วอลเลย์บอลร.ร.ท่าตาสี : ทีมนักตบที่เกิดขึ้นจากแปลงผักและไฟฝันของคุณครู

วอลเลย์บอลร.ร.ท่าตาสี : ทีมนักตบที่เกิดขึ้นจากแปลงผักและไฟฝันของคุณครู

วอลเลย์บอลร.ร.ท่าตาสี : ทีมนักตบที่เกิดขึ้นจากแปลงผักและไฟฝันของคุณครู
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน...สำหรับโรงเรียนประถมฯขนาดเล็ก ในพื้นที่ห่างไกล ที่มีนักเรียน 100 กว่าคน และพื้นที่แปลงเกษตรโดยรอบใหญ่กว่าอาคารเรียน จะสามารถสร้างทีมวอลเลย์บอล ขึ้นมายืนอยู่แถวหน้าของประเทศได้?

 รถยนต์ของเรามุ่งหน้าจากกรุงเทพฯ สู่ตำบลตาหลังใน อำเภอวังน้ำเย็น ที่ตั้งของโรงเรียนท่าตาสี สถานศึกษาระดับอนุบาล-ประถมฯ ขนาดเล็ก ที่อยู่ห่างจากตัวเมืองสระแก้ว เกือบ 30 กิโลเมตร

ระหว่างสองข้างทางก่อนเข้าถึงโรงเรียน ปกคลุมไปด้วยพื้นที่เกษตรกรรม ถนนหนทางยังอยู่ในสภาพดี รถราสัญจรสะดวก บ้านเรือนมีให้เห็นอยู่บ้างแต่บางตา...พอเหลือบสายตาไปอีกรอบ ก็เห็นคนในหมู่บ้านขับรถอีแต๋นอยู่บนท้องถนน ตอกย้ำวิถีชีวิตของผู้คนในชุมชนที่นี่ ว่าพวกเขาเป็นใคร ประกอบอาชีพอะไร?

ยานสี่ล้อจากเมืองกรุงฯ เลี้ยวเข้ามาถึงเขตโรงเรียน มองด้วยตาเปล่าก็พอมองเห็นถึงพื้นที่ขนาดใหญ่รอบๆ โรงเรียนแห่งนี้  

โดยมีโดมกลางแจ้งหลังคายกสูง ที่ไม่ทราบแน่ชัดว่า พื้นที่ตรงหน้าคือโดมอะไร คอยดึงดูดสายตาผู้มาเยี่ยมเยือนจากฝั่งถนน เมื่อรถยนต์ขับเข้าใกล้เรื่อยๆ จึงได้รู้ว่า มันคือ สนามวอลเลย์บอลของโรงเรียนสถานที่สำหรับฝึกซ้อมเก็บตัวของนักกีฬาวอลเลย์บอล โรงเรียนท่าตาสี ต้นเรื่องที่ทำให้เราเดินทางไกลเกือบ 5 ชั่วโมงเพื่อมาที่นี่

บรรยากาศในช่วงพักเที่ยงของโรงเรียนแห่งนี้ เป็นไปอย่างสงบ ตามจำนวนนักเรียนที่มีเพียงร้อยกว่าชีวิต บางส่วนใช้พื้นที่สนามวอลเลย์เพื่อเตะลูกฟุตบอลบอล บ้างก็ล้อม 5-6 คนเดาะวอลเลย์ฯ เมื่อได้ยินสัญญาณเข้าสู่คาบเรียนบ่าย เด็กๆ วิ่งเข้าห้องเรียนโดยอัตโนมัติ

เหลือเพียง “ครูเบิ้ม” ภิญโญ ไชยภา อาจารย์วิชาภาษาอังกฤษ ที่ไม่ติดภารกิจยามบ่าย มานั่งพูดคุยกับเรา และพาทีมงาน Main Stand ไปเยี่ยมชมพื้นที่ต่างๆเกือบ 50 ไร่ของโรงเรียน

จากคำถามที่คิดอยู่ในใจว่า เป็นไปได้อย่างไรที่สถานศึกษาขนาดเล็ก ที่อยู่พื้นที่ห่างไกลความเจริญเช่นนี้ จะมีทีมวอลเลย์บอลนักเรียนที่ไปไกลถึงการแข่งขันระดับประเทศฯ

แต่พอการสนทนาดำเนินไปเรื่อยๆ คำตอบที่ได้ยินผ่านหู บวกกับสิ่งที่เห็นผ่านตา ก็ค่อยๆ คลายความสงสัย และเรื่องที่ค้างในใจ จนมารู้ตัวอีกที ก็ได้รับพลังงานดีๆกลับเมืองหลวงมาเพียบจากแปลงผักของเด็กๆ โรงเรียนท่าตาสี

volalalal2
 ครูบรรจุใหม่กับแปลงเกษตร
“ผมได้บรรจุเป็นครูครั้งแรกที่นี่ หลังจากเป็นครูอัตราจ้างมาหลายที่ วันแรกที่ผมมาถึง โรงเรียนท่าตาสี ผมมองหาเลยว่าสนามวอลเลย์บอลของโรงเรียนอยู่ตรงไหน ก็พบว่า ที่โรงเรียนไม่มีสนามวอลเลย์ มีเพียงลานกีฬาอเนกประสงค์ ที่ไม่มีหลังคา มีเด็กนักเรียนตั้งแต่อนุบาลฯ ถึง ป.6 อยู่ประมาณ 130 คน”

บางครั้งความรักก็เป็นพลังที่เปรียบเหมือนเข็มทิศนำทางให้เราก้าวเดินไปในเส้นทางใดสักทางหนึ่ง หากย้อนกลับไปเมื่อหลายสิบปีก่อน ภิญโญ ไชยภา พาตัวเองจาก อ.ปรางค์กู่ จ.ศรีสะเกษ มาสมัครเข้าเรียนต่อที่ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ ในโควต้านักกีฬาวอลเลย์บอล กีฬาที่เขาคุ้นเคยและหัดเล่นมาตั้งแต่เด็ก

ภิญโญ เล่นวอลเลย์บอลในระดับมหาวิทยาลัยฯ และประเภทประชาชน ควบคู่การเรียนภาควิชาภาษาอังกฤษ จนได้รู้จักกับบุคลากรมากมายในวงการตบลูกยางนักเรียน

หลังสำเร็จการศึกษา “ครูเบิ้ม” ก็ได้มีโอกาสเข้ามาประกอบอาชีพ ครูอัตราจ้างที่โรงเรียนโคกนากลางเหนือพิทยาสรรพ์ พร้อมกับรับบทเป็นมือขวาของ อ.บัญญัติ ภูพาที ในการทำทีมวอลเลย์บอลเยาวชนให้กับจังหวัดกาฬสินธุ์ ชุดรองแชมป์ประเทศไทย

ต่อมาเขาย้ายไปเป็นครูอัตราจ้างที่ โรงเรียนอนุบาลลำปลายมาศ จ.บุรีรัมย์ สถานศึกษาที่มีชื่อเสียงด้านกีฬาวอลเลย์บอล ระดับประเทศ โดยที่ ภิญโญ ก็ยังคงวนเวียนอยู่ในแวดวงการทำทีมนักตบรุ่นจิ๋ว ชุด 12 ปีให้กับโรงเรียนอนุบาลลำปลายมาศ

volalalal3
ก่อนได้บรรจุเป็นข้าราชการครูที่ จ.สระแก้ว ในโรงเรียนที่ตรงข้ามหมดทุกอย่าง เมื่อเปรียบเทียบกับสถาบันเก่าของเขาทุกอย่าง เมื่อปี พ.ศ.2557

“ร.ร.อนุบาลลำปลายมาศ เขามีชื่อเสียงด้านกีฬาวอลเลย์ฯ และทางโรงเรียนก็สนับสนุนงบประมาณกับวอลเลย์บอลเยอะมาก ทำให้อาจารย์ที่ฝึกสอน สามารถเต็มที่การฝึกสอนวอลเลย์บอลได้ แทบไม่ต้องกังวลเรื่องงบเลยว่า จะหาเงินจากไหนพาเด็กไปแข่ง หน้าที่เรามีเพียงแค่ซ้อมเท่านั้น ที่นั่นก็เลยสามารถประสบความสำเร็จ ไปถึงแชมป์ระดับประเทศได้ไม่ยาก”

“หลังจากได้มาบรรจุที่ โรงเรียนท่าตาสี ในตอนแรกผมยังไม่ได้ทำทีมวอลเลย์บอลฯ ผมใช้เวลา 1 ปีกว่าจะเริ่มทำทีมครั้งแรก เพื่อทำการศึกษาบริบทของโรงเรียน, นักเรียน, ชุมชน และผู้บริหารโรงเรียนฯ ว่าเขามีความคิดเห็นอย่างไร หากเราอยากทำทีมกีฬา เพราะเราเคยมีประสบการณ์ในการทำทีมระดับเยาวชนมาก่อน รวมถึงวอลเลย์เป็นกีฬาที่เรารัก เลยไปปรึกษาท่าน ผอ. (บรรจบ สมอาษา) ท่านก็เห็นดีด้วย”

ครูเบิ้ม - ภิญโญ ใช้เวลาหนึ่งปี เพื่อเรียนรู้ และเข้าใจตัวตนของผู้คนในชุมชน ตลอดจนนักเรียนกว่า 130 ชีวิต ว่ามีความเป็นอยู่อย่างไรบ้าง จนได้เข้าใจว่า โรงเรียนท่าตาสี เป็นโรงเรียนที่มีการทำเกษตรแบบเศรษฐกิจพอเพียง

a6
พื้นที่ว่างเปล่าของโรงเรียนถูกนำมาดัดแปลงทำเป็น สวนผัก, ผลไม้ และบ่อเลี้ยงปลาขนาดใหญ่ ตามคุณสมบัติของพื้นที่รอบๆโรงเรียนที่เหมาะสมแก่การเพาะปลูก

“ชาวบ้านเขาทำอาชีพเกษตรกรอยู่แล้ว ส่วนโรงเรียนก็ไม่ได้มีความโดดเด่นเรื่องกีฬามาก่อน แต่มีการทำกิจกรรมเรื่องของ เกษตรแบบพอเพียงตามรอยพ่อ ในการเลี้ยงโคนม ซึ่งเด็กๆที่นี่ก็เลยมีทักษะในการรีดนมวัว เพื่อนำน้ำนมไปส่งต่อยังสหกรณ์ พอถึงเวลาเลิกเรียนก็จะกลับเงียบๆ เพราะไม่มีกีฬา”

 ลูกวอลเลย์ฯ ลูกเดียวเล่นทั้งโรงเรียน
หนึ่งปีผ่านไป ไฟฝันที่ยังมีอยู่ในตัวอดีตนักวอลเลย์ฯคนนี้ ไม่เคยเห็นมอดลงไปตามกาลเวลา เขายังอยากทำทีมวอลเลย์บอลในโรงเรียน แม้มีเพียงตัวเลือกนักกีฬาเพียงหยิบมือ ที่สำคัญในบรรดานักกีฬาเลือกเข้ามา ล้วนแล้วแต่ไม่มีทักษะพื้นฐานของวอลเลย์ฯ ติดตัวเลยสักคน

“ผมเริ่มต้นจากการ เปิดเทปการแข่งขันวอลเลย์บอล ชิงแชมป์ประเทศไทย เมื่อปี 2556 ที่ผมลงเล่น ให้กับนักเรียนดู เพื่อบอกกับ้ด็กว่านี่คือสิ่งที่ครูเคยทำมาก่อน ครูเคยพาเพื่อนๆไปถึงจุดนั้นมาแล้ว แต่ผลตอบรับก็คือ นักเรียนนั่งงง เด็กบางคนไม่รู้จักกีฬานี้มาก่อน ขนาดนักกีฬาทีมชาติยังไม่รู้จักเลย เพราะมันไม่ใช่สิ่งที่เขาสนใจมาตั้งแต่แรก”

a7
“เราขอความสมัครใจจากเด็กๆ ชั้นป.6 ว่าเราอยากสอนเขาให้เป็นรุ่นบุกเบิก ตอนนั้นก็ได้นักกีฬาผู้ชายมา 12 คนจากนักเรียนชายทั้งหมด 16 คน (มีชั้นเดียว) ได้ผู้หญิงมา 5 คน ซึ่งไม่ครบทีมด้วยซ้ำ”

“ก็มาเริ่มฝึกซ้อมวอลเลย์บอลกัน โดยที่ทั้งโรงเรียนมีลูกวอลเลย์บอลแค่ใบเดียวเท่านั้น สภาพเก่าๆ แข็งๆ เวลาเด็กอันเดอร์จะเจ็บมือ การฝึกซ้อมช่วงแรกไปเป็นด้วยความยากลำบากมาก วันไหนฝนตก ก็ต้องมีคนเสียสละช่วยกวาดน้ำออกจากลาน เพื่อให้ซ้อมต่อได้”

เด็กเกือบ 20 ชีวิตที่ต้องมาเริ่มหัดพื้นฐานวอลเลย์ฯ ตั้งแต่ การอันเดอร์บอล กับลูกวอลเลย์บอลเพียงใบเดียว กลายเป็นบททดสอบด่านแรกที่ทั้งครูภิญโญ กับเหล่าลูกศิษย์ต้องฝ่าด่านไปให้ได้ เพราะเป้าหมายอยู่ไกลเหลือเกิน

“พูดตรงว่าทุกคนเข้ามาพื้นฐานเท่ากับ 0 โดยธรรมชาติของเด็กผู้ชายที่นี่ เขาจะเตะฟุตบอลเป็นอยู่บ้าง เพราะเป็นกีฬาที่เล่นกับพื้นดิน แต่วอลเลย์บอลเป็นกีฬาที่ยากกว่านั้น เพราะต้องใช้ความสามารถในการประคองบอลให้ลอยอยู่บนอากาศ ซึ่งเด็กๆ ไม่มีเบสิคเลย ไม่เคยจับลูกวอลเลย์มาก่อน ต้องใช้ความอดทนในการฝึกซ้อมเด็กนานมาก จำได้ว่ากว่าที่ทุกคนจะอันเดอร์ได้ ใช้เวลาอยู่ 4-5 เดือน จากเดือน พ.ย. ข้ามมาถึง เดือน เม.ย.”

f4
“พอเด็กอันเดอร์บอลได้ ผมก็ไปปรึกษา ผอ.ว่า อยากส่งเด็กแข่งขันรายการชิงถ้วยพระราชทานของ เจ้าฟ้าหญิงจุฬาภรณ์ ที่จังหวัดนครนายก ซึ่งเป็นรายการใหญ่ ผอ.ก็อนุญาต โดยแบ่งงบประมาณของโรงเรียนเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการไปแข่งครั้งแรก”

“ปรากฏว่ารายการนั้น เด็กเราได้อันดับ 2 วันที่เดินทางกลับมา เด็กทุกคนในโรงเรียนดีใจกันมากที่เราได้ถ้วยรางวัลใบใหญ่ติดมือ เพราะว่าที่ผ่านมาโรงเรียนไม่เคยประสบความสำเร็จด้านกีฬา ในรายการที่ใหญ่แบบนี้ จากนั้นเริ่มมองหาทัวร์นาเมนต์ส่งแข่งเรื่อยๆ ทั้งระดับเครือข่าย, ระดับจังหวัด ไปจนถึงระดับภาค”

 อย่ามองแค่ข้อจำกัด แต่จงมองหาโอกาส
ทีมวอลเลย์บอลโรงเรียนท่าตาสี เดินหน้าสร้างเซอร์ไพรส์ต่อเนื่อง ด้วยการเข้าป้ายรองแชมป์จังหวัดสระแก้วฯ รายการใหญ่อย่าง วิทยุการบิน-มินิวอลเลย์บอล ครั้งที่ 16 นับเป็นความสำเร็จในเวลาอันรวดเร็วของขึ้นมาทำหน้าที่ หัวหน้าผู้ฝึกสอนครั้งแรกของ “ครูเบิ้ม” ภิญโญ ไชยภา

หลังความสำเร็จในครั้งนั้น คุณครูหนุ่มของ ร.ร.ท่าตาสี ต้องเจอกับข้อจำกัดมากมายที่เขาไม่อาจเลี่ยงได้ ในการลงมือทำทีมกีฬาในสถานศึกษาขนาดเล็กเช่นนี้ เนื่องด้วยงบประมาณของโรงเรียนมีค่อนข้างจำกัด และการเดินทางไปทั้งในและต่างจังหวัด แต่ละครั้งก็ต้องมีค่าใช้จ่ายหลักหมื่น

volalalal4
“พอทำทีมส่งแข่งหลายๆนัด ก็เริ่มมีความคิดว่า ไม่อยากรบกวนโรงเรียนมาก ผมเข้าใจว่าโรงเรียนเราไม่ได้มีเงินมากขนาดนั้น ที่จะอุดหนุนกีฬาเหมือนกับโรงเรียนใหญ่ ผมเลยมาคิดว่าจะยังไงดีเพื่อที่จะแบ่งเบาภาระโรงเรียน”

“รวมถึงผอ. ด้วย ผมเลยไปคุยกับเด็กๆว่า เรามาหารายได้กันดีไหม? เพื่อนำเงินมาเข้ากองทุนนักกีฬาของโรงเรียน สำหรับใช้จ่ายในการแข่งขันที่ต่างๆ เด็กๆเข้าใจ ผอ.ท่านเห็นดีด้วย ผมเริ่มต้นจากการออกทุนให้เด็กซื้อของขาย ตามตลาดนัดชุมชน”

“ช่วง 2-3 สัปดาห์แรก เด็กๆจะเขินมากไม่กล้าเรียกลูกค้า ไม่กล้าขายของ แม้แต่ตัวผมเอง ช่วงแรกๆ ก็เขินเหมือนกัน เพราะผมเป็นคนต่างถิ่น บางคนถามว่าเป็นครูไม่กลัวเสียภาพลักษณ์เหรอ? มายืนขายของในตลาดนัด แต่ผมมาคิดอีกที ถ้าผมต้องการสอนเด็กให้อย่าอายทำกิน ผมก็ต้องเริ่มจากการทำให้เขาเห็นว่า เรากล้า ตอนหลังผมก็นำความบันเทิงเข้าไป มีการติดเครื่องเสียง”

“เอานักร้องเด็กที่เคยไปออกรายการไมค์ทองคำ น้องนัท มาร้องเพลงเปิดหมวกขายของ พอขายไปเรื่อยๆ ความเขินอายก็หายไป กลายเป็นความอยากที่จะไปขายของ อยากหาเงินมาเข้ากองทุนนักกีฬา ชุมชนเห็นแบบนี้เขาก็รู้สึกดีกับเรา พอวันไหนที่ติดแข่งขันไม่ได้ไปขายของ ชาวบ้านก็ถามหาว่า คุณครูไม่พาเด็กมาขายของเหรอ”

volalalal5
ในข้อจำกัดมากมายในด้านทรัพยากร รวมถึงสิ่งอำนวยความสะดวก งบประมาณของโรงเรียนขนาดเล็ก ทีมวอลเลย์บอลโรงเรียนท่าตาสี พลิกมันให้เป็นโอกาส ด้วยการนำเอาสิ่งที่โรงเรียนมีไม่แพ้ใคร นั่นคือพื้นที่ในการเพาะปลูก ทำการเกษตร มาสร้างมูลค่าให้เกิดขึ้น

แปลงเกษตรขนาดใหญ่ มีทั้งการปลูกพืชผักสวนครัว ผลไม้ชนิดต่างๆ ทั้ง ลำไย, กล้วย, มะนาว ฯ รวมถึงการเลี้ยงสัตว์เช่น ไก่, เป็ด, ปลา รวมถึงวัว เพื่อนำผลผลิตที่ได้เหล่านี้ไปขายต่อ หรือแปรรูปเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม อย่างเช่น กล้วยฉาบ, มะกอกน้ำแช่อิ่ม ฯ เป็นต้น

นอกจากนี้ยังได้ ขออนุญาตเปิด สหกรณ์โรงเรียน เพื่อขายน้ำผลไม้ ขนมขบเคี้ยวแก่เด็กๆ ในโรงเรียน เพื่อให้เงินหมุนเวียนอยู่ในโรงเรียน และนำส่วนต่างกำไรมาใช้ในการกีฬา โดยไม่ให้ การส่งแข่งขันทีมวอลเลย์ฯ กระทบกับงบประมาณที่มีจำกัดของโรงเรียนในแต่ละปี

“ในทุกวันๆ เราจะมีการทำรายรับ-รายจ่าย เพื่อให้รู้ว่า เราใช้จ่ายไปกับอะไรบ้าง เงินที่ได้ในกองทุนนักกีฬาก็มาจากหลายๆส่วน ทั้งกำไรจากการออกไปขายของ, เงินรางวัลที่ได้รับ รวมถึงผู้ปกครองที่เห็นว่าเราตั้งใจทำทีมจริงๆ ก็สนับสนุนเงินเข้ามาช่วยเหลือทีม ทำให้ทีมสามารถอยู่ได้ด้วยตัวเอง”

volalalal6
“ผมจะสอนเด็กๆเสมอให้พวกเขารู้จักอดออม เก็บเงินใส่ซอง ผมไม่ต้องการทำเหมือนโรงเรียนอื่นที่เวลาชนะ ก็พากันไปกินเลี้ยงร้านเนื้อย่าง แต่ผมจะซื้อวัตถุดิบมาทำเอง เพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย ผมไปซื้อเนื้อมาย่าง มาทำสุกี้ให้เขากิน  แล้วนั่งกินด้วยกันภายในโรงเรียนทุกคน ผมต้องการให้คนที่เขาไม่ได้ชนะ ไม่ได้แชมป์กับนักกีฬากลุ่มที่ชนะได้นั่งกินด้วยกัน เพราะทุกคนคือครอบครัวเดียวกัน”

โมเดลหนึ่งที่น่าสนใจของโรงเรียนขนาดเล็กแห่งนี้ คือการนำเอาสิ่งที่โรงเรียนมีอยู่แล้ว ในการเป็นสถานศึกษาที่พึ่งพาตัวเอง ตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงมาบูรณาการเข้ากับการทำทีมกีฬา โดย ครูเบิ้ม ภิญโญ มีส่วนในการวางแผนผลักดันโครงการดังกล่าว ที่ใช้นักกีฬาเป็นตัวขับเคลื่อนกิจกรรมของโรงเรียน

ทุกๆวัน ก่อนการฝึกซ้อมทั้งในช่วงเช้า และเย็น เด็กๆ นักกีฬา จะถูกแบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบ ไปดูแล รดน้ำแปลงเกษตร เลี้ยงสัตว์ เก็บเกี่ยวผลผลิต ตามที่ตัวเองได้รับผิดชอบ ก่อนที่จะมีการฝึกซ้อมประจำวันเริ่มขึ้น

“เราอย่ามัวแต่มองหาในสิ่งที่เราขาด แต่เราต้องมองในสิ่งที่เรามีด้วย ท่านผอ.เคยบอกกับผมว่า ท่านไม่ต้องการให้เด็กเก่งแค่กีฬาเพียงอย่างเดียว โรงเรียนเรามีพื้นที่ทำกิจกรรมมากมาย ถ้าเราสามารถนำสองสิ่ง ทั้งเรื่องการเกษตรตามรอยพ่อ (ในหลวง รัชกาลที่ 9) มาบูรณาการกับกีฬาได้ ก็น่าจะดีกว่าสอนวิชาการแต่อยู่ในห้องเรียน โดยที่ไม่มีการลงมือปฏิบัติผ่านกิจกรรมต่างๆ”

volalalal7
“โครงการพวกนี้ เมื่อก่อนท่านผอ. เคยทำ เพียงแต่ว่าไม่มีทรัพยากรคนมาสานต่อ บางอย่างก็ล้มเลิกไป จนเราได้เด็กๆ นักกีฬามาเป็นตัวหลักในการขับเคลื่อนกิจกรรมพวกนี้ เพราะนักกีฬาเขาจะอยู่กับโรงเรียนตลอดทั้งตอนเปิดเทอม ปิดเทอม วันเสาร์-อาทิตย์ โครงการต่างๆ เลยกลับมามีชีวิตมีชีวามากขึ้น เพราะนักเรียนได้เข้าไปมีส่วนร่วมด้วย”

“หนึ่งในโครงการที่ดีมากที่โรงเรียนทำอยู่ ก็คือ โครงการบ้านเล็กในโรงเรียน ที่เรานำหลักการเกษตรแบบเศรษฐกิจพอเพียงมาสอนกับเด็ก มีการทำอิฐบล็อกดิน บ้านดิน มีการจัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อช่วยเหลือสังคม รวมถึงการจัดค่ายคุณธรรม”

“บางคนอาจสงสัยว่าทำไมเราต้องเอานักกีฬามาทำกิจกรรมพวกนี้ ทำไมไม่ฝึกสอนแค่กีฬาอย่างเดียว จากประสบการณ์ของผม ผมมองว่า ถ้าสอนกีฬาอย่างเดียว เด็กๆ ก็จะได้แค่ทักษะกีฬา แต่ถ้าลองให้เขาทำอย่างอื่นไปด้วยในเวลาเดียวกัน เขาก็จะได้ทักษะการทำงานไปด้วย”

volalalal8
“มุมมองของผม ปริญญาตรีทุกวันนี้ ใครๆก็สามารถเรียนจบได้ แต่ถ้าจบมาแล้วทำงานไม่เป็น ปริญญาที่ได้มาก็ไม่มีค่า ในยุคสมัยที่เทคโนโลยีพัฒนาไปไกลมาก การแข่งขันสูงขึ้น แต่สิ่งหนึ่งที่ผมสอนเด็กๆเสมอ คือ พวกเขาต้องอย่าลืมรากเหง้า พวกเขาคือต้นกล้าของชุมชน ก่อนจะทะเยอทะยานในสิ่งที่ไม่ใช่ตัวตน เราต้องรู้จักตัวเอง รู้จักบรรพบุรุษของเราก่อน”

“สิ่งที่ผมกลัวมากที่สุด คือกลัวว่าวันหนึ่งเด็กที่จบจากเราไป จะไม่มีจิตสาธาณะ กลายเป็นคนที่เห็นแก่ตัว จากโลกที่แข่งขันกันสูง ดังนั้นเราสามารถสอนผ่านกิจกรรมตรงนี้ได้ ถ้าเราอยากสอนเด็กให้รู้ว่า ความอดทนคืออะไร ความมีวินัยคืออะไร ความรับผิดชอบคืออะไร สอนแค่ในห้องเรียน เขาไม่เข้าใจหรอกครับ แต่ลองเปลี่ยนพาเขาไปแปลงผัก เขาจะรู้แล้วว่า ถ้าไม่มีความรับผิดชอบ ไม่มีความอดทน แปลงผักก็ไม่โตนะ ตลอด 3-4 ปีที่เราทำ สิ่งที่เห็นได้ชัดคือ พฤติกรรมเสี่ยงของเด็กลดลง เด็กหันมาใช้เวลาว่างเกิดประโยชน์มากขึ้น”

นอกเหนือจากความจริงจัง ที่ใส่ลงไปในการเรียนการสอน ผ่านกิจกรรมต่างๆ แล้ว ครูเบิ้ม ยังนำเอารูปแบบการฝึกซ้อมอย่างเป็นระบบ มาใส่กับนักเรียน โดยวางโปรแกรมการฝึกซ้อมตลอดทั้งปี ทุกเช้า-เย็นวันปกติ ตั้งแต่ 16.00-20.00น. และสอนเพิ่มเติมในวันเสาร์-อาทิตย์ วันหยุด รวมถึงช่วงปิดเทอม

volalalal9
อีกทั้งยังได้มีการเก็บตัว นักกีฬา ในช่วงก่อนการแข่งขันด้วย เพื่อต้องการให้นักกีฬาได้ใช้เวลาร่วมกัน  โดยมี ครูเบิ้ม กิน อยู่ หลับ นอน ร่วมกับตลอดทั้ง 24 ชั่วโมงในช่วงของการเก็บตัว แม้ที่โรงเรียนจะไม่มีห้องพักนักกีฬา และต้องดัดแปลงโดยเข็นเก้าอี้นักเรียนไปติดฝาผนัง เพื่อให้นักกีฬาได้นอนพักในห้องเรียนพัดลม

“ถึงแม้เราจะเป็นทีมโรงเรียนบ้านนอก แต่ผมก็มีความตั้งใจที่อยากทำทีมวอลเลย์บอลอย่างจริงจัง ที่มีการเก็บตัวฝึกซ้อมทั้งปี ไม่ใช่แค่ซ้อม 2-3 สัปดาห์ก่อนแข่งขัน ผมต้องการทำเพื่อจะได้เห็นพัฒนาการและความเปลี่ยนแปลงของเด็กๆ ในการฝึกซ้อมทุกวัน”  

 ท่าตาสี ในแผนที่วอลเลย์บอลไทย
“ผมพาเด็กถึงสนามแข่งครั้งแรก เด็กทุกคนทั้งเหนื่อย ทั้งตื่นสนาม เรามีโปรแกรมเจอกับ อัสสัมชัญ แผนกประถมนัดแรก คิดภาพ ทีมโรงเรียนที่ว่ากันว่า รวยที่สุด กับทีมบ้านนอกที่ไม่เคยมาแข่งในกรุงเทพฯ อย่างท่าตาสี”

“วันนั้นมีผู้ปกครองเด็กคนหนึ่ง เดินมาถามว่า จ.สระแก้ว และ โรงเรียนท่าตาสีอยู่ตรงไหน?" ครูเบิ้ม ภิญโญ ย้อนความหลังถึงประสบการณ์ที่เจ้าตัวจำไม่เคยลืมเลือน ในการเดินทางมาแข่งขันยังเมืองกรุงครั้งแรก รายการกรมพลศึกษา ประจำปี 2559

รายการดังกล่าวจัดแข่งกันที่ อาคารนิมิตรบุตร โดยได้เชิญทีมชั้นนำระดับประเทศมามากมาย เพื่อร่วมชิงชัย โรงเรียนท่าตาสี เดินทางจากจังหวัดสระแก้ว เข้าพักที่ย่านปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี ซึ่งเป็นที่อยู่ของรุ่นพี่ คุณครูภิญโญ ก่อนที่รุ่งเช้าจะเดินทางโดยสารทางเรือด่วนเข้าสู่กรุงเทพ

volalalal10
นักกีฬาหลายคนเกิดอาการเมาเรือ ประกอบกับไม่มีเงินมากพอที่จะนั่ง รถตุ๊กตุ๊ก หรือ แท็กซี่ จากท่าเรือด่วนสี่พระยา ไปยังอาคารนิมิตรบุตรได้ ครั้นจะให้นั่งรถเมล์ เด็กๆหลายคนก็มีอาการเมารถ สุดท้ายคุณครูหนุ่ม จึงพานักกีฬา 12 ชีวิตเดินเท้าระยะทางเกือบ 4 กิโลเมตรไปยังสนามแข่งขัน เพื่อเตรียมลงแข่งนัดแรกกับ โรงเรียนอัสสัมชัญ

“ผมทั้งเป็นห่วง ทั้งสงสารเด็กๆ ชุดแข่งพวกเราเตรียมมาแค่ชุดเดียว แต่เด็กๆเขาก็อดทน พอลงไปเล่นช่วงต้นเกม เด็กๆ ตื่นสนามมากเล่นไม่ออกเลย แต่พอเขารวบรวมสมาธิกลับมาได้ สามารถพลิกกลับมาชนะ อัสสัมชัญไปได้ และชนะอีกหลายๆทีม จนมาตกรอบ 4 ทีมสุดท้าย”

“การเดินทางในแต่ละครั้ง บางรายการเขาก็ดูแลที่พัก อาหารการกินให้ แต่บางรายการ เราก็ต้องออกเองทุกอย่าง โชคดีที่ ผอ.มีรถยนต์และเป็นคนขับรถพานักกีฬาเราไปแข่งตามที่ต่างๆ รวมถึงผู้ปกครองของเด็กที่ให้ความอนุเคราะห์ คอยขับรถไปส่งเด็กด้วยอีกแรง ความสำเร็จของทีม ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะผมคนเดียว ลำพังแค่รถยนต์ผมยังไม่มีเลย ถ้าไม่ได้ผู้ใหญ่มาช่วย ผมก็คงไม่สามารถพาเด็กไปแข่งได้อย่างที่ตั้งใจ”

การฝึกซ้อมในโรงเรียน อาจช่วยให้เด็กๆนักกีฬาของ คุณครูภิญโญ มีความสามารถ และทักษะวอลเลย์บอลที่ดีขึ้น แต่สิ่งเหล่านั้นอาจไม่เกิดประโยชน์เลย หากเด็กไม่ได้ออกไปแข่งขันตามที่ต่างๆ

volalalal11
นั่นจึงทำให้ ภิญโญ ต้องวางแผนและคอยหาโปรแกรมส่งแข่งขันให้ได้มากที่สุด เพื่อให้เด็กๆได้ไปเกี่ยวเก็บเกี่ยวประสบการณ์ ไม่เว้นแม้แต่ กีฬาวอลเลย์บอลชายหาด ที่โรงเรียนไม่มีทรายแม้แต่เม็ดเดียวให้เขาได้ฝึกสอนเด็กๆ

“ผมต้องการฝึกเด็กๆ ให้พวกเขามีสภาพจิตใจที่เข้มแข็ง จากการได้ออกไปแข่งขันตามรายการต่างๆ ผมพยายามหาแมตช์การแข่งขันให้ได้เยอะที่สุด ในทุกๆประเภท ผมมีบทเรียนจากปีแรก ที่เราเน้นซ้อมในโรงเรียนอย่างเดียว พอไปเจอสนามจริง เด็กเกิดอาการตื่นสนาม สภาพจิตใจไม่นิ่ง ทำผิดพลาดระหว่างการแข่งขัน การที่ได้ไปเก็บประสบการณ์บ่อยๆ ทำให้เขาคุ้นชินกับบรรยากาศ รวมถึงสามารถแก้ปัญหาในสถานการณ์ต่างๆ ที่ไม่เหมือนกับตอนฝึกซ้อมได้”

“เขาได้เจอกับคู่ต่อสู้ที่แตกต่างกันออกไป ทำให้เขาได้เรียนรู้มากขึ้น ผมคิดว่ามันดีกว่าการอยู่กับที่ หรือนานๆเจอคู่แข่งที เพราะเด็กจะไม่แผ่ว และชนะความกลัวที่เขาสร้างขึ้นมาเองได้ เรื่องจิตใจเป็นบางอย่างที่โค้ชไม่สามารถสอนได้ทั้งหมด พวกเขาต้องเรียนรู้และฝึกมันด้วยตัวเอง ดังนั้นผมจึงพยายามหาแมตช์ให้เขาได้เล่นมากที่สุด เท่าที่จะทำได้”

“แม้แต่วอลเลย์บอลชายหาด ผมมองว่ามันเป็นแมตช์ที่น่าสนใจ ถึงโรงเรียนจะไม่มีสนามทราย มีแต่สนามปูน กับพื้นหญ้า ลานดิน แต่ก็อยากให้เด็กได้ไปหาประสบการณ์ ผมใช้วิธีการปรับสนามดินให้มีความใกล้เคียงกับทรายมากที่สุด เลือกคนตี 2 คน มาฝึกทักษะ ทำความเข้าใจกับกฎ กติกา บางอย่างที่แตกต่างกันระหว่าง วอลเลย์ฯ แบบอินดอร์กับชายหาดฯ แน่นอนครับ เด็กพอเจอทรายจริง ก็มีอาการก้าวเท้าไม่ออก เจอปัญหาว่า ทรายจริงมีความลึกกว่าดิน เคลื่อนที่ไม่ทัน แต่เราก็อยากให้เขาได้ลองไปเจอประสบการณ์แบบนี้ดูบ้าง”

volalalal12
จากโรงเรียนที่ไม่เคยอยู่ในแผนที่วอลเลย์บอลประเทศไทย พวกเขาค่อยๆสร้างชื่อเสียง ชนะระดับอำเภอ ชนะระดับจังหวัด ได้เป็นตัวแทนจังหวัด ผ่านเข้ารอบลึกๆ ในการแข่งขันระดับภาค รวมถึงบางรายการในระดับประเทศ

ในระยะเวลา 4 ปี ทีมวอลเลย์โรงเรียนท่าตาสี จ.สระแก้ว ก็เริ่มมีตัวตนและถูกพูดถึงมากขึ้น ภายหลังการออกรายการเด็กชื่อดังของประเทศอย่าง Super10

แต่ถึงกระนั้นหัวโขนในบทบาทของ หัวหน้าผู้ฝึกสอนทีมกีฬาครั้งแรกในชีวิต บางครั้งมันก็หนักหนา จนไม่อนุญาตให้ ภิญโญ ไชยภา อ่อนแอต่อหน้าเด็กๆได้ ยิ่งในวันที่ผลการแข่งขันไม่เป็นใจ และโชคชะตาเล่นตลกกับพวกเขา

“ผมรู้สึกภูมิใจที่ได้ทำหน้าที่เป็น เฮดโค้ชที่โรงเรียนแห่งนี้ เหมือนเป็นการได้วัดศักยภาพของตัวเอง จากที่เมื่อก่อนเราเคยเป็นแค่ผู้ช่วยโค้ช คอยดูว่ารุ่นพี่เขาบริหารจัดการทีมยังไง เขาติดต่อประสานงานกับผู้ใหญ่อย่างไร”

“จนวันหนึ่งที่โอกาสนั้นมาถึง  มันก็เป็นบททดสอบที่ดีว่า เราจะสามารถทำได้ไหม คุมทีม, สื่อสาร และบริหารจัดการทีมได้ไหม รวมถึงพาทีมโรงเรียนที่เราสังกัดอยู่ ไปได้ไกลแค่ไหน ความสำเร็จของทีมจะเกิดขึ้นได้ไหมในการคุมทีมของเรา”

volalalal16
“มันทำให้ผมต้องคิดอยู่ตลอดเวลา ในทุกๆครั้งที่พาเด็กๆลงฝึกซ้อม จากทีมที่ไม่มีนักกีฬาคนไหนเล่นวอลเลย์บอลเป็นเลย เราจะสามารถขยับไปสู่ระดับจังหวัดได้ไหม พอได้ถึงระดับจังหวัด เราจะไปถึงรอบภาคได้ไหม ไปถึงระดับประเทศได้ไหม กว่าจะก้าวขึ้นไปได้แต่ละขั้น ยอมรับว่าหนักใจมากครับ”

“ผมแคร์ความรู้สึกเด็กๆ บางรายการที่เราไปแข่ง เราตกรอบแรกก็มี ผมปฏิเสธไม่ได้ว่า ความพ่ายแพ้ที่เกิดขึ้น บางครั้งมันอาจเกิดขึ้นจากตัวเราที่วางแผนไม่ดี ไม่สามารถซ้อมให้เด็กเก่งได้เท่ากับพี่ๆ ถ้าเราทำทีมที่ดีกว่านี้ เด็กๆคงก็ก้าวข้ามคำว่ารอบแรกไปได้ จนผมมาได้ข้อคิดจากพี่ปริม อินทวงค์ ที่บอกกับผมว่า “เบิ้ม จะสอนเด็กยังไงให้รู้จักคำว่าน้ำใจนักกีฬา ในเมื่อตำแหน่งที่ 1 มีได้แค่ทีมเดียว”

“ผมก็เอาคำนี้มาเตือนตัวเองว่า บางแมตช์ที่เราทุ่มเทฝึกซ้อมอย่างหนัก แต่ไม่ได้รับชัยชนะอย่างที่คาดหวัง รู้สึกเหนื่อย ผิดหวัง เสียใจ ตัวเราเองก็ต้องยอมรับผลการแข่งขันให้ได้ และนำไปสอนเด็กๆ ให้เขารู้แพ้ รู้ชนะ รู้อภัย ถ้าเราไม่สอนแบบนี้ เขาก็เติบโตไปกลายเป็นคนที่เล่นกีฬาแบบไม่มืออาชีพ เพราะนักกีฬาอาชีพที่แท้จริง ต้องมีน้ำใจนักกีฬา”

“ถ้าเราสามารถสอนให้เขามีน้ำใจนักกีฬา สอนให้เขาอดทนได้ จนถึงวันที่เขาประสบความสำเร็จ ก็เหมือนกับเราได้ผ่านทดสอบในการเป็นครูที่ดีได้ ดังนั้นผมจะไม่มองเด็กว่า เขาเป็นแค่ลูกศิษย์ ต้องเชื่อฟังที่เราบอกทุกอย่าง”

volalalal15
“ผมมองกลับกัน บางครั้งลูกศิษย์ก็เปรียบเหมือนกับครู ที่ทดสอบความอดทน ความพยายาม ความมุมานะ อุสาหะของผม เพราะการสร้างคนไม่เหมือนกับการรสร้างบ้าน ที่ใช้เวลา 1-2 เดือนก็อาจสำเร็จ แต่การสร้างคนอาจต้องใช้เวลานานกว่านั้น และอาชีพของครู คืออาชีพที่เกิดมาเพื่อสร้างคน”

ความแน่วแน่ในสิ่งที่ ครูเบิ้ม ภิญโญ พยายามทำมาตลอด บวกกับการร่วมแรงร่วมใจของผู้คนภายในโรงเรียนเล็กๆแห่งนี้ ก็เริ่มทำให้ชุมชนมองเห็นความเปลี่ยนแปลง และเริ่มยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือจนทำให้ ทีมวอลเลย์ ร.ร.ท่าตาสี ไม่ได้เป็นแค่ความภาคภูมิใจของเด็กที่เรียนอยู่ แต่ยังรวมไปถึงผู้คนในชุมชน ที่รู้สึกได้เป็นส่วนหนึ่งของทีม

การจัดกิจกรรมนำเอาผู้คนในชุมชนมาแข่งวอลเลย์บอลกับเด็กๆ ผ่านเครือข่ายศิษย์เก่า และผู้ปกครอง การสนับสนุนปัจจัยต่างๆ

ตลอดจนการจัดผ้าป่าเพื่อการศึกษา ระดมเงินทุนเพื่อนำไปมาสร้างโดมไว้เพื่อกันแดด-กันฝน บริเวณสนามวอลเลย์บอลของโรงเรียน นอกจากนี้ในบางแมตช์ใหญ่ๆ ชาวบ้านก็จะทำพานบายศรีสู่ขวัญ ให้กับนักกีฬาลูกหลานของพวกเขา

“ชุมชนเมื่อพวกเขาเห็นว่า โรงเรียนทำจริงจัง เขาก็เริ่มมาสนับสนุน เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งกับเรา เพราะเขาเห็นว่ากีฬาให้คุณค่าอะไรกับชีวิต และพฤติกรรมของเด็กที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างไร ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ไม่ใช่แค่ความสามารถด้านกีฬาที่เพิ่มขึ้นเพียงอย่างเดียว แต่ยังรวมถึงการใช้ชีวิต และทัศนคติของเด็กที่เปลี่ยนไป”

“เวลาที่เราไปแข่งรายการต่างๆ ทุกความสำเร็จเราก็อยากให้ ชุมชนร่วมรู้สึกภาคภูมิใจไปด้วย อย่างโดมหลังนี้ก็เกิดขึ้นจากการรวมพลังกันของคนในชุมชน ผู้ปกครอง ศิษย์เก่า และผอ. ที่เขาอยากสนับสนุนลูกหลานของเขาที่กำลังใฝ่ดี ด้วยการจัดผ้าป่าเพื่อการศึกษา”

“โดมหลังนี้ไม่ได้ใช้เงินจากรัฐบาล หรือจากหน่วยงานต้นสังกัดเลย แต่เป็นเงินที่มาจากการร่วมมือของชุมชม ถึงแม้บางครั้ง ผมอาจจะเหนื่อยหรือท้อบ้าง แต่ตราบใดที่ยังได้กำลังใจจาก ผอ., เด็กๆ และชาวบ้านในชุมชนให้ลุยต่อ ผมก็พร้อมจะสร้างสรรค์ผลงานให้ ท่าตาสี มีชื่อเสียงมากขึ้นไปอีก”

volalalal13
 นิยามของครูมืออาชีพ
“ความจริงผมเกือบจะตายแล้วด้วยซ้ำ เมื่อประมาณปลายปีที่ผ่านมา ถ้าไม่มีผู้ชายคนหนึ่งมาช่วยชีวิตผมไว้” ภิญโญ กล่าวเริ่มถึงประสบการณ์เฉียดตายคาสนามวอลเลย์ฯ เมื่อปลายเดือน ธ.ค. 2560

“ผมโดนไฟช็อต (หยุดไปครู่) ตอนนั้นโรงเรียนเราจัดกิจกรรมปีใหม่ ผมก็ไปลากสายไฟขนาดใหญ่มา แต่ระหว่างทางที่เดินเข้าสนามวอลเลย์ฯ เกิดไฟรั่วที่สาย ผมโดนไฟดูดเข้าไปทั่วทั้งตัว ความรู้สึกตอนนั้นมันไม่ไหวแล้ว สะบัดยังไงก็ไม่ออก จนผมอ่อนแรงไปทั่วทั้งตัว ระหว่างนั้นผมคิดว่าตัวเอง จะต้องตายแล้วใช่ไหม? แล้วใครจะสอนเด็กๆเล่นวอลเลย์? จังหวะกำลังจะทิ้งตัวเพราะทนกระแสไฟในตัวไม่ไหว ผมตะโกนออกไปเบาๆว่า ช่วยด้วย”

“ภาพที่ผมเห็น ขณะที่พอมีสติคือ ผอ.บรรจบ หันหลังมาเห็นผม แล้วดึงฉุดกระชากสายไฟออกจากมือผม ทั้งที่กระแสไฟก็เข้าตัวท่าน ผมพยายามรวบรวมสติทั้งหมดที่มี เพื่อให้ตัวเองเดินห่างจาก ผอ.ให้ได้มากที่สุด ผมกลัวจะล้มไปทับผอ.”

“ทุกคนในสนามอึ้งกันหมด เหลือแค่ผมกับผอ. ที่กระชากสายไฟกันอยู่ จนผมหงายท้องล้มไปทาง ผอ.ล้มไปอีกทาง มือผมที่กำสายไฟไว้แน่น ก็หลุดออก ติดเนื้อผมไปด้วย คำแรกที่ผมได้ยินคือ ผอ.ลุกมาถามว่า เป็นอะไรมากไหม? จะมีเจ้านายสักกี่คน ที่รักชีวิตลูกน้องมากกว่าตัวเอง”

“ผมจึงบอกกับตัวเอง จากนี้ไป เราจะเป็นครูอยู่ที่นี่ เพื่อทำให้เด็กของเราเติบโตอย่างมีคุณภาพ และทำให้ ผอ.ที่ช่วยชีวิตเรา ภาคภูมิใจ” ครูเบิ้ม พูดถึงท่อนนี้ด้วยน้ำเสียงสั่นเครือ อีกเสี้ยววินาทีต่อมา น้ำตาลูกผู้ชาย ที่ไม่ตั้งใจของเขา ก็ไหลออกมาให้ทีมสัมภาษณ์เห็น

ผอ.บรรจบ สมอาษา เป็นอีกหนึ่งกำลังสำคัญของทีมวอลเลย์บอลโรงเรียนท่าตาสี ตามที่ครูภิญโญ กล่าวถึง

ผู้อำนวยการสถานศึกษาแห่งนี้ อยู่ที่นี่แห่งเดียวมาเป็นเวลานานถึง 23 ปี อีกทั้งยังเป็นผู้ริเริ่มโครงการเกษตรของโรงเรียน รวมถึงเป็นผู้ที่คอยสนับสนุนทีมวอลเลย์ฯ อยู่ตลอด ด้วยการสวมบท โชเฟอร์ พาเด็กนักเรียนไปแข่งตามที่ต่างๆ

นอกจากนี้ ภาพที่เห็นจนชินตาของผู้คนในโรงเรียน คือในทุกๆ เช้าเย็น ผอ.บรรจบ ก็จะมานั่งเฝ้าดูเด็กๆ ฝึกซ้อมวอลเลย์บอล และคอยพูดสร้างแรงบันดาลใจให้ทีมมีกำลังใจในการออกไปต่อกรกับคู่แข่งต่างโรงเรียน

volalalal14
“ผอ.เคยบอกกับพวกเราว่า เส้นชัยอาจไม่ได้ขึ้นอยู่กับถ้วยแชมป์เพียงอย่างเดียว แต่มันขึ้นอยู่ว่า เด็กของเรา กล้าที่จะออกไปแสดงความสามารถหรือไม่ และได้ลงมือทำมันจริงๆ หรือเปล่า”

“ซึ่งเป็นหลักที่ผมยึดถือมาใช้ ผมต้องการให้เด็กๆ ท่าตาสี เก่ง ดี มีสุข ในเวลาเดียวกัน ผมไม่อยากให้เขาเครียดกับกีฬาเพียงอย่างเดียว หรือการฝึกซ้อมที่เครียดเกินไป แต่ผมอยากให้เขาได้ทำอย่างอื่นด้วย”

“พร้อมกับเปิดรับทัศนคติดีๆ ที่เราสอนเขาผ่านกิจกรรมต่างๆที่เขาได้ลงมือทำ ผมอยากสอนให้เด็กของเราได้เรียนรู้อะไรจากระหว่างทางก่อนถึงเส้นชัย ถ้วยรางวัลสำหรับผมคือกำไร ถ้าเราไม่ได้ ก็ไม่ได้แปลว่า เราขาดทุน”

จากโรงเรียนที่มีนักกีฬาวอลเลย์บอล รวมกันทั้งหมดได้แค่ 12 คน ถึงทุกวันนี้ ทีมวอลเลย์บอลโรงเรียนท่าตาสี มีเด็กๆ ตั้งแต่ชั้นอนุบาล - ป.6 มาฝึกซ้อมอยู่ด้วยกัน เกือบ 40 ชีวิต โดยเน้นไปที่รุ่นอายุ ป.3-ป.6 เป็นหลัก ขณะที่เด็กๆ อายุต่ำกว่านั้น จะเน้นไปที่การฝึกพื้นฐานให้แน่นเสียก่อน เพื่อเป็นรากฐานของทีมในอนาคต

ด้าน ศิษย์เก่ารุ่นแรกที่ฝึกสอนวอลเลย์บอลด้วย หลายคนได้รับโควต้าเรียนต่อในโรงเรียนดังๆ จากการใช้กีฬาวอลเลย์บอล เข้าไปเป็นใบเบิกทาง อนาคตที่สดใสของเด็กหลายชีวิต นั่นเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เชาเลือกปฏิเสธที่ย้ายไปบรรจุในสถานศึกษาใกล้บ้านเกิด เพื่ออยู่สอนหนังสื่อต่อยังโรงเรียนขนาดเล็ก ที่สอนให้เขารู้จักคำว่าครูมืออาชีพ

“บางคนอาจคิดว่า ผมโง่หรือเปล่าที่ไม่ย้ายกลับไปบรรจุที่ สุรินทร์ และอุบลราชธานี ที่ใกล้บ้านผม กว่าตอนอยู่ที่สระแก้ว ที่บางปี ผมแทบไม่มีเวลากลับไปเยี่ยมบ้านเลย มีอยู่วันหนึ่งผมคุยกับแม่ แม่ก็บอกว่า จะอยู่ที่อุบล หรืออยู่ที่นี่ ก็ได้ชื่อว่าเป็น ครู เหมือนกัน ท่านถามผมว่า อยู่ที่นี่รักไหม ผมก็บอกว่า ผมรักท่าตาสี เพราะที่นี่ให้อาชีพครูกับผม ให้เงินเดือน และให้โอกาสผมได้ทำหลายๆอย่าง”

“ผมรู้สึกคิดถูกที่ตัดสินใจเลือกอยู่ที่นี่ต่อ ผมกล้าพูดได้เลยว่า โรงเรียนท่าตาสี สอนให้ผมเป็นครูมืออาชีพ ไม่ใช่แค่คนที่มีอาชีพเป็นครู” ครูเบิ้ม ภิญโญ กล่าวทิ้งท้าย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook