วรรณะในนักกีฬาอินเดียมีจริงหรือไม่?

วรรณะในนักกีฬาอินเดียมีจริงหรือไม่?

วรรณะในนักกีฬาอินเดียมีจริงหรือไม่?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

“คริกเกตทีมชาติ และบอลลีวูด” เป็นสองสิ่งมหัศจรรย์ ที่อยู่เหนือความขัดแย้ง ชนชั้น วรรณะ ของผู้คนนับพันล้านชีวิต ในอินเดีย

นับตั้งแต่ประกาศเอกราชในปี ค.ศ.1947 วงการกีฬาอินเดีย มีการพัฒนาขึ้นมาเรื่อยๆ เช่นเดียวกับ สภาพเศรษฐกิจที่ดี มีนักกีฬาสากลหลายคน ก้าวไปประสบความสำเร็จในเวทีระดับโลก

ขณะที่ลีกอาชีพกีฬายอดฮิต “คริกเกต” ก็ประสบความสำเร็จมาก ไม่ต่างอะไรกับ พรีเมียร์ลีก แห่งวงการคริกเกตโลก ที่ดึงดูดใจให้นักคริกเกตทั่วโลก อยากมาล่ารายได้มหาศาลในดินแดนชาติเบอร์ 1 ของโลก

 

แต่ในประเทศที่มีความแตกต่าง ราวกับไม่ใช่แผ่นดินเดียวกัน และมีชื่อเรียกพระเจ้าตามความเชื่อศาสนามากกว่า 1 ล้านนาม

วรรณะของนักกีฬาอินเดียมีอยู่จริงหรือไม่? เหมือนกับ ซูเปอร์สตาร์แห่งวงการภาพยนตร์บอลลีวูด ที่เปรียบได้ดั่ง “เทพเจ้า” หรือเปล่า? ทำความรู้จัก อินเดีย ในอีกมุมหนึ่งที่คุณอาจไม่รู้มาก่อน

มรดกจากยุคล่าอาณานิคม

“อินเดีย เป็นประเทศที่เหมือนเอาหลายๆประเทศมารวมไว้ที่เดียวกัน ด้วยความแตกต่างทางภาษา วัฒนธรรม ที่ไม่เหมือนกันเลย จนมีคนกล่าวไว้ว่า ทุกๆ 100 กิโลเมตรในอินเดีย ทุกอย่างจะเปลี่ยนไปหมดเลย ผมคงไม่สามารถอธิบายด้วยภาพใด ภาพหนึ่ง เพื่อบอกว่าอินเดียเป็นแบบไหนได้”

 1

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก นักเขียนจาก The101World กล่าวถึง ประเทศที่เขาไปใช้ชีวิตอยู่ ตั้งแต่ปี 2011 จนปัจจุบัน เขาได้รับทุนจากรัฐบาลอินเดีย ให้ศึกษาต่อ ในระดับปริญญาโท และให้ความสนใจเรื่องราวของ อินเดียยุคใหม่

เรื่องวรรณะ ตามหลักศาสนาฮินดู แม้ว่าในทางกฎหมาย ดร.อัมเบดการ์ (B. R. Ambedkar) ชายผู้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับแรก ที่มาจากวรรณะจัณฑาล (Dalit) ได้ระบุให้มีการยกเลิก วรรณะดังกล่าว ไปตั้งแต่ปี ค.ศ.1949 เพื่อให้ทุกคนเสมอภาค เท่าเทียมกัน ไม่แบ่งแยกกันด้วยสีผิว ศาสนา ชนชั้น ฯลฯ

กฎหมายที่เขียนโดย ผอ.อัมเบดการ์ ผู้ได้รับการยกย่องว่าเป็น “บิดาแห่งอินเดียสมัยใหม่” ส่งผลให้ สังคมอินเดีย ในยุคหลังได้รับอิสรภาพเริ่มเปลี่ยนไป โดยเฉพาะความเป็นอยู่ของคนในวรรณะล่าง ที่เริ่มเข้าถึงบริการสาธารณะ สาธารณูปูโภค รวมถึงการกีฬา ที่ส่วนใหญ่จะเปิดสอนฟรี แม้ความเหลื่อมล้ำนั้นยังไม่เคยหายไปจริงๆ ในทางปฎิบัติ

“ดาลิต หลายคนสามารถลืมตาอ้าปากได้ เข้าถึงเศรษฐกิจ การศึกษา แต่ต้องยอมรับว่าในปัจจุบัน การเหยียด ชั้นวรรณะในอินเดีย ยังมีอยู่ โดยมีการกีดกั้นคนวรรณะที่ต่ำกว่า ให้สามารถเลือกประกอบอาชีพได้บางอาชีพเท่านั้น เช่น แรงงาน คนเก็บขยะ หรือบางวรรณะ แม้จะเรียนมาสูง ทำงานดี  แต่ก็ไม่สามารถไปทำตำแหน่งสูงๆได้ ตามวรรณะ ปูมหลังของครอบครัว ซึ่งสามารถดูได้จากชื่อ นามสกุลของคน”

“แต่กับกีฬา เป็นสิ่งที่แตกต่างออกไป เพราะเป็นการคัดเลือกโดยความสามารถ ไม่ว่าจะมาจากชนชั้น วรรณะใด ก็ตาม ยิ่งโดยเฉพาะ คริกเกต กีฬาที่อยู่ในสายเลือดของอินเดีย และทุกคนให้ความสนใจ ตั้งแต่เหนือจรดใต้ ทุกเมืองมีสนามคริกเกตขนาดใหญ่เป็นของตัวเอง ถ้าไปอินเดีย สิ่งที่เห็นได้ทั่วไปตามตรอกซอกซอย ถนน ในชนบท คือมีคนเล่นคริกเกต ทุกที่ ทุกช่วงเวลา” ศุภวิชญ์ เผยกับ Main Stand

 2

ประเทศอินเดีย อยู่ภายใต้ปกครองของ อังกฤษ มาเป็นเวลา 100 ปี แนวคิด วิถีชีวิต วัฒนธรรมบางอย่างจากอังกฤษ ถูกส่งต่อ หรือดัดแปลงมาเป็นของท้องถิ่น เช่น วัฒนธรรมการเชียร์ คนอินเดีย ดูกีฬาเป็น เชียร์กีฬาเป็น แบบคนอังกฤษ

ติดตามเรื่องราวคริกเกตในประเทศอินเดียเพิ่มเติมได้ที่นี่ >> “คริกเกตสร้างชาติ” เมื่อกีฬาจากอังกฤษกลายเป็นเครื่องมือสู่เอกราชของอินเดีย

เล่นกีฬาก็จะซีเรียสเรื่องกฎ กติกา มาก แม้แต่ตีแบดมินตันกับเพื่อน ต้องนับแต้มเป็นเกมจริง ไม่มี การนับ 3-0 (ออก) เหมือนกับบ้านเรา ต้องเล่นให้เต็ม 21 แต้มเกม รวมถึง ความเป็นเจ้าระบบ ระเบียบ และนักวางโครงสร้าง อินเดีย บริหารจัดการกีฬาในประเทศ มีลีกอาชีพคริกเกตเกิดขึ้น ก่อนโด่งดังกลายเป็นลีกกีฬามูลค่าสูง ที่มีผู้ชมถ่ายทอดสดนับพันล้านคน

แต่ก็ใช่ว่า ทุกกีฬาจะได้รับการสนับสนุนที่ดีเหมือนกับ คริกเกต เสียหมด รัฐบาลอินเดีย วางโครงสร้างการกระจายอำนาจ ด้วยการส่งงบประมาณด้านกีฬาไปให้ แต่ละรัฐ มลรัฐ บริหารจัดการทีม ดูแลนักกีฬา สนาม ศูนย์ฝึกกีฬา ของเมืองนั้นๆ เพื่อพัฒนานักกีฬา ก่อนส่งมาคัดตัวแข่งกับรัฐอื่นๆ ในวันคัดตัวนักกีฬาทีมชาติ (ทุกกีฬาต้องคัด แม้แต่คริกเกต) จนได้คนที่เก่งสุดมาเป็น ตัวแทนทีมชาติ การฝึกกีฬาที่อินเดีย จึงเป็นเรื่องที่ฟรี และครอบครัวยากจน ก็สามารถเข้าไปฝึกฝนได้

หากมีฝีมือที่ดี ชนะการแข่งขันระดับประเทศ จะถูกเรียกเข้ามาเก็บตัวกับทีมชาติต่อ ส่วนคนที่เล่นคริกเกต หากมีโอกาสได้เล่นให้สโมสรอาชีพ ชื่อเสียง เงินทอง และโอกาสมากมาย จะพุ่งเข้ามาหาเขา ขอเพียงแค่มีความสามารถด้านกีฬา ส่วน กีฬาสากลประเภทอื่นๆ หากประสบความสำเร็จ มีเหรียญติดมือ โอกาสได้รับการสนับสนุนด้านหน้าที่การงาน ต่อไปย่อมมีสูง

 3

แต่การถึงจะไปจุดประสบความสำเร็จได้ในระดับที่ได้การยอมรับ การสนับสนุนอย่างดี เป็นเรื่องที่ยากมาก เพราะในแต่ละรัฐของลีก ผู้ที่มีอำนาจมักเลือกทุ่มงบประมาณหมดไปกับ คริกเกต ค่อนข้างเยอะ เนื่องจากกีฬาที่คนส่วนใหญ่ของประเทศ ให้ความสนใจ ถึงขนาดที่ ร้านขายทีวี ไม่สามารถเปิดคริกเกต ตรงทีวีตั้งโชว์หน้าร้านไว้ได้ เพราะผู้คนจะแห่มามุงดูจนล้นออกไปถึงข้างนอก จนคนเข้ามาซื้อสินค้าไม่ได้

ส่วนกีฬาอื่นๆ ที่ไม่ใช่คริกเกต จะถูกลดหลั่นงบประมาณ ตามความสนใจลงไป บางกีฬาแทบไม่ได้รับการสนับสนุนเลยด้วยซ้ำ ต่อให้เป็นระดับทีมชาติแล้วก็ตาม เรื่องนี้จึงย้อนแย้งกับ แนวคิดชาตินิยม ของคนอินเดีย ที่พร้อมสนับสนุนนักกีฬาทุกวรรณะ ทุกเชื้อชาติ ที่เล่นให้ทีมชาติ ให้สโมสรประจำเมือง แต่ถ้ากีฬานั้นไม่สำเร็จ คนก็ไม่ติดตาม และไม่อิน

ดังคับฟ้า หรือต่ำเพียงดิน?

เด็กผู้ชายจำนวนไม่น้อยหลายร้อยล้านชีวิต ในอินเดีย สามารถเข้าถึงกีฬาได้ตามโครงสร้างทางสังคม ส่วนใหญ่ เลือกฝึกหัด คริกเกต เพราะด้วยปัจจัยหลายอย่างที่เอื้อหนุน คริกเกต มีลีกอาชีพรองรับ มีรายได้ค่าตอบแทนที่แสนงดงาม รวมถึงชื่อเสียงและโอกาสที่ต่อยอดดีกว่ากีฬาชนิดอื่น

 4

เหตุผลหนึ่งที่ทำให้ คริกเกต บูมขึ้นมาอย่างมาก เป็นผลพวงมาจากการที่ ภาครัฐแทบทุกพื้นที่ ส่งเสริมกีฬานี้ จนมาถึงยุคที่ อินเดีย เริ่มเข้ามามีบทบาทในเศรษฐกิจโลก

ปีที่ผ่านมา GDP ของอินเดีย เติบโตขึ้นถึง 6.7 เปอร์เซนต์ มีผลรวมเท่ากับ ฝรั่งเศส และสหราชอาณาจักร ไม่แปลกหาก สโมสรคริกเกต เป็นจุดหมายหนึ่งที่ เศรษฐีคนดังทั้งหลาย ให้ความสนใจมาลงทุนกับกีฬาที่คนในชาติคลั่งไคล้ และพร้อมเป็นแฟนเดนตายสนับสนุนสโมสร

ตลอดจนการพัฒนารูปแบบการแข่งขันให้มีความสนุกยิ่งขึ้น จากเดิมที่มีการแข่งขันแบบ Test Cricket (3-5 วัน) ก็มีรูปแบบใหม่อย่าง One-day (1 วัน) มาถึงการแข่งขันแบบ Twenty20 ที่ลดเวลามาเหลือแค่ 3 ชั่วโมง ซึ่งไปได้สวยกับการถ่ายทอดสด

มูลค่าลิขสิทธิ์ การซื้อโฆษณา เฟื่องฟูขึ้นอย่างมาก ผลที่ตามมาคือ นักกีฬาคริกเกตอาชีพ มีค่าแทนตอบที่สูงขึ้นมาก ได้อยู่ตามหน้าสื่อตลอด เพราะเป็นบุคคลที่สาธารณชนนับพันล้านชีวิต ให้ความสนใจ

วิรัต โคห์ลี (Virat Kohli) อาจเป็นชื่อนักกีฬาอินเดียที่คนไทยไม่คุ้นหูนัก แต่ซูเปอร์สตาร์คริกเกต และกัปตันทีมชาติอินเดีย คนปัจจุบัน เป็นนักกีฬาอินเดีย เพียงคนเดียว ที่เข้าไปอยู่ในลิสต์ 100 นักกีฬาที่มีรายได้สูงสุดในโลกประจำปี 2018 จากการจัดอันดับของ Forbes

 5

โคห์ลี ติดอันดับ 83 มีรายได้ถึง 24 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คิดเป็นเงินไทย ตกอยู่ที่ประมาณ 783 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นรายได้จากค่าจ้าง เงินรางวัลที่ได้จากการแข่งขันเพียง 4 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ส่วนที่เหลืออีก 20 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นรายได้จากค่าลิขสิทธิ์ งานบันเทิง พรีเซนเตอร์สินค้าต่างๆ

ซึ่งเป็นอันดับที่เหนือกว่า โนวัค ยอโควิช นักเทนนิสมือ 1 ของโลก, เซร์คิโอ อเกวโร รวมถึงสองรายหลังอย่าง ลูก้า โมดริช, โมฮาเหม็ด ซาลาห์ ที่ไม่ติดอันดับท็อป 100 ด้วยซ้ำ โดย Forbes ได้อธิบายสรรพคุณของ วิรัต โคห์ลีว่า เขาจัดเป็นหนึ่งในนักกีฬาที่ได้รับความนิยมสูงสุดในโลก มีผู้ติดตามทวิตเตอร์มากกว่า 25 ล้าน Followers และมีผู้กดไลค์แฟนเพจของเขา มากกว่า 37 ล้านผู้ใช้งาน

แถมยังเป็นหนึ่งในห้าผู้เล่นคริกเกต ที่ได้รับสัญญาแบบ A+ (การันตีรายได้มากกว่า 1 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ) โดยปัจจุบันได้ค่าจ้างจาก Royal Challengers Bangalore ต้นสังกัดใน อินเดียน พรีเมียร์ ลีก มากกว่า 2.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

 6

อีกทั้งยังเป็นพรีเซนเตอร์กับสินค้ามากมาย อาทิ พูม่า, เป็ปซี่, ออดี้, โอคเลย์ รวมถึงยังทำหมวกซิกเนเจอร์กับ New Era และเป็นคนอินเดียคนแรกที่ได้เป็น แบรนด์ แอมบาสเดอร์กับ Uber

ชื่อเสียงของ ยอดนักคริกเกตวัย 30 ปี ไปไกลกว่าแค่วงการกีฬา รูปของเขาถูกติดอยู่ตามป้ายบิลบอร์ดทั่วไป เป็นไอดอลของเด็กๆที่หัดคริกเกตทั่วประเทศ

 7

หากเปิดทีวีก็จะเจอเขาเล่นหนัง โฆษณา มิวสิควิดีโอ เรียกว่า เราเห็น ณเดช คูกิมิยะ บ่อยแค่ไหน คนอินเดีย ก็คงเห็น วิรัต โคห์ลี ไม่น้อยกว่านั้น ที่สำคัญในการจับอันดับของ Forbes Indian กัปตันคริกเกตทีมชาติอินเดีย เข้าไปติดโผอันดับ 2 สายเซเลบริตี เหนือกว่านักแสดงของบอลลีวูดหลายคนเสียอีก

เขาทำรายได้มากกว่า ชาห์ รุค ข่าน (Shahrukh Khan) พระเอกชื่อดังหนังอินเดีย (แสดงเป็น พระเจ้าอโศก ในหนังเรื่องอโศกมหาราช ที่เคยมาฉายในบ้านเราเมื่อหลายปีก่อน) ที่เป็นเจ้าของทีมคริกเกต โกลกาตา ซึ่ง โคห์ลี เป็นรองแค่ ซัลมาน ข่าน (Salman Khan) ซูเปอร์สตาร์ตลอดกาลบอลลีวูดเพียงคนเดียวเท่านั้น

 8

ปัจจัยอีกด้านหนึ่งที่ วิรัต โคห์ลี อยู่บนสุดของนักกีฬาอินเดีย เป็นเพราะด้วย คนอินเดีย เวลาชอบอะไร จะชอบสุดๆ โดยเฉพาะนักกีฬาที่เก่งกาจ และสร้างชื่อเสียงให้ประเทศอย่างมาก โคห์ลี ได้เป็นถึงกัปตันทีมในกีฬาที่ฮิตสุดของประเทศ หากภาคธุรกิจ ภาคบันเทิง ต้องทำกำไร และจ้างใครสักคนมาเพื่อให้คนอินเดียสนใจ

แน่นอนเขาเป็นหนึ่งในทางเลือกที่ยากปฏิเสธ ส่งผลให้มูลค่าของ โคห์ลี พุ่งสูงขึ้นตามความต้องการของตลาด บ้านพักอาศัยของเขา เป็นหนึ่งในจุดหมายที่ กรุ๊ปทัวร์ จะต้องปักหมุดไว้ยามเดินทางไปที่ เมืองเดลี (Delhi) เหมือนกับดาราบอลลีวูด ที่บริเวณหน้าบ้านของเขา จะมีผู้เดินทางไปเฝ้ารอ เยี่ยมชม

นักกีฬาที่มีชื่อเสียง อาจไม่ได้ถึงขั้นที่แฟนกีฬา แตะต้องตัวไม่ได้ แต่การใช้ชีวิตประจำวัน ก็เต็มไปด้วยความยากลำบาก เพราะต้องดูแลเรื่องความปลอดภัย ตลอดจนความเป็นส่วนตัวที่หายไป ซึ่งเป็นสิ่งที่พวกเขาต้องแลกมา

ส่วนนักคริกเกตอาชีพคนอื่นๆ บางคนอาจไม่ได้โด่งดังเท่า วิรัต โคห์ลี หรือไม่ถูกเรียกติดทีมชาติ แต่รายได้จากการเล่นอาชีพ ก็ดีงามมากพอ ให้เขามีเงินใช้เหลือเฟือ ตามมูลค่าของลีกที่เบ่งบานขึ้น

นักกีฬาทีมชาติ จะถูกเชิดชูมากขึ้นไปอีก ยามเอาชนะได้ในรายการระดับนานาชาติ ในทางตรงกันข้าม ถ้าแพ้ขึ้นมา พวกเขาจะถูกโจมตีไม่น้อย ยิ่งถ้าเป็นการแพ้ต่อคู่ปรับอย่าง ปากีสถาน ยิ่งสร้างความไม่พอใจแก่แฟนๆ

 9

แต่คงไม่มีกรณีที่หนักหนาสาหัส และสร้างแรงสั่นสะเทือนวงการเท่ากับ โมฮัมหมัด อัซฮาร์รัดดิน อดีตกัปตันคริกเกตทีมชาติอินเดีย ที่ถูกตั้งข้อหาว่าพัวพันกับการพนัน และล้มการแข่งขัน 3 ครั้ง เป็นเหตุให้เขาถูกสั่งแบนไม่มีกำหนดห้ามเล่นให้ทีมชาติ และสโมสร จากเทพเจ้าคริกเกตที่ทุกคนรัก และยอมรับว่าเป็นนักคริกเกตที่ดีสุดแห่งยุค

ข้อกล่าวว่า “ล้มการแข่งขัน” ร้ายแรงมากสำหรับ อัซฮาร์รัดดิน ยิ่งเมื่อเขามีไลฟ์สไตล์ที่เจ้าสำราญ ฟุ่มเฟือย ทำให้หลักฐานที่ถูกสร้างขึ้นมา น่าเชื่อถือขึ้นไปอีก ช่วงเวลาดังกล่าว ไม่มีเพื่อนร่วมทีมคนใด กล้าไปเป็นพยานแก่เขา เพราะกระแสสังคมความไม่พอใจในตัว กัปตันอัซฮาร์ รุนแรงมากเกินไป แม้แต่ในบ้านเกิดเมืองไฮเดอราบัด

เขาแทบไม่สามารถเดินทางออกไปไหนมาไหนได้เลย เพราะต้องเจอกับสายตา คำพูดที่เหยียดหยาม คดีนี้ใช้เวลาพิจารณานานถึง 8 ปี ก่อนที่ศาลจะยกฟ้อง อัซฮาร์ เนื่องจากหลักฐานไม่มีน้ำหนักมากพอ แต่เขาก็แก่เกินไปที่จะกลับมาเล่นคริกเกตนัดที่ 100 ให้กับทีมชาติอินเดีย

ส่วนกีฬาที่ไม่ค่อยฮิต ไม่ค่อยมีผลงาน ไม่เป็นความหวังเหรียญ ย่อมมีวิถีชีวิตที่แตกต่างออกไป พวกเขาเหล่านี้เลือกเล่นกีฬาสากลประเภทอื่น ด้วยความมุ่งมั่นที่ต่างออกไป

บางคนชอบในกีฬา, บางคนฝันอยากรับใช้ทีมชาติอินเดีย ตามเลือดรักชาติที่มีอยู่เต็มเปี่ยมของคนที่นี่ บางคนหวังใช้มันเป็นบันไดไปสู่การรับราชการ เพราะนักกีฬาที่มีผลงาน สามารถยื่นสมัครคำร้องต่อรัฐบาล ขอเป็น ทหาร ตำรวจ ได้ (คล้ายๆกับเมืองไทย ที่นักกีฬาสมัครเล่นจำนวนมาก ติดยศด้วยผลงานด้านกีฬา)

ถึงจะไม่มีเส้นแบ่งทางวรรณะที่บอกว่า กีฬาไหนเหนือกว่ากีฬาไหน? หรือกีดกั้นไม่ให้คนวรรณะล่างเล่นกีฬาชนิดใด? แต่ระยะห่างของนักกีฬาซูเปอร์สตาร์ กับนักกีฬาสากลสมัครเล่น ช่างต่างราวฟ้ากับดิน ทั้งที่ทุกคนก็ลงเล่นภายใต้ธงชาติผืนเดียวกัน

สิ่งที่คนในวงการกีฬาที่ได้รับความนิยมน้อย ไม่มีผลงาน รอคอยที่สุด คือการเกิดขึ้นมาของ นักกีฬาวันเดอร์คิด หรือคนที่สามารถบุกเบิกสร้างผลงานในระดับนานาชาติ

 10

เพราะนั่นอาจหมายถึงโอกาสในการต่อรอง เพื่อให้ กีฬานั้นๆ ได้รับการสนับสนุน และพัฒนาที่ดีขึ้น เพราะตอนนี้มีข้อเท็จจริงที่น่าสนใจคือ อินเดีย ไม่มีเหรียญทองติดมือในโอลิมปิก มา 2 สมัยติดต่อกันแล้ว

ต่ำลงไปจากผืนดินในสังคมซับซ้อน

“ในอินเดีย สังคมครอบครัวยังเป็นแบบ ปิตาธิปไตย (Patriarchy) คือผู้ชายเป็นใหญ่ ในขณะที่ ผู้ชาย มีโอกาสต่างๆมากมายในชีวิต ผู้หญิงกลับถูกวางตำแหน่งไว้เป็นแค่แม่บ้านแม่เรือน ไม่ถูกสนับสนุนให้เล่นกีฬา หรือออกไปทำงานข้างนอก”

 11

“นี่เป็นประเด็นที่สังคมอินเดียยุคใหม่ พยายามตั้งคำถามถึงเรื่อง เพศสภาพกับความสามารถด้านกีฬา ซึ่งเทียบไม่ได้กับ ไทย เลย ที่ยังให้คุณค่ากับนักกีฬาเพศหญิง แต่ที่อินเดีย งบประมาณทุ่มลงไปเกือบหมดกับกีฬาของผู้ชาย ถ้า ดาลิตผู้ชาย คือวรรณะที่ต่ำสุด ผู้หญิงคือวรรณะในอินเดีย ถูกวางไว้ในตำแหน่งที่ต่ำกว่านั้น” ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก เปิดประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจ

ผู้หญิง เปรียบได้ดั่งพลเมืองชั้นสองของประเทศ พวกเธอถูกวางตำแหน่งไว้เป็นเพียง ผู้ดูแลปรนนิบัติสามี ที่เปรียบได้ดั่ง เทพในบ้าน หน้าที่ของพวกเธอของทำฝึกหัดตั้งแต่เด็ก คือ การทำความสะอาดบ้าน ทำอาหาร และเมื่อเข้าถึงวัยสาว พ่อแม่ของเธอ จะต้องเตรียมเงินสินสอดในการไปสู่ขอผู้ชาย เพื่อให้ลูกสาวตัวเองออกเรือน

มีกฎหมายที่ระบุว่า ตั้งแต่อายุ 12 ปีขึ้นไป สามารถออกเรือนได้ และการที่ครอบครัวฝ่ายหญิงไม่สามารถหาสินสอด หรือคู่ครองให้ลูกสาวตนเองได้ ถือเป็นเรื่องน่าอับอาย เด็กสาวคนนั้น จะถูกตำหนิว่าเป็น ผู้หญิงไม่ดี ถึงไม่มีใครเอาเป็นภรรยา

เมื่อเข้าสู่เรือน เธอต้องทำตามที่สามีบอก หากสามีไม่อนุญาตให้ออกไปทำงาน เธอจะไม่สามารถทำงานได้ ต้องอยู่บ้านเท่านั้น ทำให้ผู้หญิงจึงไม่ค่อยได้รับการศึกษา อาชีพการงานที่ดีนัก และบางครอบครัว ผู้หญิงต้องจำยอมรับความรุนแรง ทุบตี จากสามี และคนในครอบครัวสามี  สิ่งเหล่านี้ทำให้ ผู้หญิงอินเดีย ในยุคก่อน ขาดความเชื่อมั่นว่าตัวเองมีศักยภาพ และสามารถทำงานได้

 12

ถึงขนาดที่ว่า มีการฆ่าเด็กทารกแรกเกิดที่เป็น เพศหญิง เนื่องจากพ่อแม่ไม่ต้องการแบกรับภาระค่าใช้จ่ายอีกหลายปี รวมถึงการต้องไปกู้หนี้ยืมสินเพื่อขอแต่งงานให้ลูกสาว

ในอดีต จึงมีพิธีกรรมโบราณ สตี (Satee) ที่สาวหม้ายต้องกระโดดเข้ากองไฟ ตายตามสามี เพื่อตามไปรับใช้ต่อในโลกหน้า เด็กผู้หญิง แทบไม่ได้อนุญาตให้ออกนอกบ้านเพียงลำพัง เมื่อถูกข่มขืน พวกเธอจะถูกมองว่าเป็นฝ่ายผิด ที่ออกไปนอกบ้าน และถูกมองว่าเป็น ผู้หญิงไม่ดี ไม่มีใครอยากได้ไปเป็น ภรรยาต่อ จนทำให้เด็กสาวจำนวนไม่น้อยไม่กล้าแม้แต่แจ้งความ แม้แต่ถูกข่มขืน

ด้วยเหตุนี้ มีเพียง 1 เปอร์เซนต์ของเด็กผู้หญิงอินเดียที่เล่นกีฬา เพราะเงื่อนไข ปัจจัยหลายอย่าง ที่ไม่เอื้อ ซ้ำครอบครัวใด ส่งเสริมให้ลูกสาวออกไปเล่น ทำกิจกรรมข้างนอก ก็จะถูกตำหนิติเตียนจากญาติ คนรอบข้าง ทรัพยากรนักกีฬาหญิงอินเดีย ความสำเร็จในระดับสากล จึงไม่สัมพันธ์กับจำนวนประชากรหญิงที่มีสูงถึง 586 ล้านคน  

เมื่อเทียบกับ นักกีฬาชาย ที่มีทางเลือกมากมาย มีรายการแข่งขันระดับอาชีพ และสมัครเล่นเต็มไปหมด แนวคิดและวัฒนธรรมดั้งเดิม เริ่มถูกพยายามนำเสนอในมุมที่แตกต่างออกไป จากสื่อ และคนที่มีความคิดเสรีนิยม  

ในภาพยนตร์เรื่อง Dangal ได้กลายเป็นหนังกีฬาที่ทำรายได้ถล่มถลาย และสร้างกระแสแก่สังคมอีกครั้ง  ด้วยการนำชีวิตจริงของ สองนักมวยปล้ำหญิงทีมชาติอินเดีย (กีต้า-บาบิตา โพกัต) ที่ถูกบังคับให้ฝึกมวยปล้ำสู้กับผู้ชายตั้งแต่เด็ก โดยที่ผู้เป็นพ่อ (มหาเวีย ซิงห์ โพกัต) เป็นผู้ฝึกสอน ต้องเผชิญกับคำพูดดูถูกมากมาย ด้วยเป้าหมายที่อยากให้ ลูกสาวคว้าเหรียญรางวัลแก่ประเทศชาติ

 13

แถมยังไม่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐ แม้แต่เรื่องขอเบิกงบสำหรับซื้อเบาะฝึกซ้อม ก่อนที่ทั้งคู่จะเป็น นักมวยปล้ำหญิงอินเดีย ที่คว้าเหรียญทองกีฬาเครือจักรภพ ปี 2010 ซึ่งเป็นเหรียญทอง ที่ทำให้คนอินเดีย ยอมรับในครอบครัวเธอ และสร้างแรงบันดาลใจให้กับเด็กผู้หญิง กล้าลุกขึ้นมาแสดงความสามารถ

แต่ถึงกระนั้น ลักษณะนิสัยของผู้หญิงยุคใหม่ เริ่มกล้าที่ฝันใหญ่ ไม่ยอมตกอยู่ภายใต้กรงขังทางความคิดว่า “ผู้หญิงไม่มีความสามารถในการทำงานได้”

ช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ผู้หญิงอินเดีย เริ่มออกมาทำงานมากขึ้น ในตำแหน่งที่ดีขึ้น แม้จะยังไม่สามารถขึ้นไปในตำแหน่งสูงได้ตามความสามารถ แต่แนวโน้มเริ่มไปในทางบวก โดยเฉพาะเรื่องสิทธิความเท่าเทียม ที่เคยมีการชุมนุมเรียกร้องให้มีการออกกฎหมาย เพื่อความเท่าเทียมกัน ไม่ใช่แค่เฉพาะผู้หญิงที่ครอบครัวชนชั้นสูงเท่านั้น ถึงจะมีสิทธิ์และโอกาสในชีวิตที่ดี

ในวงการกีฬา ผู้หญิงอินเดีย เริ่มสร้างชื่อเสียงในเวทีระดับนานาชาติมากขึ้น แม้ในแง่ของการยอมรับ ชื่อเสียง เงินทอง เทียบไม่ได้เลยกับ นักกีฬาชายที่ไม่ประสบความสำเร็จเท่ากับพวกเธอ

เช่น แมรี คอม (Mary Com) เธอเป็นนักมวยสากลสมัครเล่นหญิง ที่คว้าเหรียญทองเวิลด์ แชมเปียนชิพ ถึง 6 ครั้ง, เหรียญเงิน โอลิมปิก 1 ครั้ง, เหรียญทอง เอเชียนเกมส์, กีฬาเครือจักรภพ และ เอเชียน อินดอร์เกมส์ อย่างละ 1 ครั้ง

แต่เธอ ยังคงโดนดูถูก เนื่องจากรูปลักษณ์ภายนอก ที่นักชกจากเมืองมณีปุระ ไม่เหมือนกับคนอินเดียทั่วไป รวมถึงไม่ได้ค่อยได้รับยอมรับตามเป็นจริง

หรือในรายของ ดีปิก้า คูมารี นักยิงธนูหญิง ที่มีการนำเสนอเรื่องราวเหตุการณ์ของเธอ ผ่านสารคดี Ladies First  เธอเกิดและเติบโตจากเมืองรานจิ เมืองที่ยากจนอันดับ 2 ของประเทศ ชีวิตในวัยเด็กเธอยากลำบากมาก เริ่มฝึกหัดยิงธนู เพื่อที่จะได้โควต้าเรียนฟรี โดยที่ไม่ต้องขอเงินพ่อแม่

 14

ดีปิก้า ฝึกซ้อมอย่างหนัก จนได้เป็นนักยิงธนูทีมชาติอินเดีย ประเภทบุคคล เธอประสบความสำเร็จอย่างมาก คว้าแชมป์โลกได้ถึง 3 สมัย ก้าวขึ้นเป็นมือ 1 ของโลกตั้งแต่อายุ 18 ปี (ปัจจุบันอายุ 24 ยังคงเป็นมือ 1 ของโลก) กวดรางวัลมานับไม่ถ้วน

อย่างไรก็ดี คูมารี กลับไม่ได้รับการสนับสนุนมากนักจากคนที่มีอำนาจ เธอร้องขอโค้ชจิตวิทยา ซึ่งจำเป็นมากกับกีฬาที่ต้องรับกับสภาพจิตใจ และมีสมาธิตลอดเวลา อย่าง กีฬายิงธนู แต่การไปแข่งขันโอลิมปิก ครั้งแรก (ปี 2012) เธอลงเล่นด้วยความคาดหวังเหรียญทองของคนทั้งชาติ ในฐานะนักกีฬามือ 1 ของโลก แต่เธอกลับแบกรับความกดดันไม่ไหว และตกรอบไป

โอลิมปิก เกมส์ ครั้งที่สอง (ปี 2016) เธอมีอาการบาดเจ็บหัวไหล่ แต่ไม่สามารถผ่าตัดได้ เนื่องจากใกล้ช่วงการแข่งขัน ดีปิก้า ต้องให้แพทย์ฉีดสเตียรอยด์ เพื่อรักษาอาการบาดเจ็บ และต้องกัดฟันลงเล่น โอลิมปิก แม้จะมีโค้ชจิตวิทยา แต่ในการแข่งขันครั้งนี้ เขาไม่ได้รับอนุญาตให้ไป มีเพียงแค่ เฮดโค้ช กับเธอ และเจ้าหน้าที่รัฐอีก 2 คนเดินทางไป ริโอ เดอ จาเนโร พวกเขาให้ ดีปิก้า นั่งเครื่องบินชั้นประหยัด ส่วนเจ้าหน้าที่รัฐ นั่งชั้นเฟิร์ส คลาส

การแข่งขันโอลิมปิก เกมส์ ครั้งที่สองของ ดีปิก้า จบลงด้วยการตกรอบ 16 คนสุดท้าย เธอถูกโจมตีอย่างหนักจากสื่อมวลชน ผู้คนต่างตำหนิเธอ รวมถึงครอบครัว มีเพื่อนบ้านไปด่าพ่อแม่ของ ดีปิก้า ว่าคิดผิดที่ให้เธอเล่นกีฬา

และถึงแม้ว่าในวันนี้ ดีปิก้า จะเป็นนักยิงธนูหญิงที่ดีสุดในโลก แต่ความนิยมในตัวเธอ ห่างกับ นักกีฬาชายไม่เห็นฝุ่น ในแฟนเพจอย่างเป็นทางการของ ดีปิกา มียอดกดไลค์แค่ 300,000 กว่าผู้ใช้งานเท่านั้น และชื่อของเธอก็ไม่ติดอันดับ 20 นักกีฬาที่ทำรายได้มากสุดของอินเดีย

สิ่งเหล่านี้ที่ทำให้ อินเดีย แตกต่างกับหลายชาติกีฬาชั้นนำของโลก ที่ผู้หญิง ได้รับการยอมรับในความสามารถทางกีฬา โดยไม่ได้มองว่าเธอมีเพศสภาพแบบไหน อย่างในประเทศไทย ผู้หญิงมีสิทธิ์ มีทางเลือก และสามารถประสบความสำเร็จ โด่งดัง มีรายได้ที่ดี ไม่แพ้ผู้ชาย

รัชนก อินทนนท์, นุศรา ต้อมคำ, เอรียา จุฑานุกาล ฯลฯ คือตัวอย่างของนักกีฬาหญิงไทยแถวหน้าของไทย  หรืออย่างในประเภททีม ทีมนักยกน้ำหนัก, เทควันโด และวอลเลย์บอลหญิงไทย ก็ได้รับยอมรับจากคนในประเทศ (อาจจะมากกว่าทีมชายด้วยซ้ำ)

 15

จนถึงปัจจุบัน อินเดีย ก็ยังไม่สามารถคว้าเหรียญทองโอลิมปิกได้จากนักกีฬาหญิง เรื่องนี้อาจไม่ได้เกี่ยวกับความสามารถเพียงอย่างเดียว แต่อาจหมายถึงแนวคิดที่ว่า ผู้หญิงไม่คู่ควรกับกีฬา

ทั้งที่ในโอลิมปิก เกมส์ ครั้งล่าสุด 1 เหรียญเงิน 1 เหรียญทองแดง ที่อินเดียทำได้ ก็เกิดขึ้นจากนักกีฬาหญิงทั้งคู่ โดยเหรียญเงิน จาก พี.วี. ซินธู (P.V. Sindhu) นักแบดมินตันหญิงเดี่ยว, เหรียญทองแดงจาก ซาคชิ มาลิก (Sakshi Malik) นักมวยสากลสมัครเล่นหญิง

หากไม่มีผู้หญิงอินเดีย ลงแข่งขันโอลิมปิกหนนี้ ประเทศที่พวกเขาภาคภูมิใจ คงไม่มีเหรียญรางวัลติดมือกลับมาฝากประชาชน เลยแม้แต่เหรียญเดียว ในโอลิมปิกเกมส์ 2016  

อินเดีย เป็นประเทศที่เต็มไปด้วยความซับซ้อนหลากหลายมิติ และความหลงใหลในเกมกีฬาที่ไม่แพ้ใคร ท่ามกลางความพร้อมหลายด้านของชาติ การสร้างค่านิยมให้ ผู้หญิง สามารถออกมาแสดงความสามารถ ในด้านกีฬา อาจเป็นกุญแจสำคัญที่ปลดล็อกพวกเขาสู่การเป็น มหาอำนาจด้านกีฬาของโลก

โลกกีฬา ถูกวิวัฒนาการมาไกลเกินกว่าจะแบ่งแยกด้วยชนชั้น สีผิว วรรณะ ความเชื่อ สถานะทางสังคม ซึ่งเป็นสิ่งสมมุติที่ มนุษย์สร้างขึ้นเท่านั้น หากแต่สิ่งหนึ่งที่จะทำให้ มนุษย์ มีคุณค่าขึ้นมาได้จริง คือ ความเท่าเทียม

 16

ที่ไม่ว่าเพศสภาพใด สถานะสังคมใหม่ เมื่อพวกเขาลงเล่นในนามทีมชาติ เขาก็คือตัวแทนทีมชาติ ที่ลงไปทำหน้าที่เพื่อศักดิ์ศรี เพื่อชัยชนะของชาติ และคนในชาติควรต้องให้การสนับสนุนเขา ระหว่างทาง ไม่ใช่รอแค่ยินดี ชื่นชมกับความสำเร็จในวันที่ยืนอยู่โพเดียมเท่านั้น

อัลบั้มภาพ 16 ภาพ

อัลบั้มภาพ 16 ภาพ ของ วรรณะในนักกีฬาอินเดียมีจริงหรือไม่?

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook