การเมืองเรื่องฟุตบอล : จะเกิดอะไรขึ้นถ้าแคว้นบาสก์มีทีมชาติเป็นของตัวเอง?

การเมืองเรื่องฟุตบอล : จะเกิดอะไรขึ้นถ้าแคว้นบาสก์มีทีมชาติเป็นของตัวเอง?

การเมืองเรื่องฟุตบอล : จะเกิดอะไรขึ้นถ้าแคว้นบาสก์มีทีมชาติเป็นของตัวเอง?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

กลายเป็นข่าวฮือฮาไปทั่วโลกเมื่อแคว้นบาสก์ เขตปกครองอิสระของสเปน เตรียมยื่นเรื่องต่อยูฟ่าและฟีฟ่า เพื่อจัดตั้งทีมชาติบาสก์ลงแข่งในเกมการแข่งขันอย่างเป็นทางการ

 

“ตามความเจตจำนงของสมาพันธ์ฟุตบอลบาสก์ เพื่อให้ทีมชาติของเราเป็นที่ยอมรับในระดับสากล เราได้ตัดสินใจยื่นเรื่องอย่างเป็นทางการต่อยูฟ่า และฟีฟ่าโดยตรง” แถลงการณ์ของสมาคมฟุตบอลบาสก์

อันที่จริงไอเดีย “ทีมชาติบาสก์” ก็ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะก่อนหน้านี้พวกเขาเคยลงเตะในนามทีมชาติมาก่อนในช่วงปี 1920 ก่อนจะถูกนายพลฟรังโก ฟรานซิสโก จอมเผด็จการของสเปนแบน เนื่องจากเป็นสัญลักษณ์ในการเรียกร้องเอกราช

แม้จากนั้นในปี 1978 ทีมชาติบาสก์จะกลับมาลงเล่นได้อีกครั้ง แต่ก็เป็นเพียงเกมที่ไม่เป็นทางการ เนื่องจากพวกเขาไม่ได้เป็นสมาชิกของฟีฟ่าหรือยูฟ่า

เหตุใดพวกเขาอยากมีทีมชาติลงเล่นในทัวร์นาเมนต์อย่างเป็นทางการ และอะไรจะเกิดอะไรหลังจากนั้นหากทำได้สำเร็จ ร่วมหาคำตอบไปพร้อมกับ Main Stand

ฟุตบอลแห่งแคว้นบาสก์

บาสก์คือเขตปกครองตนเองของราชอาณาจักรสเปน ประกอบไปด้วย 4 เขตทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของสเปน โดยมีส่วนหนึ่งอยู่ในประเทศฝรั่งเศส มีประชากร 3 ล้านคน หรือคิดเป็น 4.6% เปอร์เซ็นของประเทศ และมีวัฒนธรรมที่แตกต่างจากสเปนและฝรั่งเศสอย่างชัดเจน

 1

พวกเขายังมีกฎหมายรวมไปถึงภาษาของตัวเองที่ชื่อว่าภาษา  ยิสคารา (Euskara) และเนื่องจากเป็นที่ตั้งท่าเรือประมงขนาดใหญ่ และมีระบบธนาคารและอุตสาหกรรมที่มั่งคั่ง ทำให้แคว้นบาสก์ถือเป็นเขตเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ

และด้วยความแตกต่างเหล่านี้ ทำให้บาสก์พยายามจะเป็นอิสระจากสเปนมาโดยตลอด พวกเขาเคยมีองค์กรทางการเมืองที่ชื่อว่า Euskadi ta Askatasuna หรือ ETA ที่ใช้ความรุนแรงในการต่อสู้จนมีผู้คนล้มตายไปถึง 820 คน จนถูกตราหน้าว่าเป็นกลุ่มก่อการร้ายสากล แต่ปัจจุบันได้ประกาศยุติการเคลื่อนไหวในเชิงความรุนแรงแล้ว  

ชาวบาสก์เป็นหนึ่งในกลุ่มคนที่มีความคลั่งไคล้ฟุตบอลไม่แพ้ภูมิภาคอื่น ในพื้นที่นี้เป็นที่ตั้งของ 4 สโมสรในลาลีลาอย่าง แอธเลติก บิลเบา, เรอัล โซเซียดัด, อลาเบส และเออิบาร์ พวกเขายังมีทีมชาติเป็นของตัวเองมาตั้งแต่ปี 1930 และลงแข่งในเกมกระชับมิตรเรื่อยมา

เกมนัดล่าสุดของพวกเขาคือเกมพบกับ เวเนซุเอลา เมื่อวันที่ 12 ตุลาคมที่ผ่านมา โดยทีมชาติบาสก์ที่ประกอบไปด้วย แข้งดังหลายราย ทั้ง อาริตซ์ อาดูริซ ดาวยิงระดับตำนานของ แอธเลติก บิลเบาทีมที่ใช้แต่นักเตะเชื้อสายบาสก์, อินากิ วิลเลียมส์ ปีกจอมพลิ้วที่ติดทีมชาติสเปนไปแล้ว และ  อาซิเอร์ อิยาร์ราเมนดี้ อดีตแข้งเรอัล มาดริด ที่เล่นให้กับ เรอัล โซเซียดัด เป็นฝ่ายไล่ถล่มเวเนซุเอลาไป 4-2

 2

นอกจากนักเตะข้างต้น แคว้นบาสก์ยังเป็นต้นกำเนิดของนักเตะดังมากมาย อย่าง บิเซนเต ลิซาราซู อดีตแบ็คซ้ายแชมป์โลกของฝรั่งเศส, ซาบี อลองโซ อดีตกองกลาง ลิเวอร์พูล และ เรอัล มาดริด หรือแข้งทีมชาติสเปนอย่าง เกปา อาร์ริซาบลังกา และ เฟอร์นันโญ ยอร์เรนเต

“ผู้เล่นชาวบาสก์จำนวนมากเป็นนักฟุตบอลในท็อป หมายความว่าพวกเราสามารถลงแข่งขันได้ หากได้รับอนุญาตให้ลงแข่งในเกมระดับนานาชาติอย่างเป็นทางการ” มิเกล เอตซารี กุนซือทีมชาติบาสก์กล่าวกับ BBC

“ผมเชื่อว่าเราอยู่ในระดับเดียวกับยูเครน หากเราฟูลทีมด้วยผู้เล่นอย่างเกปา (อาร์ริซาบลังกา)  แน่นอนว่าเรานะเก่งกว่าสก็อตแลนด์ ดีกว่าเวลส์ หากเราได้รับการยอมรับในฐานะทีมชาติ เกม (อย่างการพบกับ เวเนซุเอลา) จะเป็นนัดสำคัญที่แสดงให้เห็นว่าเราลงแข่งได้”  

อย่างไรก็แม้ว่าจะมีนักเตะระดับสูงมากมายที่สามารถเล่นให้กับทีมชาติบาสก์ แต่พวกเขาก็ทำได้เพียงแค่ลงเล่นนัดกระชับมิตร การยื่นเรื่องขอเป็นสมาชิกฟีฟ่าและยูฟ่าอย่างเป็นทางการ เป็นวิธีสำคัญที่ทำให้พวกเขาไปต่อได้

แต่จะทำได้ไหม? ในเมื่อพวกเขายังไม่ได้รับสถานะเป็นประเทศ

ประเทศของสหประชาชาติ ≠ ประเทศของฟีฟ่า

แม้ว่าแคว้นบาสก์ จะเป็นเพียงแค่เขตปกครองอิสระของสเปน แต่การยื่นเรื่องขอจัดตั้งทีมชาติต่อฟีฟ่า ไม่ได้เป็นเรื่องไกลเกินเอื้อม เนื่องจากมีชาติอีกมากมายที่สามารถลงเตะฟุตบอลในเกมของฟีฟ่าได้ทั้งที่ไม่รับการรับรองเป็นประเทศ

 3

ตัวอย่างที่ใกล้ตัวที่สุดคือ ไต้หวัน และกวม ที่เป็นเพียงส่วนหนึ่งในการปกครองของจีน และสหรัฐอเมริกาตามลำดับ แต่สามารถลงเตะในฟุตบอลโลกรอบคัดเลือกโซนเอเชีย หรือลงเล่นในเกมการแข่งขันของสหพันธ์ฟุตบอลแห่งเอเชีย ซึ่งเหตุผลสำคัญที่สุดในเรื่องนี้คือการนิยามคำว่า “ประเทศ” ของสหประชาชาติ และฟีฟ่า เป็นคนละส่วนกัน

“ก่อนอื่นต้องแยกก่อนว่าประเทศที่มีทีมชาติได้ คือประเทศที่ฟีฟ่ารับรองไม่ใช่เป็นประเทศจริงๆ พูดง่ายๆคือประเทศที่เตะฟุตบอลโลกเนี่ย มันอยู่ภายใต้การนิยามของฟีฟ่า” อาจินต์ ทองอยู่คง อาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวกับ Main Stand

ดังนั้นการเป็นประเทศในนิยามของ UN และฟีฟ่า จึงไม่เหมือนกันเสียทีเดียว บางประเทศอาจจะเป็นสมาชิก UN แต่ไม่ได้เป็นสมาชิกฟีฟ่า หรือบางประเทศอาจเป็นสมาชิกของฟีฟ่า แต่ไม่ได้รับการรับรองเป็นประเทศ เหมือนดังไต้หวัน หรือกวม

ด้วยช่องโหว่ดังกล่าวทำให้เมื่อปี 2014 มีข่าวฮือฮาว่าสโมสรจากโคโซโว ที่ไม่ได้เป็นสมาชิกของฟีฟ่าในตอนนั้น (ปัจจุบันได้รับการรับรองใน 2016) เชิญ หลุยส์ ซัวเรซ ไปเล่น หลังเขาโดนแบนจากฟีฟ่าจากการไปกัด (จอร์โจ้) คิเอลลินี กองหลังทีมชาติอิตาลีในฟุตบอลโลก 2014

“สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นว่า เส้นแบ่งการเป็นสมาชิกของฟีฟ่า และเส้นแบ่งการเมืองโลกมันคนละเส้นกัน มันอาจจะใกล้เคียงกัน อย่างประเทศไทยเป็นเส้นเดียวกัน แต่ในบางกรณีมันเป็นคนละเส้นกัน”

ทีมชาติของฟีฟ่าจึงไม่ใช่เท่ากับประเทศโดยตรงร้อยเปอร์เซ็นต์ แม้ว่ามันจะใกล้เคียงก็ตาม

“อย่างเช่นตัวแทนของประเทศไทย จริงๆแล้วมันไม่ใช่ประเทศไทยนะที่ไปแข่งฟุตบอลของฟีฟ่า มันคือสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นสมาชิกฟีฟ่า”

การนิยามความเป็นประเทศของสององค์กรที่ต่างกัน ทำให้ประเทศมากมายที่ไม่ได้ถูกรับรองจากสหประชาชาติ พยายามขอจัดตั้งทีมชาติ เช่นเดียวกันกับบาสก์ อะไรคือเหตุผลสำคัญ?

ทีมชาติคือรูปธรรมของรัฐชาติ

แม้ว่าทีมชาติบาสก์จะมีการแข่งขันเรื่อยมาตั้งแต่ปี 1930 จนถึงปัจจุบัน แต่พวกเขาก็ไม่สามารถลงเล่นในเกมอย่างเป็นทางการอย่างฟุตบอลโลก หรือฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรปได้ ตราบใดที่ยังไม่ได้รับการรับรองจากยูฟ่าหรือฟีฟ่า

 4

การขอจัดตั้งทีมชาติของฟีฟ่าของบาสก์ จึงเป็นเรื่องสำคัญสำหรับผู้คนในแคว้นนี้ เพราะนอกจากการมีทีมชาติของตัวเองแล้ว เหตุผลอีกประการหนึ่งคือการเป็นอิสระจากสเปนที่พวกเขาไม่ได้รู้สึกเป็นส่วนหนึ่งกับมัน

เนื่องจากปัจจุบัน แนวคิดเรื่องชาติได้เปลี่ยนไปมากจากในอดีต ผู้คนไม่จำเป็นต้องยึดตัวเองเข้ากับดินแดนอีกต่อไป สิ่งที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดคือ ฟุตบอลโลกของคนไร้รัฐ ซึ่งเป็นฟุตบอลโลกของคนกลุ่มที่ไม่ได้ถูกรับรองเป็นประเทศ ที่เพิ่งจัดขึ้นในช่วงเดียวกับฟุตบอลโลก 2018 เมื่อช่วงกลางปีที่ผ่านมา

“ถามว่าทำไมทีมชาติสำคัญ ทำไมพวกที่ไม่มีดินแดนเป็นของตัวเอง ทำไมถึงอยากมีทีมชาติเป็นของตัวเอง เหตุผลจริงๆมันสามารถอธิบายแบบนักรัฐศาสตร์ได้ว่าเพราะ ชาติ คือ ชุมชนที่คนจินตนาการขึ้นมาร่วมกัน” อาจินต์อธิบาย

“มันเป็นแนวคิดของนักรัฐศาสตร์ที่ชื่อเบเนดิกต์ แอนเดอร์สัน เขาบอกว่าความเป็นชาติมันไม่ได้เกิดขึ้นมาภายใต้พรมแดนเดียวกันเท่านั้น แต่คนมันต้องจินตนาการถึงอะไรบางอย่างร่วมกันว่าคนในชาติเป็นคนชุมชนเดียวกัน ดังนั้นเวลาเราจินตนาการ อะไรที่เป็นรูปธรรมชัดเจนมากที่สุดอันนึงมันก็คือนักกีฬาทีมชาติ”

“อย่างสมมุติเราพูดว่าไทยแข่งกับเวียดนามในเชิงเศรษฐกิจ มันไม่เห็นภาพหรอกว่าแข่งกันยังไง มันนึกไม่ออกหรอกว่าการนำเข้าส่งออกเป็นยังไงมันสู้กันยังไง มันมีกลไกลการแข่งขันแบบไหน คุณเห็นแค่ลอยๆว่ามันมีการแข่งกัน”    

“แต่ว่าเมื่อไรที่ทีมชาติไทยแข่งกับทีมชาติเวียดนามในสนามฟุตบอล คุณจะเห็นเลยว่ามันมีคนฝ่ายละ 11 คนที่เป็นตัวแทนของชาติ และ 11 คนนี้ก็เป็นตัวแทนของพวกเราในจินตนาการที่เราเห็นมาตลอด มันปรากฏเป็นรูปธรรม ผ่านนักกีฬาที่วิ่งอยู่ในสนาม พวกนี้มันทำให้รู้สึกว่าชุมชนที่เรียกว่าชาติมันชัดเจนขึ้นมา ดังนั้นทีมชาติมันจึงสำคัญต่อชาติต่างๆ แม้ว่าในทางการเมืองมันจะไม่ได้เป็นชาติจริงๆก็ตาม”

ความเป็นรูปธรรมของทีมชาติเหล่านี้จึงเป็นเสมือนส่วนสำคัญในสร้างชาติของรัฐใหม่ๆ ในฐานะเครื่องมือเชิงวัฒนธรรมในการเรียกร้องเอกราช และบาสก์ก็กำลังทำเช่นนั้น

เครื่องต่อรองทางการเมือง

ประวัติศาสตร์การเรียกร้องของเอกราชของบาสก์ มีมาอย่างยาวนานกว่า 40 ปี แต่เนื่องจากในอดีตพวกเขามักจะใช้ความรุนแรงเข้าสู้ จนก่อให้เกิดแรงต้านจากคนในประเทศ บาสก์จึงจำเป็นต้องเปลี่ยนกลยุทธ์ใหม่ และการจัดตั้งฟุตบอลทีมชาติก็เป็นหนึ่งในนั้น

 5

“เกมกระชับมิตรกับเวเนซุเอลามันเป็นอะไรมากกว่านั้น มันเป็นการแสดงตัวตนของแคว้นนี้มีที่คนอาศัยและเติบโตขึ้นมา” เกปา อัลลิกา เลขาธิการสมาคมฟุตบอลบาสก์กล่าวกับ BBC Sports

“มันจึงเป็นสิ่งที่สำคัญมากๆสำหรับคนมากมายที่อยู่ที่นี่ เราอยากให้ทีมของเราลงเล่นในการแข่งขันอย่างเป็นทางการได้”

ทีมชาติและการลงแข่งของบาสก์ในระดับนานาชาติอย่างเป็นทางการจึงมีความหมายอย่างมากต่อพวกเขาในฐานะส่วนหนึ่งของการเรียกร้องเอกราช ซึ่งเป็นวิธีการต่อสู้ที่ไม่เสียเลือดเนื้ออีกด้วย

“ไอเดียที่อยากจะมีทีมชาติของแคว้นต่างๆที่ดูเหมือนจะเป็นของตัวเอง มันก็เกิดขึ้นมาได้ส่วนหนึ่งว่าในทางการเมืองมันยังสู้ไม่ได้ แต่ว่าในทางวัฒนธรรม กีฬาเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรม มันก็พยายามจะสู้ตรงนี้เหมือนกัน” อาจินต์กล่าวต่อ

“หรือหากคิดไกลกว่านั้น สมมุติว่าโดยปกติแคว้นบาสก์หรือกาตาลัน มันก็พยายามเรียกร้องเอกราชจากสเปนอยู่แล้ว ถ้าเกิดมันสามารถมีทีมชาติที่ฟีฟ่ารับรองได้ อันนี้ก็จะเป็นข้อเรียกร้องอีกอันหนึ่งเหมือนกัน ที่เอาไปใช้ต่อรองในการเรียกร้องเอกราชได้”

นอกจากเครื่องมือในการต่อรองทางการเมือง ทีมชาติยังมีนัยยะสำคัญในการทำให้ผู้คนเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันได้ เนื่องจากในการเรียกร้องเอกราช ใช่ว่าทุกคนที่จะเห็นด้วย เพราะอาจมีบางคนที่คิดว่าการอยู่กับประเทศเดิม ก็เป็นทางเลือกที่ดีอยู่แล้ว

“อันที่จริงอย่างกรณีของกาตาลัน มันก็ไม่ใช่ทุกคนที่อยากแยกประเทศ คือบางคนก็คิดว่าเราอยู่กับสเปนมันก็ดีอยู่แล้ว ไม่ต้องยุ่งยาก แต่ว่าถ้าหากคุณสร้างทีมชาติคาตาลันขึ้นมาได้ คนพวกนี้ก็อาจจะเปลี่ยนใจก็ได้ คุณก็ยิ่งจะได้รับแรงสนับสนุนจากคนในประเทศเพิ่ม พร้อมกับคุณจะได้อำนาจต่อรองกับสเปนที่เป็นเจ้าดินแดนมากด้วยเหมือนกัน พื้นที่ในเวทีโลกผ่านกีฬา คือมันเป็นการต่อรองทางการเมืองอย่างหนึ่งด้วย”

แยกไปแล้วไงต่อ

แม้ว่าจะมีหลายประเทศที่ไม่ได้รับการรับรองจากสหประชาชาติ แต่ได้รับการรับรองจากฟีฟ่าให้ลงเตะเกมอย่างเป็นทางการมากมาย ไม่ว่าจะเป็นไต้หวัน ยิบบรอนตา(อาณานิคมสหราชอาณาจักร)  และหมู่เกาะแฟร์โร (อาณานิคมเดนมาร์ก) แต่ด้วยจุดยืนของฟีฟ่าที่ไม่อยากให้ฟุตบอลยุ่งเกี่ยวทางการเมือง จึงน่าจะทำให้เรื่องนี้เกิดขึ้นได้ยาก

 6

“ผมมองเป็นสองกรณีคือหนึ่งฟีฟ่ายอมให้สำเร็จ สิ่งที่ตามมาคือก็จะมีแคว้นอื่นๆ รัฐอื่นๆที่พยายามอยากจะเป็นรัฐอิสระอยากจะเรียกร้องตามขึ้นมาอีกเยอะ ถ้าบาสก์ได้ กาตาลันตามแน่นอน อะไรต่างๆจะตามมาอีกเพียบ” อาจินต์ให้ความเห็น

“สำหรับคนดูบอลอย่างเรามันก็สนุกดี สมมุติเราเห็นทีมชาติบาสก์แข่งกับทีมชาติสเปนมันน่าจะเตะกันเดือดแน่นอน พอๆกับอัลแบเนียแข่งกับเซอร์เบียที่แข่งแล้วก็ตีกันตลอด เพราะว่ามันแย่งโคโซโวกันอยู่”

“แต่ในกรณีของฟีฟ่าที่ฟีฟ่ามีจุดยืนมาโดยตลอดอยู่แล้วว่าไม่อยากจะให้การเมืองมาข้องเกี่ยวกับฟุตบอล ดังนั้นผมคิดว่าฟีฟ่าน่าจะไม่อยากให้มีการตั้งทีมชาติบาสก์ขึ้นมา เพราะว่ามันจะเกิดการเรียกร้องทางการเมืองในสนามฟุตบอลเพิ่มมากขึ้นแน่ๆ”  

อย่างไรก็ดี ในทางกลับกัน หากฟีฟ่าอนุญาตให้แคว้นบาสก์จัดตั้งทีมชาติได้ อาจจะทำให้เกิดจุดเปลี่ยนใหม่ หรือบรรทัดฐานใหม่ ซึ่งอาจจะก่อให้เกิดประโยชน์อีกมากมายแก่วงการฟุตบอล ทั้งในแง่ความบันเทิง และการยอมรับตัวตนของชนกลุ่มอีกมากมายในโลกใบนี้     

“ถ้าฟีฟ่ายอมรับ มันก็น่าสนุกสำหรับเราคนดูบอล มันก็จะเป็นอีกก้าวหนึ่งของฟีฟ่าเลยก็ได้ เป็นฟุตบอลที่ไม่ปฏิเสธการเมืองแล้ว ยอมรับมันแล้วก็สนุกกับมันไป” อาจินต์กล่าวทิ้งท้าย   

 7

บาสก์ ยังต้องใช้เวลาอีกสักระยะเพื่อรอคำตอบจากฟีฟ่าและยูฟ่าว่าคำขอของพวกเขาจะได้รับการอนุมัติหรือไม่ สิ่งที่พวกเขาทำได้ในระหว่างนี้คือการลงแข่งในนามทีมชาติบาสก์ให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพื่อแสดงจุดยืนและตัวตนของพวกเขา ตราบจนวันถึงวันที่ได้รับการยอมรับ ไม่ว่าจะในฐานะ “ประเทศ” หรือ “ทีมชาติ” ก็ตาม

อัลบั้มภาพ 7 ภาพ

อัลบั้มภาพ 7 ภาพ ของ การเมืองเรื่องฟุตบอล : จะเกิดอะไรขึ้นถ้าแคว้นบาสก์มีทีมชาติเป็นของตัวเอง?

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook