ครอบครัวก็ยอมแลก : ปาตริซิโอ มานูเอล นักมวยข้ามเพศที่ขอแค่ได้ "ชกกับผู้ชาย"

ครอบครัวก็ยอมแลก : ปาตริซิโอ มานูเอล นักมวยข้ามเพศที่ขอแค่ได้ "ชกกับผู้ชาย"

ครอบครัวก็ยอมแลก : ปาตริซิโอ มานูเอล นักมวยข้ามเพศที่ขอแค่ได้ "ชกกับผู้ชาย"
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

"ชกมวย" อาจจะเป็นกีฬาที่รุนแรงทว่าที่สุดแล้วมันคือกีฬาที่เปิดกว้างสำหรับคนทุกเพศทุกวัย ดังนั้นในระยะหลังนี่จึงเป็นกีฬาที่ค่อนข้างฮิตในหมู่สาวๆ ที่อยากจะใช้มันเพื่อการลดน้ำหนักและดูแลสุขภาพ ซึ่งจากจุดนี้มีบางคนต่อยอดจนกลายเป็นนักมวยหญิงอาชีพและสมัครเล่นเลยก็มี

 

แต่ใครจะรู้ว่าบนโลกนี้มีนักมวยเพศหญิงที่ข้ามเพศไปต่อยในระดับอาชีพกับผู้ชาย ไม่ได้มุก ไม่มีอ่อนข้อ หมัดต่อหมัด เหมือนกติกาเดิมทุกอย่าง และชื่อของเขาคือ ปาตริซิโอ มานูเอล นี่คือเรื่องราวของการข้ามเพศสภาพสู่กีฬาที่รุนแรงและว่ากันว่าเหมาะกับผู้ชายมากที่สุดอย่าง "ชกมวย"

แด่เขาผู้ซื่อตรง

สหรัฐอเมริกา คือดินแดนแห่งเสรีภาพและความฝัน ปาตริซิโอ มานูเอล วัย 33 ปี เพิ่งสร้างแรงกระเพื่อมจากระดับประเทศออกสู่ระดับโลกด้วยการคว้าชัยเหนือคู่ชกในรุ่น ซูเปอร์ เฟเขาร์เวท อย่าง อูโก้ อากีญ่า ซึ่งชัยชนะนี้ทำให้เขากลายเป็นนักมวยอาชีพคนแรกที่เป็นชายข้ามเพศ

 1

เหนือสิ่งอื่นใดที่คือชัยชนะที่เขาภาคภูมิใจเป็นอย่างมาก หากแต่ว่าในมุมมองของแฟนๆ คอหมัดมวย พวกเขาไม่ค่อยชอบเรื่องที่ "แปลกใหม่" แบบนี้  

จริงๆ ปาตริซิโอ ถือว่าเป็นนักมวยหญิงที่เก่งมาก เขาคว้าแชมป์ระดับสมัครเล่นของประเทศของฝ่ายหญิงมาแล้วถึง 5 สมัย แถมยังเคยเข้าคัดเลือกเพื่อเป็นตัวแทนทีมชาติสหรัฐอเมริกาที่ขึ้นชกในโอลิมปิกปี 2012 อีกด้วย (ซึ่งน่าเสียดายที่อาการบาดเจ็บไหล่ทำให้เขาไม่ได้ไปโชว์ฝีมือในรอบสุดท้ายที่กรุงลอนดอน) แต่ถึงกระนั้นมันไม่ใช่เรื่องที่เขาจะพอใจได้ง่ายๆ  

ปาตริซิโอ ไม่สนใจความคิดของคนรอบข้างและเสียงต่อต้านจากความไม่เหมาะสม เขาเริ่มเปลี่ยนแปลงเพศสภาพแบบเต็มรูปแบบตั้งแต่ปี 2013 เป็นต้นมา เหตุผลที่ทำอย่างนั้นเพราะความรักที่มีต่อการชกมวยของเขามันมีมากจนเกินกว่าแค่จะหยุดที่แชมป์ของฝ่ายหญิง การก้าวหน้าทางอาชีพคือสิ่งแรกและสิ่งสุดท้ายที่เขาอยากทำ

"ฉันเริ่มเปลี่ยนเพศสภาพ และตัดสินใจยุติการเป็นนักกีฬาหญิง ฉันตระหนักได้ว่าความจริงคือสิ่งไม่ตาย ฉันอยากจะเสี่ยงกับสิ่งที่ฉันรักนั่นคือการยกมวย ฉันก้าวเท้าออกมาด้วยความสัตย์จริงในการตัดสินใจครั้งนี้"  

ว่ากันตามตรงในไม่มีสังคมใดที่ ขาว 100% และดำ 100% ทุกๆ สังคมล้วนประกอบด้วยกลุ่มคนที่คิดแตกต่างกันไป ในสังคมมวยอาชีพของอเมริกาก็เช่นกัน พวกเขามีความภาคภูมิใจกับเหล่านักชกอย่าง มูฮัมหมัด อาลี, ไมค์ ไทสัน และ ฟลอยด์ เมย์เวทเธอร์ จูเนียร์  แต่การให้ "เพศหญิง" ขึ้นมาต่อยบนเวทีที่สร้างตำนานของโลกแบบนี้ คือสิ่งที่ตะขิดตะขวงในใจไม่น้อย มันเหมือนกับความแปลกที่พวกเขาไม่เคยเห็นไม่เคยพบเจอ แฟนๆ คิดว่านักมวยหญิงข้ามเพศจะทำให้เหล่านักมวยเพศชายต้องออกอาการกลืนไม่เข้าคายไม่ออก ชนะก็ไม่ภูมิใจ และถ้าแพ้พวกเขาจะดูน่าอับอายในฐานะนักมวยที่ต่อยแพ้ผู้หญิง

 2

อย่าว่าแต่ความรู้สึกของแฟนมวยและกลุ่มนักชกด้วยกันเองเลย ณ ตอนแรกที่ ปาตริซิโอ เริ่มลุยบนเส้นทางเดียวกับลูกผู้ชายอกสามศอก เขาต้องพิสูจน์ตัวเองมากมาย นักมวยผู้ชายคนหนึ่งหากอยากจะเข้ายิมฝึกซ้อมลงนวมสักแมตช์อาจจะแค่เดินมาคุยและตบบ่ากัน ก่อนจะขึ้นไปวอร์มร่วมกันบนเวทีแบบง่ายๆ แต่สำหรับ ปาตริซิโอ เขาต้องเจอกับอุปสรรคตั้งแต่แรกตั้งแต่การหาโค้ชและการหาสถานที่ร่วมซ้อมกับเหล่ามืออาชีพ นอกจากนี้เรื่องของงานเอกสารคืออีกหนึ่งสิ่งที่ไม่สามารถจะแก้กันได้ง่ายๆ กฎยิบย่อยทำให้เขาทำได้แค่ลงนวมซ้อม แต่ไม่อาจขึ้นชกได้ ถึงแม้จะข้ามเพศแล้วแต่เขาก็ยังไม่มีใบอนุญาตอยู่ดี เห็นได้ชัดว่าปัญหาที่ใหญ่ที่สุดไม่ได้มาจากตัวเขา แต่เป็นมุมมองจากคนรอบข้าง และความเคยชินจากกฎกติกาเก่าๆ ต่างหาก ที่ทำให้ ปาตริซิโอ ต้องสู้กับสิ่งเหล่านี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า

ไม่เว้นแม่แต่คนรอบข้าง ครอบครัวของเขาก็ไม่สนับสนุนเรื่องนี้จนถึงขั้นตัดขาดไปจากกัน แต่อย่างที่เขาได้ขีดเส้นใต้ไว้ในข้อความด้านบน "การชัดเจนต่อสิ่งที่รัก" ทำให้เขาพร้อมที่จะยอมแลกทุกอย่างที่มี

"การตัดสินใจครั้งนี้ทำให้ต้องยอมแลกกับอะไรหลายอย่าง และฉันยอมจ่าย ฉันสูญเสียคนที๋ฉันคิดว่าเป็นครอบครัว แต่ถ้าจะให้คะแนนความเสียใจกับสิ่งนี้ฉันกล้าพูดเต็มปากว่ามันเท่ากับศูนย์"  

ณ จุดนี้เรายังไม่จำเป็นต้องพูดถึงฝีไม้ลายมือของเขาว่าแท้จริงแล้วเก่งแค่ไหน ดีพอจะซัดกับผู้ชายหรือไม่? สิ่งที่น่าซูฮกคือเรื่องของความมั่นใจ และความซื่อตรงต่อความคิดตัวเอง ปาตริซิโอ ยอมแลกหนึ่งในสิ่งสำคัญพื้นฐานของมนุษย์นั่นคือครอบครัว และการทำแบบนี้ยังทำให้เขากลายเป็นที่จับตามองด้วยสายตาคนอื่นที่ไม่ได้มองมาเพราะความชื่นชม แต่เป็นการมองเพราะความฉงนใจกับสิ่งที่เขาทำและสิ่งที่เขาเป็น... จะมีสักกี่คนที่ยอมแลกกับความสำเร็จที่ยังมองไม่เห็นแบบนี้บ้างจริงไหม?

ผู้ชายไม่ชกกับผู้หญิง

นี่คือเรื่องใหญ่ที่สุดที่เขาต้องประสบพบเจออยู่ตลอด เรื่องของการยอมรับเป็นสิ่งที่ยากเย็นแสนเข็ญ หลังจากเปลี่ยนแปลงเพศสภาพมาเป็นผู้ชายกว่าเขาจะได้ขึ้นชกไฟต์อย่างเป็นทางการสักแมตช์ช่างเป็นอะไรที่ยากเย็น

 3

เขาพยายามขอขึ้นชกกับอาชีพกับเหล่านักชกชาย แต่คณะกรรมการกีฬามวยแห่งรัฐแคลิฟอร์เนีย กลับลังเลที่จะออกใบอนุญาตขึ้นชกให้จากเพศสภาพที่ขัดแย้งกับเพศโดยกำเนิด

หากเป็นคนอื่นคงยอมแพ้ไปโดยง่าย การต่อสู้กับองค์กรใหญ่ๆ นั้นเป็นเรื่องที่ยากจะเอาชนะได้ในเร็ววัน ทว่าฟ้าก็มีตา เพราะก่อนหน้าที่โอลิมปิกปี 2016 ณ นครริโอเดอจาเนโร ประเทศบราซิล จะเปิดฉาก คณะกรรมการโอลิมปิกสากล หรือ IOC ก็ได้เปลี่ยนแปลงกฎสำคัญ อนุญาตให้นักกีฬาหญิงที่แปลงเพศสภาพเป็นชายสามารถลงทำการแข่งขันกีฬาได้อย่างไม่มีข้อจำกัด นั่นทำให้ประตูสู่สังเวียนของเขากลับมาเปิดกว้างอีกครั้ง

นอกจากนี้ ปาตริซิโอยังได้รับการผลักดันจากบริษัท โกลเด้น บอย โปรโมชั่น ที่มีเจ้าของเป็น ออสการ์ เดอ ลา โฮย่า แชมป์โลกและแชมเป์เหรียญทองโอลิมปิก จนสามารถขึ้นชกในการแข่งขันระดับประเทศกับผู้ชายได้อีกด้วย

เรียกได้ว่าการเคลื่อนไหวของเขานั้นแทบจะกลายเป็นประวัติศาสตร์ของวงการกีฬา เหมือนที่ครั้งหนึ่ง ฮันนา (ชื่อเดิม คัลลั่ม) เมาน์ซี่ย์ นักกีฬาแฮนด์บอลชายชาวออสเตรเลียได้ต่อสู้กับการข้ามเพศสภาพ จนสหพันธ์กีฬาแฮนด์บอลนานาชาติได้ตัดสินให้เขาสามารถลงเล่นให้กับการแข่งขันประเภททีมหญิงได้ในปี 2018 นี้เอง แม้ว่าเพศตอนเกิดของเขานั้นจะเป็นเพศชายก็ตาม

 4

สิ่งที่ประสบปัญหามากที่สุดกลับไม่ใช่เรื่องของฝีไม้ลายมือของเขา แต่มันคือการไม่ได้รับการตอบรับจากคู่ชกผู้ชายมากนัก มีนักชกชายไม่กี่คนที่เต็มใจจะต่อยกับเขา แม้ว่ามันจะไม่ใช่แมตช์ทางการก็ตาม

นับตั้งแต่เขาตัดสินใจข้ามเพศและได้รับอนุญาตให้ขึ้นชกได้ตั้งแต่ปี 2016 จนถึงตอนนี้หากนับนิ้วแบบเต็มๆ ก็ย่างเข้าสู่ปีที่ 3 แล้ว แต่เขากลับได้ชกแมตช์อย่างเป็นทางการแค่ครั้งเดียวเท่านั้น (เพราะไฟต์แรกจริงๆ ที่เจอกับ อาดาน โอชัว ในปีดังกล่าวไม่ได้รับการบันทึกให้เป็นไฟต์อย่างเป็นทางการ) ซึ่งก็คือแมตช์ล่าสุดที่ชกกับอากีญ่า นักชกจากสังกัด "โกลเด้นบอย" ที่ผลักดันเรื่องการข้ามเพศในกีฬายกมวยให้การเป็นที่ยอมรับมากขึ้น อย่างน้อยๆ ก็อยากให้สังคมมองกันสิ่งที่ ปาตริซิโอ สามารถทำได้ มากกว่าสิ่งที่เขาเคยเป็นมาในอดีต

 5

การชกครั้งนี้เป็นประวัติศาสตร์ของวงการหมัดมวย และเป็นประวัติศาสตร์สำหรับ ปาตริซิโอ เองด้วย เขาผ่านความลำบากมาครบทั้งรูปแบบและทุกปัจจัย กฎ, คน, แฟนมวย, การยอมรับ คือสิ่งที่ทำให้ไฟต์เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม ที่ผ่านมาเป็นอะไรที่สำคัญยิ่ง

ไฟต์ประวัติศาสตร์

ทุกอย่างในไฟต์นั้นเหมือนกันชกมวยคู่อื่นๆแบบไม่ผิดเพี้ยน มีการประจันหน้าตอนโปรโมต มีการอินโทรเดินโชว์กล้ามเนื้อและฟังกติกาจากกรรมการ ห้ามชกใต้เข็มขัด ห้ามเอาหัวโขก ห้ามกัด ไม่มีสิ่งใดผิดเพี้ยนจากขนบธรรมเนียมเดิมของการชกมวยแม้แต่น้อย

 6

ปาตริซิโอ แสดงให้เห็นถึงกล้ามเนื้อที่ผ่านการฝึกมาอย่างหนักหน่วง จนเหมือนกับนักชกปกติทั่วไปดีๆ นี่เองหากไม่มีใครรู้ปูมหลังมาก่อนก็คงไม่เอะใจถึงสิ่งนี้แน่ แต่เมื่อไฟต์นี้คือไฟต์ประวัติศาสตร์มันจึงไม่แปลกที่เหล่า Boo Boys หรือกลุ่มฝีปากพล่อยจะเล็งเขาเป็นเป้าระบายอารมณ์ ก่นด่า และโห่ใส่ตลอด

สิ่งที่ ปาตริซิโอ ตอบกลับได้คือการต้องโชว์ให้เห็นถึงความแข็งแกร่งเท่านั้นเพื่อทำให้เหล่าแฟนปากเสียพวกนี้รีบเก็บคำพูดพล่อยๆของตัวเองไปอย่างขายหน้า เขา ชกกับ อากีญ่า ทั้งหมด 4 ยก 12 นาที ก่อนชนะคะแนนอย่างเป็นเอกฉันท์จากกรรมการผู้ให้คะแนน 3 คนโดยแต้มอยู่ที่ 39-37

"ฉันได้ยินเสียงโห่ แฟนมวยบางคนไม่ค่อบแฮปปี้ที่ฉันได้ชัยชนะ แต่ฉันจะกลับมาอีกครั้ง และจะทำให้ทุกคนยอมรับให้ได้" ปาตริซิโอ พร้อมเปลี่ยนการหยามเหยียดให้เป็นการยอมรับด้วยสิ่งที่สุภาพที่สุดนั่นคือการทำให้เห็นด้วยตาและยอมรับด้วยใจ

 7

ขณะที่ อากีญ่า นักชกเม็กซิกันที่เดินทางมาชกในอเมริกาเป็นครั้งแรก แถมยังรู้ว่าคู่ต่อสู้ของเขาคือ “สตรีแปลงเพศ” เพียง 2 วันก่อนขึ้นชกกล่าวถึงความพ่ายแพ้ของเขาว่า คู่ชกอย่าง ปาตริซิโอ มานูเอล คือคู่ชกที่ควรได้รับการเคารพ เพราะเดินเข้าสู้และปล่อยหมัดอยู่ตลอด และไฟต์นี้คือไฟต์ที่ดีมากกว่าประสบการณ์บนสังเวียนผ้าใบตลอด 2 ปีของเขาเสียอีก

ไม่มีการอ่อนข้อ ไม่มีการมองคู่แข่งต่างออกไป ปาตริซิโอ อยากจะเป็นผู้ชนะไฟต์นี้ เช่นเดียวกับ อากีญ่า ที่ต้องการสิ่งนั้นเช่นกัน นั่นคือสิ่งที่ต่างฝ่ายต่างยอมรับหลังจากการตัดสินสิ้นสุดลง

"ผมคิดว่าทุกคนคงต้องใช้เวลายอมรับกับสิ่งนี้ แต่ผมจะบอกให้นะผมชกมวยมาแล้ว 2 ปี ผมต้องขอแสดงความเคารพให้กับคู่แข่งของผมใรนวันนี้ เขาต่อสู้กับผมอย่างไม่ลดละ และแลกหมัดมาตลอดเวลา เขาต่อยกับผมในฐานะผู้ชายคนหนึ่ง นี่คือเหตุผลที่ว่าทำไมจึงให้เกียรติและให้ความเคารพเขาเป็นอย่างมาก"

 8

สำหรับ ปาตริซิโอ นั้นนี่เป็นเพียงไฟต์แรกของเขา และ 1 ไฟต์ที่รอคอยกลายเป็นศึกแห่งความหวังที่เคาะสนิมที่นวมออกจนหมดสิ้น เขาอยากจะมีไฟต์ต่อไป… ต่อไป และต่อไปเรื่อยๆ จนกว่าเขาจะเป็นที่สุดของรุ่น หรือไม่ก็จนกว่าร่างกายจะไม่ไหวไปเอง

"หลังจากจบไฟต์นี้ฉันจะพักสักหน่อย และหลังจากนั้นคือการตั้งเป้ากลับมาชกอีกครั้งในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ฉันอยากจะไปต่อ มันนานมากแล้วที่ได้ต่อยใครแบบนี้ สนิมที่หลุดออกไปจนหมดสิ้น ได้เวลาก้าวสู่สังเวียนต่อไปแล้วล่ะ" ปาตริซิโอ กล่าว

 9

นี่คือเรื่องราวของการต่อสู้ที่ควรได้รับการยอมรับ ปาตริซิโอ ตอนนี้อายุ 33 ปีแล้ว แม้เขาจะไม่เคยเอ่ยปากถึงการเลิกชกและฝีไม้ลายมือที่ตกลงตามอายุอันเป็นสัจธรรมของนักกีฬาทุกชนิด แต่ลึกๆ แล้วนี่คือเรื่องที่ใครก็ไม่อาจนี้พ้น

อย่างไรก็ตามสิ่งที่เขาทำไม่มีทางใช้คำว่าเปล่าประโยชน์ได้ เขาอาจจะไปไม่ถึงแชมป์ ไม่ได้รับการยอมรับในระดับสูงเหมือนกับนักชกชายตั้งแต่กำเนิดคนอื่นๆ หากแต่การต่อสู้ด้วยร่างกายที่เกิดมาเป็นผู้หญิงทำให้เขาต้องพยายามหนักกว่าผู้ชาย กว่าจะได้กล้ามเนื้อแต่ละมัด กว่าจะก้าวข้ามความแข็งแกร่ง และว่าจะได้รับการยอมรับ ไม่สิ่งไหนง่าย และไม่มีเส้นทางลัดให้เขาเลยแม้แต่น้อย

การต่อสู้เพื่อสิทธิและเสรีภาพของ ปาตริซิโอ จะส่งแรงกระเพื่อมไปจากรุ่นสู่รุ่น ตอนนี้อาจจะมีแค่เขาคนเดียวที่กล้าออกมาสู้กับความจริง แต่ในอนาคตสิ่งที่เขาทำจะเป็นแรงบันดาลใจให้กลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศสามารถก้าวข้ามสิ่งที่พวกเขาไม่สามารถเลือกได้ตั้งแต่เกิด พวกเขาเลือกที่จะเป็นได้หากมีศรัทธาที่มากพอ

ชัยชนะที่ได้รับเสียงโห่ไม่พอใจ จะกลายเป็นชัยชนะที่ได้รับเสียงโห่แซ่ซ้องยินดีอย่างเต็มภาคภูมิในอนาคต และเหล่านักกีฬาข้ามเพศรุ่นหลังๆ จะต้องได้รู้ว่าสิ่งที่ ปาตริซิโอ มานูเอล ทำนั้นยิ่งใหญ่แค่ไหน

อัลบั้มภาพ 9 ภาพ

อัลบั้มภาพ 9 ภาพ ของ ครอบครัวก็ยอมแลก : ปาตริซิโอ มานูเอล นักมวยข้ามเพศที่ขอแค่ได้ "ชกกับผู้ชาย"

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook