Gay Games : มหกรรมกีฬา.. ที่มีจุดมุ่งหมายอันยิ่งใหญ่กว่าโอลิมปิก?

Gay Games : มหกรรมกีฬา.. ที่มีจุดมุ่งหมายอันยิ่งใหญ่กว่าโอลิมปิก?

Gay Games : มหกรรมกีฬา.. ที่มีจุดมุ่งหมายอันยิ่งใหญ่กว่าโอลิมปิก?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

โลกใบนี้ต่างมีการแข่งขันกีฬามากมาย ทั้งการแข่งขันที่แยกเป็นชนิดกีฬาต่างๆ รวมถึงมหกรรมกีฬาที่รวมการแข่งขันกีฬาชนิดต่างๆ ในรายการเดียวกัน ซึ่งก็มีทั้งการแข่งขันทั้งรุ่นผู้ใหญ่, รุ่นเยาวชน หรือแม้กระทั่งสำหรับผู้ที่มีร่างกายแตกต่างจากคนปกติ

แต่สำหรับมหกรรมกีฬาที่เรากำลังจะกล่าวถึงต่อไป ถือได้ว่าเป็นอีกหนึ่งรายการที่มีความพิเศษไม่แพ้ใคร เพราะรายการนี้ ไม่จำเป็นต้องสร้างสถิติสุดหรูมาเพื่อผ่านการคัดเลือกมาแข่งขัน และไม่จำกัดว่าผู้เข้าแข่งขันจะมีเพศ หรือเพศสภาพใด...

นี่คือ Gay Games

จุดเริ่มต้นที่โอลิมปิกไม่เข้าใจ

เกย์เกมส์ ถือเป็นมหกรรมกีฬาโอลิมปิกของกลุ่มคนรักร่วมเพศ ซึ่งเกิดขึ้นจากแนวความคิดของ ดร.ทอม วัดเดลล์ แพทย์ และอดีตนักทศกรีฑาทีมชาติสหรัฐอเมริกาในการแข่งขันมหกรรมกีฬาโอลิมปิกปี 1968 ที่กรุงเม็กซิโก ซิตี้ ซึ่งประกาศตัวอย่างเปิดเผยว่า เขาเป็นเกย์ หลังต้องเลิกแข่งขันกรีฑาในปี 1972 จากอาการบาดเจ็บ

 1

หลังวางมือจากการแข่งขันกีฬาอาชีพได้ 9 ปี วัดเดลล์มีโอกาสได้ไปร่วมงานแข่งขันโบว์ลิ่งของกลุ่มคนรักร่วมเพศในย่าน เบย์ แอเรีย หรือละแวกเมืองซานฟรานซิสโกที่เจ้าตัวใช้ชีวิตอยู่ เขาจึงเกิดแรงบันดาลใจที่จะจัดการแข่งขันมหกรรมกีฬาเพื่อชาวรักร่วมเพศเช่นเดียวกับเขา จึงตัดสินใจออกโรดโชว์ทั่วประเทศเพื่อหาแนวร่วมให้การสนับสนุน ซึ่งมากพอที่จะทำให้เขาสามารถจัดตั้งสหพันธ์เกย์เกมส์ หรือ FGG รวมถึงมหกรรมกีฬาและศิลปะ ‘Gay Olympics’ ได้สำเร็จ เพื่อเชิดชูสปิริตของกลุ่มคนรักร่วมเพศและคนข้ามเพศในสังคมโลก

ทว่าก่อนที่การแข่งขันเกย์โอลิมปิก ครั้งแรกที่นครซานฟรานซิสโกจะเปิดฉาก ดร.วัดเดลล์และคณะก็ต้องเจอกับอุปสรรคสำคัญ เมื่อคณะกรรมการโอลิมปิกสากล หรือ IOC และคณะกรรมการโอลิมปิกแห่งสหรัฐอเมริกา หรือ USOC ตัดสินใจยื่นฟ้องเรื่องการใช้ชื่อจัดการแข่งขัน โดยให้เหตุผลว่า ชื่อ เกย์โอลิมปิก จะเป็นการทำลายภาพลักษณ์ของกีฬาแห่งมวลมนุษยชาติรายการนี้

เหตุการดังกล่าวทำให้ ดร.วัดเดลล์และฝ่ายจัดการแข่งขันต้องตัดสินใจเปลี่ยนชื่อการแข่งขัน จาก ‘เกย์โอลิมปิก’ เป็น ‘เกย์เกมส์’ ทั้งๆ ที่เหลือเวลาอีกไม่กี่วันก็จะถึงพิธีเปิด ขณะที่เรื่องคดีความนั้นต้องต่อสู้กันอย่างยาวนานถึง 5 ปี กระทั่งได้ข้อยุติในปี 1987 ว่า IOC รวมถึง USOC มีสิทธิ์อันชอบธรรมในการใช้ชื่อ ‘โอลิมปิก’ ซึ่งทำให้มหกรรมกีฬาของกลุ่มคนรักร่วมเพศ จำต้องใช้ชื่อว่า ‘เกย์เกมส์’ ถึงทุกวันนี้

จิตวิญญาณที่ไม่ดับแม้ชีพวาย

ในระหว่างที่การต่อสู้เรื่องสิทธิ์การใช้ชื่อ ‘โอลิมปิก’ ยังเป็นไปอย่างเข้มข้น ฝ่ายจัดการแข่งขันเกย์เกมส์ ก็ต้องเจอกับข่าวร้ายใหญ่หลวง เมื่อ ดร.วัดเดลล์ ล้มป่วยเป็นโรคเอดส์ในปี 1985

 2

ยิ่งไปกว่านั้น ความพยายามที่จะจัดการแข่งขัน Winter Gay Games หรือ เกย์เกมส์ฤดูหนาว ในช่วงต้นปี 1986 ที่เมืองมินนิอาโปลิส ยังประสบกับความล้มเหลว ด้วยเหตุผลว่า ไม่มีเงินทุนจัดการแข่งขัน

แม้จะเผชิญกับโรคร้ายและความล้มเหลว แต่ไฟในตัวของ ดร.วัดเดลล์ ยังคงมีอย่างเต็มเปี่ยม เจ้าตัวยังคงทำงานอย่างหนักจน เกย์เกมส์ ครั้งที่ 2 ที่นครซานฟรานซิสโก ผ่านพ้นไปอย่างงดงามและประสบความสำเร็จ ไม่เพียงเท่านั้น เขายังสามารถคว้าเหรียญทองในการแข่งขันพุ่งแหลนได้อีกด้วย

อย่างไรก็ตาม อาการป่วยของ ดร.วัดเดลล์ กลับทรุดหนักหลังจากนั้น กระทั่งเสียชีวิตในปี 1987 ด้วยอายุเพียง 49 ปี ถึงกระนั้น สิ่งที่คุณหมออดีตนักกีฬาโอลิมปิกผู้นี้ได้สร้างขึ้น นับว่าเป็นคุณูปการต่อวงการกีฬาชาวรักร่วมเพศและข้ามเพศอย่างยิ่ง ฝ่ายจัดการแข่งขันจึงตัดสินใจตั้งรางวัลพิเศษ ‘Tom Waddell Award’ เพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้ริเริ่มจัดการแข่งขันเกย์เกมส์ โดยจะมอบรางวัลนี้ให้กับผู้ร่วมการแข่งขันที่สร้างแรงบันดาลใจให้กับสังคมคนรักร่วมเพศและข้ามเพศ ตั้งแต่การแข่งขันในปี 1990 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน

มหกรรมกีฬาที่ใหญ่กว่าโอลิมปิก?

จั่วหัวมาแบบนี้ หลายคนย่อมต้องสงสัยแน่ว่า ในเมื่อ โอลิมปิก ถือเป็นมหกรรมกีฬาแห่งมวลมนุษยชาติ แล้วจะมีมหกรรมกีฬาอะไรที่ใหญ่กว่านี้อีกหรือ?

แต่หากมองในส่วนของจำนวนผู้เข้าร่วมการแข่งขันแล้ว อย่างน้อยๆ ก็มี เกย์เกมส์ รายการหนึ่งที่ใหญ่กว่าแน่ๆ เนื่องจากในบางครั้ง จำนวนผู้เข้าแข่งขันมหกรรมกีฬานี้กลับมีมากกว่าศึกโอลิมปิกเสียอีก

 3

ตัวอย่างเช่นใน เกย์เกมส์ ครั้งที่ 4 เมื่อปี 1994 ที่มหานครนิวยอร์ก ซึ่งปีดังกล่าวตรงกับวาระครบรอบ 25 ปี เหตุการณ์จลาจลที่บาร์เกย์ สโตนวอลล์ อินน์ ในเมืองเดียวกัน อันถือเป็นเหตุการณ์ที่เป็นจุดเริ่มต้นของการเรียกร้องสิทธิคนรักร่วมเพศแห่งยุคสมัยใหม่ ในครั้งนั้นมีนักกีฬาที่เข้าร่วมการแข่งขันสูงถึง 10,864 คน ซึ่งมากกว่าโอลิมปิกที่เมืองบาร์เซโลน่าปี 1992 ซึ่งมีนักกีฬาร่วมแข่งขัน 9,356 คน และโอลิมปิกปี 1996 ที่เมืองแอตแลนต้า ซึ่งมีนักกีฬาร่วมแข่งขัน 10,318 คน

ส่วนการแข่งขันครั้งล่าสุดนั้น โอลิมปิก 2016 ที่นครริโอ เดอ จาเนโร มีนักกีฬาลงทำการแข่งขัน 11,544 คน แต่เกย์เกมส์ครั้งที่ 10 ที่กรุงปารีสเมื่องเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา กลับมีผู้ร่วมงานมากกว่า 13,000 คนเลยทีเดียว

 4

จำนวนที่มากกว่า ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะในเกย์เกมส์นั้น ไม่ได้มีเพียงการแข่งขันกีฬาเท่านั้น แต่ยังมีกิจกรรมทางวัฒนธรรมต่างๆ เป็นส่วนหนึ่งของงานด้วย แต่อีกเหตุผลที่สำคัญไม่แพ้กันก็คือ เกย์เกมส์ ไม่มีเกณฑ์การคัดเลือกนักกีฬาเข้าแข่งขัน จึงทำให้ไม่ว่าใคร อายุเท่าไหร่ รูปร่างสีผิวอย่างไร รวมถึงมีเพศสภาพแบบไหน ก็สามารถร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการแข่งขันได้

ซึ่งเพศสภาพที่ว่า ได้หมายรวมถึงกลุ่มคนที่มีรสนิยมทางเพศแบบชายรักหญิงด้วย อย่างเช่นในเกย์เกมส์ครั้งที่ 9 ที่เมืองคลีฟแลนด์และเอครอน ก็มีทีมเพาเวอร์ลิฟติ้ง ซึ่งเป็นการแข่งขันอีกรูปแบบของกีฬายกน้ำหนัก ที่มีทั้งนักกีฬาเกย์และชายรักหญิงอยู่ในทีมเดียวกันลงแข่งขัน

เห็นได้ชัดว่า แม้ชื่อการแข่งขันจะสื่อถึงชาวสีรุ้ง แต่ เกย์เกมส์ นั้นถือเป็นมหกรรมกีฬาเพื่อทุกคนอย่างแท้จริง

จากความขัดแย้งสู่การแข่งขันคู่ขนาน

แม้เกย์เกมส์จะมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นมหกรรมกีฬาสำหรับทุกคน ทว่ากลับมีเหตุการณ์ขัดแย้งอย่างรุนแรงเกิดขึ้นในรายการนี้ ซึ่งผลลัพธ์ของมันรุนแรงถึงกับทำให้เกิดการแข่งขันคู่ขนานเลยทีเดียว...

เรื่องดังกล่าวต้องย้อนกลับไปในการจัดการแข่งขันเมื่อปี 2006 ซึ่งแรกเริ่มเดิมที เมืองมอนทรีออล ประเทศแคนาดา ได้รับเลือกในการโหวตเมื่อปี 2001 ให้จัดการแข่งขัน

 5

ทว่าการเจรจาระหว่าง FGG องค์กรควบคุมจัดการแข่งขันเกย์เกมส์ และคณะกรรมการจัดการแข่งขันของเมืองมอนทรีออล กลับไม่สามารถหาข้อสรุปที่ลงตัวได้ในหลายประเด็น โดยเฉพาะในเรื่องงบประมาณการแข่งขัน ที่ฝั่ง FGG ต้องการความโปร่งใส และแผนบริหารให้เกิดจุดคุ้มทุน ซึ่งฝั่งเมืองมอนทรีออลไม่มีความชัดเจนในเรื่องนี้

ด้วยเหตุดังกล่าว FGG จึงตัดสินใจ ยึดสิทธิ์การจัดของเมืองมอนทรีออลคืนในปี 2003 ก่อนที่จะมีการโหวตเลือกเจ้าภาพใหม่อีกครั้ง ซึ่งหนนี้เป็นเมืองชิคาโก้ที่ได้รับเลือก

ขณะที่เมืองมอนทรีออล ก็แก้ลำด้วยการตั้งองค์กรจัดการแข่งขันขึ้นใหม่ ในชื่อ สมาคมกีฬาเกย์และเลสเบี้ยนนานาชาติ หรือ GLISA พร้อมกับเปิดตัวการแข่งขัน ‘World Outgames’ ขึ้นมาเป็นคู่แข่ง โดยประเดิมครั้งแรกในปี 2006 เช่นกัน แถมระยะเวลายังห่างกันเพียงสัปดาห์เดียวเท่านั้น

 6

หลังจากความขัดแย้งดังกล่าว ทั้งฝ่าย FGG และ GLISA ได้มีการหารือเพื่อควบรวมการแข่งขันเข้าด้วยกัน แต่ไม่ประสบความสำเร็จ ถึงกระนั้นพวกเขาก็สามารถหาทางออกได้เรื่องหนึ่ง คือ GLISA ยินยอมที่จะเลื่อนการแข่งขัน เวิลด์เอาท์เกมส์ ให้มาจัด 1 ปีก่อน เกย์เกมส์ เพื่อที่นักกีฬาและผู้ที่สนใจจะได้มีโอกาสเข้าร่วมทั้งสองงาน

ทว่าที่สุดแล้ว เกย์เกมส์ ดูเหมือนจะกลายเป็นผู้ชนะในสงครามกีฬาสีรุ้งนี้ เมื่อการจัดการแข่งขันของพวกเขาเกิดประสิทธิภาพ ทั้งจนวนผู้ร่วมงานและการเงินที่มากกว่า ขณะที่ เวิลด์เอาท์เกมส์ ประสบปัญหาในเรื่องเงินทุน จนฟางเส้นสุดท้ายมาขาดเอาเมื่อปี 2017 เมื่อ เวิลด์เอาท์เกมส์ ครั้งที่ 4 ที่ไมอามี่บีช ของสหรัฐอเมริกา ต้องยกเลิกการแข่งขันก่อนที่พิธีเปิดจะมีขึ้นในอีกไม่กี่ชั่วโมง เนื่องจากไม่มีงบประมาณจัดการแข่งขัน

 7

ซึ่งนี่อาจถือเป็นจุดจบของ เวิลด์เอาท์เกมส์ ไปโดยปริยาย

มากกว่าความเป็นเลิศ...คือความกล้าที่จะมีส่วนร่วม

แน่นอนว่าด้วยความที่เป็นการแข่งขันกีฬา เกย์เกมส์ จึงมีการชิงเหรียญรางวัลไม่ต่างจากมหกรรมกีฬาอื่นๆ ทว่าเรื่องดังกล่าวไม่ใคร่จะเป็นประเด็นสำคัญเท่าใดนัก

 8

เพราะสิ่งที่สำคัญยิ่งกว่า นั่นคือ เกย์เกมส์ ถือเป็นเวทีที่ทำให้คนรักร่วมเพศรวมถึงคนข้ามเพศ กล้าที่จะเปิดเผยตัว และแสดงคุณค่าของตนสู่สังคมโลก

เจย์ มูลูชา นักบาสเกตบอลข้ามเพศชาวอูกานดาเปิดใจถึงเรื่องดังกล่าวว่า “เพื่อนๆ ที่ประเทศบ้านเกิดของเธอ ต่างพร้อมใจกันตีตัวออกห่างเมื่อรู้ว่าเธอตัดสินใจที่จะข้ามเพศ แต่เกย์เกมส์ได้เปิดให้เธอมีพื้นที่ในการแสดงออกตัวตน รวมถึงคุณค่าที่มีอยู่ในตัวได้อย่างอิสระ”

ขณะที่ จาง หนาน นักเทเบิลเทนนิสเกย์ชาวจีนเผยว่า “การเติบโตในครอบครัวและสังคมที่เคร่งครัดเรื่องประเพณี ทำให้ตัวผมที่รู้ว่าตัวเองเป็นเกย์ตั้งแต่อายุเพียง 7 ขวบต้องใช้ชีวิตด้วยความอึดอัดมาโดยตลอด จนกระทั่งอายุได้ 13-14 ปี ถึงได้เรียนรู้ถึงความสำคัญของคำนี้ การตัดสินใจมาแข่งเกย์เกมส์ ทำให้รู้สึกเป็นอิสระ และกล้าที่จะเปิดเผยตัวตนที่แท้จริงให้ทุกคนได้เห็น”

 9

อย่างไรก็ตาม เกย์เกมส์ ก็ไม่ได้เป็นเวทีที่ชาวเกย์กล้าที่จะเปิดเผยตัวตนสู่สังคมโลกแต่เพียงเท่านั้น ทว่าเวทีดังกล่าว ยังเป็นเหมือนประตูที่ช่วยให้สังคมโลก เข้าใจตัวตนของเกย์ในมุมต่างๆ ของโลกด้วยเช่นกัน

รัส เคล็ทเค่ นักไตรกีฬาผู้คว้าเหรียญเงินในรุ่นอายุ 60-64 ปีชาย เผยถึงเรื่องราวดังกล่าวว่า “ตอนที่นักกีฬาของรัสเซียเดินเข้าสู่สนามในพิธีเปิดการแข่งขัน มันทำให้พวกเราทุกคนปลื้มจนต้องปรบมืออกมาดังๆ อย่างผมเองตอนแรกผมก็ยอมรับนะ ว่าคิดถึงพวกเขาในแง่มุมที่ไม่ดีเท่าไหร่จากข่าวที่ออกมา แต่แล้วผมก็คิดได้ว่า สังคมคนรักร่วมเพศและข้ามเพศของรัสเซียนั้นถูกคุกคามอย่างหนัก (เนื่องจากรัฐบาลได้ออกกฎหมายห้ามการแสดงออกของกลุ่มชาวเกย์ในที่สาธารณะ) มันถือเป็นเรื่องที่กล้าหาญนะ ที่พวกเขาออกมาแสดงตัวตนเช่นนี้”

นี่คือหลักฐานที่แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า เกย์เกมส์ เป็นมหกรรมกีฬาที่ไม่ได้เป็นแค่เพียงการแข่งขันกีฬาเท่านั้น แต่ยังเป็นเวทีในการแสดงออกให้โลกได้เห็นว่า คนรักร่วมเพศและข้ามเพศนั้นก็สามารถเป็นนักกีฬาหรือเป็นอะไรก็ได้ ที่สามารถรังสรรค์โลกให้ดีขึ้นไม่ต่างจากทุกคนในสังคม

การเลือก ฮ่องกง เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันในปี 2022 อันถือเป็นดินแดนจากเอเชียแห่งแรกที่ได้จัดแข่งรายการนี้ ถือเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงความกล้าหาญของ FGG ในการนำการแข่งขันสู่ดินแดนหนึ่งในอาณัติของประเทศจีน ที่ค่อนข้างมีความเคร่งครัดในประเพณี และยังมีปัญหาการแบ่งแยกทางเพศสภาพอยู่ในสังคม

 10

ซึ่งทุกฝ่ายเชื่อว่า ความสำเร็จของการแข่งขันจะทำให้ เกย์เกมส์ เป็นประตูบานสำคัญที่เปิดให้ชาวรักร่วมเพศและข้ามเพศก้าวสู่สังคมโลกอย่างภาคภูมิ และช่วยให้โลก เข้าใจถึงตัวตน และช่วยกันยุติการการแบ่งแยกทางเพศสภาพให้หมดไปในอนาคตอันใกล้

อัลบั้มภาพ 10 ภาพ

อัลบั้มภาพ 10 ภาพ ของ Gay Games : มหกรรมกีฬา.. ที่มีจุดมุ่งหมายอันยิ่งใหญ่กว่าโอลิมปิก?

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook