ตราประจำตระกูล สัตว์เทพ ตำนาน : อัตลักษณ์ที่แฝงไว้ในโลโก้ทีมฟุตบอลญี่ปุ่น

ตราประจำตระกูล สัตว์เทพ ตำนาน : อัตลักษณ์ที่แฝงไว้ในโลโก้ทีมฟุตบอลญี่ปุ่น

ตราประจำตระกูล สัตว์เทพ ตำนาน : อัตลักษณ์ที่แฝงไว้ในโลโก้ทีมฟุตบอลญี่ปุ่น
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

นอกจากการดีไซน์ที่มีทั้งความสวยงามและแปลกตา สิ่งที่แปะอยู่บนหน้าอกซ้ายของทีมฟุตบอลญี่ปุ่นยังมีความหมายมากกว่าที่คิด

อะไรคือสิ่งที่ทำให้คนจดจำองค์กรได้มากที่สุด? นอกจากชื่อแล้ว หนึ่งในคำตอบสำคัญ คงจะหนีไม่พ้นสัญลักษณ์ที่เรียกว่า “โลโก้” เพราะภาพ คือ เครื่องมือชั้นดีที่ทำให้คนรับรู้ได้เร็วที่สุด

 

ฟุตบอลญี่ปุ่นเองก็เช่นกัน หลังจากก่อตั้งเจลีกในปี 1993 ก็มีหลายสโมสรเกิดขึ้นมากมาย เช่นเดียวกับโลโก้ของทีมที่ดีไซน์ขึ้นมาใหม่ บางทีมดูเกรงขาม บางทีมดูแปลกตา แต่มันก็กลายเป็นภาพแทนให้กับสโมสรได้เป็นอย่างดี

ทว่าการออกแบบของพวกเขาก็ไม่ได้มีแค่นั้น เพราะมันเต็มไปด้วยความหมาย ที่บางทีมอาจลึกซึ้งจนคาดไม่ถึง อะไรที่คนญี่ปุ่นแฝงไว้ในโลโก้ทีมฟุตบอลของพวกเขา ร่วมหาคำตอบไปกับ Main Stand

ถึงเวลารีแบรนด์

แม้ว่าจะเป็นหนึ่งในประเทศที่มีประวัติศาสตร์ฟุตบอลยาวนานประเทศหนึ่งของเอเชีย หลังก่อตั้งสมาคมฟุตบอลในปี 1921 และมีลีกฟุตบอลเหมือนตะวันตกตั้งแต่กลางทศวรรษที่ 1960 แต่โลโก้ที่เห็นกันทุกวันนี้ กลับมีมาไม่ถึง 30 ปี เนื่องจากในสมัยก่อนลีกฟุตบอลเป็นเพียงแค่ลีกสมัครเล่น ทีมที่เข้าแข่งขันล้วนเป็นทีมจากองค์กรหรือบริษัท ทำให้ชื่อทีมและโลโก้ส่วนใหญ่ จึงมักจะได้รับแรงบันดาลใจมาจากองค์กรที่สังกัดอยู่

 1

ตัวอย่างเช่น มิตซูบิชิ มอเตอร์ส (อุราวะ เรดส์) โลโก้ของพวกเขา เคยเป็นรูปข้าวหลามตัดสีแดงเรียงต่อกัน เหมือนกับโลโก้ของบริษัทมิตซูบิชิ หรือ ยามาฮา เอฟซี (จูบิโล อิวาตะ) และ โตโยต้า เอฟซี (ซานเฟรชเช ฮิโรชิมา) โลโก้ของพวกเขาก็ถอดแบบมาจากบริษัทยามาฮา และ โตโยต้าราวกับแกะ ในขณะที่ ANA โยโกฮามา (โยโกฮามา ฟลูเกลส์) ที่มีสปอนเซอร์หลักเป็นสายการบิน All Nippon Airway โลโก้ของพวกเขาเป็นรูปเครื่องบินหน้าตาน่ารักล้อมรอบด้วยชื่อทีม

ทว่าการมาถึงของเจลีก ลีกฟุตบอลอาชีพลีกแรกของญี่ปุ่น ก็นำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ เพราะนอกจากการเปลี่ยนชื่อทีมโดยห้ามมีชื่อของบริษัทหรือองค์กรแล้ว ทุกทีมจำเป็นต้องออกแบบโลโก้รูปแบบใหม่ให้สอดคล้องกับชื่อทีมที่เปลี่ยนไป

มันจึงเป็นจุดเริ่มต้นในการแสดงอัตลักษณ์ผ่านฟุตบอลของคนญี่ปุ่น ทว่าพวกเขานำเสนอในรูปแบบไหนบ้าง?

ของดีประจำถิ่น

ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ชุมชนค่อนข้างเข้มแข็ง ทำให้แต่ละพื้นที่จึงมักจะมีอะไรบางอย่างที่เป็นตัวแทนประจำถิ่นอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็น อาหาร สัตว์ หรือดอกไม้ เช่นหากเป็นจังหวัดอาโมโมริ ต้องนึกถึงแอปเปิ้ล จังหวัดชิสุโอกะ ขึ้นชื่อเรื่องใบชา หรือเนื้อวัวก็ต้องเป็นของโกเบ จังหวัดเฮียวโงะ ซึ่งทำให้โลโก้ของสโมสรฟุตบอลหลายทีมมักจะเลือกของชื่อดังประจำถิ่น มาเป็นตัวแทนภาพลักษณ์ของสโมสร

 2

เหมือนดั่ง ฮอกไกโด คอนซาโดเล ซัปโปโร ต้นสังกัดของชนาธิป สรงกระสินธ์ ที่เลือกใช้สัตว์ที่เป็นนกฮูกชื่อว่า Shima Fukurou ซึ่งเป็นนกฮูกที่ใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่น มาเป็นโลโก้ เนื่องจากนกชนิดนี้พบได้มากบนเกาะฮอกไกโด

"Shima Fukurou (นกฮูกปลาของ Blakiston)" เป็นนกฮูกที่ใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่น อาศัยอยู่ในฮอกไกโดและได้รับการออกแบบสัญลักษณ์ของทีม บนโล่ของ Shima Fukurou มีปีกบินอยู่ด้านบน ดาวฤกษ์ 11 ดวง (ผู้เล่น 11 คน) ดวงตาที่จ้องมองจ้องไปที่ชัยชนะ (spirit fighting) และมีแถบสีขาวแสดงถึงพายุหิมะ (aggressiveness) เหล่านี้ได้รับการออกแบบในริบบิ้นโค้งซึ่งเป็นตัวแทนของบ้านเกิด” คำอธิบายความหมายโลโก้ในเว็บไซต์อย่างเป็นทางการของ คอนซาโดเล ซัปโปโร

 3

กัมบะ โอซากา ก็เป็นอีกหนึ่งทีมที่เลือกสัตว์มาเป็นโลโก้ พวกเขาใช้ นกอีเสือ (Mozu) ซึ่งเป็นนกประจำจังหวัดโอซากา ในขณะเดียวกัน เจฟ ยูไนเต็ด จิบะ ก็เลือกใช้สุนัขเนื่องจากความโด่งดังของสุนัขจิบะ ซึ่งเป็นพันธ์ยอดนิยมของชาวญี่ปุ่น

อย่างไรก็ดี ไม่ใช่แค่สัตว์เท่านั้นที่ เมื่อ ภูเขาไฟ บ่อน้ำร้อน หรือ น้ำวน ก็ยังถูกนำมาใช้เป็นโลโก้สโมสร ดังเช่น คลาโร นุมาสุ ซึ่งอยู่ในเมืองที่เป็นที่ตั้งของภูเขาไฟฟูจิ ก็ใช้ภูเขาไฟแห่งนี้เป็นโลโก้ หรือ เดอะ สปา คุซัตสึ กุมมะ ของเมืองกุมมะ ที่เลือกบ่อน้ำร้อนเนื่องจากกุมมะ โด่งดังเรื่องบ่อน้ำร้อนในระดับประเทศ ในขณะที่ บ่อน้ำวนนารุโตะซึ่งเป็นสถานที่ที่มีชื่อเสียงของโทคุชิมา ก็ถูกเลือกนำมาใช้เป็นโลโก้ของ โทคุชิมา วอร์ติส

การเลือกสิ่งที่มีในชุมชนเป็นเครื่องแสดงอัตลักษณ์ไม่ได้มีแค่นี้ เพราะบางสโมสร บุคคลก็ถือเป็นตัวแทนของท้องถิ่นเช่นกัน

บุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์

ประวัติศาสตร์ของญี่ปุ่นมีมานานหลายพันปี และมีการบันทึกหลักฐานโดยตลอด ทำให้คนในประวัติศาสตร์มักจะถูกนำเสนอเรื่องราวให้เป็นที่รู้จักอยู่เสมอ และบางทีก็ถูกนำมาใช้เป็นสัญลักษณ์ของสโมสร

 4

ที่คุ้นเคยที่สุดคงจะเป็น ซานเฟรชเช ฮิโรชิมา อดีตทีมของธีรศิลป์ แดงดา พวกเขาใช้ธนูสามดอกเป็นสัญลักษณ์สำคัญของสโมสร โดยมีต้นกำเนิดมาจากโมริ โมโตนาริ ผู้ปกครองพื้นที่ฮิโรชิมาในอดีต ที่สอนลูกชายทั้งสามคนว่า ธนูดอกเดียวหักง่าย แต่หากอยู่รวมกันสามดอก ก็ยากจะทำลาย เช่นเดียวกันกับความสามัคคี ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าคนฮิโรชิมาให้ความสำคัญกับบุคคลสำคัญท้องถิ่นขนาดไหน

 5

“คนฮิโรชิมา โดยเฉพาะเมืองอาคิทาคาตะ (บริเวณแคว้นอาคิในอดีต) ที่เป็นเมืองเกิดของโมริ โมโตนาริ และเป็นเหมือนฐานอำนาจตั้งต้นในการปกครองช่วงศตวรรษที่ 15-16 ให้ความสำคัญกับเขามาก” ปฐมาภรณ์ วรศิริ อาจารย์ประจำสาขาภาษาญี่ปุ่น คณะศิลปศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง กล่าวกับ Main Stand

“หากเดินทางไปที่นั่น จะเห็นผืนธงขนาดใหญ่ลายตราประจำตระกูล (Ichimonji Mitsuboshi​​​​​​​) บนภูเขา รวมถึงมีอนุสาวรีย์และพิพิธภัณฑ์ของเมืองก็เล่าเรื่องราวของเขาในฐานะบุคคลสำคัญของท้องถิ่น”

การให้ความสำคัญกับบุคลในประวัติศาสตร์ยังเห็นได้จากทีม มิโตะ ฮอลลีฮอค ที่ใช้ใบของดอกฮอลลีฮอคซึ่งมาจากตราประจำตระกูลโทคุงาวะ ตระกูลที่ปกครองญี่ปุ่นในสมัยเอโดะเป็นส่วนหลักของโลโก้ ส่วนมังกรล้อมรอบยังสื่อไปถึง โทคุคาวะ มิตสึคุนิ ไดเมียวที่เคยปกครองแคว้นมิโตะ  

หรือแม้แต่ตัวละครในตำนานที่ไม่มีอยู่จริง คนญี่ปุ่นก็ยังนำมาเป็นเครื่องแสดงอัตลักษณ์ของเมือง ดังเช่นไก่ฟ้าในเรื่องโมโมทาโร ที่ถูกนำมาเป็นโลโก้ของทีมฟาเจียโน โอคายามะ เนื่องจากจังหวัดโอคายามะ ถือถิ่นกำเนิดของตำนานโมโมทาโร

และบางทีสิ่งที่อยู่สูงอย่างเทพเจ้าก็ยังหนีไม่พ้นที่จะถูกนำมาเป็นเครื่องแสดงตัวตนของสโมสร 

สัตว์เทพและตำนาน

สัตว์เทพก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ชาวญี่ปุ่นให้ความเคารพ ทำให้นอกจาก สัตว์ ต้นไม้ สิ่งของ หรือบุคคลในประวัติศาสตร์แล้วแล้ว โลโก้สโมสรบางทีมยังมีที่มาจากสัตว์ในตำนาน และกลายเป็นเสมือนจิตวิญญาณของทีม

 6

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดที่สุดคือ ทีมชาติญี่ปุ่นซึ่งเป็นตัวแทนของชาติ พวกเขาใช้ “ยาตะการาสุ” หรืออีกายาตะ สัตว์เทพประจำตัวของเทพีอามาเตราสุ ซึ่งในตำนาน “ยาตะการาสุ” ถูกส่งลงมานำทางให้จักรพรรดิจิมมุ จักรพรรดิคนแรกของญี่ปุ่น ต่อสู้จนศัตรูแพ้พ่าย จนสามารถก่อตั้งประเทศญี่ปุ่นได้สำเร็จ

ในระดับสโมสรก็มีการใช้สัตว์เทพเช่นกัน อาธิ เกียวโต ซังงะ ที่มีนกโฮโอ ซึ่งเป็นนกในตำนานของญี่ปุ่น (คล้ายกับนกฟีนิกซ์ของตะวันตก) เป็นโลโก้สโมสร เนื่องจากในเมืองเกียวโต มีวัดที่ชื่อว่าเบียวโดอิง ที่มีนกโฮโอเป็นสัญลักษณ์สำคัญของวัด

หรือ นาโงยา แกรมปัส ที่มีวาฬเพชฌฆาตในโลโก้ หลังได้แรงบันดาลใจมาจากปลา Shachihoko ปลาในตำนานที่เป็นรูปหล่อบนปราสาทนาโงยา ที่หัวจะมีลักษณะคล้ายมังกรหรือเสือ ส่วนลำตัวเป็นปลา ซึ่งถ้าตัดให้เหลือคำว่า Shachi ยังมีความหมายว่า “วาฬเพชฌฆาต” ในภาษาญี่ปุ่นอีกด้วย

หรือใหม่ขึ้นมาหน่อยคือ เอฟซี ริวกิว ทีมของจังหวัดโอกินาวา ที่เพิ่งก่อตั้งเมื่อมี 2003 ตัดสินใจใช้ โคมะอินุ ซึ่งเป็นเทพปกปักตามความเชื่อของคนท้องถิ่น มาเป็นสัญลักษณ์ของทีม

ดังจะเห็นได้ว่าคนญี่ปุ่นสามารถนำทุกอย่างไม่ว่าจะเป็นคน สัตว์ สิ่งของ หรือแม้แต่เทพเจ้า มาเป็นตัวแทนของท้องถิ่น ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น?

ท้องถิ่นเข้มแข็งและวิถีแห่งเทพเจ้า

การกำเนิดขึ้นของเจลีก ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงมากมายให้แก่วงการฟุตบอลญี่ปุ่น เนื่องจากกฎใหม่ที่ห้ามให้ทีมไปผูกกับองค์กรและบริษัท ทำให้สโมสรจำเป็นต้องไปสร้างสัมพันธ์กับท้องถิ่นมากขึ้นตามจุดประสงค์เจลีก

และเนื่องมาจากญี่ปุ่นเป็นชาติที่ท้องถิ่นมีความแข้มแข็ง จากการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นที่มีมาอย่างยาวนานกว่า 500 ปีตั้งแต่สมัยเอโดะ ทำให้คนญี่ปุ่นนิยมแสดงอัตลักษณ์ของท้องถิ่นออกมาอย่างเต็มที่ ไม่เว้นแม้แต่ฟุตบอล

ด้วยเหตุนี้ทำให้สโมสรเจลีกตั้งแต่ยุคเริ่มต้นจนถึงปัจจุบัน นอกจากชื่อสโมสรแล้ว โลโก้ของทีมก็ออกแบบผ่านการนำเสนอตัวตนทีมออกมาให้ได้มากที่สุด

 7

ตัวอย่างเช่น โยโกฮามา มารินอส พวกเขาเลือกใช้สมอเรือและนกนางนวลเป็นตัวแทนสโมสร จากการที่เมืองโยโกฮามา เป็นท่าเรือที่มีประวัติศาสตร์อันยาวนาน

“ชุมชนญี่ปุ่นเขาเข้มแข็ง เข้มแข็งด้วยเงื่อนไขที่ถูกทำให้เป็นชุมชนเมืองมาเป็นเวลา 500 ปี” กฤตพล วิภาวีกุล นักศึกษาปริญญาเอกด้าน International study มหาวิทยาลัยวาเซดะ ประเทศญี่ปุ่นกล่าวกับ Main Stand

“ในขณะที่ระดับประเทศ ของไทยเพิ่งจะมีมา 700 ปี ส่วนชุมชนเมืองของ ‘ประเทศไทย’เพิ่งจะมีมาไม่ถึง 100 ปีเอง แบบเมืองย่อยๆนะ ถ้าเมืองใหญ่มีมานานแล้ว”

“เพราะฉะนั้นมันจึงมีความเป็นอัตลักษณ์ เพราะมันมีความเป็นหมู่บ้านมาตั้งนานแล้ว มีความเป็นเมือง เป็นแคว้น เป็นระบบเมืองที่มีความเข้มแข็ง มันจึงสามารถสร้างวัฒนธรรมอะไรได้มากมาย”

ในขณะเดียวกัน ไม่เพียงแต่สิ่งที่เป็นรูปธรรมอย่าง สัตว์ สิ่งของ หรือบุคคลเท่านั้น ที่สามารถนำมาเป็นโลโก้ของสโมสร แต่สิ่งที่เป็นนามธรรมอย่างเทพเจ้า ก็สามารถนำมาใช้เป็นโลโก้สโมสรได้เช่นกัน นั่นเป็นเพราะว่าสิ่งที่เรียกว่าศาสนาชินโต

ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีศาสนาชินโตเป็นพื้นฐาน โดยมีความเชื่อว่าเทพเจ้าสิงสถิตอยู่ทุกที่ ทั้งในป่า บนภูเขา ทะเล แม่น้ำ ลำธาร ในสายลม แม้แต่ในบ้านเรือนและเรือกสวนไร่นา พวกเขาจึงให้ความเคารพต่อธรรมชาติ

“ญี่ปุ่น เป็นประเทศที่มีศาสนาชินโตอยู่ในวิถีชีวิต เราไม่อาจเรียกได้ว่าชาวญี่ปุ่นนับถือศาสนาชินโต แต่วิถีแบบชินโตจะอยู่ในความเชื่อ การใช้ชีวิตหรือวิถีชีวิตของชาวญี่ปุ่น ดังนั้นอะไรที่เกี่ยวกับชาติจึงเชื่อมโยงกับชินโตแทบทั้งสิ้น” ปฐมาภรณ์กล่าว

สิ่งนี้ได้กลายเป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้พวกเขากล้าที่จะเลือกสัตว์เทพ หรือนำเรื่องในตำนานที่เป็นอัตลักษณ์ของท้องถิ่นมาใช้เป็นโลโก้ของสโมสร

“การที่สโมสรฟุตบอลบางสโมสรเลือกใช้ สัตว์เทพเป็นโลโก้ สะท้อนให้เห็นว่าพวกเขามองสัตว์เหล่านี้เป็นสัตว์มงคล และหวังว่ามันจะปกปักรักษาและนำสโมสรหรือทีมไปสู่ความสำเร็จ”

หายไปหรือยังอยู่?  

สโมสรญี่ปุ่นมีการเกิดใหม่เกือบทุกปี จากการผลักดันของสมาคมฟุตบอลญี่ปุ่น ที่ต้องการให้ลีกมีทีมอาชีพให้มากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้

 8

อย่างไรก็ดี แม้เวลาจะผ่านมากว่า 25 ปี นับตั้งแต่การก่อตั้งเจลีก แต่แนวทางการออกแบบของสโมสรญี่ปุ่นส่วนใหญ่ก็ยังคงไว้ด้วยอัตลักษณ์ของท้องถิ่นเช่นเดิม ไม่เว้นแม้แต่ทีมเกิดใหม่

ดังเช่น สโมสรเบลาบิตซ์ อาคิตะ ที่ก่อตั้งเมื่อปี 2010 พวกเขาเลือกใช้หน้ากากยักษ์เป็นแกนหลักของโลโก้ เนื่องจากเมืองอาคิตะ โด่งดังจากเทศกาล นามาฮาเงะ ที่ให้คนใส่หน้ากากยักษ์ไปอวยพรและตักเตือนผู้คนในหมู่บ้านในช่วงปีใหม่ หรือคาโงชิมา ยูไนเต็ด อดีตทีมของสิทธิโชค ภาโส ที่ก่อตั้งมาไม่ถึง 4 ปี ก็เลือกที่จะใช้ภูเขาไฟ ซากุระจิมะ ภูเขาไฟอันโด่งดังของเมืองบนโลโก้สโมสร

เห็นได้ชัดเจนว่าสิ่งที่สโมสรส่วนใหญ่พยายามนำเสนอผ่านโลโก้ของตัวเองคือความเป็นตัวตนของท้องถิ่น โลโก้ของสโมสรจึงออกมาในรูปแบบที่สื่อไปถึงชุมชน ทั้งแบบตรงไปตรงมาหรือตีความ เป็นเหมือนการทำให้ภาพจำของท้องถิ่นนั้นแจ่มชัดขึ้น เช่นหากพูดถึง อันท์เลอร์สก็จะนึกถึงกวาง หรือพูดถึง เอฟซี ริวกิว ก็จะนึกถึงโคมะอินุ เป็นต้น

ในทางกลับกันนอกจากการแสดงตัวตนแล้ว มันยังเป็นเครื่องมือในการร่วมมือร่วมใจกันของคนในท้องถิ่น ที่ทำให้แฟนบอลรู้สึกว่าสโมสร คือ ตัวแทนของชุมชน ผ่านสัญลักษณ์ที่พวกเขามีความรู้สึกร่วมไปกับมัน

มันจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่อัตลักษณ์ของท้องถิ่นจึงปรากฎอยู่บนโลโก้ของสโมสรญี่ปุ่นในรูปแบบที่หลากหลายและมากมายถึงเพียงนี้

อัลบั้มภาพ 8 ภาพ

อัลบั้มภาพ 8 ภาพ ของ ตราประจำตระกูล สัตว์เทพ ตำนาน : อัตลักษณ์ที่แฝงไว้ในโลโก้ทีมฟุตบอลญี่ปุ่น

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook