ไขความจริงผ่านงานวิจัย...ทำไมศึกรักบี้ประเพณี ราชวิทย์ฯ - วชิราวุธ ถึงเดือด?

ไขความจริงผ่านงานวิจัย...ทำไมศึกรักบี้ประเพณี ราชวิทย์ฯ - วชิราวุธ ถึงเดือด?

ไขความจริงผ่านงานวิจัย...ทำไมศึกรักบี้ประเพณี ราชวิทย์ฯ - วชิราวุธ ถึงเดือด?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เชื่อว่าแฟนกีฬาแทบทุกคนคงทราบกันดีว่า ยามใดที่ทีมกีฬาซึ่งเป็นคู่ปรับโคจรมาพบกัน ไม่ว่าจะเป็นกีฬาใดก็ตาม ดีกรีความดุเดือดมักจะเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว

 

เรื่องดังกล่าวถือเป็นความจริงเสมอ ทั้งการแข่งขันในระดับอาชีพ และไม่เว้นแม้แต่ในสถานศึกษา เพราะเมื่อเป็นการแข่งขันระหว่างสถาบันที่เป็นคู่แข่ง ไม่ว่าจะเป็น The Boat Race ศึกเรือพายระหว่างมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด กับเคมบริดจ์ของอังกฤษ, การแข่งขันกีฬาของเหล่ามหาวิทยาลัยเอกชนชั้นแนวหน้า หรือที่เรียกกันในชื่อ Ivy League ของสหรัฐอเมริกา กระทั่งในไทย อย่างฟุตบอลจตุรมิตรสามัคคี หรือแม้แต่งานรักบี้ฟุตบอลประเพณี ราชวิทย์ฯ-วชิราวุธ เรามักจะเห็นเกมการแข่งขันที่เข้มข้นกว่าการแข่งขันโดยทั่วไปอยู่เป็นประจำ

คำถามก็คือ แม้กระทั่งในวัยแห่งการเรียนรู้ แต่ความรู้สึกที่เป็นคู่แข่งอันนำมาซึ่งการแข่งขันนี้ เกิดขึ้นได้อย่างไร และเรื่องดังกล่าวส่งผลเช่นไรต่อการแข่งขันบ้าง?

เพราะเหมือนกันจึงแตกต่าง?

Gavin Kilduff อาจารย์จากคณะการจัดการของ Leonard N. Stern School of Business มหาวิทยาลัยนิวยอร์ก ได้ศึกษาถึงสาเหตุ และผลสืบเนื่องของความเป็นคู่แข่ง และการแข่งขันซึ่งกันและกัน โดยยกทีมกีฬาในระดับมหาวิทยาลัยของสหรัฐอเมริกา หรือ NCAA รวมถึงทีมกีฬาในการแข่งขันระดับอื่นๆ มาเป็นกรณีศึกษา

 1

สิ่งที่เขาค้นพบนั้นน่าสนใจยิ่ง เมื่อเขาค้นพบว่า อิทธิพลที่นำมาซึงการก่อตัวของความเป็นคู่แข่งนั้นเกิดขึ้นได้จาก 3 ปัจจัย ประกอบด้วย การแข่งขันที่ต้องเจอกันอยู่บ่อยๆ, ผลการแข่งขันที่สูสี กินกันไม่ลง และสุดท้ายคือ ความเหมือนกันของทั้งสองสถาบัน

เรื่องดังกล่าว Kilduff ได้อธิบายเสริมว่า “เมื่อพูดถึงการแข่งขันระดับสถาบัน อย่างเช่นในระดับมหาวิทยาลัยเนี่ย ที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ถือเป็นปัจจัยที่สำคัญประการหนึ่งที่ก่อตัวสู่ความเป็นคู่ปรับ แต่เรื่องดังกล่าวก็ไม่สามารถอธิบายได้หมดซะทุกอย่างหรอกนะ”

“เพราะสิ่งที่ดูจะเป็นแรงขับดันที่สำคัญยิ่งกว่าก็คือ ความเหมือนกันของสถาบันที่เป็นคู่แข่งกันต่างหาก ซึ่งความเหมือนกันที่ว่านี้ มันได้ก่อตัวเป็นภัยคุกคามในอัตลักษณ์และการรับรู้คุณค่าในตัวเอง สิ่งนี้แหละที่ช่วยให้การแข่งขันระหว่างสถาบันทวีความเข้มข้นยิ่งขึ้น”

ความเหมือนกัน ที่หลายคนมองว่าเป็นจุดร่วมสู่ความสมัครสมานสามัคคี ได้กลายเป็นสาเหตุสำคัญสู่การเป็นคู่แข่งซึ่งกันและกัน เพราะแต่ละคนต่างก็มีความรู้สึกว่า “แม้จะเหมือนกัน แต่ฉันนั้นเหนือกว่า” อยู่เสมอ เห็นได้จาก The Boat Race ซึ่งทั้งมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด กับมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ต่างก็เป็นสถาบันการศึกษาที่เก่าแก่หลายร้อยปี รวมถึงเป็นมหาวิทยาลัยชั้นแนวหน้าของโลกด้วยกันทั้งคู่

หรืออย่างฟุตบอลจตุรมิตรสามัคคี ที่ 4 สถาบัน ทั้งโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย, โรงเรียนเทพศิรินทร์, โรงเรียนอัสสัมชัญ และโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย ต่างก็มีความเหมือนกันตรงที่เป็นโรงเรียนอันมีประวัติศาสตร์ยาวนาน และเป็นโรงเรียนชายล้วนกันทั้งสิ้น ยิ่งไปกว่านั้น หากดูที่คู่ปรับภายในจตุรมิตรเองแล้ว ยังมีความเหมือนที่แตกต่างอยู่อีกอย่าง เมื่อสวนกุหลาบกับเทพศิรินทร์เป็นโรงเรียนพุทธ ส่วนอัสสัมชัญกับกรุงเทพคริสเตียนเป็นโรงเรียนคริสต์ แถมยังเป็นคนละนิกายอีกต่างหาก (อัสสัมชัญ - คาธอลิก, กรุงเทพคริสเตียน - โปรเตสแตนต์) เรื่องดังกล่าวจึงนำมาซึ่ง “เกมเหนือเกม” ที่เวลาคู่ปรับในหมู่พวกเดียวกันเองมาเจอกันจะยิ่งทวีความดุเดือดเป็นทวีคูณ

และแน่นอน รักบี้ประเพณีระหว่าง โรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย กับโรงเรียน ภ.ป.ร. ราชวิทยาลัย ต่างก็มีคอนเซปท์ดังกล่าวอยู่อย่างครบถ้วน

 2

โค้ชเย๊-น.ท.ฐัญวิทย์ เครือสินธุ์ หัวหน้าผู้ฝึกสอนทีมรักบี้ 7 คนทีมชาติไทย และผู้ช่วยโค้ชทีมรักบี้ของวชิราวุธ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมกับ Main Stand ว่า “วชิราวุธกับราชวิทย์ฯ มีความเหมือนกันอยู่มากเลยนะ เพราะทั้งสองโรงเรียนต่างก็เป็นโรงเรียนประจำชายล้วนทั้งคู่ ไม่เพียงเท่านั้น กีฬาประจำโรงเรียนก็ยังเป็นกีฬารักบี้เหมือนกันอีก ซึ่งรักบี้เนี่ย ในเมืองไทยก็มีโรงเรียนที่เก่งๆ อยู่ไม่มาก มันเลยกลายเป็นว่า ทั้งสองสถาบันต่างก็คิดว่าตัวเอง คือ เบอร์ 1 ของเรื่องนี้ ทำให้เวลาเจอกันทีไร ก็ไม่มีใครยอมใครไปโดยปริยาย”

ความรู้สึกที่เป็นคู่แข่งกันนี้ จึงทำให้เกมรักบี้ประเพณีเต็มไปด้วยความตื่นเต้นและดุเดือดอยู่เสมอ จนทำให้คนทั่วไปไม่เข้าใจข้อเท็จจริงที่สำคัญว่า ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ซึ่งประเทศประสบกับปัญหาทางเศรษฐกิจ โรงเรียนราชวิทยาลัย ต้นกำเนิดของ ภ.ป.ร. ราชวิทยาลัย ถูกยุบไปรวมกับโรงเรียนมหาดเล็กหลวง กลายเป็นโรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย และเมื่อมีการฟื้นฟูโรงเรียนราชวิทยาลัยขึ้นมาใหม่ จนเป็นโรงเรียน ภ.ป.ร. ราชวิทยาลัย พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 มีพระราชประสงค์ให้ทั้งสองโรงเรียนเป็นโรงเรียนดังพี่น้อง จึงได้เกิดการแข่งขันรักบี้ประเพณี เพื่อเชื่อมความสัมพันธ์จนถึงปัจจุบัน

ทุ่มสุดตัวเพื่อชัยชนะ

เมื่อเป็นการแข่งขันของทีมคู่ปรับ แน่นอนว่าทุกคนย่อมนึกถึงความดุเดือดเลือดพล่าน ทั้งสองฝ่ายต่างทุ่มสุดตัวเพื่อหวังคว้าชัยชนะมาอยู่กับมือให้จงได้ ซึ่งรวมถึงแท็คติกแปลกๆ ใหม่ๆ ที่ต่างฝ่ายต่างก็สรรหามาจัดการคู่แข่งในเกมสำคัญด้วยเช่นกัน

 3

เรื่องดังกล่าว ทีมนักวิจัย นำโดย Gavin Kilduff, Christopher To, Lisa D. Ordóñez และ Maurice E. Schweitzer ได้ศึกษาการเล่นของทีมในศึกอเมริกันฟุตบอล NFL ในเหตุการณ์สำคัญ 2 ช่วง คือ การทำแต้มพิเศษหลังทัชดาวน์ ว่าจะเลือกเตะเอา 1 คะแนน หรือเสี่ยงเข้าเอนด์โซนอีกรอบเพื่อ 2 คะแนน รวมถึงในดาวน์ที่ 4 ซึ่งเป็นโอกาสสุดท้ายที่จะได้บุก ว่าจะเลือกเตะพันท์ให้อีกฝ่ายบุก ตลอดจนเตะฟิลด์โกลเอา 3 คะแนน หรือลุยต่อเพื่อเปลี่ยนเป็นดาวน์ที่ 1 ซึ่งจะทำให้ได้บุกต่อเนื่อง หรือแม้กระทั่งทำทัชดาวน์ให้ได้ ซึ่งพวกเขาพบว่า ในเกมที่เป็นการพบกันระหว่างทีมคู่ปรับ โอกาสที่แต่ละทีมจะยอมเสี่ยง เพื่อผลลัพธ์ที่ยิ่งใหญ่กว่าก็มีมากขึ้น โดยทีมเลือกที่จะทำ 2 คะแนนหลังทัชดาวน์มากกว่าเวลาเจอทีมอื่นๆ ที่ไม่ได้เป็นคู่ปรับสำคัญถึง 37% และเสี่ยงเปลี่ยนดาวน์ที่ 4 เพิ่มขึ้น 7%

จากผลดังกล่าว ทีมวิจัยได้ทำการต่อยอดด้วยการเชิญนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยแอริโซน่า 149 คน เพื่อทำการทดลองในเรื่องการตัดสินใจจากการเล่นไพ่แบล็คแจ็ค โดยคู่แข่งขันของนักศึกษาเหล่านี้ แท้จริงแล้วก็คือสมาชิกทีมวิจัย แต่สวมเสื้อของ 2 สถาบัน คือมหาวิทยาลัยโคโลราโด้ และมหาวิทยาลัยแอริโซน่าสเตท ซึ่งมีประวัติศาสตร์การเป็นคู่ปรับกับมหาวิทยาลัยแอริโซน่าตั้งแต่ปี 1899 และมีกีฬาประเพณีระหว่างสองสถาบันในชื่อ Territorial Cup จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี (โดยนักศึกษาจาก ม.แอริโซน่า ก็ต้องสวมเสื้อของสถาบันเช่นกัน) ผลปรากฎว่านักศึกษาของ ม.แอริโซน่า ที่ต้องแข่งขันกับ ม.แอริโซน่าสเตท กล้าเสี่ยงในการเล่นมากกว่าผู้เล่นที่เจอกับตัวแทนของ ม.โคโลราโด้

ไม่เพียงเท่านั้น ทีมผู้วิจัยยังได้ทำการศึกษาเพิ่มเติม พบว่า อัตราการเต้นของนักกีฬาที่ต้องเจอกับทีมคู่ปรับจะสูงกว่าคนที่ไม่ได้เจอกับทีมคู่ปรับ ซึ่งชี้ว่าร่างกายมีการตอบสนองเวลาเจอคู่ปรับมากกว่า และขณะเดียวกัน เมื่อพิจารณาถึงความคิดในการกล้าที่จะเสี่ยง หรือ Promotion Focus กับความคิดที่จะประคองตัว หรือ Prevention Focus ก็พบว่า นักกีฬาที่เจอทีมคู่ปรับ จะมีความคิดกล้าเสี่ยงกว่าอีกด้วย

 4

โค้ชเข้-ร.ต.อ.สันติ มีถาวร หัวหน้าผู้ฝึกสอนทีมรักบี้ 15 คน รุ่นอายุไม่เกิน 19 ปีทีมชาติไทย และผู้ช่วยโค้ชทีมรักบี้ของราชวิทย์ฯ ให้มุมมองถึงเรื่องนี้ว่า “ด้วยความที่มันเป็นศึกแห่งศักดิ์ศรี ผู้เล่นและทีมโค้ชอย่างผมเลยต้องทุ่มสุดตัวเช่นกัน แท็คติกต่างๆ ที่ซุ่มซ้อมมา บางครั้งจึงมีทริกแปลกๆ ที่กะเอามาปล่อยของในงานแบบนี้ด้วย เดิมพันของเกมแบบนี้มันสูงครับ เพราะผู้ชนะก็จะได้คุยข่มอีกฝ่ายไปในทีเดียวเลยด้วย มีทีเด็ดอะไรก็เลยต้องปล่อยออกมาให้เต็มที่ด้วย”

สิ่งที่โค้ชเข้กล่าวไปข้างต้น ถือเป็นการสะท้อนผลงานวิจัยอีกชิ้นของ Gavin Kilduff ที่ศึกษาการวิ่งของนักวิ่งระยะไกล และพบว่าเมื่อเจอกับคู่แข่งที่สมน้ำสมเนื้อ พวกเขาจะสามารถวิ่งได้เร็วขึ้น โดยความเร็วเฉลี่ยในการวิ่ง หรือ เพซ (Pace) จะเร็วขึ้นถึง 5 วินาทีต่อกิโลเมตรเลยทีเดียว โดย Kilduff กล่าวถึงเรื่องดังกล่าวว่า “นี่คือบทพิสูจน์ที่ชัดเจนว่าความเป็นคู่แข่งทำให้คุณต้องทุ่มเทมากขึ้นเพื่อความสำเร็จ เพราะสิ่งดังกล่าวทำให้คุณต้องพยายามสร้างผลงานให้ดีขึ้นเพื่อที่จะคว้าชัยชนะมาให้ได้ครับ”

 5

ทั้งหมดที่กล่าวมาจึงถือเป็นการยืนยันได้ว่า ความเป็นคู่แข่งนั้นคือแรงผลักดันสำคัญของวงการกีฬา เพราะนี่คือเชื้อไฟที่ทำให้นักกีฬา หรือแม้กระทั่งทีมงานโค้ช พัฒนาตนเองเพื่อให้วันนี้และวันพรุ่งนี้ดีกว่าเมื่อวาน

 6

และเมื่อรวมกับความต้องการที่จะพิสูจน์ตัวเองว่า แม้มีหลายสิ่งที่เหมือนกัน แต่ฉันนั้นเหนือกว่านายแล้ว ศึกแห่งศักดิ์ศรีระหว่างสถาบัน ไม่ว่าจะเป็น The Boat Race, กีฬา Ivy League, ฟุตบอลจตุรมิตรสามัคคี หรือแม้แต่รักบี้ประเพณี ราชวิทย์ฯ-วชิราวุธ จึงมีดีกรีความดุเดือด และสนุกเร้าใจไม่ต่างอะไรกับศึกระหว่างคู่ปรับในวงการกีฬาอาชีพเลยแม้แต่น้อยนั่นเอง

อัลบั้มภาพ 6 ภาพ

อัลบั้มภาพ 6 ภาพ ของ ไขความจริงผ่านงานวิจัย...ทำไมศึกรักบี้ประเพณี ราชวิทย์ฯ - วชิราวุธ ถึงเดือด?

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook