ย้อนศร Adidas : "ซิโมน่า ฮาเลป" มือ 1 ของโลกที่ใช้ชุดแข่ง Made in China

ย้อนศร Adidas : "ซิโมน่า ฮาเลป" มือ 1 ของโลกที่ใช้ชุดแข่ง Made in China

ย้อนศร Adidas : "ซิโมน่า ฮาเลป" มือ 1 ของโลกที่ใช้ชุดแข่ง Made in China
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

สิ่งหนึ่งที่คุณรู้แน่ๆคือ ซิโมนา ฮาเลป เป็นนักเทนนิสหญิงมือ 1 ของโลกในปัจจุบัน เธอเก็บคะแนนมากถึง 6,642 คะแนนนำโด่งอันดับ 2 อย่าง แองเจลิค แคร์เบอร์ กว่า 700 แต้ม ด้วยระยะห่างขนาดนี้มั่นใจได้เลยว่าเธอไม่ใช่พวกครึ่งๆกลางๆกับความฝันแน่นอน

อย่างไรก็ตามชื่อของ ฮาเลป ยังถือว่าห่างไกลมากเมื่อเทียบกับอดีตไอคอนเทนนิสหญิงในยุคที่ผ่านมา ไม่ว่าจะพี่น้องวิลเลี่ยมส์, มาเรีย ซาราโปว่า หรือ แอนนา คูร์นิโคว่า อะไรแบบนั้น และความที่เป็นนักเทนนิสที่ไม่ขายนี่เองทำให้เกิดเรื่องราวมันๆระหว่างเธอกับแบรนด์กีฬาดังอย่าง Adidas ขึ้นมา

 

เรื่องราวระหว่างนักเทนนิสคนเก่งที่ไม่แมส กับการเสียเหลี่ยมของแบรนด์ดัง เป็นอย่างไรติดตามพร้อมๆกับ Main Stand ได้ที่นี่

เส้นทางคนจริง

ฮาเลป ถือว่าเป็นเด็กน้อยอัจฉริยะแห่งโรมาเนียเลยก็ว่าได้ สาวน้อยจากเมือง คอนสตันต้า เล่นเทนนิสตั้งแต่ 4 ขวบจากการฝึกไปพร้อมๆกับพี่ชาย

 1

นี่คือครั้งแรกที่เธอแสดงให้เห็นถึงความจริงจังกับสิ่งที่ทำ เพราะนับตั้งแต่วันนั้นที่จับแร็คเก็ตเธอไม่เคยทำมันเล่นๆ อีกเลย เธอตั้งใจฝึกเทนนิสอย่างจริงจังจนถึงขั้นยอมขอที่บ้านออกไปใช้ชีวิตใน บูคาเรสต์ เมืองหลวงของประเทศเพื่อความก้าวหน้าและพัฒนาฝีมือของตัวเอง  และอยากจะตามรอย อังเดร พาเวล นักเทนนิสชาวโรมาเนี่ยนฝ่ายชายที่ถือว่ามีชื่อเสียงที่สุดในประเทศ แม้ว่าจะไม่เคยคว้าแกรนด์สแลมได้เลยแม้แต่ครั้งเดียว

"ฉันชอบสไตล์การเล่นของ พาเวล มาก แบ็คแฮนด์ของเขาหนักหน่วง และมีอะไรที่คล้ายฉันเยอะ โดยเฉพาะต้นขาที่ใหญ่มากๆ" ฮาเลป ติดตามพาเวลมาตลอดและหวังว่าจะไปเล่นในระดับโลกให้ได้ที่สุดแล้วเธอก็กลายเป็นกลายเป็นเด็กเทพในรุ่นจูเนียร์ การออกจากบ้านแต่เด็กไม่สูญเปล่า เพราะ ฮาเลป คว้าแชมป์ระดับประเทศและได้เงินรางวัลมาถึง 10,000 เหรียญสหรัฐซึ่งถือว่าเป็นเงินไม่น้อยสำหรับเด็กอายุ 15 ปี

ฮาเลป เดินหน้าล่าแต้มเก็บเงินรางวัลในช่วงเยาวชนมากขึ้นเรื่อยๆจาก 10,000 เป็น 25,000 และจาก 25,000 เป็น 50,000 เหรียญ ใครต่อใครต่างบอกว่าเธอเก่งอย่างนั้นเก่งอย่างนี้ แต่เมื่อเธอคือคนจริงมันจึงแตกต่าง คนจริงไม่ชอบที่จะพอใจกับอะไรง่ายๆอยู่แล้ว

นักเทนนิสชายหลายคนยิ่งเป็นหนุ่มยิ่งมีความเร็วมากขึ้น แต่สำหรับนักเทนนิสหญิงอย่าง ฮาเลป มันสวนทางกัน เมื่อโกรว์ธฮอร์โมนเจริญเติบโตถึงขีดสุดเธอก็กลายร่างจากเด็กสาวเป็นผู้หญิงเต็มตัว ร่างกายของเธอใหญ่ขึ้นทุกส่วน ต้นขา,รอบแขน ความสูง อวัยวะเหล่านี้ใหญ่แล้วดี เพราะช่วยเพิ่มความแข็งแกร่งให้กับร่างกาย แต่เธอกลับได้ของแถมที่ไม่อยากได้ นั่นคือหน้าอกที่ใหญ่ขึ้น … มาก  

 2

สิ่งที่สาวๆ หลายคนอยากได้เธอกลับไม่อยากได้ เพราะมันทำให้เธอเชื่องช้า จะเหวี่ยงมือหวดสักทีก็อืดอาด จะวิ่งไปบุกหน้าเน็ตก็อึดอัด หากเป็นเช่นนี้ต่อไปรับรองได้ว่าเป้าหมายการเป็นมือ 1 ของโลกของเธอเจ๊งไม่เป็นท่าแน่นอน สิ่งที่เธอพยายามมาตั้งแต่ 4 ขวบกำลังถูกท้าทายด้วยหน้าอกคัพ 34DD ของเธอ

มีแล้วไม่มีประโยชน์ก็ตัดมันเสีย ...

ใช่ครับ ฮาเลป ไม่สนเสน่ห์ของเพศหญิง เธอตัดสินใจผ่าตัดลดไซส์หน้าอกทิ้งจาก 34DD เป็น 34C แบบไม่คิดมากในวัยเพียง 17 ปีเท่านั้น เธอเด็ดเดี่ยวพอที่จะแฮปปี้กับสิ่งที่เกิดขึ้น เพราะก่อนจะผ่าตัดลดขนาด เหล่าแฟนเทนนิสที่เข้ามาชมเกมนั้นดูจะสนใจกับหน้าอกของเธอมากกว่าฝีมือ

"ความสามารถของฉันดูแย่ลงไป หน้าอกของฉันทำให้ฉันไม่ค่อยสบายใจนัก มันหนัก เทอะทะ และสร้างปัญหาให้กับฉัน มันไม่สะดวกสบายในการเล่นเอาซะเลย ฉันไม่ชอบมันจริงๆ แม้กระทั่งในชีวิตประจำวัน ต่อให้ฉันไม่ได้เป็นนักกีฬา ฉันก็อยากจะเฉือนมันทิ้งอยู่ดี" คนจริงเขาว่าเอาไว้อย่างนี้

 3

แม้จะมีคำเตือนที่ว่าทุกการลงทุนมีความเสี่ยง แต่การลงทุนหนนี้ของ ฮาเลป เข้าเป้าที่สุด เพราะอันดับโลกของเธอพุ่งทะยานอย่างไม่หยุดยั้ง เพียงปีเดียวเธอขยับจากมืออันดับที่ 166 ของโลกขึ้นมาอยู่อันดับที่ 50 ของโลกได้อย่างรวดเร็วปานติดจรวด อีกทั้งยังได้ อังเดร พาเวล ที่เปลี่ยนจากไอดอลกลายมาเป็นโค้ชของเธออีกด้วย นี่คือช่วงเวลาทองของ ฮาเลป อย่างแท้จริงยิ่งผ่านปีอันดับก็ยิ่งเพิ่ม และเมื่ออันดับสูงขึ้นเธอก็ยิ่งได้ดวลกับคนเก่ง และเมื่อได้ดวลกับคนเก่งๆ เธอจึงเก่งขึ้นแบบก้าวกระโดด … ทว่ากับโลกกีฬายุคใหม่ แค่เก่งมันไม่พอ

คนเก่งที่โลกไม่ชอบ

ทำไมคุณถึงจดจำนักกีฬาที่มีคาแร็คเตอร์โดดเด่นได้อย่างแม่นยำ? ... แน่ล่ะเหตุผลก็คือพวกเขาทำตัวเองให้น่าจดจำกว่าการปรากฎตัวผ่านสื่อแต่ละครั้ง ซึ่งเป็นสิ่งที่มนุษย์จริงจังอย่าง ฮาเลป ทำไม่ได้ จะว่าไปไม่ใช่แค่ในวงการกีฬาหรอก ในทุกสังคมเลยก็ว่าได้ คนประเภทที่ชอบเก็บตัว มุ่งมั่นกับเป้าหมายชนิดที่ว่าจะไม่ยอมแตกแถวให้กับสิ่งเร้าต่างๆ มักเป็นคนที่ใครไม่ค่อยอยากสุงสิงด้วยต่อให้เก่งแค่ไหนก็ตาม

 4

ฮาเลป เป็นคนที่รักในความสมบูรณ์แบบหรือที่เรียกกับว่า เฟอร์เฟ็คชั่นนิสต์ หากสิ่งใดที่เธอหวังไม่เป็นอย่างที่หวัง เธอจะหงุดหงิดเป็นอย่างมาก และสิ่งนี้นอกจากจะทำให้ภาพลักษณ์ไม่น่าสนใจ เพราะไม่ชอบแต่งตัวสวย,ไม่มีจริตจะก้านความเป็นสตรีแล้ว มันยังทำให้เธอแพ้ภัยตัวเองอยู่เสมอ กดดันมากไปก็พังง่ายๆอย่างนั้นเอง นี่คือเหตุผลที่ว่าในช่วงเวลาหนึ่ง ฮาเลป ไม่อาจก้าวข้ามบันไดขั้นเล็กๆในการเป็นกระบี่มือ 1 ของวงการได้

ทุกอย่างสัมพันธ์กันหมด ...

นักกีฬาอันดับโลกเบอร์ต้นๆส่วนใหญ่จะถูกสปอนเซอร์รุมทึ้งจนหายใจหายคอแทบไม่ทัน เพราะเมื่อพวกเขาลงเล่นในรายการต่างๆแบรนด์ที่สนับสนุนจะมีโอกาสปรากฎตัวบนหน้าจอโทรทัศน์ในวันที่ยอดคนดูถ่ายทอดสดมากที่สุด... Nike, Asics และ Adidas คือแบรนด์ชื่อดังที่จะมารอต่อแถวเป็นเบอร์แรกเสมอในการสนับสนุนนักกีฬาที่เก่งและ "ขายได้"

ช่วงปี 2014 ถึง 2016 เป็นช่วงที่ ฮาเลป ไม่ได้ถือสปอนเซอร์เจ้าใหญ่ (สำหรับวงการเทนนิส) เลย เธอได้รับการสนับสนุนเสื้อแข่งจาก Lacoste รองเท้าจาก Nike นาฬิกาจาก Hublot และมีสปอนเซอร์อย่าง โวดาโฟน เครือข่ายเน็ตเวิร์คซึ่งก็เป็นบริษัทภายในประเทศโรมาเนียของเธอเอง เรียกได้ว่า Vodafone นั้นมาในรูปแบบสปอนเซอร์บังคับ เหมือนกับที่ SCG หรือ Singha ให้สปอนเซอร์นักกีฬาไทยนั่นแหละ

 5

แม้จะดูเหมือนเยอะแต่ถือว่าแตกต่างกับนักกีฬาดังๆในรุ่นเดียวกันกับเธออย่าง แคร์โรไลน์ วอซเนียคกี้ คือ Adidas มีเท่าไหร่เทให้หมด ทุกอุปกรณ์ที่นักหวดสาวจากเดนมาร์กใช้ในการแข่งขันล้วนแต่มีโลโก้ Adidas และสัญลักษณ์ 3 แถบติดตัวเท่านั้น

หลังจากปี 2014 ฝีมือของ ฮาเลป ช่วยเธอได้บ้างในเรื่องนี้ เธอแวะเวียนเข้ามาถึงรอบลึกๆในแกรนด์สแลมบ่อยขึ้น ดังนั้นจึงถือว่าเป็นนักเทนนิสหญิงระดับโลกเต็มตัว ป้วนเปี้ยนอันดับท็อป 5 โดยตลอด ดังนั้นผู้จัดการของเธอจึงเดินหน้าเข้าไปคุยกับ Adidas เพื่อหาข้อตกลงในการเป็นสปอนเซอร์ ด้วยแต้มต่อที่มากขึ้นหนนี้ Adidas ยอมเป็นออฟฟิเชียลพาร์ทเนอร์ของ ฮาเลป แต่ว่าเม็ดเงินที่เธอได้ก็ยังถือว่าเทียบกับนักเทนนิสหญิงหัวแถวไม่ได้อยู่ดี อยู่ที่ 1 ล้านดอลล่าร์ต่อปี

ส่วนคนที่นำหน้าเธอได้แก่ อนา อิวาโนวิช แฟนสาวของ บาสเตียน ชไวน์สไตเกอร์ ที่ได้จากค่ายสามแถบปีละ 6.5 ล้านเหรียญ, แคโรไลน์ วอซเนียคกี้ 11 ล้านเหรียญ, เซเรน่า วิลเลี่ยมส์ รับกับไนกี้ 13 ล้านเหรียญ และ มาเรีย ชาราโปว่า ทีได้ค่าสปอนเซอร์มากที่สุดถึง 21 ล้านเหรียญจากแบรนด์ค่ายโลโก้ Swoosh หากเทียบกับอันดับที่ 1 แล้ว ฮาเลป ได้รับเงินสนับสนุนห่างกันถึง 21 เท่าเลยทีเดียว

แล้วคุณจะเสียใจ

ปี 2017 เป็นปีที่ฮาเลปประสบความสำเร็จมากที่สุดนับตั้งแต่พยายามตามหาความเพอร์เฟ็กต์... แม้จะบาดเจ็บในช่วงต้นปี แต่หลังจากกลับมาฟิตเต็มร้อย ฮาเลปก็กลับมาเข้าเกียร์ 5 แบบไม่ต้องตั้งหลักอะไรเลย

 6

เดือนตุลาคม เธอบดขยี้ เยเลนา ออสตาเปนโก สาวน้อยชาวลัตเวีย ที่พรากความฝันของเธอในการคว้าแชมป์แกรนด์สแลมอย่าง เฟรนช์ โอเพ่น เมื่อช่วงกลางปีไปแบบขาดลอย 2 เซตรวด 6-2 และ 6-4 ในรอบรองชนะเลิศเทนนิสระดับพรีเมียร์ แมนดาโตรี และหลังจากจบรายการดังกล่าวไม่นานความฝันของเธอก็สำเร็จ ด้วยการขึ้นมาเป็นมืออันดับ 1 ของโลก และถือเป็นราชินีเทนนิสสาวคนที่ 25 ในประวัติศาสตร์ที่มาถึงตำแหน่งนี้

“ตอนนี้ฉันกลายเป็นมือ 1 ของโลกคนใหม่ในวันนี้ มันเยี่ยมมากเลย ฉันบอกได้เลยว่าฉันลืมเรื่องอื่นๆไปแล้ว เพราะฉันกำลังเอ็นจอยกับช่วงเวลานี้และฉันมีความสุขมากกว่ากับโมเมนต์ในปีนี้” เธอกล่าวอย่างภาคภูมิใจ

ตอนนี้ทีมงานของฮาเลป มีเรื่องให้ต้องทำเพราะสัญญากับ Adidas กำลังจะหมดลง ดังนั้นสัญญาฉบับใหม่สำหรับนักเทนนิสหญิงมือ 1 ของโลก ย่อมต้องเป็นอะไรที่สมน้ำสมเนื้อหากว่ากันตามเนื้อผ้า ดูเหมือนว่า ฮาเลป ถือไพ่เหนือกว่าพอจะเรียกร้องบางสิ่งได้ แต่ Adidas ไม่คิดแบบนั้น

ไม่มีการเปิดเผยว่า ฮาเลป เรียกร้องไปเท่าไหร่ แต่ Adidas ไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่เธอเสนอไป ทั้งสองฝ่ายคุยกันไม่ลงตัว แม้ทีมงานของเธอจะเปิดการเจรจากับแบรนด์อื่นๆด้วยเช่นกัน แต่ก็ไม่สามารถตกลงกันได้

 7

ที่สุดแล้ว ทีมงานของฮาเลปก็ปลงตก ย้อนกลับไปหา Adidas อีกครั้งเพื่อยอมเซ็นสัญญาตามที่ค่ายสามแถบโอเคในตอนแรก… ปัญหาก็คือ Adidas ปิดงบประมาณการสนับสนุนนักกีฬาสำหรับปี 2018 ไปแล้ว ทำให้ฮาเลปไม่มีสปอนเซอร์ชุดแข่ง

"ขอบคุณสำหรับ 4 ปีกับ Adidas และอ้อมกอดของ เคล้าส์ มาร์เทน วันนี้เป็นวันที่ฉันรู้สึกเศร้าเล็กๆ แต่ก็ตื่นเต้นที่จะได้รู้ว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร เอาล่ะขอให้ทุกคนโชคดีสำหรับปี 2018" ฮาเลปโพสต์ลงบนทวิตเตอร์เพื่อบอกให้แฟนๆทราบถึงสถานการณ์ของเธอที่กำลังเผชิญ

นี่คือเรื่องที่แปลกที่สุดเรื่องหนึ่ง นักเทนนิสหญิงอันดับ 1 ของโลกไม่มีสปอนเซอร์สนับสนุน... แต่คนจริงอย่าง ฮาเลป นั้นมีทางออกเสมอ

"ใช่ ทีมงานของฉันกำลังทำงานของพวกเขาอยู่ ฉันไม่มีสัญญากับที่ไหน และยังคงไม่มีแบรนด์เสื้อผ้ามาสนับสนุน" เธอว่าเช่นนั้นระหว่างการแข่งขันออสเตรเลี่ยนโอเพ่น 2018 รอบแรก

 8

เธอตัดปัญหาเรื่องชุดแข่งออกไปอย่างง่ายดายดังคำคมที่ว่ากระบี่อยู่ที่ใจแค่ไม้ไผ่ก็ไร้เทียมทาน ฮาเลป ส่งแบบชุดแข่งที่เธออยากจะได้และสีที่เธอต้องการให้ไปยังแดนไกล ณ ประเทศจีน

"ฉันส่งรูปไปให้ช่างเย็บผ้าในเมืองจีนดู และผู้จัดการคนหนึ่งก็ช่วยฉันได้"

24 ชั่วโมงหลังจากส่งแบบไป ชุดแข่งสีแดงถูกจ่าหน้าถึง ซิโมนา ฮาเลป เรียบร้อย ราชินีแร็คเก็ตกำลังจะสวมชุดจากช่างในเมืองจีน แม้จะเป็นสิ่งที่ประหลาดจากนักเทนนิสชื่อดังคนอื่นๆ จนดูเหมือนทางตกอับ แต่เธอก็ได้หาแคร์ไม่ เพราะเธอบอกเพียงว่าชุดแข่งของเธอชุดนี้ช่างโดนใจเธอจริงๆ

"ฉันมีชุดแข่งแล้ว และมันเพอร์เฟ็กต์ไปเลย ฉันเลือกทรงเองหมด เห็นไหมล่ะจะมีอะไรยอดเยี่ยมไปกว่านี้ มันออกมาดูดีมากฉันรักมันเลยล่ะ"

ฮาเลปสวมชุดแข่งสีแดงและหมวกโลโก้ออสเตรเลี่ยนโอเพ่นที่ไม่ได้มีความพิเศษทางนวัตกรรมอะไรเลย มันคือหมวกแบบเดียวที่ขายให้แฟนๆในร้านของฝากนั่นแหละ

และเหมือนบทละครได้เตรียมไว้ ทันทีที่ชุดแดงของ ฮาเลป ออกโรง เธอได้เข้าไปเจอกับ วอซเนียคกี้ นักเทนนิสตัวชูโรงของ Adidas ที่เป็นมืออันดับ 2 ของโลกรองจากเธอ... และได้เงินสนับสนุนมากกว่าเธอด้วย

ฉากแรกผ่านไปด้วยชัยชนะและ Adidas ได้ยิ้มกริ่ม วอซเนียคกี้เอาชนะซิโมนา ฮาเล็ปไป 2-1 เซต 7-6 (2), 7-6(2), 3-6, 6-4 คว้าแชมป์ออสเตรเลียน โอเพ่น สแลมแรกในชีวิต หลังเล่นเทนนิสมา 12 ปีครึ่ง และเธอกำลังจะเก็บแต้มแซง ฮาเลป เป็นมือ 1 ของโลก

 9

ความพ่ายแพ้นี้อาจจะน่าผิดหวังแต่มันเป็นการเปิดเส้นทางให้ผู้ค้ารายใหม่อย่าง Nike เข้ามาเจรจากับ ฮาเลป และดีลจบลงด้วยตัวเลข 2 ล้านเหรียญต่อปี มากกว่าที่ Adidas มอบให้เธอเกือบ 2 เท่าเลยทีเดียว

เทศกาลตบหน้าดังฉาด!

แม้จะหล่นไปชั่วครู่ แต่นั่นก็แค่ชั่วคราว... ฮาเลป กลับมาลงเล่นแกรนด์สแลมอีกครั้งในรายการ เฟร้นช์ โอเพ่น หนนี้เธอมาชุดแข่งสีน้ำเงินของ Nike และทุกอย่างเรียบร้อยดี ไม่มีอะไรต้องน่าเป็นห่วง

 10

เธอ เข้าไปชิงกับ สโลน สตีเฟ่นส์ นักหวดฟอร์มแรงจากสหรัฐอเมริกา

เซตแรก สตีเฟ่นส์ เป็นฝ่ายคุมเกมได้ดีกว่า แม้จะมีเสียสมาธิไปบ้าง แต่ก็สามารถเอาชนะไป 6-3 เก็บเซตแรกไปก่อน แต่ว่าในเซตต่อมา ฮาเล็ป แก้เกมมาดี เล่นได้แน่นอนและแม่นยำ เบรคเกมเสิร์ฟได้ จนทำให้ชนะไป 6-4 ต้องมาลุ้นกันในเซตที่ 3  

 11

ตอนนี้ ฮาเลป เป็นคนใหม่เต็มตัว เธอเปิดใจยอมรับขึ้นและรู้ว่าบนโลกนี้ไม่มีใครเพอร์เฟ็กต์ 100% ดังนั้นเธอจึงได้ปรึกษากับนักจิตวิทยาทางกีฬา และได้คำแนะนำว่าเธอควรจะใจดีกับตัวเองและควรทำความเข้าใจว่าความเพอร์เฟ็กต์ไม่มีจริงบนโลกใบนี้ ทุกอย่างล้วนต้องใช้เวลาสั่งสม และเมื่อถึงเวลาแล้วจงเชื่อมั่นเดินบนเส้นทางของตัวเอง

ฮาเลป มีสมาธิกับเกม เธอเดินหน้าบดต่อเนื่อง โยกให้ สตีเฟ่นส์ ต้องวิ่งไล่อยู่บ่อยครั้งจนหมดแรง และสุดท้ายก็ชนะไปได้สบาย ๆ 6-1 รวม 3 เซต ฮาเล็ป เป็นฝ่ายชนะ 2-1 เซต คว้าแชมป์เฟรนช์ โอเพ่น ไปครอง และเป็นแชมป์แกรนด์สแลมแรกในชีวิตของเธออีกด้วย โดยหลังรับถ้วยแชมป์ ฮาเล็ป บอกว่าเธอตัดสินใจเทิร์นโปรตั้งแต่อายุ 14 เพื่อทุ่มเทให้กับเทนนิส และรอคอยช่วงเวลานี้มานานถึง 12 ปี วันนี้ทำสำเร็จแล้วจึงมีความหมายกับเธอมาก

และ ณ ตอนนั้นใครล่ะจะเป็นมือ 1 ของโลกได้ถ้าไม่ใช่เธอ...

 12

ชุดแข่งขันของ ฮาเลป ที่มีโลโก้ของ Nike โชว์หราแสดงความเป็นเจ้าข้าวเจ้าของติดอยู่กับตัวของนักเทนนิสหญิงที่ดีที่สุดในโลก

แม้ Adidas จะมีนักกีฬาดังๆในสังกัดมากมาย แต่อย่างน้อยๆพวกเขาก็ต้องชวดดึงตัวนักเทนนิสหญิงมือ 1 ของโลกเข้าสู่ทีมด้วยด้วยเหตุผลเรื่องเงินๆทองๆ ซึ่งไม่ใช่จำนวนที่มากมายอะไรเลยหากลองพิจารณาสิ่งที่ Nike มอบให้ ฮาเลป ในปี 2018

เธอไม่ต้องใส่ชุดแข่งขันจากช่างชาวจีนอีกแล้ว ตอนนี้ ฮาเลป เฉิดฉายอยู่กับชุดแข่งของแบรนด์ดังคู่แข่งที่ทำให้ Adidas ต้องกินแหนงแคลงใจเล็กๆ  

 13

เมื่อไม่มีปัญหานอกสนามและเรื่องตัวเลขมาทำให้ปวดหัว แถมเจ้าตัวยังปิดจุดอ่อนตัวเองเรื่องการควบคุมอารมณ์และสมาธิได้ ทำให้ปัจจุบัน ฮาเลป ครองตำแหน่งนักเทนนิสหญิงมือ 1 ของโลกทั้งปี 2018 และต่อเนื่องมาถึงปี 2019 อีกด้วย

ขยันผิดที่ 10 ปีก็ไม่รวย... ดูเหมือนว่าคำนี้จะพอเอามาใช้อ้างอิงกับเรื่องนี้ได้บ้างอยู่แหละน่า

อัลบั้มภาพ 13 ภาพ

อัลบั้มภาพ 13 ภาพ ของ ย้อนศร Adidas : "ซิโมน่า ฮาเลป" มือ 1 ของโลกที่ใช้ชุดแข่ง Made in China

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook