มอง "ชลบุรี เอฟซี" ผ่านสโมสรฟุตบอลเยอรมัน.. ปั้นเด็กไปได้อะไร?

มอง "ชลบุรี เอฟซี" ผ่านสโมสรฟุตบอลเยอรมัน.. ปั้นเด็กไปได้อะไร?

มอง "ชลบุรี เอฟซี" ผ่านสโมสรฟุตบอลเยอรมัน.. ปั้นเด็กไปได้อะไร?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

หากพูดถึงสโมสรฟุตบอลในเมืองไทยที่ยึดมั่นในการสร้างผู้เล่นเยาวชนจากอคาเดมีขึ้นสู่ทีมชุดใหญ่ มากกว่าทุ่มเงินซื้อนักเตะเข้าร่วมทีม ชื่อแรกที่ต้องนึกถึงก็คือ “ชลบุรี เอฟซี”

จาก พิภพ, สินทวีชัย สู่ เกริกฤทธิ์ มาถึง วรชิต.. ตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา ชลบุรี ไม่เคยหยุดสร้างนักเตะฝีเท้าเยี่ยมเข้าสู่วงการฟุตบอลไทยจากรุ่นสู่รุ่น

แม้อุดมการณ์ที่ยึดมั่นในการพัฒนาเยาวชนของฉลามชล จะทำให้ทีมต้องร้างความสำเร็จใบใหญ่มาอีกหลายปีต่อมา นับตั้งแต่คว้าแชมป์เอฟเอ คัพ 2010 จนแฟนบอลไทยตั้งคำถามว่า วิถีทางของทีมฟ้า-น้ำเงินคือแนวทางที่ใช่ในฟุตบอลสมัยใหม่หรือไม่ พวกเขาจะอดทนรอไปเพื่ออะไร?

 

แต่ถึงกระนั้น หากมองออกไปยัง “เยอรมัน” นี่คือชาติมหาอำนาจที่สโมสรต่างๆล้วนยึดมั่นในแนวทางการสร้างเยาวชนจากอคาเดมี ขึ้นสู่ทีมชุดใหญ่ ต่อยอดไปถึงการเป็น นักฟุตบอลระดับโลก

และเป็นอีกหนึ่งรากฐานสำคัญที่ทำให้ ฟุตบอลลีกภายในประเทศเข้มแข็ง และส่งผลไปถึงทีมชาติ ที่มีผลผลิตดาวรุ่งฝีเท้าดีขึ้นมาอย่างไม่ขาดสาย เหตุใดวงการฟุตบอลเมืองเบียร์และทัพฉลามชลถึงให้ความสำคัญกับการสร้างนักเตะรุ่นเยาว์ แทนที่จะทุ่มเงินซื้อผู้เล่นต่างชาติอย่างบ้าคลั่งเหมือนลีกชาติอื่น

จากม้าขาว.. สู่อินทรีเหล็ก

จุดเริ่มต้นของการปั้นเยาวชนอย่างเป็นจริงเป็นจัง สโมสรในฟุตบอลเยอรมัน เกิดขึ้นจากความล้มเหลวต่อเนื่องของทีมชาติเยอรมัน ตั้งแต่บอลโลก 1998, ยูโร 2000 และ ยูโร 2004

 1

ผลงานที่พินาศไม่เป็นท่าทั้ง 3 รายการ ทำให้คนในวงการฟุตบอลเมืองเบียร์หันหน้าเข้าหากัน เพื่อหาวิธีหยุดช่วงเวลาหายนะของทัพอินทรีเหล็ก

สุดท้ายได้ข้อสรุปว่า ทีมชาติเยอรมัน ไม่สามารถหานักเตะรุ่นใหม่มาทดแทนนักเตะรุ่นเก่า และทำให้ทีมชาติต้องกัดฟันเลือกใช้แต่นักเตะหน้าเดิมที่หมดไฟ จนนำไปสู่หายนะที่ล้มเหลว และวิธีแก้จึงต้องย้อนกลับไปที่จุดเริ่มต้นของปัญหา คือการสร้างนักเตะทีมชาติดาวรุ่งไฟแรงขึ้นมาเป็นกำลังหลักของทีมชาติ

สมาคมฟุตบอลเยอรมันหรือเดเอฟเบ (DFB) ประกาศบังคับใช้แผน “Talent Development Programme” (แผนพัฒนาเยาวชน) แก่ทุกสโมสรฟุตบอลในเยอรมัน รวมถึงศูนย์ฝึกเยาวชนทั่วประเทศ

แผนพัฒนาเยาวชนบังคับให้ทุกสโมสรในเยอรมันต้องหาเด็กท้องถิ่นเข้ามาเป็นนักเตะเยาวชนของสโมสร และต้องพัฒนานักเตะด้วยโปรแกรมฝึกที่เข้มข้นและเป็นแบบแผนตั้งแต่ช่วงอายุ 11-17 ปี ซึ่งเป็นช่วงอายุที่ทางเยอรมันมองว่าสำคัญที่สุด หากคิดจะปั้นนักเตะคนหนึ่งให้กลายเป็นสุดยอดนักฟุตบอลในอนาคต

ซึ่งก็ช่วงรุ่นอายุเดียวกันกับที่ ชลบุรี เอฟซี เลือกรับเด็กๆ เข้ามาดูแลในอคาเดมีของตัวเอง นับตั้งแต่เริ่มแยกตัวออกมาทำเองเป็นสโมสรแรกๆ ในช่วงระหว่างปี 2009-2010 แทนการฝากเลี้ยงไว้ในสถานศึกษาอย่างในอดีต

ยิ่งไปกว่านั้น เดเอฟเบ ยังบังคับให้ทุกสโมสรในบุนเดสลีก้าและลีก้า 2 ต้องพัฒนาศูนย์ฝึกเยาวชนให้ได้เป็นมาตรฐานเดียวกัน ไม่มีข้อแตกต่าง ไม่ว่าทีมใหญ่หรือเล็ก

การใช้เงินลงทุนกับศูนย์ฝึกเยาวชนของสโมสรทั้ง 36 ทีมใน 2 ลีกสูงสุดของเยอรมัน สูญเสียเงินไปแค่ 114 ล้านยูโรเท่านั้น น้อยกว่าค่าตัวของ ซีเนอดีน ซีดาน รวมกับหลุยส์ ฟิโก้ สองแข้งของเรอัล มาดริด ยุคกาลาติกอสเสียอีก

แผนการพัฒนาเยาวชนของสมาคมฟุตบอลเยอรมันในเวลานั้น ได้รับต้นแบบมาจากแผนพัฒนาเยาวชนของสโมสร เฟาเอฟเบ สตุ๊ตการ์ท และชายผู้คิดแผนพัฒนาเยาวชนนี้คือ ราล์ฟ รังนิค อดีตผู้จัดการทีมของสตุ๊ตการ์ทในช่วงปี 1999-2001

“ผมเห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาเยาวชน ที่จะช่วยเปลี่ยนแปลงวงการฟุตบอลเยอรมัน ถ้าเราอยากจะเป็นชาติที่สุดยอดแห่งโลกฟุตบอล เราต้องเพิ่มขีดศักยภาพของเยาวชนในทุกๆสโมสรให้ทัดเทียมกัน” รังนิคพูดถึงความสำคัญของการพัฒนาเยาวชนในสายตาของเขา

ผลผลิตที่รังนิคทิ้งไว้ ทำให้ สตุ๊ตการ์ท ทีมธรรมดาทีมหนึ่ง ผงาดขึ้นไปลุ้นแชมป์กับยักษ์ใหญ่อย่างบาเยิร์นได้ในฤดูกาล 2002-03 นักเตะอย่าง เควิน คูรานยี่, ติโม ฮิลเดบรันด์, ถูกผลักดันและสร้างชื่อในชุดใหญ่ ก่อนที่นักเตะชุดนี้จะถูกต่อยอดไปคว้าแชมป์บุนเดสลีกาได้ในปี 2007

 2

นับจากวันที่วงการเยอรมันเอาแผนงานของทีมม้าขาว มาใช้ในการพัฒนาเยาวชนมวลรวมของชาติ พวกเขาก็ประสบความสำเร็จ เป็นแชมป์ฟุตบอลโลก 1 ครั้ง, แชมป์คอนเฟเดอเรชั่นส์ คัพ 1 ครั้ง, อันดับ 3 ฟุตบอลโลก 2 ครั้ง และรองแชมป์ยูโร 1 อีกครั้ง

ไม่ใช่แค่ทัพอินทรีเหล็กที่ได้ผลประโยชน์จากการพัฒนาเยาวชน ฟุตบอลลีกของเมืองเบียร์ยังคงแข็งแกร่งและมีประสิทธิภาพ เป็นหนึ่งในสี่ลีกใหญ่ของยุโรปไว้อย่างเหนียวแน่น

วิทยา เลาหกุล หรือ โค้ชเฮง ชายที่เคยไปสัมผัสฟุตบอลเยอรมันมาด้วยตนเองกับแฮร์ธ่า เบอร์ลิน และซาร์บรุคเค่น ในช่วงปี 1979 ถึง 1984 กล่าวกับ Main Stand ว่า “เยอรมันถือเป็นต้นแบบของการพัฒนาเยาวชนในหลายประเทศ เยอรมันมีศูนย์ฝึกเยาวชนประมาณ 300 แห่งทั่วประเทศ ไม่รวมกับอคาเดมีของสโมสรฟุตบอล เยอรมันจึงสร้างผู้เล่นเยาวชนขึ้นมาได้เยอะมาก”

“ในความเป็นจริงศูนย์ฝึกฟุตบอลแต่ละแห่งสร้างผู้เล่นอาชีพแต่ละปีได้น้อย เยอรมันเลยต้องสร้างศูนย์ฝึกจำนวนมาก เพื่อสร้างนักเตะคุณภาพ (Quality Player) เข้าสู่วงการฟุตบอล”

ขี่อินทรี.. มองดูฉลาม

ปฏิเสธไม่ได้ว่าทุกวันนี้ ฟุตบอลอยู่ได้ด้วยธุรกิจ การจะทำทีมฟุตบอลให้ประสบความสำเร็จ ย่อมต้องดูปัจจัยเรื่องของเงินทุนด้วยเช่นกัน ไม่ใช่ทุกทีมจะสามารถทุ่มเงินลงทุนได้หลายล้าน เพื่อซื้อนักเตะซูเปอร์สตาร์ล่าความสำเร็จ ดังนั้นสโมสรรากหญ้า ต้องหาวิธีตอบโจทย์ทั้งเรื่องผลงานในสนามและสถานะทางการเงิน

 3

ชลบุรี เอฟซี ไม่เคยเป็นทีมฟุตบอลเงินถุงเงินถังมาตั้งแต่แรกเริ่ม แนวทางที่พวกเขาเลือกจึงเป็นการบริหารจัดการ และหาวิธีการให้สโมสรอยู่ได้อย่างยั่งยืน ท่ามกลางกระแสทุนนิยมที่เชี่ยวกราก

ทัพฉลามชล ขยับตัวก่อนทุกสโมสร พวกเขามองเห็นว่าการปั้นเยาวชนคือวิถีทางที่ตอบโจทย์กับทีมฟุตบอลที่ไม่ได้มีทุนทรัพย์ที่จะไปซื้อนักเตะคุณภาพราคาหลายสิบล้านมาร่วมทีม.. แต่ชลบุรีสร้างนักเตะคุณภาพเหล่านั้นขึ้นมาได้ ด้วยอคาเดมีของตัวเอง

“ชลบุรีจำเป็นที่จะต้องสร้างนักเตะคุณภาพขึ้นมาด้วยตัวเอง และดันนักเตะเหล่านั้นขึ้นสู่ทีมชุดใหญ่ เพราะเราไม่มีเงินทุนที่จะไปซื้อนักเตะฝีเท้าดีที่มีราคาแพง อย่างในปัจจุบันได้” วิทยา เลาหกุล กล่าวเริ่ม

 4

“ทุกวันนี้โลกฟุตบอลคือ 'สงครามแย่งนักเตะฝีเท้าดี' ทีมไหนมีเงินก็ได้ไป แต่ชลบุรีไม่ต้องไปแย่งกับใคร เพราะเราสร้างขึ้นมาเอง มีแต่ทีมอื่นจ้องจะมาแย่งของเราไป”

“ชลบุรี จะเป็นเหมือนชาลเก้ 04 หรือ ไบเออร์ เลเวอร์คูเซ่น ไม่ได้เป็นทีมยักษ์ใหญ่ มีเงินซื้อนักเตะดัง แต่สามารถสร้างนักเตะคุณภาพขึ้นมาสู่ชุดใหญ่ได้ตลอด”

คำเปรียบเทียบระหว่างชลบุรีกับสโมสรฟุตบอลในเยอรมันไม่ใช่เรื่องเกินเลยนัก หากย้อนดูประวัติการพัฒนาผู้เล่นเยาวชนของสองทีมข้างต้น

ชาลเก้ 04 สร้าง เมซุต โอซิล, ยูเลี่ยน ดรักซ์เลอร์, เลออน โกเร็ทซ์ก้า, เลรอย ซาเน่, มักซ์ ไมเออร์, มานูเอล นอยเออร์ ขึ้นมาเป็นตัวหลักของสโมสรและติดทีมชาติ โดยไม่ต้องเสียเงินค่าตัวไปซื้อนักเตะเหล่านี้มาร่วมทีม แถมยังสร้างกำไรมหาศาลยามขายออกไป

เช่นเดียวกับ ไบเออร์ เลเวอร์คูเซ่น ให้โอกาส ไค ฮาเวิร์ตซ์, ยูเลี่ยน บรันด์ท, แบรนด์ เลโน่, โยนาธาน ทาห์ ลงสนามตั้งแต่อายุยังน้อย จนปัจจุบันกลายเป็นนักเตะทีมชาติเยอรมัน ชุดใหญ่ไปแล้ว

เพราะสโมสรในเยอรมันเกือบทั้งหมด (ยกเว้น บาเยิร์น มิวนิค) ไม่ใช่สโมสรฐานะร่ำรวย แต่ละสโมสรมีงบประมาณจำกัดในแต่ละฤดูกาลในการหานักเตะเข้าสู่สโมสร ไม่ต่างอะไรกับชลบุรี เอฟซี

 5

ซึ่งวิธีที่ประหยัดที่สุดในการหานักเตะหน้าใหม่เข้าทีมชุดใหญ่ คือการสร้างนักเตะจากชุดเยาวชน ในแต่ละปีสโมสรฟุตบอลเมืองเบียร์ เปิดพื้นที่ให้นักเตะจากชุดเยาวชนขึ้นมาเล่นในชุดใหญ่ หากผู้เล่นคนไหนที่สามารถฉายแสงได้ ทีมจะผลักดันให้ก้าวขึ้นมาเป็นผู้เล่นตัวหลักต่อไป

แม้แต่ทีมมหาอำนาจอย่าง บาเยิร์น ก็ไม่เคยละเลยเรื่องการปั้นเด็ก ถึงจะได้ชื่อว่าเป็นสโมสรฟุตบอลที่ร่ำรวยระดับหัวแถวของโลก แต่เขาก็ใช้วิธีการทั้งซื้อและสร้าง ตัวอย่างเช่น ฟิลลิป ลาห์ม, บาสเตียน ชไวน์สไตเกอร์, โทนี่ โครส, มัตส์ ฮุมเมิลส์ และ โธมัส มุลเลอร์ คือเหล่านักเตะระดับโลกที่ถ้ำเสือใต้เลี้ยงดูและปลุกปั้นอย่างดี จนนักเตะเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของความเกรียงไกรของตลอดช่วง 10 ปีที่ผ่านมาของบาเยิร์น

ย้อนกลับมาที่วงการฟุตบอลไทย ฉลามชล ใช้แนวทางเดียวอันเป็นที่นิยมในเยอรมัน คือการยึดมั่นในวิถีของการสร้างมากกว่าการซื้อ ไม่ว่าจะเป็นในอดีต ที่ปั้นผ่านการนำไปฝากเลี้ยงไว้ในโรงเรียนอัสสัมชัญศรีราชา หรือ โรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย จนถึงยุคปัจจุบันที่อคาเดมี่เป็นของตัวเอง

ชลบุรี สร้างนักเตะมากมายนับไม่ถ้วนเกินกว่าที่เราจะไล่ชื่อได้ทั้งหมด พร้อมกับเป็นสโมสรที่กล้าให้โอกาสฉลามหนุ่ม ขึ้นมาแหวกว่ายบนผืนหญ้าบนลีกสูงสุดไม่ขาดสาย รวมถึง ยังส่งต่อผลิตอีกจำนวนมากไปประดับวงการฟุตบอลไทยตามสโมสรต่างๆ

 6

“การสร้างเยาวชนที่ชลบุรี ไม่ต่างอะไรกับการสร้างเยาวชนที่เยอรมัน โครงสร้างการพัฒนาเยาวชนที่เยอรมันก็ได้นำมาปรับเป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างอคาเดมีที่ชลบุรี”

“เป้าหมายเบื้องต้นของการทำอคาเดมีชลบุรีคือสร้างนักเตะอาชีพขึ้นมาในวงการฟุตบอลไทย ส่วนเป้าหมายสูงสุดผมตั้งไว้ที่การสร้างนักเตะที่สามารถไปเล่นที่ยุโรปได้ เหมือนที่ผมเคยไปเล่นที่เยอรมัน” โค้ชเฮง กล่าว

 7

ปัจจุบันชลบุรียังคงให้โอกาสนักเตะเยาวชนจากอคาเดมีของตัวเองขึ้นมาเล่นชุดใหญ่ของสโมสรในทุกฤดูกาล เหมือนกับที่สโมสรในเยอรมันให้โอกาสเยาวชนในการลงสนามอยู่เสมอ

วรชิต กนิตศรีบำเพ็ญ, กฤษดา กาแมน และ สหรัฐ สนธิสวัสดิ์ คือดาวรุ่งของชลบุรีที่ได้รับโอกาสลงสนามตั้งแต่วัยเยาว์ และจนสามารถก้าวขึ้นมาเป็นผู้เล่นระดับตัวจริงของทีมได้ในปัจจุบัน

 8

ไม่ต่างอะไรกับผู้เล่นอย่าง โยชัว คิมมิช, ติโม แวร์เนอร์, มาร์ค อันเดร เทอร์ สเตอเก้น, เซบาสเตียน รูดี้, นิคลาส ซูเล่อ ที่ได้รับโอกาสลงสนามในศึกบุนเดสลีก้าตั้งแต่อายุยังน้อย และนักเตะเหล่านี้ไม่ได้เป็นแค่ก้าวขึ้นมาเป็นตัวหลักของสโมสรเท่านั้น แต่ตอนนี้ได้กลายเป็นนักเตะระดับโลกไปแล้ว

ความยั่งยืน > ถ้วยแชมป์

โจทย์สำคัญกับการทำทีมฟุตบอลในปัจจุบันไม่ได้เป็นแค่การล่าถ้วยแชมป์มาประดับตู้โชว์ของสโมสรเท่านั้น แต่รวมถึงการสร้างความยั่งยืนให้กับสโมสรฟุตบอลให้อยู่คู่กับแฟนบอลไปตราบนานเท่านาน

 9

สโมสรฟุตบอลเยอรมันเคยมีบทเรียนกับการใช้เงินเกินตัวจนทีมอย่าง โบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ หรือ แฮร์ธ่า เบอร์ลิน ต้องเจอปัญหาเกือบล้มละลาย พวกเขาจึงหันมาใช้วิธีปั้นเยาวชนสร้างความสำเร็จในสนามด้วยวิธีการที่ยั่งยืน ขณะที่ในไทย เคสแบบนี้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งขายทีม ยุบทีม เปลี่ยนเจ้าของ ที่ปรากฎตามหน้าสื่อต่างๆ อยู่แทบทุกฤดูกาล

ชลบุรี เอฟซี ย้ำอยู่เสมอ ว่าความสำเร็จนั้นไม่สำคัญ หากต้องแลกมาด้วยความยั่งยืนของสโมสร ฉลามชล ขอเลือกใช้วิธีปั้นเด็กเพื่อหาความสำเร็จในวันข้างหน้า แม้อาจต้องใช้เวลานาน ต้องอดทนรอ แต่นี่จะเป็นรากฐานที่ยึดแน่นไม่ให้สโมสรล้มลงมา  

การลงทุนของ ชลบุรี จึงแทบไม่ต่างอะไรกับหลายๆสโมสรในเยอรมัน ที่มักไม่ค่อยนิยมทุ่มเงินซื้อนักฟุตบอลราคาแพงเข้าสู่ทีม เพราะสโมสรฟุตบอลเยอรมันและชลบุรี เอฟซี ล้วนมองเหมือนกันว่า ความสำเร็จต้องมาทีหลังความยั่งยืนของสโมสร หากได้แชมป์แต่สโมสรต้องเสียหายกับการใช้เงินเกินตัว การเป็นแชมป์ก็ไม่มีความหมาย

ที่สำคัญ สโมสรในเมืองเบียร์และทีมฉลามชลคิดตรงกันว่าสักวันพวกเขาจะประสบความสำเร็จในโลกลูกหนังโดยไม่ต้องใช้เงินมหาศาล แค่รอเวลาที่เก็บเกี่ยวผลผลิตจากอคาเดมีขึ้นสู่ชุดใหญ่ เพื่อสร้างความยั่งยืนในระยะยาว

“การสร้างอคาเดมี ต้องใช้ระยะเวลาและความอดทน กว่าจะประสบความสำเร็จเรื่องผลงานในสนาม แต่ถือว่าคุ้มค่ามาก เพราะเราสร้างผู้เล่นชุดใหญ่จำนวนมากด้วยเงินลงทุนจำกัด” โค้ชเฮง ผู้วางรากฐานการพัฒนาเยาวชนของชลบุรี เอฟซี บอกกับ Main Stand

ปั้นดวงดาว.. เอาไปแลกเงินล้าน

เป็นธรรมชาติของสโมสรฟุตบอลขนาดกลางถึงเล็ก ที่ไม่มีมหาเศรษฐี หรือกลุ่มทุนยักษ์ใหญ่คอยอัดฉีดเม็ดเงินในการทำทีมฟุตบอล สโมสรเหล่านี้ย่อมต้องทำทุกวิธีทางในการดิ้นรนหาเม็ดเงินมาบริหารสโมสร

 10

หนึ่งในวิธีที่หาเงินได้มากที่สุด โดยที่ลงทุนน้อยที่สุด คือการขายนักเตะจากอคาเดมีของสโมสรตัวเอง การปั้นเยาวชนขึ้นมาจากอคาเดมี หรือการซื้อนักเตะวัยเยาว์ในราคาถูกจากสโมสรอื่น แล้วนำมาปั้นต่อ เป็นวิธีการหนึ่งที่ทั้ง ชลบุรี เอฟซี และสโมสรในเยอรมันทำได้ดี

โบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ คือ ตัวอย่างสโมสรที่ขึ้นชื่อในเรื่องการสร้างกำไรจากนักเตะที่ทีมปั้นขึ้นมากับมือ กับการนำนักเตะที่สโมสรปั้นเจียระไน จากก้อนหินจนกลายเป็นเพชรล้ำค่าในโลกฟุตบอล และขายต่อออกไปในราคามหาศาล เพื่อนำเม็ดเงินนั้นมาใช้ในการบริหารทีมต่อไป

มาริโอ เกิตเซ่ 37 ล้านยูโร, ชินจิ คากาวะ 16 ล้านยูโร, มัตส์ ฮุมเมิลส์ 35 ล้านยูโร, อิลคาย กุนโดกัน 27 ล้านยูโร, ปิแอร์ เอเมริค โอบาเมยอง 64 ล้านยูโร, อุสมาน เด็มเบเล่ 115 ล้านยูโร และ คริสเตียน พูลิซิค 64 ล้านยูโร คือ ราคาที่ดอร์ทมุนด์ ได้รับจากการขายนักเตะดาวเด่นที่สโมสรปลุกปั้นตั้งแต่ยังเป็นเพียงก้อนดินเท่านั้น

 11

เฉพาะแค่นักเตะ 7 รายข้างต้น จาก 7 ฤดูกาลที่ผ่านมาของดอร์ทมุนด์ สร้างเม็ดเงินให้กับสโมสรได้ถึง 358 ล้านยูโร จากเงินลงทุนเพียง 40 ล้านยูโรเท่านั้น คิดเป็นกำไรก็มากกว่า 300 ล้านยูโรที่สโมสรแห่งนี้จะสามารถนำไปต่อยอดในการบริหารทีมได้ต่อในอนาคต

 12

ที่สำคัญ ดอร์ทมุนด์ ยังคงเป็นทีมหัวแถวของวงการฟุตบอลเยอรมัน แม้ต้องเสียตัวหลักแทบทุกปี เพราะหากดูจากทีมชุดปัจจุบัน พวกเขายังคงมีดาวรุ่งหน้าใหม่ขึ้นมาทดแทนอยู่ตลอด ไม่ว่าจะเป็น จาดอน ซานโช, ยูเลียน ไวเกิล, ยาคอบ บรุนน์ ลาร์เซ่น, แดน อักเซล ซากาดู

เช่นเดียวกันกับ ชลบุรี เอฟซี ไม่ได้มีเงินทุนจากบริษัทหนุนหลังคอยอัดฉีดเม็ดเงิน การขายนักเตะที่สโมสรปั้นขึ้นมาตั้งแต่ยังเป็นผู้เล่นโนเนม ก็เป็นสิ่งจำเป็นที่สโมสรแห่งนี้ต้องทำ เพื่อหาเงินเข้าสโมสร แต่ทีมก็ยังคงอยู่ได้เพราะมีสายเลือดใหม่ขึ้นมาแทน

แฟนบอลฉลามชลอาจไม่พอใจ ที่ต้องเห็น สินทวีชัย หทัยรัตนกุล, ณัฐพงษ์ สมณะ, อดุล หละโสะ และ นูรูล ศรียานเก็ม รวมถึงนักเตะที่ทีมเอามาปลุกปั้น เช่น กรกช วิริยอุดมศิริ และ ปกเกล้า อนันต์ ถูกขายออกจากสโมสรไป เพื่อแลกกับเงินก้อนโต ทั้งที่เป็นผู้เล่นตัวหลักของทีม ซึ่งสามารถเป็นกำลังสำคัญของทีมในการล่าถ้วยแชมป์สู่สโมสรในระยะสั้น หากแต่หากการขายนักเตะที่สโมสรปลุกปั้นขึ้นมาสามารถสร้างเงินให้กับสโมสร ที่จะนำไปสร้าง “อนาคต” ให้กับสโมสรต่อไปได้อีก

 13

“เราทำจนโดนแฟนบอลด่าเป็นเรื่องปกติ แต่เราไม่ได้รวยเหมือนสโมสรอื่น มองอีกมุมหนึ่งการปล่อยนักเตะรุ่นพี่ออกจากทีม ก็เปิดโอกาสให้นักเตะเยาวชนขึ้นมาทดแทน เพราะนักฟุตบอลรุ่นหลังที่มาจากเยาวชนของชลบุรีก็ไม่ต่างอะไรจากนักเตะรุ่นพี่เลย” เฮงซัง กล่าว

เพาะพันธ์ุฉลาม.. เสริมสร้างช้างศึก

การปั้นนักเตะด้วยระบบเยาวชนไม่ใช่แค่สโมสรฟุตบอลที่เป็นผู้ปั้นจะได้ประโยชน์แต่ผู้เดียว แต่ทีมชาติก็ได้รับผลประโยชน์ด้วยเช่นกัน นักเตะที่ได้รับการพัฒนาจากอคาเดมีที่มีคุณภาพ จะสามารถก้าวขึ้นเป็นตัวหลักของทีมชาติได้

 14

ความสำเร็จของทีมชาติเยอรมันกับแชมป์ฟุตบอลโลก 2014 ก็มีรากฐานมาจากแผนการพัฒนาเยาวชนในปี 2004 ที่ได้สร้างผู้เล่นวัยหนุ่มไปคว้าแชมป์ยูโรรุ่นอายุไม่เกิน 21 ปี เมื่อปี 2009

นักเตะในชุดนั้นอย่าง มานูเอล นอยเออร์, เบเนดิคท์ โฮเวอเดส, เยอโรม บัวเต็ง, ซามี เคห์ดิร่า, เมซุต โอซิล และ มัตส์ ฮุมเมิลส์ ได้ต่อยอดจากทีมเยาวชนชุดนั้นกลายเป็นผู้เล่น 11 ตัวจริงชุดแชมป์โลกในอีก 5 ปีถัดมา ที่สำคัญ ดาวรุ่งเหล่านี้ไม่ได้มาจากสโมสรเดียว แต่มาจากทั่วเยอรมัน

อันมาผลพลอยได้จากที่สโมสรฟุตบอลในเยอรมัน เห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาเยาวชนที่จะให้ประโยชน์มหาศาลแก่ฟุตบอลสโมสรและฟุตบอลทีมชาติ นัยยะสำคัญก็คือ หากสโมสรในไทย แข่งขันกันสร้างผลผลิตที่มีคุณภาพขึ้นมา ไม่ใช่แค่ไม่กี่สโมสรที่ทำได้ ก็จะยิ่งทำให้รากฐานของทีมชาติไทยแข็งแกร่งขึ้นไปอีกในที่สุด

“ทุกสโมสรในเยอรมันมีเป้าหมายเดียวในการพัฒนาเยาวชน คือสร้างผู้เล่นที่มีคุณภาพด้วยมาตรฐานเดียวกัน เพราะการพัฒนาเยาวชนมีมาตรฐานเดียวกัน ทีมชาติก็ได้ประโยชน์จากตรงนี้”

“การทำอคาเดมีของชลบุรีถือว่าประสบความสำเร็จ เพราะสร้างนักเตะคุณภาพขึ้นมาติดทีมชาติมาตลอด การสร้างนักเตะให้ทีมชาติไทยเป็นหนึ่งในเป้าหมายของอคาเดมีที่ชลบุรี”

“ชลบุรีอาจเป็นทีมที่ผลิตนักบอลขึ้นเป็นผู้เล่นทีมชาติมากที่สุด (เมื่อรวมทุกชุด) แต่ทุกวันนี้ก็ยังไม่พอ ถ้าในไทยมีศูนย์ฝึกเพิ่มขึ้นอีก เราก็จะมีนักเตะคุณภาพมากขึ้น เหมือนที่เยอรมันสร้างนักเตะคุณภาพได้จำนวนมาก เพราะมีศูนย์ฝึกที่เพียงพอต่อการสร้างนักเตะระดับทีมชาติ” โค้ชเฮง ทิ้งท้าย

อัลบั้มภาพ 14 ภาพ

อัลบั้มภาพ 14 ภาพ ของ มอง "ชลบุรี เอฟซี" ผ่านสโมสรฟุตบอลเยอรมัน.. ปั้นเด็กไปได้อะไร?

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook