มีที่มาอย่างไร? เปิดตำราขุดธรรมเนียมเด็กนำโชคโลกลูกหนัง

มีที่มาอย่างไร? เปิดตำราขุดธรรมเนียมเด็กนำโชคโลกลูกหนัง

มีที่มาอย่างไร? เปิดตำราขุดธรรมเนียมเด็กนำโชคโลกลูกหนัง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

หากสังเกตการแข่งขันฟุตบอลรายการใหญ่ๆ ไม่ว่าจะเป็นในระดับสโมสรหรือทีมชาติ สิ่งหนึ่งที่เราเชื่อว่าคุณๆ คงสังเกตเห็นก็คือ จะมีเด็กๆ เป็นส่วนร่วมในพิธีการก่อนเกมในฐานะ “เด็กนำโชค” ซึ่งในภาษาอังกฤษสามารถเรียกได้ทั้ง Player Escort และ Player Mascot อยู่เสมอ

 

คำถามก็คือ การนำเด็กมาเป็นส่วนหนึ่งของเกมลูกหนังในลักษณะนี้เกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อไหร่ ด้วยเหตุผลกลใด และหากอยากให้ลูกหลานได้เป็นส่วนหนึ่งของพิธีการนี้บ้างต้องทำอย่างไร

Main Stand ขออาสาเสาะหาคำตอบมาให้ทุกท่านได้รับทราบ...

วัฒนธรรมที่เพิ่งสร้าง?

แม้การนำเด็กเข้ามาเป็นตัวนำโชคในสนามจะเป็นสิ่งที่เราได้เห็นจนชินตา แต่สิ่งที่เรากำลังจะบอกต่อไปนี้ หลายคนอาจไม่เชื่อเป็นแน่ เมื่อวัฒนธรรมเด็กนำโชคของวงการฟุตบอล คือสิ่งที่เพิ่งถูกสร้างขึ้นในยุค ‘90 นี้เอง

เพราะจากการไล่ดูคลิปเกมฟุตบอลนัดสำคัญต่างๆ สื่อดังหลายเจ้ารวมถึงทีมงานของเราพบว่า ทัวร์นาเมนต์แรกที่มีการใช้เด็กนำโชคซึ่งมีหลักฐานชัดเจนก็คือ ฟุตบอลโลก 1990 โดยในชิงชนะเลิศมีเด็กในการถือธงแฟร์เพลย์เดินนำผู้เล่นทั้งสองฝั่งลงสู่สนาม

ยิ่งไปกว่านั้น แม้จะมีหลักฐานว่ายุค ‘90 คือจุดเริ่มต้นของการมีเด็กนำโชคในสนามฟุตบอล แต่ก็ไม่ใช่ว่าเกมสำคัญๆ ทุกเกมจะมีการใช้น้องๆ หนูๆ ในพิธีการก่อนเริ่มการแข่งขัน เพราะในศึกเอฟเอคัพรอบชิงชนะเลิศปี 1994 ทางสมาคมฟุตบอลอังกฤษ (เอฟเอ) ไม่ได้ให้เด็กๆ เดินนำหน้าเหล่านักเตะ แต่กลับมีในรอบชิงชนะเลิศปี 1999

ส่วนเกมพรีเมียร์ลีก ก็มีการใช้เด็กนำโชคเดินนำหน้ากัปตันทีมของทั้งสองฝั่งในบางเกมสำคัญ หนึ่งในตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเลยก็คือ เมอร์ซี่ย์ไซด์ดาร์บี้ ระหว่าง ลิเวอร์พูล กับ เอฟเวอร์ตัน ในฤดูกาล 1996/97 ซึ่งเด็กนำโชคฝั่งทีมเยือนก็คือ เวย์น รูนี่ย์ ที่ต่อมาเติบใหญ่กลายเป็นยอดนักเตะของทีมท็อฟฟี่สีน้ำเงินและ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด และประสบความสำเร็จมากมาย

 1

ไม่มีที่มา แต่มีที่ไป

เรื่องราวต้นกำเนิดของการใช้เด็กนำโชคนี้ ถือเป็นเรื่องที่แม้แต่สื่อของเมืองนอกเองก็ยังไม่สามารถหาจุดเริ่มที่ชัดเจนได้ว่า ครั้งแรกที่มีเรื่องนี้คือเมื่อไหร่ ทีมไหนคือทีมแรกที่ใช้ และที่สำคัญที่สุดคือ พวกเขาทำด้วยวัตถุประสงค์ใดกัน

ทว่าในเวลาต่อมา รูปแบบในการใช้เด็กนำโชคก็ค่อยๆ พัฒนาจนเข้าใกล้สิ่งที่เราคุ้นเคยในปัจจุบัน เมื่อศึกยูโร 2000 กลายเป็นทัวร์นาเมนต์แรกๆ ที่มีการใช้เด็กนำโชค ไม่เพียง 1-2 คนเท่านั้น แต่เป็นจำนวน 22 คน หรือเท่ากับ 11 ตัวจริงของทั้งสองฝั่ง

 2

และสิ่งที่น่าสังเกตจากศึกยูโรครั้งดังกล่าวก็คือ เด็กนำโชคนั้นใส่ชุดของทีมที่เป็นคู่แข่งกับนักฟุตบอลที่จูงเดินลงสนาม นี่คือนัยยะของมิตรภาพ ที่แม้จะเป็นคู่แข่งในการแข่งขัน แต่ที่สุดแล้ว ทั้งสองฝั่งก็คือเพื่อนกัน

เมื่อสาเหตุแรกมาแล้ว สาเหตุอื่นๆ ก็ตามมา เพราะทีมต่างๆ รวมถึงฝ่ายจัดการแข่งขันและสปอนเซอร์ ต่างก็เล็งเห็นถึงผลประโยชน์จากการมีเด็กนำโชค เพราะนอกจากจะเป็นการแสดงให้เห็นถึงสปิริตอันบริสุทธิ์ของเกมลูกหนังแล้ว ยังถือเป็นการส่งเสริมสิทธิเด็ก และช่วยสานฝันในการได้ร่วมอยู่ในเหตุการณ์เดียวกับนักเตะที่เป็นฮีโร่ในดวงใจ ซึ่งอาจช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้เด็กๆ เหล่านี้เดินตามรอยบนเส้นทางสายค้าแข้งอีกด้วย

กว่าจะได้เป็นเด็กนำโชค

เหตุผลต่างๆ มากมายเหล่านี้นี่เอง ที่ทำให้การมาเป็นเด็กนำโชคเดินนำหน้านักฟุตบอล หรือแม้กระทั่งถือธงก่อนหน้าเกมการแข่งขันจะเริ่มนั้นมีได้หลายเส้นทาง แต่ส่วนใหญ่ก็จะมีกฎเกณฑ์เรื่องอายุของตัวเด็กคล้ายๆกัน คือต้องมีอายุไม่เกิน 18 ปี โดยอาจจะมีช่วงอายุที่แตกต่างกันบ้างเป็นเรื่องปกติ

 3

เริ่มที่เกมระดับทีมชาติอย่าง ฟุตบอลโลก และ ฟุตบอลชิงแชมป์ระดับทวีป รายการเหล่านี้มักจะมีสปอนเซอร์ที่ดูแลเรื่องการจัดหาเด็กมาทำหน้าที่นี้อยู่แล้ว และพวกเขาก็จะจัดกิจกรรมคัดสรรหนูน้อยผู้โชคดีจากทั่วโลกเพื่อการนี้ อย่างที่เรามักจะได้ยินข่าวเด็กไทยไปเดินจูงมือกับนักเตะระดับโลกในทัวร์นาเมนต์ใหญ่อยู่เป็นประจำ

กิจกรรมคัดเลือกเด็กผู้โชคดี ไม่เพียงจะมีแต่ในระดับทีมชาติเท่านั้น เพราะในเกมระดับสโมสรก็มีการจัดกิจกรรมลักษณะนี้เช่นกัน ซึ่งก็มีทั้งที่ผ่านการคัดเลือกจากการแข่งขัน ตลอดจนตัวแทนจากองค์กรการกุศล แต่บางครั้ง ผู้ที่ได้รับโอกาสนี้ก็เป็นลูกๆ ของนักเตะ หรือแม้กระทั่งนักเตะระดับเยาวชนของทีม เพื่อให้เด็กเหล่านั้นมีแรงบันดาลใจ เหมือนอย่างที่ เวย์น รูนี่ย์ เคยได้รับและล่าฝันจนสำเร็จมาแล้ว

โดยปกติแล้วการคัดเลือกน้องๆ ที่จะได้มาเป็นเด็กนำโชค พ่อแม่ผู้ปกครองของเด็กผู้โชคดีไม่จำเป็นต้องเสียสตางค์เลยแม้แต่น้อย แต่โอกาสที่หลายคนว่ากันว่าเป็น “ครั้งหนึ่งในชีวิต” ก็ถือเป็นช่องทางในการสร้างรายได้ให้กับทางสโมสรเช่นกัน

ตัวอย่างในกรณีนี้ที่เห็นได้ชัดที่สุดคงหนีไม่พ้นเรื่องราวในวงการฟุตบอลอังกฤษ เพราะในขณะที่สโมสรส่วนใหญ่ รวมถึงทีมดังอย่าง แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด, ลิเวอร์พูล และ อาร์เซน่อล เปิดโอกาสให้น้องๆ หนูๆ ได้เป็นเด็กนำโชคแบบฟรีๆ ไม่มีค่าใช้จ่าย ทว่าบางสโมสรกลับคิดเงินกับพ่อแม่ในการซื้อประสบการณ์อันไม่มีวันลืมให้กับแก้วตาดวงใจของพวกเขา

สโมสรอย่าง เวสต์แฮม ยูไนเต็ด เรียกเก็บเงินในการเป็นเด็กนำโชคสูงถึง 700 ปอนด์ (ราว 29,000 บาท) เช่นเดียวกับ เลสเตอร์ ซิตี้ ที่ 600 ปอนด์ (ราว 25,000 บาท) แม้แต่ทีมในลีกรองอย่าง สวอนซี ซิตี้ ยังมีค่าใช้จ่ายสูงถึง 478 ปอนด์ (ราว 20,000 บาท) แต่นั่นไม่ใช่ค่าใช้จ่ายที่แพงที่สุด เพราะสโมสรที่เก็บค่าใช้จ่ายในส่วนนี้แพงที่สุดคือ เอฟเวอร์ตัน ซึ่งเรียกเงินสูงถึง 718 ปอนด์ (ราว 30,000 บาท) ทว่าทีมท็อฟฟี่สีน้ำเงินทำแบบนี้เฉพาะกับเกมนัดสำคัญๆเท่านั้น โดยนำเงินที่ได้ไปบริจาคการกุศล ส่วนนัดอื่นๆ พวกเขาเปิดโอกาสให้เด็กแบบฟรีๆ ไม่มีค่าใช้จ่าย

 4

แน่นอน มีบางคนที่ไม่พอใจเกี่ยวกับเรื่องนี้ โดย มาร์ติน เจมส์ จาก Resolver เว็บไซต์เกี่ยวกับเรื่องราวของผู้บริโภคได้เปิดใจว่า "มันน่าเจ็บปวดอยู่นะเมื่อได้เห็นว่า บางครั้งก็มีแต่ลูกๆ คนรวยเท่านั้นที่จะได้สัมผัสกับประสบการณ์เช่นนี้ เพราะสมัยที่ผมยังเด็กๆ การเป็นเด็กนำโชคนี่ถือเป็นรางวัลแห่งความจงรักภักดีที่มีกับทีม แต่เดียวนี้มันกลายเป็นเรื่องของธุรกิจ ซึ่งเป็นอะไรที่รับไม่ได้เลยสำหรับพ่อแม่"

ครั้งหนึ่งในชีวิต

แม้สิ่งที่ มาร์ติน เจมส์ รู้สึกจะตรงใจแฟนบอลมากมาย ที่ไม่ต้องการเห็นสโมสรอันเป็นที่รักค้ากำไรเกินควรกับเยาวชน แต่ในส่วนของพ่อแม่ล่ะ รู้สึกอย่างไร?

 5

ทีมงานของ BBC ได้ไปสัมภาษณ์เหล่าพ่อแม่ที่ซื้อแพ็คเกจมูลค่า 225 ปอนด์ (ราว 9,500 บาท) เพื่อให้ลูกๆ ได้เป็นเด็กนำโชคของ คาร์ดิฟฟ์ ซิตี้ ในเกมพรีเมียร์ลีกฤดูกาล 2018/19 ที่เปิดบ้านพบกับ แมนเชสเตอร์ ซิตี้ ซึ่งแม้จะมีเสียงบ่นถึงตัวเลขค่าใช้จ่าย แต่ที่สุดแล้ว พวกเขาต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า นี่เป็นประสบการณ์ที่ครั้งหนึ่งในชีวิตที่ลูกๆ จะไม่มีวันลืม

เพราะไม่ว่าจะฟรีหรือเสียเงิน แพ็คเกจที่มาควบคู่กันนั้น คือสิ่งที่หลายคนอิจฉา ซึ่งในสถานการณ์อื่นแม้มีเงินก็อาจซื้อไม่ได้ โดยนอกจากการได้เดินคู่ไปกับนักเตะตอนลงสนามแล้ว เด็กนำโชคยังจะได้รับชุดที่ใส่ในวันนั้นกลับบ้านไปฟรีๆ รวมถึงได้ใช้เวลาถ่ายรูป ขอลายเซ็นกับผู้เล่นและสตาฟฟ์โค้ช ตลอดจนตั๋วเข้าชมเกมนั้นๆ ซึ่งในบางกรณี ก็รวมถึงการได้ลงเตะฟุตบอลกับเหล่าเด็กนำโชคด้วยกันอีกด้วย

แจ็คสัน ร็อบบิ้นส์ แฟนบอลเอฟเวอร์ตันวัย 6 ขวบก็เป็นอีกคนที่ได้สัมผัสกับประสบการณ์นี้ เมื่อเขาเป็นหนึ่งในผู้ถือตั๋วปีของทางสโมสร และทีมท็อฟฟี่สีน้ำเงิน ก็ติดต่อผ่านทาง แม็ตต์ ผู้เป็นพ่อว่า อยากให้เขาไปเป็นเด็กนำโชคของเกมพรีเมียร์ลีกนัดที่ทีมต้องไปเยือน นิวคาสเซิ่ล เมื่อฤดูกาล 2017/18

คุณพ่อของแจ็คสันเล่าให้ฟังถึงเรื่องราวคราวนั้นว่า “ลูกผมแทบไม่เสียเวลาคิดเลยตอนที่ผมถาม ตอบทันทีเลยว่า ‘ไปครับ’ ซึ่งทางเอฟเวอร์ตันดูแลพวกเราดีมาก ทั้งส่งชุดแข่งของแจ็คสันมาให้ รวมถึงให้เขาได้เข้าไปในห้องแต่งตัว ได้ถ่ายรูปกับนักเตะแทบทุกคน หนึ่งในนั้นก็คือ เวย์น รูนี่ย์ นักเตะในดวงใจของเขา”

 6

“ความฝันของแจ็คสันคือการได้เป็นนักฟุตบอลอาชีพ นี่จึงเป็นแรงบันดาลใจสำคัญให้เขาออกตามล่าฝัน ไม่เพียงเท่านั้น มันยังทำให้ฝันของผมเป็นจริงอีกด้วย เพราะการที่ลูกผมได้เป็นเด็กนำโชค ผมเลยได้เจอกับ ดันแคน เฟอร์กูสัน นักเตะในดวงใจซึ่งตอนนี้เป็นทีมงานโค้ชของเอฟเวอร์ตันด้วยเหมือนกัน”

 7

อันที่จริง วัฒนธรรมเด็กนำโชคในวงการลูกหนังไม่ได้จำกัดแค่เยาวชนคนรุ่นใหม่เท่านั้น เพราะในบางสถานการณ์ เด็กนำโชคก็ไม่ใช่เด็ก แต่มีทั้งสุนัข หรือแม้กระทั่งพ่อแม่ของนักเตะ และแฟนบอลสูงอายุ เพื่อให้สังคมตระหนักถึงคุณค่าของพวกเขา ถึงกระนั้น ด้วยความที่เด็กนั้นเป็นจุดเริ่มต้นของวัฒนธรรมนี้ ประกอบกับวัตถุประสงค์ที่ต้องการให้คนรุ่นใหม่เติบโตไปในทิศทางที่ดี การใช้เด็กนำโชคจึงเป็นวัฒนธรรมกระแสหลักไปโดยปริยาย

และแม้การเป็นเด็กนำโชคจะมีทั้งแบบที่ได้เป็นกันฟรีๆ หรือแม้แต่ต้องเสียเงิน ซึ่งอาจทำให้เหล่าคุณพ่อคุณแม่ต้องกุมขมับ แต่สิ่งที่เด็กๆ ได้รับทั้งสิ่งของรวมถึงประสบการณ์ ก็ถือเป็นเรื่องราว “ครั้งหนึ่งในชีวิต” ที่ไม่ว่าอะไรก็ทดแทนไม่ได้

ไม่เพียงเท่านั้น หากเด็กๆ ได้ซึมซับสิ่งที่ได้รับจากประสบการณ์ที่ได้รับ จนก้าวทำตามฝันในการเป็นนักเตะอาชีพได้สำเร็จ หรือแม้กระทั่งเติบโตเป็นประชากรที่มีคุณภาพของสังคม บางที … นี่อาจเป็นสิ่งที่ดีที่สุดที่พ่อแม่จะให้กับลูกๆ อันเป็นที่รักได้แล้ว

อัลบั้มภาพ 7 ภาพ

อัลบั้มภาพ 7 ภาพ ของ มีที่มาอย่างไร? เปิดตำราขุดธรรมเนียมเด็กนำโชคโลกลูกหนัง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook