ความจริงของ "เคทลิน โอฮาชิ" นักยิมนาสติกเจ้าของคลิปไวรอล 100 ล้านวิว
โลกยุคปัจจุบันที่แทบทุกพื้นที่บนโลกสามารถเชื่อมต่อถึงกันได้ด้วยเครือข่ายอินเตอร์เน็ต ทำให้หลายสิ่งสามารถเกิดเป็นไวรอล หรือกระแสโด่งดังไปทั่วได้เพียงชั่วข้ามคืน
แน่นอน วงการกีฬาก็เช่นกัน เมื่อหลายสิ่งที่พวกเขาทำ โด่งดังจนเป็นกระแส เป็นไวรอลให้คนได้ทึ่ง รวมถึงเอาไปทำตามแล้วหลายต่อหลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็นท่าเต้น Dab ที่นักกีฬาดังทั่วโลกช่วยกันจุดกระแส รวมถึง Dele Chellenge ท่าทำนิ้วสุดแปลกจาก เดเล่ อัลลี ซึ่งโด่งดังจนคนเอาไปเลียนแบบกันทั่วบ้านทั่วเมือง
ขณะเดียวกันที่สหรัฐอเมริกา ก็มีคลิปหนึ่งจากวงการกีฬาที่สร้างความฮือฮาไปทั่ว นั่นคือคลิปการเล่นยิมนาสติกของ เคทลิน โอฮาชิ จากมหาวิทยาลัย UCLA (มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย วิทยาเขตลอสแอนเจลิส) ซึ่งมีไฮไลท์อยู่ที่การใส่ลังกา 3 ตลบ ก่อนลงพื้นด้วยท่าแยกขาแล้วเด้งกลับมาสู่ท่ายืนเหมือนเดิม เรียกเสียงเฮจากผู้ชมรอบสนาม
ลีลาบนฟลอร์เอ็กเซอร์ไซส์ของเธอ ทำให้กรรมการตัดสินต้องเทใจมอบ 10 คะแนนเต็ม ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ไม่เกิดขึ้นบ่อยๆ ในการแข่งขันกีฬาที่ใช้สายตาเช่นนี้ และมันก็ดีพอที่จะช่วยให้สถาบันของเธอคว้าแชมป์รายการ Collegiate Challenge รายการแข่งขันพิเศษที่รวมเอาสถาบันชั้นแนวหน้าของประเทศมาดวลกัน
ไม่เพียงเท่านั้น ทาง UCLA ยังได้อัพโหลดคลิปการเล่นของเธอไปโพสต์บนโซเชี่ยลมีเดียต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น เฟซบุ๊ก, ทวิตเตอร์ และ ยูทูบ ซึ่งมันก็ได้เป็นกระแสโด่งดังไปทั่วโลก จนยอดดูคลิปดังกล่าวจากทุกแหล่งที่กล่าวไปพุ่งทะยานแตะหลัก 100 ล้านวิว (เฟซบุ๊ก 32 ล้าน, ทวิตเตอร์ 40 ล้าน, ยูทูบ 22 ล้าน) ในระยะเวลาเพียงสัปดาห์เดียวเท่านั้น
ด้วยฝีมือระดับเทพเช่นนี้ การติดทีมชาติสหรัฐอเมริกาไปล่าเหรียญทองโอลิมปิกให้บ้านเกิดน่าจะเป็นเรื่องที่ไม่เหลือบ่ากว่าแรง แถมน่าจะดีพอสำหรับการคว้าเกียรติยศสูงสุดในมหกรรมกีฬาแห่งมวลมนุษยชาติเสียด้วยซ้ำ …
แต่ทำไมเราถึงไม่เคยได้ยินชื่อของเธอบนเวทีระดับนั้นเลยล่ะ?
ยอดฝีมือวัยเด็ก
สังคมของประเทศในโลกตะวันตก ซึ่งรวมถึงสหรัฐอเมริกา เป็นสังคมที่พ่อแม่มักจะให้ลูกๆ ของตนได้ทำกิจกรรมต่างๆ เพื่อเสริมสร้างพัฒนาการ ตลอดจนความกล้าแสดงออก เป็นประตูสำคัญสู่การเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ
แน่นอนว่า กีฬา ถือเป็นหนึ่งในสิ่งที่พวกเขาส่งเสริม ซึ่งเคทลินเจอกับกิจกรรมที่เธอรักตั้งแต่วัยแบะเบาะ นั่นคือ กีฬายิมนาสติก
เธอเริ่มเล่นกีฬานี้มาตั้งแต่อายุ 3 ขวบอย่างมีความสุข ดังคำบอกเล่าของเจ้าตัวเองว่า "ตัวฉันในสมัยนั้นเอาแต่เล่นยิมนาสติกไปเรื่อยๆ แบบที่ไม่มีใครหยุดได้ ใช้ชีวิตในแต่ละวันอย่างมีความสุขในทุกวินาที และก็เอาแต่ตีลังกาซ้ำๆ ตั้งแต่วัยเยาว์ ขนาดตอนที่ไม่ได้ซ้อม ก็ยังขลุกตัวอยู่แต่ในโรงยิมเลย"
ไม่ว่าเส้นทางไหน แต่แน่นอนว่าพ่อแม่ทุกคนย่อมต้องการให้ลูกไปให้ไกลที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ซึ่งเป้าหมายในฝันสำหรับนักกีฬายิมนาสติกก็คือ การเป็นนักกีฬาตัวท็อประดับเหรียญทองโอลิมปิก และการไปถึงจุดนั้นได้ ก็จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องได้รับการฝึกสอนด้วยคนที่เก่งที่สุด
เพื่อการนั้น ครอบครัวของเธอ ซึ่งมีคุณพ่อ, คุณแม่ และพี่ชายอีก 3 คนอยู่ร่วมชายคาจึงจำต้องตัดสินใจแยกกันอยู่ คุณแม่ของเคทลินตัดสินใจพาตัวเอง, พี่ชายคนเล็ก รวมถึงเคทลินในวัย 9 ขวบย้ายจากเมืองซีแอตเทิลบ้านเกิด สู่เมืองแคนซัส ซิตี้ เพื่อเข้าเรียนศาสตร์แห่งยิมนาสติกเพิ่มเติมที่ Great American Gymnastics Experience (GAGE) ก่อนจะย้ายถิ่นฐานอีกครั้งสู่รัฐเท็กซัส เพื่อเข้าเรียนที่ World Olympic Gymnastics Academy (WOGA) หนึ่งในโรงเรียนสอนยิมนาสติกชั้นแนวหน้าของสหรัฐอเมริกา
การฝึกสอนจาก WOGA นี้เองที่ทำให้ทักษะด้านยิมนาสติกของเคทลินก้าวไกลอย่างไม่หยุดยั้ง เพราะจากอันดับ 10 ของประเทศสมัยอยู่ที่ GAGE เธอก็ได้โอกาสไปแข่งขันและคว้าชัยชนะมาหลายรายการ แม้จะพลาดโอกาสไปแข่งขันมหกรรมกีฬาโอลิมปิก 2012 เนื่องจากอายุน้อยเกินไป (ขณะนั้นเธออายุ 15 ปี แต่กฎของโอลิมปิกระบุอายุขั้นต่ำไว้ที่ 16 ปีขึ้นไป) แต่ทุกคนที่เกี่ยวข้องต่างก็เชื่อมั่นว่าเคทลินจะเติบใหญ่เป็นดาวดังระดับเหรียญทองโอลิมปิกได้อย่างแน่นอน
และในปี 2013 ชื่อของ เคทลิน โอฮาชิ ก็โด่งดังถึงขีดสุด เมื่อเธอลงแข่งขันรายการ American Cup ซึ่งเป็นการแข่งขันยิมนาสติกระดับนานาชาติในฐานะตัวแทนของรุ่นพี่ที่บาดเจ็บ ก่อนจะสามารถคว้าเหรียญทองได้สำเร็จ
ซึ่งคนที่เธอเอาชนะได้นั้นไม่ใช่ใครที่ไหน แต่เป็น ซิโมน ไบลส์ ... คนเดียวกับที่เติบใหญ่จนกลายเป็นราชินีบนฟลอร์ กวาดคนเดียว 4 เหรียญทองในโอลิมปิกหนล่าสุดเมื่อปี 2016 นั่นแหละ
ณ เวลานั้น ผู้คนทั้งวงการยิมนาสติกของสหรัฐอเมริกาต่างเชื่อว่า เคทลินนี่แหละ ที่จะก้าวขึ้นเป็นดาวดังของวงการ เป็นนักยิมนาสติกระดับเหรียญทองโอลิมปิกได้อย่างแน่นอนในอนาคต
แต่น้อยคนนักที่จะสังเกตเห็นว่า ภายในตัวเธอค่อยๆ เริ่มมีรอยร้าวปรากฎขึ้นอย่างช้าๆ
วันที่แตกสลาย
สำหรับการเป็นนักกีฬา ไม่ต้องสงสัยเลยว่า อาการบาดเจ็บถือเป็นอุปสรรคสำคัญที่พวกเขาต้องประสบ ซึ่งสำหรับนักกีฬายิมนาสติกอย่างเคทลินนั้น แทบจะเรียกได้ว่าเป็นเพื่อนแท้ที่ไม่อยากเจอเลยทีเดียว
"เอาเข้าจริงตอนปี 2012 ฉันก็รู้สึกว่าร่างกายฉันไม่เหมือนเดิมแล้ว เหมือนว่าตอนนั้นหลังฉันตึงถึง 3 จุด แถมกระดูกต้นขายังหักจากอาการล้าถึง 2 ตำแหน่ง เรียกได้ว่าร่างกายของฉันโดยเฉพาะตรงหลังแทบพังไปเลย" เคทลินเปิดใจถึงอาการบาดเจ็บที่เคยพบสมัยวัยรุ่น
โรงพยาบาล จึงกลายเป็นสถานที่ซึ่งเธอคุ้นเคยอีกแห่งนอกเหนือจากโรงยิม กับการต้องเข้ารับการซ่อมแซมหลายต่อหลายครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งตอนหลังจากคว้าแชมป์ American Cup เมื่อปี 2013 ซึ่งเจ้าตัวต้องเข้ารับการผ่าไหล่ ก่อนขึ้นเขียงผ่าหลังซ้ำในปีถัดมา
ถึงกระนั้น ปัญหาที่เคทลินต้องประสบ ไม่ได้มีแค่เรื่องร่างกายอย่างเดียว แต่ยังมีเรื่องของจิตใจอีกด้วย ซึ่งเธอได้ระบายถึงเหตุการณ์ในช่วงที่ตกต่ำที่สุดในชีวิตผ่านทางคลิปวิดีโอของ The Players’ Tribune ว่า
"มันเคยมีช่วงเวลาที่ฉันอยู่บนจุดสูงสุดของโลก เป็นความหวังเหรียญทองโอลิมปิก ตอนนั้นฉันรู้สึกเหมือนไม่มีใครโค่นฉันล้มได้ แต่วันที่ฉันไม่ใช่คนนั้นอีกต่อไปก็มาถึง"
"ยิมนาสติกเคยเป็นเหมือนโลกทั้งใบของผู้หญิงคนหนึ่ง แต่ผู้หญิงคนที่คุณคิดว่าเพียบพร้อมไปเสียทุกอย่าง ลึกๆ ในตัวเธอกลับรู้สึกว่างเปล่า"
เพราะนอกจากอาการบาดเจ็บแล้ว สิ่งที่เคทลินต้องต่อสู้ คือคำวิจารณ์แบบสาดเสียเทเสียกับรูปร่างของเธอ
"แฟนๆ คอยต่อว่าผู้หญิงคนนั้นว่าไม่ดีพอ ไม่เพียงเท่านั้น ยังตำหนิไปถึงหุ่นที่ดูไม่ดีเหมือนใครๆ อีกด้วย"
"แต่ถามว่ามันผิดหรือไม่ที่ผู้หญิงคนหนึ่งอยากจะกินฟาสต์ฟู้ดอย่างสบายใจ โดยที่ไม่ต้องกังวลว่าจะถูกขับออกจากทีมเพราะทำน้ำหนักไม่ได้ จนต้องมาออกกำลังกายมันอยู่นั่นเพื่อให้รู้สึกดีขึ้นมาหน่อยก่อนจะเข้านอน"
"แม้ไม่อยากจะยอมรับ แต่อาการบาดเจ็บทั้งกายและใจที่ต้องเจอ มันทำให้ฉันรู้สึกแตกสลายเลยค่ะ"
กลับมาใหม่ด้วยรอยยิ้ม
ด้วยความบอบช้ำทั้งร่ายกายและจิตใจที่ประสบ ที่สุดแล้ว เคทลินจึงตัดสินใจก้าวออกจากการแข่งขันยิมนาสติกระดับท็อป เพื่อกลับมาโฟกัสกับเรื่องการเรียน รวมถึงหาหนทางที่จะทำให้เธอกลับมามีความสุขเหมือนสมัยเด็กๆ อีกครั้ง
ซึ่งแม้ยิมนาสติกจะเป็นสิ่งที่ทำให้ต้องเจอกับช่วงเวลาที่เป็นทุกข์ เจ้าตัวก็ยอมรับว่า มันคือสิ่งที่ทำให้เธอมีความสุขด้วยเช่นกัน ถึงกระนั้น การลดเพดานบินจากที่เคยบินสูงถึงระดับโลกก็นำมาซึ่งเสียงวิจารณ์ที่หนักหนาไม่น้อย
"หลายคนเคยต่อว่าฉันว่า มันน่าอับอายแค่ไหนที่ตัวฉันไปไม่ถึงในจุดที่ควรจะไปถึง เคยแม้แต่ถูกเปรียบเทียบเหมือนกับนกที่ไม่สามารถบินได้ แต่ไม่มีใครรู้เต็มร้อยหรอกว่าฉันต้องเจออะไรมาบ้าง ซึ่งฉันว่า บางทีอาการบาดเจ็บที่เกิดขึ้นก็เป็นผลดีกับตัวฉันเองเหมือนกัน"
แต่ถึงแม้เรื่องการเรียนจะเริ่มไปได้สวย เช่นเดียวกับชีวิตการเป็นนักกีฬาที่สามารถติดทีมของมหาวิทยาลัยได้สำเร็จ เธอก็ยังต้องต่อสู้กับตัวเองในการกลับมาเฉิดฉายบนฟลอร์ จนกระทั่งได้เจอกับคนที่มาช่วยทำให้เธอมีความสุขอย่างที่เธอหวัง
"หลังจากการแข่งขันในปีแรกของเธอกับเราผ่านไปได้ครึ่งทาง เธอก็บอกกับฉันว่า เธอไม่อยากที่จะกลับมาเก่งอีกครั้ง" วาลอรี่ ฟิลด์ เฮดโค้ชทีมยิมนาสติกของ UCLA เล่าถึงเหตุการณ์ในตอนนั้น "ตอนเราเริ่มลงลึกถึงเรื่องนั้น เธอก็บอกแค่เพียง 'ตอนที่ฉันเคยเก่ง ฉันไม่มีความสุขเลย แล้วทำไมฉันถึงจะต้องกลับไปตรงนั้นด้วยล่ะ?' ถึงตรงนี้ ฉันรู้แล้วว่า ฉันต้องทำให้เธอไว้ใจในตัวฉันให้ได้"
จากการพูดคุยในครั้งนั้น วาลอรี่ หรือที่เด็กๆ เรียกเธอว่า “คุณวาล” ก็ได้เริ่มปรับเปลี่ยนทัศนคติของเคทลิน จนเธอเรียนรู้ถึงสิ่งสำคัญอย่างหนึ่ง ...
นั่นคือการจะเล่นกีฬาหรือทำอะไรอย่างมีความสุขได้ ต้องมีรอยยิ้มบนใบหน้าเสียก่อน
เรื่องดังกล่าวไม่ได้เป็นการหยิบยกมาเพียงลอยๆ แต่ยังมีผลการศึกษาเมื่อปี 2017 เมื่อทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยอัลสเตอร์ และมหาวิทยาลัยสวอนซี ได้ทดลองกับกลุ่มนักวิ่งรวม 24 คนในการวิ่งด้วยอิริยาบถต่างๆ ซึ่งผลพบว่า กลุ่มที่วิ่งไปยิ้มไป การใช้ออกซิเจนจะมีประสิทธิภาพมากกว่าเดิม 2.78%
การเล่นกีฬาแบบผ่อนคลายและมีความสุขจึงมีส่วนสำคัญประการหนึ่งที่ช่วยให้นักกีฬาสามารถทำผลงานได้ดีขึ้น ซึ่งมีบทพิสูจน์จากสนามจริง ไม่ว่าจะเป็น เอลิอุด คิปโชเก้ นักวิ่งมาราธอนเจ้าของสถิติโลก รวมถึง แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ที่ผลงานกลับมาดีอีกครั้งหลัง โอเล่ กุนนาร์ โซลชา ทำให้ลูกทีมมีความสุขในการเล่น
การเติมรอยยิ้มบนใบหน้า ส่งผลให้เคทลินกลับมาเล่นยิมนาสติกอย่างมีความสุขอีกครั้ง และมันส่งผลให้ผลงานของเธอดีขึ้นด้วยเช่นกัน สิ่งที่น่าสนใจคือ การเล่นที่ได้คะแนนเต็ม 10 อย่างคลิปไวรอลระดับ 100 ล้านวิวที่เรากล่าวไปข้างต้นไม่ได้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก แต่ถือเป็นครั้งที่ 5 แล้วซึ่งเธอทำได้ ไม่เพียงเท่านั้น เธอยังเคยคว้าเหรียญทองในประเภทฟลอร์เอ็กเซอร์ไซส์ และนำ UCLA คว้าแชมป์ประเทศในระดับมหาวิทยาลัยเมื่อปี 2018 อีกด้วย
คุณวาล เฮดโค้ชของ UCLA จึงเป็นอีกหนึ่งคนที่มีบทบาทสำคัญในการทำให้เคทลินกลับมาเฉิดฉายบนฟลอร์อีกครั้ง จนคุณแม่ ซึ่งเดิมทีเองก็ไม่แฮปปี้ที่เธออำลาการแข่งขันยิมนาสติกในระดับสูงต้องเปลี่ยนใจหลังได้เห็นลูกสาวของเธอมีความสุขกับสิ่งแวดล้อมใหม่
และที่ UCLA นี้เองที่ทำให้เคทลินรู้สึกว่า ที่นี่แหละ คือบ้านหลังที่สองของเธอ
"ทุกครั้งที่ฉันขึ้นไปบนฟลอร์ นั่นคือช่วงเวลาที่ฉันโปรดปรานที่สุดในการเล่นยิมนาสติกเลยค่ะ รวมถึงการได้อยู่ที่นั่นกับเพื่อนๆ และโค้ช ได้เห็นพวกเขาเต้นอย่างมีความสุขกับฉัน มันเหมือนกับว่าที่นั่นคือบ้านเลยค่ะ"
เคทลินยอมรับว่า แม้เวทีของเธอจะเล็กลง แต่การได้ค้นพบความสุขและความรักในการเล่นยิมนาสติก มันได้เติมเต็มให้ตัวเธอกลับมาคนเดิมเหมือนในวัยเด็กอีกครั้ง
"ฉันได้เจอกับความสุข, ตัวตน และความรักที่ฉันมีกับกีฬานี้แล้ว ซึ่งมันไม่ใช่ผลลัพธ์ ไม่ใช่การที่ฉันขึ้นไปยืนบนจุดสูงสุดพร้อมเหรียญรางวัล แต่เป็นการได้ออกไปเล่นพร้อมรอยยิ้มบนใบหน้าและมีความสุขกับตัวเองอีกครั้ง นั่นแหละสิ่งสำคัญอันดับแรกแล้วค่ะ" เคทลินกล่าวทิ้งท้าย
อัลบั้มภาพ 6 ภาพ