โอกาส 8 ครั้ง.. ยังไม่พอ : แหวน NBA ล่องหนของ "เอลกิน เบย์เลอร์"

โอกาส 8 ครั้ง.. ยังไม่พอ : แหวน NBA ล่องหนของ "เอลกิน เบย์เลอร์"

โอกาส 8 ครั้ง.. ยังไม่พอ : แหวน NBA ล่องหนของ "เอลกิน เบย์เลอร์"
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

หากให้เทียบระหว่างนักกีฬาระดับโลกไปจนถึงระดับ อบต. เชื่อว่าความต่างที่ชัดเจนที่สุดคือเรื่องของศักยภาพที่แทบวัดกันไม่ได้ อย่างไรก็ตามมีสิ่งหนึ่งที่เหมือนกับสำหรับนักกีฬาทุกคนจากบนสุดถึงล่างสุด นั่นคือ... พวกเขาอยากจะเป็นแชมป์

เลบรอน เจมส์ สุดยอดนักบาสเกตบอลแห่งยุคที่เพิ่งย้ายมาอยู่กับ ลอสแอนเจลิส เลเกอร์ส หมาดๆ มักจะถูกล้อเรื่องนี้อยู่เสมอ เขาเก่งกาจ แข็งแกร่ง และยากที่มีใครจะเอาอยู่ ติดเพียงอย่างเดียวตรงที่เขาต้องรับบทผู้แพ้ในเกมนัดชิงชนะเลิศ NBA ถึง 6 ครั้ง สมหวังเพียง 3 ครั้งเท่านั้น

 

6 คือตัวเลขที่เยอะเกินไปสำหรับความผิดหวัง แต่หากย้อนกลับไปสักนิด มันค่อนข้างจะจิ๊บๆ หากคุณได้รู้จักกับ เอลกิน เบย์เลอร์ นักบาสเกตบอลที่เก่งจนถูกเรียกว่า "ผู้ปฎิวัติ NBA" เขาเก่งขนาดนั้นจริงไหม? และถ้าเก่งแบบนั้นจริงทำไมถึงแพ้ในนัดชิงชนะเลิศถึง... 8 ครั้ง?

นักปฎิวัติผู้ยิ่งใหญ่

สเตเปิ้ลส์ เซ็นเตอร์ สังเวียนกีฬาของนครลอสแอนเจลิส คือสถานที่ที่เหล่าตำนานของ แอลเอ เลเกอร์ส ร่วมสร้างความตื่นเต้นและความสำเร็จจนต้องมีรูปปั้นประดับอยู่หน้าสนาม

 1

เบย์เลอร์ ถือเป็นหนึ่งนักบาสเกตบอลที่แฟนๆ ของ เลเกอร์ส รักมาก เขาถูกเรียกว่า โคบี้ (ไบรอันท์) ที่มาก่อนโคบี้ และ เลบรอน (เจมส์) ที่มาก่อน เลบรอน

“ไม่ว่าจะชู้ตจากวงนอก, ระยะกลาง หรือลุยเข้าวงในไปทำคะแนน เอลกินทำได้หมด อยากชู้ตตรงไหนก็ลง เหมือนกับโคบี้นั่นแหละ” เมจิค จอห์นสัน อีกหนึ่งตำนาน เลเกอร์ส บรรยายสรรพคุณถึงตำนานรุ่นน้าอย่าง เบย์เลอร์

ความเก่งกาจของ เบย์เลอร์ ยังถูกยืนยันด้วยการเป็นส่วนสำคัญที่นำไปตีแผ่ในวงกว้างยิ่งกว่านั้น เมื่อ บิยาน ซี เบย์น ผู้เขียนหนังสือ Elgin Baylor: The Man Who Changed Basketball ได้วิเคราะห์และชี้ชัดว่าเขาคนนี้คือผู้นำ NBA ก้าวกระโดดสู่ยุคใหม่ด้วยสไตล์การเล่นที่มาก่อนกาล ไม่ว่าจะการเลี้ยงบอล การหลบคู่แข่ง ไปจนถึงกระทั่งการเปลี่ยนทิศทางที่ทำได้เร็วชนิดที่ว่าผู้เล่นในยุคนั้นตามไม่ทัน ซึ่งสิ่งที่ เบย์เลอร์ ทำกลายเป็นสิ่งที่นักบาสเกตบอล NBA ยุค 1980 และหลังจากนั้นแทบทุกคนเดินตามรอยทั้งนั้น

การเป็นผู้เล่นระดับปรากฎการณ์ทำให้เขาถูกยกย่องในฐานะตำนาน ทว่าตำนานคนนี้กลับไม่เคยได้แหวน NBA เลยแม้แต่วงเดียว ทั้งที่จริงๆ ควรจะจัดเต็ม 10 นิ้วเลยก็ยังได้  

 2

อย่างไรก็ตามทุกอย่างล้วนมีเหตุผล แต่สิ่งใดกันที่ขวางทางทำให้เขาไม่สามารถวิ่งเข้าเส้นชัยอย่างที่หวังได้ และเหตุใด เอลกิน เบย์เลอร์ ถึงไม่ทำในสิ่งที่นักบาสเกตบอลยุคใหม่อย่าง เควิน ดูแรนท์ หรือแม้กระทั่งเลบรอนเองก็ทำ อย่างการย้ายทีมล่ะ?

เราต้องมีเขา

เอลกิน เบย์เลอร์ คือผู้เล่นที่สำคัญมากสำหรับประวัติศาสตร์ของ เลเกอร์ส แต่ความจริงคือ เขาแจ้งเกิดมาก่อนที่จะได้เล่นระดับอาชีพเสียอีก

 3

เรื่องราววัยเด็กของเขาเหมือนกับนักบาสเกตบอลระดับซูเปอร์สตาร์ทั่วไป ตัวใหญ่ เล่นเก่ง เป็นเด็กเทพ ดังนั้นการเข้าสู่ระบบอาชีพอย่าง NBA ของเขาในปี 1958 จึงกลายเป็นที่หมายปองของทีมดัง และเป็นผู้เล่นดราฟต์หมายเลข 1 ในปีนั้น โดย มินนิอาโปลิส เลเกอร์ส ทีมดังจากยุค 1940 ที่กำลังย่ำแย่ในช่วงนั้นหลังจากที่ จอร์จ ไมคาน หรือ “มิสเตอร์ บาสเกตบอล” ผู้นำความสำเร็จมาให้ทีมในยุคเริ่มแรกประกาศเลิกเล่นไป คือทีมที่มือไวและได้ตัวสุดยอดผู้เล่นที่เก่งที่สุดจากมหาวิทยาลัย ซีแอตเทิล

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ เลเกอร์ส พยายามคว้าตัวเขามาร่วมทีม เพราะในปี 1956 พวกเขาพยายามอย่างมากที่จะดึง เบย์เลอร์ มาให้ได้ แต่ตัวของเขานั้นปฎิเสธและขอกลับไปเรียนหนังสือให้จบก่อน แต่ด้วยความที่หลังจากผ่านยุครุ่งเรืองมาแล้ว ผู้เล่นเก่าๆ ที่เคยช่วยคว้าชัยในยุค 1940 ต่างพากันแก่และหมดสภาพ หนนี้ เลเกอร์ส จึงต้องล่าตัว เบย์เลอร์ แบบเต็มรูปแบบ พวกเขาให้ค่าเหนื่อย 20,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี ซึ่งในสมัยหลังผ่านสงครามโลกครั้งที่ 2 และสงครามเกาหลีมาไม่นาน นั่นถือเป็นจำนวนเงินที่ไม่น้อยเลย  เพื่อแลกให้ เบย์เลอร์ ไม่ต้องเรียนปีสุดท้ายเและมาเป็นส่วนหนึ่งของยุคสมัยใหม่ของทีม ดีกว่ากันเยอะ 

 4

บ็อบ ชอร์ต เจ้าของทีม ยอมรับว่านาทีนั้นมันจำเป็น หากไม่เดิมพันกับ เบย์เลอร์ แล้ว เห็นที เลเกอร์ส คงไม่มีทางกลับมาผงาดได้แน่นอน หนักไปกว่านั้นเขาอาจจะเลิกทำทีมบาสเกตบอลไปเลยทีเดียว

“พูดตามตรงเลยว่า ถ้าเขาปัดข้อเสนอที่เรายื่นไปทิ้ง ผมคงหมดหนทางทำทีมต่อ และจะทำให้แฟรนไชส์นี้ถึงคราวล่มสลายอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง” ชอร์ต กล่าวอย่างโล่งใจเมื่อได้ตัวผู้ปลุกประวัติศาสตร์ของทีม

เขาสามารถทำผลงานเฉลี่ยต่อเกมทั้งฤดูกาลได้ถึง 24.9 คะแนน 15 รีบาวด์ และ 4.1 แอสซิสต์ รุกกี้ที่ดีที่สุดในปีนั้นกำลังปลุกผีด้วยการพา เลเกอร์ส เข้าไปถึงรอบชิงชนะเลิศของ NBA ปี 1958 ... ปีเดียวพอ เขาพาทีมมาถึงรอบชิงเรียบร้อยแล้ว คุ้มหรือไม่คงไม่ต้องให้ เบย์เลอร์ ตอบด้วยปากอีกแล้วกระมัง

แหวนแชมป์ที่รอคอย

ในเกมที่เขาและแฟน เลเกอร์ส รอคอย กลับเป็นวันที่พวกเขาได้รู้จักความห่างชั้นที่แท้จริง และ บอสตัน เซลติกส์ คือทีมผู้เปิดซีรี่ส์ “พระรองตลอดกาล” ให้กับ เบย์เลอร์ เป็นครั้งแรก

 5

แม้เขาจะแสดงให้เห็นว่าตัวเองเป็นเหมือนกับเงาที่แม้จะมองเห็นก็ไม่มีใครสามารถแตะต้องได้ ด้วยตำแหน่ง “รุกกี้แห่งปี” อย่างไรก็ตามไม่ใช่แค่ฝั่ง เลเกอร์ส ที่ต้องการจะเป็นแชมป์ เซลติกส์ ก็มีปูมหลังและแรงส่งที่อยากไปถึงที่สุดเช่นกัน

ก่อนเกมนัดชิง เซลติกส์ เล่นรอบรองชนะเลิศกับ ซีราคิวส์ เนชั่นแนลส์ และสามารถโกงความตายกลับมาชนะจนเข้ารอบชิงได้ ถึงตอนนั้นคู่แข่งที่ เบย์เลอร์ จะเจอในรอบชิงกำลังอยู่ในช่วงมั่นใจสุดๆ บ็อบ เคาซี่ ผู้เล่นของ เซลติกส์ ถึงกับปลุกใจเพื่อนร่วมทีมว่า ในนัดชิงชนะเลิศ พวกเขาจะเอาชนะ เลเกอร์ส แบบกวาด 4 เกมรวดให้จงได้ และคำทำนายนั้นเหมือนจะแม่นยำไม่ใช่เล่น

เซลติกส์ เป็นรองแชมป์เก่า ดังนั้นแน่นอนว่าพวกเขามีแรงหนุนจากความพ่ายแพ้ต่อ เซนต์หลุยส์ ฮอว์คส์ ในปี 1958 และการที่พวกเขามี 4 เทพอย่าง บ็อบ เคาซี่, บิลล์ ชาร์แมน, ทอม เฮนซอน และ บิล รัสเซลล์ จึงทำให้เป็นเหมือนกระดูกขัดมัน การแข่งขันนัดชิงทั้ง 4 เกมเหมือนกับการเล่นแบบ 4 รุม 1 แม้ เบย์เลอร์ สู้สุดชีวิตแต่นั่นไม่มากพอที่จะทำให้ทีมไปถึงแชมป์ได้  เซลติกส์ สอนเชิง เลเกอร์ส แบบเละเทะ ชนะรวด 4-0 เกม ภาษาชาวบ้านเรียกกันว่า เซลติกส์ เหนือกว่าทุกประตู ซึ่งทั้ง 4 เทพก็แสดงให้เห็นว่าพวกเขาเก่งจริงเพราะตบเท้าติดทีมออลสตาร์พร้อมกันทั้งหมด

เซลติกส์ สอนให้ เลเกอร์ส รู้ว่าบาสเกตบอลคือกีฬาประเภททีม พวกเขายังต้องการผู้เล่นระดับคุณภาพเพื่อวิ่งแตะเส้นชัยให้ได้  

 6

ช่างปะไร... สำหรับ เบย์เลอร์ เขาเข้าใจจุดนั้นดี เขายังอายุน้อย และมีเวลาอีกมาก นี่แค่ปีแรกเท่านั้นการแพ้ให้กับทีมโคตรเก่งก็ถือว่าไม่เลวร้ายเกินไปนัก "ไม่มีใครไปถึงดวงดาว โดยที่เท้าไม่เลอะดิน"  เขารู้ดีว่าหากเขากลับไปพัฒนาตัวเอง พร้อมๆ กับการที่ทีมขยับเสริมทัพ ที่สุดแล้วต้องเป็นฝ่ายพวกเขาที่ได้สมหวังบ้างแน่นอน

ดวงดาวที่แสนไกล

ทีมจะดีได้ก็ต้องที่มีกลุ่มแฟนๆ ที่พร้อมจะสนับสนุนทีม หลังจากผิดหวังในช่วงยุค 1950 บ็อบ ชอร์ต เจ้าของทีมเลเกอร์สตัดสินใจครั้งสำคัญถึง 2 เรื่องในปี 1960 ทั้งการย้ายทีมจากเมืองมินนิอาโปลิสที่แฟนๆ เริ่มเสื่อมความนิยม สู่เมืองใหญ่ในซีกตะวันตกของประเทศอย่าง นครลอสแอนเจลิส รวมถึงการดราฟท์ตัว เจอร์รี่ เวสต์ เข้าทีม และนั่นทำให้เลเกอร์สยิ่งพุ่งทะยาน พวกเขาเปลี่ยนสถานภาพจากยักษ์หลับ กลับมาเป็นยักษ์ใหญ่ที่มีลุ้นความสำเร็จในทุกปีได้อีกครั้ง

 7

"แอลเอ เลเกอร์ส" ชื่อนี้ถือกำเนิดขึ้น พวกเขาสร้างทีมโดยมี เบย์เลอร์ เป็นศูนย์กลางของทีม พวกเขาเสียเวลาประกอบร่างทีมขึ้นใหม่อยู่ 2 ปี ในที่สุดก็ได้ทีมที่แข็งแกร่งพอและพร้อมไปถึงนัดชิงชนะเลิศอีกครั้ง

ปี 1962 เบย์เลอร์ เดินนำเพื่อนร่วมทีมสู่รอบชิงชนะเลิศอีกครั้ง หนนี้พวกเขาเจอยักษ์ใหญ่ที่ยืนตระหง่านอยู่ทีมเดิม บอสตัน เซลติกส์ ยังคงรักษาศักยภาพและพร้อมสอนเชิง เลเกอร์ส อีกครั้ง แต่หารู้ไม่ว่า เบย์เลอร์ และ เลเกอร์ส ไม่ใช่ทีมเด็กน้อยเหมือนเมื่อ 4 ปีก่อนอีกแล้ว

ซีซั่นดังกล่าวคือช่วงที่ เบย์เลอร์ ก้าวพ้นเงาของคำว่าดาวรุ่งและกลายเป็นสตาร์เต็มตัว นี่คือปีที่เขาแสดงผลงานได้เก่งกาจที่สุด จากที่เคยทำได้ 55 แต้มในเกมเดียวเมื่อปี 1959 แต่มันยังพีกได้อีก … ตอนนี้ระดับการเล่นของเขาถูกตบเข้าเกียร์ 5 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว  

จากเกมตบหมู กลายเป็นเกมที่ยักษ์ใหญ่แห่งยุคอย่าง เซลติกส์ ต้องเหนื่อยหนักที่สุดเท่าที่พวกเขาเคยเจอ 4-0 เกม ชนะแบบรวดเดียวไม่มีอีกแล้ว พวกเขายิ่งหนี เลเกอร์ส ก็ยิ่งตามหายใจรดต้นคอ ทั้งสองทีมชนะกันแบบเกมต่อเกมใน 4 นัดแรกจนผลคือเสมอกัน 2-2 ดังนั้นเกมที่ 5 คือเกมที่มีโอกาสให้ เลเกอร์ส ขึ้นนำเป็นครั้งแรกหากชนะ และเบย์เลอร์ ทำให้แฟนเจ้าบ้านต้องเงียบกริบ เขาจัดการทำไป 61 แต้มและเก็บได้อีก 22 รีบาวด์ แม้แต่ทีมที่เล่นเกมในบ้านได้แข็งแกร่งอย่าง เซลติกส์ ก็เอาไม่อยู่ เบย์เลอร์ พา เลเกอร์ส ทำลายแพงที่แข็งแกร่งและเอาชนะไปได้ 126-121 พร้อมขึ้นนำ 3-2 เกม … ผลงาน 61 แต้มในเกมนั้น คือสถิติการทำแต้มสูงสุดในเกมรอบชิงที่ยังไม่มีใครทำลายได้จนถึงวันนี้

ทั้งสองทีมผลัดกันแพ้ผลัดกันชนะและเจ๊ากันอยู่ที่ 3-3 เกมฎีกาแมตช์ที่ 7 เดินทางมาถึง ซึ่ง เซลติกส์ ได้เล่นในบ้าน แต่ก็ต้องเจอกับเกมที่ตึงมือเหมือนเช่นเคย เพียงแต่ว่าหนนี้ปีศาจได้สิงร่างของ บิล รัสเซลล์ การ์ดของ เซลติกส์ ที่ทำได้ถึง 40 รีบาวด์และจัดไปอีก 30 แต้ม แม้ เลเกอร์ส จะพยายามยื้อได้จนถึงช่วงต่อเวลาแต่ที่สุดแล้ว เซลติกส์ ก็ปิดเกม 110-107

แม้จะเข้าใกล้สุดท้ายก็เหมือนเดิม เลเกอร์ส และ เบย์เลอร์ แพ้ในนัดชิงชนะเลิศอีกแล้ว...

 8

แม้แต่ความแข็งแกร่งที่ยกระดับตลอด 2 ปี ของ เลเกอร์ส ก็ยังไม่พอ นี่คือปีที่ใกล้เคียงต่อการเป็นแชมป์มากที่สุด ดังนั้นคำว่า "ไม่เป็นไร" สำหรับความพ่ายแพ้ในครั้งนี้ ดูจะพูดยากกว่าการแพ้ครั้งแรกเมื่อปี 1959 เยอะ เพราะเมื่อมองไปที่ บอสตัน เซลติกส์ แล้ว พวกเขาไม่เคยหยุดพัฒนาเลย ทีมของ เรด ออเออร์บัค คือก้างชิ้นใหญ่ที่ เลเกอร์ส ต้องเจ็บปวด… ไม่ใช่เจ็บปวดเพราะแพ้อย่างเดียวเท่าน้้น แต่เจ็บปวดเพราะระยะห่างที่วิ่งตามเท่าไรก็ไปไม่ถึงเสียที

บอสตัน เซลติกส์ ยืนรออยู่ในนัดชิงชนะเลิศถึง 7 จาก 8 ครั้งหลังจากนั้น เลเกอร์ส เองก็ยกระดับตัวเองเข้ารอบชิงชนะเลิศถึง 3 ครั้ง ในปี 1963, 1965 และ 1966

แม้ปฎิทินจะเปลี่ยนปี แต่ผลการแข่งขันนี้ไม่เปลี่ยนเลย เลเกอร์ส แพ้ทุกครั้งที่เจอกับ เซลติกส์…

3 ครั้งรวด นี่คือความผิดหวังที่ยากจะรับได้ พวกเขาต้องทุ่มอีกครั้ง เพื่อวัดดวงครั้งสุดท้าย หนนี้จบลงที่การเอาผู้เล่นที่เคยทำ 100 แต้มในเกมเดียวอย่าง วิลท์ แชมเบอร์เลน แต่มันก็ไม่ได้ทำให้พวกเขาเป็นผู้ชนะอยู่ดี... ทริโอของเลเกอร์ อย่าง เจอร์รี่ เวสต์, เอลกิน เบย์เลอร์ และ วิลท์ แชมเบอร์เลน ยังทำได้แค่รองแชมป์เท่านั้นในช่วงการเข้าชิงปี 1968 และ 1969 รวมถึงการแพ้ให้กับ นิวยอร์ก นิกส์ ในปี 1970 ซึ่งเป็นครั้งสุดท้ายของ เบย์เลอร์ ในสีเสื้อของ เลเกอร์ส

เป็นอันว่าจบพิธี ที่สุดแล้วมันก็โทษอะไรไม่ได้ เลเกอร์ส ทำดีที่สุดแล้ว เพียงแต่พวกเขาดันเก่งกาจผิดยุคต่างหาก บอสตัน เซลติกส์ ในตอนนั้นครองโลก NBA ได้โดยง่ายด้วยคุณภาพผู้เล่นอย่างแท้จริง นำโดยสตาร์ตัวท็อปอย่าง บ็อบ เคาซี่, บิลล์ ชาร์แมน, ทอม เฮนซอน และ บิล รัสเซลล์ เท่านั้นยังไม่พอ ผู้เล่นคนอื่นๆ ในทีมชุดนั้นก้าวขึ้นมาถูกบันทึกชื่อใน ฮอลล์ ออฟ เฟม กันแทบยกชุดในเวลาต่อมา นั่นแสดงให้เห็นว่าความเหนือชั้นที่แท้จริงเป็นเช่นไร

ตลกร้ายปลายทาง

แม้จะผิดหวังกับตำแหน่งแชมป์ NBA ชนิดที่หากเบย์เลอร์เกิดในสมัยนี้ คงมีคนจับเอาหน้าเขาไปทำเป็นมีมล้อเลียนสนั่นโลกออนไลน์ ทว่าเขาก็ยังคงไม่ย่อท้อ มุ่งมั่นกับทีมเลเกอร์สแบบไม่ยอมย้ายไปไหน

 9

ทว่ามีอีกหนึ่งเหตุผลที่ทำให้ไปไม่ถึงดวงดาว ก็เพราะสภาพร่างกายของเบย์เลอร์เองเริ่มที่จะไม่ดีเหมือนเก่า ตั้งแต่ฤดูกาล 1963-64 เป็นต้นมา เจ้าตัวต้องประสบกับปัญหาอาการบาดเจ็บที่หัวเข่าอยู่ตลอด ซึ่งแม้จะไม่ทำให้เขาสูญเสียความเก่งกาจไปมากนัก แต่นับจากนั้นมาก็ไม่เคยทำคะแนนเฉลี่ยต่อเกมได้เกิน 30 คะแนนอีกเลย

กระทั่งในฤดูกาล 1971-72 เหตุการณ์ที่เปลี่ยนชีวิตเขาไปตลอดกาลอีกครั้งก็มาถึง เมื่อเขาได้รับบาดเจ็บที่เข่าอีกครั้งหลังเปิดฤดูกาลได้ไม่นาน ปัญหาก็คือ อาการคราวนี้นั้นหนักหนากว่าทุกทีที่เจอมา จนนำมาสู่การตัดสินใจครั้งสำคัญ

“เมื่อผมไม่อาจสามารถรักษามาตรฐานการเล่นต่อไปได้ ก็ไม่มีความจำเป็นที่ผมจะฝืนให้อาชีพการเล่นของผมยาวนานไปกว่านี้” เอลกิน เบย์เลอร์ ตัดสินใจจบชีวิตการเป็นนักบาสเกตบอลอาชีพทันทีแบบไม่ลังเล

 10

ทว่าสิ่งที่เป็นตลกร้ายสุดๆ เกี่ยวกับเรื่องนี้ก็คือ หลังจากประกาศเลิกเล่น แอลเอ เลเกอร์ส อดีตต้นสังกัดของเบย์เลอร์กลับมีผลงานที่ดีเหลือเชื่อ เริ่มจากสถิติชนะต่อเนื่อง 33 เกม และปิดท้ายอย่างสวยงามกับตำแหน่งแชมป์ NBA ครั้งแรกในรอบ 18 ปี… แต่ถึงจะเป็นเรื่องที่ฟังดูเจ็บปวดในสายตาใครต่อใคร ทว่าสำหรับเบย์เลอร์ เขากลับไม่เอาเรื่องนี้มาคิดให้ใจเจ็บแม้แต่น้อย

“ถึงผมจะอยากมีส่วนร่วมกับความสำเร็จครั้งนั้น แต่ผมเลิกเล่นไปแล้วไง ไม่ว่าอย่างไร เราก็ผ่านอะไรมาเยอะมากในฐานะทีม ซึ่งแน่นอน ผมอยากเห็นพวกเขาชนะ และผมก็มีความสุขมากๆ ด้วยที่ได้เห็นทีมชุดนี้คว้าแชมป์อย่างที่ควรจะได้เสียที”

คำตอบคือ?

ไม่มีใครสงสัยหาก เอลกิน เบย์เลอร์ เลือกตีจากเพื่อหาทีมที่มีโอกาสคว้าแชมป์มากกว่า เลเกอร์ส ที่กว่าจะตั้งลำขึ้นมาท้าชิงได้และมีทีมที่คุณภาพมากขึ้นก็กินเวลาไปถึง 5 ปี

 11

แต่หากนับรวมตั้งแต่อยู่ที่เมือง มินนิอาโปลิส จนถึง ลอสแอนเจลิส เลเกอร์ส เท่ากับว่าเจ้าตัวอยู่กับทีมเดียวนานถึง 14 ปี นี่คือสิ่งที่หลายคนสงสัยว่า ทำไมเขาไม่ลองเลือกออกตามหาแหวนแชมป์ ซึ่งเป็นหนึ่งในภารกิจเล็กๆ ที่ทำไม่สำเร็จในอาชีพนักบาสเกตบอลกับทีมอื่น

เจอร์รี่ เวสต์ หนึ่งในเพื่อนร่วมทีมชุดอกหักซ้ำซ้อนกับ เบย์เลอร์ เล่าว่า คู่หูของเขานั้นมีวิธีคิดที่ไม่เหมือนใคร แม้ตัวเองจะอยู่ในสถานะซูเปอร์สตาร์แต่เขาคือคนแรกๆ ในทีมที่พร้อมช่วยเหลือคนอื่นๆ เสมอ เหตุผลเพราะเขาเป็นคนใส่ใจกับคำว่า "ทีม" อย่างที่สุด นอกจากนี้เพื่อนร่วมทีม เลเกอร์ส ก็เหมือนกับคนในครอบครัวของเขา

"พวกรุกกี้มือใหม่ที่ตื่นสนามจะได้รับการต้อนรับอย่างดีจากชายคนนี้ (เบย์เลอร์) เขาคือคนแรกที่จะกล่าวต้อนรับและทำตัวเหมือนไม่ใช่สตาร์ที่ยกตนเหนือคนอื่น" เวสต์อธิบายเรื่องดังกล่าว

"คุณอาจจะไม่เห็นว่าเขาแตกต่างกับสตาร์คนอื่นๆเท่าไหร่หรอกตอนที่ลงสนาม แต่ว่าหากคุณมองเขาในฐานะคนๆหนึ่งบอกได้เลยว่ามันแตกต่างจากคนอื่นมาก เขาไม่เคยเปลี่ยนเลยแม้แต่น้อย การเป็นคนอ่อนน้อมถ่อมตน คือจุดแข็งที่ทำให้ใครๆก็ต้องหลงรักคาแร็คเตอร์ของเขา"

ด้าน เบย์เลอร์ เองก็มีเหตุผลที่อยู่ร่วมหัวจมท้ายจนกลายเป็นตำนาน ก็เพราะต้องการตอบแทน เลเกอร์ส ที่ให้โอกาสและเฝ้ารอเขาจนกระทั่งได้ร่วมงานและผลักดันกันมาตั้งแต่ปี 1958 แม้ว่าเขาเองอยากจะคว้าแชมป์ แต่อีกด้านหนึ่งเจ้าตัวก็เชื่อว่าเขาอยู่กับทีมที่ดีอยู่แล้ว บาสเกตบอลคือกีฬาที่เล่นเป็นทีม และนั่นคือเหตุผลที่เขาอยากจะเล่นร่วมกับกลุ่มผู้เล่น เลเกอร์ส ชุดดังกล่าว

"บาสเกตบอลเป็นกีฬาประเภททีม มันไม่ใช่กีฬาสำหรับพวกฉายเดี่ยว แน่นอนที่สุดมาอยู่จุดนี้ได้ก็เพราะเพื่อนร่วมทีม ไม่มีความมหัศจรรย์ของพวกเขาก็ไม่มีทางที่จะมีผมในวันนี้ได้เลย" เบย์เลอร์ เล่าย้อนถึงความหลัง เรื่องระหว่างเขาและ เลเกอร์ส จบลงแล้วร่วม 60 ปี แต่ความยิ่งใหญ่ที่ทั้งตัวบุคคลและทีมเติมเต็มให้กันยังคงอยู่

เวลาผ่านไปยาวนานนับตั้งแต่วันที่เขาประกาศเลิกเล่น เรื่องราวความยิ่งใหญ่ถูกเล่าขานโดยคนรุ่นหลัง ผู้เล่นอย่าง เมจิค จอห์สัน, โคบี้ ไบรอันท์, ชาคีลล์ โอนีลล์ และ คารีม อับดุล จาบาร์ ต่างก็พูดถึง เบย์เลอร์ ในแง่เดียวกันทั้งนั้นนั่นคือ “ตำนานผู้สร้างลมหายใจให้เลเกอร์สอีกครั้ง”

 12

และนั่นคือเหตุผลสำคัญที่ทำให้องค์กรที่ร่วมหัวจมท้ายกับเขาตลอดเส้นทางอาชีพอย่าง แอลเอ เลเกอร์ส ตัดสินใจทำ 2 สิ่งสำคัญให้กับเขา ประการแรก คือการทำแหวนแชมป์ฤดูกาล 1971-72 เป็นพิเศษให้กับเขา เพื่อตอบแทนความจงรักภักดีที่มีมาโดยตลอด แม้เขาจะมีส่วนร่วมกับฤดูกาลที่คว้าแชมป์น้อยมากก็ตาม ซึ่งถือเป็นนักบาสเพียงไม่กี่คนที่ได้แหวนแชมป์แม้จะไม่เคยได้แชมป์อีกด้วย… ทว่าเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา เจ้าตัวตัดสินใจนำแหวนแชมป์ดังกล่าวออกประมูลเพื่อการกุศลไปแล้วด้วยเหตุผลสุดอินดี้ คือมันก็เป็นแค่ของนอกกาย เพราะความทรงจำในชีวิตช่วงนั้นยังอยู่ในสมองของเขาเสมอ

ไม่เพียงเท่านั้น เลเกอร์ยังได้มอบสิ่งสำคัญให้กับเบย์เลอร์อีกอย่าง นั่นคือ อนุสาวรีย์รูปตัวเขาหน้า สเตเปิ้ลส์ เซ็นเตอร์ รังเหย้าของทีม… เพราะแม้ชายผู้นี้ไม่เคยคว้าแหวนแชมป์ NBA แต่การสร้างอิมแพ็คครั้งใหญ่ด้วยการเปลี่ยนแปลงหน้าประวัติศาสตร์ด้านรูปแบบบการเล่นในสนาม รวมถึงการวางตัวนอกสนามก็ยิ่งใหญ่พอแล้ว

ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม คนบางคนอาจจะไม่ได้เกิดมาเพื่อเป็นแชมป์ ทว่าบางครั้งเรื่องราวระหว่างการเดินทางบนเส้นทางแห่งความหวังก็สำคัญไม่แพ้กับกับผลลัพธ์ที่จุดหมายปลายทาง

นักบาสเกตบอลที่เคยคว้าแหวนแชมป์ NBA มาสวมนิ้วแต่สุดท้ายก็ถูกลืมนั้นมีไม่น้อย แต่มีไม่กี่คนหรอกที่ไม่เคยสวมแหวน แต่กลับได้รับการเทิดทูนไม่แพ้ตำนานคนไหนๆ และ เอลกิน เบย์เลอร์ คือหนึ่งในบุคคลประเภทนั้น

อัลบั้มภาพ 12 ภาพ

อัลบั้มภาพ 12 ภาพ ของ โอกาส 8 ครั้ง.. ยังไม่พอ : แหวน NBA ล่องหนของ "เอลกิน เบย์เลอร์"

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook