คุณตาของ "ฮิวโก" ผู้อยู่เบื้องหลังนักขับ F1 คนแรกของไทย

คุณตาของ "ฮิวโก" ผู้อยู่เบื้องหลังนักขับ F1 คนแรกของไทย

คุณตาของ "ฮิวโก" ผู้อยู่เบื้องหลังนักขับ F1 คนแรกของไทย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

แฟนกีฬาความเร็วชาวไทยหลายคน อาจจะยังปลื้มไม่หายเมื่อได้ทราบข่าวว่า อเล็กซ์ อัลบอน นักแข่งลูกครึ่ง ไทย-อังกฤษ สร้างประวัติศาสตร์อีกหน้าให้กับแดนสยาม กับการจะได้ลงแข่งขันรถสูตร 1 ฤดูกาล 2019 กับทีม โตโร รอสโซ่

ขณะเดียวกัน หลายคนคงทราบดีว่า อัลบอน ซึ่งยืนยันแล้วว่าจะลงสนามภายใต้ธงไตรรงค์ของไทย จะเป็นนักแข่ง F1 คนที่สองของประเทศ ต่อจาก พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพีรพงศ์ภาณุเดช หรือ พระองค์เจ้าพีระ ผู้ทรงลงแข่งในยุคแรกของการแข่งขัน ระหว่างปี 1950-1954

แน่นอน การที่เจ้าฟ้าผู้สูงศักดิ์แห่งสยามประเทศสร้างชื่อให้โลกรู้จักด้วยพระปรีชาสามารถหลังพวงมาลัยนั้นไม่ใช่เรื่องธรรมดา แต่หลายคนอาจไม่ทราบว่า นอกจากพระปรีชาสามารถส่วนพระองค์แล้ว พระองค์เจ้าพีระ ยังได้รับการสนับสนุนที่สำคัญยิ่งจากเจ้าฟ้าอีกพระองค์แห่งราชวงศ์จักรีด้วยเช่นกัน

และท่านผู้นั้นก็คือ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ หรือ พระองค์จุล … ซึ่งหากเห็นชื่อคุ้นๆ ก็ไม่ต้องแปลกใจ เพราะท่านคือคุณตาของ ฮิวโก-จุลจักร จักรพงษ์ ดารา นักร้อง นักแสดง มากฝีมืออีกคนของวงการบันเทิงไทยนั่นเอง

มิตรภาพจากการศึกษา
ตามธรรมเนียมของราชวงศ์ไทยในสมัยนั้น เจ้าฟ้าแทบทุกพระองค์จะต้องได้รับการศึกษาจากต่างประเทศ เพื่อนำความรู้และประสบการณ์ที่ได้รับมาใช้ในการพัฒนาแผ่นดินเกิด ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะเรียนที่ประเทศอังกฤษตามบูรพกษัตริย์ อย่าง พระบาทสมเด็จพระมงกฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

แน่นอนว่า ทั้งพระองค์พีระและพระองค์จุล ต่างก็ต้องมาศึกษาที่อังกฤษด้วย โดยพระองค์จุลเสด็จมาก่อนในปี 1920 (พ.ศ. 2463) ก่อนที่พระองค์พีระจะเสด็จตามมาเมื่อเดือนเมษายน 1927 (พ.ศ. 2470) ทว่าการพบกันครั้งแรกของทั้งคู่ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งพระองค์เจ้าพีระเสด็จมาเพื่อต่อเรือไปยังอังกฤษ ขณะที่พระองค์จุลเสด็จมาพักร้อนหลังหยุดเรียน ทั้งคู่เพียงได้เห็นหน้าค่าตากันเฉยๆ ยังไม่ได้มีเหตุการณ์ใดที่พิเศษนัก

foner2
กระทั่ง 2 ปีต่อมา ในเดือนสิงหาคม 1929 (พ.ศ. 2472) ทั้งสองพระองค์ก็ได้ทำความรู้จักอย่างเป็นทางการ โดยมี พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภัสสรวงศ์ หรือ พระองค์เจ้าอาภัส พระเชษฐาของพระองค์เจ้าพีระ ที่เสด็จมาศึกษาต่อที่อังกฤษเช่นกันเป็นสื่อกลาง

ซึ่งความผูกพันของเจ้าฟ้าทั้ง 3 พระองค์นั้นมีความลึกซึ้ง เมื่อพระองค์เจ้าอาภัสและพระองค์เจ้าพีระ คือพระโอรสของ สมเด็จพระราชปิตุลาบรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช พระราชโอรสใน พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะที่พระองค์จุลเป็นพระโอรสของ สมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ พระราชโอรสใน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว นั่นเอง

ชะตาต้องกัน
หากนับตามลำดับญาติแล้ว พระองค์เจ้าอาภัสและพระองค์เจ้าพีระ คือพระปิตุลาของพระองค์จุล แต่ด้วยความที่พระองค์จุลมีพระชันษาที่มากกว่า พระองค์จุลจึงเปรียบเสมือนพระเชษฐาของเจ้าฟ้าทั้ง 2 พระองค์ไปโดยปริยาย

ทว่านอกจากจดหมายจากเจ้าฟ้าภาณุรังษีผู้เป็นบิดาของพระองค์เจ้าอาภัสและพระองค์เจ้าพีระ ที่เขียนเพื่อฝากฝังให้พระองค์จุลดูแลสองพี่น้อง ก่อนจะถึงแก่ทิวงคตในปี 1928 (พ.ศ. 2471) แล้ว อุปนิสัยส่วนตัว ยังมีส่วนช่วยให้พระองค์พีระสนิทสนมกับพระองค์จุลเป็นอย่างยิ่ง

“ในไม่ช้าหลังจากที่ได้รู้จักพีระอย่างสนิทสนมก็สังเกตได้ว่า ดูเขาชอบพอในตัวข้าพเจ้า ชอบฟังข้าพเจ้า คุย และแสดงความไหวพริบ ชอบถามนู่นถามนี่เพื่อแสวงหาความรู้ใส่ตัว” นี่คือส่วนหนึ่งที่พระองค์จุลบันทึกถึงความรู้สึกที่มีต่อพระองค์เจ้าพีระในหนังสือ เกิดวังปารุสก์

foner3
ทว่ายังมีอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ทั้งคู่สนิทสนมกันยิ่งขึ้นกว่าเดิม นั่นก็คือ รถยนต์ … เมื่อทั้งพระองค์จุลฯ และพระองค์เจ้าพีระต่างชื่นชอบยานพาหนะสี่ล้อนี้ด้วยกันทั้งคู่ โดยพระองค์จุลทรงขับรถเป็นตั้งแต่สมัยพำนักที่ประเทศไทยในวัยเด็ก ขณะที่พระองค์เจ้าพีระทรงขับรถเป็นตอนที่เสด็จมาเรียนที่อังกฤษนี้เอง โดยมีพระองค์เจ้าอาภัสเป็นผู้สอน ยิ่งไปกว่านั้น ทั้งสามพระองค์ยังเสด็จทอดพระเนตรการแข่งขันรถยนต์ตามสถานที่ต่างๆ ในประเทศอังกฤษอยู่เสมอ

แม้จะเริ่มเรียนรู้ช้ากว่า แต่พระปรีชาสามารถในการขับรถของพระองค์เจ้าพีระกลับรุดหน้าไปอย่างไม่หยุดยั้ง ต่างจากพระองค์จุล ที่หลังจากเสด็จมาศึกษายังประเทศอังกฤษเมื่อพระชันษา 13 ปี ก็ไม่ได้แตะรถอีกเลยจนกระทั่งพระชันษา 20 ปี ซึ่งตัวพระองค์จุลยอมรับว่าทำให้ประสาทสัมผัสในการขับรถไม่เฉียบคมเหมือนเคย

ด้วยเหตุผลดังกล่าว ทำให้แม้พระองค์จุลที่ในเวลาต่อมามีสินทรัพย์เพิ่มขึ้น จนสามารถซื้อรถได้อีกหลายคันกลายเป็นคอลเลกชั่น จากผลพวงของการปฏิวัติสยาม ปี 1932 (พ.ศ. 2475) ซึ่งเป็นเหตุให้ท่านได้สิทธิ์จัดการมรดกของสมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ พระบิดาผู้ล่วงลับอันมหาศาลแต่เพียงผู้เดียว ทว่าท่านก็ไม่ใคร่จะทรงขับรถเองเท่าใดนัก โดยเวลาเดินทางใกล้ๆ จะให้คนรับใช้ชาวอังกฤษเป็นผู้ขับ ส่วนเวลาเดินทางไกลๆ อย่างไปต่างประเทศ พระองค์เจ้าพีระจะทรงเป็นผู้ขับรถเองโดยตลอด

กำเนิด “ฟ้าพีระ”
พระปรีชาสามารถด้านการขับรถที่ค่อยๆ ได้รับการขัดเกลาจนเชี่ยวชาญ ประกอบกับความหลงใหลในกีฬาความเร็ว ที่สุดแล้ว พระองค์เจ้าพีระก็มีพระดำริที่จะเป็นนักแข่งรถ แต่ถึงแม้จะเห็นพระปรีชาสามารถมานับครั้งไม่ถ้วน อีกทั้งยังซื้อรถให้พระองค์เจ้าพีระใช้งานส่วนตัว ทว่าพระองค์จุลกลับไม่เห็นด้วยกับการเดินเข้าสู่เส้นทางนี้ เนื่องจากเป็นกีฬาที่อันตราย

www_snaplap_net
แม้จะห้าม และไม่ให้เงินสนับสนุนการแข่งขัน ถึงกระนั้นพระองค์เจ้าพีระก็ยังคงรบเร้าอย่างไม่ลดละ พระองค์จุลจึงหวังให้ ซิริล เฮย์คอค สตรีชาวอังกฤษซึ่งกำลังคบหากับพระองค์เจ้าพีระเกลี้ยกล่อมให้เปลี่ยนใจ ทว่าสตรีผู้เป็นคู่ชีวิตในเวลาต่อมาของพระองค์เจ้าพีระก็ยอมรับว่า ไม่อาจเปลี่ยนใจได้

เมื่อทัดทานไปอย่างไรเสียก็ไร้ผล ที่สุดแล้วพระองค์จุลจึงตัดสินใจอนุญาตให้พระองค์เจ้าพีระลงแข่งขันรถยนต์ได้ แต่มีเงื่อนไขสำคัญคือ จะต้องลงแข่งในระยะทางสั้นๆ เท่านั้น ส่วนเรื่องรถและค่าใช้จ่ายต่างๆ พระองค์จุลจะเป็นผู้ให้การสนับสนุนเอง นั่นหมายความว่า พระองค์จุลจะเป็นผู้มีสิทธิ์เลือก “สี” รถที่จะใช้ในการแข่งด้วย

ซึ่งในเรื่องของสีนั้น พระองค์จุลได้เล่าถึงที่มาในหนังสือ เกิดวังปารุสก์ ว่า “ข้าพเจ้ามีความคิดที่จะใช้สีน้ำเงิน (ซึ่งพระองค์จุลได้เพิ่มเติมในตอนท้ายเล่มว่าดูจะออกไปทางสีฟ้ามากกว่า) แบบเดียวกับที่คนขี่ม้าแข่งของพระบิดาและพระมารดาสวมใส่สมัยข้าพเจ้ายังอยู่ที่ประเทศไทย ทว่าการจากบ้านเกิดมานาน ทำให้ไม่มีตัวอย่างสีที่จะช่วยให้บริษัทรถเข้าใจและทำตาม”

“ช่วงเวลานั้นเอง บาร์บาร่า บุตรีของนายกรุต เพื่อนเก่าแก่ของข้าพเจ้าเดินทางจากกรุงโคเปนเฮเกนมาศึกษาต่อที่กรุงลอนดอนพอดี ข้าพเจ้าจึงได้ชวนอีกฝ่ายไปเที่ยวด้วยกัน วันนั้นบาร์บาร่าสวมชุดเสื้อแพรสีน้ำเงิน แบบเดียวกับที่ข้าพเจ้าอยากได้เป็นสีรถพอดี จึงขอให้บาร์บาร่าตัดชิ้นส่วนเล็กๆ ของเสื้อให้ ซึ่งอีกฝ่ายก็ยอม”

foner4
จากเหตุการณ์ดังกล่าว ทำให้รถทุกคันที่พระองค์จุลซื้อถูกพ่นสีใหม่เป็นสีฟ้า ซึ่งรวมถึงรถแข่งที่ให้พระองค์เจ้าพีระใช้ลงสนามด้วย ทว่าในช่วงทศวรรษ 1930 ทีมแข่งจากประเทศต่างๆ ต้องทำสีรถเพื่อแบ่งแยกให้ชัดเจนว่า รถของแต่ละทีมที่ส่งแข่งขันมาจากประเทศใด เช่น ฝรั่งเศส ใช้สีฟ้า ส่วน เยอรมนี ใช้สีขาว ตามที่ฝ่ายจัดการแข่งขันรายการ กอร์ด็อง เบนเนตต์ คัพ ปี 1900 เลือกให้ (ก่อนที่เยอรมนีจะเพิ่มสีเงินเข้ามาอีกสีโดยไม่ได้ตั้งใจในปี 1934 เมื่อทีม เมอร์เซเดส-เบนซ์ ต้องลดน้ำหนักรถให้ได้ตามกติกาด้วยการขัดสีขาวให้เหลือแต่สีเงินของเนื้อเหล็ก และสามารถคว้าชัยชนะได้สำเร็จ), อังกฤษ ใช้สีเขียว ตามสีของรถที่ชนะรายการเดียวกันเมื่อปี 1902 ขณะที่ อิตาลี เลือกใช้สีแดงตามสีรถอิตาล่า ที่คว้าแชมป์ ปารีส-ปักกิ่ง ปี 1907

ด้วยเหตุผลที่ว่ามา จึงทำให้สีฟ้า สีที่พระองค์จุลเลือกใช้กับรถแข่งทีม White Mouse Racing หรือ “คณะหนูขาว” (มีที่มาจากชื่อเล่นของพระองค์จุล ซึ่งชื่อว่า หนู) ของท่าน ซึ่งถือเป็นทีมแข่งรถสัญชาติไทยทีมแรกบนเวทีนานาชาติ กลายเป็นสีสัญลักษณ์ของ “ทีมจากประเทศไทย” ไปด้วยในเวลาเดียวกัน (ก่อนจะเพิ่มขลิบสีเหลือง สีของราชยานยนต์สมาคมแห่งสยามในเวลาต่อมา)

ทว่าเมื่อรถของทีมคณะหนูขาวมีพระองค์เจ้าพีระเป็นผู้ขับแข่งขันเพียงผู้เดียว สีที่มีจุดเริ่มต้นจากสีของชุดจ็อกกี้ของพระบิดาพระองค์จุล จึงเพี้ยนมาเป็น “สีฟ้าพีระ” หรือ Bira Blue ตามชื่อนักขับไปโดยปริยาย

จากดาราทองสู่ F1 คนแรกของไทย
การแข่งขันรายการแรกอย่างเป็นทางการของพระองค์เจ้าพีระ หรือ พ.พีระ (B. Bira) เกิดขึ้นในปี 1935 (พ.ศ. 2478) ที่สนามบรู๊คแลนด์ส โดยใช้รถยี่ห้อ ไรลี่ย์ ที่พระองค์จุลซื้อไว้เป็นคอลเลคชั่นในการแข่ง ซึ่งแม้จะไม่ได้รับชัยชนะ แต่ก็เพียงพอที่สโมสรนักแข่งอังกฤษ หรือ British Racing Drivers Club (BRDC) จะรับพระองค์เจ้าพีระเข้าเป็นสมาชิก

foner5
แม้พระองค์เจ้าพีระจะมีพระปรีชาสามารถด้านการขับรถมากขึ้น จนพระองค์จุลยอมให้ลงแข่งในรายการระยะทางไกลๆ ได้ แต่เมื่อการแข่งขันรถยนต์เป็นการประสานงานระหว่าง Man & Machine หรือคนกับเครื่องจักรฉันใด นักแข่งก็ไม่อาจคว้าชัยชนะได้หากขุนศึกคู่ใจไม่ดีพอ เรื่องดังกล่าวทั้งพระองค์เจ้าพีระกับพระองค์จุลผู้เป็นผู้จัดการทีมได้ลองผิดลองถูกกับการซื้อรถอยู่หลายครั้ง กระทั่งในที่สุดก็ได้รถคู่ใจ เมื่อพระองค์จุลสั่งรถยี่ห้อ ERA รุ่น R2B ให้พระองค์เจ้าพีระ ในโอกาสฉลองพระชันษาครบ 21 ปี เมื่อเดือนกรกฎาคม 1935 (พ.ศ. 2478)

เพราะแค่เพียงสนามแรกที่ลงทำการแข่งขัน พระองค์เจ้าพีระก็นำรถแข่งคันใหม่เข้าเส้นชัยเป็นอันดับ 2 หลังจากนั้นพระองค์จุลก็สั่งรถรุ่นเดียวกันอีกคันสำหรับใช้สลับในการแข่งขันในปีถัดมา เหตุดังกล่าวทำให้พระองค์เจ้าพีระเลือกที่จะตั้งชื่อรถ 2 คันนี้ว่า “รอมิวลุส” กับ “รีมุส” ตามเทพเจ้าฝาแฝดผู้สร้างกรุงโรม นอกจากนี้ ยังซื้อรถ ERA รุ่น R12B/C มาอีกคัน ซึ่งพระองค์จุลตั้งชื่อรถคันนี้ว่า “หนุมาน” ตามลิงตัวเอกในนิยาย รามเกียรติ์ ที่พระองค์จุลทรงโปรด

foner6
และหลังจากนั้นก็คือช่วงเวลาแห่งประวัติศาสตร์ ที่พระองค์เจ้าพีระนำรถทั้ง 3 คัน สลับกันคว้าชัยชนะในสนามต่างๆ อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง รอมิวลุส รถคู่ใจอันดับ 1 ที่นำพระองค์เจ้าพีระคว้าแชมป์แรกในฐานะนักแข่งอาชีพที่โมนาโก ผลงานโดดเด่นอันสม่ำเสมอทำให้พระองค์เจ้าพีระทำคะแนนสะสมของ BRDC เป็นอันดับ 1 คว้ารางวัล Gold Star ถึง 3 ปีซ้อน ระหว่างปี 1936-1938 (พ.ศ. 2479-2481) อันนำมาซึ่งฉายา “เจ้าดาราทอง” จากสื่อมวลชนของไทย

แม้เส้นทางชีวิตในฐานะนักแข่งจะขาดช่วงอยู่บ้าง เมื่อกิจกรรมการแข่งขันรถยนต์ทั่วโลกต้องถูกยุติลงชั่วคราวจากผลพวงของสงครามโลกครั้งที่ 2 ระหว่างปี 1939-1945 ซึ่งทำให้พระองค์เจ้าพีระต้องเปลี่ยนไปทำหน้าที่ครูฝึกสอนนักบินเครื่องร่อนให้กองทัพอังกฤษ ก่อนที่พระองค์จุลจะตัดสินใจเลิกทำทีมคณะหนูขาวหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดได้ไม่นานเนื่องจากเกิดความอิ่มตัว

foner7
ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีเรื่องที่น่าเสียดายอีกประการหนึ่งตามคำบอกเล่าของ หญิงหมัด หรือ ม.ร.ว. มาลินี จักรพันธุ์ ผู้เขียนหนังสือ เจ้าชายดาราทอง : ต้นกำเนิดที่เกิดเหตุ เมื่อพระองค์เจ้าพีระเกือบมีโอกาสได้เป็นนักแข่งของทีม เฟอร์รารี่ หลังเป็นนักแข่งอิสระได้ไม่นาน แต่โอกาสนั้นก็หลุดลอยไปเนื่องจากความไม่มั่นใจในไลฟ์สไตล์ของพระองค์ท่าน … ถึงกระนั้น เส้นทางชีวิตในฐานะนักแข่งรถก็ยังดำเนินต่อไปอย่างมั่นคง

จนที่สุดแล้ว พระองค์เจ้าพีระก็ได้จารึกชื่อตัวเองในอีกหนึ่งหน้าประวัติศาสตร์ กับการเป็นนักแข่งรถสูตรหนึ่งคนแรกของไทยในปี 1950 ปีแรกที่มีการแข่งขัน F1 นั่นเอง...

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook