เหลี่ยมเปลี่ยนโลก : ฟุตบอลถ้วยยุโรปเกิดขึ้นเพราะกลโกง และคำคุยโว?

เหลี่ยมเปลี่ยนโลก : ฟุตบอลถ้วยยุโรปเกิดขึ้นเพราะกลโกง และคำคุยโว?

เหลี่ยมเปลี่ยนโลก : ฟุตบอลถ้วยยุโรปเกิดขึ้นเพราะกลโกง และคำคุยโว?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ยูฟ่า แชมเปียนส์ลีก หนึ่งในทัวร์นาเมนต์ฟุตบอลที่ได้รับความนิยมเป็นอันดับต้นๆของโลก ด้วยความสนุกและเร้าใจจากการจับทีมที่ดีที่สุดในแต่ละประเทศของยุโรปมาห้ำหั่นกัน จึงไม่น่าแปลกใจที่รายการนี้จะมียอดผู้ชมในสนามเฉลี่ยนัดละไม่ต่ำกว่า 40,000 คน ในฤดูกาลล่าสุด

 

อย่างไรก็ดี หากย้อนไปดูต้นกำเนิดของรายการนี้ มันอาจเกิดขึ้นด้วยเหตุผลแปลกๆ ไปสักนิด

Floodlit Friendlies

หลังฟุตบอลต้องหยุดชะงักไปหลายปีจากสงครามโลกครั้งที่ 2 หลายทีมในยุโรป ก็พยายามสร้างทีมให้กับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง นอกจากผลงานในสนาม การสร้างทีมนอกสนามก็จำเป็นไม่แพ้กัน เมื่อในยุคนั้นได้มีนวัตกรรมหลายอย่าง ที่เข้ามาช่วยวงการฟุตบอล หนึ่งในนั้นคือการติดไฟส่องสว่าง

 1

การติดไฟในสนามเริ่มเป็นที่นิยมกันในหมู่สโมสรยุโรปในช่วงทศวรรษที่ 1950 ซึ่งทำให้พวกเขาสามารถลงแข่งกับคู่แข่งในช่วงเวลาเย็นกลางสัปดาห์ได้ หลังจากก่อนหน้านี้ต้องเตะกันในช่วงบ่ายของวันเสาร์เท่านั้น เพื่อให้การแข่งขันจบก่อนที่ฟ้าจะมืดลง

วูล์ฟแฮมป์ตัน วันเดอเรอร์ส ก็เป็นหนึ่งในนั้น พวกเขาตัดสินใจจ่ายเงิน 30,000 ปอนด์ ติดตั้งไฟในสนาม นอกจากทำให้สามารถทำการแข่งขันในช่วงเย็นได้แล้ว ยังเป็นโอกาสในการเชิญทีมจากต่างประเทศมาลงแข่งอุ่นเครื่องที่มีการถ่ายทอดสดเพื่อหาเงินค่าตั๋วที่เรียกกันว่า “floodlit friendlies”

 2

นับตั้งแต่วูล์ฟ มีไฟในสนามเป็นของตัวเองในปี 1953 พวกเขาได้เชิญทีมต่างชาติจากทั่วโลกมาลับฝีเท้าในโมลินิวซ์ สเตเดียม อย่างต่อเนื่อง ทั้งทีมชาติแอฟริกาใต้  กลาสโกว เซลติกของสก็อตแลนด์ ราซิง คลับ จากอาร์เจนตินา เฟิร์ส เวียนนา ของออสเตรีย หรือแม้แต่ มัลคาบี เทลฮาวีฟ จากอิสราเอล

ทว่าไม่มีเกมไหนที่สำคัญไปกว่าการพบกับ ฮอนเวด บูดาเปสต์ ยอดทีมจากฮังการี ที่กลายเป็นจุดเปลี่ยนวงการฟุตบอลยุโรปไปตลอดกาล

แชมป์ชนแชมป์

เกมนัดหยุดโลกดังกล่าว เกิดขึ้นเกือบหนึ่งปีหลัง “เกมแห่งศตวรรษ” ที่ทีมชาติอังกฤษ พ่ายคาเวมบลีย์ต่อฮังการีอย่างย่อยยับ 3-6 และ 6 เดือนหลังอังกฤษบุกไปโดนย้ำแค้นถึงฮังการีอีก 1-7 ซึ่งนับเป็นความพ่ายแพ้ที่ยับเยินที่สุดในประวัติศาสตร์ “สิงโตคำราม” จนถึงวันนี้ เกมนัดนี้จึงเหมือนเหมือนการแก้แค้นให้กับทีมชาติของวูล์ฟ

 3

วูล์ฟ ในตอนนั้นกำลังอยุ่ในยุคเฟื่องฟู พวกเขาที่มี แสตน คุลลิส กุมบังเหียน และบิลลี ไรท์ กัปตันทีมชาติอังกฤษสวมปลอกแขนกัปตัน เพิ่งคว้าแชมป์ดิวิชั่น 1 ครั้งแรกของสโมสรในฤดูกาล 1953-54 และนำเป็นจ่าฝูงของลีกในขณะนั้น

ในปีที่คว้าแชมป์ วูล์ฟ ทะลวงตาขายคู่แข่งไปถึง 96 ประตู โดยเดนนิส วิลชอว์, จอห์นนี ฮันคอคส์ และ รอย สวินบอร์น ต่างยิงกันเกิน 20 ประตูด้วยกันแทบทั้งสิ้น

ในขณะที่ ฮอนเวด พวกเขาเพิ่งจะคว้าแชมป์ลีกเป็นสมัยที่ 4 เมื่อปี 1954 และยิงเกิน 100 ประตูในฤดูกาลนั้นภายใต้การคุมทัพของ เจโน คัลมาร์ สมาชิกส่วนใหญ่ในทีมเป็นสมาชิกของทีมชาติฮังการีชุดคว้ารองแชมป์โลก 1954 ไม่ว่าจะเป็น กุยยา กรอสซิคส์, กุยยา โลรองต์, ลาสโซล บุได, โจเซฟ บอสซิค, โซลตาน ซิบอร์ โดยมี เฟเรนซ์ ปุสกัส กองหน้าที่ดีที่สุดของยุค จับคู่กับ ซานดอร์ คอคซิส ที่เพิ่งยิงไป 11 ประตูในเวิลด์คัพ

เกมนัดนี้จึงเสมือนเป็นการพบกันระหว่างสองทีมที่ดีที่สุดแห่งยุค

ฝันร้ายของหมาป่า

เกมนัดนี้เตะกันที่สนามโมลินิวซ์ รังเหย้าของวูล์ฟ และด้วยความฮอนเวดมีนักเตะหลายรายอยู่ในทีมชาติฮังการี ซึ่งเป็นทีมดังในยุคนั้น ทำให้เกมนี้ได้รับความสนใจอย่างล้นหลาม ผู้คนกว่า 50,000 คนแห่เข้ามาชมกันจนเต็มความจุ กลายเป็นภาพละลานตาไปด้วยฝูงชนไปทั่วทั้งอัฒจันทร์

 4

เกมนัดนี้ยังมีการถ่ายทอดสดจาก BBC สถานีโทรทัศน์ของอังกฤษ แม้จะถ่ายทอดสดเฉพาะครึ่งหลัง แต่เกมนี้ก็มีคนสนใจรับชมผ่านหน้าจอโทรทัศน์สูงถึง 12 ล้านคน ซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ยากหากไม่ใช่เอฟเอคัพนัดชิงชนะเลิศ หรือเกมของทีมชาติ

อย่างไรก็ดี กลับกลายเป็นว่าเป็นฝ่ายทีมเยือนที่ไล่กดดันได้ตั้งแต่ต้นเกม สไตล์บอลสั้นของพวกเขาสร้างปัญหาให้กับวูล์ฟแฮมตันไม่น้อย นาทีที่ 10 ฮอนเวด ก็เป็นฝ่ายออกนำจนได้จากจังหวะลูกตั้งเตะ ปุสกัส เปิดลูกฟรีคิกด้วยซ้ายเข้าไปในเขตโทษ ซานดอร์ คอคซิส ขึ้นเทคสูงกว่าแนวรับของวูล์ฟ โขกตกพื้นหนึ่งจังหวะแล้วเด้งเข้าประตูไป ให้ผู้มาเยือนออกนำ

วูล์ฟพยายามเปิดเกมรุกเข้าสู้ และมีโอกาสทำประตูตีเสมอเมื่อรอย สวินบอร์น ได้หลุดไปซัดในเขตโทษ แต่ก็ไม่ผ่านมือ ลาญอส ปากาโร ผู้รักษาประตูของฮอนเวด

แต่เกมรุกที่จ่ายยาวออกปีก แล้วจ่ายสั้นเข้ามาตรงกลางของฮอนเวด ยังเป็นปัญหาที่วูล์ฟ แก้ไม่ตก ก่อนที่พวกเขาจะมาเสียประตูที่สองจากการต่อบอลจังหวะเดียวของฮอนเวด และเป็น เฟเรนซ์ มาชอส ที่หลุดเข้าไปยิงผ่านมือ เบิร์ธ วิลเลียมส์ ในนาทีที่ 14 ผ่านไปไม่ถึงครึ่งทางของครึ่งแรกเจ้าบ้านถูกทิ้งห่างออกไปเป็น 0-2

ฮอนเวด ไม่หยุดเพียงนั้น บอลสั้นของพวกเขาเล่นงานวูล์ฟอย่างต่อเนื่อง และเกือบได้ประตูเพิ่ม แต่ยังดีที่ วิลเลียมส์ ช่วยเซฟถึงสองจังหวะไม่ให้ทีมถูกนำไปมากกว่านั้น

จบครึ่งแรก วูล์ฟถูกทีมจากฮังการีบุกมานำ 0-2 คุลลิสมีการบ้านต้องจัดการเป็นกองพะเนินในช่วงพักครึ่ง

ไม่ได้ด้วยเล่ห์ต้องเอาด้วยกล

ปัญหาหลักที่วูล์ฟต้องเผชิญในครึ่งแรกคือบอลสั้นที่มีประสิทธิภาพของฮอนเวด เกมรุกของผู้มาเยือนขับเคลื่อนด้วยลูกจ่ายสั้นเป็นหลัก ซึ่งเป็นสไตล์ที่แทบจะถอดแบบมาจากทีมชาติฮังการี

 22

คุลลิส ย้อนความทรงจำ ทันใดนั้นภาพของทีมชาติฮังการี ที่ต้องเจอกับปัญหาในสนามที่เต็มไปด้วยโคลนในเกมนัดชิงชนะเลิศฟุตบอลโลก 1954 กับเยอรมันตะวันตก ก็โผล่แวบขึ้นมา เขารู้แล้วว่าเกมนี้จะต้องทำอย่างไร

ช่วงพักครึ่ง คุลลิส สั่งให้ทีมงานของสโมสร รวมไปถึง รอย แอตกินสัน กุนซือระดับตำนานของแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ที่ตอนนั้นเป็นเด็กฝึกของสโมสรในวัย 16 ปี ออกมาฉีดน้ำในสนามให้ชุ่ม - นี่คือแทคติกของเขาในครึ่งหลัง

“เราคิดว่าเขาบ้าไปแล้ว ตอนนั้นเป็นเดือนธันวาคม และฝนก็ตกมาไม่หยุดหย่อนมาสี่วันแล้ว” แอตกินสันย้อนความหลัง

อย่างที่คาดเอาไว้ สนามที่เต็มไปด้วยโคลนสร้างปัญหาให้กับ ฮอนเวด อย่างมาก บอลสั้นของเขาไปไม่ถึงเพื่อนร่วมทีม ไม่ติดอยู่ในบ่อโคลน ก็เลยจากจุดจ่ายไปไกล ประสิทธิภาพในเกมรุกของทีมเยือนถูกลดทอนไปด้วยโคลนที่เกิดขึ้นด้วยน้ำมือมนุษย์

“ฮอนเวดค่อยๆเจอกับความยุ่งยากทีละน้อย กลยุทธ์ของพวกเขาติดอยู่ในโคลน” แอตกินสันกล่าวถึงเหตุการณ์วันนั้น

เมื่อเกมรุกของคู่แข่งถูกลดทอนประสิทธิภาพ ก็เป็นโอกาสของวูล์ฟในการโต้กลับ คุลลิสรู้ดีว่าโคลนสร้างปัญหาให้พวกเขาเช่นกัน แต่ไม่ใช่เรื่องยากที่จะรับมือ เขาสั่งให้ลูกทีม ใช้บอลยาวมากขึ้น โดยสาดบอลไปข้างหน้าเพื่อหนีฟูลแบคของฮอนเวด และเพียงสี่นาทีในครึ่งหลัง วูล์ฟก็มามีความหวัง เมื่อมาได้ลูกโทษที่จุดโทษ ก่อนที่ ฮันคอคส์ ดาวยิงของทีมสังหารไม่พลาดให้ทีมตีตื้นขึ้นมาเป็น 1-2

“วูล์ฟค่อยๆขันสกรูให้แน่นขึ้นทีละนิดทีละนิด พวกเขาดูเหมือนผู้เล่นเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว และอยู่กันเป็นฝูงทุกหนทุกแห่ง สนามปั่นป่วนคู่แข่งได้มากขึ้นๆ (โคลน) เป็นเหมือนกับกาวเหนียว ผู้คนในโมลินิวซ์ต่างลุกฮือและส่งเสียงอื้ออึงราวเฮอริเคนในทะเล ร้องเรียกให้จัดการคู่แข่ง” เจฟฟรี กรีน เขียนใน The Times    

เจ้าบ้านพยายามใช้บอลยาวกดดันฮอนเวด และมันก็มาสัมฤทธิ์ผลในนาทีที่ 76 เดนนิส วิลชอว์ ครอสบอลจากฝั่งซ้ายเข้ามาให้ สวินบอร์น โหม่งตีเสมอ ท่ามกลางเสียงเฮด้วยความดีใจของแฟนบอลอื้ออึงไปทั่วทั้งสนาม

ไดเร็คต์ฟุตบอลของวูล์ฟยังคงเล่นงานผู้มาเยือนอย่างต่อเนื่อง 90 วินาทีต่อมา วิลชอร์ จ่ายบอลให้ สวินบอร์น ซัดเข้าไปอย่างเฉียบคมให้ทีมพลิกนำเป็น 3-2 ก่อนที่จะประตูดังกล่าวจะกลายเป็นประตูชัยในท้ายที่สุด

เราคือแชมป์โลก

“ผมอาจจะไม่เคยเห็นอะไรตื่นเต้นกว่านี้มาก่อนในชีวิต ถ้าผมได้เห็นอะไรตื่นเต้นแบบนี้มากๆ ผมคงไม่มีชีวิตอยู่มานานขนาดนี้” ปีเตอร์ วิลสัน คอลัมนิสต์ของ Daily Mirror เขียนถึงเกมนัดนี้

 5

เกมนัดดังกล่าวสร้างความภาคภูมิใจให้แก่ชาวอังกฤษมาก นอกจากจะเป็นการพลิกเอาชนะอย่างสนุกด้วยบอลสไตล์โยนยาวที่เป็นเอกลักษณ์ของพวกเขาแล้ว ยังถือเป็นการแก้แค้นให้กับทรีไลออนส์ ที่ต้องเสียหน้าจากความพ่ายแพ้อย่างยับเยินต่อฮังการี 2 นัดซ้อนเมื่อเกือบหนึ่งปีก่อน

The Daily Express สื่อชื่อดังของอังกฤษกล่าวถึงเกมนัดนี้ไว้ว่ามันพิสูจน์ให้เห็นว่าฟุตบอลอังกฤษ “อัจฉริยะ ดั้งเดิม และไม่มีใครเอาชนะได้ มันยังเป็นที่สุดของโลกอีกด้วย” ในขณะที่ Daily Mirror กล่าวว่า “วูล์ฟยอดเยี่ยมที่สุด”

ไม่เพียงแต่คนในวงการฟุตบอลเท่านั้น นักกีฬาชาวอังกฤษก็มาร่วมยินดีไปกับชัยชนะในครั้งนี้ แจ็ค แบเรสฟอร์ด เจ้าของ 5 เหรียญทองโอลิมปิกจากกีฬาพายเรือ ประทับใจในเกมนัดนี้ จนถึงขั้นส่งโทรเลขไปหาผู้จัดการทีมของวูล์ฟ

“สิ่งที่คุณทำเมื่อคืนก่อนมันสุดยอดอะไรเช่นนี้ โปรดรับการแสดงความยินดีจากก้นลึกในหัวใจของผม” ข้อความในโทรเลข

“ผมได้ดูเกมจากทีวี มันสนุกมาก เราต้องการแรงบันดาลใจเช่นนี้เพื่อผลักดันให้วงการกีฬาอังกฤษกลับไปอยู่ในที่ที่ควรจะเป็น นั่นก็คืออันดับ 1 ของโลก”

 6

ในขณะที่คุลลิส ได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อทันทีตั้งแต่จบเกมว่า “พวกเราคือแชมป์โลก” แม้ในเวลาต่อมาเขาจะปฏิเสธว่าไม่ได้พูด แต่คำพูดของเขาได้กลายเป็นข้อความพาดหัวของสื่อในประเทศหลายสำนัก

ท่ามกลางความชื่นมื่นของชาวอังกฤษ ไม่ใช่ทุกคนที่จะเห็นด้วยกับพวกเขา

แชมป์โลกจริงหรือ?

“พวกเราคือแชมป์โลก” อาจจะเป็นคำที่คนในประเทศอังกฤษเห็นพ้องต้องกัน แต่สำหรับสื่อต่างชาติ พวกเขาไม่คิดว่าวูล์ฟจะคู่ควรกับคำนี้เท่าไรนัก

 7

วิลลี เมสล์ นักข่าวชาวออสเตรีย คือคนกลุ่มแรกที่ออกมาแย้งคำพูดนี้ เขามองว่าจะพูดว่าวูล์ฟเป็นแชมป์โลกได้อย่างไร ในเมื่อฮอนเวด คู่แข่งของพวกเขาเพิ่งพ่าย เซอร์เวนา ซเวซดา ที่รั้งอยู่ในอันดับ 7 ของตารางยูโกสลาฟลีก ที่มีปาร์ติซานนำเป็นจ่าฝูง

“ไม่มีใครเรียก ปาติซาน ว่าเป็นแชมป์โลก แต่ผมก็กล้าตั้งข้อสังเกตได้ว่าสนามที่เต็มไปด้วยโคลนตมแบบนั้น มันมักจะไม่ถูกพิจารณานำมาใช้เป็นสถานที่ตัดสินแชมป์โลกสักเท่าไหร่หรอก และมันเละเทะยิ่งกว่าโคลมตมธรรมดาด้วยซ้ำ”

เช่นเดียวกับ กาเบรียล ฮาโนต์ บรรณาธิการของ L’Equipe สื่อชื่อดังของฝรั่งเศส ที่เขียนบทความในเชิงว่าพวกเขาเป็นแชมป์โลกได้อย่างไร เมื่อยังไม่ได้แข่งกับทีมที่มีชื่อเสียงอย่าง เรอัล มาดริด หรือเอซี มิลาน

“ก่อนประกาศว่าวูล์ฟเป็นทีมไร้เทียมทาน ให้พวกเขาไปเล่นที่มอสโก หรือบูดาเปสต์ก่อน มันยังมีทีมที่มีชื่อเสียงระดับโลกอีกมากมาย มิลาน กับ เรอัล มาดริด ก็เป็นหนึ่งในนั้น”

“เราควรมีการแข่งขันระดับโลก หรืออย่างน้อยก็ระดับทวีป ที่มีความหมายและมีเกียรติกว่า Mitropa Cup (ทัวร์นาเมนต์บุกเบิกของการแข่งขันสโมสรยุโรป ที่มีเพียงทีมจากยุโรปกลาง และตะวันออกเข้าร่วม) และแปลกใหม่กว่าการแข่งขันของทีมชาติ”

 8

ฮาโนต์ และ ฌัค แฟร์แรง เพื่อนร่วมงานของเขาเคยเสนอไอเดียการแข่งขันชิงแชมป์ระดับทวีปมาก่อนหน้านี้ แต่การประกาศตัวเป็นแชมป์โลกของวูล์ฟ ก็ได้กลายเป็นตัวเร่งปฏิกริยาให้เร็วขึ้น ฮาโนต์ ต้องการหักล้างคำกล่าวอ้างของทีมจากอังกฤษ

หลังจากนั้นในเดือนมีนาคม 1955 L’Equipe ต้นสังกัดของฮาโนต์ ได้มีโอกาสเสนอแนวคิดจัดการแข่งขันชิงแชมป์สโมสรยุโรปในการประชุมยูฟ่า ครองเกรส ที่เวียนนา ออสเตรีย ก่อนที่ ยูโรเปียน คัพ ครั้งที่ 1 จะอุบัติขึ้นเป็นครั้งแรก ในเดือนกันยายนปีเดียวกัน  

“จิม โฮเดน ผู้เขียนชีวประวัติของคุลลิสกล่าวว่า ‘วิสัยทัศน์ของฮาโนต์ มีมาตั้งแต่สมัยก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2’ แต่คำคุยโวของคุลลิส ได้จุดประกายให้แปรเปลี่ยนไอเดียนี้ให้เป็นจริง” ข้อความจากบทความ The legacy of Wolves' famous win ใน Express & Star

น่าเสียดายที่ฤดูกาล 1955-56 วูล์ฟ ทำได้เพียงตำแหน่งรองแชมป์ดิวิชั่น 1 สิทธิ์จึงตกไปอยู่กับเชลซี ที่เข้าป้ายคว้าแชมป์ลีกสูงสุดครั้งแรกของสโมสร อย่างไรก็ดี พวกเขาจำเป็นต้องถอนตัว เนื่องจากประธานลีกกังวลว่าเกมกลางสัปดาห์ จะส่งผลกระทบต่อยอดผู้ชมในเกมลีกวันเสาร์

ก่อนที่ 12 เดือนต่อมา แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ภายใต้การคุมทีมของแมตต์ บัสบี จะกลายเป็นทีมจากอังกฤษทีมแรกที่ได้ลงวาดลวดลายในศึกยูโรเปียนส์คัพ และเข้าไปถึงรอบรองชนะเลิศ แต่พ่ายต่อ เรอัล มาดริด แชมป์ในครั้งนั้น ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการประกาศศักดาของทีมจากอังกฤษในเวทียุโรปอย่างแท้จริง

 9

อังกฤษ ถือเป็นชาติอันดับ 3 ที่คว้าแชมป์ในยูโรเปียนส์คัพ หรือยูฟ่า แชมเปียนส์ลีกในปัจจุบันได้มากที่สุด รองมาจาก สเปน และอิตาลี พวกเขาคว้าแชมป์รวมกันได้ 12 ครั้ง โดยเป็น ลิเวอร์พูล 5 สมัย แมน ยูไนเต็ด 3 สมัย น็อตติงแฮม ฟอร์เรสต์ 2 สมัย และ แอสตัน วิลลา กับ เชลซี อีกทีมละ 1 สมัย

ส่วนวูล์ฟแฮมตัน มีโอกาสโฉบเข้ามาเล่นในรายการนี้เพียง 2 ครั้ง พวกเขาตกรอบแรกในฤดูกาล 1958-59 ก่อนจะเข้าได้ถึงรอบ 8 ทีมสุดท้ายในฤดูกาลถัดมา แต่นับตั้งแต่วันนั้น “หมาป่า” ก็ไม่เคยเข้าใกล้กับคำว่า “แชมป์โลก” หรือแม้แต่คำว่า “แชมป์ยุโรป” นับตั้งแต่สถาปณาตัวเองเมื่อ 60 กว่าปีก่อนอีกเลย

อัลบั้มภาพ 10 ภาพ

อัลบั้มภาพ 10 ภาพ ของ เหลี่ยมเปลี่ยนโลก : ฟุตบอลถ้วยยุโรปเกิดขึ้นเพราะกลโกง และคำคุยโว?

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook