เรื่องเล่นแต่จริงจัง : FIFA เกมฟุตบอลที่มีอิทธิพลต่อนักเตะระดับโลก

เรื่องเล่นแต่จริงจัง : FIFA เกมฟุตบอลที่มีอิทธิพลต่อนักเตะระดับโลก

เรื่องเล่นแต่จริงจัง : FIFA เกมฟุตบอลที่มีอิทธิพลต่อนักเตะระดับโลก
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ขึ้นชื่อว่าเกมอาจจะดูเป็นสิ่งไร้สาระ แต่อาจไม่ใช่สำหรับนักฟุตบอลอาชีพบางคน

 

เมื่อพูดถึงเกมฟุตบอล FIFA แฟรนไชส์ดังจากค่าย EA SPORTS ถือเป็นเกมที่โดนใจคอเกมและคอบอลในปัจจุบัน จากความสมจริงที่เป็นดั่งจุดขายของพวกเขามานานหลายปี ทั้งรูปลักษณ์หน้าตานักเตะ ลิขสิทธิ์ของลีกและสโมสร ท่าทางการเคลื่อนไหวของผู้เล่น รวมไปถึงระบบฟิสิกส์ที่ค่อนข้างแม่นยำในสนาม

และด้วยความสมจริงนี้ ทำให้ FIFA ส่งผลต่อฟุตบอลในโลกจริงไม่น้อย

เครื่องจำลองสถานการณ์

ในสายตาของคนยุคก่อน “วิดีโอเกม” อาจจะดูเป็นสิ่งไร้สาระ หรือสิ่งมอมเมาที่ทำให้เสียเวลาโดยเปล่าประโยชน์ แต่สำหรับนักฟุตบอลบางคน เขาสามารถใช้มันเป็นเหมือนดั่ง “ครู” ในชีวิตการค้าแข้ง

ปิยพล ผานิชกุล กองหลังสิงห์ เชียงราย ยูไนเต็ด คือหนึ่งในผู้เล่นเหล่านั้น เมื่อเขาใช้เกม FIFA ที่ตัวเองชื่นชอบเป็นเครื่องมือที่ทำให้คุ้นเคยก่อนที่จะลงสนามจริง

 1

“ตอนเด็กๆ เป็นธรรมดาอยู่แล้วที่พ่อแม่จะอยากให้ลูกไปเรียนพิเศษมากกว่าเล่นเกม แต่เรารู้สึกว่าการเล่นเกม มันทำให้เราได้คิด แก้ปัญหาที่อยู่ตรงหน้าเรา ถึงแม้ว่าที่บ้านจะบังคับเรียนพิเศษ แต่ผมก็พยายามหาทางไปเล่นจนได้ (หัวเราะ) เพราะชอบเรียนรู้ตรงนี้มากกว่า” อดีตแบ็กขวาทีมชาติไทยกล่าวกับ Main Stand

“แม้ว่าตอนเด็กจะได้เล่นแค่วันเสาร์-อาทิตย์ เท่านั้น แต่ผมก็คิดว่า การเล่นฟุตบอลอาชีพของตัวเอง ครึ่งหนึ่งของการแก้ปัญหาระหว่างการแข่งขัน ได้มาจากตอนที่เล่นเกม เหมือนเราคุ้นเคยกับระบบ แท็กติกมาจากการเล่นเกม เหมือนมันเป็นตัวแทนเราลงไปทำแบบนั้น พอเจอเหตุการณ์ในสนามจริง เราก็รู้ตัวเองแล้วว่า จังหวะควรเพรสซิ่ง จังหวะไหนควรรอสวนกลับ เหมือนเราเอากระดานขึ้นเกมของโค้ช มาซ้อมด้วยตัวเองอยู่เป็นประจำ”

เช่นเดียวกับ มาร์โก อเมเลีย อดีตผู้รักษาประตูปาร์มาที่เผยว่าเกมฟุตบอลมีส่วนทำให้เขาสามารถเซฟจุดโทษของ โรนัลดินโญ่ ในนัดพบกับเอซี มิลานเมื่อปี 2008 ได้

“มันก็เหมือนกับเล่นกับเขา (โรนันดินโญ่) ในเพลย์สเตชั่น เขาวิ่งในลักษณะเดียวกัน ท่าวิ่งเขาแปลกมากๆ”

ซลาตัน อิบราฮิโมวิช ดาวเตะชื่อก้องโลกที่ปัจจุบันค้าแข้งอยู่กับ แอลเอ แกแลคซี ในเมเจอร์ลีกของอเมริกา ก็เป็นอีกคนหนึ่งที่ใช้เกมฟุตบอลในฐานะเครื่องจำลองสถานการณ์

 2

“ผมมักจะสังเกตเห็นปัญหาจากในเกมที่เล่น หลังจากนั้นผมไปจัดการมันในชีวิตจริง”

ในขณะที่ อเล็กซ์ อิโวบี กองกลางดาวรุ่งของอาร์เซนอลที่ขึ้นชื่อว่าเป็นเกมเมอร์คนหนึ่งก็เผยว่าเขาได้ประโยชน์มาไม่น้อยจากการเล่นเกม FIFA ว่าโดยเฉพาะอย่างยิ่งการต้องเจอกับนักเตะที่ไม่เคยเจอมาก่อน

“ผมดูชื่อเขาและพยายามนึกว่าเขาเก่งแบบไหนในเกม FIFA”

สิ่งเหล่านี้ยืนยันโดย แมตต์ ฮุมเมลล์ กองหลังทีมชาติเยอรมันที่ให้สัมภาษณ์กับเว็บไซต์ FIFA.com ว่า “จริงๆแล้วนักฟุตบอลอาชีพสามารถใช้ประสบการณ์ของตัวเอง จัดการสถานการณ์บางอย่างในเกม กลับกันนักเตะบางคนอาจจะใช้สิ่งที่เขาเรียนรู้ใน FIFA มาใช้ตอนที่เขาเจอสถานการณ์เดียวกันในสนาม”

ไม่ใช่เป็นแค่ค่าพลัง

ในทุกๆปี ก่อนวางจำหน่ายเกมราว 2-3 สัปดาห์ EA Sports มักจะทยอยเปิดเผยค่าพลังนักเตะในเกม FIFA เพื่อให้แฟนได้ลุ้นว่าใครจะเป็นนักเตะที่ดีที่สุดของภาค โดยภาค 19 ถือเป็นการครองอันดับหนึ่งร่วมระหว่าง คริสเตียโน โรนัลโด และ ลิโอเนล เมสซี ที่มีค่าพลังเท่ากันที่ 94

 3

แม้จะเป็นแค่ตัวเลขในเกม แต่ปัจจุบันนักฟุตบอลหลายคนก็ให้ความสำคัญกับค่าพลังเหล่านี้ New York Times สื่อดังของสหรัฐอเมริกา รายงานว่าเคยมีเอเยนต์บางคนติดต่อ EA เพื่อขอเพิ่มพลังนักเตะในสังกัดของตัวเองเลยทีเดียว

สิ่งเหล่านี้ทำให้เห็นว่าค่าพลังมีเริ่มความหมายกว่าเมื่อก่อนมาก เมื่อมันส่งผลถึงคุณภาพของตัวเองผ่านการประเมินจากเกม ทำให้บางครั้งจึงมีเหตุการณ์ที่นักเตะออกมาโวย (แกมหยอก) ถึงค่าพลังของตัวเองหลังรู้ว่าไม่สอดคล้องกับสิ่งที่ควรจะเป็น

ริโอ เฟอร์ดินานด์ อดีตกองหลังทีมชาติอังกฤษ และแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด กล่าวแบบติดตลกในทวิตเตอร์ ตอนที่เขาไปเยี่ยมสำนักงานของ EA ว่าเขาอยากจะพังสถานที่นี้ หลังรู้ว่าตัวเองมีค่าพลัง Pass ในเกมแค่ 65 เช่นเดียวกับ มิชี บัตชัวยี กองหน้าของเชลซี (ปัจจุบันย้ายไปเล่นให้ บาเลนเซีย แบบยืมตัว) ก็เคยออกมาโวย EA ผ่านทวิตเตอร์ถึงค่าพลัง Pass ของเขาที่ได้เพียง 59 ใน FIFA 17

แต่สำหรับ โรเมลู ลูกากู กองหน้าแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด นั้นต่างออกไป เมื่อเขาใช้ค่าพลังที่ปรับขึ้นลงแต่ละสัปดาห์ (ตามฟอร์มการเล่น) ของตัวเองเป็นแรงผลักดันในการพัฒนาตัวเอง

นอกจากพลังในเกมแล้ว ความสมจริงในเรื่องรูปลักษณ์ของเกม FIFA ยังมีผลกระทบต่อนักฟุตบอลในโลกจริง เมื่อพวกเขารู้สึกว่าสิ่งที่ปรากฎในโลกของเกมไม่ตรงกับรูปร่างหรือหน้าตาของตัวเอง

เอแด็ง อาซาร์ เพลย์เมกเกอร์อัจฉริยะของเชลซี ทีมดังแห่งแดนผู้ดี เคยออกมาพูดเมื่อปี 2011 ว่าตัวเขาในเกม เตี้ยกว่าไปจากความเป็นจริงอยู่ราว “3-5 เซนติเมตร”  หรือเมื่อปี 2017 จอนนี วิลเลี่ยมส์ กองกลาง อิปสวิช ทาวน์ (ปัจจุบันอยู่กับ คริสตัล พาเลซ) รู้สึกผิดหวังที่เขามีอาการ “เจ็บง่าย” ในเกม

หรือที่เป็นข่าวโด่งดังคือกรณีของ ซามี เคดิรา กองกลางยูเวนตุส ที่รู้สึกไม่พอใจเรื่องทรงผมของตัวเองในเกมด้วยการทวีตว่า "เฮ่ ผมดีใจนะที่พวกคุณชอบผมยาวของผม แต่ผมไว้ผมสั้นมาเกือบจะ 2 ปีแล้วนะ" ก่อนที่ท้ายที่สุด EA จะปรับเปลี่ยนให้เหมือนจริงหลังแพทอัพเดท

ความใกล้เคียงระหว่างโลกเสมือนและโลกจริงเหล่านี้ ยังได้เกื้อหนุนไปยังวงการซอคเก้อร์ของชาวอเมริกัน

จุดกระแสซอคเก้อร์บนแผ่นดินอเมริกา  

แม้จะเคยผ่านการเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกมาแล้วในปี 1994 ด้วยยอดผู้ชมเฉลี่ยสูงกว่า 60,000 คน แต่ฟุตบอล หรือ “ซอคเก้อร์” ของชาวอเมริกา ก็ยังถูก NBA, NFL หรือแม้แต่ลีกกีฬาระดับมหาวิทยาลัยทิ้งห่างหลังจากทัวร์นาเมนต์นั้น

 4

ทว่าการมาถึงของเกม FIFA ได้กลายเป็นหนึ่งในกุญแจสำคัญที่ช่วยเพิ่มฐานแฟนฟุตบอลในประเทศอย่างไม่น่าเชื่อ

เคลวิน การ์เซีย เด็กหนุ่มที่เติบโตขึ้นมาในครอบครัวของชาวโดมินิกัน ในย่านบรองซ์ของนิวยอร์ค เผยว่าสำหรับเด็กชาวละตินในย่านนี้มักจะเล่นบาสเก็ตบอลหรือเบสบอลเป็นส่วนใหญ่ แต่เขากลับหลงใหลในเกมอันสวยงามของฟุตบอล   

“พูดตรงๆ ทั้งหมดต้องขอบคุณเกม FIFA จริงๆ” เด็กหนุ่มผู้มี นิวยอร์ค แยงกี้ส์ และเชลซี เป็นทีมในดวงใจกล่าว

“ไม่มีมัน ผมคงไม่มีวันรู้เรื่องเกี่ยวกับฟุตบอล และไม่ได้เติบโตขึ้นมาด้วยความชอบในเกมการแข่งขัน”

ทั้งนี้ FIFA ถือเป็นแฟรนไชส์ของ EA ที่เติบโตได้รวดเร็วมากในพื้นที่แถบอเมริกาเหนือ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ใกล้เคียงที่ความนิยมเรื่องกีฬาของชาวอเมริกันเพิ่มสูงขึ้น

จากผลสำรวจของ ริชาร์ด ลูเกอร์ ของ ESPN พบว่าจำนวนชาวอเมริกันที่เป็นแฟนฟุตบอลมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2009  (ส่วนใหญ่เป็นวัย 12-17 ปี) และในช่วงเวลาเดียวกันความนิยมของเกม FIFA ก็เพิ่มจำนวนขึ้นมากเช่นกัน โดยมียอดขายเพิ่มขึ้นมาถึง 35 เปอร์เซ็นต์จากปี 2010-2012 และสูงถึง 2.6 ล้านแผ่น

และจากผลสำรวจชิ้นเดียวกันยังพบว่า เกือบ 30 เปอร์เซ็นต์ของคนที่เล่นเกม FIFA มาเล่นได้กลายเป็นแฟนฟุตบอลจริงๆ ในขณะที่ 50 เปอร์เซ็นต์เริ่มมีความสนใจในกีฬาชนิดนี้หลังจากได้เล่นเกม  

 5

“ผมเคยเล่นฟุตบอลในลีกท้องถิ่นตอนอายุ 5-6 ขวบ แต่ก็ไม่ได้สนุกกับมันพอที่จะเล่นต่อไป” Matthew Celentano นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยนอร์ทเวสเทิร์นกล่าวกับ The Guardian

“ตอนประถมผมเคยอยู่ในลิตเติ้ลลีกของเบสบอล และหลังจากนั้นก็ไปเล่นอเมริกันฟุตบอล แต่ผมไม่เคยหยุดเล่นกีฬาทั้งสองชนิดนี้”

“ตอนป.6 ผมเริ่มเล่นฟุตบอลอีกครั้งกับทีมของโรงเรียน และเป็นช่วงเวลาเดียวกันที่ผมเล่นเกม FIFA และเริ่มเชียร์อาร์เซนอล ซึ่งมันเป็นจุดที่ทำให้ฟุตบอลกลายเป็น ‘กีฬาของผม’ จากความรู้สึกเชื่อมโยงกับมัน ที่ผมไม่เคยรู้สึกมาก่อนกับเบสบอลหรือ อเมริกันฟุตบอล”

“ผมคิดว่าเกม FIFA เป็นแพลตฟอร์มหนึ่งที่ทำให้เด็กอเมริกาเรียนรู้เกี่ยวกับฟุตบอลในเชิงสิ่งบันเทิง FIFA มีฐานข้อมูลที่ยอดเยี่ยมเกี่ยวกับเกม ดังนั้นยิ่งเขาหรือเธอเล่นมันมากขึ้น เขาก็จะเรียนรู้เกี่ยวกับกีฬาชนิดนี้ และเติบโตขึ้นมาด้วยความใกล้ชิดกับมัน”

เครื่องมือในการสอนฟุตบอลแก่เด็กเล็ก

สำหรับเด็กเล็กอายุ 6-10 ขวบ การสอนเรื่องฟุตบอลที่สลับซับซ้อนดูอาจจะเป็นเรื่องยากเกินความเข้าใจเมื่อกีฬาชนิดนี้เต็มไปด้วยกฎพื้นฐานมากมาย อีกทั้งแผนการเล่น ตำแหน่ง หรือแม้กระทั่งแทคติก

อย่างไรก็ดี เรื่องนี้ไม่เป็นอุปสรรคสำหรับ สตีวี กรีฟ ที่เคยผ่านการสอนฟุตบอลให้แก่เด็กๆ มาแล้วทั่วโลก เมื่อเขาใช้เกม FIFA มาเป็นหนึ่งในเครื่องมือสำหรับอาชีพของเขา โดยเขามองว่าแทนที่จะโอดครวญกับความจริงเรื่องเด็กเล่นเกม ทำไมโค้ชถึงไม่ลองใช้สิ่งนี้ให้เป็นประโยชน์

 6

“ตอนที่ผมย้ายไปอินเดียครั้งแรกเมื่อสี่ปีก่อน เด็กทุกคนเล่นเกมฟีฟ่า” กรีฟกล่าวกับ The Guardian

“ผมจำได้ว่าผมพยายามอธิบายพวกเขาเกี่ยวกับการเซ็ตเกมโดยการจ่ายบอลให้ปลอดภัย แต่ในพื้นที่สุดท้าย พวกเขามักจะจ่ายแบบเสี่ยงๆมากกว่า”

“เราพยายามใช้ภาพเหตุการณ์และคำที่พวกเขาคุ้นเคยจากฟีฟ่า เพื่อทำให้พวกเขาได้ครุ่นคิดจนเข้าใจเกมมากขึ้น ผมพบว่ามันช่วยให้พวกเขาเข้าใจเร็วขึ้นมาก จากความเข้าใจเป็นศูนย์ พวกเขารู้เกี่ยวกับโครงสร้างและแทคติกอย่างรวดเร็ว”

“ถ้าเราใช้เกมคอมพิวเตอร์ในฐานะเครื่องเรียนรู้ มันน่าจะสอนวิธีการเล่นฟุตบอลให้แก่พวกเขาได้ดีขึ้น และทำให้พวกเขาได้รู้ไอเดียเกี่ยวกับแทคติกบ้าง”

สิ่งที่กรีฟทำพ้องกับลี ซิมป์สัน อดีตโค้ชทีมอะคาเดมีของ ฟูแลม เอฟซี ที่มีใบอนุญาตระดับบี ไลเซนส์ ของ ยูฟ่า และ เจค โคเฮน ปัจจุบันพวกเขาสอนฟุตบอลให้กับเด็กอายุตั้งแต่ 7-21 ปี โดยใช้เกม FIFA เป็นสื่อกลาง

 7

“มันเป็นอีกทางหนึ่งที่ทำให้พวกเขาได้ปฏิสัมพันธ์กับฟุตบอล พวกเขาสามารถดูเชลซีและอาร์เซนอล และผ่านไปห้านาทีพวกเขาก็เริ่มเบื่อและอยากจะทำอะไรบางอย่าง” เจคให้สัมภาษณ์กับ Eurogamer

“FIFA ทำให้พวกเขามีส่วนร่วมโดยตรงในทางกายภาพกับเกม เคลื่อนที่นักเตะไปมา และลองทำอะไรบางอย่างที่พวกเขาอยากทำ”

“มันง่ายสำหรับเด็กในการเลือกนำบางอย่างมาจากในเกม ตอนที่พวกเขาไม่ได้ครองบอล พวกเขาจะเห็นว่าผู้เล่นเคลื่อนที่ไปทางไหน พวกเขาได้เห็นการเคลื่อนที่เข้าไปในกรอบเขตโทษ ได้เห็นการกระโดดเพื่อโหม่ง ได้เห็นกองหลังวิ่งเหยาะๆ และได้สังเกตเห็นรายละเอียดเล็กๆน้อยๆ” ลีกล่าวเสริม

“มันทำให้เข้าใจแทคติกได้มากขึ้น ยกตัวอย่างใน อัลติเมททีม (FUT) คุณจะเห็นค่าเคมีของทีม และโค้ช ถ้าความสมดุลของทีมไม่ถูกต้อง คุณจะเกิดปัญหา มันเป็นบางอย่างที่เราใช้กระตุ้นที่ฟูแลม ดังนั้นพวกเขาจึงสามารถเข้าใจฟุตบอลจากการรับรู้เรื่องแทคติก มันจึงเป็นเครื่องมือในการเรียนรู้ที่ดีมาก”

“ส่วนใหญ่ที่เราทำที่ฟูแลมคือพื้นฐานในการรับรู้เรื่องแทคติก, ความรับผิดชอบ และความเข้าใจในตำแหน่งและหน้าที่ ในเกม (อัลติเมตทีม) คุณสามารถเล่นได้ตำแหน่งเดียว ดังนั้นถ้าคุณไม่ได้อยู่ในตำแหน่งที่ถูกต้องคุณจะไม่ได้บอลหรือได้คะแนนความสามารถต่ำ ดังนั้นคุณต้องคิดว่าคุณจะต้องอยู่ตรงไหนของสนาม คุณสามารถเรียนรู้จากการคิด ซึ่งมันเป็นอีกเครื่องมือที่เราใช้”

“รายละเอียดเล็กๆ (ใน FIFA) ช่วยให้เด็กๆเชื่อมโยงระหว่างสิ่งที่เขาทำในเกม และสิ่งที่เขาเห็นในชีวิตจริง”

 8

“ในฟีฟ่า ถ้าเขาเล่นในตำแหน่งกองหลังแล้วพยายามหลบคู่แข่งในเขตโทษตัวเอง เขาจะโดนแย่งบอล และทำให้คู่แข่งทำประตูได้ เขาจะตระหนักได้ว่านี่คือสิ่งที่เขาไม่ควรทำ และควรจะจ่ายบอลออกไป”

“เด็กๆมักจะทำเรื่องผิดพลาดมากมาย แต่จากการเกิดซ้ำๆ ในที่สุดเขาจะตระหนักถึงมัน ผมคิดว่าความผิดพลาดเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้ และฟีฟ่าจะช่วยด้วยการเกิดซ้ำๆนั้นมีประโยชน์ตอนที่พวกเขาอยู่ในสนาม”

โลกเหมือน-โลกจริง

ปฏิเสธไม่ได้ว่าด้วยความล้ำหน้าของเทคโนโลยีในปัจจุบัน ทำให้เกมที่ออกมาในยุคหลังแทบ แยกไม่ออกว่าอันไหนคือภาพจริง อันไหนคือภาพจากเกม เช่นเดียวกับเกม FIFA ที่ในภาคหลังๆ มีความสมจริงราวกับชมการถ่ายทอดสดฟุตบอลในโทรทัศน์

 9

“เราบันทึกและศึกษาว่านักเตะเคลื่อนที่อย่างไรในสนาม, ความแม่นยำของการจ่ายบอล, เขาเตะลูกโทษอย่างไร ลูกโหม่งของเขา แม้แต่ระบบฟิสิกส์ของบอล” Gilliard Lopes Dos Santos โปรดิวเซอร์ EA SPORTS กล่าวกับ FIFA.com

เมื่อเกมมีความสมจริงมากขึ้น ทำให้มันเริ่มมีอิทธิพลต่อโลกจริง เวลาที่นักเตะรู้สึกว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในเกมไม่เหมือน หรือไม่ได้เป็นอย่างที่คิดไว้ พวกเขาจะเริ่มแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับมันผ่านช่องทางสื่อสารออนไลน์

สิ่งต่างๆเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่า “เกม” ไม่ใช่แค่เรื่องในจินตนาการอีกต่อไป มันมีอิทธิพลมากมายต่อวงการฟุตบอลทั้งทางตรงหรือทางอ้อม ในบางมุมมันอาจจะเป็นเครื่องสร้างความบันเทิง แต่ในอีกบางมุมมันอาจจะเป็น “ครู” ให้กับใครหลายคน

และในวันที่เทคโนโลยีรุดหน้าไปมากกว่านี้ บางทีเกม อาจจะกลายเป็นหนึ่งในกุญแจสำคัญในการพัฒนาวงการฟุตบอล หรือมีการเกื้อกูลกันระหว่างโลกเกมกับโลกความเป็นจริงมากกว่านี้ก็เป็นได้

 10

“มันอาจจะดูแปลกที่เราเห็นนักฟุตบอลเรียนรู้บางอย่างจากวิดีโอเกม แต่มันคือกระบวนการการเรียนรู้สองทิศทาง” Dos Santos กล่าว

“เราอยู่ในยุคที่ความจริงกับโลกเสมือนต่างมีอิทธิพลต่อกันไปแล้ว”

อัลบั้มภาพ 10 ภาพ

อัลบั้มภาพ 10 ภาพ ของ เรื่องเล่นแต่จริงจัง : FIFA เกมฟุตบอลที่มีอิทธิพลต่อนักเตะระดับโลก

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook