ท่ามกลางวิกฤติ : จะออกกำลังกายอย่างไรในเมื่อมลพิษเกินค่ามาตรฐาน?

ท่ามกลางวิกฤติ : จะออกกำลังกายอย่างไรในเมื่อมลพิษเกินค่ามาตรฐาน?

ท่ามกลางวิกฤติ : จะออกกำลังกายอย่างไรในเมื่อมลพิษเกินค่ามาตรฐาน?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

หนึ่งในประเด็นที่คนไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่อาศัยอยู่ในเมืองใหญ่อย่าง กรุงเทพมหานคร เมืองหลวงและศูนย์กลางความเจริญของประเทศนี้ต้องวิตกมาตลอดในระยะหลังก็คือ ปัญหาเรื่องมลพิษทางอากาศ

โดยเฉพาะหมอกควันและฝุ่นละอองที่ปกคลุมไปทั่วเมือง ซึ่งนอกจากจะส่งผลต่อการใช้ชีวิตของชาวเมืองแล้ว ยังส่งผลต่อวิถีคนรักสุขภาพที่พิสมัยการออกกำลังกายในที่แจ้งอีกด้วย

แต่หนึ่งในตัวปัญหาที่ไม่ว่าสื่อและใครๆ ต่างพูดถึงอย่าง PM2.5 นั้นคืออะไร ส่งผลกระทบอย่างไรต่อร่างกายได้บ้าง และเมื่อสถานการณ์เป็นเช่นนี้ การออกกำลังกายควรจะต้องปรับเปลี่ยนไปในลักษณะใด?


Main Stand ขอรวบรวมข้อมูลที่คุณควรรู้เพื่อรับมือกับมันมานำเสนอ

PM2.5 คืออะไร?
เมื่อพูดถึงมลพิษทางอากาศ หลายคนคงจะคุ้นชื่อกับ ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ หรือฝุ่นละอองกันดีอยู่แล้ว แต่สำหรับ PM2.5 ที่เราเริ่มได้ยินกันจนคุ้นหูขึ้นเรื่อยๆ นั้นมันคืออะไรกัน?

พูดแบบให้เข้าใจง่าย PM2.5 คือฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน หรือประมาณ 1 ใน 25 ของเส้นผ่านศูนย์กลางของเส้นผมมนุษย์ ซึ่งเล็กเสียจนขนจมูกไม่สามารถกรองได้ต่างจากฝุ่นขนาดที่ใหญ่กว่าอย่าง PM10 ที่มีขนาดไม่เกิน 10 ไมครอน

แม้ PM2.5 จะไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า แต่ในภาพแวดล้อมโดยปกติที่มีฝุ่นขนาดต่างๆ และควันปะปนอยู่มากมาย จึงไม่แปลกที่เราจะพอสังเกตได้ด้วยตาเปล่าว่า บรรยากาศของเมืองมันไม่เหมือนเดิม กับความขมุกขมัวเหมือนอยู่ท่ามกลางหมอกที่ไม่จางหายไปไหน

000_1c78b9
ถึงกระนั้น จะให้รู้แน่ชัดว่าสภาพอากาศในตอนนี้เป็นอย่างไร ก็ต้องมาดูกันที่ค่า AQI (Air Quality Index) หรือ ดัชนีคุณภาพอากาศ โดย World Air Quality Index (WAQI) ระบุว่า หากค่า API อยู่ในระหว่าง 0-50 ถือว่าอากาศดี, 51-100 อยู่ในเกณฑ์กลางๆ, 101-150 ไม่ดีต่อสุขภาพสำหรับกลุ่มเสี่ยง, 151-200 ไม่ดีต่อสุขภาพ, 201-300 ไม่ดีต่อสุขภาพเอามากๆ และหากพุ่งสูงทะลุ 300 ขึ้นไป ก็จะถือว่าอากาศเป็นพิษโดยสมบูรณ์แบบ

โดยค่า API จากหลายๆ จุดที่กรุงเทพมหานครในขณะนี้ที่ได้จาก WAQI ระบุว่า มีค่าสูงกว่า 150 … นั่นหมายความว่า อากาศของเมืองฟ้าอมรในตอนนี้มีความเสี่ยงที่ทำให้เกิดปัญหาต่อสุขภาพเสียแล้ว

แน่นอนว่าทุกปัญหาย่อมมีสาเหตุ ประลอง ดำรงค์ไทย อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ เผยถึงที่มาของ PM2.5 ในที่ประชุมระดมความคิดเห็นกำหนดมาตรการป้องกันและแก้ปัญหานี้ว่า

000_1c78b8
“จากการเฝ้าติดตามสถานการณ์ในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร พบว่าสาเหตุหลัก 50-60% มาจากรถเครื่องยนต์ดีเซล ทั้งรถบรรทุก รถกระบะ รวมถึงรถเมล์ นอกจากนี้ยังเกิดจากการเผาในที่โล่งประมาณ 35% ส่วนอีก 5-10% เกิดจากโรงงานอุตสาหกรรมและการลอยของฝุ่นเข้ามาจากพื้นที่อื่น”

อันตรายขนาดไหน?
จากข้อมูลข้างต้น หากจะกล่าวว่า PM2.5 คือมลพิษทางอากาศที่เกิดขึ้นด้วยน้ำมือของมนุษย์เองก็คงไม่ผิดอะไรนัก แต่ผลกระทบของมันต่อสุขภาพของเราล่ะ มีอะไรบ้าง? เรื่องดังกล่าว หมอเอก - นพ. เอกภพ เพียรพิเศษ แพทย์ประจำทีมชาติไทยรุ่นอายุไม่เกิน 23 ปี และสโมสร สิงห์ เชียงราย ยูไนเต็ด เปิดเผยกับทีมงาน Main Stand ว่า

26961620_2001689456513289_446
"เนื่องจาก PM2.5 เป็นฝุ่นที่มีขนาดเล็กเสียจนขนจมูกไม่สามารถดักจับได้ มันจึงสามารถเดินทางผ่านทางเดินหายใจเข้าสู่ปอดและกระแสเลือดโดยตรง ผลกระทบในระยะสั้นเลยสามารถเกิดได้กับคนที่มีโรคประจำตัวที่เกี่ยวข้องกับระบบเหล่านี้ อย่าง หอบหืด, โรคปอด, โรคหัวใจ, ความดันโลหิตสูง ซึ่งอาจกำเริบขึ้นมาหลังหายใจเอาอากาศเหล่านี้เข้าไป"

“ทีนี้ ความพิเศษ (ในทางที่ไม่ดี) ของ PM2.5 ก็คือ เมื่อเข้าสู่ร่างกายแล้วมันจะเข้าไปเกาะตามส่วนต่างๆ ของระบบทางเดินหายใจและหมุนเวียนโลหิตและทำให้เกิดอาการอักเสบ กระบวนการเหล่านี้มันสามารถทำให้เกิดโรคต่างๆ อย่าง เส้นเลือดหัวใจตีบ, เส้นเลือดในสมองตีบ, ความดันโลหิตสูง รวมถึงยังเป็นสารตั้งต้นในการก่อให้เกิดโรคมะเร็ง ไม่เพียงเท่านั้น ผลการศึกษาของนักวิจัยจากต่างประเทศยังพบว่า นี่อาจจะเป็นอีกสาเหตุของการเปลี่ยนแปลงทางกรรมพันธุ์อีกด้วย”

000_1br3eg
ข้อมูลที่หมอเอกกล่าวข้างต้น มีหลักฐานส่งเสริมจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ซึ่งได้เปิดเผยงานวิจัยด้านมลพิษทางอากาศที่รวบรวมข้อมูลจาก 4,300 เมือง ใน 108 ประเทศทั่วโลก พบว่า ประชากรโลกราวร้อยละ 90 ต้องสูดควันพิษเข้าปอดกันทุกวัน ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีผู้เสียชีวิตจากมลพิษทางอากาศราว 7 ล้านคนทั่วโลกทุกปี เนื่องจากการสูดเอาฝุ่นละอองขนาดเล็กเข้าปอด โดยกว่าร้อยละ 90 ของการเสียชีวิตที่เกิดจากมลพิษทางอากาศ กระจุกตัวอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีรายได้ปานกลาง และรายได้น้อย ส่วนใหญ่อยู่ในทวีปเอเชียและแอฟริกา

คนรักสุขภาพต้องทำอย่างไร?
ด้วยสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะนี้ แน่นอน ย่อมเกิดคำถามว่า แล้วประชากร โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนรักสุขภาพอย่างเราๆ ทั้งหลาย ควรจะรับมือกับมลพิษทางอากาศ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง PM2.5 อย่างไร?

จริงอยู่ที่ผลการศึกษาในต่างประเทศ อย่างเช่น ผลการวิจัยโดย Marko Tainio และคณะเมื่อปี 2016 พบว่า แม้เป็นการออกกำลังกายกลางแจ้งก็ตาม แต่หากใช้ระยะเวลาที่เหมาะสม ไม่มากเกินไป ประโยชน์ที่ได้รับจากการออกกำลังกายนั้นก็สามารถชดเชยผลกระทบจากมลพิษทางอากาศได้ ถึงกระนั้น หมอเอก แพทย์ประจำทีมชาติไทยได้ให้คำแนะนำว่า ในสถานการณ์แบบนี้ การตัดปัจจัยเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้ด้วยตัวเราเองนั้นถือเป็นสิ่งที่ดีที่สุด

delhi-air-pollution2
"สิ่งที่จะเกิดขึ้นตอนออกกำลังกาย คือเราจะหายใจเร็วขึ้น แรงขึ้น และลึกขึ้น การออกกำลังกายกลางแจ้งในสภาวะที่เกิดมลพิษทางอากาศ ก็มีโอกาสทำให้อานุภาคเล็กๆ ซึ่งรวมถึง PM2.5 เข้าสู่ร่างกายได้มากขึ้นและลึกขึ้น จนอาจทำให้อาการเจ็บป่วยต่างๆ ที่ซ่อนอยู่กำเริบขึ้นมาได้ และอาจสะสมจนเจ็บป่วยอย่างที่ได้กล่าวไป"

"ในสภาพอากาศที่มีมลพิษจนเป็นอันตรายต่อสุขภาพเช่นนี้ องค์การอนามัยโลกได้ให้คำแนะนำว่า ควรงดออกกำลังกายกลางแจ้งครับ โดยเปลี่ยนมาออกกำลังกายในร่มแทน อย่างเช่นในฟิตเนส หรือโรงยิม ตรงนี้จะช่วยให้เราลดความเสี่ยงที่จะรับ PM2.5 ได้ แต่ขณะเดียวกัน ก็มีการศึกษาในต่างประเทศที่ชี้ว่า ต้นไม้ สามารถลดปริมาณอนุภาคเหล่านี้ได้ หากจำเป็นต้องออกกำลังกายกลางแจ้งจริง การไปออกกำลังกายในสวนสาธารณะต่างๆ ก็น่าที่จะช่วยลดความเสี่ยงได้อยู่บ้างครับ"

"ส่วนคำถามที่ว่า แล้วเราจะใส่หน้ากากที่สามารถป้องกันอนุภาค PM2.5 ไปออกกำลังกายกลางแจ้งได้หรือไม่ ในส่วนนี้หมอไม่แนะนำเท่าไหร่ครับ เพราะหน้ากากที่ป้องกัน PM2.5 ได้เนี่ย มันจะครอบในส่วนจมูกและปากมิดเลย ซึ่งจะทำให้เราสามารถรับอากาศได้น้อยลงตามไปด้วย คล้ายๆ กับหน้ากากออกกำลังกายที่ไว้ใช้ในการฝึกให้ชินกับสภาวะที่มีออกซิเจนน้อย แต่สำหรับคนทั่วไป การใส่หน้ากากออกกำลังกายอาจทำให้เกิดภาวะขาดออกซิเจน ซึ่งคนที่มีความฟิตไม่ถึงอาจเกิดปัญหาได้"

charlie-blog-1-1024x768
อีกปัญหาสำคัญที่คนรักสุขภาพเองก็ปลงไม่ตกนั่นคือ การแข่งขันกีฬาหลากหลายชนิดในกรุงเทพฯ ทั้ง วิ่งมาราธอน, แข่งจักรยาน ส่วนใหญ่ล้วนเป็นการแข่งขันกลางแจ้ง และเส้นทางส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นในพื้นที่เมืองซึ่งประสบปัญหามลพิษทางอากาศอยู่ ในส่วนนี้ หมอเอกได้ให้คำแนะนำว่า

"ถ้าเป็นมาตรฐานนานาชาติ ก่อนที่จะมีการแข่งขันนั้นจะมีการตรวจสภาพอากาศในเรื่องต่างๆ ก่อนว่า สามารถจัดได้หรือไม่ ถ้าไม่ได้ก็จะสั่งยกเลิกไปเลย แต่สำหรับในไทยเรื่องนี้อาจยากหน่อย ในส่วนนี้หมอคงแนะนำว่า ก็ขึ้นอยู่กับแต่ละคนล่ะนะว่าจะพร้อมรับความเสี่ยงหรือไม่ และแค่ไหน"

แน่นอนว่าสิ่งที่แนะนำไปข้างต้นนั้นเป็นเพียงวิธีการแก้ปัญหาในระยะสั้น แต่สิ่งที่หมอเอก รวมถึงคนเมืองกรุงทุกคนอยากเห็นโดยเร็วที่สุด คือมาตรการแก้ปัญหาในระยะยาว เพื่อที่กรุงเทพฯ จะได้กลับมาเป็นเมืองฟ้าอมรที่สดใส ผู้คนใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุขอีกครั้ง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook