มีแต่สึบาสะ.. ไฉนไม่มีเฮียวงะ? ไขข้อข้องใจเหตุใดกองหน้าระดับท็อปสัญชาติญี่ปุ่นจึงหายาก

มีแต่สึบาสะ.. ไฉนไม่มีเฮียวงะ? ไขข้อข้องใจเหตุใดกองหน้าระดับท็อปสัญชาติญี่ปุ่นจึงหายาก

มีแต่สึบาสะ.. ไฉนไม่มีเฮียวงะ? ไขข้อข้องใจเหตุใดกองหน้าระดับท็อปสัญชาติญี่ปุ่นจึงหายาก
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เมื่อทีมชาติญี่ปุ่นมีนักเตะกองกลางมากเกินไป จนส่งผลต่อตำแหน่งอื่นอย่างมีนัยยะสำคัญ

แม้จะเป็นทีมระดับท็อปของเอเชีย แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าปัญหาเรื้อรังของทีมชาติญี่ปุ่นที่ประสบพบเจอมานานหลายปี คือการขาดแคลนกองหน้าตัวจบสกอร์ที่ไว้ใจได้

ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อมองย้อนกลับไปในเจลีก ตารางดาวซัลโวของพวกเขา ยังถูกยึดครองด้วยแข้งต่างชาติ ในขณะที่ทีมชาติก็ยังหาคนที่ฝากผีฝากไข้ไม่ได้เลย และเป็นจุดอ่อนที่ทำให้พวกเขาก้าวไปถึงระดับโลกไม่ได้เสียที

 

สิ่งนี้สวนทางกับตำแหน่งกองกลาง ที่สามารถผลิตขึ้นมาได้อย่างต่อเนื่องแทบทุกปี ในยุคนึง "ซามูไรบลู" มีมิดฟิลด์เกรดเอเต็มทีมจนแทบจะขี่คอกัน ชื่อของ ฮิเดโตชิ นาคาตะ, ชุนซุเกะ นาคามูระ, ยาซุฮิโตะ เอ็นโด หรือ ชินจิ คางาวะ คือเครื่องยืนยันได้เป็นอย่างดี

กองกลางที่มากเกินไปของทัพซามูไรบลู แต่กลับขาดแคลนกองหน้า กลายเป็นคำกล่าวว่า “ญี่ปุ่นมีแต่สึบาสะ แต่กลับไม่มีเฮียวงะ”

อะไรคือสาเหตุนั้น Main Stand ขอพาไปหาคำตอบพร้อมกัน?

เมื่อก่อนก็ยังดีอยู่หรอก

อันที่จริงการขาดแคลนกองหน้าของญี่ปุ่น เป็นปัญหาที่เพิ่งเกิดขึ้นหลังยุคฟุตบอลสมัยใหม่ เพราะก่อนหน้านี้พวกเขาเคยมีดาวยิงที่สามารถผลิตสกอร์ได้อย่างถล่มทลายจนถึงหลักสองร้อยประตูตลอดชีวิตการค้าแข้งมาแล้วหลายคน

 1

หนึ่งในนั้นคือ คุนิชิเงะ คามาโมโต กองหน้าระดับตำนานของญี่ปุ่น เจ้าของสถิติดาวยิงสูงสุดตลอดกาลซามูไรบลู ที่ยิงไปถึง 80 ประตูจาก 84 นัด (ฟีฟ่ารับรอง 76 ประตูจาก 75 นัด) และยังไม่มีทีท่าว่าใครจะทำลายสถิตินี้ลงได้ (นักเตะที่ยังติดทีมชาติที่ทำประตูได้สูงสุดในตอนนี้คือ ชินจิ โอคาซากิ ยิง 50 ประตูจาก 116 นัด)

เขาเป็นที่รู้จักไปทั่วโลกจากผลงานในโอลิมปิก 1968 หลังยิงไป 7 ประตู รวมไปถึงแฮตทริคในนัดพบกับไนจีเรีย คว้าตำแหน่งดาวยิงสูงสุดของทัวร์นาเมนต์ พร้อมพาญี่ปุ่นคว้าเหรียญทองแดงประวัติศาสตร์ ด้วยการเอาชนะเจ้าภาพ เม็กซิโก ต่อหน้าแฟนบอลนับแสนที่เข้ามาชมเกม  

ส่วนผลงานระดับสโมสรก็ไม่มีใครเทียบเคียงเขาได้ในยุคนั้น คามาโมโต กระหน่ำประตูคู่แข่งให้ยันมาร์ ดีเซล (เซเรโซ โอซากา) เป็นว่าเล่นซัดไป 202 ประตูจาก 251 นัดในลีกจนคว้าตำแหน่งดาวซัลโวเจแปน ซ็อคเกอร์ลีก ถึง 7 สมัย และอีก 60 ประตูจาก 59 นัดในถ้วยจักรพรรดิ พายันมาร์ คว้าแชมป์ได้อย่างมากมาย ทั้งแชมป์ลีก 4 สมัย ลีกคัพ 3 สมัย และเอ็มเพอเรอร์สคัพ 3 สมัย

 

แม้ว่าจะเล่นในระดับสมัครเล่น แต่คามาโมโต ก็สามารถยิงประตูในการพบกับทีมระดับเวิลด์คลาสได้หลายครั้ง ทั้ง พัลไมรัส (บราซิล) อาร์เซน่อล (อังกฤษ) โบรุสเซีย มึนเช่นกลัดบัด (เยอรมันตะวันตก) หรือเบนฟิก้า (โปรตุเกส) ก็เคยถูกเขากระซวกตาข่ายมาแล้ว ต่อหน้าสายตานักเตะระดับโลกอย่าง เปเล่, ฟร้านซ์ เบคเคนบาวเออร์ และ โยฮัน ครัฟฟ์

คามาโมโต เป็นกองหน้าสไตล์ครบเครื่องที่มีสรีระทางร่ายกายที่ดีเยี่ยมด้วยส่วนสูง 179 เซ็นติเมตร (ส่วนสูงเฉลี่ยชาวญี่ปุ่นในสมัยนั้นอยู่ในช่วง 167-171 เซนติเมตร) เขาสามารถยิงประตูได้ทั้งจากบนพื้นและกลางอากาศ เท้าขวาที่ทรงพลังของเขาว่ากันว่าไม่เคยพลาดเป้าหากยิงในมุม 45 องศา แต่น่าเสียดายที่ด้วยปัญหาสุขภาพ ทำให้เขาไม่มีโอกาสได้ไปค้าแข้งที่ยุโรป ทั้งที่มีหลายทีมสนใจหลังโอลิมปิก 1968

“ร่างกายของเขาถูกสร้างมาเป็นอย่างดีและไม่เหมือนคนญี่ปุ่นทั่วไป เขาพัฒนาทักษะที่ยอดเยี่ยมเพื่อยิงและโหม่งทำประตู และเขาก็รู้ว่าจะช่วยทีมอย่างไร แต่สิ่งที่คามาโมโตมั่นใจมากที่สุดคือการยิงประตู และลูกเตะเล่นทางของเขา”  ฮิโรชิ คางาวะ กล่าวในเว็บไซต์ Japan Soccer Archive

แต่นับตั้งแต่วันที่คามาโมโต แขวนสตั๊ดในปี 1984 ก็ยังไม่มีกองหน้าชาวญี่ปุ่นคนไหนเทียบเคียงเขาได้เลย

สึบาสะเอฟเฟคต์

แม้ว่าไม่มีใครสามารถเทียบเคียงคามาโมโตได้ แต่หลังจากยุคของเขา ทีมชาติญี่ปุ่นก็ยังพอมีกองหน้าที่ใช้งานได้ดีระดับหนึ่งอยู่พอสมควร ไม่ว่าจะเป็น “คิง คาซู” คาสุโยชิ มิอุระ ที่ยิงให้เวอร์ดี คาวาซากิ (โตเกียว เวอร์ดี ในปัจจุบัน) แตะหลัก 100 ประตู หรือ มาซาชิ “กอน” นาคายามะ เจ้าของดาวซัลโวเจลีก 4 สมัย

 2

อย่างไรก็ดี ปัญหากองหน้าของญี่ปุ่นเริ่มเด่นชัดขึ้นมาตั้งแต่ปลายทศวรรษที่ 1990s หลังญี่ปุ่นผ่านเข้าไปเล่นในฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ซึ่งหมายความว่าพวกเขากำลังก้าวไปอีกขึ้น นั่นคือเวทีระดับโลก

ในช่วงเวลานั้น นาคายามะ และ คาซู กำลังทยอยอำลาทีมชาติ ในขณะที่กองหน้ารุ่นใหม่ไม่สามารถทดแทนพวกเขาได้ อัตสึชิ ยานางิซาวะ ที่เคยมีประสบการณ์เล่นให้กับ ซามพ์โดเรีย และ เมสซิน่า ของอิตาลี ยิงให้ทีมชาติไปเพียง 17 ลูก ส่วน นาโอฮิโร่ ทาคาฮาระ ที่ช่ำชองในลีกเยอรมันก็ยิงให้ทีมชาติไปเพียงแค่ 23 ลูก

ผลงานของพวกเขาสวนทางกับเหล่ากองกลางที่ต่างเฉิดฉายจนถึงทุกวันนี้ ไม่ว่าจะเป็น ฮิเดโตชิ นาคาตะ ที่ยิงไป 11 ประตูจาก 77 นัด, ชุนสุเกะ นาคามูระ ซึ่งที่ยิงมากกว่า ทาคาฮาระ ที่ 24 ประตูจาก 98 นัด หรือกองกลางยุคปัจจุบันอย่าง เคซุเกะ ฮอนดะ และ ชินจิ คางาวะ ที่ยิงกันไป 37 ประตูและ 31 ประตูตามลำดับ

 3

ปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้ว่ากันว่าที่ญี่ปุ่นมีกองกลางเยอะเกินไป เนื่องมาจากนักเตะในยุคต้นแบบเติบโตขึ้นมาในสมัยที่การ์ตูนกัปตันสึบาสะเฟื่องฟู ทำให้นักเตะเอาแต่เล่นในตำแหน่งกองกลางเหมือนกับ โอโซระ สึบาสะ ตัวเอกของเรื่อง

“ในญี่ปุ่นเมื่อปี 20 หรือ 30 ปีที่แล้วเบสบอลยิ่งใหญ่มาก ส่วนฟุตบอลเพิ่งจะเริ่มตั้งไข่ ดังนั้นผมจึงไม่มีฮีโร่ หรือทีมในฝันอะไร แต่มันมีการ์ตูนเรื่องนึงที่ชื่อว่ากัปตันสึบาสะ ตอนที่ผมอ่านมัน ผมรู้สึกชอบฟุตบอลมากๆ ผมเคยคิดว่าจะเล่นเบสบอลหรือฟุตบอลดี และสุดท้ายผมก็เลือกฟุตบอล” ฮิเดโตชิ นาคาตะกล่าวกับ FIFA.com

จึงไม่ใช่เรื่องแปลกญี่ปุ่นจะมีกองกลางเกรดเอจนล้นตลาด นอกจากนักเตะที่กล่าวมาข้างต้น พวกเขายังมี ยาสุฮิโตะ เอ็นโด นักเตะที่ติดทีมชาติมากที่สุด, มาโคโตะ ฮาเซเบะ อดีตกัปตันทีมชาติญี่ปุ่น หรือนักเตะรุ่นใหม่ที่กำลังทำผลงานโดดเด่นในยุโรปอย่าง กาคุ ชิบาซากิ, โชยะ นาคาจิมา และ ริตสึ โดอัน ก็ล้วนเป็นผู้เล่นในตำแหน่งมิดฟิลด์ด้วยกันทั้งสิ้น  

ยิ่งไปกว่านั้น มายะ โยชิดะ กัปตันทีมชาติญี่ปุ่นชุดเอเชียนคัพ ก็ล้วนเป็นนักเตะที่เล่นในกองกลางมาก่อน แต่ถูกเปลี่ยนตำแหน่งเป็นกองหลังในสมัยที่เล่นให้กับ นาโงยา แกรมปัส ในขณะเดียวกัน ยาสุยูกิ คอนโนะ กองกลางจอมเก๋าของกัมบะ โอซากา ก็ถูกถอยมาเล่นตำแหน่งกองหลังยามรับใช้ทีมชาติ และเล่นตำแหน่งนี้ในเวทีฟุตบอลโลกมาแล้ว

แดน ออโลวิตช์ อดีตผู้สื่อข่าวเว็บไซต์ โกลเอเชีย ผู้คร่ำหวอดในวงการฟุตบอลญี่ปุ่นมากว่า 10 ปี เน้นย้ำเรื่องนี้ให้ชัดเจนยิ่งขึ้นในบทความชื่อว่า ‘ตามรอยเท้ากัปตันสึบาสะ ชินจิ คางาวะ ของแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด กำลังเป็นแรงบันดาลใจให้กับชาติ’

 4

“ในประเทศที่ทีมเวิร์คและการร่วมมือกันเป็นสิ่งสำคัญกว่าเรื่องส่วนตัว ตัวเอก (สึบาสะ) เปลี่ยนจากกองหน้ามาเป็นกองกลางเพื่อเป็นแรงบันดาลใจให้คนในยุคนั้นทำตาม ทำให้มีผู้เล่นในตำแหน่งปีก (กองกลางตัวรุก) มากเกินความต้องการ แต่ขาดดุลอย่างมากในแนวรับ”

“แม้กระทั่งวันนี้กองหลังทีมชาติญี่ปุ่น (ยาสุยูกิ คอนโนะ) ยังมาจากตำแหน่งกองกลาง และทีมจากเจลีกก็ยังพึ่งพากองหน้าชาวบราซิลเป็นตัวหลักของแผนพวกเขา”

แต่หากมองย้อนกลับไปอิทธิพลของสึบาสะ อาจจะเป็นเรื่องเล็ก เมื่อเทียบกับสิ่งที่สำคัญกว่านั่นก็คือ DNA

ต้นทุนทางร่างกาย

อันที่จริงกัปตันสึบาสะ อาจจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้นักเตะญี่ปุ่นเลือกเล่นในตำแหน่งกองกลาง แต่สิ่งสำคัญที่สุดคงจะหนีไม่พ้นสรีระทางร่างกายที่สืบทอดมาจาก DNA แบบรุ่นต่อรุ่น

 5

แม้ว่าปัจจุบันส่วนสูงเฉลี่ยของผู้ชายญี่ปุ่นจะสูงขึ้นมากกว่าในอดีต ในระดับ 172.2 เซนติเมตร (ผลสำรวจล่าสุดเมื่อปี 2014) และใกล้เคียงกับชาติในแอฟริกา (170-172 เซนติเมตร) อีกหนึ่งทวีปที่กำลังท้าทายชาติยุโรปและละตินอเมริกา แต่เมื่อเทียบความความแข็งแกร่งทางร่างกายแล้ว นักเตะจากแดนอาทิตย์อุทัยก็ยังตามหลังอยู่พอสมควร 

มันจึงกลายเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้กองหน้าและกองหลังญี่ปุ่นระดับสูงหาได้ยาก เนื่องจากเป็นตำแหน่งที่ใช้ลักษณะทางกายภาพเป็นหลักในการเข้าปะทะ ต่างจากตำแหน่งกองกลาง ที่แม้ร่างกายจะไม่สูงนัก แต่ก็สามารถใช้ความคล่องตัวทดแทนได้  

ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดในปัจจุบันคือ โชยะ นาคาจิมะ กองกลางของ ปอร์ติโมเนนเซ ที่กำลังย้ายไปเล่นให้กับ อัล ดูอาฮิล ด้วยค่าตัว 35 ล้านยูโร เขาทำผลงานได้อย่างโดดเด่นในลีกโปรตุเกสด้วยผลงาน 15 ประตูกับ 18 แอสซิสต์จาก 42 นัด แม้จะมีส่วนสูงเพียงแค่ 167 เซนติเมตร ในขณะที่ ฮิเดโตชิ นาคาตะ และ ชินจิ คางาวะ สองนักเตะชาวญี่ปุ่นที่ประสบความสำเร็จที่สุดในยุโรป ก็มีส่วนสูงเพียงแค่ 175 เซนติเมตรเท่านั้น

 6

“ด้วยต้นทุนของญี่ปุ่นมันสร้างกองหน้าได้ยากกว่า ถ้าคุณเป็นชาติแอฟริกัน ต้นทุนคือ ลักษณะทางกายภาพที่มีเหลือเฟือ คุณก็สร้างนักเตะในตำแหน่งที่เล่นโดยใช้ศักยภาพทางร่างกายได้โดดเด่นเป็นธรรมดา” ธนะ วงษ์มณี บรรณาธิการบริหาร โกล ประเทศไทย กล่าวกับ Main Stand

“ญี่ปุ่นติดลบตรงนั้น เขาก็หาทางชดเชยด้วยอย่างอื่น นักกีฬาญี่ปุ่นเล่นอะไรซับซ้อนได้ดี ใช้ปัญญาเอาชนะกำลังทั้งหลาย เขาเล่นเบสบอลจนเป็นกีฬาที่คนทั่วไปสนใจได้ ทั้งที่กติกายุบยับมาก”

“กองหน้าและกองหลัง โดยทั่วไปเป็นตำแหน่งที่ใช้ลักษณะทางกายภายเยอะ ด้วยพิมพ์การสร้างนักเตะของญี่ปุ่น มันสร้างได้น้อยอยู่แล้ว แล้วมันต่อยอด ประเทศนี้เขาไม่รีเซ็ตบ่อยๆ เขาเข้าใจเรื่องมรดกตกทอด เขามีนาคาตะขึ้นมา ก็ไม่ได้คิดว่าโชคดี เขาก็พยายามสร้างให้เหนือนาคาตะไปอีก เด็กๆมีเป้าหมาย มีแรงบันดาลใจ”

“คือถ้าผม 5 ขวบ อยากเป็นอย่างคางาวะ ผมก็มีทางไปนะ แต่ถ้าผมอยากเป็นโยชิดะ แล้วตัวเล็ก ต้องทำไง มันก็สูงไปได้เท่าที่ DNA ผมอนุญาตไหม คือมรดกตกทอดในตำแหน่งกองกลาง มันมาไกลมากแล้ว ตำแหน่งอื่นมันยังไม่มี เพราะยังเอาชนะลักษณะทางกายภาพไม่ได้”

“การสร้างกองหน้าของญี่ปุ่นก็ไม่ได้เน้นการเอาชนะคนตัวโตด้วยซ้ำ ไม่ได้สร้างเกมของตัวเอง (เซอร์จิโอ) อเกวโรไม่ได้สูงใหญ่เลย แต่เขาบึก แต่ญี่ปุ่น คือจะไปทางคล่องก็ไม่คล่อง”

ยิ่งไปกว่านั้น ด้วยระบบเยาวชนของญี่ปุ่น ที่นักเตะสามารถเล่นโดยไม่มีตำแหน่งตายตัว สามารถเล่นได้หลายตำแหน่ง กลายเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ทำให้นักเตะเล่นในตำแหน่งกองกลางมากกว่ากองหน้า

 7

“เท่าที่เคยไปดูระบบเยาวชนของสโมสรญี่ปุ่นมา การสร้างเยาวชนจะเริ่มต้นด้วยการไม่มีตำแหน่งตายตัว นักเตะสามารถโยกไปเล่นได้หลายตำแหน่ง ซึ่งมองว่าตำแหน่งกองหน้าเป็นอะไรที่โดดเดี่ยวไม่ค่อยมีส่วนร่วมกับทีมเท่าไร ทำให้เด็กๆหลายคนตัดสินใจเล่นตำแหน่งกองกลางมากกว่า ซึ่งสามารถมีส่วนร่วมกับเกมได้ทั้งเกม” กวีศักดิ์ พรวัฒนเวทย์ Editor Sanook Sports กล่าวกับ Main Stand

“ยิ่งในช่วงระยะ 10 ปีหลัง ตำแหน่งกองหน้าแทบไม่มีใครที่เป็นไอดอลให้กับเด็กรุ่นใหม่ทำให้เยาวชนรุ่นใหม่ไม่มีใครที่เป็นต้นแบบและแรงบันดาลใจให้กับพวกเขา ทำให้วงการฟุตบอลญี่ปุ่นช่วงหลัง ถึงกับต้องดันปีก หรือกองกลางขึ้นมาเล่นเป็นกองหน้าตัวเป้าในนามทีมชาติแทน”

ทว่าไม่ใช่แค่ปัจจัยภายนอกอย่างสภาพร่างกายและระบบเยาวชนเท่านั้น แต่ปัจจัยภายในอย่างนิสัย “ความเป็นญี่ปุ่น” ก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ขัดขวางการสร้างกองหน้าชั้นยอด  

เป็นญี่ปุ่นมากเกินไป

เป็นที่ยอมรับโดยทั่วกันว่า ญี่ปุ่นคือทีมที่เล่นฟุตบอลได้อย่างมีระบบชาติหนึ่งของเอเชีย ด้วยระบบการฝึกซ้อมเป็นแบบแผนมาตั้งแต่เยาวชน ทำให้การต่อบอลเข้าทำของพวกเขาเป็นไปด้วยรูปแบบที่แน่นอนจนน่านับถือ

 8

สิ่งนี้มีรากฐานมาจากสังคมระบบกลุ่มของพวกเขา ที่เน้นผลประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าผลประโยชน์ส่วนตัว เป็นสังคมที่คำถึงถึง “กาลเทศะ” เพื่อให้ทุกอย่างเป็นไปอย่างราบรื่น

“ซามูไรบลู” จึงเป็นทีมมีทีมเวิร์ค และเล่นไปตามระบบ ไม่มีใครพยายามทำตัวเด่นกว่าใคร การยิงไกล หรือการเจาะทะลุทะลวงจากตรงกลางจึงไม่ค่อยพบเห็นมากนัก หากโค้ชเป็นชาวญี่ปุ่น

อย่างไรก็ดี นิสัยกลายเป็นดาบสองคมแก่พวกเขา เนื่องจากมันใช้ไม่ได้กับกองหน้า ซึ่งเป็นตำแหน่งที่จำเป็นต้องมีคาแรคเตอร์อย่างชัดเจน มีความมั่นใจสูง และความเห็นแก่ตัว ที่เป็นคุณสมบัติสำคัญสำหรับคนทำประตู ญี่ปุ่นเป็นทีมที่ต่อบอลเยอะมาก แต่มักจะตกม้าตายในจังหวะยิงประตู

“นักเตะญี่ปุ่น มาตรฐานสูง แต่เรียบๆ ไม่มีคาแรคเตอร์ เคน โทคุระ เนี่ยดี มีคาแรคเตอร์ แต่เกรดก็ไม่ถึงทีมชาติอยู่ดี ยิ่งกองหน้าขาดคาแรคเตอร์ นี่มันยิ่งยาก เหมือนมีมีดแปดเล่ม ไม่คมซักเล่ม เพราะคาแรคเตอร์มันช่วยสร้างความมั่นใจให้ทั้งตัวเองและเพื่อน ว่าเรื่องนี้ทำได้ ถ้าเรากลางๆไปหมด เราก็ไม่มั่นใจอะไรเลย”  ธนะกล่าวกับ Main Stand

นักเตะญี่ปุ่นจึงมักจะถูกวิจารณ์จากโค้ชหรือนักเตะต่างชาติที่อาศัยอยู่ในญี่ปุ่นอยู่เสมอว่าพวกเขามีอีโก้ในตัวเองน้อยเกินไป ทำให้ไม่มีความกระตือรือร้นในการยิงประตู และดูลังเลเมื่อมีโอกาส ทำให้จบสกอร์ได้ไม่คม มิไฮโล เปโตรวิช เฮดโค้ช คอนซาโดเล ซัปโปโร เคยกล่าวไว้ว่า “ญี่ปุ่นอคติกับผลลัพธ์มากเกินไป” และเน้นเรื่องวิธีการเป็นสำคัญ  

 9

และสิ่งนี้ก็ตอกย้ำให้ชัดเจนยิ่งขึ้นเมื่อเอาสถิติเปลี่ยนโอกาสให้เป็นประตูของนักเตะต่างชาติในเจลีกเทียบกับนักเตะญี่ปุ่นในฤดูกาลที่ผ่านมา (สถิตินับเฉพาะเจลีกและลีกคัพ) แล้วพบว่านักเตะเลือดซามูไร ใช้โอกาสเปลืองกว่าแข้งอิมพอร์ทไม่น้อย  

จากสถิติระบุว่า โช กองหน้าชาวบราซิลเจ้าของตำแหน่งดาวซัลโวสูงสุด มีโอกาสยิงไปทั้งสิ้น 91 ครั้ง เข้ากรอบ 48 ครั้ง คิดเป็น 52.7 เปอร์เซ็นต์ และกลายเป็นประตูทั้งหมด 25 ลูก เฉลี่ยโอกาสออกมาได้ 27.4 เปอร์เซ็นต์

ในขณะเดียวกัน ยู โคบายาชิ กองหน้าชาวญี่ปุ่นที่มีสถิติการทำประตูดีที่สุด เขามีโอกาสยิงทั้งหมด 92 ครั้ง เข้ากรอบไป 45 ครั้งหรือคิดเป็น 48.9 เปอร์เซ็นต์ ที่ดูแล้วอาจจะไม่ห่างกับ โช มากนัก แต่กลับแปรเปลี่ยนมันเป็นประตูได้เพียงแค่ 15 ลูก หรือราว 16.3 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น หรือต่างจากหัวหอกของแกรมปัสอยู่เกือบ 10 เปอร์เซ็นต์เลยทีเดียว

“เด็กญี่ปุ่น ตั้งแต่เข้าประถมพวกเขาก็ไม่รู้สึกที่จะชาลเลนจ์อะไรเลย เพราะถ้าไม่เล่นไปตามคำสั่งของโค้ชก็จะถูกด่าได้ ด้วยเหตุนี้จึงทำให้แม้กระทั่งการแข่งขันเจลีกก็ไม่มีจังหวะที่คาดไม่ถึงอะไรเลย มันน่าเบื่อเลยทีเดียว”  ลูกา โมเนเซ โค้ชโรงเรียนฟุตบอลเอซี มิลานในจังหวัดจิบะกล่าว

วิวัฒนาการฟุตบอลที่เปลี่ยนไป

ปัญหาการขาดแคลนศูนย์หน้าแบบคมกริบ ไม่ได้เป็นปัญหาที่ญี่ปุ่นพบเจอเพียงชาติเดียว เพราะด้วยโลกฟุตบอลที่เปลี่ยนไป ทำให้ปัจจุบันกองหน้าสไตล์นี้ เป็นสิ่งที่แทบจะหายไปจากวงการฟุตบอลแล้ว

 10

ในขณะเดียวกันมันถูกทดแทนด้วยดาวยิงที่ทำเกมได้เหมือนกับ คริสเตียโน โรนัลโด, ลิโอเนล เมสซี หรือ โมฮาเหม็ด ซาลาห์ เช่นเดียวกับญี่ปุ่นที่กำลังปั้น ทาคุมิ มินามิโนะ ดาวยิงหมายเลข 9 ในเอเชียนคัพที่ถูกดันมาจากแถวสองให้กลายเป็นศูนย์หน้าตัวความหวังของทีมชาติ   

“อันที่จริงกองหน้าเก่งๆ เดี๋ยวนี้ในทีมใหญ่มันก็มีทุกประเทศ แต่ที่โดดเด่นจนก้าวมามีชื่อเสียงช่วงหลังมันน้อย ไอ้ประเภทโป้งปิดบัญชีแบบ อลัน เชียเรอร์ สไตล์นี้จะน้อยลงทุกวัน” กวีศักดิ์ กล่าวกับ Main Stand

“กองหน้าสมัยใหม่มันต้องทำมากกว่ายิงอย่างเดียว มันต้องพาบอลไปเองได้ สร้างสรรค์เกมได้ ซึ่งผมมองว่ามันเป็นวิวัฒนาการของฟุตบอลยุคใหม่ แฟนบอลรุ่นเก่าๆเลยมองว่าไม่มีตัวเป้าดีๆ แต่กับเด็กรุ่นใหม่อาจมองว่า ซาลาห์ เป็นตัวเป้า แต่จริงๆ เขาเล่นปีกแล้วลากเข้าไปยิง ต้องใช้คำว่า หน้าเป้ามันแทบจะหายไปจากโลกลูกหนังแล้ว”

“กองหน้าของญี่ปุ่นตอนนี้ถูกดันมาจากแถวสองเกือบหมด จึงไม่มีใครยิงถล่มทะลายเหมือน คาซู หรือ (นาโอฮิโร่) ทาคาฮารา อีกต่อไป ขนาดฮอนดะ ช่วงก่อน (อาคิระ) นิชิโนะ มาคุมยังต้องเล่นหน้าเป้าเลย”

“นักเตะญี่ปุ่นถูกสอนมาให้เปลี่ยนตำแหน่งเล่นได้ ตั้งแต่ระบบเยาวชน ทัศนคติคนญี่ปุ่นคือ ไปลองผิดลองถูกเองในตอนเด็ก หาตัวเองให้เจอว่าอยากทำอะไร อยากเล่นตำแหน่งไหน เขาไม่บังคับเด็กครับ เล่นให้สนุก โตมาค่อยมาสอนแทคติก”

 11

ตราบใดที่ญี่ปุ่นยังยึดมั่นในปรัชญาระบบสำคัญกว่าความสามารถส่วนตัว ก็น่าจะทำให้พวกเขายังเป็นทีมที่ต่อบอลสวยแต่จบไม่ลงอย่างที่ผ่านมา และต้องอาจจะต้องใช้นานแสนนานกว่าจะพบกองหน้าที่ไว้ใจได้ที่พวกเขาตามหา

แต่กว่าจะถึงตอนนั้น พวกเขาอาจจะเปลี่ยนมาคิดว่า จะทำให้กองกลางที่มีอยู่เต็มทีมมีประสิทธิภาพกับทีมได้มากที่สุดอย่างไร เหมือนที่เคยทำให้ นาคาตะ, ชุนซุเกะ นาคามูระ, เคซุเกะ ฮอนดะ และ ชินจิ คางาวะ เป็นที่รู้จักได้ระดับโลกมาแล้ว หรืออาจจะดันตัวแถวสองขึ้นมาเล่นกองหน้าเหมือนกับทำกับ มินามิโนะ ในตอนนี้   

เมื่อถึงเวลานั้นกองหน้าธรรมชาติแบบ เฮียวงะ โคจิโร ก็อาจจะไม่จำเป็นอีกต่อไป

อัลบั้มภาพ 11 ภาพ

อัลบั้มภาพ 11 ภาพ ของ มีแต่สึบาสะ.. ไฉนไม่มีเฮียวงะ? ไขข้อข้องใจเหตุใดกองหน้าระดับท็อปสัญชาติญี่ปุ่นจึงหายาก

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook