"เรียล แคชเมียร์" : สโมสรบนพื้นที่ความขัดแย้งที่เขย่าเวทีอินเดียลีก

"เรียล แคชเมียร์" : สโมสรบนพื้นที่ความขัดแย้งที่เขย่าเวทีอินเดียลีก

"เรียล แคชเมียร์" : สโมสรบนพื้นที่ความขัดแย้งที่เขย่าเวทีอินเดียลีก
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เมื่อสโมสรอายุน้อยที่สุดกำลังท้าทายบัลลังก์ลีกสูงสุดแดนภารตะ พวกเขาทำได้อย่างไรทั้งที่อยู่ในพื้นที่แห่งความขัดแย้ง 

หากเอ่ยถึงแคชเมียร์ ดินแดนที่มีส่วนหนึ่งอยู่ในเทือกเขาหิมาลัย นอกจากธรรมชาติที่สวยงามแล้ว “ความรุนแรง” น่าจะเป็นสิ่งแรกๆที่หลายคนนึกถึง

หลังได้รับเอกราชจากอังกฤษ อินเดียและปากีสถาน ต่างอ้างสิทธิ์ในการปกครองดินแดนที่อุดมสมบูรณ์แห่งนี้ จนทำให้เกิดสงครามใหญ่มาแล้ว 3 ครั้ง มีผู้คนบาดเจ็บล้มตายไปราวนับหมื่นคน และสงครามก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะสิ้นสุดจนถึงวันนี้

 

อย่างไรก็ดี บนพื้นที่แห่งความรุนแรงแห่งนี้ ได้มีสโมสรที่เพิ่งก่อตั้งไม่ถึง 3 ปี สามารถขึ้นมายืนหยัด และท้าทายอยู่ในหัวตารางของไอลีกในฤดูกาลนี้

เรียล แคชเมียร์ คือชื่อของพวกเขา และนี่คือเรื่องราวของสโมสรแห่งนี้

พื้นที่อ่อนไหวที่สุดแห่งหนึ่งในโลก

ท่ามกลางภูมิประเทศแบบหุบเขาที่ส่วนหนึ่งเป็นของเทือกเขาหิมาลัย มีดินแดนที่ชื่อว่าแคว้นจัมมูและแคชเมียร์ตั้งอยู่ พื้นที่แห่งนี้มีวิวทิวทัศน์ที่งดงามด้วยธรรมชาติ และอากาศที่เย็นสบาย ทำให้มีนักท่องเที่ยวหลายพันคนมาเยือนอย่างไม่ขาดสายเป็นประจำทุกปี

 1

อย่างไรก็ดี ภายใต้ทิวทัศน์ที่สวยงาม พื้นที่แห่งนี้ยังคงเต็มไปด้วยความรุนแรงจากสงครามระหว่าง อินเดียและปากีสถาน ที่ดำเนินมาอย่างยาวนานกว่า 50 ปี

ย้อนกลับไปในปี 1947 หลังอังกฤษให้เอกราชในการปกครองตัวเอง และแบ่งประเทศออกเป็นอินเดียและปากีสถาน โดยพิจารณาจากศาสนาของประชากรและภูมิประเทศ แคว้นจัมมูและแคชเมียร์ ที่ปกครองโดยมหาราชา ได้รับสิทธิ์เลือกได้ว่าจะได้อยู่ในดินแดนของอิสลาม (ปากีสถาน) หรือฮินดู (อินเดีย)

มหาราชา ฮารี ซิงห์ ไม่สามารถเลือกได้ว่าจะอยู่ประเทศไหน เนื่องจากตนเองนับถือศาสนาฮินดู ในขณะที่ประชากรส่วนใหญ่ราว 70 เปอร์เซ็นนับถือศาสนาอิสลาม จึงตัดสินใจไม่เข้าร่วมกับประเทศใด (แต่ลงสนามข้อตกลงทางการค้ากับปากีสถาน)

ทว่าจากการรุกรานของกองกำลังชนเผ่าบริเวณชายแดน และความวุ่นวายในแคว้นที่เกิดจากการต่อต้านผู้นับถือศาสนาอิสลาม ทำให้ ฮารี ซิงห์ ต้องทำข้อตกลงยอมเป็นรัฐอิสระภายใต้การคุ้มครองของอินเดีย เพื่อแลกกำลังทางทหารและอาวุธ

การตัดสินใจในครั้งนี้กลายเป็นชนวนของสงครามอินเดีย-ปากีสถาน เมื่อต่างฝ่ายต่างอ้างสิทธิ์ในการปกครองแคชเมียร์ ฝั่งปากีสถานอ้างว่าประชากรส่วนใหญ่เป็นอิสลาม จึงควรอยู่ภายใต้การปกครองของพวกเขา ในขณะที่อินเดีย ก็ยึดการลงนามข้อตกลงจากมหาราชาที่ยอมเป็นรัฐอิสระภายใต้การปกครองของอินเดีย

สงครามปะทุขึ้นอย่างรุนแรงตั้งแต่ปี 1947 จนสหประชาชาติต้องยื่นมือเข้ามาไกล่เกลี่ย และประกาศแนวหยุดยิงซึ่งกลายเป็นพรมแดนที่แบ่งแคชเมียร์ออกเป็นสองส่วนคือ แคชเมียร์ตะวันออกเป็นของอินเดีย ส่วนแคชเมียร์ตะวันตกเป็นของปากีสถาน

จากนั้นก็ยังมีสงครามใหญ่เกิดขึ้นอีก 2 ครั้ง และการปะทะประปรายเป็นระยะถึงทุกวันนี้ จนมีผู้คนบาดเจ็บล้มตายไปนับหมื่นราย แต่ในขณะเดียวกัน ฟุตบอลก็ยังสามารถเบ่งบานในพื้นที่นี้อย่างไม่น่าเชื่อ

ประวัติศาสตร์ฟุตบอลที่ยาวนาน

ย้อนกลับไปในช่วงต้นศตวรรษที่ 19 ทินเดล บิสโค มิสชั่นนารีชาวอังกฤษ ที่เป็นผู้ก่อตั้งโรงเรียนดังหลายแห่งในศรีนคร เมืองหลวงของแคชเมียร์ คือผู้แนะนำให้ชาวแคชเมียร์ รู้จักกับกีฬาที่ชื่อว่าฟุตบอล

 2

บิสโค มีแนวคิดว่าฟุตบอลคือสัญลักษณ์ของความเป็นลูกผู้ชาย อีกทั้งยังมองว่า สติปัญญาและความรู้ไม่ใช้สิ่งสำคัญเท่ากับสรีระหรือความแข็งแกร่งทางร่างกาย ฟุตบอลจึงกลายเป็นหนึ่งในเครื่องมือของเขา  

แต่ความต่างเรื่องศาสนา ทำให้เขาต้องพบอุปสรรค เมื่อในศาสนาฮินดูในตอนนั้น มีข้อห้ามว่าห้ามแตะต้องหนังสัตว์ และลูกฟุตบอลส่วนใหญ่ก็ทำมาจากหนัง อีกทั้งนักเรียนส่วนใหญ่ของเขานับถือศาสนาฮินดู ทำให้การให้เด็กเล่นฟุตบอลของบิสโค ต้องเผชิญกับความไม่พอใจจากหลายฝ่าย

แต่ถึงกระนั้นฟุตบอลก็ค่อยๆได้รับความนิยมในภูมิภาคนี้ เนื่องจากเป็นกีฬาที่เล่นง่าย มีเพียงลูกหนังของสามารถเล่นกันได้แล้ว ต่างจากคริกเก็ต ที่ต้องใช้อุปกรณ์มากมาย และคนที่ทำให้กีฬานี้ได้รับความนิยมขึ้นไปอีกคือ ฮารี ซิงห์ มหาราชาที่เข้ามาปกครองแคว้นจัมมูและแคชเมียร์ตั้งแต่ปี 1925

เขาได้จัดทัวร์นาเมนต์ มหาราช โกลด์ คัพ ขึ้นที่ช่วยทำให้แน่ใจว่าโรงเรียนและวิทยาลัยยังคงเล่นฟุตบอล ที่ถูกวางไว้ในหลักสูตรของโรงเรียนทั่วแคชเมียร์ ซึ่งมันได้ส่งเสริมให้สโมสรท้องถิ่นเติบโตขึ้นมาหลังจากนั้นอีกด้วย  

แต่หลังการประกาศเอกราชในปี 1947 ทำให้อินเดียและปากีสถานแยกออกเป็นสองฝ่าย กลายเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เกิดการนองเลือดและจราจลในแคชเมียร์ จากการแย่งชิงสิทธิ์ในการปกครองพื้นที่แห่งนี้ ซึ่งทำให้ฟุตบอลต้องชะงักไป

 3

20 ปีหลังเหตุการณ์ความรุนแรง ได้มีความพยายามที่จะทำให้ฟุตบอลดำเนินต่อไปได้ ปี 1966 ได้มีการก่อตั้งสมาคมฟุตบอลฟุตบอลจัมมูและแคชเมียร์ขึ้นมา และนั่นก็กลายเป็นจุดเริ่มต้นของยุคทองของฟุตบอลแคชเมียร์อีกครั้ง

แคชเมียร์ ถูกเลือกเป็นสังเวียนในฟุตบอลนัดชิงชนะเลิศทั้งรุ่นใหญ่และรุ่นเล็ก นอกจากนี้ในช่วงกลางทศวรรษที่ 1970 ถึงปลายทศวรรษที่ 1980 มีนักเตะจากแคชเมียร์ถึง 19 คนสามารถขึ้นไปติดทีมชาติอินเดียได้ และในปี 1987 อับดุล มาจีด คาครู ก็กลายเป็นนักเตะคนแรกจากแคชเมียร์ที่ถูกเรียกติดทีมชาติอินเดียและได้รับปลอกแขนกัปตันทีมในศึกเนห์รู คัพ 1987

 4

แต่แล้ว ความพ่ายแพ้อย่างน่ากังขาในการเลือกตั้งของแนวร่วมผู้ต่อต้านรัฐบาลกลางในปี 1987 ทำให้กลุ่มนักเคลื่อนไหวใช้ความรุนแรงเข้าต่อสู้ และเกิดการปะทะกับหน่วยปราบปรามของรัฐบาล จนทำให้มีผู้เสียชีวิตไปถึง 68,000 คน และมันก็ทำให้ฟุตบอลของแคชเมียร์ถูกแช่แข็งนับตั้งแต่ตอนนั้น

เหตุเกิดจากน้ำท่วม

ฟุตบอลของแคชเมียร์ต้องหยุดนิ่งมานานนับตั้งแต่ปี 1987 อันที่จริงไม่ใช่แค่ฟุตบอล แต่รวมไปถึงทุกอย่าง ความรุนแรงจากการปะทะกันระหว่างทหารของทั้งสองฝั่ง รวมไปถึงการก่อความไม่สงบ กลายเป็นภาพชินตามากว่า 30 ปี

 5

ทว่าในปี 2014 ได้เกิดเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ขึ้นในแคชเมียร์ เหตุการณ์ครั้งนั้นคร่าชีวิตผู้คนไปหลายร้อยคน เมืองศรีนครเสียหายอย่างหนัก แต่มันก็ได้กลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของวงการฟุตบอลแคชเมียร์

นอกจากความเสียหายในชีวิตและทรัพย์สินแล้ว มันยังทำให้เด็กส่วนใหญ่ต้องใช้เวลาไปอย่างเปล่าประโยชน์ เนื่องจากพวกเขาไม่มีกิจกรรมอะไรให้ทำ ชาริม เมราช เศรษฐีในพื้นที่เห็นแล้วเศร้าใจ จึงได้แจกจ่ายลูกฟุตบอลไปทั่วทั้งแคชเมียร์ เพื่อให้เหล่าเยาวชน มีสิ่งบันเทิงใจขณะพื้นที่รอการบูรณะ

“ในปี 2014 แคชเมียร์ถูกน้ำท่วม เกิดความเสียหายที่ใหญ่มากไปทั่วทั้งพื้นที่ โรงแรมของผู้ก่อตั้งร่วมของสโมสรเรียล แคชเมียร์ ก็ถูกทำลายเช่นกัน” เมราชกล่าวกับ These Football Times

“ในความโกลาหลนี้ ผมตระหนักได้ว่า มีเด็กผู้ชายจำนวนมากเกินไปที่ปล่อยเวลาไปอย่างเปล่าประโยชน์เพราะไม่มีอะไรทำ ผมจึงโยนไอเดียการก่อตั้งสโมสรเล็กๆขึ้นไปที่ซันดีป (ผู้ร่วมก่อตั้งร่วม) และเขาก็เห็นด้วย”

 6

ซันดีป ชาทู หนึ่งในผู้ก่อตั้งยินดีร่วมมือกับเมราช แต่การก่อตั้งสโมสรก็ไม่ใช่เรื่องง่าย พวกเขาต้องเผชิญกับปัญหาหลายอย่าง โดยเฉพาะการขาดแคลนระบบโครงสร้างขั้นพื้นฐาน

“ปัญหาใหญ่ที่สุดของพวกเราที่เราเองก็ไม่คาดคิด ไม่ใช่เรื่องการเมือง แต่เป็นเรื่องขาดแคลนระบบโครงสร้างพื้นฐาน เราต้องฝึกซ้อมกันในสถานที่ที่ไม่น่าเป็นไปได้หลายที่ แม้กระทั่งในบ้านเพื่อนของผม”

“การขาดแคลนระบบโครงสร้างพื้นฐานถือเป็นอุปสรรคที่ใหญ่ที่สุดของเรา ความไม่มั่นคงของเรากลายเป็นเรื่องเด็กๆไปเลย”   

ผ่านไปสักพักทีมก็เริ่มเป็นรูปเป็นร่าง ก่อนที่ในปี 2016 พวกเขาจะได้รับสถานะ “สโมสร” อย่างเป็นทางการ และลงเล่นในไอลีกดิวิชั่น 2 เป็นครั้งแรกในฐานะทีมอาชีพ  

จากนั้นเพียงแค่ 2 ปีหลังลงเล่นในลีกอินเดีย เรียล แคชเมียร์ ก็ทำผลงานได้อย่างโดดเด่นอย่างไม่น่าเชื่อ ด้วยการสิทธิ์เลื่อนชั้นขึ้นมาเล่นในไอลีกได้สำเร็จในฤดูกาล 2017-18

ก่อนที่ในฤดูกาลนี้พวกเขาจะหักปากกาเซียน ต่อกรกับสโมสรยักษ์ใหญ่ที่หลายทีมอายุร่วม 100 ปี ได้อย่างไม่เกรงกลัว และรั้งอยู่ในอันดับ 3 ของตารางในขณะนี้

สโมสรคือตัวตนของแคว้น

เรียล แคชเมียร์ ไม่เพียงแต่นำความความภาคภูมิใจมาแก่คนในแคว้น แต่มันยังเป็นสัญญาณในการฟื้นฟูวงการฟุตบอลแคชเมียร์ที่เคยยิ่งใหญ่ในอดีตให้กลับมาอีกครั้ง

 7

เมราช มองว่าการก่อตั้งสโมสรไม่ใช่การแสดงให้เห็นสันติภาพในพื้นที่นี้ แต่มันคือการชุบชีวิตแคว้นขึ้นมา เขาต้องการให้แคชเมียร์เป็นที่รู้จักมากกว่าการดินแดนที่มีธรรมชาติที่งดงามเพียงอย่างเดียว

“ความรักที่ชาวแคชเมียร์มอบให้เราเป็นแบบที่ไม่เคยมีการก่อน ที่ผ่านมาแคชเมียร์เป็นที่รู้จักจาก ดัลเลค แอบเปิ้ล วาซวาน (อาหาร) และของแกะสลัก แต่ตอนนี้มันยังเป็นที่รู้จักจาก เรียล แคชเมียร์ อีกด้วย” เมราชกล่าวก้บ These Football Times

“เป้าหมายของเราคือทำให้ความสำเร็จเป็นเรื่องปกติ ไม่ใช่เรื่องผิดปกติ เราไม่อยากเป็นสโมสรที่มีปีที่มหัศจรรย์เพียงแค่ปีเดียว เราอยากจะเป็นเหมือนกับ บาร์เซโลน่า คือสเปน และ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด คืออังกฤษ”

สโมสรยังเป็นเสมือนตัวตนของแคว้น เมื่อในปีที่เลื่อนชั้น นักเตะ 17 คนจาก 28 คนล้วนเป็นลูกหลานของชาวแคชเมียร์ เช่นเดียวกับฟาฮาน กาไน เซ็นเตอร์ฮาล์ฟวัย 23 ปี

“ผมเริ่มเล่นฟุตบอลตั้งแต่อายุ 5 ขวบ มันมาจากแค่ความคลั่งไคล้ของผม ทุกครั้งครอบครัวของผมต้องรู้สึกผิดหวัง พวกเขาคิดว่าผมใช้เวลาไปอย่างเปล่าประโยชน์” เขากล่าวกับ Al Jazeera

 8

ย้อนกลับไปเมื่อ 10 ปีก่อน ฟุตบอลในแคชเมียร์เป็นแค่เรื่องของมือสมัครเล่น การเล่นฟุตบอลของเจนีจึงเป็นเรื่องที่ครอบครัวไม่เห็นด้วย

“พ่อของเขาไม่เห็นด้วยกับเขาอยู่เสมอ พ่ออยากให้เขาเรียนให้หนัก และประสบความสำเร็จอะไรอย่างอย่างในชีวิต อาจจะเหมือนหมอหรือวิศกร ไม่ใช่นักฟุตบอล” รอฟิเกาะห์ บานู แม่ของกาไนกล่าวกับ Al Jazeera

“เรามั่นใจว่าไม่ว่าอย่างก็ตาม ในพื้นที่อย่างแคชเมียร์ ฟุตบอลมีความหมายว่าไม่มีอนาคต”

ทว่าการถือกำเนิดของ เรียล แคชเมียร์ ได้เปลี่ยนมุมมองของคนในพื้นที่ไป เด็กในท้องถิ่นหลายคนมีความฝันว่าจะได้เล่นให้กับ เรียล แคชเมียร์ เช่นเดียวกับ กาไน ที่บอกว่าการได้เป็นนักเตะของสโมสรในลีกสูงสุดคือ “ฝันที่เป็นจริง” สำหรับเขา

ปัจจุบัน กาไน และเพื่อนๆกำลังท้าทายบัลลังก์ไอลีก และรั้งอยู่ในอันดับ 3 อยู่ในขณะนี้ โดยเมื่อช่วงก่อนสิ้นปี พวกเขาเคยขึ้นไปรั้งจ่าฝูงของตารางมาแล้ว

 9

หนึ่งในกุญแจความสำเร็จของพวกเขาคือ เดวิด โรเบิร์ตสัน อดีตแบ็คซ้ายกลาสโกว์ เรนเจอร์ส, ลีดส์ ยูไนเต็ด และ อเบอร์ดีน ประสบการณ์การคุมทีมในลีกรองของสก็อตแลนด์และสหรัฐอเมริกาช่วยให้ เรียล แคชเมียร์ บินสูงอยู่ในขณะนี้

แม้จะพาทีมทำผลงานได้อย่างร้อนแรง แต่โรเบิร์ตสันกลับมองว่า ความสำเร็จที่แท้จริงของพวกเขา คือการทำให้คนได้รู้จักฟุตบอลของแคชเมียร์มากกว่า

“ความสำเร็จของพวกเราคือการเผยให้เห็นฟุตบอลในแคชเมียร์ เมื่อก่อนแคชเมียร์เป็นแคว้นฟุตบอลที่ถูกลืม เกมการแข่งขันในทีวีและเกมทีมชาติ เป็นแค่ไม่กี่อย่างที่ทำให้ชาวแคชเมียร์ได้ดูฟุตบอลไอลีก เกมในบ้านของเราเต็มไปด้วยฝูงชนมหาศาลที่เต็มไปด้วยความคลั่งไคล้ที่จะเชียร์ทีมไปด้วยกัน” โรเบิร์ตสันกล่าวกับ These Football Times

“การที่เราได้อยู่ในไอลีกเป็นอะไรที่น่าตื่นเต้นมากๆ ตอนเราอยู่ดิวิชั่น 2 ไม่มีใครรู้จักเรา แต่ความจริงคือ โมฮัน บากัน และ เชอร์ชิลล์ บราเธอร์ ต่างก็เคยมาที่แคชเมียร์ ทว่าตอนนี้เรากลายเป็นที่รู้จักมากแล้ว”

“ตอนนี้เรามีผู้เล่นเยาวชนที่มีความฝันที่ตะเล่นให้กับเรียล แคชเมียร์ มันคือการเปิดประตูแก่นักฟุตบอลของแคชเมียร์จริงๆ เรามีผู้เล่นชาวแคชเมียร์ 5 คน ลงเล่นในเกมนัดสุดท้ายของดิวิชั่น 2 และ 3 คนยึดตำแหน่งตัวจริงในลีกฤดูกาลนี้”

 10

ไม่ว่า เรียล แคชเมียร์ จะไปได้ไกลแค่ไหน หรือคว้าแชมป์ในฤดูกาลนี้หรือไม่ แต่เชื่อว่าพวกเขาได้บรรลุจุดมุ่งหมายที่แท้จริงแล้ว ถึงจะเอาศาสนา แนวคิดทางการเมือง พรมแดนทางประเทศ หรืออะไรก็ตามแต่ มาแบ่งพวกเขาออกจากกัน แต่สุดท้ายฟุตบอลก็นำพาให้เขากลับมาอยู่ด้วยกันอยู่ดี

นั่นคือเหตุผลว่าทำไมฟุตบอลจึงสวยงาม

อัลบั้มภาพ 10 ภาพ

อัลบั้มภาพ 10 ภาพ ของ "เรียล แคชเมียร์" : สโมสรบนพื้นที่ความขัดแย้งที่เขย่าเวทีอินเดียลีก

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook