลชน ฯ ฉะนั้นทักษะต่างๆ ในการบริหาร การสื่อสาร เรามีอยู่แล้ว เพียงแต่เราเปลี่ยนรูปลักษณ์มาเป็น ผู้หญิงข้ามเพศ ก็น่าจะสามารถสร้างบรรทัดฐานใหม่ให้กับ วงการการเมืองไทย ได้รับรู้ว่า “ผู้หญิงข้ามเพศ ก็มีบทบาทที่สำคัญในบ้านเมืองได้”

 

มันเป็น Passion เดียวกับตอนที่ พินิจ งามพริ้ง กระโดดจากผู้นำกองเชียร์ มาลงสมัคร ท้าชิงตำแหน่งนายกสมาคมกีฬาฟุตบอลฯ หรือเปล่า?

คุณพินิจ เขามี Passion ที่อยากเห็นวงการฟุตบอลไทยพัฒนา ไอ้ความฝันอยากไปฟุตบอลโลก นั่นเป็นเรื่องรูปธรรม แต่นามธรรมคืออยากเห็น คนไทย ทำงานเป็นทีม สามัคคีกัน ในภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อไปสู่จุดมุ่งหมายเดียวกันในด้านฟุตบอล

วงการฟุตบอลไทย จึงเป็นภาพจำลองเล็กๆ ของการเมือง คุณพินิจ เขาพยายามทำตรงนั้น มาหลายสิบปี จนเส้นทางมาถึงจุดที่ต้องลงสมัครเป็น นายกสมาคมฟุตบอลฯ เพราะมองเห็นว่า สมาคมฯ ยังไม่มีแนวทางที่ถูกต้อง การทำงานยังเป็นแบบเช้าชาม เย็นชาม มีแค่แผนระยะสั้น ไม่มีแผนระยะยาว

คุณพินิจจึงร่าง แผนระยะยาว 10 ปี สำหรับการพัฒนาฟุตบอลไทย แต่สุดท้าย คุณพินิจ ก็ไม่ได้ทำ เพราะในตัวของพินิจ ก็มี พอลลีน ที่อยากเป็นตัวของตัวเอง

หาก พินิจ ได้รับเลือกให้เป็น นายกสมาคมฯ พินิจอาจไม่มีความสุขในชีวิตก็ได้ เพราะต้องทำงานเพื่อสังคมฟุตบอลเพียงอย่างเดียว เลยตัดสินใจขอถอนตัว (จากการสมัคร)  เพื่อให้เราได้เป็นตัวของตัวเองก่อน

โดยที่ไม่ได้คิดว่า จะกลับมาทำอะไรเกี่ยวกับวงการฟุตบอลอีก พอทุกอย่างมันสำเร็จ เราได้เป็นตัวของตัวเองแล้ว ก็คิดว่ามันคงถึงเวลาที่อาจต้องกลับไปทำตาม Passion เดิม ในสเกลที่ใหญ่ขึ้น อย่างการทำงานการเมืองระดับชาติ

 

ติดตามสถานการณ์บ้านเมืองมานานแค่ไหน ก่อนจะตัดสินใจลงสู่สนามเลือกตั้ง

ติดตามมาตั้งแต่เด็ก อาจมีแค่บางช่วงที่ไม่ได้ติดตามมาก เพราะว่ารู้สึกเบื่อหน่าย แต่มันก็หนีไม่พ้นอยู่แล้ว มันเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเรา ทั้งเรื่องการเมืองและฟุตบอล เรามีเพื่อนฝูงเป็นคนในวงการฟุตบอลทั้งนั้นเลย ก็ได้รับข้อมูลข่าวสารฟุตบอลมาโดยตลอด

ส่วนการเมือง เราเรียนจบด้านวารสารศาสตร์ เริ่มต้นทำงานเป็นนักหนังสือพิมพ์ ประกอบกับคุณพ่อ (ร.ต.ต.ธนู งามพริ้ง) เคยทำงานกับนักการเมืองด้วย ดังนั้น การเมือง จึงเป็นความสนใจมาตั้งแต่เด็ก เราชอบฟังข่าวการเมือง อ่านหนังสือพิมพ์ ตั้งแต่สมัยนายกฯ ธานินทร์ กรัยวิเชียร, เหตุการณ์ 6 ตุลาฯ  

จำได้ว่า ตอนมัธยมฯ เราไปนั่งฟังปราศรัยของทุกพรรคการเมืองที่ ท้องสนามหลวง พอเข้าช่วงมหา’ลัย ก็เป็นจังหวะการเมืองที่เข้มข้น ในรัฐบาลคุณชาติชาย ชุณหะวัณ ผ่านช่วงการปฏิวัติ, พฤษภาทมิฬ จนถึงทุกวันนี้ก็ยังติดตามการเมืองไทยมาโดยตลอด

 

คุณเคยเปรียบเทียบว่า พินิจ กับ พอลลีน เหมือนเป็นฝ่ายค้านกับฝ่ายรัฐบาลที่อยู่ในตัวคุณ ทั้ง พินิจ และ พอลลีน เขาช่วยส่งเสริมกันอย่างไร

คนทุกคนมันมีความคิดที่ 1 และความคิดที่ 2 อาจไม่ใช่ชายหรือหญิง  จริงๆ ในเชิงจิตวิทยา ทุกคนมีความคิดที่ 2 หมด ถ้าคนที่ไม่มีความคิดที่ 2 เลย ก็เท่าว่ากับคนๆนั้น คิดเอง เออเอง สรุปสุดโต่ง จนกระทั่งคนอื่นรับไม่ได้

 2

สำหรับ พอลลีน และ พินิจ เขาก็มีความคิดที่ 2 มาคานอยู่ตลอดเวลา อย่าง คุณพินิจ เขาก็มีความคิดแบบ พอลลีน ในเชิงผู้หญิงสอดแทรกเข้าไปบ้าง แต่มันก็ไปในแบบ Compromise (ประณีประนอม) กัน ในทุกๆการตัดสินใจ ที่ต้องมีสองด้านตลอด

ดังนั้นความคิดที่ 2 ของพอลลีนไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาดอะไร เป็นเรื่องธรรมชาติ แต่เราก็เข้าไปวิเคราะห์ วิจัย แยกออกมาว่า อันนี้เป็นความคิดเรา อันนี้เป็นความคิดพินิจ สุดท้ายจึงค่อยถูกนำเสนอออกมาในฐานะบุคคลคนๆหนึ่ง

ถ้าเป็นสมัยก่อน สิ่งที่ผู้คนเห็นเป็นการนำเสนอผ่านมุมของคุณพินิจ ปัจจุบันเราก็ยังทำเหมือนเดิมทุกอย่าง พอลลีน เวลาทำอะไรก็จะมี ความเป็นชาย แบบคุณพินิจ มาคานอยู่ เวลาทำแบบนี้ดีหรือไม่ดี ไม่ดีอย่างไร ดีอย่างไร? ถกเถียงกันภายในตัวของตัวเอง และนำเสนอออกมาในมุมของ พอลลีน

 

อะไรเป็นปัญหาใหญ่ของการเมืองไทย ที่ พอลลีน งามพริ้ง มองเห็น

ปัญหาของการเมืองไทยมันค่อนข้างซับซ้อนนะ มีเรื่องหนึ่ง ที่เป็นหัวใจสำคัญของปัญหา แต่เราไม่ค่อยพูดถึงกัน เรื่องของการที่เราไม่ยอมรับความจริง การที่เราคิดว่าตัวเราดีที่สุด หมายถึงว่า ประเทศไทยดีที่สุด จังหวัดนั้นดีที่สุด กลุ่มคนพวกนี้ดีที่สุด พวกเราดีที่สุด มาจนถึงตัวเราที่สุด  

นั่นก่อให้เกิดความรู้สึกเหยียดคนอื่น หรือความรู้สึกที่ทำให้สังคมมันเท่าเทียมกันไม่ได้ คนชั้นสูงก็จะเหยียดคนชั้นต่ำ คนชั้นต่ำ ก็มีความรู้สึกว่า คนชั้นสูง เอารัดเอาเปรียบ ทำให้เกิดสังคมที่ไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เพราะต่างคนต่างเหยียดกัน

ถ้าพูดถึงเรื่องความแตกต่างทางเพศ ความหลากหลายทางเพศ มันดูเป็นเรื่องที่กระจอก จิ๊บจ๊อยมากสำหรับประเทศไทย แต่ความจริง นี่คือแก่นแท้ของมนุษย์เลยนะ ในได้การเป็นตัวของตัวเอง และยอมรับความต่างของผู้อื่น แต่กลายเป็นว่าพอเราถกเถียงสู้ไมได้ ก็ใช้กำลังแก้ปัญหา หรือเหยียดอีกฝ่ายว่าเป็นคนที่โง่กว่า ด้อยกว่า นี่คือต้นตอของปัญหาทั้งหมด

ไอ้เรื่องนโยบาย วิธีการ เป็นเรื่องที่สามารถคิดขึ้นมาเพื่อหาทางออกได้หมด แต่ถ้าเราไม่แก้ปัญหาเรื่องความเท่าเทียมกันของมนุษย์ และยอมรับความแตกต่าง

สุดท้ายไม่ว่าจะแก้ยังไง มันก็ทะเลาะกัน ฉะนั้น พอลลีน คิดว่าหัวใจสำคัญของปัญหาการเมืองไทย คือการยอมรับในสิทธิและตัวตนของแต่ละคน แล้วสามารถพูดคุย เอาความเห็นที่แตกต่างมาถกกัน เพื่อหาจุดร่วมและข้อสรุป

แน่นอนว่าต้องมีคนตัดสิน ก็ให้ตัดสินด้วยการโหวตของประชาชน เพื่อเลือกคนที่จะเข้าไปทำหน้าที่บริหารงานในสภา ไม่ว่าผลโหวตออกมาจากเท่าไหร่ ทุกคนต้องยอมรับในผลตรงนั้น

สมมุติเราเป็นฝ่ายแพ้ ก็ต้องยอมรับความพ่ายแพ้ อดทน ทำหน้าที่คัดค้านในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง จบวาระจึงค่อยมาเลือกตั้งใหม่ ไม่ใช่พามวลชนออกไปสู้กันบนท้องถนน พอลลีนไม่เห็นด้วย ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายไหนก็ตาม  

ส่วนตัว พอลลีน ไม่ชอบเห็นคนไทยไม่อดทน คนไทยควรต้องอดทนและมีน้ำใจนักกีฬา เพราะน้ำใจนักกีฬาเป็นเรื่องสำคัญ ในทุกวงการ การเมืองก็เช่นกัน พรรคการเมืองที่ได้เสียงข้างน้อย ต้องยอมรับให้ได้ก่อนว่า เราแพ้  เพื่อไปปรับปรุง พัฒนา เดินไปสู่จุดที่เราจะดีขึ้นกว่าเดิม หาวิธีการต่อสู้ในการเลือกตั้งครั้งต่อไป อาจจะเสมอหรือชนะก็ได้

ถ้าฝ่ายที่ได้เสียงข้างมากทำหน้าที่ ไม่ดี เขาทำพลาด เขาก็อยู่ไม่ได้  แต่ถ้าเขาไม่พลาด เราก็ต้องสามารถบอกประชาชนได้ว่า เรามีอะไรที่ดีกว่านั้น ไม่ใช่ไม่ยอมรับความพ่ายแพ้ แล้วไปต่อสู้ด้วยความรุนแรง อันนี้เป็นปัญหาใหญ่ของระบอบประชาธิปไตยไทย

 

กีฬาเหมือนกับการเมืองอย่างไร

จริงๆ กีฬาทุกประเภท มันมีจุดมุ่งหมายเพื่อหล่อหลอมคน ทั้ง ผู้ชม, ผู้เล่น และผู้จัดการทีม ให้มีการเตรียมความพร้อม การฝึกซ้อม โอเคว่า พรสวรรค์อาจเป็นส่วนหนึ่ง แต่ถ้ามีพรสวรรค์ ไม่มีความฝัน ไม่วางแผน ไม่เตรียมการฝึกซ้อม ก็ไปสู้ใครเขาไม่ได้

มันก็เหมือนกับ การเมือง ตรงที่เราต้องมีความฝัน มีเป้าหมายก่อน จากนั้นจึงค่อยสร้างแผนการที่เป็นระบบ และพยายามทำเพื่อไปให้ถึงเป้าหมายนั้น

สำหรับกีฬาถ้าเรามองทุกอย่างเป็นระบบแบบนี้ มีเหตุและปัจจัย เพื่อไปสู่จุดนั้น เราก็จะสามารถพัฒนาวงการกีฬาได้อย่างมีความสุข ไม่ใช่มุ่งเน้นแต่ชัยชนะอย่างเดียว พอลลีน มองว่ากีฬาไม่ได้มีไว้เพื่อชนะเท่านั้น กีฬา แต่มีไว้เพื่อฝึกฝนตัวเอง พัฒนาตัวเองคะ  

ถ้าแพ้ ก็ไปพัฒนาให้ตัวเองกลับมาชนะ ถ้าชนะก็รักษามาตรฐานเพื่อให้ตัวเองชนะต่อๆไป มีคำพูดหนึ่งที่ พอลลีน ชอบมาก “ความพ่ายแพ้ เป็นสถานะชั่วคราว แต่การยอมแพ้เป็นสถานะถาวร”

เวลาฟุตบอลไทย หรือกีฬาไทยแพ้ มันเป็นแค่สถานะชั่วคราวเท่านั้นเอง แต่เราต้องไม่ยอมแพ้ให้กับความอ่อนด้อยของตัวเอง ความห่วยของตัวเอง ต้องปรับปรุงให้ไปสู่จุดที่ดีขึ้น นี่คือหัวใจของการพัฒนา เช่นเดียวกันกับการเมือง ก่อนคิดถึงเรื่องชนะ เราต้องยอมรับความพ่ายแพ้ให้เป็นก่อน

 

ตอนที่คุณก่อตั้งกลุ่ม เชียร์ไทย พาวเวอร์ ในวันนั้น สนามฟุตบอล ยังไม่เคยมี กลุ่มก้อนกองเชียร์ทีมชาติ มาก่อน มันให้ความรู้สึกเดียวกับ ตอนที่มาทำพรรคการเมือง เพื่อเรียกร้องความเท่าเทียม และเป็นปากเสียงให้ กลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ ในการเมืองระดับชาติ หรือไม่?

พอลลีน ชอบทำในสิ่งใหม่ๆ ที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน อย่างเรื่องเชียร์ไทย พาวเวอร์ เมื่อ 17-18 ปีที่แล้ว มันมองไม่เห็นภาพเลยว่าหน้าตาจะออกมาเป็นอย่างไร เรามีแค่ความเชื่อที่ว่า ถ้าอยากพัฒนาวงการฟุตบอล ต้องเริ่มต้นจากคนดู เพราะฟุตบอลจะเตะไปทำไม ถ้าไม่มีคนดู และฟุตบอลจะเติบโตขึ้นได้ ก็ต้องมีเม็ดเงินจากคนที่เสียเงินซื้อตั๋วเข้าไปดู

 3

นั่นคือเหตุผลที่เริ่มต้นทำกลุ่ม เชียร์ไทย พาวเวอร์ จากคน 4-5 คน เพิ่มขึ้นมาเรื่อยๆเป็น 10 คน 100 คน 1,000 คน 10,000 คน แต่ว่าเราก็อดทนกับมัน ในช่วงแรก ไม่ได้สวยหรูอย่างที่ทุกคนเห็น ถูกคนสบประมาท ดูถูก หาว่าอยากดัง สร้างกระแส เราก็ต้องอดทนกับเรื่องพวกนี้ ไม่ได้สนใจความคิดเห็นที่ไม่เป็นประโยชน์ เพราะเรารู้ว่าเป้าหมายของกลุ่มเราคืออะไร

สาเหตุที่กลุ่มเชียร์ไทย พาวเวอร์ ประสบความสำเร็จ เพราะเรามีความอดทน และการที่มีผู้คนหนุนหลังเรา เพราะความคิดเราหนักแน่น ไม่มีใครมาเปลี่ยนอุดมการณ์เราได้ พอความคิดเราหนักแน่น คนที่ตามหลังเรา คนที่ช่วยเหลือเรา เขาก็พลอยอุ่นใจไปด้วย นี่เป็นสิ่งสำคัญ

เรารู้ว่า สักวันหนึ่ง กลุ่มเชียร์ไทยฯ จะต้องประสบความสำเร็จในอนาคต แต่ระหว่างทางที่เดิน เราไม่รู้หรอกว่าวันข้างหน้าต้องเจออะไรบ้าง ความสำเร็จจะมาถึงวันไหน  ถามว่าเหนื่อยกับมันไหม? เหนื่อย กังวลไหม? กังวล แต่เรารู้ว่ามันสำเร็จได้แน่ๆ เพราะเราจะไม่มีทางล้มเลิกค่ะ

การเมืองก็อาจจะคล้ายๆกันอยู่บ้าง จริงๆ ในบ้านเรา มีกลุ่มคนที่เคลื่อนไหว และองค์กร ที่เรียกร้อง สิทธิ ความเท่าเทียม ของกลุ่มคนมีความหลากหลายทางเพศ มี และทำมาสักระยะแล้ว เพียงแต่มันยังไม่มี คนที่เข้าทำงานอยู่ในส่วนของการออกกฏหมาย การบริหาร ดังนั้น พอลลีน มองว่ามันสามารถดีขึ้นได้ หากมีกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศเข้าไปอยู่จุดนั้น

พอลลีน ไม่ได้ต่อสู้เพื่อตัวเอง และไม่ได้สู้แค่เพื่อผู้หญิงข้ามเพศ ผู้ชายข้ามเพศ เกย์ กะเทย ทอม ตุ๊ด ในวันนี้เท่านั้น แต่ พอลลีน กำลังต่อสู้เพื่อลูกหลานของพวกคุณทุกคน

เพราะใครจะไปรู้ว่าวันหนึ่งลูกหลานในครอบครัวเรา จะกลายเป็นคนที่มีความหลากหลายทางเพศ หรือคนที่อยากมีอิสระในการเลือกวิถีชีวิตของตัวเอง แต่เขาต้องถูกกดจากสังคมอยู่

การต่อสู้ของเราอาจไม่สำเร็จในวันนี้ แต่ถ้าเราเริ่มต่อสู้ตั้งแต่วันนี้ คนที่จะได้รับประโยชน์ คือคนรุ่นหลังในอนาคต ถ้าในมุมของคนที่มองเห็นแต่ตัวเอง ก็อาจไม่เข้าใจ ไม่ชอบคนพวกนี้ ไม่อยากให้เกิดขึ้น โดยที่คุณไม่มีวันรู้เลยว่า วันหนึ่งลูกหลานเหลนโหลนคุณ อาจกำลังประสบปัญหาเหล่านี้ในชีวิตอยู่ก็ได้

 

เพราะคุณเคยเป็นคนหนึ่งที่ถูกกดโดยสังคมมาตั้งแต่เด็ก และไม่สามารถเปิดเผยตัวเองออกมาได้

ใช่ มันก็มีปัญหาในแต่ละยุค อย่างรุ่นเราก็จะเจอปัญหาเรื่องหนึ่ง ส่วนเด็กในเจเนอเรชั่นใหม่ อาจเจอปัญหาน้อยลง แต่เขาก็มีปัญหาเรื่องอื่นที่ตามมา เพราะฉะนั้นถ้าเราไม่เริ่มทำเพื่อเขา สักวันหนึ่งเขาก็ต้องวกกลับมาเจอปัญหาชีวิตในแบบที่เราเคยเจอ

 

มีโอกาสได้เจอกับ บังยี - วรวีร์ มะกูดี รองหัวหน้าพรรคประชาชาติ อดีตผู้ท้าชิงเก้าอี้นายกฯ ในเวลานั้นบ้างยังครับ

เจอแล้ว เจอวันที่พาผู้สมัครไปเลือกหมายเลข ก็มีคนสะกิดให้เห็น แต่ว่ายังไม่ได้มีจังหวะคุยกัน เพราะเราก็ยุ่งในเรื่องการเตรียมตัวผู้สมัครเรา ท่านก็มากับผู้สมัครพรรคท่าน

 

หลายคน ยังจดจำภาพการต่อสู้ที่แข็งกร้าว สุขุม หนักแน่นในคำพูดของ พินิจ งามพริ้ง ได้ดี แต่นึกไม่ออกว่า ภาพการต่อสู้เพื่อสังคมในแบบของ พอลลีน งามพริ้ง จะออกมาในลักษณะไหน?

ก็เหมือนเดิม เพียงแต่หน้าตาสวยขึ้น (ยิ้ม) เสียงยังเป็นแบบนี้ แต่การพูดจา อาจนุ่มนวลกว่าเดิม ในบางช่วง พอลลีน คิดว่า คุณลักษณะของความเป็นคนที่เด็ดเดี่ยว แน่วแน่ และคุณภาพของพินิจ ก็ยังคงอยู่ในตัวพอลลีน เหมือนเดิม เปลี่ยนแปลงแค่ชีวิตส่วนตัว และรูปลักษณ์ภายนอกเท่านั้นเอง

มันเหมือนเป็นการผสมผสานระหว่าง พินิจ กับ พอลลีน อยู่ในตัวคนๆเดียวกัน ดีกว่าเดิมเสียอีก เพราะว่ามันมีผู้ชายคนหนึ่งอยู่ในตัวเรา และพอลลีนก็เป็นผู้หญิงข้ามเพศ ที่สามารถนำเสนอความคิดเหล่านั้นออกมาได้

 

คุณห่างจากสนามบอลไปนานแค่ไหน และความรู้สึกที่ได้กลับมาเชียร์ทีมชาติไทย ที่สนามอีกครั้ง

พอลลีน ห่างจากสนามฟุตบอลจริงๆ ประมาณ 3 ปีกว่า ไปเปิดร้านอาหารอยู่ที่ ต่างจังหวัด ก่อนไปใช้ชีวิตที่ อเมริกาฯ มันก็เป็นช่วงเวลาแค่แป๊ปเดียวเองนะ จากคนที่เคยเข้าสนามฟุตบอลไม่เคยขาดตลอด 20 กว่าปี

วันที่ได้กลับเข้ามาสนามฟุตบอลอีกครั้ง ทุกอย่างยังเหมือนกับเมื่อก่อน สนามราชมังฯ ก็ยังเหมือนเดิม ไม่ได้มีการปรับปรุงแต่อย่างใด รถติดเหมือนเดิม กว่าจะเดินทางไปถึงสนามใช้เวลา 3-4 ชั่วโมง

ผู้คนในกลุ่มเชียร์ไทยฯ ยังให้การต้อนรับ พอลลีน เหมือนเดิม แค่เปลี่ยนสรรพนามจากที่เคยเรียกว่า “พี่พินิจ พี่ป้อ” มาเป็น “มาดาม, พี่พอลลีน, เจ๊พอลลีน” นอกนั้นทุกอย่างเหมือนเดิม เรายังกอดคอร้องเพลงเชียร์ฟุตบอล ยกมือไหว้กันเหมือนเดิม

 

วงการฟุตบอลไทยเปลี่ยนแปลงไปมากไหม ในความคิดของคุณ?

ก็ยังไม่เยอะ มีการเปลี่ยนแปลงทีมงานบริหารสมาคมฯ เป็นชุดใหม่ ดูเหมือนจะเปลี่ยนแปลงเยอะ เพราะว่ามีออฟฟิศใหม่ มีการจัดการองค์กรที่ดีขึ้น มีทีมงานที่เป็นคนรุ่นใหม่มากขึ้น เอาระบบออนไลน์มาใช้มากขึ้น แต่มันก็ยังต้องใช้เวลา ใช้องค์ประกอบอื่นๆ อีกเยอะ

บ้านเรามักมีข้อเสียอย่างหนึ่ง คนที่เก่งๆมีเยอะ แต่มักถูกกด โดยคนที่มีเงินมากกว่ามีอำนาจมากกว่า มียศฐาบรรดาศักดิ์ 

ทำไมคนที่เก่ง Technician (ทำงานด้านเทคนิค) ในสาขาวิชาชีพบ้านเรา ถึงไม่เจริญเติบโตในหน้าที่การทำงาน? เพราะเขาจะต้องเจอไอ้คนที่พูดเก่งกว่า คนที่มันเป็น ผู้จัดการ ผู้อำนวยการ ที่พยายามกดคนที่ทำงานด้าน Technician หรือคนที่เก่งเอาไว้

 

มันก็ย้อนกลับไป คำพูดเดิมที่คุณบอกว่า คนทุกคนควรต้องเปิดเผยตัวเอง และยอมรับซึ่งกันและกัน

ถูกต้อง ถ้าวันหนึ่งมีคนมาบอกว่า “ฉันอยากเป็นช่างซ่อมเครื่องบินที่เก่งสุดในโลก” “ฉันอยากเป็นมอเตอร์ไซค์รับจ้างที่บริการดีที่สุด มารยาทดีที่สุด รู้จักเส้นทางดีที่สุดในโลก” ก็คงมีแต่คนหัวเราะเขา นั่นเพราะเราไม่ยอมรับผู้อื่นที่แตกต่างจากเรา คิดแค่ว่าคนที่ประสบความสำเร็จ คือคนที่ร่ำรวย ต้องเป็นเจ้าคนนายคน เท่านั้น

 4

เราจึงไม่มี มีคนที่ฝันอยากเป็น ช่างทาสีที่เก่งสุดในประเทศ, นักเก็บขยะและรีไซเคิล ที่เร็วและดีสุด เพราะคนที่ทำงานมาเมื่อถึงจุดหนึ่งก็อยากเป็น ผู้จัดการ, เจ้าของธุรกิจ, ผู้บริหาร อยากจะเป็นแต่เจ้านาย แต่ความหลงใหลในอาชีพ หรือ Passion ที่อยากเป็นสุดยอดในอาชีพตัวเอง มันไม่มี

เรื่องพวกนี้มันอยู่ในทุกวงการเลยนะ แต่ไม่เคยมีการนำเอามาคิด วิเคราะห์ หาวิธีการแก้ไข เราจึงเห็นว่า เจ้าหน้าที่ของรัฐ ก็อยากเป็น นักธุรกิจ เพราะอยากจะร่ำรวย ตำรวจที่อยากร่ำรวย ก็จะทำตัวเป็นนักธุรกิจ ไม่ได้ทำหน้าที่ดูแลความสงบเรียบร้อยของประชาชน

เพราะเป้าหมายในวิชาชีพ กลายเป็นการกอบโกยจากผู้อื่น มากกว่าจะเป็นผู้ให้ออกไป คนเหล่านั้น อยากจะร่ำรวย เติบโต เป็นเจ้านาย ในวิชาชีพ แต่มันไม่ได้มาจากเนื้องานจริงๆ

 

การที่คุณเป็นบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ และผ่านประสบการณ์การทำงานในหลายๆ บทบาท เป็นส่วนที่ช่วยให้คุณ สามารถเข้าใจคนได้ในวงกว้างมากขึ้นไหม

เราก็เข้าใจนะ แต่ไม่ถึงกับรู้หมดทุกเรื่อง ในทุกวันของชีวิต เรายังต้องศึกษาเพิ่มเติมอยู่ตลอด เพราะคนๆหนึ่งไม่มีทางเหมือนกับอีกคนแบบร้อยเปอร์เซนต์ ถึงแม้จะเป็นเพศเดียวกัน เกย์เหมือนกัน กะเทยเหมือนกัน แต่รายละเอียดปลีกย่อยนั้น ไม่มีทางเหมือนกัน

เราอาจเข้าใจผู้หญิง เข้าใจผู้ชาย เพราะเราเป็นมาทั้งสองอย่าง พินิจ เป็นคนที่มีบุคลิกเข้มแข็ง แบบที่หลายคนเห็น เขาก็ไม่เคยแสดงออกว่า ตัวเองก้ำกึ่งเป็นแต๋วนะ แต่พอเป็น พอลลีน พอลลีนก็แต๋ว (หัวเราะ) แต่ถึงอย่างไรเราก็ยังมีความเป็น พินิจ อยู่ในตัว ดังนั้นทุกคนมีความต่างกันอยู่แล้ว

เพียงแต่เราเข้าใจความน่าเห็นใจของผู้หญิง อย่างก่อนมาให้สัมภาษณ์กับคุณ เรายังต้องแต่งหน้า ทำผม ห่วงสวย ในขณะที่ พินิจ ไม่ได้สนใจเลย ใส่เสื้อยืด กางเกงยีนส์ แจ๊กเกตทับ แล้วออกจากบ้านได้เลย แต่ ผู้ชาย ก็มีความยากลำบากอีกแบบหนึ่ง ต้องหาเลี้ยงครอบครัว ต้องทำเป็นแมนตลอดเวลา ไม่ให้ใครมาดูถูกศักดิ์ศรีได้

รวมถึงผู้หญิงข้ามเพศ ผู้ชายข้ามเพศ เกย์ เลสเบี้ยน ก็จะมีความน่าเห็นใจอีกแบบหนึ่งที่เราเข้าใจ รวมถึงเห็นข้อดี ข้อด้อย ของแต่ละเพศ จากที่เราศึกษาและเข้าใจพวกเขา แต่ถ้าลึกลงไปในรายละเอียด เฉพาะบุคคล ต้องเรียนรู้กันอีกเยอะค่ะ

หลายคนอาจสงสัยว่า ทำไม พอลลีน เพิ่งจะมาข้ามเพศเอาตอนอายุ 50 ปี เพราะว่าทุกคนเผชิญกับสถานการณ์ที่ไม่เหมือนกัน ไม่งั้นก็ไม่เป็น พอลลีน ไง

อาจจะเป็นสาวประเภทสองคนหนึ่ง ที่ไปประกวดมิสทิฟฟานี ถ้าเป็นตั้งแต่ตอนนั้น ชีวิตเราก็คงเป็นอีกแบบ แต่เพราะเราเป็นในช่วงวัยนี้ เราจึงเป็น พอลลีน ที่คุณเห็นกันอย่างทุกวันนี้  

 

มีคนเคยกล่าวไว้ว่า การเมืองไทย เหมือนการแข่งขันระหว่างพรรคใหญ่แค่ไม่กี่พรรคเท่านั้นที่มีลุ้นแชมป์ พรรคมหาชน อาจเปรียบเหมือยกับสโมสรเล็กๆ ที่เป็นรองสโมสรใหญ่ๆ ในหลายๆด้าน คิดว่ากลยุทธ์อะไรที่ทำให้ พรรคคุณชนะพรรคใหญ่ได้

ไม่รู้เหมือนกัน (หัวเราะ) อาจเพราะเราเป็นนักสู้มั้ง การได้มาอยู่พรรคมหาชน เราได้เป็นคนที่ช่วยกำหนดนโยบาย ได้ทำงานเบื้องหลัง เบื้องหน้า ไม่ใช่แค่ลงสมัคร สวยๆ แล้วเดินหาเสียง ทุกวันนี้ยังไม่มีเวลาเดินหาเสียงเลย เพราะต้องเตรียมการหลายอย่างมาก เราก็คงต้องออกไปเดินหาเสียงด้วย เพราะพรรคเรามีขนาดเล็ก

แต่ว่ามันได้เรียนรู้ทุกอย่าง ที่พรรคการเมืองหนึ่งต้องทำ เราก็จะได้เรียนรู้และมีพื้นฐาน ในการทำครั้งต่อๆไป เหมือนกับ พอลลีน ได้รู้จักวงการฟุตบอล จนเข้าใจโครงสร้าง กระบวนการในการพัฒนาฟุตบอล ก็เพราะพอลลีนมาจากคนที่เป็นระดับกองเชียร์ เราเข้าใจความรู้สึก ความต้องการของคนดู

ดังนั้นแค่หลับตา เราเห็นภาพเลยว่า มันมีภาคส่วนไหนที่เกี่ยวข้องกับ ฟุตบอล บ้าง เพราะเราเริ่มต้นทำจากรากฐานของเรื่องนั้นจริงๆ เช่นกันกับ งานการเมือง พอลลีน ได้ลงมาทำตั้งแต่รากฐานในการหาสมาชิก จัดทำนโยบาย และเตรียมการในทุกๆอย่างด้วยตัวเอง มันก็เลยสนุกกับเส้นทางที่เลือกเดิน

ส่วนผลการเลือกตั้งจะได้เสียงมากน้อยแค่ไหน พอลลีน ก็คิดเหมือนกับกีฬานั่นแหละค่ะ ทุกคนอยากเป็นผู้ชนะ แต่เราก็ต้องรู้จักแพ้ให้เป็น เพราะโลกไม่ได้สิ้นสุดแค่ตรงนั้น วันนี้พรรคมหาชน อาจได้ที่นั่งไม่มาก แต่วันข้างหน้า เราอาจเป็นพรรคที่ใหญ่ก็ได้ อาจจะลงแข่งเพื่อเป็น นายกรัฐมนตรี จริงๆก็ได้

 

การเมืองไทย ในอุดมคติของ พอลลีน งามพริ้ง และสิ่งที่เห็น ความเปลี่ยนแปลงในสังคมไทย

ถ้าพูดถึงอุดมคติ คือความสมบูรณ์แบบ ในโลกนี้มีความสมบูรณ์แบบไหม? คำตอบคือ ไม่มี เพราะนั่นคืออุดมคติ แต่ถ้าเราไม่นึกถึง สังคมอุดมคติ เราก็ไม่มีทางจะเข้าใกล้เคียงกับความสมบูรณ์สังคมก็มีแต่จะทรุดลง ทรุดลง

 5

สังคมอุดมคติของ พอลลีน คือสังคมที่มีความเท่าเทียมกัน ในความเท่ากันนี้ อาจมีความเหลื่อมล้ำบ้างนิดหน่อย แต่ต้องไม่ใช่แบบฟ้ากับเหว มันต้องอยู่ในระดับที่พอเหมาะ พอควร มีต้นทุนมนุษย์ที่เท่ากัน ไม่ใช่เกิดมาในตระกูลนี้ ต้องถูกเหยียบย่ำไปตลอดชีวิต

ทุกคนเกิดมาต้องเท่ากัน แต่ใครจะดีกว่ากัน ขึ้นอยู่กับความรู้ ความสามารถ ความพยายามที่จะพัฒนาตนเอง ความเหลื่อมล้ำมันก็จะลดลง

อันนี้คืออุดมคติที่ พอลลีน จะนำเสนอ ทำให้มันเกิดขึ้นให้ได้ ถ้าไม่เกิดขึ้นในวันนี้ ก็ต้องเกิดขึ้นในวันหน้า ถ้าวันหน้าไม่เกิดขึ้น ก็หวังว่ามันจะจุดประกายให้ลูกหลานเรา มาสู้ต่อไป เพราะฉะนั้นมันอยู่ที่ว่าเราจะเลือกส่งมอบอะไรให้ลูกหลานของเราในเจเนอเรชั่นถัดไป

อัลบั้มภาพ 5 ภาพ

อัลบั้มภาพ 5 ภาพ ของ "พอลลีน งามพริ้ง" : ฟุตบอลไทยคือภาพจำลองการเมือง ถ้าไม่เท่าเทียมก็ไม่พัฒนา

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook