พื้นที่สีเขียวแห่งความหวัง : สนามฟุตบอลในค่ายลี้ภัยกลางทะเลทราย

พื้นที่สีเขียวแห่งความหวัง : สนามฟุตบอลในค่ายลี้ภัยกลางทะเลทราย

พื้นที่สีเขียวแห่งความหวัง : สนามฟุตบอลในค่ายลี้ภัยกลางทะเลทราย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ด้วยสภาพอากาศอันร้อนระอุในตอนกลางวัน และอากาศหนาวจัดในตอนกลางคืน ห่างออกไปจากกรุงอัมมาน เมืองหลวงของประเทศจอร์แดน 85 กิโลเมตร มีกลุ่มคนชาวซีเรียเกือบหนึ่งแสนคนแออัดกันใช้ชีวิตอยู่ในชุมชนที่เรียกว่า “ค่ายผู้ลี้ภัยซะอะฮฺตารี” 

ค่ายลี้ภัยดังกล่าวเป็นหนึ่งในค่ายลี้ภัยที่มีขนาดใหญ่ค่ายหนึ่งของโลก

แน่นอนว่าด้วยความที่เป็นสถานที่พักพิงชั่วคราว ทำให้สภาพแวดล้อมอาจจะไม่สู้ดีนัก แต่ด้วยสงครามกลางเมืองในบ้านเกิด ทำให้พวกเขาจำเป็นต้องอยู่ที่นี่

อย่างไรก็ดีในชุมชนที่ตั้งอยู่บนทะเลทรายที่กว้างไกลสุดลูกหูลูกตาแห่งนี้ ยังมีดินแดนที่เปรียบเสมือนโอเอซิสของผู้คน พื้นที่สีเขียวแห่งความหวังที่เรียกว่า “สนามฟุตบอล

สงครามกลางเมือง

เดิมทีซีเรียเป็นประเทศที่สวยงามและสงบสุข พวกเขาเป็นหนึ่งในนครที่เก่าแก่ที่สุดในโลก มีสถาปัตยกรรมโบราณที่งดงามหลายแห่ง รวมไปถึงสภาพภูมิประเทศที่มีทั้งที่ราบอุดมสมบูรณ์ มีภูเขาสูงและทะเลทราย ทำให้ซีเรียเป็นประเทศที่มีวิวทิวทัศน์สวยงามประเทศหนึ่งของโลก

 1

ทว่าในปี 2011 ได้เกิดการประท้วงที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจาก "อาหรับสปริง" หรือการลุกฮือต่อต้านรัฐบาลในตะวันออกกลาง ต่อบาชาร์ อัล อัสซาด ประธานาธิบดี เพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย เนื่องจากก่อนหน้านี้ อัสซาดถูกวิจารณ์อย่างต่อเนื่อง จากการบริหารประเทศที่ก่อให้เกิดปัญหาการว่างงาน ปัญหาทุจริต และการไร้เสรีภาพทางการเมือง

ความวุ่นวายก่อตัวจากการประท้วงจนเริ่มบานปลาย ในขณะเดียวกันการปราบปรามก็รุนแรงไม่แพ้กัน ทำให้ฝ่ายต่อต้านรัฐบาลเริ่มลุกขึ้นมาจับอาวุธ เพื่อป้องกันตัวเอง และขับไล่กองกำลังของรัฐออกจากพื้นที่

ในขณะเดียวกัน อัสซาด มองว่าผู้ประท้วงเหล่านี้คือ “ผู้ก่อการร้ายที่ได้รับการสนับสนุนจากต่างประเทศ” และประกาศว่าจะจัดการอย่างเด็ดขาด ทำให้ความรุนแรงก็ขยายตัวเป็นวงกว้าง จนกลายเป็นสงครามกลางเมืองในที่สุด

 2

สงครามทำลายบ้านเมืองที่พักอาศัยอย่างย่อยยับ ทำให้ประชาชนที่ไม่รู้อีโหน่อีเหน่ ต้องบาดเจ็บล้มตายเป็นจำนวนมาก จากการรายงานขององค์กรสังเกตการณ์เพื่อสิทธิมนุษยชนซีเรีย (SOHR) ระบุว่ามีผู้เสียชีวิตไปแล้ว 353,900 ราย โดยเป็นพลเรือน 106,000 ราย

ในขณะที่บางส่วนจำเป็นต้องอพยพหนีออกจากประเทศ ไปในหลายๆพื้นที่ ทั้งตุรกี อิรัก เลบานอน หรือ อียิปต์ เช่นเดียวกับจอร์แดน ที่มีชายแดนติดกับซีเรีย ที่ต่อมากลายเป็นค่ายผู้ลี้ภัยขนาดใหญ่แห่งหนึ่งของโลก

ค่ายผู้ลี้ภัยอันดับ 2 ของโลก

ภัยสงครามทำให้ประชาชนชาวซีเรียจำเป็นต้องทิ้งบ้านเกิดเพื่อเอาชีวิตรอด จอร์แดน ประเทศเพื่อนบ้านที่มีชายแดนติดกันทางตะวันออก คือหนึ่งในหมุดหมายสำคัญ

 3

แต่ละวันมีชาวซีเรียอพยพเข้ามาในจอร์แดนราว 1,000-2,000 คน ทั้งด้วยการเดินข้ามทะเลทรายหลายกิโลเมตร หรือนั่งรถผ่านหุบเขาที่คดเคี้ยว ด้วยเหตุนี้รัฐบาลจอร์แดนจึงขอร้องทาง ข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ให้สร้างค่ายผู้ลี้ภัยแก่ชาวซีเรีย

ค่ายผู้ลี้ภัยซะอะฮฺตารี จึงกำเนิดขึ้นมาในเดือนกรกฏาคมปี 2012

ค่ายผู้ลี้ภัยแห่งนี้ตั้งอยู่ห่างจากกรุงอัมมาน เมืองหลวงของจอร์แดนไปทางตะวันออกเฉียงเหนือราว 85 กิโลเมตร และห่างจากชายแดนของซีเรียเพียง 10 กิโลเมตร โดยมีผู้ลี้ภัยอาศัยอยู่ถึง 85,000 คน ถือเป็นค่ายลี้ภัยที่ใหญ่ที่สุดของเอเชีย และเป็นค่ายลี้ภัยที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก

“ตอนเรามาถึงที่นี่ครั้งแรก เราไม่คุ้นเคยกับชีวิตแบบนี้เลย เราต้องอาศัยอยู่ในเตนท์ และผู้คนก็ขายของทั่วไปในเตนท์นั่นแหละ มันไม่มีอะไรเลย มีแค่ของพื้นฐานอย่างแชมพูเท่านั้น” ตาบารัค วัย 16 ปีกล่าวกับ Al Jazeera

 4

แม้ว่าภายในค่ายจะมีระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานทั้ง โรงพยาบาล หรือโรงเรียน รวมไปถึงร้านค้าอย่าง ซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านขนม ร้านขายโทรศัพท์ หรือแม้แต่ร้านเกมส์ แต่สภาพความเป็นอยู่ของผู้คนข้างในยังลำบาก

เนื่องจากค่ายแห่งนี้ตั้งอยู่ในพื้นที่ที่เป็นทะเลทราย ทำให้พวกเขาต้องเผชิญกับสภาพอากาศที่รุนแรงในฤดูร้อนและฤดูหนาว โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากฝนหรือหิมะตก จะทำให้เกิดน้ำขังเป็นหนองน้ำโคลนเป็นประจำทุกปี

 5

ชาวซีเรียในค่ายยังต้องเจอกับภาวะขาดแคลนเครื่องอุปโภคบริโภค ไม่ว่าจะเป็นการขาดเครื่องทำความร้อนและผ้าห่ม กระแสไฟฟ้าดับบ่อยครั้ง ห้องน้ำรวมไม่เพียงพอ ขาดแคลนน้ำดื่มน้ำใช้ รวมไปถึงยารักษาโรค

ปัญหาดังกล่าวทำให้ผู้คนใน ซะอะฮฺตารี ต้องดำรงชีวิตอยู่ด้วยความยากลำบาก นอกจากเผชิญกับความเครียดจากการหนีภัยสงคราม แล้วยังต้องมาเจอสภาพแวดล้อมที่ย่ำแย่ ทว่ายังมีสิ่งหนึ่งที่เหมือนเป็นน้ำหล่อเลี้ยงใจในสภาวะเช่นนี้

พื้นที่แห่งความหวัง

ฟุตบอล ถือเป็นกีฬาที่เป็นที่นิยมกีฬาหนึ่งในโลก มันแฝงตัวอยู่ทุกที่ไม่ว่าจะเป็นในเมืองหรือพื้นที่ทุรกันดาร ไม่เว้นแม้แต่ในค่ายผู้ลี้ภัยซะอะฮฺตารี

 6

ชาวซีเรียคลั่งไคล้ฟุตบอลมาก แม้ว่าประเทศจะอยู่ในภาวะสงคราม แต่ทีมชาติของเขาเกือบผ่านเข้าไปเล่นในฟุตบอลโลก รอบสุดท้ายเมื่อปีที่แล้ว น่าเสียดายที่ต้องพ่ายให้กับออสเตรเลียในรอบเพลย์ออฟ

การไล่วิ่งกวดลูกบอลในสนามที่เต็มไปด้วยกรวดและฝุ่นของเด็กๆ จึงเป็นภาพที่เห็นกันอย่างชินตาในชุมชนแห่งนี้ เนื่องจากในค่ายผู้ลี้ภัยมีอัตราประชากรที่เป็นเด็กที่สูงมาก โดยมีจำนวนถึง 58 เปอร์เซ็นต์ หรือราว 6,800 คน แบ่งเป็นเด็กชาย 4,150 คน และ เด็กผู้หญิง 2,650 คน

แต่แล้วตั้งแต่ปี 2013 โครงการพัฒนาฟุตบอลเอเชีย (AFDP) และองค์กรระดับโลกอย่างฟีฟ่า และยูฟ่า ได้เข้ามาช่วยสนับสนุนพวกเขาอย่างจริงจัง ทั้งนำอุปกรณ์การเล่นฟุตบอลเข้ามาแจกจ่าย หรือจัดคลินิกสอนฟุตบอลให้กับเด็กในค่ายที่ไม่ใช่เฉพาะผู้ชายเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงผู้หญิงอีกด้วย

 7

อย่างไรก็ดี แม้จะมีอุปกรณ์ครบครัน แต่ปัญหาที่เด็กในค่ายต้องเจอคือสนามที่เต็มไปด้วยก้อนกรวดและฝุ่นคลุ้ง สมาคมฟุตบอลนอร์เวย์ ทราบดีในจุดนี้จึงจับมือกับรัฐบาลนอร์เวย์ สร้างสนามหญ้าเทียมให้เด็กๆได้เล่นฟุตบอล

กลายเป็นพื้นที่สีเขียวจุดเล็กๆแห่งความหวังที่ตั้งอยู่กลางทะเลทราย

 8

“เรากำลังดูความก้าวหน้าแบบวันต่อวัน และผมก็รู้สึกภาคภูมิใจกับสิ่งที่เราทำกับผู้หญิงและเด็กผู้หญิง” เปอร์ ราฟ์น ออมดาล อดีตนายกสมาคมฟุตบอลนอร์เวย์กล่าวกับ Reuters

“เรากำลังฝึกโค้ชผู้หญิง 33 คน และนั่นเป็นผลกระทบในเชิงบวกอย่างมากต่อชีวิตของทุกคน” 

สนามประกอบไปด้วยอุปกรณ์กีฬาที่ครบครัน ทั้งลูกบอล ตาข่าย ธงสำหรับจุดเตะมุม แม้ว่ายังขาดที่นั่งสำหรับผู้ชมและหลังคา แต่ก็ไม่ได้เป็นปัญหาสำหรับเด็กๆในค่ายผู้ลี้ภัยมากนัก มันได้กลายเป็นที่สำหรับทำการแข่งขัน ฝึกซ้อม รวมไปถึงสถานที่สอนฟุตบอลแก่เด็กๆในชุมชน

ทว่าด้วยธรรมเนียมท้องถิ่น เด็กผู้หญิงและเด็กผู้ชายจะเล่นด้วยกันได้จนถึงอายุ 8 ปี ทำให้ภายในค่ายจำเป็นต้องมีโค้ชผู้ชายไว้สอนเด็กผู้ชาย และโค้ชผู้หญิงไว้สอนเด็กผู้หญิงโดยเฉพาะ

 9

เอหมัด อาหมัด อัล ชาบี วัย 39 ปี หนึ่งในโค้ชเด็กผู้ชายกล่าวว่า ในสัปดาห์หนึ่งจะมีเด็กราว 600-700 คน แวะเวียนกันมาเล่นฟุตบอลที่สนาม

“ถ้าเป็นประสงค์ของพระเจ้า เราอยากให้เด็กมีความฝัน และบรรลุเป้าหมายในการเป็นนักฟุตบอลอาชีพ แม้ว่าเด็กคนนั้นจะอยู่ที่นี่หรือกลับไปซีเรีย”

เยียวยาหัวใจ

“ฉันชอบมาเล่นฟุตบอลที่นี่” ฮิบา เด็กสาววัย 13 ปีที่อาศัยอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัย กล่าวกับ Reuters

 10

“มันทำให้ฉันลืมเรื่องสงคราม ระเบิด จรวด และเด็กๆที่ถูกฆ่า และทำให้ฉันสบายใจ”

“พ่อกับแม่ฉันอยู่ที่นี่แต่ฉันคิดถึงลุง เขานั่งอยู่ในบ้านตลอดช่วงเวลาที่ถูกโจมตีด้วยระเบิด และเขาก็เสียชีวิต สิ่งนี้ทำให้ฉันเศร้าใจมาก”

สนามฟุตบอลนี้ถือเป็นแหล่งความบันเทิงและเสริมสร้างสุขภาพให้กับเด็กๆ ในค่ายผู้ลี้ภัย ในขณะเดียวกัน มันทำหน้าที่เป็นพื้นที่หลบหนีจากความเลวร้ายที่เด็กๆต้องเผชิญ ทั้งทางร่างกายและจิตใจจากสงคราม

 11

“เกือบทุกคนต้องสูญเสียใครบางคนไปจากสงคราม เด็กจำนวนมากต้องเศร้าและเจ็บปวดจากเรื่องนี้” Carine N’koue, ผู้ประสานงานโครงการ ของ AFDP ในซะอะฮฺตารี กล่าวกับ Reuters

“แต่ฟุตบอล และเกมอื่นๆที่เรานำมาเล่นกับเด็ก ช่วยทำให้ชีวิตของพวกเขาดีขึ้น”  

“การเล่นฟุตบอลทำให้ความนับถือในตัวเองกลับมา และพวกเขากำลังเรียนรู้ที่จะเป็นเด็กอีกครั้ง ผู้คนจำนวนมากหยุดเป็นเด็ก เพราะว่าสิ่งที่พวกเขาต้องเจอมา”

ปัจจุบันได้มีองค์กรระดับโลกมากมายเข้ามามีส่วนร่วมในการช่วยเหลือเด็กๆในค่าย ปี 2017 ยูฟ่าและ เลย์ สปอนเซอร์อย่างเป็นทางการของ ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก จับมือกันสร้างสนามหญ้าเทียมแห่งใหม่ขนาดมาตรฐาน ที่ชื่อว่า “สนามฟุตบอลเพื่อทุกคน” เพื่อรองรับจำนวนเด็กที่เพิ่มมากขึ้นเป็นประจำทุกปี ก่อนที่ในปี 2018 พวกเขาจะเปิดสนามหญ้าเทียมสำหรับผู้หญิงโดยเฉพาะ

“สนามฟุตบอลแห่งใหม่ ถูกออกแบบมาเพื่อช่วยสร้างสภาพแวดล้อมในชีวิตประจำวันที่เด็กๆสามารถมาสนุกกับเวลาพักผ่อนหย่อนใจ แม้ว่าจะเป็นเด็กที่อยู่ในภาวะสงคราม” อเล็กซานเดอร์ เซเฟริน ประธานยูฟ่ากล่าว

“สนามฟุตบอลเพื่อผู้หญิงโดยเฉพาะในซะอะฮฺตารี จะตอบสนองความต้องการที่เพิ่มขึ้น และส่งเสริมให้เด็กผู้หญิงเข้ามามีส่วนร่วมกับกีฬาในค่ายผู้ลี้ภัย ในขณะเดียวกันกิจกรรมกีฬาในค่ายยังจะช่วยลดความตึงเครียด กระตุ้นให้เกิดการพูดคุยกัน และช่วยลดความขัดแย้ง และทำให้ความเป็นอยู่ดีขึ้น”

 12

เคยมีคำกล่าวที่ว่าภายใต้แสดงสว่างที่มืดมิด ยังมีแสงสว่างซ่อนอยู่ สนามฟุตบอลในค่ายผู้ลี้ภัย จึงเป็นเหมือนแสงสว่างของเด็กชาวซีเรียท่ามกลางความหวังอันริบหรี่ที่ไม่รู้ว่าจะได้กลับไปบ้านเกิดเมื่อไร หรืออาจจะไม่ได้กลับไปตลอดกาล

แต่อย่างน้อยพวกเขาก็มีสนามแห่งนี้เป็นโอเอซิสกลางทะเลทรายไว้หล่อเลี้ยงหัวใจที่บอบช้ำจากภาวะสงคราม  เป็นพื้นที่สีเขียวแห่งความหวังท่ามกลางความแห้งแล้งที่ช่วยเยียวยาพวกเขาทั้งร่างกายและจิตใจ

อัลบั้มภาพ 12 ภาพ

อัลบั้มภาพ 12 ภาพ ของ พื้นที่สีเขียวแห่งความหวัง : สนามฟุตบอลในค่ายลี้ภัยกลางทะเลทราย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook