สมุดโน๊ตแห่งความเพียร และปลอกแขนกัปตันทีมชาติของ “กฤษดา วงษ์แก้ว”

สมุดโน๊ตแห่งความเพียร และปลอกแขนกัปตันทีมชาติของ “กฤษดา วงษ์แก้ว”

สมุดโน๊ตแห่งความเพียร และปลอกแขนกัปตันทีมชาติของ “กฤษดา วงษ์แก้ว”
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

“ผมไม่เคยมีความฝัน หรือคาดหวังว่า ตัวเองจะต้องมาเป็นนักกีฬาอาชีพ เป็นกัปตันทีมชาติ ตอนนั้นผมยังไม่รู้จักกีฬาฟุตซอลเลยด้วยซ้ำ?”

“ไม่มีความฝัน, ไม่เคยรู้จักกีฬาฟุตซอล และเก่งด้านปิงปองมาก่อน”...

3 อย่างที่ ช้าง - กฤษดา วงษ์แก้ว กัปตันฟุตซอลทีมชาติไทย และสโมสรพีทีที บลูเวฟ ชลบุรี อธิบายถึงตัวเองในวัยเด็ก เมื่อมองย้อนกลับไปสักประมาณ 16 ปีที่แล้ว

จนในวันหนึ่งกีฬาที่ไม่คุ้นเคยอย่าง ฟุตซอล ได้กลายเป็น ห้องเรียนขนาดใหญ่ให้ เด็กหนุ่มที่ไร้ความฝันในทางกีฬาเช่นเขาได้รู้จัก และลงมือทำโจทย์ที่ยากขึ้น ในทุกๆปี บนสนามสอบ ที่มีเพียงแค่ตัวเขาเท่านั้น ที่จะเป็น ผู้เขียนกระดาษคำตอบของตัวเองได้ดีที่สุด

เกียรติยศ เงินทอง ชื่อเสียง ความสำเร็จมากมายในวันนี้ ของผู้ชายที่แฟนฟุตซอลชาวไทยเรียกเขาว่า “กัปตันช้าง” จึงเป็นเพียงผลการสอบ รางวัลตอบแทนที่เขาควรค่าได้รับ จากความทุ่มเท ความพยายามอย่างหนักมามากกว่า 10 ปี  

หากแต่บทเรียน ในแต่ละสนามสอบของชีวิต และสิ่งที่เขาได้พบเจอมาต่างหาก คือ ส่วนที่เราอยากให้ผู้อ่านได้ทำความรู้จักตัวตนอีกด้านของ กฤษดา วงษ์แก้ว มากกว่าแค่ที่เห็นผ่านจอทีวี หรือจากขอบสนาม “โต๊ะเล็ก”

สำหรับเขาแล้ว “กีฬาคือครูชีวิต” ที่สอนให้เขาเจอบทเรียนมากมาย

Lesson 1 : พร้อมเผชิญหน้ากับความท้าทายใหม่เสมอ  
“ผมเล่นปิงปองมาตั้งแต่เด็ก เคยเป็นตัวแทนจังหวัดราชบุรีด้วยนะ แต่ว่าผมไม่เคยมีความคิดว่าตัวเอง จะต้องโตมาเป็นนักกีฬา ต้องมาติดทีมชาติ ผมแค่สนุกและชอบเวลาแข่งปิงปองแล้วชนะเด็กคนอื่น” กัปตันฟุตซอลทีมชาติไทย วัย 30 ปี ย้อนความหลังถึงจุดเริ่มต้นในด้านกีฬาของตัวเอง

“หลังจบชั้นประถมศึกษาที่โรงเรียนเทศบาล 2 วัดบ้านโป่ง ผมเข้าเรียนต่อมัธยมที่ โรงเรียนสามัคคีคุณูปถัมภ์ ซึ่งอยู่ติดกัน แต่ว่าที่นี่ไม่มีโต๊ะปิงปอง ไม่มีครูฝึกสอนเหมือนโรงเรียนเก่า มีแต่ครูสอนฟุตบอล ผมเลยหันมาเตะฟุตบอล จนได้เป็นตัวแทนโรงเรียน”

a1
บททดสอบแรกในชีวิต ยืนอยู่ตรงหน้า อดีตนักเทเบิลเทนนิสดาวรุ่งจากอำเภอบ้านโป่ง แม้ตัวเขาจะมีความสามารถ และรางวัลการันตีฝีมือในการเล่นปิงปอง แต่กับกีฬาใหม่ที่เขาสนใจ อย่าง ฟุตบอล เป็นอะไรที่แตกต่างกันออกไป และใช้ความสามารถ ทักษะคนละด้าน ต้องมาเริ่มต้นใหม่หมด

แม้ตัวเขาจะเกิดและเติบโต มาในครอบครัวที่ยากจน พ่อแม่ ประกอบอาชีพเป็น ลูกจ้างในโรงงานอุตสาหกรรม และค้าขาย ภายในบ้านหลังเล็กๆ ที่ไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวก หรือรถยนต์ส่วนตัว

แต่ กฤษดา ก็ได้ซึบซับความรักในการเล่นกีฬา จากผู้เป็นพ่อที่พาเขาไปออกกำลังกาย เตะฟุตบอล ในหมู่บ้านหลังเลิกเรียน ตั้งแต่ตอนที่เจ้าตัวยังเอาดีทางกีฬาปิงปอง รวมถึงคุณแม่ ที่ตามไปให้กำลังใจเชียร์เขาถึงขอบสนาม ทุกๆครั้งที่ กฤษดา ลงแข่งเทเบิลเทนนิส และสิ่งสำคัญ คือ มันช่วยให้เขาแบ่งเบาภาระครอบครัวได้ตั้งแต่อายุ 14 ปี

“ผมจำได้ขึ้นใจ ตอนผมเด็กๆ ความเป็นอยู่ครอบครัวเราลำบากมาก บางวันพ่อกับแม่ไม่มีเงิน ซื้อกับข้าว ต้องไปเด็ดผักบุ้งข้างทาง ไปงมหอยมากับข้าวกินกัน ช่วงสัก ม.2-3 เริ่มมีคนชวนผมไปเตะฟุตบอลเดินสาย ฟุตบอล 7 คน ตามที่ต่างๆใน จ.ราชบุรี จะมีรายการแข่งขันตลอดทั้งปี ผมก็แบกอายุไปเตะกับผู้ใหญ่ตลอด ได้เงินมาครั้งละ 100-200 บาท สำหรับผมตอนนั้น เงิน 100 บาทถือว่าเยอะมาก”

a11
“ผมเล่นไปโดยไม่คิดอะไรเลย แค่อยากช่วยที่บ้าน อยากมีรายได้ ก็เตะไปเรื่อยๆ จนวันหนึ่งมีอาจารย์จากโรงเรียนโพธาวัฒนาเสนี ท่านเห็นแววผมจากตอนเล่นฟุตบอล ให้โรงเรียนสามัคคีฯ ก็มาชักชวนให้ผมไปคัดตัว เข้าร่วมทีมฟุตซอลของโรงเรียนโพธาฯ ที่เป็นทีมตัวแทนจังหวัดราชบุรี  ตอนแรกที่อาจารย์มาชวน ผมยังไม่รู้จักกีฬาฟุตซอลเลยด้วยซ้ำ เคยเล่นแต่บอลโกลรูหนู เตะเล่นๆกับเพื่อนในโรงเรียน”

“ผมชอบเตะฟุตบอลก็จริง แต่ฟุตซอลสำหรับผม ตอนนั้นมันยากมาก ผมไม่รู้ว่าการเล่นฟุตซอลที่ถูกต้อง เขาเล่นกันอย่างไร ครั้งแรกที่ผมได้มาเล่นฟุตซอล คือตอนไปคัดตัวกับทีมโรงเรียนของอาร์ม (ศุภวุฒิ เถื่อนกลาง) นั่นแหละ ถึงได้รู้ว่าฟุตซอลต่างกับฟุตบอล ถ้าเป็น ฟุตบอลเล่นสนามใหญ่กว่า มีเวลาคิด มีเวลาตัดสินใจมากกว่า แต่ฟุตซอลต้องคิดเร็วทำเร็ว คู่แข่งถึงตัวเราเร็วกว่า”

“วันนั้นผมวิ่งมั่วไปหมดเลย ไม่รู้ตำแหน่ง ไม่รู้การทำสเต็ปขา จะยกขา จะทำอะไรมันติดขัดไปหมด ส่วนเด็กโรงเรียนโพธาฯ ที่เขาซ้อมกันทุกวัน เขาสามารถทำได้หมด เล่นเข้าขากัน บางท่าผมทำได้ บางท่าผมทำไม่ได้ พวกเขาก็หัวเราะผมแหละ เพราะผมมาตัวคนเดียวจากต่างโรงเรียน ผมทั้งเขิน ทั้งอาย”

เขาอาจเสียความมั่นใจบ้าง แต่ไม่ยอมแพ้ ทุกๆวันเมื่อเดินทางกลับถึงบ้าน กฤษดา จะมาฝึกซ้อมต่อด้วยตัวเองเอง ในสิ่งที่โค้ชสอนไป รวมถึงการฝึกสเต็ปขา และการเคลื่อนที่ เขาทำแบบฝึกนี้ซ้ำแล้วซ้ำอีกอยู่ 2-3 เดือน จนจังหวะฟุตซอลของเขา เริ่มสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมทีมใหม่ และได้เป็นส่วนหนึ่งของทีมในที่สุด

“ฟุตซอลในบางมุมก็ยากกว่าฟุตบอล อย่าง ฟุตบอล ผมรู้แล้วว่า ต้องเล่นยังไง แต่ฟุตซอลมันเป็นเรื่องใหม่เลย แต่สุดท้ายก็ขึ้นอยู่กับตัวเรา ว่าจะเรียนรู้กับมันมากน้อยแค่ไหน ผมพยายามทำความเข้าใจ ฝึกฝนทุกวัน จนวันหนึ่งฟุตซอลที่ผมเคยรู้สึกว่ายาก ก็เริ่มง่ายขึ้น”

a2
แม้จะเคยเก่งกับฟุตบอลสนามใหญ่ แต่เขาก็พร้อมเรียนรู้ที่จะทำให้ตัวเองพัฒนาในโลกใบใหม่ เหตุการณ์ครั้งนั้นสอนให้เขาไม่กลัวกับสิ่งใหม่ที่เข้ามา และมัน คือ เรื่องสำคัญของชีวิต เราต้องพร้อมเรียนรู้ เผชิญหน้า และรับมือสิ่งต่างๆ ที่เข้ามาเสมอ…    

Lesson 2 : ถ่อมตัวและเรียนรู้ความหมายของคำว่าทีม
“ผมเชื่อว่าในโลกนี้ยังมีคนที่เจ๋งกว่าผม และผมบอกตัวเองเสมอว่า ผมไม่ใช่คนที่เก่งสุด”

กฤษดา ในวัย 16 ปีขณะนั้น ยังคงสนุกกับประสบการณ์ใหม่ๆ เพื่อนร่วมทีมใหม่ๆ ควบคู่กับความสามารถ ความเข้าใจในเกมฟุตซอลที่เพิ่มมากขึ้น โดยมีสิ่งหนึ่งที่เขาตระหนักรู้มาตลอด คือ การทำใจยอมรับว่า โลกใบนี้ยังมีคนที่เก่งกว่าตัวเขาเอง

โรงเรียนโพธาวัฒนาเสนี ส่งทีมเข้าร่วมการแข่งขันรายการต่างๆ ทั้งในจังหวัด รวมถึงระดับประเทศ เริ่มจาก ควิก จูเนียร์ ฟุตซอล คัพ ที่ไปไกลถึงรอบ 16 ทีมสุดท้าย ต่อด้วยการคว้าอันดับ 2 กีฬาเยาวชนแห่งชาติ รองแชมป์ประเทศไทยอีก 1 หน จนมาถึงรายการที่เปลี่ยนชีวิต กฤษดา วงษ์แก้ว เมื่อโรงเรียนประจำอำเภอโพธาราม ได้รับเชิญให้ส่งทีมมาคัดแข่งกับ 2 สถานศึกษาอย่าง ร.ร.อิสลามวิทยาลัย และ ร.ร.กรุงเทพคริสเตียน เพื่อหาตัวแทนหนึ่งเดียว สำหรับส่งเข้าร่วมแข่งขัน “กทม.ฟุตซอลลีก” ในนามเขตบางบอน ผลปรากฎว่า ทีมจากจังหวัดราชบุรี ทำผลงานได้ดีกว่า อิสลามวิทยาลัย และกรุงเทพคริสเตียน จึงได้มาร่วมรายการนี้

“บทเรียนที่ทำให้เรารู้ซึ้งถึงคำว่า ‘ทีม’ เกิดขึ้นในนัดแรกเราเจอกับ โรงเรียนกีฬาอ่างทอง ที่มี อนาวิน จูจีน พอดีโปรแกรมแข่งรายการนี้ ชนกับการแข่งขันกีฬาจังหวัด พวกผม 5 คนแรกต้องมาก่อน ครึ่งแรกเราโดนนำ 5-1 พอพวกอาร์ม (ศุภวุฒิ เถื่อนกลาง) แข่งเสร็จจากที่ราชบุรี ก็เดินทางตามมาสมทบได้ทัน ในครึ่งหลัง จนครบทีม พอเราอยู่กันครบ เราก็มีความมั่นใจมากขึ้น เราต่างคนต่างช่วยกันเล่น จนครึ่งหลังเราพลิกกลับมาชนะ 10-5 เหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้ผมรู้ว่า ต่อให้ผม หรือใครเก่งคนเดียว เราก็ไม่อาจเอาชนะคู่แข่งได้ หากเราไม่ร่วมมือกันเป็นทีม”

a5
“สุดท้ายเราก็คว้าแชมป์รายการนี้ได้ ทำให้สื่อรู้จักพวกเรา รู้จักว่าผมชื่อ ช้าง กฤษดา เพื่อนผมชื่อ อาร์ม ศุภวุฒิ จากนั้นเราก็ได้มาลงแข่ง ควิก จูเนียร์ ฟุตซอล ฯ อีกครั้ง พวกเราถูกยกให้เป็นเต็ง 1 ของรายการ น่าเสียดายที่เราแพ้นัดชิงให้ สารวิทยา ได้รองแชมป์”

อาจกล่าวได้ว่า ฟุตซอล ละลายความเป็น ปัจเจกบุคคล ในตัวของ กฤษดา วงษ์แก้ว ลงไปมาก เมื่อบทเรียนในห้องเรียนขนาดใหญ่นี้ ได้สอนให้เขารู้ว่า เขาไม่มีทางชนะ กีฬาที่มีผู้เล่นฝ่ายละ 5 คนได้ด้วยความสามารถเฉพาะตัวของเขาเพียงลำพัง แต่เขาจะเอาคู่ชนะได้ ด้วยคำว่า “ทีมเวิร์ก”

Lesson 3 : จด / จำ / ลงมือทำ
ชีวิตที่ยังไม่มีจุดหมายปลายทางชัดเจนนักของ กฤษดา วงษ์แก้ว หลังจบมัธยมศึกษา ทำให้เขาตัดสินใจมุ่งสู่ภาคใต้ ไปเตะฟุตบอลเดินสายกับผู้ใหญ่ในพื้นที่เกาะพงัน จ.สุราษฎร์ธานี เพื่อหารายได้ไปพลาง

จนวันหนึ่ง ช้าง-กฤษดา ได้โอกาสไปคัดตัวกับสโมสรฟุตซอลที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของไทย และเหตุการณ์ครั้งนั้น ก็เปลี่ยนชีวิตเขาจากหลังมือเป็นหน้ามือ

“ตอนนั้นอีกไม่กี่สัปดาห์เลกสองของฤดูกาลนั้นจะเปิดแล้ว พี่ณรงค์ (ห้วยหงษ์ทอง) มาบอกผมว่า ‘เอางี้ ช้าง มึงไปคัดกับ ชลบุรี นะ เดี๋ยวพี่โทรหาพี่เอ๋ พัทยา เปี่ยมคุ้ม’ (โค้ชในเวลานั้น) ผมก็เลยติดรถมากับพ่ออาร์ม (ศุภวุฒิ เถื่อนกลาง) ที่ตอนนั้นได้ไปคัดกับชลบุรีก่อนผมจากราชบุรี มาคัดตัวที่แถวหลักสี่ทุกวัน”

a7
“เชื่อไหมว่าบรรยากาศ คล้ายๆกับที่ผมไปคัดตัวที่โรงเรียน โพธาฯ เลย ผมมาถึงสนามซ้อม เจอพี่บัว ภาณุวัฒน์ จันทา, พี่เลิศชาย อิสราสุวิภากร, พี่บอย, พี่บอล (เอกพงษ์-เอกพันธ์ สุรัตน์สว่าง) หันไปรอบๆตัว นี่มันมีนักฟุตซอลทีมชาติทั้งนั้น”

“ผมเข้าบอลมั่วไปหมดเลย รู้สึกว่ามันยากเกินความสามารถเราไปแล้ว เวลาผมอยู่ในสนามกับพวกพี่ๆ ผมเหมือนคนเล่นฟุตซอลไม่เป็น ช่วงนั้น ผมถามตัวเองทุกวันหลังเลิกซ้อมว่า กูทำอะไรลงไปเนี่ย จะไหวไหม ทำไมการเล่นอาชีพ ตามระบบฟุตซอลจริงๆ มันยากขนาดนี้”

“ในกีฬาฟุตซอลผมบอกเลยว่า การยืนตำแหน่งสำคัญมาก ถ้าเคลื่อนที่ผิดตำแหน่งนิดเดียว ทีมอาจเสียขบวนได้เลย ทุกคนต้องไปพร้อมกันทั้งทีม หลังซ้อมเสร็จ ผมเอาสิ่งที่โค้ช รุ่นพี่บอก มาจดใส่สมุด เพื่อเอามาทบทวน ฝึกฝน ให้ตัวเอง สามารถเล่นได้ทันกับพวกๆพี่ในทีม ไม่ใช่จะมาแก้ตัว อ้างว่าตัวเองเป็นเด็ก รอพึ่งแต่รุ่นพี่ มันไม่ใช่แล้ว พวกพี่เขาก็มีหน้าที่ของเขา เราก็ต้องทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีด้วย”

ความยากไม่ได้บั่นทอนจิตใจของ กฤษดา ให้ท้อถอย แต่มันกลับเป็นพลัง ให้เขากัดฟันสู้กับความท้าทายครั้งใหญ่ ที่รอคอยอยู่ข้างหน้า เขาใช้ความสด พละกำลังที่ตัวเองมี ไล่บดกับบรรดารุ่นพี่ เพื่อนร่วมทีมดีกรีทีมชาติไทยอย่างไม่หวั่นเกรง แม้จะยังมีจุดอ่อน ตรงที่ยังไม่สามารถเล่นตามระบบ และเคลื่อนที่ เข้าใจลูกสูตรของทีมได้มากนัก

กฤษดา วงษ์แก้ว ยอมรับว่าเขามีปัญหาในเรื่องการจดจำลูกสูตร วิธีการที่ดีสุดที่เขาเลือกทำ คือ การจดบันทึกสิ่งที่โค้ชสอน รวมถึงการยืนตำแหน่งในจังหวะต่างๆ ลงในสมุดโน๊ต เพื่ออ่านทบทวนทำความเข้าใจฟุตซอลอย่างถ่องแท้

b13
“ช่วงแรกที่ผมมาคัดตัว ผมใส่เสื้อบอลหลากสี ไม่เหมือนกับคนในทีม วันหนึ่งทีมงานของสโมสร หยิบเสื้อซ้อมชลบุรี มาให้ผมใส่ เชื่อไหมว่า แค่ผมได้เสื้อซ้อมตัวเดียว ไม่ใช่เสื้อแข่ง ผมก็ดีใจมากแล้ว ผมเอาเสื้อซ้อมตัวนั้นมากอด เอามาหนุนนอนเลยนะ ผมตั้งใจฝึกซ้อมทุกวัน จนสุดท้ายสโมสรก็เซ็นสัญญาผมพร้อมกับ อาร์ม ในเลกสอง”

ข้อความที่เพิ่มขึ้นทุกหน้าบนสมุดโน๊ตของ กฤษดา มีค่าเท่ากับ ประสบการณ์ และสิ่งที่เขาได้เรียนรู้เพิ่มเติมขึ้นมาในทุกๆวัน จากการได้มาเป็นส่วนหนึ่งของ สโมสรชลบุรี บลูเวฟ ยักษ์ใหญ่แห่งวงการโต๊ะเล็กไทย

“จด, จำ และลงมือ” ทำ คือสามสิ่งที่ กฤษดา วงษ์แก้ว ปฏิบัติอยู่เสมอ ความมุ่งมั่น พยายาม ไม่ยอมแพ้ ทำให้ หลังจบฤดูกาลแรกในซีซั่น 2008 ปีต่อมา “ช้าง” ได้ถูกเรียกให้ไปร่วมคัดตัวกับ ทีมชาติไทย รุ่นอายุไม่เกิน 20 ปี ที่เตรียมลงแข่งขันศึกชิงแชมป์อาเซียน ไปดวลกับ ทีมชุดใหญ่ของบรรดาชาติอาเซียน  

และนั่นเป็นใบเบิกทางสู่การรับใช้ชาติอย่างยาวนานกว่า หนึ่งทศวรรษ ในเวลาต่อมาของ กฤษดา วงษ์แก้ว

Lesson 4 : เกียรติยศจากความพยายาม  
ในปี 2008 โฆเซ มาเรีย ปาซอส เมนเดส หรือ “ปูลปิส” เข้ามาทำหน้าที่เป็น กุนซือคนใหม่ ทีมฟุตซอลทีมชาติไทย พร้อมกับสร้างความเปลี่ยนแปลงมากมายแก่วงการโต๊ะเล็กบ้านเรา ตลอดจนความกล้าหาญ ที่มักเรียกนักเตะหน้าใหม่เข้ามาติดธง

b11
กฤษดา วงษ์แก้ว มีชื่อเข้าไปคัดตัวกับทีมชาติชุดใหญ่ครั้งแรก ร่วมกับบรรดาแข้งตัวเก๋ามากประสบการณ์หลายราย โดยในครั้งนั้น ปูลปิส จะทำการตัดตัวให้เหลือเพียง 14 คนเท่านั้น เพื่อพาไปเก็บตัวที่ประเทศสเปน ก่อนทัวร์นาเมนต์ เอเชียน อินดอร์เกมส์ 2009 ที่ประเทศเวียดนาม

“ตอนที่ผมถูกเรียกเข้าเก็บตัวกับทีมชาติชุดใหญ่ ผมเหมือนกลับไปเป็นเด็กอีกครั้ง เพราะผมไม่เคยรู้ระบบโค้ชต่างชาติมาก่อน ยิ่งเป็น ปูลปิส ยิ่งแล้วใหญ่ สมมติอะไรที่ผมทำไม่ได้ ผมก็จะโดนโค้ชด่าอยู่อย่างนั้น แล้วปูลปิสเขาละเอียดมาก ผมก็จดลงสมุดทุกอย่างที่ ปูลปิส สอน เพราะตอนนั้น ผมอยากติดทีมชาติชุดใหญ่มาก หลังจากติดชุด U-20 มาแล้ว”

“จริงๆ ภายในทีมก็พอจะรู้กันก่อนประกาศแล้วว่า มีประมาณ 13 คนที่อยู่ในข่ายถูกเรียก แต่ยังเหลืออีก 1 ตำแหน่งที่เขายังดูๆอยู่ ผมก็ทำทุกวิถีทาง วิ่งสู้ฟัด เล่นตามที่โค้ชบอก อันไหนทำไม่ได้ก็ทำอยู่ซ้ำๆ ผมตั้งใจมาก อยากคว้าตำแหน่งคนที่ 14 ในทีมให้ได้”

ในการฝึกซ้อมมื้อสุดท้าย ก่อนประกาศรายชื่อ เป็นธรรมเนียมของโค้ชชาวสเปนรายนี้ ที่มักจะเดินไปหา หรือเรียกนักเตะมาคุยเป็นการส่วนตัว เพื่อแจ้งให้ทราบว่า ลูกทีมคนไหนจะได้ไปกับทีมต่อ คนไหนต้องหลุดจากโผ ด้วยเหตุผลอะไร และต้องกลับไปพัฒนาส่วนไหน

d1
“ช้าง โค้ชปูลปิสขอเรียกคุยส่วนตัวหน่อย” เสียงจากล่ามแปลภาษา ส่งสัญญาณมาให้ กฤษดา วงษ์แก้ว ดาวรุ่งวัย 21 ปี ที่เพิ่งฝึกซ้อมเสร็จไปพบเป็นการส่วนตัว เขาอธิบายวินาทีนั้นว่า เขาเหมือนนักโทษประหารกำลังเดินไปให้เพชฌฆาตเล็งเป้าไม่มีผิด

“เมื่อไหร่ก็ตามที่ ปูลปิส เรียกใครไปพบส่วนตัว แสดงว่าต้องมีเรื่องไม่ปกติแน่ ตอนนั้นผมคิดในหัวว่า รู้สึกเสียดายเหมือนกัน ก็นั่งนิ่งลงไป เตรียมใจแล้วว่าคงไม่ได้ไปต่อ สักพัก ปูลปิส ก็พูดภาษาของเขา ล่ามแปลออกมาเป็นไทยว่า ‘ทำให้เต็มที่นะ นายได้โอกาสแล้ว’ ผมก็งงอยู่พักหนึ่ง ก่อนจะรู้ตัวว่า ผมได้เป็นคนที่ 14 ในทีม”

“ผมดีใจมากเหมือนตัวเองทำได้สำเร็จ สิ่งที่ผมคิดหลังจากวันนั้นคือ ผมจะต้องต่อสู้อย่างเต็มที่ เพื่อยึดตำแหน่งเป็น 1 ใน 14 ผู้เล่นทีมชาติไทยชุดใหญ่ แบบไม่ต้องมาลุ้นอย่างนี้อีก ผมขยัน อดทน ทำตามที่โค้ชบอกทุกอย่าง แล้วก็มีรายชื่อติดชุดใหญ่มาตลอดตั้งแต่นั้น”

Lesson 5 : บทบาทของผู้นำ
ช่วงเวลาของเขา กับ ปูลปิส จบลงในปี 2011 เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการบริหารฟุตซอลทีมชาติไทย เป็นเหตุให้มีการเปลี่ยนมือผู้ฝึกสอน จาก ปูลปิส มาเป็น วิกเตอร์ เฮอร์มานส์ เทรนเนอร์ชาวดัตช์

d4
เขาทำการถ่ายเลือดนักเตะใหม่ โดยไม่เรียกผู้เล่นเก๋าๆ หลายรายติดทีมชาติ พร้อมกับผลักดันแข้งดาวรุ่งหลายรายขึ้นมาเป็นกำลังหลักของทีมชุดใหญ่ กฤษดา วงษ์แก้ว ที่ยึดเสื้อหมายเลข 7 มาสวมใส่ คงเหลือไว้แค่ สุรพงษ์ ทมพา ผู้รักษาประตูมือเก๋าไว้ทำหน้าที่กัปตันทีม

ทีมชาติไทยเลือดใหม่ ขึ้นแท่นไปถึงรองแชมป์เอเชีย, แชมป์ซีเกมส์, แชมป์อาเซียน จนมาถึงรายการสำคัญอย่าง ฟุตซอลชิงแชมป์โลก 2012 ที่ประเทศไทย เป็นเจ้าภาพ ซึ่งทัวร์นาเมนต์นั้น โต๊ะเล็กช้างศึก สร้างประวัติศาสตร์ผ่านเข้าสู่รอบน็อกเอาท์ได้เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ก่อนเข้าไปพ่ายสเปน 7-1 ซึ่งหลังจบเกมนัดนั้น สุรพงษ์ ทมพา นายทวารกัปตันทีมวัย 33 ปี ประกาศลาทีมชาติ… กฤษดา วงษ์แก้ว คือ คนที่ถูกดันขึ้นมาทำหน้าที่ กัปตันทีมชาติคนต่อไป

“มันเขินตัวเองเหมือนกันนะ เพราะกัปตันทีมพวกพี่ๆ ก่อนหน้าผม เขาทำไว้ดีมาก ส่วนผมเพิ่งอายุแค่ 24 ปี แต่ต้องมาทำหน้าที่นี้ ผมก็เลยเอามันมาเป็นแรงผลักดัน ทำให้ตัวเองมีความรับผิดชอบ มีความมุ่งมั่นมากขึ้น เพื่อเอาชนะปลอกแขนที่ผมใส่อยู่ให้ได้”

“ผมไม่อยากให้ใครมาดูถูกได้ว่า ‘มึงใส่ปลอกแขนกัปตันทีมชาติไทยทำไมวะ ถ้าเล่นได้แค่นี้’ มันฝังอยู่ในหัวผมตลอดเลยว่า ‘ผู้นำต้องมีความรับผิดชอบ’ ไม่ว่าจะเป็นการใช้ชีวิตหรือทำอะไร ผมจะมาทำตัวแบบเมื่อก่อนไม่ได้ ผมเป็นกัปตันทีม ถ้าผมไม่ทุ่มเท ไม่ขยัน แล้วผมจะไปบอกคนอื่นในทีม ให้เขาทุ่มเทได้ยังไง”

ตำแหน่งกัปตันทีมชาติ ได้เปลี่ยนชีวิตและพฤติกรรมของ กฤษดา ไปโดยสิ้นเชิง จากเดิมที่เขาเคยไปซ้อมสาย ก็ต้องมาก่อนเวลา รวมถึงยังต้องเป็นคนที่คอยสื่อสาร กระตุ้นเพื่อนร่วมทีม และแสดงความรับผิดชอบ ความเป็นมืออาชีพออกมาเพื่อเป็นแบบอย่างแก่เพื่อนร่วมทีม และรุ่นน้องในทีม

d5
จากนักเตะดาวรุ่งธรรมดา ชื่อของ กฤษดา วงษ์แก้ว เริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้น จากความสำเร็จของ ชลบุรี บลูเวฟ ที่คว้าแชมป์ลีกได้ต่อเนื่องหลายสมัย และเคยไปไกลถึงแชมป์สโมสรทวีปเอเชีย เช่นเดียวกับ ความสำเร็จของทีมชาติไทย ในช่วงเวลาที่เขาเป็นกัปตัน อีกนับไม่ถ้วน ทั้งตำแหน่ง อันดับ 3 ของเอเชีย, แชมป์อาเซียนอีก 5 สมัย, ซีเกมส์ อีก 2 สมัย, อันดับ 3 เอเชียน อินดอร์เกมส์ รวมถึงการผ่านเข้ารอบ 16 ทีมฟุตซอลโลกได้อีกหนึ่งสมัย

ทั้งหมดล้วนเป็นความสำเร็จ ที่ผ่านการชูถ้วยรางวัลเหนือศีรษะโดย “กัปตันช้าง” นักฟุตซอลที่ไม่เคยอยู่กับความฝัน แต่ใช้ความพยายาม ความมุ่งมั่น และบทเรียนทุกๆ อย่างที่เขาได้เรียนรู้ในชีวิตจากโลกของกีฬาช่วยเนรมิตทุกอย่าง ให้เกิดขึ้นในความเป็นจริง

“ฟุตซอลเป็นบทเรียนที่ดี ในการสอนให้ผมได้รู้จักการต่อสู้ เพื่อคว้าโอกาส ถ้าเราไม่มุ่งมั่น ไม่พยายาม ไม่พัฒนาตัวเอง เราอาจหลุดจากรายชื่อ 14 คนได้ ฟุตซอลสอนให้ผมรู้จักการวางแผน รู้จักเตรียมตัวให้ดี รักษามาตรฐานว่า ทำยังไงถึงได้อยู่ใน 14 ที่นั่งให้ได้นานที่สุด เพราะอาชีพนักกีฬาไม่ได้ยั่งยืนนัก และต้องรับมือกับทุกความเปลี่ยนแปลงให้ได้”

“มันฝังอยู่ในหัวผมตลอดเลยว่า ‘ผู้นำต้องมีความรับผิดชอบ’ ไม่ว่าจะเป็นการใช้ชีวิตหรือทำอะไร ผมจะมาทำตัวแบบเมื่อก่อนไม่ได้ ผมเป็นกัปตันทีม ถ้าผมไม่ทุ่มเท ไม่ขยัน แล้วผมจะไปบอกคนอื่นในทีม ให้เขาทุ่มเทได้ยังไง” กฤษดา วงษ์แก้ว กล่าวทิ้งท้าย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook