“เอฟซี ซังต์ เพาลี” สโมสรฟุตบอลฝ่ายซ้ายหัวใจต้านเผด็จการ

“เอฟซี ซังต์ เพาลี” สโมสรฟุตบอลฝ่ายซ้ายหัวใจต้านเผด็จการ

“เอฟซี ซังต์ เพาลี” สโมสรฟุตบอลฝ่ายซ้ายหัวใจต้านเผด็จการ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

มีคำกล่าวหนึ่งของคนเยอรมันว่า “มีสโมสรฟุตบอลเพียง 2 แห่งเท่านั้น ที่ไม่ว่าเดินทางไปไหนในประเทศ ก็จะพบเจอผู้คนใส่เสื้อ 2 สโมสรนี้ได้เป็นเรื่องปกติ” ทีมหนึ่งคือ บาเยิร์น มิวนิค ส่วนอีกหนึ่งมีนามว่า เอฟซี ซังต์ เพาลี

ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกสำหรับทีมแรก บาเยิร์น มิวนิค คือ มหาอำนาจลูกหนังเมืองเบียร์ เจ้าของแชมป์ลีกสูงสุด 28 สมัย, แชมป์ยูฟ่า แชมเปียนส์ ลีก อีก 5 ครั้ง แถมมีนักเตะทีมชาติอยู่เต็มไปหมด เป็นเรื่องปกติที่ หากบาเยิร์นจะมีแฟนบอลอยู่ทั่วประเทศ

 

ทั้งหมดตรงข้ามกับ เอฟซี ซังต์ เพาลี ทีมเล็กๆจากย่านโคมแดง (ที่เต็มไปด้วยสถานที่อโคจรยามราตรี, สถานขายบริการทางเพศ) ในเมืองฮัมบูร์ก พวกเขามีอะไรที่น่าสนใจ ถึงกลายเป็นอีกทีม ที่มีคนชื่นชอบไม่แพ้กับ บาเยิร์น มิวนิค ทั้งที่วัฏจักรของสโมสรก็วนเวียนอยู่ในลีกล่างด้วยซ้ำ

ซังต์ เพาลี ไม่เคยเป็นแชมป์บุนเดสลีก้า ไม่เคยเป็นแชมป์เดเอฟเบ โพคาล ไม่เคยแม้แต่จะได้ไปเล่นบอลยุโรปเลยสักครั้ง แต่การแสดงออกตัวตนทางการเมืองฝักใฝ่ฝ่ายซ้าย กลับเป็นเอกลักษณ์ที่ทำให้ ซังต์ เพาลี มีชื่อเสียงขึ้นมา ไม่ใช่แค่ในเยอรมัน แต่เป็นทั่วโลก

แม้ในโลกของฟุตบอล จะมีความพยายามแยกการเมืองออกจากกีฬา แต่สโมสรเล็กๆแห่งนี้ สามารถใช้การแสดงออกทางการเมืองผ่านกีฬาฟุตบอล จนกลายเป็นวัฒนธรรมของสโมสรที่ขึ้นชื่อได้อย่างไร?

ย่านอโคจร และจุดกำเนิดสโมสรการเมืองฝ่ายซ้าย

เอฟซี ซังต์ เพาลี ก่อตั้งในปี 1910 ตามเลขปีที่พวกเขาใส่ไว้ในโลโก้ของสโมสร เดิมทีทีมไม่ได้เป็นสโมสรฟุตบอลขวัญใจมหาชนฝ่ายซ้าย รวมถึงมีวัฒนธรรมการแสดงออกจุดยืนทางการเมืองเช่นนี้

1

จุดเริ่มต้นของวัฒนธรรมแบบสโมสรซังต์ เพาลี เกิดขึ้นในช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 1980 ในเวลานั้น แฟนบอลฝ่ายขวาชาตินิยมหัวรุนแรง กำลังสร้างปัญหาไปทั่วประเทศเยอรมัน หนึ่งในสโมสรที่มีแฟนบอลสร้างความปั่นป่วนมากที่สุด คือ ฮัมบูร์ก เอสเฟา

สโมสรชื่อดังประจำเมืองท่า ทางตอนแดนเหนือของเยอรมัน เป็นฐานที่มั่นของ แฟนบอลฝ่ายขวากลุ่มใหญ่ ที่สร้างชื่อกระฉ่อนไปทั่วเมืองเบียร์ ปัญหาแฟนบอลอันธพาลทีมสิงห์เหนือ ณ เวลานั้น นับว่าเลวร้ายมาก ถึงขั้นมีแฟนบอลทีมเยือนต้องมาเสียชีวิตขณะเดินทางมาเยือนโฟล์ค สปาร์กสตาดิโอน รังเหย้าของทีม ในปี 1982 จากการโดนทำร้ายร่างกายถึงแก่ความตาย

2

ทำให้แฟนฟุตบอลจำนวนหนึ่งในเมืองฮัมบูร์ก เริ่มมองหาทางออก ที่จะได้แสดงความไม่เห็นด้วย กับวัฒนธรรมการเชียร์ของแฟนบอลหัวรุนแรงกลุ่มนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อสิ่งที่พวกเขาเกลียดที่สุด ได้กลายเป็นตัวตน และภาพจำของสโมสรประจำเมืองที่พวกเขารัก

เมื่อถึงจุดหนึ่ง แฟนบอลฮัมบูร์ก ที่ทนไม่ไหวกับพฤติกรรมป่าเถื่อนของกองเชียร์หัวรุนแรง ได้ตัดสินใจหันหลังให้กับทีมรักของตัวเอง แล้วแปรสภาพไปเป็นแฟนบอลซังต์ เพาลี อีกหนึ่งสโมสรร่วมเมืองที่ตั้งอยู่ในย่านอโคจร เพื่อสร้างวัฒนธรรมใหม่ และแสดงออกถึงจุดยืนที่พวกเขาคิดว่าถูกต้อง

3

ยอร์จ มาร์วีเดล นักเขียนชาวเยอรมัน ที่เกิดในเมืองฮัมบูร์ก ย้อนเรื่องราวในยุค 80’s ถึงเหตุผลที่แฟนบอลจำนวนหนึ่ง เลิกเชียร์ ฮัมบูร์ก เอสเฟา แล้วเปลี่ยนมาเชียร์ที่สโมสรซังต์ เพาลี

“ปกติเรามักพูดกันเสมอว่า เราไม่สามารถเปลี่ยนทีมเชียร์ในโลกฟุตบอลได้ แต่ในช่วงยุค 80’s ที่ฮัมบูร์ก สถานการณ์มันต่างออกไป ผมโตมาในฐานะแฟนบอลของฮัมบูร์ก แต่ด้วยสถานการณ์ในตอนนั้นกับกระแสนีโอ-นาซี ในหมู่แฟนบอลของพวกเรา มันยากเกินกว่าที่ผมจะรับไหว ซึ่งผมไม่ใช่คนเดียวที่รู้สึกแบบนั้น”

สโมสรซังต์ เพาลี จึงได้ถือกำเนิดใหม่ขึ้น โดยมีคนจำนวนมากในเมือง เปลี่ยนมาสนับสนุนทีมเล็กๆแห่งนี้ ในย่านที่หลายคนมองว่าเสื่อมโทรม แถมสโมสรยังไม่มีเกียรติยศใดๆประดับสโมสร หากเทียบกับฮัมบูร์ก ที่เคยได้แชมป์ลีกถึง 6 สมัย รวมถึงเคยมีศักดินาเป็นแชมป์ทวีปยุโรปมาแล้ว

หากแต่ความสำเร็จในสนาม คงไม่สำคัญ เท่ากับการต้องทนอยู่ร่วมกับแฟนบอลจำนวนมากของ ฮัมบูร์ก ที่การแสดงออกแตกต่างจากตัวตนของพวกเขาชัดเจน

เราไม่เอาเผด็จการ!  

ส่วนหนึ่งที่ทำให้ชื่อเสียงของ ซังต์ เพาลี ดังกระฉ่อนไปทั่วโลกในเวลาต่อมา คือ การแสดงจุดยืนทางการเมืองที่แน่วแน่ชัดเจน ในการต่อต้านแบบเผด็จการ โดยเฉพาะแนวคิดชาตินิยมนาซี ที่เคยปกครองประเทศเยอรมันในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 และกลายเป็นตราบาปของชาวด๊อยช์จนถึงทุกวันนี้

4

แฟนบอล ซังต์ เพาลี ลุกขึ้นมาแสดงอุดมการณ์ทางการเมือง เนื่องจากในเวลานั้น แนวคิดนีโอ-นาซี (แนวคิดฟื้นฟูชาตินิยมนาซี หลังสงครามโลกครั้งที่ 2) เริ่มแพร่หลายไปทั่วเยอรมัน ลุกลามมาถึงวงการฟุตบอลเยอรมัน ที่มีการยกพวกไล่ตีแฟนบอลคู่แข่งในชาติเดียวกัน รวมถึงไปตะลุมบอลกองเชียร์ต่างชาติ ในเกมยุโรป ซึ่งหลายๆเหตุการณ์ มักลงเอยด้วยการมีผู้คนบาดเจ็บจำนวนมาก และมีแฟนบอลบางส่วนที่ต้องเสียชีวิต

นั่นเป็นสิ่งที่แฟนบอลซังต์ เพาลี ตระหนักรู้ และพวกเขาได้เริ่มต้น ความพยายามที่ต้องการเปลี่ยนแปลงสังคม ผ่านการลุกขึ้นมาต่อต้านแนวคิดทางการเมืองแบบเผด็จการ

พวกเขาเริ่มต้นการแสดงออกแบบง่ายๆ ด้วยการเขียนป้ายแบนเนอร์ ติดไว้ทั่วสนาม ซึ่งมีข้อความ สื่อความหมาย ถึงการไม่เอาแนวคิดแบบเผด็จการ โดยเน้นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ มากกว่าใช้ความรุนแรงนอกสนาม

เพราะแฟนบอลซังต์ เพาลี เชื่อว่า แนวคิดการเมืองแบบเก่า จะนำมาสู่เรื่องเลวร้ายในวงการฟุตบอล ทั้งการเหยียดผิวต่อผู้เล่นผิวสี การใช้ความรุนแรงระหว่างแฟนบอล ไปจนถึงความกลัวว่า แนวคิดฝ่ายขวาจัด จะกลับคืนมาในการเมืองระดับประเทศ (ซึ่งก็กลับมาแล้วจริงๆในการเลือกตั้งทั่วไป ในเยอรมัน เมื่อปี 2017)

5

กลุ่มแฟนบอลที่มีแนวคิดฝ่ายซ้ายของ ซังต์ เพาลี มีวิวัฒนาการในการแสดงออกมากขึ้น จากป้ายแบนเนอร์ติดรอบสนาม เริ่มพัฒนาไปสู่รูปแบบอื่นๆ เช่น ผ้าพันคอ สติ๊กเกอร์ ที่สามารถไปติดตามสถานที่ต่างๆ ทำเสื้อยืดหลากหลายรูปแบบ ที่มีสัญลักษณ์ในเชิงต้านเผด็จการ เพื่อให้แฟนบอล สามารถแสดงออกถึงจุดยืนนี้ ได้ในชีวิตประจำวัน

นอกจากนี้ แฟนซังต์ เพาลี ยังจัดทำกิจกรรมอื่นๆ เพื่อแสดงออกถึงจุดยืนในการต่อต้านเผด็จการ ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมการวิ่งมาราธอนต่อต้านเผด็จการ ซึ่งจัดขึ้นในเมืองฮัมบูร์ก เพื่อระดมทุนในการสนับสนุนให้กับองค์กรที่ต่อต้านการเมืองแบบฝ่ายขวา หรือการตั้งสื่อทางออนไลน์ในชื่อ ‘St. Pauli Fans gegen Rechts’ ที่แปลเป็นไทยได้ว่า “แฟนบอลซังค์ เพาลี ต่อต้านฝ่ายขวา”

6

ที่สำคัญกิจกรรมเคลื่อนไหวทางการเมืองของแฟนบอล ยังได้รับความเห็นดี เห็นงามด้วยจากสโมสรซังต์ เพาลี ที่เอาด้วยกับกองเชียร์ อาทิ สโมสรเคยให้นักฟุตบอลใส่เสื้อข้อความที่ต่อต้านแนวคิดฟาสซิสม์ (Fascism) หรืออย่างในช่วงกลางปี 2018 ได้ทำการทำแคมเปญชวนแฟนบอลมาติดป้ายแบนเนอร์ ที่มีเนื้อหาต่อต้านฟุตบอลโลก ที่ถูกจัดในประเทศรัสเซีย ซึ่งปกครองด้วยระบอบเผด็จการ

“ทุกคนในยุโรปควรจะให้ความกังวลกับการเคลื่อนไหวในสังคมของกลุ่มขวาจัด เราต้องการให้ทุกคนได้เห็นจุดยืนของเรา ถ้าสโมสรซังต์ เพาลี สามารถเป็นส่วนเล็กๆในสังคม ที่จะยืนหยัดต่อสู้กับสิ่งนี้ เราก็จะดีใจมากๆ มากกว่าตอนที่เราชนะเกมการแข่งขันในสนามเสียอีก” โอเก้ เกิตลิชท์ ประธานสโมสรซังต์ เพาลี กล่าวถึงความสำคัญกับการแสดงจุดยืนทางการเมืองของสโมสร

สโมสรฝั่งซ้ายกับปัญหาว่าด้วยความเป็นฝ่ายซ้าย

ไม่ใช่แค่การแสดงแนวคิดการเมืองฝ่ายซ้ายเพียงอย่างเดียว ที่ทำให้สโมสรแห่งนี้กลายเป็นทีมฟุตบอลขวัญใจมหาชนฝ่ายซ้าย

แต่แฟนบอลซังต์ เพาลี ยังร่วมทำกิจกรรมทางสังคมแบบฝ่ายซ้าย หลากหลายรูปแบบ ทั้ง การต่อต้านการเหยียดผิว การเรียกร้องความเท่าเทียมทางเพศ การสนับสนุนการเปิดรับผู้ลี้ภัยเข้ามาในเยอรมัน ไปจนถึงการต่อต้านกระแสทุนนิยม และการใช้อำนาจรัฐ, อำนาจส่วนกลางอย่างไม่เป็นธรรม ฯลฯ  

7

หากไปที่สนามฟุตบอลโดยทั่วไป ในเยอรมัน ก็จะพบเจอป้ายแบนเนอร์ที่มีเขียนเนื้อหา ถึงทึมฟุตบอลหรือนักเตะที่ลงสนาม แต่ที่ซังต์ เพาลี คุณจะเจอแบนเนอร์ที่เขียนข้อความการสนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศ หรือเจอสติ๊กเกอร์ลายต่อต้านเผด็จการ ไปจนถึงสติ๊กเกอร์สนับสนุนการเปิดเสรีกัญชา

แม้กระทั่งการจัดคอนเสิร์ตแนวพังค์ร็อค เพื่อต่อต้านการเหยียดผิว พวกเขาก็ทำมาแล้ว โดยหนึ่งในเรื่องที่แฟนบอลซังต์ เพาลี ภูมิใจมากสุดในการทำกิจกรรมทางสังคม คือ พวกเขาเป็นแฟนบอลกลุ่มแรก ที่สนับสนุนให้มีการเปิดรับผู้ลี้ภัยจากเอเชียตะวันออกกลาง

โดยมีการจัดตั้งองค์กรในนามแฟนบอล เพื่อจัดการเรื่องของผู้ลี้ภัยในเมืองฮัมบูร์ก คอยช่วยเหลือผู้ลี้ภัย ในการใช้ชีวิตที่ประเทศเยอรมัน ทำให้สโมสรซังต์ เพาลี ได้รับผลพลอยได้ มีกลุ่มแฟนคลับจากคนอพยพไปด้วย และมีทีมฟุตบอลของแฟนคลับ ที่เป็นกลุ่มเฉพาะของผู้ลี้ภัยอีกด้วย

ความภูมิใจนี้ ก็นำมาซึ่งเรื่องตลกร้าย ในปี 2015 บุนเดสลีก้า ร่วมกับทีมฟุตบอลในลีก จัดแคมเปญ ‘Refugees Welcome’ เพื่อสนับสนุนการเปิดรับผู้ลี้ภัยเข้ามาในประเทศเยอรมัน แต่แคมเปญดังกล่าว กลับไม่เป็นถูกใจ แฟนบอลของซังต์ เพาลี เนื่องจากพวกเขามองว่า ทั้งบุนเดสลีก้า และสโมสรอื่น เป็นแค่พวกตามกระแส เพราะพวกเขาทำกิจกรรมนี้มาตั้งนานแล้ว

8

“แน่นอนว่าซังต์ เพาลี คือสโมสรฝ่ายซ้ายที่มีจุดยืนทางการเมืองที่ชัดเจน และเห็นคุณค่าในสิ่งที่พวกเรายืนหยัดเพื่อมัน” คำพูดของ แฟนบอลซังต์ เพาลี รายหนึ่ง สะท้อนให้เห็นว่า สโมสรแห่งนี้ ไม่ใช่แค่ทีมฟุตบอลธรรมดา แต่เป็นทีมที่มีความภาคภูมิใจ ในการได้แสดงตัวตนแนวคิดทางการเมืองฝ่ายซ้ายแบบเต็มที่

แต่ในความเป็น สโมสรภาพลักษณ์ฝ่ายซ้าย กลับต้องเจอปัญหาว่าด้วยความเป็นซ้าย...

ซังต์ เพาลี ประสบปัญหาด้านการเงิน และจำเป็นต้องคิดถึงเรื่องธุรกิจบ้าง แต่ปัญหาใหญ่ติดตรงที่แฟนบอลไม่ต้องการให้สโมสรเอาสัญลักษณ์การเคลื่อนไหวทางการเมืองไปใช้ในทางการค้า เพราะพวกเขาเป็นกลุ่มกองเชียร์ที่ต่อต้านทุนนิยมแบบสุดโต่งเช่นกัน

“โลโก้หัวกระโหลกไขว้”  คือสิ่งที่แฟนบอลซังต์ เพาลี สร้างขึ้นมาเป็นตัวแทนกองเชียร์ ที่ต่อมาได้กลายเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์เคลื่อนไหวทางการเมืองฝ่ายซ้าย ซึ่งว่ากันตามตรง สัญลักษณ์หัวกะโหลกไขว้นี้ โด่งดังมากกว่าโลโก้สโมสรซังต์ เพาลี ด้วยซ้ำ

9

ไม่ว่าแฟนบอลทีมนี้ จะไปทำกิจกรรมทางสังคมที่ไหน พวกเขาก็จะพาโลโก้หัวกะโหลกไขว้ไปด้วย ด้วยการใส่เสื้อสีดำที่มีโลโก้หัวกะโหลกไขว้และเขียนว่า ST.PAULI จนทำให้เสื้อสัญลักษณ์หัวกะโหลกไขว้ กลายเป็นหนึ่งในไอเทม ของกลุ่มคนที่ชอบการเมืองฝ่ายซ้าย หรือในหมู่แฟนบอล ที่ต้องมีเสื้อลายนี้

ด้วยความเท่ของเสื้อ บวกกับความหมายโดยนัย ของของโลโก้กระโหลกไขว้ ทำให้เสื้อยืดลายนี้ เป็นที่ต้องการของผู้คนทั่วไป เดิมที เสื้อลายหัวกระโหลกไขว้ เป็นเสื้อแฟนบอลทำขายกันเอง จนกระทั่งสโมสร ปิ๊งไอเดีย หารายได้เข้าสู่สโมสร ด้วยการ ผลิตเสื้อลายนี้ ออกมาขายอย่างเป็นทางการผ่านทางเว็บไซต์ของสโมสร เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของแฟนบอลฝ่ายซ้ายทั่วโลก

แต่แฟนบอลซังต์ เพาลี กลับไม่เล่นด้วยกับสโมสร เพราะมองว่านี่คือโลโก้ตัวแทนความเป็นพวกเขา สโมสรไม่มีสิทธิ์นำเอาไปขายเพื่อทำกำไร และการที่สโมสรเอาสัญลักษณ์ที่พวกเขาเคยใช้ต่อต้านทุนนิยมไปขาย ก็เท่ากับว่าสโมสรพาตัวเองเข้าไปอยู่ในโลกทุนนิยม

เหล่าแฟนบอล จึงเปลี่ยนมาใช้โลโก้เป็นหัวกะโหลกสีแดง แทนที่สีขาวมาแล้วระยะหนึ่ง เพื่อแสดงการต่อต้านการกระทำของสโมสร แม้ทางสโมสรซังต์ เพาลี เคยออกมาชี้แจงว่า ทีมมีความจำเป็นต้องปรับสภาพการบริหาร ตามโลกทุนนิยมที่เข้ามากลืนวงการฟุตบอลแบบเต็มตัว

เพื่อไม่ให้ทีมเกิดวิกฤตทางการเงินแบบในช่วงปี 2001-2003 ที่ตอนนั้น ซังต์ เพาลี ต้องหล่นไปเล่นในลีก้า 3 และเกือบถูกธนาคารเข้ามาควบคุมกิจการสโมสร

10

มิชาเอล เมสเก้ อดีตซีอีโอของสโมสรซังต์ เพาลี ได้ให้สัมภาษณ์ไว้กับสื่อเมื่อปี 2015 ว่า “เราสามารถสร้างกำไรให้กับสโมสรได้เพิ่มขึ้นตลอดหลายปีที่ผ่านมา เรามีเงินหมุนเวียนอยู่ในสโมสรมากถึง 31 ล้านยูโร เราคือสโมสรที่มูลค่ามากที่สุดในลีกลีก้า 2 สถานะการเงินของเราดีขึ้นมากจากปี 2005-2006 (ช่วงเวลาที่ซังต์ เพาลี ผ่านพ้นจากวิกฤติการเงิน) ตัวตนของสโมสรมีมูลค่าที่ชัดเจนภายในตัวของมัน ซึ่งมันเป็นเรื่องดีของสโมสร ที่จะเพิ่มมูลค่าทางสถานะการเงินของเราให้มั่นคงได้”

“แต่แน่นอนว่ามันมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ เราต้องทำธุรกิจ และรักษาภาพลักษณ์ของเราไว้ รวมไปถึงจุดยืนดั้งเดิมของเรา ซึ่งต้องทำธุรกิจอย่างรอบคอบที่สุด เพื่อให้เกิดผลประโยชน์มากที่สุด ต้องให้จุดยืนของสโมสร สามารถไปด้วยกันได้ กับเรื่องของการตลาด”

11

ขณะที่ มาร์ติน ดรัสต์ หัวหน้าฝ่ายการตลาดคนปัจจุบันของสโมสรซังต์ เพาลี กล่าวเสริมว่า สโมสรไม่อาจสามารถปฏิเสธความจริงที่ว่า ซังต์ เพาลี คือ หนึ่งในแบรนด์ฟุตบอลแห่งหนึ่งที่มีชื่อเสียงในระดับโลก และสโมสรมีความจำเป็นต้องหารายได้จากจุดนี้ เหมือนที่สโมสรยักษ์ใหญ่ทั่วโลกอย่าง เรอัล มาดริด หรือ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ได้สร้างแบรนด์ตัวเองให้มูลค่าเพื่อทำรายได้กลับมาคืนมหาศาล

“ซังต์ เพาลี เป็นทีมที่มีภาพลักษณ์ของแบรนด์แข็งแกร่งมากๆ แม้ว่ามันจะเป็นสิ่งที่แฟนบอลท้องถิ่นไม่อยากจะได้ยินก็ตาม เพราะคำว่า “แบรนด์” ไม่ใช่สิ่งที่ผู้คนที่นี่จะให้การยอมรับ แต่คำนี้มันก็ตรงที่สุดแล้ว”

“เรามีแฟนบอลซังต์ เพาลี กว่า 2 ล้านคนในเยอรมัน และมีผู้คนมากกว่า 19 ล้านคนที่สนใจในสโมสรของเรา เราพูดอยู่เสมอว่า เราคือสโมสรที่ได้รับความนิยมมากสุดเป็นอันดับที่ 2 ในเยอรมัน ผมคิดว่าการทำการตลาด มันต้องควบคู่ไปกับฟุตบอล แม้ว่าในมุมหนึ่งมันอาจจะไม่ถูกต้องก็ตาม”

“เราพยายามขายสินค้าต่างๆ ให้เขาถึงไลฟ์สไตล์ของผู้คนในแบบซังต์ เพาลี ให้เป็นภาพลักษณ์ที่แตกต่าง ซึ่งสามารถไปด้วยกันในฐานะแฟนฟุตบอลได้ มันจำเป็นในสถานการณ์แบบนี้ที่จะทำให้ผู้คนเข้าถึงสินค้าของเรา เพื่อช่วยให้สถานะทางการเงินของเราดีขึ้น”

แม้สโมสรจำเป็นต้องทำ เพื่อรักษาผลประโยชน์แก่ตัวสโมสรเอง แต่สิ่งนี้เอง ได้นำมาซึ่งความเจ็บปวด แก่แฟนบอลท้องถิ่น ที่เข้ามาเชียร์ด้วยอุดมการณ์ดั้งเดิมของสโมสร

12

ดอค มาบุส แฟนบอลของสโมสรซังต์ เพาลี ผู้อ้างตัวว่าเป็นคนเริ่มต้นการใช้สัญลักษณ์กะโหลกไขว้ในการเชียร์ฟุตบอลในสนาม ได้กล่าวโจมตีว่าสโมสรที่รักของเขาได้เสียตัวตนไปแล้ว

“ผมเริ่มเชียร์สโมสรนี้ในปี 1976 ผมชักชวนคนอื่นให้มาเป็นแฟนบอลของที่นี่เสมอ วันหนึ่งผมเมาได้ที่แล้วเดินผ่านเห็นร้านขายธงอันใหญ่เป็นรูปหัวกะโหลกไขว้ ผมเอามันไปโบกที่สนาม นี่แหละคือจุดเริ่มต้นของสัญลักษณ์นี้”

“และถ้าผมรู้ว่าสุดท้ายมันจะกลายมาเป็นแบบนี้ (สโมสรเอาโลโก้ไปใช้ทางการค้า) ผมก็คงจะไม่ทำแบบวันนั้น วงการฟุตบอลทุกวันนี้มันโดนทำลายไปหมดแล้วด้วยคำว่า “เงิน” ผมรู้สึกเหมือนโดนพวกเขาหักหลังเรา ผมโมโหมาก ทุกอย่างมันเปลี่ยนไป ใครก็เป็นแฟนของทีมนี้ได้ แค่ใส่เสื้อของทีมซังต์ เพาลี แล้วเรียกตัวเองว่าเป็นแฟนของซังต์ เพาลี แต่มันไม่ได้มาจากความรู้สึกข้างใน นั่นแหละคือจุดจบตัวตนที่แท้จริงของสโมสร”

เช เกวาราแห่งโลกฟุตบอล

สถานะของ ซังต์ เพาลี จึงไม่ได้เป็นแค่สโมสรที่มีแนวคิดฝ่ายซ้ายเท่านั้น แต่ปัญหาระหว่างตัวแฟนบอลกับสโมสร ได้เป็นภาพสะท้อนการเมืองฝ่ายซ้ายในปัจจุบันได้ดีเช่นเดียวกัน

13

ในขณะที่ความต้องการของแฟนบอล หรือประชาชนที่สนับสนุนพรรค อาจหมายถึงการพยายามผลักดัน แนวคิดฝ่ายซ้ายไปให้ได้มากสุด ไม่ต้องการทุนนิยม แต่สถานะขององค์กร อย่างพรรคการเมืองหรือสโมสร ไม่สามารถทำแบบนั้นได้อย่างที่แฟนบอลคาดหวัง

แต่อย่างน้อยที่สุด ซังต์ เพาลี ก็เป็นหนึ่งในเป็นต้นแบบของทีมฟุตบอล ที่ทำให้เห็นแล้วว่า ไม่จำเป็นต้องแยกทีมกีฬาออกจากการเมืองเสมอ และมันสามารถไปด้วยกัน ซึ่งฉีกจากภาพจำเดิมๆ ที่สโมสรลูกหนังมักพยายามวางตัวเป็นกลางเสมอมา แต่การมีสโมสรลักษณะนี้ ย่อมทำให้เกมฟุตบอลตื่นเต้น น่าสนใจมากขึ้น และทำให้สโมสรเล็กๆแห่งนี้ มีตัวตนในโลกฟุตบอลได้  

“เราปฏิเสธไม่ได้ว่าธุรกิจกีฬาฟุตบอลเป็นส่วนหนึ่งในระบบของทุนนิยม เพราะฉะนั้นซังต์ เพาลี คงไม่ใช่หัวหอกของฝ่ายซ้ายที่จะเปลี่ยนแปลงโลก ผมไม่คิดว่าสุดท้ายเราคงจะไม่มองหาสิ่งที่จะมาเปลี่ยนแปลงโลกจากอุตสาหกรรมสโมสรฟุตบอล เพราะสุดท้ายฟุตบอลก็ยืนอยู่บนฐานของทุนนิยม” อาจินต์ ทองอยู่คง อาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวเริ่ม

14

“สำหรับผมซังต์ เพาลี ก็คงไม่ได้เป็นถึง การเคลื่อนไหวที่จะไปเปลี่ยนแปลงโลกได้ในแบบฝ่ายซ้าย เพราะในท้ายที่สุดฟุตบอลก็ต้องอยู่กับทุนนิยมอยู่ดี การเป็นแฟนของทีมฟุตบอลมันเป็นเรื่องของวัฒนธรรมมากกว่า เป็นการแสดงตัวตนว่าเราเป็นคนอย่างไร มีจุดยืนทางการเมืองแบบไหน แต่ไม่ใช่ในหน้าที่ของสโมสรฟุตบอล ที่สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงสังคมเปลี่ยนแปลงโลก อย่าไปคาดหวังขนาดนั้น”

“ในความคิดผมซังต์ เพาลี ก็คือ เช เกวาร่า ของโลกฟุตบอล เป็นภาพอุดมคติของนักปฏิวัติ แต่ในความเป็นจริงแล้วซังต์ เพาลี ก็ไม่ได้ซ้ายจัด ในทุกสิ่งทุกอย่างของสโมสร”

“ใจจริง แฟนบอลเขาก็ไม่ได้อยากเป็นเหมือนกับ สโมสรฟุตบอลทีมอื่น ที่กลายเป็นสินค้า โดนเอาโลโก้ไปปั๊มเป็นเสื้อขายเหมือนกับเช แต่พวกเขา ก็ได้กลายเป็นภาพอุดมคติ ถ้านึกถึง ความเป็นซ้ายในวงการฟุตบอล ก็ต้อง ซังต์ เพาลี”

อัลบั้มภาพ 14 ภาพ

อัลบั้มภาพ 14 ภาพ ของ “เอฟซี ซังต์ เพาลี” สโมสรฟุตบอลฝ่ายซ้ายหัวใจต้านเผด็จการ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook