นโยบายโอนสัญชาติฟุตบอลกาตาร์ : หลุมพรางสู่ “ระบบทาส” สมัยใหม่

นโยบายโอนสัญชาติฟุตบอลกาตาร์ : หลุมพรางสู่ “ระบบทาส” สมัยใหม่

นโยบายโอนสัญชาติฟุตบอลกาตาร์ : หลุมพรางสู่ “ระบบทาส” สมัยใหม่
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เมื่อนโยบายเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับทีมชาติของไข่มุกแห่งเปอร์เซีย กลายเป็นช่องทางในการเอารัดเอาเปรียบผู้เล่นชาวต่างชาติ

ในโลกแบบ “โกลบอลไลเซชัน” ที่ทั่วทั้งโลกโยงใยเชื่อมต่อกันอย่างง่ายกว่าแต่ก่อน นักฟุตบอลกลายเป็นสินค้าส่งออกไม่ต่างจากสินค้าประเภทอื่น ทว่าไม่ใช่สำหรับสโมสรเท่านั้น  แต่รวมไปถึงทีมชาติ

หลายปีที่ผ่านมา มีนักฟุตบอลฝีเท้าดีจากบราซิล อาร์เจนตินา หรือประเทศในแถบแอฟริกา ที่ไม่สามารถสอดแทรกขึ้นไปเล่นในทีมชุดใหญ่ในบ้านเกิด ตัดสินใจเปลี่ยนสัญชาติมาเล่นให้กับประเทศในแถบเอเชียมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกาตาร์

เจ้าภาพฟุตบอลโลก 2022 ใช้นักเตะโอนสัญชาติเพื่อเสริมความแข็งแกร่งให้กับทีมชาติเป็นหนึ่งในนโยบายหลัก

เซบาสเตียน โซเรีย นักเตะที่ติดทีมชาติมากที่สุด และยิงประตูสูงสุด มาจากอุรุกวัย คอลิฟะห์ อบาบากา ผู้รักษาประตูร่างโย่ง เกิดที่เซเนกัล ส่วน โรดริโก ทาบาตะ อดีตเพลย์เมกเกอร์ของทีมเป็นชาวบราซิลเชื้อสายญี่ปุ่น

แม้ว่านโยบายโอนสัญชาติของกาตาร์ จะส่งผลดีต่อวงการฟุตบอลของพวกเขา ทำให้กาตาร์มีขุมกำลังที่ดีขึ้น ในอีกด้านหนึ่งมันก็กลายเป็นช่องโหว่สู่ระบบทาสสมัยใหม่

000_1962xt
ทีมรวมดาราโลก
หลายปีที่ผ่านมา กาตาร์ พยายามเชื้อเชิญเหล่าสตาร์ดังที่อยู่ในช่วงปลายของชีวิตนักเตะอาชีพเข้ามาโชว์ฝีเท้าในลีกพวกเขาอย่างต่อเนื่อง ไล่เรียงมาตั้งแต่สมัย เป๊บ กวาดิโอลา, ราอูล กอนซาเลซ, กาเบรียล บาติสตูตา หรือปัจจุบันอย่าง ชาบี เอร์นันเดซ ซึ่งนอกจากเข้าไปสร้างสีสัน พวกเขายังหวังให้ผู้เล่นเหล่านี้เข้าไปวางรากฐานให้กับวงการฟุตบอลในประเทศ  

“ก่อนหน้านี้ QFA (สมาคมฟุตบอลกาตาร์) เคยดึงนักเตะดาราดังอย่าง  (ฟรองซ์) เลอเบิฟ และ (กาเบรียล) บาติสตูตา มาเล่นที่นี่” ดร. มะห์ฟูด อามารา ผู้ทำวิจัยเกี่ยวกับ Sport Migration ของมหาวิทยาลัยกาตาร์ซิตี้ กล่าว

“ความนิยมเช่นนี้ยังคงมีเรื่อยมาจนล่าสุดอย่าง ชาบี แต่ดูเหมือนว่าอายุของผู้เล่นต่างชาติที่เซ็นสัญญามาจะค่อยๆลดลงไป”  

เหตุผลสำคัญในเรื่องนี้ คือ โอกาสในการเล่นทีมชาติ หากผู้เล่นเหล่านี้สามารถทำผลงานได้อย่างโดดเด่น พวกเขามีโอกาสที่จะได้รับการ “โอนสัญชาติ” มาเล่นให้กับทีมชาติกาตาร์ อาทิ คาริม บูิดิอาฟ กองหลังเชื้อสายแอลจีเรีย - โมร็อคโค ที่ย้ายมาอยู่กาตาร์ตอนอายุ 22 และติดทีมชาติกาตาร์ไปแล้ว 52 นัด หรือ บูอาเล็ม คูกี วิงแบ็คชาวแอลจีเรีย ที่ย้ายมาอยู่ที่นี่ตั้งแต่ 19 ปี และลงรับใช้ทีมชาติไปถึง 50 เกม

000_pj1so
นโยบายดังกล่าวถือเป็นหนึ่งในนโยบายหลักของกาตาร์ ไม่เพียงแต่ฟุตบอลเท่านั้น กีฬาชนิดอื่น ล้วนใช้บริการผู้เล่นต่างชาติด้วยกันแทบทั้งสิ้น ตัวอย่างที่โด่งดังที่สุด คือทีมแฮนด์บอลชาย ที่ดึงตัวดาวดังจากหลายเชื้อชาติ ทั้ง ฝรั่งเศส สเปน คิวบา หรือ มอนเตเนโกร เนื่องจากแฮนด์บอลสามารถเปลี่ยนทีมชาติเล่นได้ แม้จะเคยเล่นให้กับทีมบ้านเกิดมาแล้ว จนทำให้ทีมสามารถก้าวไปถึงนัดชิงชนะเลิศ ในศึกแฮนด์บอลชิงแชมป์โลก 2015 ที่ตัวเองเป็นเจ้าภาพ

หรือสำหรับทีมฟุตบอล ในสมัยการคุมทัพของ ฮอร์เก ฟอสซาติ กุนซือชาวอุรุกวัย ที่คุมทีมในช่วงปี 2016-2017 เขาเคยส่งนักเตะโอนสัญชาติถึง 8 รายใน 11 ตัวจริงนัดบุกเสมอจีน 0-0 ในศึกฟุตบอลโลก 2018 รอบคัดเลือกรอบที่ 3 เมื่อปี 2016      

แต่ใช่ว่าทุกคนจะเห็นด้วยกับเรื่องนี้ ครั้งหนึ่ง เซปป์ แบลตเตอร์ อดีตประธานฟีฟ่าเคยออกมาให้ความเห็นว่านโยบายโอนสัญชาติของกาตาร์จะทำลายความซื่อสัตย์ของเกม และยิ่งเคราะห์ซ้ำกรรมซัด เมื่อทีมแฮนด์บอลของกาตาร์ไปได้แค่รอบ 8 ทีมสุดท้ายในโอลิมปิก 2016 ในขณะที่ทีมฟุตบอลก็ตกรอบคัดเลือกในฟุตบอลโลกครั้งล่าสุด

“ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังโอลิมปิก 2016 นโยบายนี้ถูกตั้งคำถามมากมาย” อามารากล่าว

แม้จะมีเสียงวิจารณ์มากมายทั้งจากภายในและภายนอก แต่ถึงอย่างนั้นผู้เล่นต่างชาติ ก็ยังจำเป็นต่อกาตาร์

000_i42hp
แรงงานต่างชาติ
ด้วยพื้นที่เพียง 11,571 ตารางกิโลเมตร ที่เล็กกว่าเชียงใหม่เกือบเท่าตัว และประชากรเพียงแค่ 2.2 ล้านคน ทำให้กาตาร์มีปัญหาเรื่องทรัพยากรบุคคล การนำเข้าแรงงานข้ามชาติจึงเป็นวิธีหลักในการแก้ไขปัญหา จากสถิติระบุว่าแรงงานต่างชาติ มีจำนวนถึง 90 เปอร์เซ็นต์ของแรงงานทั้งหมด

ยิ่งไปกว่านั้น การที่กาตาร์ได้รับหน้าเสื่อเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันฟุตบอลโลก 2022 ทำให้พวกเขามีความจำเป็นต้องอิมพอร์ทแรงงานต่างชาติเพิ่มมากขึ้น ปัจจุบันมีจำนวนสูงถึง 2 ล้านคนที่กระจายตัวอยู่ในทุกภาคส่วน  

สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นภาพได้อย่างชัดเจนว่ากาตาร์ จำเป็นต้องพึ่งพาชาวต่างชาติมากเพียงใด และเช่นเดียวกับฟุตบอล พวกเขาจำเป็นต้องใช้นักเตะต่างชาติเป็นทางลัดในการเตรียมพร้อม ก่อนที่ตัวเองจะลงเล่นฟุตบอลโลกครั้งแรกในประวัติศาสตร์ในอีก 4 ปีข้างหน้า

"มันเป็นเรื่องที่ท้าทายอย่างยิ่งสำหรับชาติที่มีประชากรทั้งประเทศเพียง 2.2 ล้านคน ในการสร้างทีมฟุตบอลขึ้นมาสักทีม ในการแข่งขันระดับชาติ โดยเฉพาะการเป็นเจ้าภาพศึกฟุตบอลโลกในปี 2022" แบลตเตอร์ กล่าว

000_yx145
การใช้นโยบายโอนสัญชาติของกาตาร์ นอกจากจะช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับทีมชาติของพวกเขาแล้ว ในอีกมุมหนึ่ง มันยังเป็นช่องทางของนักเตะต่างชาติ ที่ต้องการหนีความลำบากในประเทศตัวเอง มาเริ่มต้นชีวิตใหม่ และหากฝีเท้าดี ทำผลงานได้โดดเด่นอาจจะได้เกิดใหม่ในสีเสื้อของทีมชาติกาตาร์ เหมือนดังที่หลายคนทำได้

ทำให้ในทุกปี มีนักเตะทั้งจากอเมริกาใต้ แอฟริกา หรือบางชาติในเอเชีย เดินทางมาแสวงโชคเพื่อเล่นในลีกกาตาร์มากมาย ทว่าสถานะชาวต่างชาติของพวกเขา ทำให้บางคนตกหลุมพรางจากระบบ “คาฟาลา”

ระบบทาสสมัยใหม่
ชาวต่างชาติทุกคนไม่ว่าจะอาชีพไหน จะกรรมกรหรือนักฟุตบอล หากเข้ามาทำงานในกาตาร์ จำเป็นต้องอยู่ในระบบคาฟาลา หรือระบบอุปถัมป์ ซึ่งเป็นระบบที่นิยมใช้กันในหมู่ประเทศอาหรับ

ระบบดังกล่าวระบุไว้ว่าชาวต่างชาติทุกคนต้องมี “ผู้อุปถัมป์” ท้องถิ่น อาจจะเป็นบุคคลหรือบริษัทก็ได้ และไม่สามารถเปลี่ยนงานหรือเดินทางออกนอกประเทศได้ หากไม่ได้รับอนุญาตจากนายจ้าง

ด้วยเงื่อนไขนี้ได้เปิดช่องทางให้นายจ้างเอาเปรียบลูกจ้าง เนื่องจากส่วนใหญ่มักจะถูกยึดหนังสือเดินทางไว้ จึงไม่สามารถต่อรองกับนายจ้างได้แม้จะถูกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม อีกทั้งยังไม่สามารถเดินทางกลับประเทศได้ เนื่องจากพาสสปอร์ตไม่ได้อยู่กับตัว

000_par8126211
ทำให้ช่วงหลายปีที่ผ่านมามีข่าวมากมายว่าแรงงานก่อสร้างสนามฟุตบอลโลก ถูกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม ทั้ง ค้างค่าแรง หรือให้ทำงานหนักเกินกว่าที่ตกลงไว้ โดยที่ลูกจ้างไม่สามารถทำอะไรได้ จนถูกวิจารณ์ว่าไม่ต่างอะไรจากระบบทาสสมัยใหม่

และไม่ใช่แค่แรงงานเท่านั้น นักฟุตบอลเองก็ได้รับผลกระทบจากระบบนี้

จากนักฟุตบอลสู่รปภ.
อาริ นักฟุตบอลชาวโตโกวัย 27 ปี เขาเป็นนักเตะในระดับดิวิชั่น 3 ของลีกโตโก ตัดสินใจทิ้งบ้านเกิดมาเพื่อหวังว่าจะมีชีวิตที่ดีขึ้น เขายืมเงินพ่อแม่เพื่อเป็นค่าวีซ่า เพื่อนของเขาที่กาตาร์สัญญาว่าเขาจะได้เป็นนักฟุตบอล และมีรายได้ที่สามารถเอาเงินไปคืนพ่อแม่ในเวลาไม่กี่เดือน แต่ทันทีที่เขาเหยียบกาตาร์ ทุกอย่างกลับไม่ได้เป็นไปอย่างที่คิด


“พวกเขาเอาหนังสือเดินทางผมไป พวกเขาขโมยมันไป พวกเขาบอกผมว่ามันเป็นกฎหมายของประเทศนี้ ผมคิดได้ทันทีว่าเรากำลังกลายเป็นทาส จากนั้นพวกเขาพาเราไปที่พัก และตอนเช้าก็เอาชุดเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยให้ใส่” อาริกล่าวกับ Vice Sports

อาริ ถูกจ้างเป็นเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของบริษัทรักษาความปลอดภัยของกาตาร์ เขาทำงานตั้งแต่หกโมงเช้าถึงหกโมงเย็นโดยไม่มีวันหยุด เขาได้ประจำอยู่หน้าสถานทูตฝรั่งเศส 8 เดือน นักการฑูตบอกว่าเขาไม่สามารถช่วยได้ในสถานการณ์นี้ องค์กรการกุศลอย่าง Human Right Watch ก็พยายามช่วยเหลือเขาแต่ก็ช่วยได้ไม่มากนัก เพราะไม่มีสถานทูตโตโกในกาตาร์  

000_1a89ef
จากนั้นเขาถูกย้ายไปทำงานที่สนามบิน ได้เงิน 1,110 ริยาลต่อเดือน (ราว 9,627 บาท) สวนทางกับการเป็นประเทศที่มีรายได้เฉลี่ยต่อหัวสูงที่สุดในโลกที่ 12,111 ดอลลาห์สหรัฐ (ราว 40,000 บาท)  

“หลังจากทำงาน 14 เดือนที่สนามบิน ผมบอกว่าผมอยากกลับโตโก พวกเขาบอกว่าผมต้องจ่าย 2,000 ริยาล (ราว 17,000 บาท) ถ้าอยากได้พาสสปอร์ตคืน” อาริกล่าว “ผมปฏิเสธ แต่ท้ายที่สุดเขาก็ตกลงที่จะคืนพาสสปอร์ตให้ผม และผมก็กลับโตโกในวันที่ 5 ธันวาคม 2014”

สาเหตุที่อาริ ต้องเป็น รปภ. แทนที่จะได้เป็นนักฟุตบอลนั่นเป็นเพราะในวีซ่าของเขาระบุไว้ว่าเขามาทำงานในตำแหน่งเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยเนื่องจากเขาอ่านภาษาอังกฤษไม่ออกทำให้ไม่รู้เรื่องนี้ และต้องพบกับฝันร้ายเกือบ 3 ปี

อาริไม่ใช่คนแรกที่ต้องตกเป็นเหยื่อจากระบบนี้ อับเดส คูอัดดู กองหลังชาวโมร็อคโค ที่เคยค้าแข้งกับ กาตาร์ เอสซี ในช่วงปี 2011 - 2012 เคยออกมาวิจารณ์ระบบคาฟาลา หลังเขามีปัญหากับต้นสังกัดจนถูกระงับวีซ่าว่า “หากคุณทำงานในกาตาร์ คุณต้องอยู่กับใครสักคน คุณไม่ได้เป็นอิสระ คุณเป็นแค่ทาสคนหนึ่ง”  

qatareventsecurityandvip
เช่นเดียวกับ ซาเฮียร์ เบลูนิส แข้งชาวฝรั่งเศส-แอลจีเรีย ที่ถูกปฏิเสธวีซ่าออกนอกประเทศ หลังขัดแย้งกับ เอล ญาอิช ต้นสังกัดที่ไม่จ่ายค่าแรงให้เขาตั้งแต่ปี 2010  เขากล่าวว่า 19 เดือนที่ติดอยู่ที่กาตาร์ทำลายชีวิตเขา

“มันเป็นช่วงเวลาที่ลำบากมากๆ ตอนนี้ต้องขอบคุณพระเจ้าที่ทำให้ผมกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติกับครอบครัว มันเลวร้ายมาก ผมหวังว่ามันจะไม่เกิดขึ้นกับใครอีก”

หลังได้รับเสียงวิจารณ์จากการปฏิบัติต่อแรงงานอย่างไม่เป็นธรรม ทำให้กาตาร์พยายามที่จะปฏิรูปกฎหมายแรงงาน เดือนธันวาคม 2016 พวกเขาได้ออกมาประกาศยกเลิกระบบคาฟาลา และประกาศกฎหมายค่าแรงขั้นต่ำเป็นครั้งแรกเมื่อเดือนตุลาคม 2017

อย่างไรก็ดี ยังไม่มีข้อชัดเจนว่ากฎหมายดังกล่าวจะถูกบังคับใช้เมื่อใด และยังมีขอร้องเรียนเกี่ยวกับแรงงานเรื่อยมา ล่าสุดเมื่อเดือนกันยายน 2018 ได้มีกลุ่มแรงงานออกมาโวยนายจ้างกรณีค้างค้าจ้างสร้างสวนสนุกในเมืองที่เตรียมใช้จัดการแข่งขันฟุตบอลโลก

แม้จะมีปัญหากับแรงงานมากมาย แต่ประเทศแห่งนี้ยังเป็นหมุดหมายสำหรับชาวต่างชาติ เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น?

000_par7731058
บันไดสู่ขั้นต่อไป
แม้ว่ายังมีปัญหาเกี่ยวกับการเอารัดเอาเปรียบต่อชาวต่างชาติที่มาทำงานในกาตาร์ แต่ “ไข่มุกแห่งเปอร์เซีย” ยังเป็นประเทศที่ชาวต่างชาติจากโลกที่สามนิยมมาทำงาน รวมไปถึงนักฟุตบอล

แน่นอนว่าเหตุผลแรกคือเงิน จากการเป็นประเทศที่ร่ำรวยที่สุดในโลก ทำให้พวกเขาจ่ายค่าเหนื่อยผู้เล่นในเรตที่ค่อนข้างสูง แต่เหตุผลจริงๆ คือ ประโยชน์ที่จะได้รับจากการเป็นพลเมืองของกาตาร์

แม้จะมีผู้เล่นต่างชาติจำนวนไม่มากหากเทียบกับทั้งหมดที่ได้รับสัญชาติกาตาร์ และขึ้นไปติดทีมชาติ แต่มันก็คุ้มค่าที่จะเสี่ยง เมื่อการเป็นพลเมืองของประเทศนี้นำมาซึ่งสวัสดิการที่ครบครัน ไม่ว่าจะเป็น การไม่ถูกเก็บภาษีทั้งในระดับบุคคลและนิติบุคคล ได้รับเงินอุดหนุนค่าบ้านบางส่วนจากรัฐ เข้ารับการรักษาพยาบาลฟรี  ค่าธรรมเนียมการศึกษาฟรี เช่นเดียวกับค่าอาหารกลางวัน ค่าเดินทาง และค่าเครื่องแบบสำหรับนักเรียน รวมไปถึงได้รับการสงเคราะห์ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าก๊าซหุงต้มจากรัฐอย่างเต็มที่

นอกจากนี้ ชาวต่างชาติหลายคนที่ได้สัญชาติยังใช้สิทธิ์การเป็นพลเมืองกาตาร์ต่อยอดไปสู่การได้พาสสปอร์ตจากประเทศอื่น อย่าง แคนาดา หรือ ออสเตรเลีย  หรือประเทศในหมู่เกาะแคริบเบียนที่สามารถซื้อสัญชาติได้อย่าง เซนต์คิตส์และเนวิส

000_s50jo
“พวกเขามาที่นี่ พวกเขาได้รับความมั่นคง พวกเขาได้รับความปลอดภัยเป็นเวลาหลายปี” ซาห์รา บาบาร์ รองผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยศูนย์การศึกษานานาชาติและภูมิภาค มหาวิทยาลัย จอร์จทาวน์ ในกาตาร์กล่าว

“หากพวกเขามาที่นี่ในฐานะนักกีฬา พวกเขาน่าจะมีฐานะทางการเงินที่ดี และก็มาในฐานะนักเดินทาง ถ้าพวกจะสร้างความน่าเชื่อถือ (จากการเป็นนักกีฬา)  มันทำให้ได้รับสัญชาติง่ายขึ้นกว่าเดิม”

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น พวกเขาต้องเอาตัวรอดจาก “คาฟาลา” หรือ ระบบทาสสมัยใหม่ให้ได้ก่อน แม้ว่าในเชิงกฎหมายมันจะถูกล้มล้างไปแล้วตั้งแต่ปี 2016 แต่ในทางปฎิบัติ ยังไม่มีใครรู้ว่ามันจะหายไปเมื่อไร แม้แต่คนกาตาร์เองก็ตาม

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook