การเรียนรู้ตลอด 2 ทศวรรษของหญิงแกร่งวอลเลย์บอลไทย "ปลื้มจิตร์ ถินขาว"

การเรียนรู้ตลอด 2 ทศวรรษของหญิงแกร่งวอลเลย์บอลไทย "ปลื้มจิตร์ ถินขาว"

การเรียนรู้ตลอด 2 ทศวรรษของหญิงแกร่งวอลเลย์บอลไทย "ปลื้มจิตร์ ถินขาว"
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ถ้าเอ่ยถึง วอลเลย์บอลหญิงไทย ก็ต้องนึกถึง ปลื้มจิตร์?

นี่ไม่ใช่คำพูดที่เกินจริงไปสักนิด หากเทียบกับผลงาน ตลอดการยืนระยะรับใช้ทีมชาติไทย อย่างยาวนานของ “หน่อง - ปลื้มจิตร์ ถินขาว” นักตบลูกยางสาววัย 35 ปี  

เธออยู่ในทุกๆช่วงเวลาของ ทีมวอลเลย์บอลหญิงทีมชาติไทย ตั้งแต่ในยุคที่ยังไม่ได้รับความสนใจ มีคนติดตามเชียร์เพียงแค่กลุ่มเล็กๆ ไม่มีคนไทยไปตามให้กำลังใจในการแข่งขันต่างแดน ไม่มีแม้กระทั่งข่าวสารออกทางทีวี หรือคนไปรอ-รับส่งที่สนามบิน อย่างที่เราเห็นทุกวันนี้

 

มาถึงยุคที่ “ทีมนักตบสาวไทย” สร้างชื่อเสียง ความสำเร็จมากมายแก่ประเทศชาติ ในรายการระดับทวีปเอเชียและทัวร์นาเมนต์ระดับโลก ปลื้มจิตร์ ก็ยังคงลงเล่น และเป็นกำลังสำคัญในการช่วยพาทีมวอลเลย์บอลหญิงทีมชาติไทย ประสบความสำเร็จ อย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อนในประวัติศาสตร์ จนขึ้นแท่นกลายเป็น ทีมกีฬามหาชนที่ครองใจคนไทย ทุกเพศ ทุกวัย

เบื้องหลังเหรียญรางวัล เกียรติยศมากมายตลอดการเล่นกีฬา วอลเลย์บอล ล้วนมีที่มาจากประสบการณ์และสิ่งที่เธอได้เรียนรู้ จากกีฬาวอลเลย์บอล ที่เป็นเปรียบดั่งคุณครู ผู้บ่มเพาะเด็กผู้หญิงคนหนึ่ง ให้กลายมาเป็น นักกีฬาหญิงแกร่ง ที่พร้อมฝ่าฟันทุกอุปสรรค ไปสู่เส้นชัยความสำเร็จ

เป็นปลาอย่าเลือกน้ำ

“เราโดนปลูกฝังมาตั้งแต่เด็กให้ชอบเล่นกีฬา และเราก็สนุกกับมัน ที่บ้านมีทุกอย่างให้เล่นทั้งฟุตบอล แบดมินตัน บาสเกตบอล ตะกร้อ ปิงปอง มีหมดทุกอย่าง ยกเว้นวอลเลย์บอล” ปลื้มจิตร์ ย้อนความหลังถึงชีวิตในวัยเด็กที่ได้รับอิทธิพล ความชื่นชอบในการเล่นกีฬามาจาก วันชัย ถินขาว ผู้เป็นพ่อ

 1

อดีตข้าราชการประมง จัดการเนรมิตพื้นที่หน้าบ้านตัวเองใน อ.ไชโย จ.อ่างทอง ทำเป็นลานกีฬา เริ่มจากการเอาแป้นบาสฯ มาติดไว้ที่ต้นมะม่วง เปลี่ยนโฉม โต๊ะกินข้าวแนวยาว ให้เป็นโต๊ะเทเบิลเทนนิส, ซื้อตาข่ายมาขึงกับเสา ไว้กั้นเป็นเนต ตีแบตฯ

รวมถึงถอนต้นมะม่วงหน้าบ้านทิ้ง ทำเป็นสนามฟุตบอลขนาดย่อมๆ ให้ลูกสาวและลูกชายได้เล่นกีฬา ร่วมกับเด็กๆ ในชุมชน

“เราเป็นเด็กผู้หญิงคนเดียว ที่เตะบอลเล่นกับเด็กผู้ชายในหมู่บ้าน จนขึ้นชั้น ม.1 เราได้เป็นนักปิงปองของโรงเรียน แต่พ่อบอกให้เราเปลี่ยนมาฝึกเล่นวอลเลย์บอลแทน เพราะในอนาคตวอลเลย์บอลจะรุ่งกว่าปิงปอง”

“ตอนนั้นเราไม่ได้ชอบวอลเลย์บอลเลย  แม้แต่อันเดอร์บอล เราก็ทำไม่เป็น พ่อก็ไปซื้อวอลเลย์บอลมาหนึ่งลูก มาเรียนวิธีอันเดอร์กับพ่ออยู่สองวัน แล้วไปคัดตัว ปรากฎว่าติดทีมโรงเรียน ไม่ใช่เพราะเราเก่ง แต่ติดเพราะส่วนสูงได้ ก็ขนเสื้อผ้าย้ายมาอยู่ประจำที่โรงเรียน”

การไม่มีทักษะติดตัว นับเป็นอุปสรรคแรก ในการเล่นวอลเลย์บอลของ ปลื้มจิตร์ เธอแทบไม่ได้รับโอกาสลงสนามในการแข่งขันจริงตลอดปีแรกที่อยู่กับ ทีมโรงเรียนอ่างทองปัทมโรจน์ จนตัดสินใจขอออกจากทีม กลับมาใช้ชีวิตเป็นนักเรียนเหมือนเด็กคนอื่นๆ ตอนอายุ 14 ปี

แต่ด้วยสรีระร่างกายที่สูงกว่าเด็กผู้หญิงคนอื่นในทีม เพราะชอบดื่มนม ก็ทำให้คุณครู เรียกตัว ปลื้มจิตร์ กลับมาร่วมทีมอีกครั้งหลังห่างหายไป 1 ปี ในช่วงชั้น ม.3

ก่อนที่เธอจะต่อยอด เข้ามาเล่นวอลเลย์บอลในเมืองกรุง และเรียนต่อที่ โรงเรียนบดินทร์เดชา (สิงห์ สิงหเสนี) ในช่วง ม.ปลาย จนมีชื่อถูกเรียกเข้าไปติด ทีมเยาวชนทีมชาติไทย รุ่นอายุไม่เกิน 17 ปี แต่การติดทีมชาติครั้งนั้น เธอเป็นแค่เพียงตัวสำรองของ วิลาวัลย์ อภิญญาพงศ์

ไม่น่าเชื่อว่า จากตัวสำรองในทีมชาติระดับเยาวชน เพียงแค่ปีเดียว ปลื้มจิตร์ ถูกดันขึ้นมาเล่นให้ ทีมชาติชุดใหญ่ ก่อนเพื่อนๆ เยาวชนทีมชาติรุ่นเดียวกัน ในปี 2001

เหตุผลที่เธอถูกเลือกครั้งนั้น ไม่ใช่เพราะเธอมีความสามารถเก่งกว่าเพื่อนร่วมทีม แต่เป็นเพราะที่ ความขยัน ความอดทน ระเบียบวินัย และการรู้จักปรับตัวได้ดี เหมือนกับคำสอนหนึ่งที่เธอจำได้ขึ้นใจ

“ตอนที่อยู่ บดินทรเดชา ที่ทีมชาติเรียกเข้าไปเก็บตัว เราแบบ ทีมชาติคืออะไร? แต่เพื่อนๆกับอาจารย์ที่โรงเรียนตื่นเต้นกันมาก”

“อาจารย์ด่วน - ดนัย ศรีวัชรเมธากุล (เฮดโค้ชวอลเลย์บอลหญิงทีมชาติไทย คนปัจจุบัน) จะคอยบอกกับดาวรุ่งทุกคน ในช่วงที่เข้ามาเก็บตัวกับทีมชาติว่า ‘เป็นปลาอย่าเลือกน้ำ’ ถ้าเราเป็นรุ่นน้อง เราก็ต้องซ้อมให้เยอะกว่า ขยันให้มากกว่ารุ่นพี่”

“การมาได้อยู่ร่วมกันในทีมชาติ ไม่มีทางที่โค้ชจะสามารถออกแบบการฝึกซ้อม ให้ผู้เล่นทุกคนพอใจได้ หน้าที่ของนักกีฬา คือ ทำตามที่เขาโค้ชบอก เหมือนเป็นปลาที่ไม่เลือกน้ำ ปรับตัวได้กับทุกรูปแบบ ตอนแรกๆ เราก็คิดไม่ได้หรอกว่าที่แกพูด หมายถึงอะไร จนตอนอายุมากขึ้น เราถึงได้เข้าใจความหมายของคำนี้แล้ว”

 2

ความจริง ปลื้มจิตร์ เริ่มต้นเข้าสู่แคมป์เยาวชนทีมชาติ ด้วยตำแหน่งบอลโค้ง (Wing Spiker / Opposite spiker) แต่เธอก็เล่นไม่ได้โดดเด่นนัก เนื่องจาก ยังไม่สามารถตบได้หนักหน่วงนัก

โค้ชอ๊อด - เกียรติพงศ์ รัชตเกรียงไกร หัวหน้าผู้ฝึกสอนทีมชาติไทย (ในเวลานั้น) แนะนำให้ ปลื้มจิตร์ ลองปรับเป็นมาฝึกเล่นตำแหน่ง บอลเร็ว (Middle Blocker) ที่เหมาะสมกับสรีระของเธอ แม้จะต้องฝึกฝนอย่างหนัก เพื่อเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ ในตำแหน่งที่ไม่เคยเล่นมาก่อน

“ในชุดเยาวชนทีมชาติ เราเป็นสำรองของสำรองของสำรอง สำรองกิ๊ฟนี่แหละ แต่ก่อนเล่นตัวโค้ง ตำแหน่งเดียวกับกับกิ๊ฟ ตัวก็ผอมแห้งตบไม่หนัก แต่ติดทีมเพราะว่าหุ่นได้ เป็นตัวสำรองแทบไม่ได้ลง ช่วงหลังอ.อ๊อด เห็นหุ่นเราแล้วเลยเปลี่ยนให้ไปเล่นตำแหน่งบอลเร็ว ตำแหน่งที่เราเล่นอยู่ทุกวันนี้”

“อาจารย์อ๊อด ตอนนั้นมีชื่อเสียงมากว่าเป็นคนที่ซ้อมโหดมาก แต่เราก็รู้สึกเฉยๆ เราอยู่ได้ เราเป็นเด็กที่อดทนอยู่แล้ว เราไม่เคยตั้งเป้าหมายว่า จะต้องติดทีมชาติให้นานที่สุด เขาให้อะไรทำ เราทำหมดทุกอย่าง เราไม่มีพรสวรรค์ แต่มีความอดทนสูง ซึ่งก็เป็นแบนนั้นจริงๆ ตลอดชีวิตเราผ่านการเล่นอาชีพมาหลายประเทศ แต่ก็ไม่มีที่ไหนฝึกหนักเท่า อาจารย์อ๊อด อีกแล้ว ถ้าผ่านตรงนี้ได้ เราจะไปตรงไหนก็ได้”

ท้ายที่สุด ปลาที่ไม่เลือกน้ำเช่นเธอ ก็สามารถก้าวขึ้นมาเป็นผู้เล่นตัวจริง 6 คนแรก ในนามทีมชาติชุดใหญ่ ตั้งแต่อายุ 18 ปี ในตำแหน่งบอลเร็ว ซึ่งเป็นตำแหน่งที่ทำให้ คนไทยทั่วประเทศรู้จักชื่อ ปลื้มจิตร์ ถินขาว

ร่างกายต้องอดทน จิตใจต้องเข้มแข็ง

“ตอนนั้นเป็นช่วงที่เหนื่อยมาก เพราะเรายังแบ่งเวลาไม่เป็น เช้าก็ต้องตื่นมาซ้อม ซ้อมเสร็จนั่งรถเมล์ไปเรียน พอเรียนเสร็จ ก็กลับมาซ้อมต่ออีกหลายชั่วโมง เราบอกแม่ว่า ไม่ไหวแล้ว อยากเลิกเล่น แม่ก็ไม่ได้ว่าอะไร แล้วแต่เรา ถ้าอยากเรียนอย่างเดียวก็ได้”  

 3

ปลื้มจิตร์ เล่าถึงช่วงเวลาเกือบถอดใจเลิกเล่นทีมชาติ ตั้งแต่อายุยังน้อย เพราะเธอต้องเรียนระดับปริญญาตรีที่ ม.รัตนบัณฑิต ควบคู่กับการมาฝึกซ้อมเช้า-เย็น เก็บตัวร่วมกับ ทีมวอลเลย์บอลหญิง ทีมชาติไทย แทบทุกวัน  

“แต่พอได้นอนตื่นเช้ามา ความเหนื่อยมันหายไป พอซ้อมเสร็จไปเรียน กลับมาซ้อมตอนเย็น ก็เหนื่อยอีก วนลูปอยู่แบบนี้ แต่สุดท้ายเราก็อดทนมาได้ จนเรียนจบ หลังจากนั้น ก็รู้สึกว่าเราเลิกเล่นวอลเลย์บอลไม่ได้แล้ว มันกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเราไปแล้ว”

ความอดทน ทำให้เธอก้าวข้ามช่วงเวลาและบททดสอบที่ยากลำบากไปได้ รวมถึงยังเป็นคุณสมบัติติดตัว ที่เธอใช้เพื่อเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ ที่โค้ชสอนเธออย่างอดทน จนสามารถเล่นบอลเร็วที่ชาญฉลาด, มีจังหวะกระโดดบล็อกที่แม่นยำ รวมถึงการกระโดดเสิร์ฟ

อาจกล่าวได้ว่า ปลื้มจิตร์ เป็นนักตบลูกยางสาวคนแรกๆของไทย ที่กล้าเสิร์ฟลักษณะนี้ ตั้งแต่เมื่อหลายสิบปีก่อน จนกลายมาอีกหนึ่งทีเด็ดที่เธอใช้เล่นงานคู่แข่ง

“เวลากระโดดเสิร์ฟในทีมชาตินี่ตื่นเต้นมาก แล้วล็อคชอบหมุนลงไปช่วงที่แต้มประมาณ 23-24 คนที่จะกระโดดเสิร์ฟได้ดี ต้องอาศัยการฝึกให้ชำนาญ และต้องมีจิตใจที่เข้มแข็ง ความจริง อ.อ๊อด ก็ให้ทุกคนฝึกกระโดดเสิร์ฟ แต่ว่าพอถึงสถานการณ์จริงในการเล่นทีมชาติ มันมีความกดดันสูงมาก บางคนต้องเลือกที่จะเอาชัวร์ไว้ก่อน การกระโดดเสิร์ฟเหมือนเป็นการวัดใจตัวเอง ถ้าลูกข้ามเนตไป ไม่ออกหลัง ก็มีโอกาสได้แต้มสูง แต่ถ้าพลาด ก็มีโอกาสเสียแต้มสูงเช่นกัน”

“ทุกครั้งก่อนกระโดดเสิร์ฟ เราคิดว่าลูกนี้ต้องได้แต้ม ต้องใส่ความมั่นใจเข้าไป หากเรากลัวว่าลูกนี้จะเสิร์ฟเสีย กลัวเสิร์ฟพลาด แล้วทีมแพ้ ประเทศชาติล่มจม รับรองว่าลูกนั้นเสิร์ฟเสียแน่นอน คนที่ยืนเสิร์ฟตรงนั้นมันกดดันอยู่แล้ว ยิ่งคะแนนตามหลัง เขาขอแต้มที่ 25 จะชนะเรา ถ้าเราเสิร์ฟพลาด ทีมแพ้เลย แต่ในสถานการณ์แบบนี้แหละ เรายิ่งต้องมั่นใจว่า ลูกนี้เราจะเสิร์ฟเอซ เอาแต้มคืนมาให้ได้”

บทเรียน จากในทุกครั้งที่ต้องกระโดดเสิร์ฟของ ปลื้มจิตร์ สอนให้เธอได้รู้ว่า ในบางครั้งชีวิตคนเราอาจจะต้องยอมเสี่ยง เพื่อแลกกับผลลัพธ์บางอย่างที่ดีกว่า และความแข็งแรงด้านร่างกาย การฝึกฝนอย่างสม่ำเสมอ คงไม่เพียงพอ ที่ทำให้ความเสี่ยงจะเกิดความผิดพลาดลดลงไป...

หากปราศจาก ความแข็งแกร่งด้านจิตใจ ที่เราต้องเสริมสร้างมันขึ้นมาเอง

ไม่มีใครเป็นผู้แพ้ตลอดกาล และผู้ชนะตลอดไป

“ช่วงก่อนที่เราจะชนะ จีน ได้แชมป์เอเชีย ในปี 2009 ความพ่ายแพ้ เป็นเรื่องปกติมากของทีมชาติไทย อย่างใน เวิลด์กรังด์ปรีซ์ ไปแข่งทีไร ก็แพ้ตลอด ได้ที่โหล่เกือบทุกครั้ง อย่างดีที่สุด คือชนะแค่เกมเดียว”

 4

8 ปีแรกในการติดทีมชาติของ ปลื้มจิตร์ ถินขาว อาจต้องพบเจอกับผลการแข่งขันที่ไม่ดีนัก แต่พวกเธอก็ไม่เคยยอมแพ้ ยังคงพยายาม ทุ่มเทอยางหนัก โดยอาศัยทีมเวิร์กที่ดี

ทีมวอลเลย์บอลหญิงทีมชาติไทย ก็ค่อยๆเปลี่ยนแปลงผลการแข่งขัน จากชาติที่แพ้มากกว่าชนะ เริ่มสะกดคำว่า ชนะ ได้มากขึ้นเรื่อยๆ จนในที่สุดก็ประสบความสำเร็จ คว้าแชมป์เอเชีย 2 สมัยในปี 2009 และ 2013

ผลพวงที่ตามมา คือ สื่อทุกสำนักในประเทศ ตีข่าวความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ของ ทีมนักตบหญิงไทย แฟนกีฬาทั่วประเทศให้ความสนใจในทุกๆรายการที่ ทัพวอลเลย์บอลหญิงทีมชาติไทยลงแข่งขัน มีแฟนคลับจำนวนหนึ่งติดตามทีมชาติไปเชียร์ แม้รายการแข่งขันในต่างประเทศ

แต่ถึงแม้ ไทย จะไปถึงตำแหน่งเบอร์ 1 ทวีปของเอเชีย ก็ไม่ได้หมายความว่า พวกเธอจะไม่มีวันได้กลับมา ลิ้มรสชาติของความพ่ายแพ้อีกครั้ง โดยเฉพาะกับรายการที่ทุกคนในทีมคาดหวัง อย่างการคว้าสิทธิ์ไปเล่นรอบสุดท้ายใน โอลิมปิก เกมส์ ให้ได้เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์

“ช่วงหลังทีมเรามีมาตรฐานที่ดีขึ้น เราฝึกซ้อมกันหนักมาก เพราะเราหวังว่าอยากไปโอลิมปิกส์ ให้ได้สักครั้ง แต่เราก็ต้องพบกับความผิดหวัง ในการคัดเลือกทั้งสองครั้ง ความเห็นส่วนตัว เรารู้สึกว่า เราไม่ได้แพ้พวกเขาเพราะฝึมือ แต่มีปัจจัยอื่นเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย”

“ครั้งแรกตอนปี 2012 ก็ไม่ได้ไปเพราะเขารู้กัน (ญี่ปุ่น แพ้ เซอร์เบีย นัดสุดท้าย เงื่อนไขเดียวที่ทำให้ ไทย ตกรอบ) แต่ครั้งที่สอง ปี 2016 มันเสียใจยิ่งกว่าอีก จะบอกว่าเสียใจที่สุดตั้งแต่เล่นทีมชาติมาก็ว่าได้ แต่เรายังเหลือโปรแกรมนัดสุดท้าย ที่ต้องเล่นกับเปรู ซึ่งไม่มีผลอะไรแล้ว”

“เกมนั้นเหมือนเล่นไป ร้องไห้ไป แต่เราก็สู้จนชนะ 3-0 เซ็ต จบเกมทุกคนมองหน้ากันแล้วก็ร้องไห้ เพราะเหมือนกับความฝันของพวกเรามันจบแล้ว นี่อาจเป็นโอลิมปิกส์ครั้งสุดท้ายในชีวิตของหลายๆคน เราก็ไม่รู้ว่าตัวเองอยู่ถึง การคัดเลือกโอลิมปิกส์ ในอีก 4 ปีข้างหน้าหรือไม่”

โอลิมปิก เกมส์ คือเป้าหมายสูงสุดเพียงอย่างเดียวที่ ทีมวอลเลย์หญิงทีมชาติไทย ยังคงไปไม่ถึงฝั่งฝัน ต่อให้เธอจะมีความแข็งแกร่งด้านจิตใจเพียงใด ผ่านร้อน ผ่านหนาว มามากแค่ไหน แต่ในวันที่ความผิดหวังครั้งใหญ่ มากระทบหัวใจ

การฟื้นตัวจากความเสียใจครั้งนั้น ก็เป็นดั่งบทเรียนชั้นดี ที่ทำให้ให้พวกเธอแข็งแกร่งขึ้นกว่าเดิม หลังผ่านพ้นความผิดหวังจากการพลาดตั๋วโอลิมปิกส์ 2016

“เราก็พยายามปลอบใจตัวเองและทุกคนในทีมว่า ‘ชีวิตนักกีฬาไม่แพ้ก็ชนะ แต่การแพ้ครั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าเราจะแพ้ตลอดไป’ ถึงจะแพ้ แต่ไม่ได้แปลว่าทุกอย่างในชีวิตเราจะสิ้นสุดสักหน่อย”

“กีฬาก็เป็นแบบนี้แหละ วันนี้ชนะดีใจ พรุ่งนี้แพ้ก็เสียใจ เก็บเอาความผิดหวัง มาเป็นบทเรียน ถ้าเราทำตัวเองให้เก่งขึ้น ต่อให้ใครจะโกงยังไง เขาก็เอาชนะเราไม่ได้ ฉะนั้นเราต้องกลับมาทำงานหนัก ตั้งแต่การฝึกซ้อม ต้องเต็มที่ให้มากกว่าตอนแข่ง เพื่อให้ตัวเองพร้อมมากที่สุดก่อนลงแข่งขัน”

อยู่ทน อยู่นาน อยู่ด้วยคุณภาพ

“สิ่งที่ทำให้เราเล่นทีมชาติ มาได้ยาวนานขนาดนี้ คงเป็น วินัย วินัยคือสิ่งที่ทำให้เรารักษาร่างกายมาได้จนถึงทุกวันนี้” ปลื้มจิตร์ กล่าวเริ่ม

“ช่วงนั้นเราคิดว่าเราพีคแล้วนะ แต่หลังจากนั้นแปลกมาก เราไม่มีอาการบาดเจ็บ ปกติจะมีปัญหาเรื่องหลัง เหมือนกระดูกโครงสร้างเราไม่ดี เจ็บหลังทุกปี แต่ตั้งแต่นั้นมา เราไม่เจ็บอีกเลย กลายเป็นว่าทุกวันนี้ร่างกายเราดีมากกว่าตอนวัยรุ่นอีก”

 5

เธอบอกกับเราถึงเรื่องน่าเหลือเชื่ออย่างหนึ่งเกี่ยวกับร่างกายของตัวเอง ที่ไม่มีอาการบาดเจ็บรบกวนเลยในวัยย่าง 36 ปี แถมสภาพความฟิต ความยืดหยุ่นของร่างกาย และความเร็วในการเล่น ยังทำได้ดีกว่าช่วงพีคของคนทั่วไป ที่อยู่ระหว่างช่วงอายุ 24-27 ปี เสียอีก

ปลื้มจิตร์ ไม่มีเคล็ดลับ หรือยาวิเศษใดๆ หากมีก็คงเป็น วินัยที่เธอซ้อมเต็มที่ในทุกครั้ง เธอยกตัวอย่างว่า โค้ชอนุญาตให้เธอไม่ต้องตีบอล 10 ลูกเท่ากับรุ่นน้อง ตีแค่ 8 ลูกก็พอ แต่เธอยังเลือกที่จะปฏิบัติเท่าเดิม

เช่นกันกับการดูแลตัวเองทั้งเรื่องอาหารการกิน การพักผ่อน แม้แต่ในช่วงที่โค้ชปล่อยให้พักเบรกทีมชาติ ไม่มีโปรแกรมแข่งกับสโมสร เธอก็จะหาเวลาว่าง ไปออกกำลังกายอยู่สม่ำเสมอ เพื่อรักษาความฟิต

“ปีนี้เข้าปีที่ 19 แล้วสำหรับทีมชาติชุดใหญ่ ถ้ารวมตอนติดเยาวชนทีมชาติก็ 20-21 ปี รู้สึกโชคดีเหมือนกันปีนี้ อายุ 35 ย่างเข้า 36 แต่ไม่ได้รู้สึกว่าร่างกายไม่ไหว เรายังโอเคอยู่ ยังเล่นไหวอยู่ เราถึงบอกไงว่า นักกีฬาถ้าอยากยืนระยะได้นานๆ ต้องมีวินัย”

“วินัยคืออะไร? วินัยก็คือ ความรับผิดชอบ การแบ่งเวลา การฝึกซ้อม และอะไรอีกหลายๆอย่าง ถ้าไม่มี หรือ มีไม่พอ เราเล่นทีมชาติได้ก็จริง แต่ก็จะมีช่วงพีคแป๊ปเดียว แล้วสักพักก็จะหายไป” ตัวเลข 19 ปี ในนามทีมชาติชุดใหญ่ คงขยายคำพูดนี้ของ ปลื้มจิตร์ ได้เป็นอย่างดี

ต้นแบบของหญิงแกร่ง ที่ลงมือทำมากกว่าพูด

“หน่องเคยบอกโค้ชตั้งแต่ก่อนจะเปลี่ยนกัปตันแล้วว่า เราไม่ชอบการเป็นหัวหน้าทีม แต่ผู้ใหญ่เขาต้องการให้เรามาฝึกความเป็นผู้นำ เพราะเขาเห็นความมีวินัยในตัวเรา ที่เราสามารถเป็นแบบอย่างให้น้องๆได้ โดยที่ไม่ต้องพูด แต่เราลงมือทำให้เห็นเลย”

 6

จากวันแรก เธอที่เป็นน้องเล็กสุดในแคมป์ทีมชาติชุดใหญ่ เมื่อ 19 ปีที่แล้ว...ในวันนี้ ปลื้มจิตร์ กลายเป็นพี่ใหญ่ของทีม พร้อมได้รับการแต่งตั้งให้ทำหน้าที่ กัปตันทีมชาติไทย ต่อจาก วิลาวัลย์ อภิญญาพงศ์ เพื่อนสนิทของเธอที่ได้ทำหน้าที่ดังกล่าวมานานหลายปี

แม้จะเป็นตำแหน่งที่เธอปฏิเสธมาตลอด และไม่ได้คาดหวังว่าจะได้เป็น แต่เพราะการเป็นแบบอย่างที่ดี ในการทำงานอย่างมีระเบียบวินัย ก็ทำให้เธอได้รับเกียรติยศดังกล่าว

เหนือสิ่งอื่นใด ระเบียบวินัยที่เธอยึดมาตลอดในทุกการฝึกซ้อม ทุกครั้งที่ลงแข่งขัน ตลอดหลายสิบปี ได้ทำให้เธอ กลายเป็น ภาพลักษณ์ของผู้หญิงแกร่ง ที่ทำให้สังคมไทยเห็นว่า ผู้หญิงก็มีความสามารถและความแข็งแกร่งไม่แพ้ผู้ชาย จากความสำเร็จที่เธอร่วมสร้างกับ ทีมวอลเลย์บอลหญิงทีมชาติไทย

“ส่วนใหญ่ก็จะมีแฟนคลับเป็นป้าๆ แม่ๆ เห็นเราเป็นไอดอล เพราะเขาไม่คิดว่า เราจะเก่งถึงขั้นไปสู้กับผู้หญิงต่างประเทศได้ขนาดนี้ ในขณะที่ผู้ชายบางคนยังอดทนหรือทำอะไรได้ไม่เท่าเรา”

“ในมุมมองของเรา ทุกวันนี้ผู้หญิงไม่ได้ด้อยไปกว่าผู้ชายแล้ว ผู้หญิงสามารถดูแลตัวเองได้ เอาตัวรอดเองได้ และด้วยการที่เราเป็นนักกีฬาหญิง ก็พิสูจน์ให้ผู้คนเห็นแล้วว่า ผู้หญิงแข็งแกร่งขนาดไหน”

จากเด็กที่ไม่เคยมีความชอบในกีฬาวอลเลย์บอล ปัจจุบันวอลเลย์บอล เป็นมากกว่าความรัก แต่มันคือทั้งชีวิตของเธอ ในวัย 35 ย่าง 36 ปี ปลื้มจิตร์ ถินขาว ยังไม่มีความคิดวางมือจาก กีฬา ที่มอบบทเรียน ประสบการณ์มากมายให้กับเธอ มามากกว่าครึ่งชีวิต

แม้ต้องยอมสูญเสียบางช่วงเวลาของวัยเด็กและวัยรุ่น แต่เมื่อมองย้อนกลับไป ปลื้มจิตร์ ทิ้งท้ายกับเราว่า เธอไม่มีความรู้สึกเสียดายที่ได้มาเล่น กีฬาวอลเลย์บอล อย่างยาวนานกว่า 2 ทศวรรษ

“การเล่นวอลเลย์บอลให้กับทีมชาติมานาน มันก็ได้อย่าง เสียอย่าง สิ่งที่เสียไป คือเราไม่มีชีวิตวัยรุ่น ไม่มีเพื่อนสนิทในโรงเรียน เพราะต้องใช้ชีวิตอยู่กับเพื่อนนักวอลเลย์ เราไม่มีโมเมนท์ที่จะได้ไปกินข้าว ไปติวหนังสือ ไปดูหนังกับเพื่อนที่โรงเรียน พอขึ้นมหา’ลัยก็ซ้อมแล้วก็ไปแข่ง ไม่ได้มีชีวิตในแบบที่วัยรุ่นควรจะเป็น”

“แต่การที่เสียสิ่งเหล่านี้ไป เมื่อเทียบกับสิ่งที่เราได้มา มันคุ้มค่ากว่าเยอะมาก เราโตกว่าเด็กคนอื่น เพราะต้องรับผิดชอบ ต้องแบ่งเวลาให้เป็นทั้ง เรียน เล่นกีฬา ไหนจะการปรับตัวให้อยู่ร่วมกับคนอื่น เพราะในทีมเรา อยู่ด้วยกันตลอด 24 ชม. ทะเลาะกันก็ต้องรีบปรับความเข้าใจกัน”

“ถ้าเราไม่ได้เล่นวอลเลย์ ชีวิตนี้ ยังไม่รู้ว่าจะได้ไปต่างประเทศหรือเปล่า  เพราะเป็นแค่เด็กบ้านนอกคนหนึ่ง ท้ายที่สุดเรามีความภาคภูมิใจ ที่ได้เป็นตัวแทนของคนไทย ไปแข่งวอลเลย์บอล และทำให้คนไทยทุกคนรู้จักเรา ในฐานะคนที่ทำประโยชน์เพื่อประเทศชาติ ไม่มีอะไรคุ้มค่าไปมากกว่านี้แล้ว”

อัลบั้มภาพ 7 ภาพ

อัลบั้มภาพ 7 ภาพ ของ การเรียนรู้ตลอด 2 ทศวรรษของหญิงแกร่งวอลเลย์บอลไทย "ปลื้มจิตร์ ถินขาว"

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook