บทเรียนชั้นครูของพ่อมดฟุตซอลรุ่นที่ 2 : "ศุภวุฒิ เถื่อนกลาง"

บทเรียนชั้นครูของพ่อมดฟุตซอลรุ่นที่ 2 : "ศุภวุฒิ เถื่อนกลาง"

บทเรียนชั้นครูของพ่อมดฟุตซอลรุ่นที่ 2 : "ศุภวุฒิ เถื่อนกลาง"
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

บนวัย 30 ปีของ อาร์ม- ศุภวุฒิ เถื่อนกลาง นักฟุตซอลทีมชาติไทย เจอบทเรียนในชีวิตมามากมาย…

 

เขาได้ชื่อว่านักฟุตซอล ที่เก่งที่สุดในประเทศไทย และเป็นไอค่อนของวงการโต๊ะเล็กไทยยุคใหม่ เขาได้รับฉายาว่าเป็น “พ่อมดฟุตซอลรุ่นที่ 2” ตั้งแต่ตัวเองอายุได้ 22 ปี อย่างไรก็ตาม กว่าจะฝ่าฟันจนมีทุกวันนี้ “ฟุตซอล” ก็เป็นครูสอนชีวิตให้เขาเสมอมา... ตั้งแต่เด็กจนถึงปัจจุบัน และมันยังไม่มีท่าที ว่าเขาจะเจอบทเรียนสุดท้ายเลย

Lesson 1 : ความสนุกคือบ่อเกิดแห่งความสามารถ

ศุภวุฒิ เถื่อนกลาง เด็กหนุ่มจากอำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี เติบโตมาจากครอบครัวที่รักและสนับสนุนให้เล่นกีฬาทุกอย่างในวัยเด็กเต็มไปด้วยความสนุกสนานอย่างที่ควรจะเป็น และ 1 ในความสนุกที่ทรงอิทธิพลกับวัยเด็กของเขามากที่สุดคือ "ฟุตบอล"

 1

"ผมเล่นฟุตบอลตั้งแต่เด็ก พ่อของผมซื้อลูกฟุตบอลไว้ให้ 1 ลูก ผมก็เอามันติดตัวตลอด ตอนนั้นต่อให้ผมเล่นคนเดียวก็ยังเล่นได้”

ด.ช.ศุภวุฒิ วัย 4 ปีได้ลงเเข่งขันแบบจริงๆจังๆ เป็นครั้งแรกในการแข่งขันระดับอนุบาล ...และ ด.ช. ศุภวุฒิ คนนี้ทำให้ทุกสายตาตกตะลึง

“ผมลงเเข่งขันครั้งแรกตอนอนุบาล 2 ผมยิงคนเดียว 9 ลูก แล้วพี่คิดดูนะว่าป้าๆน้าๆผมให้ผมลูกละร้อยถ้ายิงได้ ผมเลยลากไปยิงคนเดียวเลย" พ่อมดฟุตซอลเท้าความพร้อมเสียงหัวเราะอย่างอารมณ์ดี

“เด็กๆ ผมก็เล่นไปเรื่อย เพราะสนุกกับฟุตบอล แต่เพราะความสนุก มันทำให้ผมเก่งขึ้น ผมเล่นด้วยความสุขกับฟุตบอลทุกวัน ผมคิดว่าถ้าเราทำอะไรแบบไม่มีความสุข ไม่มีอารมณ์ร่วม เราก็คงไม่ได้เรียนรู้สิ่งๆนั้นได้เต็มที่หรอก แต่ผมก็คิดว่าครอบครัวผมสนับสนุนผมด้วยแหละ”

เมื่อรู้สึกสนุกคุณจะมีความสุข และเมื่อมีความสุขกับการทำสิ่งใด คุณจะสามารถทำสิ่งนั้นออกมาได้ดีโดยไม่รู้ตัว... นี่แหละ คือ บทเรียนแรกที่กีฬาได้มอบให้กับเขา

ความสามารถที่โดดเด่นยิ่งกว่าใคร นำมาซึ่งการแบ่งเบาภาระของครอบครัวแบบไม่รู้ตัว ฝีเท้าของ อาร์ม ในวัยเด็กทำให้เขาได้รับโควตานักกีฬามาตลอดชีวิตการเรียนหนังสือ จากประถม, สู่มัธยมศึกษาตอนต้น และสู่มัธยมศึกษาตอนปลาย...

“ฟุตบอล” พาเขาไปในที่ที่ใหญ่ขึ้น และได้เห็นโลกมากกว่าที่เคย

Lesson 2 : ไม่เสียสละ...ชัยชนะไม่เกิด

วัยเด็กของศุภวุฒิมีเพียง ซ้อม, แข่ง, และชนะ เขาคือสุดยอดนักกีฬาฟุตบอลในจังหวัดราชบุรี ไม่ว่าจะแข่งรายการใดสนามไหนเขาพร้อมแบกรุ่นเสมอ

 2

อย่างไรก็ตาม ฟุตบอลคือกีฬาที่ต้องใช้ผู้เล่น 11 คน โรงเรียนโพธาวัฒนาเสนี มีปัญหาในการส่งทีมเล่น ทุกครั้งที่พวกเขาไปแข่งกับทีมของโรงเรียนดังๆในกรุงเทพฯก็มักจะแพ้แบบสู้ไม่ได้กลับมาเสมอ เพราะศักยภาพผู้เล่นอยู่ระดับที่ "เล่นเป็น" มีแค่ครึ่งทีม ดังนั้นอาจารย์ สากล งามขำ จึงจำเป็นต้องลดขนาดทีม และเน้นไปที่การเเข่งขันฟุตซอลแทน และฟุตบอลโต๊ะเล็กนี่เอง ที่รีดศักยภาพของเขาออกมาอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย

ฟอร์มการเล่นของ ศุภวุฒิ ไปเข้าตาของ ชลบุรี บลูเวฟ ทีมฟุตซอลชื่อดังของประเทศดึงตัวไปร่วมทีม การได้เจอยอดนักฟุตซอลอย่าง เลิศชาย อิสราสุวิภากร, ภานุวัฒน์ จันทา และ อนุชา มั่นเจริญ การได้เห็นระดับการเล่นที่สูงที่สุดเท่าที่เคยเห็นมาทำให้เขาตบปากรับคำทันที และขอให้คุณพ่อรับหน้าที่คนขับรถเข้ากรุงเทพฯทุกวันจันทร์-ศุกร์ เพื่อฝึกซ้อมกับคนเหล่านั้น

ภาพของเด็กมัธยมฯ ที่อยู่ท่ามกลางดงเหล่าผู้เล่นระดับประเทศ ทำให้เขาฝันหวาน แต่ภาพนั้นก็อยู่ได้ไม่นาน เพราะบนเส้นทางนักฟุตซอลอาชีพไม่มีช่องว่างให้กับสิ่งอื่นๆมากมายนัก แม้กระทั่งเรื่องการเรียนอันเป็นสิ่งแรกที่สำคัญมากในสังคมบ้านเรา ขณะที่เรื่องการเที่ยวเล่นหาความบันเทิงอื่นๆ แบบวัยรุ่นทั่วไปนั้นยิ่งลืมไปได้เลย นี่คือเส้นทางที่มีไว้สำหรับคนที่มุ่งมั่น และยอมเสียสละบางอย่างในชีวิตไปเท่านั้น

ช่วงนั้นเป็นช่วงคาบเกี่ยวระหว่างใกล้จะจบมัธยมปลาย แต่เรื่องแบบนี้รอไม่ได้ ศุภวุฒิ ขอร้องอาจารย์ ไม่เข้าเรียนคาบสุดท้ายของทุกๆวัน เพราะต้องเดินทางไปซ้อมที่กรุงเทพฯ

"พอครูได้ยินตอนนั้นเขาด่านะ เขาไม่เข้าใจ เขาว่ากีฬาจะได้เงินสักเท่าไหร่ ถ้าคุณเจ็บขึ้นมามันก็จบ เรียนดีกว่า มีวิชาติดตัวจะได้เอาไปประกอบวิชาชีพ ตอนนั้นผมไม่โกรธครูนะ ผมเองก็เข้าใจที่เขาเตือน เพราะตอนนั้นมันไม่มีตัวอย่างนักกีฬาในเมืองไทยที่ประสบความสำเร็จจนร่ำรวย"

 3

แม้โรงเรียนจะไฟเขียวแล้ว แต่ปัญหาจริงๆ มันเกิดขึ้นหลังจากนั้นต่างหาก…

"ผมท้อนะ คือมันเดินทางไกลผมไปซ้อมเสร็จแล้วกลับถึงบ้าน 5 ทุ่ม มันท้อจนอยากเบี้ยวไม่อยากไปบ้าง อีกอย่างคือเรื่องของระบบซ้อม เด็ก ม.6 กับระบบอาชีพ มันต่างกันมาก พี่เขาซ้อมกันหนัก เขาไม่ได้เเกล้งนะมันเป็นไปตามเกมนั่นแหละ ร่างกายผมล้ามาก เพราะซ้อมเสร็จก็ต้องไปเรียนตั้งเเต่เช้าด้วย ผมไม่ได้ใช้ชีวิตแบบเพื่อนๆที่ตกเย็นก็ไปรวมตัวคุยเล่น เตะฟุตบอลกันไปเรื่อยๆหรอก ผมต้องนั่งรถเข้ากรุงเทพฯทุกวันไปฝึกซ้อม"

"ผมได้เงินเดือน 9,000 บาท แต่บ้านผมเติมน้ำมันก็ 7,000 บาทเเล้ว คือตอนนั้นที่บ้านแม่กับพ่อผมติดลบเลยนะ สุดท้ายผมเลยยอมแพ้ไม่ได้ ผมกล้าพูดเลยว่า ผมตั้งใจ และพยายามมากๆที่จะพาตัวเองไปให้ได้ไกลขึ้น”

"ตอนนั้นผมได้รู้ว่า เราต้องเสียสละอะไรบางอย่าง เพื่อให้ได้อะไรบางอย่างที่เป้าคาดหวังไว้กลับมา ตอนนั้นไม่ใช่แค่ผมที่ต้องเสียสละ แต่รวมถึงพ่อ-แม่ ผมด้วย มันเหมือนเป็นการเดิมพันของครอบครัว"  

 4

ความ "พยายาม" ของศุภวุฒิทำให้เขาได้รับผลตอบแทนไวกว่าที่เด็กอายุ 18 ปี ได้คิดไว้ วันแข่งขันวันหนึ่ง ประเสริฐ อินนุ้ย ตัวเก๋าของทีมโดนแบนและผู้เล่นตำแหน่งนั้นเหลือแค่เขาคนเดียว

"อาร์ม มึงลงเกมนี้ด้วยนะ" คำสั่งจากโค้ชเอ๋ - พัทยา เปี่ยมคุ้ม ดังขึ้นในวันซ้อมมื้อสุดท้ายก่อนแข่ง และเรื่องราวหลังจากก็คือจุดเริ่มต้นของประวัติศาสตร์

Lesson 3 : เหนือสิ่งอื่นใดคือใจเรา

ขวบปีที่ 2 กับ ชลบุรี เอฟซี ศุภวุฒิในวัยย่าง 20 ปี และติดทีมชาติไทยชุดคว้าแชมป์อาเซียนในปี 2008 ด้วยการเป็นนักเตะยอดเยี่ยมของทัวร์นาเม้นต์... ชื่อของเขาเริ่มติดปากคอบอล “โต๊ะเล็ก” ขึ้นมาบ้างเเล้ว

 5

ในยุคที่อินเตอร์เน็ตเริ่มเฟื่องฟู ศุภวุฒิ ก็ได้ฉายาที่ตัวเองไม่เคยคิดอยากจะได้นั่นคือ "พ่อมดฟุตซอล”

"มีคนเรียกผมว่าพ่อมดฟุตซอล... ตอนนั้นโคตรกดดันเลย เหมือนเขาให้เรามาเองโดยที่เราไม่ได้อยากได้เลย ผมยังเคยคิดเลยนะว่าถามกูรึยัง? ให้ฉายานี้เนี่ย (หัวเราะ)"

แต่เดิมนั้นฉายา "พ่อมดฟุตซอล" เป็นของ อนุชา มั่นเจริญ รุ่นพี่ในทีมชาติและสโมสร ซึ่งเป็นไอดอลของศุภวุฒิ มาตั้งแต่เด็ก

"คำว่าพ่อมด สำหรับผม มันต้องใช้กับคนที่เป็นที่สุดของที่สุด ตอนนั้นผมรู้สึกว่าคำนี้มันเกินตัวไป”

ศุภวุฒิ เรียกอนุชาว่า "พี่บัง" และยกย่องในสไตล์การเล่นที่เรียบง่ายแต่เฉียบขาด ราวกับว่า เสกประตูให้กับทีมได้อย่างง่ายดายสมฉายา เขาพยายามเรียนรู้ศาสตร์ และศิลป์จาก “พ่อมดฟุตบอลตัวจริง” แต่มันไม่ง่ายนัก… อนุชา มีบุคลิกที่พูดน้อย ไม่ค่อยสอนใครตรงๆ

"พี่บัง ไม่ค่อยสอนผมตรงๆหรอก เวลาจะสอนอะไรเขาจะบอกแบบเป็นปริศนาให้ผมเอาคิดต่อ ครั้งหนึ่งผมเคยขอเสื้อเบอร์ 7 เขา แต่เขาบอกกลับแค่ว่า ‘มึงไม่ต้องขอกูหรอก เดี๋ยวไม่นานเดี๋ยวมึงก็ได้มันเอง ซึ่งหลังจากนั้นไม่นาน ผมก็ได้ติดทีมชุดใหญ่ชลบุรี และมีเสื้อแข่ง เป็นของตัวเอง ผมก็เลยคิดว่า พี่เขาคงบอกให้เราพยายามให้หนักขึ้น เพื่อที่จะได้ลงเล่นนั่นแหละ ทุกๆอย่างอยู่ที่ตัว และใจเรา อะไรทำนองนี้’" 

 6

อีกเหตุการณ์หนึ่ง คือ เกมสำคัญกับ CAT เทเลคอม... โจทย์ของบลูเวฟ คือขอแค่เสมอ ทุกอย่างจบทันที พวกเขาจะเป็นแชมป์ฟุตซอลลีกอีกสมัย แต่กลับผิดเเผนเมื่อ CAT นำไปก่อน 1-0 และเวลาเดินหน้าไปเรื่อยๆจนถึงช่วง "4 วินาทีสุดท้าย"

บลูเวฟ ได้ลูกจุดโทษระยะที่ 2 นี่คือจุดโทษที่วัดใจคนยิงอย่างที่สุด เพราะสวรรค์กับนรกห่างกันแค่คืบเดียว

พี่ๆในทีมไม่มีใครกล้ายิง แต่มีเสียงจาก “พ่อมดฟุตซอล” ที่ตะโกนมาว่า "ไอ้อาร์ม มึงต้องยิงเเล้ว"… เสียงนี้เหมือนปลุกให้ศุภวุฒิตื่นขึ้นมา เขาจะไม่มีทางเป็นพ่อมดฟุตซอลได้แน่ หากมัวกลัวความผิดพลาด ดังนั้นเขาจึงรับอาสาทันที

หากเขาเอาชนะใจตัวเองตัดสินใจยิงลูกนี้ 1 ปีบนความกดดันจะสิ้นสุดลงทันที เขาคนเดียวเท่านั้นที่จะปลดเปลื้องมันได้

“ตู้ม!” 4 วินาที เปลี่ยนจากนรกกลายเป็นสวรรค์ ศุภวุฒิ ทำสำเร็จ… ปริศนาธรรมของพ่อมดฟุตซอลคนแรกถูกเฉลยออกมาอย่างชัดเจนเเล้ว

 7

“ผมเข้าใจสิ่งที่พี่บังต้องการสื่อกับผมมาตลอดก็คือวันนั้น… โอกาสย่อมเดินทางมาหาคนที่พยายามก่อนเสมอ อย่าไปคิดว่าโลกนี้ง่ายเกินกว่าจะเดินตามรอยคนอื่นทุกย่างก้าว พยายามให้หนักเข้าเพื่อตัวเอง และเมื่อถึงวันที่วิกฤติหรือโอกาสเดินทางมาเยือน คนที่พร้อมที่สุดเท่านั้นที่จะสามารถจัดการมันได้”

นั่นคือบทเรียนที่ทำให้เขารู้ว่า การเรียนรู้ที่จะเอาชนะทุกอุปสรรคด้วยตัวเองสำคัญที่สุด…

Lesson 4 : ทุกความท้าทายที่ฝ่าไปทำให้เราเก่งขึ้น

1 เหตุผลที่ส่งให้ศุภวุฒิ เป็นไอค่อนของวงการฟุตซอลไทย คือ เขาไม่ชอบอยู่กับที่ หากรู้ว่าที่ใดมีความท้าทายเขาพร้อมจะกระโดดใส่มัน และนั่นจึงเป็นเหตุผลที่ว่าทำไมเขาจึงออกจาก "เซฟโซน" และเลือกไปเจอประสบการณ์ที่คาดเดาไม่ได้ในต่างเเดนถึง 3 ครั้ง

 8

ครั้งแรกที่ประเทศสเปน ชาติที่เป็นหนึ่งในราชากลุ่มบอลโต๊ะเล็ก ศุภวุฒิไปร่วมซ้อมที่สเปน 1 เดือน และที่แดนกระทิงดุ ทำให้เขากลับมาแบบเหนือกว่าผู้เล่นในประเทศอีกระดับ

"กลับมาจากสเปนผมเก่งขึ้นชัดเจนเลย ผมรู้เยอะกว่าคนอื่น ฟุตซอลมันมีรายละเอียดยิบย่อยมาก ผมรู้จุดบางจุดที่ยิงได้เลย ไม่ต้องจับไม่ต้องเลี้ยง ผมได้มีสกิลใหม่ที่คนไทยยังไม่รู้"

หลังจากกลับจากสเปนได้ไม่ถึงปี ศุภวุฒิได้โอกาสไปยังประเทศอิหร่านที่เมืองเตหะรานเป็นระยะเวลาทั้งหมด 2 เดือน แต่ความท้าทายนี้ไม่ได้หอมหวานและกลายเป็นบทเรียนชั้นครูของเขาเลยทีเดียว

"พอไปเล่นรู้เลยว่าโดนดูถูก เป็นเหมือนตัวตลกเลย เขาหลอกเราได้ทีนึงเขายังไม่ไปยิงนะ เขายังวนกลับมาหลอกเราอีกครั้งแล้วก็พากันหัวเราะเราทั้งทีม อาทิตย์เดียวผมก็อยากจะกลับบ้านเเล้ว มันเป็น 2 เดือนที่ทรมานมาก"

อย่างไรเสีย นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เขารู้สึกท้อและกดดันอยู่แล้ว... บทเรียนที่ 2 และบทเรียนที่ 3 กลายเป็นหนังสือเล่มโปรดของเขา ศุภวุฒิ หยิบมันมาปัดฝุ่นใหม่ ในการแข่งขันฟุตซอลชิงแชมป์เอเชีย 2012 ที่ดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ รอบรองชนะเลิศไทยต้องเจอกับอิหร่าน และคำดูถูกที่เคยได้รับกลับเป็นแรงขับให้ศุภวุฒิ พาทีมชาติไทยเอาชนะอิหร่านเป็นครั้งแรกด้วยสกอร์ 5-4

"วันนั้นผมหมายมั่นปั้นมือมาก เลยจัดไปคนเดียว 3 ลูก จังหวะผมยิงเข้าและโกลอิหร่านหงายท้องผมสะใจมาก คือผมไม่รู้ล่ะว่าใช่ทีมชุดเดียวกันหรือเปล่าแต่ผมขออนุญาตเหมารวมหมด (หัวเราะ)"

นานวันเข้า ศุภวุฒิ ยิ่งกลายเป็นนักฟุตซอลระดับโลก เขาคว้าทั้งรางวัลดาวซัลโวสโมสรเอเชียถึง 2 สมัย และยังเป็นเจ้าของลูกยิงที่สวยที่สุดในฟุตซอลโลกปี 2012 ที่ยิงคอสตาริกา... เขาคือนักฟุตซอลระดับโลกไปเรียบร้อยแล้ว หากอยู่ที่เมืองไทยต่ออาจจะโด่งดังไปเรื่อยๆ  แต่นั่นเท่ากับว่าความท้าทายที่เขาชอบพุ่งเข้าใส่จะหมดไปอย่างแน่นอน

“ผมคิดว่าเราต้องเดินไปข้างหน้า เราต้องหาความท้าทายใหม่เสมอ ไม่งั้นมันก็เหมือนเราอยู่กับที่ ผมชอบนะที่จะไปเจอความท้าทายใหม่ ยิ่งเอาชนะมัน เราก็เหมือนเก่งขึ้นมีอีกระดับ” ศุภวุฒิ กล่าว

 9

เขาเลือกกลับไปที่อิหร่าน ดินแดนที่ตัวเองเคยเป็นตัวตลกอีกครั้ง.. แต่หนนี้เขาไปในฐานะราชาฟุตซอลของเอเชีย โดยเล่นให้กับทีม เมส ซันกาน ด้วยค่าจ้างที่ตีเป็นตัวเลขกลมที่ 3 แสนบาทต่อ 1 เดือน

แม้จะเป็นช่วงระยะเวลาสั้นๆแต่เขาก็สร้างแรงกระเพื่อมสมค่าเหนื่อย ด้วยการพาทีมรั้งอันดับ 2 และยิงไปอีก 5 ประตู    

“ผมกล้าพูดว่าผมเป็นคนแรกเลยที่อิหร่านยอมรับ การไปครั้งนั้นทุกคนยอมก้มหัวให้เรา มันทำให้ผมภูมิใจที่ทำให้เขายอมรับเราได้”

New Lesson : แพ้เป็นถ่าน ผ่านเป็นเพชร

ตอนนี้ศุภวุฒิเข้าสู่วัย 30 ปีเเล้ว เรื่องความสำเร็จก็เรียกได้ว่าคว้ามาเกือบหมด หากไม่นับแชมป์โลก และคุณคิดว่าเขากำลังทำอะไรอยู่?

 10

ปี 2018 คือปีที่เจ้าตัวต้องเริ่มเรียนรู้เรื่องใหม่ๆอีกครั้ง ครั้งนี้ คือ บทเรียนแห่งความผิดหวัง เพราะเขาแพ้ทุกรายการไม่ว่าในสโมสรที่เสียความยิ่งใหญ่ให้กับการท่าเรือฯ ขณะที่กับทีมชาติไทย ก็ตกรอบชิงแชมป์เอเชียแบบหมดลุ้นอีกด้วย

"พูดจริงๆนะ แต่ก่อนผมไม่เคยรู้จักเลยความผิดหวังคืออะไร... ตอนนี้ผมรู้เเล้ว ความผิดหวังและความท้อ มันเป็นยังไง มันเป็นปีที่เลวร้ายที่สุด ผมได้รู้เเล้วว่าการที่คนอื่นๆคาดหวังหลายสิ่งให้กับเรา แล้วเราทำไม่ได้มัน คือ เรื่องที่หนักหนามาก"

“แต่พอกลับมานั่งคิด ผมก็คิดได้ว่า ‘ความล้มเหลว’ มันเกิดขึ้นได้ เราแค่ต้องลุกขึ้น และสู้กับมันใหม่ ผมเห็นอดิศักดิ์ ไกรษร (กองหน้าฟุตบอลทีมชาติไทย) ที่พลาดจุดโทษในนาทีสุดท้าย (จนทำให้ไทยตกรอบรองชนะเลิศศึกชิงแชมป์อาเซียน) เขาโดนโลกโซเชียลโจมตี แต่เขาก็กลับมาได้ ผมยอมรับใจเขามากๆนะ และผมก็หวังจะกลับมาได้เหมือนกัน”  

 11

ศุภวุฒิ เถื่อนกลาง อาจเป็นนักเตะประเภทอัจฉริยะ ตลอดชีวิตเขาไม่เจอความล้มเหลว ที่บั่นทอนจิตใจ จนรู้สึกท้อแท้ วันนี้เขาได้รับบทเรียนนั้น มันเป็นบทเรียนใหม่ล่าสุดที่เขาได้พบเจอ และเรียนรู้ แต่นั่นคงยังไม่ใช่บทเรียนสุดท้าย…

“ผมได้รับบทเรียนจากการเล่นฟุตซอลมาตั้งแต่เด็ก ทุกบทเรียนสอนให้ผมแข็งแกร่งขึ้น ทุกเรื่องราวมันเอามาประยุกต์ใช้กับชีวิตนอกสนามได้หมดแหละ เรื่องนี้ก็เหมือนกัน แต่ผมก็ไม่คิดว่า นี่จะเป็นบทเรียนสุดท้ายหรอกนะ ผมยังต้องเจอบทเรียนอีกเยอะ… จนกว่าจะเลิกเล่นนั่นแหละ” ศุภวุฒิ กล่าวทิ้งท้าย

อัลบั้มภาพ 11 ภาพ

อัลบั้มภาพ 11 ภาพ ของ บทเรียนชั้นครูของพ่อมดฟุตซอลรุ่นที่ 2 : "ศุภวุฒิ เถื่อนกลาง"

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook