โอลิมปิก 1964 : มหกรรมกีฬาครั้งเดียวที่เปลี่ยนประเทศญี่ปุ่นไปตลอดกาล

โอลิมปิก 1964 : มหกรรมกีฬาครั้งเดียวที่เปลี่ยนประเทศญี่ปุ่นไปตลอดกาล

โอลิมปิก 1964 : มหกรรมกีฬาครั้งเดียวที่เปลี่ยนประเทศญี่ปุ่นไปตลอดกาล
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เมื่อมหกรรมกีฬาแห่งมวลมนุษยชาติไม่ใช่แค่การแข่งขัน แต่ยังเป็นจุดเปลี่ยนในการก้าวมาเป็นมหาอำนาจของชาวอาทิตย์อุทัย

ในกีฬาระดับเมเจอร์ของโลก ชื่อของโอลิมปิกน่าจะเป็นชื่อที่เราคุ้นหูไม่ต่างจากฟุตบอลโลก จากการเป็นหนึ่งในมหกรรมกีฬาที่ผู้คนต่างให้ความสนใจ และมีชาติจากทั่วโลกส่งทีมเข้าร่วมการแข่งขันกันอย่างคึกคักทุกๆ 4 ปี

 

อย่างไรก็ดี โอลิมปิกอาจจะไม่ได้ทำหน้าที่สำหรับการแข่งขันกีฬาเท่านั้น เมื่อในครั้งหนึ่งมันเคยเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้ประเทศที่เพิ่งแพ้สงครามอย่าง “ญี่ปุ่น” พลิกโฉมขึ้นมาเป็นมหาอำนาจของโลกได้อย่างปัจจุบัน

พวกเขาทำได้อย่างไร Main Stand ขอพาไปหาคำตอบพร้อมกัน

โอลิมปิกที่ไม่เคยเกิดขึ้นจริง

ย้อนกลับไปในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ญี่ปุ่นเป็นประเทศหนึ่งที่น่าจับตามอง จากการพัฒนาประเทศได้อย่างรวดเร็วหลังยุคปฏิรูปเมจิ การใช้นโยบาย “ประเทศมั่งคั่ง การทหารเข้มแข็ง” (ฟุโคคุเคียวเฮ) มีส่วนอย่างมากที่ทำให้พวกเขาขึ้นมามีบทบาทในเวทีเอเชีย จนก้าวไปเป็นมหาอำนาจทางอุตสาหกรรมและการทหาร

 1

นอกจากการไล่ล่าอาณานิคมภายใต้การเป็น “จักรวรรดิญี่ปุ่น”  หนึ่งในสิ่งที่จะแสดงศักยภาพของตัวเองคือการจัดการแข่งขันกีฬา ในโอลิมปิก 1936 ที่เยอรมัน ญี่ปุ่นได้ยื่นสมัครขอเป็นเจ้าภาพกีฬาโอลิมปิกในอีก 4 ปีข้างหน้า และพวกเขาได้รับเลือกจากสภาโอลิมปิกสากล (IOC) สมใจ

ยิ่งไปกว่านั้น ในการประชุมที่กรุงไคโร ประเทศอียิปต์ ไอโอซี ยังมีมติเลือกเมืองซัปโปโร ของญี่ปุ่น เป็นสถานที่จัดโอลิมปิกฤดูหนาว ทำให้ญี่ปุ่นกลายเป็นชาติแรกของเอเชีย และครั้งแรกของโลก ที่มีการจัดโอลิมปิกทั้งสองฤดูในปีเดียวกัน

อย่างไรก็ดี ในช่วงนั้นญี่ปุ่นเองก็กำลังอยู่ในช่วงการสร้างจักรวรรดิญี่ปุ่น ที่ต้องทำสงครามไล่ล่าอาณานิคมไปทั่วเอเชีย การขาดแคลนวัตถุดิบอย่างเหล็กและอลูมิเนียม ที่ใช้หลอมทำอาวุธ ทำให้รัฐบาลทหารญี่ปุ่น ลังเลที่จะจัดการแข่งขันในครั้งนี้

อีกทั้งพวกเขายังโดนคว่ำบาตรจากสหราชอาณาจักรจากกรณีรุกรานจีน ทำให้ในปี 1938 คณะกรรมการจัดการแข่งขันของญี่ปุ่นแจ้งต่อไอโอซีว่า พวกเขาขอถอนตัวในการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันในครั้งนี้ ก่อนที่ไอโอซีจะมอบสิทธิ์ให้ เฮลซิงกิ เมืองหลวงของฟินแลนด์ รับหน้าเสื่อจัดการแข่งขันต่อไป

 2

แต่โอลิมปิก 1940 ก็ไม่เคยเกิดขึ้นจริง สงครามระหว่างฟินแลนด์และรัสเซีย ทำให้การแข่งขันถูกยกเลิก แม้ว่าอีก 4 ปีต่อมาจะมีแผนจัดการแข่งขันที่ลอนดอน แต่ก็ได้แค่แผนการณ์ เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้ทุกอย่างเป็นหมัน

ขอแก้ตัวอีกครั้ง

นอกจากสงครามโลกครั้งที่ 2 จะพรากสิทธิ์ในการจัดการแข่งขันโอลิมปิกของเฮลซิงกิ และลอนดอนแล้ว มันยังพรากอำนาจการปกครองของญี่ปุ่นไปด้วย

 3

ความโหดร้ายของญี่ปุ่นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2  ที่กระทำต่อผู้คน ทำให้หลังพ่ายแพ้สงครามพวกเขาต้องตกอยู่ภายใต้การยึดครองของสหรัฐอเมริกา โดยมีสหราชอาณาจักรคอยสนับสนุน

ภายใต้การนำของนายพลดักลาส แมคอาเธอร์ เขาได้นำบุคลากรจากต่างประเทศกว่า 5,000 คน เข้ามาช่วยฟื้นฟูญี่ปุ่นด้วยการวางโครงสร้างพื้นฐาน ควบคู่ไปกับรัฐบาลญี่ปุ่น แมคอาเธอร์และพวกได้เข้ามาปฏิรูปญี่ปุ่นในหลายด้าน ทั้งกระจายอำนาจการปกครอง ที่เดิมเป็นของจักรพรรดิ (โดยมีทหารเป็นตัวแทน) แก่ประชาชน สนับสนุนให้เกิดสหภาพแรงงาน เพื่อสร้างอำนาจการต่อรองและกระจายรายได้ ปฏิรูปที่ดินโดยการซื้อที่ดินจากเจ้าของที่ที่ซื้อไว้เก็งกำไรและขายให้เกษตรกร และปฎิรูปการศึกษาจากเดิมที่ถูกทหารล้างสมอง

 4

เพียงแค่ไม่ถึง 10 ปีญี่ปุ่นก็พลิกฟื้นขึ้นมาอย่างรวดเร็ว จนกระทั่งสหรัฐอเมริกาเล็งเห็นว่า ประเทศเกาะประเทศนี้สามารถอยู่ได้ตัวเองแล้ว ปฏิบัติการบัญชีดำ (Operation Blacklist) จึงสิ้นสุดลงในปี 1951 ด้วยสนธิสัญญาซานฟรานซิสโก

ทันทีที่ได้รับเอกราช รัฐบาลเมืองโตเกียวก็เดินหน้าสมัครขอจัดโอลิมปิกในการแข่งขันปี 1960 แต่ความพยายามของพวกเขาต้องจบลงเนื่องมาจากความกังวลต่อสภาพร่างกายของประชาชนที่อาจจะยังไม่พร้อม เนื่องมาจากเพิ่งจะผ่านสงครามมาได้ไม่นาน อีกทั้งยังมีเสียงต่อต้านในการจัดโอลิมปิกในฝั่งตะวันออก 2 ครั้งติดต่อกัน (เมลเบิร์นของออสเตรเลียเป็นเจ้าภาพในปี 1956)

หลังจากแผนแรกล้มเลิกไป ในโอลิมปิก 1964 โตเกียวขอสมัครขอเป็นเจ้าภาพอีกครั้ง และในการประชุมครั้งที่ 55 ของไอโอซีที่เมืองมิวนิค เยอรมันตะวันตก พวกเขาก็เอาชนะตั้งแต่การโหวตครั้งที่ 1 เหนือเมืองดีทรอยท์ (สหรัฐอเมริกา) อย่างถล่มทลาย 34-10 เสียง กลายเป็นชาติแรกในประวัติศาสตร์ของเอเชียที่จะได้จัดทัวร์นาเมนต์นี้

 5

“คลื่นแห่งความยินดีของชาติส่งตรงมาจากมิวนิคว่าโตเกียวได้เป็นเจ้าภาพจัดโอลิมปิก 1964 เหรียญห้าห่วงสัญลักษณ์ของโอลิมปิกในที่สุดก็ได้เติมเต็มสมบูรณ์ (ห้าห่วงคือตัวแทนห้าทวีปของโลก) ในที่สุดโอลิมปิกเกมส์ก็มาถึงเอเชียเสียที” Japan Times รายงานข่าวที่ญี่ปุ่นจะได้เป็นเจ้าภาพโอลิมปิกด้วยความปิติยินดี (แม้ในความเป็นจริง ทวีปแอฟริกาจะยังไม่เคยได้จัดแข่งขันโอลิมปิกจนถึงทุกวันนี้ก็ตาม)

ก่อนที่มันจะกลายเป็นโอลิมปิกที่เปลี่ยนโฉมหน้าญี่ปุ่นไปตลอดกาล

โอลิมปิกเปลี่ยนเมือง

แม้ว่าญี่ปุ่น จะมีเศรษฐกิจที่ดีขึ้นในช่วงหลังสงครามโลก แต่ยังเป็นประเทศที่ขาดแคลนโครงสร้างขั้นพื้นฐานที่ทันสมัย โดยเฉพาะในเมืองที่เป็นเจ้าภาพอย่างโตเกียว

 6

โตเกียวในยุคสมัยนั้นค่อนข้างแออัด เนื่องจากมีผู้คนอพยพย้ายเข้ามาอย่างต่อเนื่องหลังสงครามโลก โดยมีประชากรพุ่งถึง 10 ล้านคนในปี 1963 กอปรกับอยู่ในยุคอุตสาหกรรมเฟื่องฟู มีโรงงานอุตสาหกรรมตั้งเรียงราย ทำให้เมืองเต็มไปด้วยมลภาวะและขยะ  

“แหล่งโรงงานอุตสาหกรรม ควันที่พวยพุ่งออกมาจากปล่องดำที่สูงตระหง่าน ก็ย่ำแย่มากขึ้นทุกปีตามเศรษฐกิจที่กำลังเติบโต ส่งผลให้ท้องฟ้าของเมืองใหญ่ที่อยู่ติดกันกลายเป็นสีเทา แม้แต่ในโตเกียวเองก็ถูกควันจู่โจมอย่างต่อเนื่อง” ข่าวในปี 1963

“ในห้องน้ำผมก็คอยเตือนผู้คนตลอดว่าอย่าทิ้งขยะที่นี่ แต่คนญี่ปุ่นส่วนใหญ่ก็มีนิสัยทิ้งขยะไม่เป็นที่ นี่เป็นนิสัยแย่ที่สุดของคนญี่ปุ่นเลยครับ” คำสัมภาษณ์จากเจ้าหน้าที่ในปี 1964  

แต่การเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกของพวกเขาก็ทำให้เมืองเปลี่ยนไป รัฐบาลทุ่มงบประมาณจำนวนมหาศาลในการสร้างระบบโครงสร้างให้ทันสมัยและทันเวลา เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวและนักกีฬาที่คาดกันว่าจะมีจำนวนมหาศาล

“พรรค New Democratic Japan ใช้เงินไปกว่า 1.9 พันล้านดอลลาร์ตกแต่งโตเกียวที่เละเทะเพื่อรองรับคลื่นฝูงชนของนักกีฬาโอลิมปิกและนักท่องเที่ยวที่กำลังเดินทางมาถึง หรือมาถึงเป็นที่เรียบร้อย พวกเขามีแท็กซี่ 26,753 คันที่ช่วยแก้ไขระบบที่อยู่อันยุ่งเหยิงของโตเกียว” รายงานจาก Sports Illustrated

 7

ระบบสาธารณูปโภคหลายอย่างถูกยกระดับ ทั้งรถไฟฟ้าและรถไฟใต้ดิน เช่นเดียวกับทางหลวงยกระดับในพื้นที่เขตเมือง ในขณะที่สนามบินฮาเนดะถูกทำให้ทันสมัยด้วยเครื่องบินเจ็ตใหม่ล่าสุด และรถไฟฟ้าโมโนเรล ที่เชื่อมต่อจากสนามบินเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติโดยเฉพาะ

เช่นเดียวกับระบบขยะ พวกเขาออกนโยบาย  “โอลิมปิกโตเกียวอันแสนสะอาด” ด้วยการแจกจ่ายถังดำสำหรับทิ้งขยะไปทั่วทั้งโตเกียว และรณรงค์ให้ประชาชน

ร่วมมือกันทิ้งขยะให้ลงถัง แทบไม่น่าเชื่อว่าโตเกียวที่เละเทะก่อนโอลิมปิกเพียงหนึ่งเดือน จะแปรเปลี่ยนไปจนได้รับเสียงชื่นชมจากชาวโลก

โครงการสุดท้ายและมีชื่อเสียงที่สุดคือรถไฟชินคังเซ็นสายโทไคโด ที่เชื่อมต่อระหว่างโตเกียวและโอซากา อันที่จริงมันเป็นโครงการที่มีมาตั้งแต่ทศวรรษที่ 1930s ที่จะสร้างทางรถไฟสายเอเชียบูรพาที่จะเชื่อมต่อญี่ปุ่นเข้ากับประเทศอาณานิคมในเอเชีย แต่ถูกยกเลิกไปเนื่องจากขาดแคลนทรัพยากรในช่วงสงคราม แต่หลังจากรื้อฟื้นโครงการขึ้นมาใหม่ ในที่สุดชินคังเซ็นเสร็จสมบูรณ์ก่อนโอลิมปิกเปิดการแข่งขันเพียงแค่วันเดียว

“มันคือรถไฟที่เร็วที่สุดในโลกและแสดงให้โลกได้เห็นว่าญี่ปุ่นคือผู้นำทางเทคโนโลยี นอกจากชินคังเซ็นแล้ว พวกเขายังพัฒนาเครื่องบินขนส่งของตัวเองที่ชื่อว่า YS-11 ที่ใช้ขนส่งเปลวเพลิงโอลิมปิกอีกด้วย” Paul Droubie กล่าวในบทความ Japan's Rebirth at the 1964 Tokyo Summer Olympics

 8

ญี่ปุ่นยังตอกย้ำความล้ำสมัยทางเทคโนโลยีในการแข่งขัน ด้วยการแนะนำให้ทั้งโลกได้รู้จักนาฬิกาจับเวลาที่ชื่อว่า  “ไซโก้” (Seiko) การใช้การเก็บสถิติด้วยคอมพิวเตอร์ และการออกอากาศที่ไม่ใช่แค่ภาพสีเท่านั้น แต่ยังเป็นการถ่ายทอดสดไปทั่วโลกผ่านดาวเทียมเป็นครั้งแรก ซึ่งมีผลทำให้ทีวีสีขายดีอย่างเทน้ำเทท่าในช่วงนั้น

ส่วนด้านกีฬา โอลิมปิก 1964 ยังเป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างนักกีฬาสู่ความเป็นเลิศ ด้วยเป้าหมายในการคว้าเหรียญโอลิมปิกให้มากที่สุด พวกเขาได้เชิญนักกีฬาที่เก่งที่สุดจากทั่วโลก มาแนะนำเทคนิคในการฝึกซ้อมรูปแบบใหม่

พวกเขายังเพิ่มกีฬาใหม่เข้าไปหนึ่งในนั้น วอลเลย์บอลหญิง ที่ตอนนั้นยังเป็นกีฬาของผู้ชายในโอลิมปิก ก่อนจะเป็นชาติแรกที่คว้าเหรียญทองมาได้สำเร็จ เป็นจุดเริ่มต้นของความยิ่งใหญ่ของทีมวอลเลย์บอลหญิงที่ตะวันตกขนานนามว่า “แม่มดแห่งตะวันออก”

 9

ญี่ปุ่นประสบความสำเร็จอย่างมากทั้งในและนอกสนาม ด้วยเสียงชื่นชมจากนานาประเทศในแง่โอลิมปิกที่มีความราบรื่นและสมบูรณ์แบบที่สุดครั้งหนึ่ง ในขณะที่ผลการแข่งขันพวกเขายังสามารถช่วยกันคว้าเหรียญทองมาคล้องคอได้ถึง 16 เหรียญ มากที่สุดเป็นอันดับ 3 ในครั้งนั้น

“สิ่งที่น่าประหลาดใจจริงๆแล้วไม่ใช่การที่ญี่ปุ่นเป็นแชมป์ แต่เป็นการมีส่วนร่วมอย่างแพร่หลายต่อกีฬาชาวตะวันตกของคนทุกวัย ความรักอย่างลึกซึ้งต่อกีฬาที่สนับสนุนทุกกิจกรรม” Herbert Warren Wind เขียนใน Sports Illustrated

และความสำเร็จของพวกเขายังสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน

มรดกจากโอลิมปิก

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เรามักจะได้ยินข่าวสนามกีฬาที่ถูกใช้จัดการแข่งขันกีฬาระดับโลก แต่กลับถูกทิ้งร้างหลังการแข่งขันเพียงไม่กี่ปี ทั้ง สนามกีฬาโอลิมปิกที่กรีซ หรือสนามฟุตบอลโลกของบราซิล แต่สำหรับญี่ปุ่นอาจต้องยกเว้น

 10

ในการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันโอลิมปิก 1964 ญี่ปุ่นก็เหมือนประเทศเจ้าภาพอื่นที่ต้องปรับปรุงหรือสร้างสนามขึ้นมาใหม่ พวกเขาทุ่มงบประมาณไปกับการสร้างและการออกแบบเป็นจำนวนมหาศาล

สนามกีฬาในร่มโยโยงิ, นิปปอน บูโดคัง และสนามกีฬาในร่มกรุงโตเกียว คือสนามที่ถูกสร้างขึ้นมาใหม่ในโอลิมปิก 1964 ทว่ามันไม่ได้ถูกทิ้งร้างเหมือนดังประเทศอื่น แต่กลับถูกใช้มาจนถึงปัจจุบัน จนทำให้คาดกันว่า โอลิมปิก 2020 ที่ญี่ปุ่นจะเป็นเจ้าภาพ จะเป็นการใช้งบประมาณที่น้อยที่สุด

“สนามโยโยงิ สเตเดียม คือตัวอย่างที่ยอดเยี่ยมสำหรับคำสัญญาของเราในการสร้างมรดกตั้งแต่ปี 1964” มาซาโอะ มิสุโนะ ซีอีโอเสนอเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันโอลิมปิก 2020 กล่าว

“หลังจากเกือบครึ่งศตวรรษ มันยังคงเป็นสนามที่ยอดเยี่ยมที่รวมวัฒนธรรมการออกแบบแบบญี่ปุ่นเข้ากับนวัตกรรมที่เป็นไปได้ในอนาคต”

 11

โอลิมปิก 1964 ไม่ได้ทิ้งสนามกีฬาให้แก่คนรุ่นหลังเพียงอย่างเดียว มันยังเป็นหนึ่งในจุดเริ่มต้นในหลายๆด้านทั้ง ความเฟื่องฟูทางเศรษฐกิจ รวมถึงระบบรางพื้นฐานที่ต่อยอดพัฒนารถไฟญี่ปุ่นให้ล้ำสมัยที่สุดประเทศหนึ่งในโลก และกำลังจะมีรถไฟพลังแม่เหล็กที่ทำความเร็วได้สูงสุดถึง 500 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

หรือความเป็นเลิศด้านกีฬา ที่ญี่ปุ่นให้ความสำคัญอย่างมากถึงขนาดนำวันที่ 10 ตุลาคม ซึ่งเป็นวันที่เปิดการแข่งขันโอลิมปิก เป็นวันกีฬาแห่งชาติ (ปัจจุบันเปลี่ยนมาเป็นจันทร์ที่ 2 ของเดือนตุลาคม) ที่ในวันนั้นจะมีการแข่งกีฬาขาว-แดง (กีฬาสี) ในสถานศึกษาทั่วประเทศ เพื่อปลูกฝังให้รักและชื่นชอบการเล่นกีฬาตั้งแต่เด็ก

ในขณะเดียวกันการแก้ไขปัญหาขยะ ยังกลายเป็นรากฐานในการจัดการขยะของคนญี่ปุ่น พลิกโฉมจากการเป็นประเทศที่มีขยะทิ้งเกลื่อนกลาดในที่สาธารณะกลายเป็นประเทศที่สะอาดจนทั่วโลกยกนิ้วให้

โอลิมปิก 1964 จึงไม่ใช่แค่การแข่งขันกีฬาของญี่ปุ่นเท่านั้น นอกจากจะเป็นจุดเริ่มต้นในหลายด้าน มันยังเป็นเหมือนเวทีที่บอกชาวโลกว่าญี่ปุ่นที่ล้มลงอย่างสิ้นเนื้อประดาตัวกำลังกลับมาแล้ว ในขณะเดียวกัน มันยังเป็นการแสดงเชื่อมั่นต่อคนในชาติว่าเรากำลังจะก้าวต่อไปข้างหน้าไปด้วยกัน ที่ทำให้พวกเขาพลิกโฉมจากประเทศผู้พ่ายแพ้สงครามขึ้นมาเป็นหนึ่งในมหาอำนาจได้อย่างปัจจุบัน

 12

“ในสายตาตะวันตก พวกเขาแสดงให้เห็นว่าญี่ปุ่นทัดเทียมกับพวกเขา และเป็นหนึ่งในสมาชิกของประเทศโลกที่ 1 ส่วนสำหรับคนที่ไม่ใช่ชาวตะวันตก พวกเขาแสดงให้เห็นตัวอย่างของความทันสมัย และสามารถขอคำแนะนำหรือความช่วยเหลือจากญี่ปุ่นได้” Paul Droubie กล่าว

ญี่ปุ่น กำลังจะได้จัดการแข่งขันโอลิมปิกอีกครั้งในปี 2020 ภายใต้สถานการณ์ที่ไม่สู้ดีนัก หลังจากประสบปัญหาทางเศรษฐกิจมาอย่างยาวนานกว่า 30 ปี และการกลายเป็นสังคมผู้สูงอายุเต็มตัว

แต่ญี่ปุ่นก็ยังหวังว่าโอลิมปิกครั้งนี้ จะช่วยพลิกฟื้นประเทศพวกเขาได้อีกครั้งเหมือนในอดีต เหมือนที่ครั้งหนึ่งโอลิมปิก 1964 เคยสร้างปาฏิหาริย์มาแล้ว

อัลบั้มภาพ 12 ภาพ

อัลบั้มภาพ 12 ภาพ ของ โอลิมปิก 1964 : มหกรรมกีฬาครั้งเดียวที่เปลี่ยนประเทศญี่ปุ่นไปตลอดกาล

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook