"ศัตรูที่รัก" ไทยกับเวียดนาม สามารถพัฒนาวงการฟุตบอลร่วมกันได้อย่างไร?

"ศัตรูที่รัก" ไทยกับเวียดนาม สามารถพัฒนาวงการฟุตบอลร่วมกันได้อย่างไร?

"ศัตรูที่รัก" ไทยกับเวียดนาม สามารถพัฒนาวงการฟุตบอลร่วมกันได้อย่างไร?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ปี 2018 คือปีทองที่แท้จริงของทีมชาติเวียดนาม ทัพดาวทองคว้าตำแหน่งรองแชมป์เอเชียรุ่นยู-23, อันดับ 4 ในการแข่งขันเอเชียนเกมส์ ปิดท้ายด้วยแชมป์เอเอฟเอฟ ซูซูกิ คัพ

จากนั้นทัพดาวทองหักปากกาเซียนอีกครั้ง ด้วยการผ่านเข้ารอบ 8 ทีมสุดท้าย ศึกเอเชียนคัพ 2019 ความสำเร็จของเวียดนามอาจทำให้แฟนบอลไทยจำนวนไม่น้อยอึดอัดใจ ที่ทีมคู่ปรับในภูมิภาคอาเซียน ทำผลงานได้ดีกว่าทีมชาติไทย ในรายการระดับภูมิภาค 2 ทัวร์นาเมนต์ติดต่อกัน

แต่แทนที่จะหัวเสียที่ทัพช้างศึกไม่ประสบความสำเร็จเท่าเวียดนาม คงดีกว่าหากเรามองไปที่ความสำเร็จของเวียดนาม แล้วนำมาศึกษา ต่อยอด เพื่อพัฒนาวงการฟุตบอลไทยทั้งในระดับทีมชาติและบอลลีก  

เวียดนาม เรียนรู้อะไรจากยุคทองของเรา และเราควรเรียนรู้อะไรในห้วงเวลาที่ชาติคู่ปรับกำลังติดปีก มีผลงานที่โดดเด่นแซงหน้าเรา  

V League - จุดเริ่มต้นความสัมพันธ์ “ช้างศึก-ดาวทอง”
วงการฟุตบอลไทยและเวียดนามได้ช่วยพัฒนาคุณภาพฟุตบอลซึ่งกันและกันตั้งแต่ในอดีต โดยมาจากการที่นักเตะทีมชาติไทยหลายรายเดินทางไปค้าแข้งที่ วีลีก (V League) ลีกสูงสุดของประเทศเวียดนาม

ซิโก้ - เกียรติศักดิ์ เสนาเมือง และ ชูเกียรติธน ยศภัทร์หนูสลุง คือสองแข้งไทยที่บุกเบิกการไปค้าแข้งที่เวียดนาม กับสโมสรฮองอันห์ยาลาย ในเดือนมีนาคม ปี 2002

soha_vn
เนื่องจากฟุตบอลลีกไทย ณ เวลานั้น ยังเป็นแบบกึ่งอาชีพ ไม่ได้เป็นลีกอาชีพแบบปัจจุบัน เมื่อเทียบกับวีลีก ทั้งเรื่องความนิยม ความคลั่งไคล้ของชาวเวียดนามต่อลีกฟุตบอลในประเทศ สโมสรฟุตบอลที่มีความเป็นมืออาชีพมากกว่าในไทย รวมถึงค่าตอบแทนมหาศาล ทำให้วีลีกกลายเป็นเป้าหมายของเเข้งไทยในทันที

พิพัฒน์ ต้นกันยา, นิรุจน์ สุระเสียง, ศรายุทธ ชัยคำดี, นิเวส ศิริวงศ์, ดัสกร ทองเหลา, ดุสิต เฉลิมแสน, ธชตวัน ศรีปาน คือนักเตะระดับทีมชาติไทยที่ตามรอยซิโก้ เกียรติศักดิ์ ไปค้าแข้งที่ประเทศเวียดนาม

การไปเล่นที่เวียดนามของเหล่านักเตะทีมชาติไทย ทำให้แข้งช้างศึกได้รับประโยชน์ เพราะสโมสรฟุตบอลเวียดนามฝึกซ้อมหนักทั้งช่วงเช้าและช่วงเย็น นักเตะไทยที่ไปค้าแข้งที่เวียดนามต้องปรับตัว รักษาสภาพร่างกาย ขยันฝึกซ้อมมากกว่าเดิม จากที่เน้นเรื่องเทคนิค ความสามารถเฉพาะตัว จากการต้องปรับตัวตามวัฒนธรรมฟุตบอลที่เปลี่ยนไปในต่างแดน

นักเตะทีมชาติไทยจึงมีความฟิตมากขึ้นยามลงสนาม ผ่านการซ้อมหนัก ซ้อมเข้ม ที่เวียดนาม มีความเป็นมืออาชีพสูงขึ้น  เพื่อรักษาความฟิตของนักเตะ ฟอร์มการเล่น ให้สามารถอยู่โกยเงินสกุลเหงียนได้อย่างยาวนานที่สุด

000_hkg1964784
ไตรสิทธิ์ ทองแดง เอเยนต์นักฟุตบอล ที่เคยพาผู้เล่นทีมชาติไทย นิเวส ศิริวงศ์, ศักดา เจิมดี, นิรุตติ์ สุระเสียง, เกียรติศักดิ์ เสนาเมือง และอีกหลายคนไปค้าแข้งที่เวียดนาม รวมถึงติดตามวงการฟุตบอลเวียดนามมายาวนานกว่า 15 ปี  ให้ความเห็นว่า ไม่ใช่แค่นักเตะไทยในยุคนั้น ที่ได้รับประโยชน์จากการไปเล่นที่เวียดนาม แต่วงการฟุตบอลเวียดนาม สามารถเรียนรู้จากผู้เล่นชาวไทยด้วยเช่นกัน

“นักเตะไทยมีความสามารถเฉพาะตัวที่ดีกว่า และรู้วิธีการซ้อมที่มีประสิทธิภาพกว่าผู้เล่นเวียดนาม จุดนี้ทั้งนักเตะและสโมสรของทางเวียดนาม เรียนรู้เรื่องนี้จากนักเตะไทย ซึ่งสามารถเอาไปต่อยอดในการพัฒนาวงการฟุตบอลเวียดนาม”

อาจไม่ใช่ปัจจัยหลักในการพัฒนาคุณภาพฟุตบอลของทั้งสองประเทศ แต่ทั้งไทยและเวียดนามได้เรียนรู้และพัฒนาจุดอ่อนของฟุตบอลประเทศตัวเอง จากการที่นักเตะไทยข้ามไปค้าแข้งที่เวียดนาม ซึ่งนำไปต่อยอดกับการพัฒนาผลงานของทีมชาติได้

ทีมชาติไทยในปี 2007 กับศึกเอเชียนคัพที่เราเป็นเจ้าภาพ ไทยทำผลงานได้น่าพอใจ จากการมีนักเตะที่เคยไปค้าแข้งที่เวียดนามเป็นแกนหลักของทีม ทัพช้างศึกเก็บได้ถึง 4 คะแนนในรอบแบ่งกลุ่ม จากผลงานเสมออิรัก และเอาชนะโอมาน น่าเสียดายที่ความพ่ายแพ้ในนัดสุดท้ายกับออสรเตเลีย ทำให้ทีมชาติไทยต้องหยุดเส้นทางไว้แต่เพียงรอบแรก

play.kapook_com
ขณะที่เวียดนาม ที่ผู้เล่นส่วนใหญ่ค้าแข้งอยู่ในสโมสรที่มีนักเตะไทย และได้ซึมซับหลายๆอย่างมา สามารถผ่านรอบแรกในการแข่งขันเอเชียนคัพ 2007 ด้วยการชนะสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และเสมอกาตาร์ ก่อนจะไปตกรอบสองจากการแพ้อิรัก

จากนั้นเวียดนามต่อยอดจากความสำเร็จในเอเชียนคัพ ด้วยการคว้าแชมป์ เอเอฟเอฟ ซูซูกิ คัพ ครั้งแรกในประวัติศาสตร์ในปี 2008 ด้วยการเอาชนะไทยในรอบชิงชนะเลิศ เข้าสู่ยุครุ่งเรืองของพวกเขา สวนทางกับ ไทย เริ่มดำดิ่งสู่ยุคที่ผลงานทีมชาติตกต่ำ

ยุคทองของเวียดนาม
อย่างไรก็ดี ผลพวงจากการที่โครงสร้างลีกอาชีพที่แข็งแกร่งขึ้น นับตั้งแต่ปี 2009 เป็นต้นมา ทำให้สโมสรจำนวนมากต้องปรับเปลี่ยนมาบริหารจัดการให้มีอาชีพมากขึ้น กระแสคนดูเริ่มกลับมาคึกคัก นักฟุตบอลมีค่าตอบแทนสูง ผู้เล่นไทยที่เคยไปค้าแข้ง วีลีก เริ่มเดินทางสู่มาตุภูมิมาเล่น ไทยลีก ที่รายได้ไม่หนีกัน

ในที่สุด ทีมชาติไทยสามารถกลับสู่ยุคทองได้อีกครั้ง กับการประสบความสำเร็จ จาการคว้าแชมป์ เอเอฟเอฟ ซูซูกิ คัพ 2014, 2016 รวมถึงแชมป์ซีเกมส์ 2013, 2015 และ 2017 ที่สำคัญที่สุดการผ่านเข้ารอบคัดเลือกฟุตบอลโลก 12 ทีมสุดท้ายของทวีปเอเชีย ซึ่งหมายถึงการได้ไปลุยฟุตบอลเอเชียนคัพในปี 2019

ตรงกันข้ามกับเวียดนาม ในช่วงเวลาที่ประสบความสำเร็จของไทย ทัพดาวทองไม่ประสบความสำเร็จใดๆ ทำได้แค่มองทัพช้างศึกคว้าแชมป์ถ้วยแล้วถ้วยเล่า

000_del6380400
สำหรับวงการฟุตบอลเวียดนาม เป้าหมายของพวกเขาคือการพัฒนาทีมชาติให้ประสบความสำเร็จเหมือนทีมชาติไทย เพื่อการเป็นเบอร์หนึ่งในภูมิภาคอาเซียน และต้องการก้าวไปประดับชื่อเสียงในเวทีเอเชีย

นักเตะชุดที่เป็นความหวังของเวียดนาม คือนักเตะรุ่นอายุไม่เกิน 19 ปี ชุดปี 2015 ถือเป็นชุดนักเตะแห่งความหวังของชาวเวียดนาม เพราะเวียดนามลงทุนมหาศาลไปกับการพัฒนาเยาวชนตั้งแต่ช่วง 10 ปีก่อน ทั้งการสร้างศูนย์ฝึกเยาวชนของสมาคมร่วมมือกับภาคเอกชน หรือพัฒนาศูนย์ฝึกจากสโมสรฟุตบอล

อย่างไรก็ตาม ทุกอย่างไม่ได้ง่ายดายขนาดนั้น เวียดนาม พ่ายแพ้ต่อไทยถึง 0-6 ในการชิงแชมป์อาเซียนของรุ่น ยู-19 ในปี 2015 ทำให้แฟนบอลเวียดนามจำนวนมากเจ็บปวดและผิดหวัง ที่ทีมแห่งความหวัง แพ้ต่อทีมคู่ปรับ แบบราบคราบ ขณะที่สื่อทั่วอาเซียน ต่างยกย่อง ทีมชาติไทย เป็นชาติเบอร์หนึ่งของอาเซียนทั้งรุ่นใหญ่และรุ่นเล็ก

แต่เวียดนามยังยึดมั่นในทีมเยาวชนของพวกเขา และเชื่อในวิธีทางของตัวเอง หนึ่งปีถัดมา เวียดนามหักปากกาเซียน พาชุดยู-19 ผ่านเข้าสู่รอบรองชนะเลิศของการแข่งขันชิงแชมป์เอเชีย เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของทัพดาวทองที่พวกเขาไปได้ไกลขนาดนี้

000_1c26bz
ในปี 2017 เวียดนามต่อยอดด้วยการไปลุยฟุตบอลยู-20 ชิงแชมป์โลก และเมื่อเข้าปี 2018 เวียดนามประสบความสำเร็จแทบทุกรายการที่ลงแข่งขัน รวมถึงในเอเชียนคัพ 2019

เวียดนามใช้แข้งอายุไม่เกิน 23 ปี ถึง 15 คนในการเป็นแชมป์อาเซียน และเพิ่มเป็น 16 คนในการไปลุยศึกเอเชียนคัพที่ผ่านมา แข้งยังเติร์กของทัพดาวทองถูกเปรียบเทียบให้เป็น “Golden Generation” ไม่ต่างอะไรกับนักเตะทีมชาติไทยรุ่นปี 2014 จากการประสบความสำเร็จในเส้นทางที่ใกล้เคียงกัน

จากแข้งเยาวชนที่เคยถูกทีมชาติไทยถล่มยับ สร้างความเสียใจและคราบน้ำตาให้แก่แฟนบอลทั่วประเทศ ตอนนี้พวกเขาคือแข้งฮีโร่ที่ประสบความสำเร็จในเวทีเอเชีย

ไตรสิทธิ์ ทองแดง ชายผู้ติดตามฟุตบอลไทยมาอย่างยาวนาน ชี้ว่า มีหลายปัจจัยที่ทำให้ทีมชาติเวียดนามพัฒนาอย่างรวดเร็ว จนก้าวเป็นทีมที่น่าจับตามองที่สุดทีมหนึ่งในทวีปเอเชีย

“เวียดนามพัฒนาฟุตบอลทีมชาติอย่างเป็นระบบ เริ่มจากรากฐานคือการพัฒนาเยาวชน สมาคมฟุตบอลเวียดนาม สร้างศูนย์ฝึกฟุตบอลของตัวเอง ควบคู่ไปกับอคาเดมีของสโมสรฟุตบอล เหมือนกับที่เยอรมัน หรือชาติตะวันตก เพื่อสร้างนักฟุตบอลคุณภาพให้ได้มากที่สุด”

000_1c26xu
“เวียดนามฝึกให้เด็กเล่นฟุตบอลตั้งแต่ตัวเล็กๆ อายุ 6-7 ชวบ จับเข้าแคมป์ฝึกเข้มงวดเหมือนโรงเรียนประจำตั้งแต่อายุเท่านี้ เพื่อปลูกฝังเรื่องวิธีการเล่นและระเบียบวินัย”

“ทีมชาติเวียดนามตั้งแต่ชุดยู-16 จนถึงชุดใหญ่ ถูกปลูกฝังให้เล่นแทคติคเดียวกันหมด ตอนเด็กแพ้ไม่เป็นไร แต่พอโตขึ้นนักเตะจะมีความเข้าใจในแทคติค เล่นเป็นทีม เล่นเป็นระบบ ตัวจริงตัวสำรองทดแทนกันได้ ไม่ต้องเน้นนักเตะซูเปอร์สตาร์”

ปาร์ค ฮัง-ซอ ผู้จัดการทีมจอมเฮี๊ยบชาวเกาหลีใต้ คืออีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้ทีมชาติเวียดนาม ประสบความสำเร็จอย่าล้นหลามในปี 2018

กุนซือปาร์ค เข้ามาปลูกฝังเรื่องระเบียบวินัย และเสริมสร้างความฟิตในกับแข้งทัพดาวทอง ทุกวันนักเตะเวียดนามต้องซ้อมหนักทั้งช่วงเช้าและช่วงเย็น เพราะฮังซอต้องการเสริมสร้างให้นักเตะของเขามีความฟิตมากที่สุดยามลงสนาม

ทำให้แข้งเวียดนามในปัจจุบัน กลายเป็นม้าศึกวิ่งไม่มีหมดตลอดการแข่งขันเอเชียนคัพ แม้จะเตะถี่ทุก 3-4 วัน หรือต่อเวลา 120 นาที แข้งเวียดนามยังวิ่งไล่บอลจากนักเตะคู่แข่งได้ในทุกเกม ต่างจากทีมชาติไทย ที่หลายทัวร์นาเมนต์ เรื่องความฟิตกลายเป็นเครื่องหมายคำถามว่า ผู้เล่นเราสามารถยืนระยะวิ่งได้เต็มพิกัดได้ถึง 90 นาทีหรือไม่?

000_1cl6uf
เปิดใจและเรียนรู้
แม้ปัจจุบัน เวียดนาม อาจมองไปถึงสเต็ปต่อไปที่อยากก้าวข้าม ไทย และยกระดับถึงขึ้นมาเป็นทีมชั้นนำของเอเชีย

แต่หากเวียดนาม ไม่มองไทย ไว้เป็นเป้าหมายของการพัฒนา เวียดนามอาจไม่สามารถพัฒนาตัวเองให้ขึ้นสู่ระดับเอเชียได้รวดเร็วขนาดนี้

ในทางกลับกัน ไทยควรมองไปที่เวียดนามเพื่อศึกษาหาจุดแข็งของทัพดาวทอง แล้วนำจุดแข็งของพวกเขามาพัฒนาต่อยอดให้กับเหล่านักเตะทัพช้างศึก ไปจนถึงพัฒนาวงการฟุตบอลไทย

“เรื่องความฟิตคือเรื่องสำคัญที่สุดที่ไทยควรศึกษาจากเวียดนาม แล้วเอามาต่อยอดให้นักเตะเรา เพราะผู้เล่นไทยความสามารถดีกว่าผู้เล่นเวียดนาม แต่ถ้าเจอกันตอนนี้ไทยอาจจะสู้ลำบาก เพราะนักเตะเวียดนามฟิตกว่าเราเยอะมาก”

000_1cf21h
“เรื่องความฟิตที่เป็นปัญหาของไทย อาจสะท้อนมาถึงเรื่องทัศนคติของนักเตะไทย พวกผู้เล่นเวียดนามไม่เคยบ่นเรื่องซ้อมหนักเลย ต่อให้ต้องซ้อมทุกวัน ทุกเช้า ทุกเย็น”

“แต่นักเตะไทยตอนนี้ไม่ได้ซ้อมหนักแบบเวียดนาม แต่เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องทำ ถ้าเราอยากจะมีความฟิตของผู้เล่นเท่าเวียดนาม วิ่งไล่เพรสซิ่งได้ตลอดทั้งเกม”

นอกจากเรื่องของการสร้างฟิตเนสให้ทีมชุดใหญ่แล้ว ไตรสิทธิ์ ให้ความเห็นเพิ่มเติมอีกว่า ทีมชาติไทยควรดูงานการพัฒนาเยาวชนของทีมชาติเวียดนาม ที่พัฒนาขึ้นมาอย่างเป็นระบบ มากกว่าของไทยที่การสร้างเด็กเยาวชนขึ้นสู่ชุดใหญ่ ยังดูไม่มีแนวทางที่ชัดเจนแน่นอน

“จุดแข็งของเวียดนามตอนนี้ คือเขาหาแนวทางของตัวเองเจอแล้ว ว่าเล่นฟุตบอลแบบทีมเวิร์คผสมกับเน้นความฟิตและพละกำลัง พอเขามีแนวทางที่ชัดเจน เวียดนามจึงสามารถพัฒนาทีมชาติได้อย่างเป็นระบบ”

000_1cf2wl
“เวียดนามรู้ว่าต้องใช้โค้ชญี่ปุ่นหรือเกาหลีใต้ มาพัฒนาเรื่องความฟิตและระเบียบวินัยให้นักเตะ การพัฒนานักเตะก็ปลูกฝังเรื่องพวกนี้ไปตั้งแต่รุ่นเด็ก พอพวกแข้งเยาวชนขึ้นสู่ชุดใหญ่ ก็สามารถเล่นทดแทนกันได้ทันที”

“ย้อนกลับมาดูทีมชาติไทย เรายังไม่รู้เลยว่าทีมชาติเราจะเล่นแบบไหน ชุดเยาวชนกับชุดใหญ่ไม่ได้เล่นระบบเดียวกัน พอแนวทางไม่ชัด ก็ไม่รู้ว่าสรุปต้องใช้โค้ชสไตล์ไหน การพัฒนานักเตะของเรามันไม่ต่อเนื่อง พอผลงานไม่ดีก็เปลี่ยนตลอด ของเวียดนามแนวทางชัดเจนและมั่นคงกว่า”

“อีกอย่างไทยยังเน้นตัวนักเตะมากกว่าระบบการเล่น อย่างไทยพอไม่มีชนาธิป, ธีรศิลป์ และธีราธร ผลงานก็ดูแย่ลง แต่ถ้าเวียดนามขาดใครไปก็ไม่สำคัญ เพราะตัวสำรองทดแทนได้หมด เนื่องจากเขาปลูกฝังเรื่องระบบการเล่นมากับนักเตะทุกคน”

เช่นเดียวกับ วิรุฬห์ วิเชียรวัฒนชัย หรือ น้าหลิ่ม แฟนบอลทีมชาติไทยชื่อดัง ที่อยากให้แฟนบอลไทยมองเวียดนามในฐานะทีมชาติทีมหนึ่ง ที่วงการฟุตบอลไทยสามารถเรียนรู้และต่อยอดจากความสำเร็จของเขา เพื่อเอากลับมาพัฒนาทีมชาติไทย

“ผมดูทีมชาติเวียดนามชุดนี้ ตั้งแต่ยังเล่นอยู่รุ่นยู 19 เขามีการพัฒนาที่ชัดเจน โดยเฉพาะในเรื่องความฟิตและสรีระร่างกาย ที่เปลี่ยนแปลงไปมาก และมีการพัฒนาเล่นฟุตบอลเป็นทีม เคลื่อนที่หาตำแหน่ง จ่ายบอลเท้าสู่เท้าดีมาก”

“ผมอยากให้เราดูเวียดนาม แล้วศึกษาเขาเพื่อเอามาพัฒนา เพราะเขาก็เป็นทีมระดับเอเชียเหมือนกับเรา ไม่ใช่ดูเวียดนามแล้วเอามาโจมตี เอามาทับถมทีมชาติไทย แบบนี้ไม่เกิดประโยชน์อะไร นอกจากบั่นทอนกำลังใจนักเตะทีมชาติไทย”

000_p65x0
 โควต้าอาเซียน - ประตูเชื่อมฟุตบอลไทยและเวียดนาม
ไม่ใช่แค่ฟุตบอลระดับทีมชาติเท่านั้นที่ได้ประโยชน์ แต่ในระดับสโมสรทั้งไทยและเวียดนามสามารถเรียนรู้และพัฒนาคุณภาพฟุตบอลลีกควบคู่ไปด้วยกัน

คุณไตรสิทธิ์ กล่าวกับ Main Stand ว่าในปัจจุบันไทยลีกถือเป็นต้นแบบของวีลีก เพราะในอดีตวีลีกมีปัญหาหลายประการ ทั้งโครงสร้างจัดการที่ยังไม่เป็นมืออาชีพทั้งตัวลีกและสโมสร ปัญหาการล้มบอล หรือการล้มลงของหลายสโมสรที่ใช้เงินเกินตัว ทำให้วีลีกต้องกลับมาเรียนรู้จากประเทศไทย ทั้งที่ในอดีตเคยเป็นลีกฟุตบอลเป้าหมายของนักเตะไทย

“คนเวียดนามหันมาสนใจไทยลีกตอน เอ็นริเก้ คาลิสโต้ (อดีตผู้จัดการทีมชาติเวียดนามชุดแชมป์ซูซูกิ คัพ 2008) ย้ายมาคุมเอสซีจี เมืองทอง ยูไนเต็ด ตอนนั้นคนเวียดนามเริ่มรู้สึกว่าไทยลีกดีกว่าวีลีก และถึงเวลาที่สโมสรในเวียดนามต้องหันมาเรียนรู้จากสโมสรไทย”

“สโมสรเวียดนามเดินทางมาดูงานสโมสรไทยบ่อยมากๆ โดยเฉพาะทีมอย่างบุรีรัมย์และเมืองทอง ไทยลีกเป็นเป้าหมายของวีลีก ที่อยากจะพัฒนาลีกฟุตบอลในประเทศให้มีคุณภาพแบบที่ไทยมีอยู่ในปัจจุบัน”

แม้ไทยลีกจะเป็นเป้าหมายของการพัฒนาสำหรับสโมสรในเวียดนาม แต่สำหรับผู้เล่นเวียดนามแล้ว เคลีก กับเจลีก คือลีกในฝันมากกว่าจะย้ายมาเล่นในเมืองไทย

อย่างไรก็ตาม ไตรสิทธิ์มองว่า หากนักเตะเวียดนามย้ายเข้ามาเล่นในไทยลีกผ่านโควต้าอาเซียน จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อวงการฟุตบอลทั้งสองประเทศ

000_1cl6uk
“พูดอย่างเป็นกลาง นักเตะเวียดนามยังเป็นรองนักเตะไทยพอสมควร ในเรื่องความสามารถส่วนบุคคล แต่นักเตะเวียดนามอยากจะไปเล่นเคลีกหรือเจลีก แล้วต้องการเป็นตัวจริงเท่านั้น เลยไม่ได้ไปเล่นที่ไหนซักที เพราะศักยภาพนักเตะยังไม่ถึง”

“แต่ไทยมีโควต้าอาเซียน ที่จะพานักเตะเวียดนามแถวหน้ามาเล่นได้ อย่างเมืองทองที่ได้ ดัง วาน ลัม ผู้รักษาประตูมือหนึ่งมาร่วมทีม”

“ถ้าวาน ลัม ย้ายมาเล่นที่ไทย เจอลีกที่แข็งแกร่งกว่าวีลีก แล้วเขาพัฒนาฝีมือของตัวเองได้ จะก่อให้เกิดประโยชน์กับทั้งไทยและเวียดนาม เวียดนามได้พัฒนานักเตะของตัวเองให้แข็งแกร่งขึ้น”

“ส่วนของไทย ถ้านักเตะเวียดนามมาเล่นแล้วพัฒนา เขาจะกลับไปบอกต่อนักเตะในบ้านเขา ว่าให้มาเล่นที่ไทยเพื่อพัฒนาตัวเอง นักเตะเวียดนามจะเข้ามาเล่นที่ไทยมากขึ้น เหมือนตอนชนาธิปไปเจลีก พอไปแล้วนักเตะได้ประโยชน์ นักเตะอย่างธีรศิลป์, ธีราธร หรือฐิติพันธ์ จึงตามไปเล่นที่ญี่ปุ่น ในอนาคต เหงียน กวง ไฮ อาจย้ายมาเล่นที่ไทยลีกก็ได้”

“นอกจากนี้ ถ้านักเตะเวียดนามเข้ามาเล่นในไทยลีกเยอะ นักเตะไทยต้องพัฒนาตัวเอง เพื่อรักษาพื้นที่ในการลงสนามเอาไว้ พอมันเกิดการแข่งขันในลีก ฝีเท้านักเตะไทยก็พัฒนา ส่งผลดีกลับไปในระดับทีมชาติอีกทอดหนึ่ง”

000_1cl5xd
การมีศัตรูหรือคู่ปรับในวงการฟุตบอลหรือวงการกีฬา ไม่ได้มีไว้เพื่อเปรียบเทียบแล้วเอาไว้ทับถม ดูถูกและบั่นทอนศักยภาพของตัวเอง แต่มีไว้เปรียบเทียบเพื่อเรียนรู้ หาข้อจุดเด่นที่แตกต่างของคู่ปรับ นำมาศึกษาพัฒนาศักยภาพของตัวเอง

สำหรับทีมชาติไทย สามารถศึกษาคู่ปรับอย่างเวียดนาม เพื่อเรียนรู้และพัฒนาวงการฟุตบอลได้หลายทาง ขณะเดียวกันเวียดนามได้พัฒนาจากการวางไทยไว้เป็นเป้าคู่แข่งเช่นเดียวกัน การแข่งขันระหว่างไทยและเวียดนาม นำไปสู่การพัฒนาคุณภาพฟุตบอลของทั้งสองชาติ ที่มีมาตรฐานสูงขึ้นผิดตาหากเทียบกับสิบปีก่อน

ทุกวันนี้ ทั้งไทยและเวียดนาม ต่างยกระดับสามารถเข้าต่อกรในระดับเอเชียได้สำเร็จ จากจุดเริ่มต้นการแข่งขันภายในภูมิภาคอาเซียน ปัจจุบันการแข่งขันในอาเซียนมีความเข้มข้นสูงกว่าในอดีต ทั้งมาเลเซียและฟิลิปปินส์ ต่างพัฒนาขีดความสามารถทางฟุตบอลอย่างต่อเนื่อง การแข่งขันที่เข้มข้นในภูมิภาคจะส่งผลดีต่อทั่วอาเซียน ที่ต้องพัฒนาตัวเองเพื่อหวังจะเป็นเจ้าแห่งอาเซียน

สุดท้ายการเป็นเจ้าอาเซียนอาจไม่สำคัญ หากทุกทีมในอาเซียนสามารถประสบความสำเร็จได้ในเวทีเอเชีย และประกาศให้โลกได้รับรู้ว่า อาเซียนสามารถเป็นภูมิภาคแถวหน้าในวงการลูกหนังเอเชียได้เช่นกัน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook