"อาณัติ พ่วงลา" : จอมยัดห่วงไทยที่เล่นบาสฯอาชีพเพื่อตามหาพ่อบังเกิดเกล้า

"อาณัติ พ่วงลา" : จอมยัดห่วงไทยที่เล่นบาสฯอาชีพเพื่อตามหาพ่อบังเกิดเกล้า

"อาณัติ พ่วงลา" : จอมยัดห่วงไทยที่เล่นบาสฯอาชีพเพื่อตามหาพ่อบังเกิดเกล้า
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

คุณๆ ทั้งหลายเคยถามตัวเองบ้างหรือไม่ว่า สิ่งที่เราทำอยู่ในทุกวันนี้ ทำเพราะสาเหตุอะไร?

บางคนก็ทำตามความฝัน บางคนก็ทำเพื่อความมั่งคั่ง และอีกหลายคนก็ทำเพื่อครอบครัวและคนที่รัก

สำหรับ “เหยา” อาณัติ พ่วงลา นักบาสเกตบอลดีกรีทีมชาติไทยของสโมสร โมโน แวมไพร์ คำนิยามที่สั้นและดูจะตรงกับเรื่องราวกว่าที่เขาจะมาถึงวันนี้มากที่สุด คงเป็นคำว่า “กตัญญู” ต่อผู้มีพระคุณ

 

ไม่เพียงเท่านั้น การที่เขาสามารถพัฒนาฝีมือจนได้เล่นในระดับอาชีพ และติดทีมชาติ ยังถือเป็นความหวังในการตามหาสมาชิกคนสำคัญของครอบครัวอีกหนึ่งคน ซึ่งตัวเขาไม่เคยพบหน้ากับตัวเองมาก่อนเลยทั้งชีวิตอีกด้วย

จากลูกหวายสู่ลูกบาส

แม้เหยาจะมีฝีมืออย่างที่เรากล่าวไปข้างต้น แต่หลายคนคงไม่เชื่อในสิ่งที่เจ้าตัวพูดจากปากให้ทีมงาน Main Stand ฟังแน่ๆ ว่า สมัยเด็กๆ ตัวเขาเล่นกีฬาอีกประเภทหนึ่ง และไม่เคยรู้จักกับกีฬาที่เรียกว่า บาสเกตบอล มาก่อนเลยด้วยซ้ำ

 1

“ตอนเด็กๆ ผมก็เด็กบ้านนอก เด็กเลี้ยงควายเลยครับ อยู่ที่ อำเภอบ้านดุง จังหวัดอุดรธานี พออายุประมาณ 10 ขวบก็เห็นพี่ๆ แถวบ้านเขาเตะตะกร้อ เลยเอามาเดาะๆ ไปเรื่อยๆ แล้วก็พัฒนามาเรื่อยๆ พอเล่นได้เก่ง ผมก็เริ่มไม่เรียนละ ไปเตะตะกร้อกินตังค์กับพวกพี่ๆ ได้เงินมา 5 บาท 10 บาทซื้อขนม จนกระทั่งมีอาจารย์ที่ โรงเรียนบ้านศรีเมือง ในอำเภอบ้านดุง สนใจ เรียกเราไปติดทีมโรงเรียนสมัย ม.ต้น ก็ไปแข่งจนได้แชมป์ระดับจังหวัด”

ทว่าจุดเปลี่ยนแรกของชีวิตก็มาถึงในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อระหว่างชั้นมัธยมต้นกับมัธยมปลาย ซึ่งนอกจากจะนำมาซึ่งการย้ายโรงเรียนแล้ว ยังนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในชีวิต เมื่อจุดเด่นทางกายภาพที่ติดตัวมาตั้งแต่เกิด ทำให้ตัวเหยาได้รู้จักกับกีฬาที่จะเปลี่ยนชีวิตเขาไปตลอดกาล ทั้งๆ ที่ไม่เคยรู้จักกับมันมาก่อนเลยด้วยซ้ำ

“โรงเรียนที่ผมเรียนอยู่เป็นโรงเรียนขยายโอกาส ซึ่งสุดแค่ชั้น ม.3 ทางบ้านผมไม่มีเงินส่งเรียนต่อชั้น ม.ปลายละ ผมก็เริ่มตัดใจ แต่เวลานั้นเองก็มีอาจารย์จากโรงเรียนต่างๆ มาติดต่อ อยากให้เราไปเป็นนักเรียนโควต้านักกีฬาถึง 4 ชนิด วอลเลย์บอล ฟุตบอล ตะกร้อ บาสเกตบอล” เหยาเริ่มเล่าถึงจุดเปลี่ยนแรกของชีวิต

“ตอนแรกเราก็มองไปที่วอลเลย์บอล เพราะด้วยความสูงของผมก็ถือว่าเล่นได้อยู่ แต่มาเจอจุดเปลี่ยนตรงที่โค้ชตะกร้อที่เคยสอนผมไปเจอกับ อาจารย์ กมล มงคลสิริสมบัติ โค้ชบาสเกตบอลของ โรงเรียนอุดรพิชัยรักษ์พิทยา ในอำเภอเมือง ชุดที่ไปแข่งขันกีฬานักเรียนนักศึกษารุ่นอายุไม่เกิน 18 ปี ซึ่งรายการนั้นผมไม่ได้ไปแข่งด้วยเนื่องจากอายุยังไม่ถึงเกณฑ์ (ขณะนั้นเหยาอายุ 16 ปี) ทีนี้ มีคนนึงในทีมสูง 2 เมตร พอโค้ชตะกร้อผมเห็นก็พูดเลยว่า ‘สูงแบบนี้เด็กผมก็มี’”

“พอได้ยินแบบนี้ ทาง อ.กมล ก็ขอเบอร์ของผม แล้วก็โทรมา ผมก็บอกเล่าเรื่องราวไปแล้วก็บอกด้วยว่า ตอนนี้ผมไม่มีเงินเรียนนะ ทีนี้อาจารย์ท่านมาหาผมถึงบ้านเลย มาขอตัวผมกับคุณตาคุณยาย จะส่งเสียเรื่องการเรียนให้ ขอแค่อย่างเดียวคือ มาเล่นบาสเกตบอล”

เรียนรู้ใหม่หมด

แม้จะเป็นเรื่องดีอย่างไม่ต้องสงสัย แต่การได้เรียนต่อในระดับ ม.ปลาย ก็นำมาซึ่งปัญหาใหญ่ในชีวิตการเป็นนักกีฬาของเหยาด้วยเช่นกัน เพราะเด็กบ้านนอกอย่างเขา ไม่รู้เสียด้วยซ้ำว่า กีฬาบาสเกตบอลคืออะไร และต้องเล่นอย่างไร

 2

“การเปลี่ยนกีฬาที่เล่น มันทำให้เราต้องเรียนรู้ใหม่หมดเลย” เหยาเริ่มเล่า “แต่มันก็มีข้อดีอยู่นะครับ คือคนที่ไม่เป็นเนี่ย อาจจะไม่เคยรู้จักมันมาก่อนก็จริง แต่ตอนเรียนรู้เวลามีใครจับอะไรใส่หัวเนี่ย มันจะเข้าหัวอย่างรวดเร็ว ผมใช้เวลาจากที่เล่นบาสไม่เป็นเลยจนเป็นในเวลาเพียง 6 เดือน แล้วก็ได้ไปแข่งรายการแรก แต่รายการนั้นผมก็ยังไม่ได้มีบทบาทมาก ก็เพียงคอยรีบาวด์ใต้แป้น เพราะว่าผมตัวสูง เลยโดนจับเล่นตำแหน่งเซนเตอร์เลยตอนนั้น”

แม้ชั่วโมงบินของเหยาจะมีเพียงไม่นาน แต่ด้วยความใฝ่รู้ ขยัน บวกกับเจอคู่หูที่ดี ทีมโรงเรียนอุดรพิชัยรักษ์พิทยา จึงทะยานสู่ความสำเร็จอย่างที่ไม่มีใครคาดถึง

 3

“พอได้ติดทีมโรงเรียน ได้ไปแข่ง มันก็พัฒนาขึ้นมาเรื่อยๆ ตอนปีแรก ม.4 นี่ยังไม่ประสบความสำเร็จอะไรนะ แต่พอขึ้น ม.5 ตั้งแต่รายการแรกที่แข่ง จนถึง ม.6 รายการสุดท้าย โรงเรียนผมชนะรายการในภาคอีสานหมดเลย ตอนนั้นโรงเรียนผมมีคู่แฝด (ปริ้น - มนัสวี และ ปาย - มนัสกวิน บุตรด้วง ปัจจุบันเล่นให้ทีม SWU ทั้งคู่) เราสามคนเล่นด้วยกัน และนำความสำเร็จมาให้กับโรงเรียนร่วมกัน”

“รายการที่ภูมิใจที่สุดก็คือ เหรียญเงินกีฬาเยาวชนแห่งชาติ ซึ่งรอบรองชนะเลิศเนี่ย จังหวัดผมชนะกรุงเทพมหานครหลังต่อเวลา 3 หน ก่อนไปแพ้นนทบุรีในรอบชิง กับกีฬาแห่งชาติ ซึ่งตอนนั้นพวกผมอายุแค่ 17 ปีเอง แบกอายุไปสู้จนได้เหรียญทองแดง ซึ่งเป็นเหรียญแรกของจังหวัดในกีฬานี้รอบ 50 ปี”

 4

นอกจากความสำเร็จที่หลั่งไหลเข้ามาไม่หยุดหย่อน การเปลี่ยนมาเล่นบาสเกตบอลยังทำให้เจ้าตัวได้สิ่งใหม่มาประดับตัวเพิ่มอีกอย่าง … ชื่อเล่นใหม่ “เหยา” อย่างที่ใช้ในปัจจุบัน แต่มันมาได้อย่างไรกันล่ะ?

“จริงๆ ชื่อเล่นซึ่งที่บ้านตั้งให้มาตั้งแต่เกิดชื่อ นัท ครับ … ส่วนชื่อ เหยา เนี่ย ได้มาตอน ม.4 ก็ตอนที่ผมไปแข่งนี่แหละ อยู่ๆ คนพากย์เขาก็พูดขึ้นมาว่า คนนี้ตัวสูงๆ หน้าเหมือน เหยา หมิง ก็เลยเรียก ‘เหยารีบาวด์อย่างนู้น รับบอลอย่างนี้’ ทีนี้ทั้งสนาม รวมถึงกรรมการก็เรียกตาม และก็เรียกกันติดปากมาตั้งแต่นั้นเลยครับ”

สู่เส้นทางอาชีพ

สำหรับนักกีฬาไทยส่วนใหญ่ หลังจบการศึกษาชั้นมัธยม ก็มักจะเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัยพร้อมเริ่มต้นเส้นทางในระดับอาชีพไปพร้อมกัน ซึ่งเหยาก็เป็นหนึ่งในนั้น แต่เรื่องราวระหว่างเส้นทางนั้นกลับไม่ราบรื่นเหมือนกับคนอื่นๆ ทั่วไป

 5

“ตอนผมจบ ม.6 นี่ยังไม่ได้เข้ากรุงเทพทันทีนะ เพราะว่าอาจารย์ที่พาผมมาเรียน ม.ปลาย ส่งผมเรียนต่อไม่ไหวละ การเรียนมหาวิทยาลัยมันต้องใช้เงินเยอะ เลยตัดสินใจกู้ กยศ. เรียนที่สถาบันการพลศึกษาวิทยาเขตอุดรธานี แล้วก็ไปรับจ็อบพิเศษเป็นช่างแอร์ กับเล่นบาสเดินสายล่าเงินไปเรื่อยๆ จนชื่อของผมเริ่มเป็นที่รู้จัก”

 6

“ส่วนการได้เล่นในระดับอาชีพนั้น มันเหมือนเป็นจังหวะชีวิตที่พอดีมากๆ จู่ๆ พี่โอ้ ของทีม OSK (ทศพิธ ลังสุ่ย - ปัจจุบันเล่นให้ทีมแมดโกท) ก็โทรมาหาผมบอกว่า ตอนนี้ทีมมีคนเจ็บอยู่ สะดวกเข้ามาซ้อมมั้ย เผื่อพี่เส็ง (ประเสริฐ ศิริพจนากุล - เฮดโค้ชของ OSK ในตอนนั้น) จะเอาเข้าทีมในเลกสองของ TBL ฤดูกาล 2016 ผมก็เข้ากรุงเทพฯ เลยตอนนั้น ซึ่งถือเป็นครั้งแรกในชีวิตที่ได้เข้าเมืองหลวงด้วย เข้ามาซ้อม 3 วันแล้วก็ลงสนามเลย ทีนี้ในเกมที่สองของเลกนั้นที่เจอไฟฟ้า เกมนั้นดันเล่นดี มาทั้งลูกบล็อก ลูกบ้า เกมป้องกัน พี่เส็งเขาก็เลยใช้งานผมยาวเลย”

 7

การเข้ามาเล่นอาชีพครั้งแรกในกรุงเทพฯ ทำให้เหยาต้องปรับมาเล่นในตำแหน่งใหม่ นั่นก็คือ เพาเวอร์ฟอร์เวิร์ด ซึ่งเป็นตำแหน่งที่เข้าไปเสริมแทนคนที่เจ็บ แทนที่จะเป็น เซนเตอร์ ซึ่งเล่นมาตั้งแต่สมัยมัธยม ซึ่งเจ้าตัวเปิดใจกับเราว่า รูปแบบการเล่นค่อนข้างจะมีความคล้ายคลึงกันอยู่ไม่น้อย แต่เขาก็ต้องเพิ่มทักษะด้านความเร็ว การเล่นเกมรุกให้มากขึ้นกว่าเดิม

ทว่าหลังจากช่วงเวลา 3 เดือนของ TBL หรือ ไทยแลนด์ บาสเกตบอล ลีก เลกสองฤดูกาล 2016 จบลง นักบาสหนุ่มจากแดนอุดรก็ต้องมาเจอกับจุดเปลี่ยนอีกครั้งแบบไม่ทันตั้งตัว …

“หลังจบฤดูกาลนั้น ทาง OSK ก็บอกว่าจะทำทีมต่อ ผมก็กลับบ้านที่อุดรธานีไปลาออกกับ สพล. รวมถึงงานเสริมที่ร้านแอร์ แล้วมาเข้าเรียนที่ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ในฐานะนักศึกษาทุนนักกีฬา แต่อีก 2 เดือนถัดมา จู่ๆ ทาง OSK ก็หายเงียบเลย ผมก็เคว้งสิ เลยต้องกลับไปขอเงินจาก อ.กมล อีกรอบเพื่อเอามาใช้เป็นค่าใช้จ่าย จนเขาก็ถามเหมือนกันว่า นี่เราคิดผิดรึเปล่า?”

อย่างไรก็ตาม คำกล่าวที่ว่า “ถ้ามีฝีมือจริง อยู่ที่ไหนก็ได้” นั้นยังเป็นจริงเสมอ เพราะในขณะที่กำลังสิ้นไร้หนทาง แต่กีฬาบาสเกตบอล ก็ทำให้เขาได้พบกับเส้นทางใหม่ของชีวิตอีกครั้ง

 8

“หลังจากนั้น ผมก็มีโอกาสไปแข่งขันรายการบาสมหาวิทยาลัยรายการ UBI ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา วันนั้นรู้สึกว่า ม.กรุงเทพ จะเจอกับมหาวิทยาลัยศรีปทุมที่มี โค้ชต้อง (ต้องเกียรติ สิงหเสนี) เป็นเฮดโค้ช พอจบเกมเขาก็ขอเบอร์ไว้ อีก 3-4 เดือนถัดมาโค้ชต้องก็โทรมาให้ผมไปซ้อมกับแข่งให้ทีม โมโน แวมไพร์ ชุดแข่งรายการ TBA ปี 2017 แล้วก็ได้เซ็นสัญญากับทีมชุดเล็กของโมโน รับเงินเดือนละ 8,000 บาท”

“แต่พอหลังจากรายการ TBA จบ โค้ชดักลาส (ดักลาส คลาร์ก มาร์ตี้ - เฮดโค้ชทีม โมโน แวมไพร์) ก็จับผมมาลองใช้งานในรายการ TBL เลย คราวนี้ผมก็ดีดใหญ่สิ โอกาสมาแบบนี้ต้องเล่นใหญ่ใส่เต็มทุกนัด ผ่านไปไม่กี่เกม ทางทีมก็ถามว่า ‘พร้อมขึ้นชุดใหญ่มั้ย?’ ผมก็ไม่ต้องคิด ตอบเลย ‘พร้อมครับ’ ก็เลยได้เซ็นสัญญาขึ้นชุดใหญ่ และอยู่กับโมโนตั้งแต่นั้นมาจนถึงทุกวันนี้”

ความหวังที่รอวันเป็นจริง

สำหรับนักกีฬาจากต่างจังหวัด การเป็นนักกีฬาอาชีพอาจถือเป็นสิ่งที่ดีที่สุดที่เขาคาดหวังได้ แต่สำหรับเหยา เรื่องราวกลับไม่จบแต่เพียงเท่านั้น เมื่อเจ้าตัวได้สัมผัสกับประสบการณ์ที่น้อยคนนักจะได้สัมผัส … การติดทีมชาติ

 9

“พอได้เล่นกับโมโน ก็มีโอกาสได้ไปซ้อมกับทีมชาติไทยชุดแข่งรายการ FIBA Asia Cup 2021 รอบคัดเลือกโซนอาเซียนเมื่อปีที่ผ่านมา แต่ตอนนั้นไม่ติดทีม ก่อนที่จะมาได้โอกาสอีกครั้งในศึกเอเชี่ยนเกมส์ 2018 ที่อินโดนีเซีย และคราวนี้ผมมีชื่อติดทีม แม้จะตกรอบแรกกลับมา แต่นี่คือความภูมิใจที่สุดในชีวิตผมเลย แล้วก็ถือเป็นการพิสูจน์ให้ที่บ้านรู้ว่า ผมสามารถเลี้ยงตัวเองด้วยกีฬานี้ได้ ก็มีเงินใช้สำหรับตัวเอง ส่งกลับให้บ้านได้บ้างละครับ”

และเมื่อพูดถึงเรื่องที่บ้าน เหยาก็ได้เปิดเผยเรื่องหนึ่งเกี่ยวกับครอบครัว ซึ่งแม้แต่ทีมงานของเราเองก็ไม่คาดคิดมาก่อน

“ผมไม่เคยเจอหน้าพ่อเลยตั้งแต่เกิดครับ แม่เล่าให้ฟังว่า ตอนที่แม่ตั้งท้องใกล้คลอดผม พ่อก็ติดทหารแล้วก็หายหน้าไป จริงๆ เขาเคยกลับมาตอนที่ผมเกิดนะ แต่ผมไม่เคยเห็นหน้าพ่อเลย มีก็เพียงแต่รูปเท่านั้นเอง”

 10

“ตอนอยู่ ป.6 พ่อเคยโทรมาหาผม ถามสารทุกข์สุกดิบว่าเป็นไง แต่ก็ไม่ได้บอกว่าอยู่ที่ไหน ผมถึงกับเคยเข้าไปที่จังหวัดอุดรธานี ไปหาข้อมูล หาที่อยู่ จนรู้ชื่อ รู้หน้า แต่ไม่รู้ว่าอยู่ที่ไหน เรื่องอื่นที่พอจะบ่งบอกตัวตนเขาได้ก็คือความสูง เพราะแม่บอกว่าพ่อเขาก็สูง 190 เซนติเมตรเหมือนผมนั่นแหละ”

“หลายปีต่อมา แม่มาบอกกับผมว่าเจอพ่อที่พัทยา และก็ถ่ายรูปมาให้ผมดูด้วย แต่ผมก็ยังไม่แน่ใจว่าใช่จริงๆ รึเปล่า เพราะภาพที่เห็นนั้นเหมือนคนที่เสียสติไปแล้ว ผมเองคิดว่า เมื่อผมเริ่มมีชื่อเสียง เป็นที่รู้จักในสังคมมากขึ้นจากกีฬาบาสเกตบอล แล้วพ่อเห็นหรือได้ยินชื่อ เขาอาจจะติดต่อกลับมา แต่จนถึงตอนนี้ก็ยังไม่มีการติดต่อมาแต่อย่างใด ถึงกระนั้น การได้เจอพ่ออีกครั้งก็ยังเป็นความฝันและความหวังของผมอยู่เสมอครับ”

 11

แม้หนึ่งในความฝันที่หวังว่าจะเป็นจริงโดยมีการเล่นบาสอาชีพเป็นใบเบิกทางจะยังไม่สัมฤทธิ์ผล แต่เหยาเองก็ยอมรับกับเราว่า สิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นรางวัลความสำเร็จและโอกาสต่างๆ ที่เข้ามาในชีวิต ล้วนเกิดขึ้นได้จากกีฬายัดห่วงนี้ ซึ่งแม้แต่ตัวเองก็ไม่เคยคิดเคยฝันเสียด้วยซ้ำ

“ผมไม่เคยตั้งอนาคตตัวเองเลย ตั้งแต่เล่นบาสตอน ม.4 ผมไม่เคยตั้งเป้าเลยว่าจะต้องเป็นนักบาสอาชีพ เป็นนักบาสทีมชาติ สิ่งที่ทำให้ผมมาเล่นกีฬานี้คือ ผมต้องตอบแทนอาจารย์ที่เอาผมมาเรียนที่ตัวเมือง เอาเข้าจริง ตอนนั้นผมไม่ได้รักกีฬาบาสเกตบอลเลย แต่รักกีฬาตะกร้อที่เล่นมาตั้งแต่เด็กมากกว่า ส่วนการเล่นบาส ก็เพื่อให้จบ ม.ปลาย เท่านั้นเอง”

 12

“แต่เวลาผ่านไป ผมก็มารู้เองด้วยตัวเองว่ามันมีเส้นทางที่หลากหลายให้เราไปต่อ ทั้งเล่นบาสเดินสายให้คนเริ่มรู้จัก มาเล่นลีกอาชีพ จนติดทีมชาติ สิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นมันทำให้ผมรักกีฬานี้ไปโดยปริยาย เพราะเราสามารถเลี้ยงตัวเองได้ เลี้ยงที่บ้านได้ ทำให้ที่บ้านภูมิใจ”

 13

“นอกจากครอบครัวที่บ้านแล้ว ผมยกให้อาจารย์กมล คนที่พาผมมาเป็นนักบาสเกตบอลคืออีกหนึ่งผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จเลย เพราะแม้อาจารย์จะเป็นครูสอนวิชาฟิสิกส์ แต่ท่านจะสอนเรื่องคุณธรรมอยู่เสมอ ซึ่งผมก็ได้ยินทุกวัน มันเป็นการหล่อหลอมให้ผมต้องทำในสิ่งที่ถูกต้อง ทั้งเรื่องความกตัญญู ความมุ่งมั่น จนนำมาซึ่งความสำเร็จแบบที่เกินฝันจริงๆ ครับ” เหยา ผู้ที่เปลี่ยนชีวิตตัวเองจนไปไกลเกินฝันจากกีฬาบาสเกตบอลกล่าวทิ้งท้าย

อัลบั้มภาพ 13 ภาพ

อัลบั้มภาพ 13 ภาพ ของ "อาณัติ พ่วงลา" : จอมยัดห่วงไทยที่เล่นบาสฯอาชีพเพื่อตามหาพ่อบังเกิดเกล้า

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook