มูลค่าที่มองไม่เห็น : คิดให้เฉียบแบบนักธุรกิจ.. ซื้อทีมฟุตบอลแล้วได้อะไร?

มูลค่าที่มองไม่เห็น : คิดให้เฉียบแบบนักธุรกิจ.. ซื้อทีมฟุตบอลแล้วได้อะไร?

มูลค่าที่มองไม่เห็น : คิดให้เฉียบแบบนักธุรกิจ.. ซื้อทีมฟุตบอลแล้วได้อะไร?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

หลายคนพูดว่า "สโมสรฟุตบอลไม่ใช่สิ่งที่จะทำกำไรได้ง่ายๆ" แต่เราก็ยังเห็นมหาเศรษฐีมากมายจากทั่วทุกมุมโลกที่ทุ่มเงินมหาศาลซื้อทีมลูกหนังมาอยู่ในครอบครอง พวกเขาซื้อเพราะใจรัก หรือมีอะไรที่มากกว่านั้นกัน?

ทุกวันนี้หากเราไล่ดูชื่อเจ้าของสโมสรฟุตบอลชื่อดังต่างๆ ไม่ว่าจะในพรีเมียร์ลีก, ลาลีกา, กัลโช่ เซเรีย อา, ลีกเอิง หรือลีกอื่นๆ ทั่วโลกก็จะเห็นว่าหลายทีมมีเจ้าของเป็นมหาเศรษฐี ซึ่งแม้จะมีคนท้องถิ่นหรือสัญชาติเดียวกับทีมอยู่ไม่น้อย แต่แนวโน้มในปัจจุบันเห็นได้ชัดว่า เศรษฐีต่างชาติเข้ามามีบทบาทในวงการลูกหนังด้วยการเป็นเจ้าของทีมมากขึ้นเรื่อยๆ เช่นในพรีเมียร์ลีก ลีกสูงสุดของอังกฤษ ที่ 15 จาก 20 ทีมของฤดูกาล 2018/19 ล้วนมีชาวต่างชาติเป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้น

 

อย่างไรก็ตาม ธุรกิจฟุตบอลก็ถือเป็นอะไรที่สาหัสสากรรจ์ไม่น้อย เมื่อต้นทุนและสินทรัพย์ที่มีความสำคัญที่สุดอย่าง นักฟุตบอล เป็นสินค้าที่ไม่มีราคากลาง การซื้อขายขึ้นอยู่กับราคาที่ทั้งฝ่ายซื้อและฝ่ายขายพึงพอใจ บวกกับสภาพการณ์ของวงการลูกหนังยุคนี้ที่ต้องใช้เงินมากขึ้น หากไม่ทุ่มก็ยากที่จะประสบความสำเร็จ นั่นทำให้แม้แต่ละปีสโมสรฟุตบอลจะทำรายได้มหาศาลแต่หลายทีมกลับมีหนี้สิน ขนาดทีมอย่าง แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ที่มีรายได้มากที่สุดในโลกก็ยังมีหนี้สินมากกว่า 200 ล้านปอนด์ ส่วน เอซี มิลาน ก็เพิ่งถูก เอลเลียต แมเนจเมนต์ เข้าครอบครองกิจการ หลัง หลี่ หยงฮง เจ้าของทีมคนก่อนหน้าชาวจีนไม่สามารถหาเงินมาใช้หนี้ที่กู้ซื้อสโมสรได้ทันเวลา

 1

ถึงกระนั้นเราก็ยังเห็นมหาเศรษฐีจากทั่วโลกซื้อกิจการหรือเข้าถือหุ้นของทีมฟุตบอลจากทั่วโลกมากขึ้นเรื่อยๆ นั่นจึงเป็นที่มาของคำถามที่ว่า แม้มีตัวอย่างให้เห็นมากมาย เหตุใดพวกเขาจึงตัดสินใจกระโจนเข้าใส่? จะเป็นเพราะเหตุผลสวยๆ อย่างการมีเกมลูกหนังอยู่ในหัวใจ หรือมีบางสิ่งที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า แต่มีมูลค่าสูงพอจนทำให้กล้าเสี่ยงกัน?

ช่องทางสร้างชื่อ

ไม่ว่าจะทุ่มเงินมหาศาล หรือเจียดเศษเงินมาซื้อในราคาสุดคุ้มก็ตาม คงปฏิเสธไม่ได้ว่า ชื่อเสียง คือสิ่งแรกที่จะตามมาทันทีภายหลังการเข้าครอบครองสโมสรฟุตบอล เพราะสื่อและแฟนบอล ย่อมต้องเกิดความสงสัยแน่นอนว่า คนที่จะมาควบคุมทิศทางของสโมสรจากนี้ และอนาคต คือใคร?

ซึ่งเรื่องราวดังกล่าวก็มักเกิดขึ้นเสมอทุกครั้งเมื่อมีการเทคโอเวอร์หรือซื้อหุ้นสโมสร โดยเฉพาะจากเศรษฐีต่างชาติ ไม่ว่าจะเป็นตอนที่ โรมัน อบราโมวิช มหาเศรษฐีชาวรัสเซียซื้อสโมสร เชลซี เมื่อปี 2003 หรือตอนที่ วิชัย ศรีวัฒนประภา ประธานกลุ่มคิงเพาเวอร์ผู้ล่วงลับ เทคโอเวอร์สโมสร เลสเตอร์ ซิตี้ เมื่อปี 2010 ชื่อของพวกเขาก็เริ่มเป็นที่สนใจจากสื่อและแฟนบอล มีการขุดประวัติ เรื่องราวแง่มุมต่างๆ ในชีวิต รวมถึงกิจวัตรประจำวันมานำเสนอทันที แม้ตอนนั้นเขาจะพักผ่อนวันหยุดบนเรือยอทช์ หรือเดินทางมาสนามแข่งขันด้วยเฮลิคอปเตอร์ส่วนตัวก็ตาม

 2

กฤษฎิน สุวรรณบุบผา ผู้จัดการฝ่ายกีฬา, ผู้ประกาศข่าว และพิธีการรายการ ทีมนี้พี่รัก ทางสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 ซึ่งผ่านประสบการณ์บนเส้นทางสายนี้มากว่าสิบปีมองว่า การซื้อสโมสรฟุตบอล ถือเป็นช่องทางให้เศรษฐีเหล่านี้เปิดตัวสู่โลกกว้าง ให้โลกรู้ถึงเส้นทางกว่าจะประสบความสำเร็จจนมาซื้อทีมฟุตบอลได้ดีกว่าตอนก่อร่างสร้างธุรกิจให้ยิ่งใหญ่เสียอีก

"สิ่งแรกที่ได้จากการเป็นเจ้าของทีมฟุตบอลในมุมมองของพี่คือ ชื่อเสียง เนื่องจากการลงทุนกับทีมฟุตบอลช่วยให้ Nobody กลายเป็น Somebody ได้แบบไม่ยากเย็นนัก เพราะมีสื่อรองรับพร้อมตีข่าวของทีมรวมถึงตัวเจ้าของในทุกสัปดาห์"

"และเมื่อมีชื่อเสียงแล้ว 'อย่างอื่น' ที่จะเป็นการ 'ต่อยอด' กิจการของเจ้าของทีมก็ตามมาได้ไม่ยาก ไม่ว่าจะเป็นกิจการอะไรก็ตาม ทั้งการค้า, การเมือง หรือแม้กระทั่งการเงินก็ตาม" กฤษฎิน กล่าว

ยิ่งกว่านั้นคือในหลายกรณี เจ้าของทีมเองก็เปรียบเสมือนเป็นตัวแทน เป็นหน้าเป็นตาของประเทศ จากชื่อเสียงที่มีในบ้านเกิด การเข้าครอบครองสโมสรของเศรษฐีผู้นั้น จึงเปรียบเสมือนการนำประเทศของตน ไปประกาศชื่อสู่สายตาชาวโลกเช่นกัน หนึ่งในตัวอย่างที่ชัดเจนก็เห็นจะเป็นกรณีของคุณ วิชัย ศรีวัฒนประภา ที่เปิดใจด้วยตนเองเลยว่า การซื้อทีมเลสเตอร์ ทำให้ทั่วโลกรู้จักเขาและประเทศไทยมากกว่าการอยู่ในวงการโปโลม้า จนมีความสัมพันธ์ที่แนบแน่นกับราชวงศ์อังกฤษเสียอีก

 3

"จริงๆ ผมไม่มีความตั้งใจจะทำฟุตบอลเป็นธุรกิจนะ แต่ทำเพราะอยากให้คนรู้จักประเทศของเรามากขึ้น คิดว่ากีฬาที่จะทำให้คนรู้จักเรามากที่สุด น่าจะเป็นฟุตบอล เพราะคนทั้งโลกชอบและคนไทยก็ชอบ ซึ่งที่ผ่านมาผมทำโปโลมาสิบกว่าปี ก็ยังไม่มีคนรู้จักเท่าฟุตบอล" นี่คือส่วนหนึ่งของบทสัมภาษณ์จากปากคุณวิชัย บนนิตยสารแพรว เมื่อครั้งยังมีชีวิตอยู่ 

 4

อย่างไรก็ตาม วิชัย ศรีวัฒนประภา ไม่ใช่คนแรกที่นำประเทศไทยไปประกาศชื่อในศึกพรีเมียร์ลีก เพราะเจ้าของสโมสรชาวไทยคนแรกจริงๆ นั้นคือ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ตอนที่เข้าไปเทคโอเวอร์สโมสร แมนเชสเตอร์ ซิตี้ เมื่อปี 2007 เพราะสถานะอดีตนายกรัฐมนตรี รวมถึงเรื่องราวตอนถูกรัฐประหารจนต้องลงจากตำแหน่งผู้นำของประเทศเมื่อ 1 ปีก่อนหน้า ก็ได้ทำให้คนทั่วโลกรู้จักดินแดนขวานทองมากขึ้นตามไปด้วยเช่นกัน

 5

หนทางสู่อำนาจ

นอกจากจะเป็นเส้นทางสู่การมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักในสังคมวงกว้างแล้ว การเป็นเจ้าของสโมสรทีมฟุตบอลยังถือเป็นอีกหนึ่งตัวช่วยสำคัญในหนทางสู่อำนาจ ซึ่งเราคงคุ้นเคยกันดีในช่วงเวลาที่ ซิลวิโอ แบร์ลุสโคนี่ เป็นนายกรัฐมนตรีของอิตาลี เพราะอีกมุมที่แฟนฟุตบอลคุ้นเคยกว่า คือการเป็นเจ้าของสโมสร เอซี มิลาน ที่ช่วยเสริมสร้างบารมีให้กับเขาตลอดช่วงเวลา 31 ปีที่ครอบครองทีมปีศาจแดงดำ ก่อนจะขายหุ้นทั้งหมดไปเมื่อปี 2017

ทว่าบางครั้ง อำนาจก็ไม่จำเป็นที่จะต้องมาในรูปแบบของการครอบครองเสมอไป เมื่อบางครั้ง คอนเนคชั่น ก็ถือเป็นหนทางที่สามารถพาไปถึงฝั่งฝันได้เช่นกัน ซึ่งเรื่องนี้เห็นได้ชัดมากในประเทศจีน เมื่อมหาเศรษฐีอันดับต้นๆ ของประเทศ ต่างทุ่มเงินมหาศาลให้วงการฟุตบอล ไม่ว่าจะเป็น แจ็ค หม่า มหาเศรษฐีอันดับต้นๆ ของโลก ผู้ก่อตั้ง อาลีบาบา ธุรกิจอีคอมเมิร์ซรายใหญ่ของดินแดนหลังม่านไม่ไผ่ ที่ทุ่มเงิน 1,200 ล้านหยวน เพื่อซื้อหุ้น 50% ของ กว่างโจว เอเวอร์แกรนด์ ทีมมหาอำนาจของวงการฟุตบอลจีน เช่นเดียวกับ ซูหนิง กรุ๊ป อีกหนึ่งกลุ่มทุนยักษ์ใหญ่ของประเทศซึ่งมี จาง จินดง เป็นหัวเรือใหญ่ ที่นอกจากจะมีสโมสร เจียงซู ซูหนิง เป็นทีมในอาณัติแล้ว ยังเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของ อินเตอร์ มิลาน ทีมดังแห่งกัลโช่ เซเรียอา รวมถึง ว่านต๋า กรุ๊ป กลุ่มทุนอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่แดนมังกรของ หวัง เจี้ยนหลิน ที่ถือหุ้นส่วนหนึ่งของ แอตเลติโก มาดริด หนึ่งในยักษ์ใหญ่ของลาลีกา และเป็นหนึ่งในผู้สนับสนุนของสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ หรือ ฟีฟ่า อีกด้วย

 6

เรื่องดังกล่าว รูเพิร์ท ฮูกเวิร์ฟ ผู้จัดทำ Hurun China Rich List ทำเนียบมหาเศรษฐีของจีนมองว่า “การที่มหาเศรษฐีอันดับต้นๆ ของประเทศนี้เข้ามาลงทุนในกีฬาฟุตบอลไม่ใช่เรื่องบังเอิญ ส่วนหนึ่งอาจใช่ที่เป็นเรื่องของอีโก้ แต่ก็มีแง่มุมทางธุรกิจอยู่ด้วยเช่นกัน”

มุมมองทางธุรกิจที่ว่าก็คือ การเป็นเจ้าของสโมสรฟุตบอล ทำให้โปรไฟล์ของเจ้าของทีมสัญชาติจีนเหล่านี้ดูดีขึ้นในประเทศตนเอง ซึ่งสามารถเป็นตัวช่วยสู่ผลประโยชน์ในการร่วมงานภาครัฐ เมื่อตัวผู้นำสูงสุดแดนมังกรนั้นให้ความสำคัญกับกีฬานี้เป็นอย่างยิ่ง

“ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ชื่นชอบกีฬาฟุตบอลมาก และท่านก็มีความฝันที่จะเห็นทีมชาติจีนไปฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายอีกครั้ง รวมถึงเป็นเจ้าภาพและแชมป์โลกอีกด้วย จึงไม่แปลกที่มหาเศรษฐีหลายรายจะขอเกาะรถด่วนขบวนนี้ เพื่อพัฒนาความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นขึ้นกับรัฐบาล และเข้าถึงเครือข่ายบางอย่างที่ไม่เปิดให้คนทั่วไปเข้าถึงได้ง่ายๆ” รูเพิร์ท กล่าวเพิ่มเติมด้วยประเด็นที่น่าสนใจ

ลู่ทางสู่ความมั่งคั่ง

และแน่นอนว่าเมื่อพูดถึงนักธุรกิจแล้ว ย่อมเลี่ยงไม่ได้ที่จะพูดถึงเรื่องกำไรขาดทุน ซึ่งแม้แต่ผู้ที่เกี่ยวข้องกับวงการฟุตบอลอย่าง ทัดเทพ พิทักษ์พูลสิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารหรือ CEO ของสโมสร บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ยังเห็นตรงกันว่าถึงที่สุดแล้ว กำไร, ความมั่งคั่ง และความมั่นคงก็เป็นเรื่องสำคัญในการทำทีมฟุตบอลอยู่เดียว

 7

“ทุกวันนี้มีหลายคนอยากมาลงทุนฟุตบอล เพราะมันเป็นอะไรที่น่าตื่นเต้นในระยะสั้น แต่ในระยะยาวทุกคนก็อยากจะมั่งคั่ง มั่นคงอยู่แล้ว มันไม่มีใครอยากจะลงทุนเพื่อความสนุกอย่างเดียวหรอก มันอาจจะมีบ้างเป็นครั้งคราว แต่เงินเนี่ย สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ ‘ค่าเสียโอกาส’ เพราะฉะนั้นเราต้องบริหารให้บริษัททำกำไร”

อย่างไรก็ตาม แม้การซื้อสโมสรฟุตบอลจะไม่ใช่สิ่งที่ทำกำไรได้ง่ายๆ ในระยะสั้น แต่การมีสโมสรฟุตบอลในครอบครองก็ถือเป็นตัวช่วยทำให้พวกเขามั่งคั่งขึ้นในระยะยาวเช่นกัน เหล่านักธุรกิจมองว่าสโมสรฟุตบอล คือ อสังหาริมทรัพย์ชิ้นงาม ทว่าในมุมมองของ ผศ.สมบูรณ์ รัตนพนากุล อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยนั้นมองว่า สิ่งที่ทำให้ทีมลูกหนังมีมูลค่าไม่ได้มีเพียงแค่สนามแข่งขันหรือสนามซ้อมที่ตั้งตระหง่านเท่านั้น

“สิ่งที่สร้างมูลค่าให้สโมสรฟุตบอลมากที่สุด ก็คือตัวนักเตะ รวมถึงแบรนด์ที่ปรากฎบนหน้าอกเสื้อและทุกสิ่งทุกอย่างในสโมสร เพราะทั้งสองสิ่งนี้ คือสิ่งที่จะติดตัวทีมไปตลอดทุกเกมการแข่งขันหรือแม้กระทั่งการฝึกซ้อม ไม่ว่าจะไปเล่นที่ไหนก็ตาม” อาจารย์จากคณะเศรษฐศาสตร์แห่งรั้วพระเกี้ยวกล่าว

และแน่นอนว่าผลการแข่งขันที่ดีนั้นก็ย่อมส่งผลมาถึงสโมสรตามไปด้วย ซึ่งแม้การลงทุนกับทีมฟุตบอลจะต้องใช้เงินมหาศาล แต่ ฐิติกร ทิพย์มณเฑียร ผู้สื่อข่าว และผู้ดำเนินรายการเศรษฐกิจ สถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 ชี้ว่าสิ่งที่เข้ามาจากความสำเร็จในสนามไม่ได้มีแต่เฉพาะเงินทองเท่านั้น

“เรื่องนี้เราจะเห็นได้จากหลายๆ ทีมอย่าง เชลซี ของ โรมัน อบราโมวิช หรือแม้แต่ บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ของ เนวิน ชิดชอบ ที่พวกเขายอมทุ่มทุนกับนักเตะไปมากมายจนดูเหมือนขาดทุนในตอนแรก แต่ชัยชนะ ความสำเร็จ และถ้วยแชมป์ นั้นสามารถต่อยอดไปสู่สิ่งต่างๆ ได้มากมาย ทั้งชื่อเสียงที่เพิ่มขึ้น ตัวแบรนด์ของสโมสรเองก็มีภาพลักษณ์ที่ดี สามารถดึงดูดผู้สนับสนุนมากมายเข้ามาแย่งกันที่จะปรากฎเป็นส่วนหนึ่งของสโมสร ซึ่งช่วยให้พลิกฟื้นสู่การทำกำไรได้ในอนาคต นอกเหนือจากนี้ ท้องถิ่นก็ได้รับผลประโยชน์ด้วยเช่นกัน” ฐิติกรเผย

ซึ่งทีมปราสาทสายฟ้านั้นถือเป็นตัวอย่างที่ดี เพราะการที่สโมสรสามารถคว้าแชมป์มาครองได้เกือบทุกปี ทำให้ชื่อของ บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ติดลมบนจนไม่ว่าใครก็พูดถึง มีนักท่องเที่ยวและแฟนบอลหลั่งไหลมาที่ดินแดนปราสาทหินเขาพนมรุ้งมากมาย ช้าง อารีนา สนามเหย้ากลายเป็นอีกหนึ่งแลนด์มาร์กที่ไม่ว่าใครต่างก็ต้องแวะ เสื้อแข่งขันพะโลโก้ปราสาทสายฟ้ากลายเป็นสินค้าขายดีชนิดต้องต่อคิวซื้อทุกครั้งที่มีรุ่นใหม่ ไม่เพียงเท่านั้น ร้านอาหาร และที่พักในจังหวัดก็มีรายได้เพิ่มขึ้น กีฬาฟุตบอลทำให้จังหวัดบุรีรัมย์แปรสภาพจากที่เคยเป็นเมืองทางผ่านเป็นอีกที่หมายสำคัญของการท่องเที่ยว ส่งผลถึงราคาที่ดินที่พุ่งสูงขึ้นตามไปด้วย

ขณะที่ เลสเตอร์ ซิตี้ ก็ถือเป็นอีกตัวอย่างสำคัญ เพราะการคว้าแชมป์พรีเมียร์ลีกเมื่อฤดูกาล 2015/16 ส่งผลให้เมืองในแถบมิดแลนด์ตะวันออกนี้มีชีวิตชีวาขึ้นทันตาเห็น EY หรือ เอินส์ทแอนด์ยัง บริษัทตรวจสอบบัญชีรายใหญ่ของโลกวิเคราะห์ว่า ความสำเร็จดุจเทพนิยายของทีมจิ้งจอกสยามได้ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของเมืองเป็นมูลค่ามากกว่า 140 ล้านปอนด์ สร้างงานได้มากกว่า 2,500 ตำแหน่ง ซึ่งทำให้ภาครัฐจัดเก็บภาษีได้มากกว่า 78 ล้านปอนด์

 8

แน่นอนว่า ผู้ครองครองสโมสร ย่อมต้องได้ประโยชน์จากผลงานความสำเร็จของทีมในสนามด้วย ตัวอย่างเช่น ตระกูลเกลเซอร์ ที่ทุ่มเงิน 790 ล้านปอนด์ เทคโอเวอร์สโมสร แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด จนได้ครอบครองสโมสรอย่างเต็มตัวเมื่อปี 2005 ซึ่งแม้จะนำมาซึ่งประเด็นความขัดแย้ง เมื่อการกู้เงินมาซื้อทำให้ทีมมีหนี้สิน แต่เรื่องดังกล่าวกลับทำให้ภาพลักษณ์ทางด้านกีฬาของตระกูล ซึ่งมีทีม แทมป้าเบย์ บัคคาเนียร์ส ของศึกอเมริกันฟุตบอล NFL อยู่ในมือแล้วก่อนหน้าชัดเจนขึ้น ความสำเร็จในรูปแบบของแชมป์ที่เข้ามาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน ทำให้ทีมปีศาจแดงกลายเป็นแหล่งทำรายได้หลัก ซึ่งช่วยให้ทรัพย์สินของตระกูลทวีค่าสูงขึ้นจาก 1.5 พันล้านปอนด์เมื่อปี 2006 เป็น 3.3 พันล้านปอนด์ เมื่อปี 2017

และถึงหลายคนจะกล่าวว่า การลงทุนกับสโมสรฟุตบอลต้องหวังกำไรระยะยาว แต่ก็มีเช่นกันที่การลงทุนกับทีมลูกหนังสามารถทำกำไรได้ในระยะสั้น เรื่องดังกล่าวเกิดขึ้นกับ แมนเชสเตอร์ ซิตี้ เพราะเมื่อตอนที่ พ.ต.ท.ทักษิณ เข้าครอบครองสโมสรเมื่อปี 2007 เขาใช้เงินในการซื้อทีมไปราว 81.6 ล้านปอนด์ แต่ในปีถัดมา แม้ศาลมีคำสั่งยึดทรัพย์จากคดีทุจริต จนอดีตผู้นำของไทยต้องรีบปล่อยสโมสรจากมือ ด้วยการขายทีมให้กับทาง ชีค มันซูร์ บิน ซาเยด อัล นาห์ยาน จากอาบูดาบี สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ในราคาราว 170 ล้านปอนด์ ทาง พ.ต.ท.ทักษิณ ก็สามารถทำกำไรได้ถึงราว 20 ล้านปอนด์ หลังหักหนี้ที่เกิดจากการกู้ยืมสโมสรก่อนหน้าการขายทีม ซึ่งเรื่องราวหลังจากนั้นก็เป็นที่ทราบกันดี เมื่อ ชีค มันซูร์ พลิกโฉมทีมเรือใบสีฟ้าจนกลายเป็นมหาอำนาจของพรีเมียร์ลีกในปัจจุบัน

 9

ด้วยเหตุที่กล่าวมา จึงทำให้การซื้อสโมสรฟุตบอลไม่ได้เป็นเพียง ‘ของเล่นคนรวย’ ในสายตาของใครหลายคน เพราะในสายตาของนักธุรกิจนั้น พวกเขามองเห็นถึงชื่อเสียง และโอกาสในด้านต่างๆ ที่จะตามมาอย่างมากมายมหาศาล ทำให้แม้แต่เศรษฐีของไทยเอง ยังเมียงมองหาโอกาสถือหุ้นหรือเป็นเจ้าของสโมสรฟุตบอล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในต่างประเทศ ซึ่ง ดร.ร็อบ วิลสัน ผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินวงการฟุตบอลแห่งมหาวิทยาลัยเชฟฟิลด์ ฮัลลัม ในอังกฤษ ได้กล่าวว่า สาเหตุที่เราได้เห็นนักธุรกิจไทยเข้ามามีส่วนร่วมในวงการฟุตบอลมากขึ้น มาจากความสำเร็จของผู้บุกเบิก อดีตนายกรัฐมนตรีของประเทศนั่นเอง

 10

“พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นบุคคลที่ทำให้นักธุรกิจไทยเห็นว่าคนไทยสามารถเป็นเจ้าของสโมสรฟุตบอลในยุโรปได้ง่ายๆหากมีเงิน ไม่เพียงแต่เฉพาะสโมสรฟุตบอลในอังกฤษเท่านั้น แต่รวมถึงสโมสรอื่นๆในยุโรปด้วย ยิ่งประเทศไทยเป็นประเทศที่มีการทุ่มเงินประมูลซื้อลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดฟุตบอลพรีเมียร์ลีกสูงมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ก็ยิ่งสะท้อนว่าคนไทยชอบดูกีฬาฟุตบอล และการที่มีนักธุรกิจไทยมาซื้อหุ้นเพื่อเป็นเจ้าของสโมสรฟุตบอลในอังกฤษ ก็เป็นการต่อยอดความสนใจที่มีอยู่แล้วในสังคมไทยด้วยเช่นกัน” ดร.ร็อบ วิลสัน กล่าว

แม้ธุรกิจฟุตบอลที่มีความซับซ้อน มีนักเตะซึ่งเป็นสินค้าที่มีราคาไม่แน่นอนเป็นต้นทุนสำคัญ จะทำให้การเป็นเจ้าของทีมลูกหนังสักทีมนั้นต้องใช้ความอดทนไม่น้อยเพื่อปลุกปั้นทีมให้ไปถึงความสำเร็จอย่างที่วาดฝันไว้ แต่สภาพธุรกิจที่มีการเติบโตอย่างไม่หยุดหย่อนจากลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดซึ่งนับวันยิ่งมีราคาแพงมากขึ้น รวมถึงโอกาสต่างๆ ที่เข้ามาภายหลังจากนั้น ก็ทำให้การเป็นเจ้าของสโมสรฟุตบอลถือเป็น ‘ความเสี่ยงที่น่าลอง’ ที่เศรษฐีหลายคนต้องการเข้ามาพิสูจน์ตัวเองสักครั้งในชีวิต

อัลบั้มภาพ 10 ภาพ

อัลบั้มภาพ 10 ภาพ ของ มูลค่าที่มองไม่เห็น : คิดให้เฉียบแบบนักธุรกิจ.. ซื้อทีมฟุตบอลแล้วได้อะไร?

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook