บันทึกถึงคุณครูประจำชั้นของ "โชเฮ โอตานิ"

บันทึกถึงคุณครูประจำชั้นของ "โชเฮ โอตานิ"

บันทึกถึงคุณครูประจำชั้นของ "โชเฮ โอตานิ"
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ท่ามกลางแสงแดดช่วงบ่ายแก่ๆ เสียงเชียร์ของแฟนเบสบอลหลายร้อยคน ที่สนามอิวาเตะเคง ยะคิวโจตะโกนเชียร์กันอย่างพร้อมเพรียง 

โชเฮ โอตานิ พิชเชอร์ตัวเก่งของโรงเรียนฮานะมากิ ฮิงาชิ ทีมเบสบอลระดับนักเรียนของประเทศญี่ปุ่น ค่อยๆ ย่างเท้าก้าวสู่เนินขว้าง

สถานการณ์ขณะนั้นฮานามากิ ฮิงาชิ กำลังเป็นต่อ และกำลังจะคว้าชัยเหนือโรงเรียนอิจิโนะเซกิ ในรอบรองชนะเลิศรอบคัดเลือกโคชิเอ็งหน้าร้อน ปี 2012 ถ้าลูกนี้โอตานิทำได้ล่ะก็ โอกาสปิดเกมจะมาถึงทันที

 

“160 กิโลเมตรต่อชั่วโมงเลยครับ ลูกฟาสต์บอลของเขา ขว้างบอลได้อย่างยอดเยี่ยมไม่มีที่ติ” ผู้บรรยายตะโกนขึ้นเป็นภาษาญี่ปุ่นด้วยความระทึกกับเหตุการณ์ที่อยู่ในจอโทรทัศน์ โรงเรียนฮานะมากิ ฮิงาชิ ได้เข้าชิงชนะเลิศในปีดังกล่าว

 

โชเฮ โอตานิ ในวัย 18  ปีโด่งดังเป็นผลุแตกหลังจากเหตุการณ์ครั้งนั้น เขากลายเป็นพิชเชอร์ที่ขว้างบอลได้เร็วที่สุดในประวัติศาสตร์กว่า 100 ปีโคชิเอ็ง สังเวียนแข่งเบสบอลอันดับ 1 ของประเทศญี่ปุ่นในระดับมัธยมศึกษา เขากลายเป็นซูเปอร์สตาร์วัยเยาว์ที่ทุกทีมในญี่ปุ่นต่างหวังคว้าตัวไปร่วมทีม แต่เขามีเป้าหมายอันยิ่งใหญ่

เป้าหมายที่ถูกบันทึกด้วยลายมือของเขาเอง และเขาก็มุมานะที่จะทำให้สำเร็จทุกๆข้อ…

กระดาษแผ่นนั้นและฝัน 25 ข้อ   

ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกับการสร้างปรากฏการณ์ให้กับวงการเบสบอลนักเรียนญี่ปุ่นของโชเฮ โอตานิ… คุณครูประจำชั้นได้ให้ทุกๆคนในห้องเขียนเป้าหมาย และความตั้งใจในอนาคต บางคนอาจเลือกเส้นทางที่มั่นคง แต่ชายผู้ที่ชีวิตมอบให้เพียงเบสบอลเท่านั้นอย่างเขา เป้าหมายแรกที่เขียนลงบนกระดาษแผ่นนั้น คือ การได้ร่วมทีมเมเจอร์ลีก เบสบอล ที่สหรัฐอเมริกา…

 1

ย้อนเวลากลับไปกว่า 20 ปีก่อน โชเฮ โอตานิ ได้ลืมตาดูโลกในช่วงหน้าร้อนของปี 1994 ที่เมืองโอชุ เมืองชนบทในจังหวัดอิวาเตะ ห่างจากกรุงโตเกียว 5 ชั่วโมง เขาได้รับสายเลือดนักกีฬาจากคุณพ่อโทรุ ที่เคยเป็นนักเบสบอลในลีกบริษัท ส่วน คายาโกะ แม่บังเกิดเกล้า เคยเป็นนักแบดมินตันดังของญี่ปุ่น... ความเก่งกาจด้านกีฬาเบสบอลของเขาโดดเด่นมาตั้งแต่เด็ก ตอนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 โอตานิ เคยขว้างบอลได้เร็วถึง 110 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งเป็นสถิติเร็วที่สุดของสนามอิวาเตะเคงเอยะคิวโจ สนามเบสบอลประจำจังหวัด

ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรที่อัจฉริยะอย่างเขาจะมีเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่ของชีวิต ในวันที่คุณครูประจำชั้น ให้เขาเขียนบันทึกความตั้งใจในชีวิต เขาไล่เรียงความฝันของเขาบนเส้นทางนักเบสบอลอาชีพรวมทั้งหมด 25 ข้อ ไล่ตั้งแต่อายุ 18 ปี ไปจนถึงวัย 42 ปี ทุกๆเรื่องบนกระดาษใบนั้น เต็มไปด้วยแรงปรารถนาแห่งความสำเร็จ  บางทีมันอาจเป็นความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์วงการเบสบอลญี่ปุ่น…

วันที่เขาบันทึกความมุ่งมั่นนี้ เขามีอายุ 17 ย่าง 18 ปี เป้าหมายแรก คือ การร่วมทีมเมเจอร์ลีก เบสบอล ที่สหรัฐอเมริกา ยิ่งเมื่อเขาทำสถิติขว้างบอลได้เร็วที่สุดในประวัติศาสตร์ของโคชิเอ็ง ก็เพียงพอให้หลายทีมยักษ์ใหญ่ในอเมริกาทั้ง ลอสแอนเจลิส ดองเกอร์ส, บอสตัน เรดส์ซ็อก หรือ นิวยอร์ค แยงกีส์ สนใจคว้าตัวไปร่วมทีม  

“ผมคิดว่าผมควรเริ่มต้นในไมเนอร์ลีก (ลีกรองของเบสบอลในอเมริกา) แต่ผมก็อยากลองกับเมเจอร์ (เบสบอลลีก) มันเป็นความฝันผมมาตลอดตั้งแต่เข้าเรียนมัธยมปลาย” โอตานิกล่าวกับ ESPN

ทุกๆ อย่างดูเปิดกว้างให้เขาได้พุ่งชนกับเป้าหมายที่ได้บันทึกลงบนกระดาษใบนั้น ทว่าความตั้งใจในชีวิต กลับไม่เป็นไปตามที่เขียนไว้ตั้งแต่ข้อแรก

ทิ้งฝันข้อที่ 1

นิปปอนแฮม ไฟท์เตอร์ สโมสรในลีกเบสบอลญี่ปุ่น ได้สิทธิ์ดราฟท์ตัวอันดับ 1 พวกเขาเลือกโชเฮ โอตานิ ดาวรุ่งที่ร้อนแรงที่สุดในประเทศเข้าร่วมทีมตามสิทธิ์ของนิปปอน โปรเฟสชันนอล ลีก (NPL) เมื่อปี 2013 ปัญหาเดียว คือ โชเฮ ไม่ยอมเซ็นสัญญา เขามีปณิธานที่แน่วแน่ว่าต้องไปเล่นในสหรัฐอเมริกาให้ได้ ตอนอายุ 18 ปี อย่างที่เคยเขียนส่งครูประจำชั้น  “ผมมีปรารถนาที่จะไปเล่นในเมเจอร์ลีก มันไม่มีโอกาสเลยสำหรับผมที่จะยอมรับข้อเสนอนี้” โอตานิกล่าวย้ำไปย้ำมาต่อตัวแทนของนิปปอนแฮม

 2

ยอดทีมเบสบอลแห่งฮ็อกไกโดปวดหัวหนักกับการเจรจาอยู่ร่วมเดือน ก่อนที่หลังจากนั้นพวกเขาจะผุดไอเดียหนึ่งขึ้นมา ก่อนเรียกโชเฮ เข้าไปนั่งคุยและเปิดหนังพรีเซนต์ชุดหนึ่งขึ้น หนังพรีเซนต์ชุดนั้นมีชื่อว่า “เส้นทางสู่ฝันของโชเฮ โอตานิ”

“พวกเขาเปิดวิดีโอขึ้น” โรเบิร์ต ไวท์ติง ผู้เขียนหนังสือขายดี You Gotta Have Wa และช่ำชองในวงการเบสบอลญี่ปุ่นกล่าวกับ MLB.com เกี่ยวกับกลยุทธ์การทำให้โชเฮ โอตานิ ยอมเปลี่ยนใจ

“มันแสดงให้เห็นความยากลำบากที่ผู้เล่นดาวรุ่งในไมเนอร์ลีกจะต้องผ่านให้ได้ โดยเฉพาะสิ่งที่โอตานิ ต้องผ่านมัน ทั้งร้านอาหารญี่ปุ่นที่มีน้อย และการนั่งรถบัสเป็นเวลาถึง 18 ชั่วโมง อะไรทำนองนั้น”

“แต่สิ่งสำคัญ คือ การบอกว่าเขาจะเป็นสตาร์ให้กับ นิปปอนแฮม อย่างทันทีได้อย่างไร ครอบครัวและเพื่อนจะเป็นอย่างไร เขาจะอยู่ในรังไหมที่ปลอดภัยนี้อย่างไร พวกเขาจะช่วยฝึกให้เขาไปเล่นในเมเจอร์ลีก เขาไม่ต้องมาเสียเวลากังวลเรื่องอะไรพวกนี้” โรเบิร์ต ไวท์ติง บรรยายให้เห็นภาพว่าโชเฮ โอตานิ ได้พบอะไรจากหนังพรีเซนต์ชุดนั้น

 3

ท้ายที่สุดดาวรุ่งที่ร้อนแรงที่สุดในญี่ปุ่น ก็ยอมลดทิฐิตัวเองลง เขาทิ้งความตั้งใจข้อที่ 1 ที่จะได้เป็นนักเบสบอลในเมเจอร์ลีก สหรัฐฯ ตอนอายุ 18 ปีตามที่บันทึกไว้บนกระดาษแผ่นนั้น แต่นั่นก็เพื่อประโยชน์ของตัวเอง ในการมุ่งหน้าสู่ความสำเร็จกับข้อต่อๆไป…

มุ่งหน้าสู่ฝัน  

อันที่จริงเป้าหมายแห่งความสำเร็จในชีวิตที่โชเฮ บันทึกไว้ในข้อที่ 2, 3, 4 และ 5 ไม่อาจเกิดขึ้นได้ทันที เมื่อเขาเลือกเริ่มต้นชีวิตนักเบสบอลอาชีพในญี่ปุ่น เพราะสิ่งที่เขาวางแผนเอาไว้จากนั้น คือ สิ่งที่จะเกิดขึ้นได้ในอเมริกาทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นการถูกเรียกติดทีมชุดใหญ่ในเมเจอร์ ลีก และมีรายได้ 13 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี ตอนอายุ 20 (ข้อ3) หรือกระทั่งคว้ารางวัล Cy Young Award ซึ่งเป็นรางวัลสำหรับพิชเชอร์ยอดเยี่ยมประจำปีของศึก MLB ตอนอายุ 22 ปี (ข้อ5) แต่เขาก็เลือกแล้ว ว่าจะวางความฝัน 5 ข้อแรกลงไว้ชั่วคราวก่อน มันอาจเรียกได้ว่าเป็นการถอยหลังหนึ่งก้าว เพื่อเตรียมกระโดดไปให้ได้ไกลกว่าเดิม

 4

สิ่งที่โอตานิ ประทับใจจนยอมรับข้อเสนอของนิปปอนแฮม ไม่ใช่แค่แคมเปญ “เส้นทางสู่ฝันของโชเฮ โอตานิ” แต่รวมถึงข้อเสนอบางอย่างในสนาม… พวกเขาเสนอให้โอตานิ เป็นทั้งพิชเชอร์ (คนขว้าง) และ ฮิตเตอร์ (คนตี) และสิ่งนี้จะช่วยให้ตัวเขาเป็นสุดยอดนักเบสบอล ที่สมบูรณ์แบบมากยิ่งขึ้น นี่คือ หนึ่งในเหตุผลสำคัญ ที่ทำให้เขายอมเริ่มต้นอาชีพที่ญี่ปุ่น  

“พวกเขาจูงใจผมด้วยการบอกว่า ‘คิดอย่างไรถ้าได้ทำสองอย่างไปด้วยกัน?” โอตานิกล่าวกับ Sports Illustrated “ผมอยากลองทำมันอย่างแน่นอน ผมคิดอยู่เสมอว่าผมยังมีโอกาสเป็นฮิตเตอร์ที่ยอดเยี่ยม ในระดับอาชีพ”

29 มีนาคม 2013 คือ เกมแรกที่โชเฮ โอตานิ ประเดิมสนามในฐานะรูกีส์ที่น่าจับตามองที่สุดในลีกเบสบอลของญี่ปุ่น ในปีนั้นเองเขากลายเป็นผู้เล่นคนที่สองในรอบ 60 ปี ที่ลงเล่นทั้งตำแหน่งพิชเชอร์ และตำแหน่งอื่นในเกมเดียวกัน เป็นพิชเชอร์คนแรกในรอบ 50 ปี ที่ได้เป็นไม้ 3 ไม้ 4  ไม้ 5 (ไม้สำคัญที่ลุ้นทำคะแนน) แถมยังตีทำคะแนนได้ จนทำให้เขาถูกโหวตให้ติดทีม NPB All Star Series แน่นอนว่าเขาถูกโหวตให้เป็นผู้เล่นหน้าใหม่ยอดเยี่ยมของฝั่งแปซิฟิคในฤดูกาลนั้นด้วย

จะว่าไป โอตานิ จบปีแรกในฐานะรูกีส์ด้วยสถิติการตีเฉลี่ย .238/.284/.376 ที่ไม่ได้สูงมากนัก (เลขตัวนี้ยิ่งมากยิ่งดี) ส่วนในตำแหน่งพิชเชอร์เขาลงเล่นไปทั้งสิ้น 13 เกม ทำสถิติ 3-0 (ลง 3 ชนะ 0) มีสถิติทำทีมเสียคะแนน  (ERA) 4.23 (ยิ่งน้อยยิ่งดี) ทำ 46 สไตรท์เอาท์ (ขว้างสไตร์ท 3 ครั้งจนคู่แข่งออก 1 คน) และ 33 วอล์ค (ขว้างบอลเสียสี่ครั้งจนทำให้คู่แข่งได้เดิน 1 เบส) จากการขว้างทั้งหมด 61 ⅔ อินนิ่ง

อย่างไรก็ตามเขาร้อนแรงขึ้นเรื่อยๆ ในปีต่อๆ มา…

ทีมชาติชุดใหญ่ในฝัน

หนึ่งในความสำเร็จที่โชเฮ โอตานิ ต้องทำให้ได้ตามเช็คลิสต์ คือ การติดทีมชาติญี่ปุ่นตอนอายุ 23 ปี มันเป็นความฝันข้อที่ 6 ที่เขาเขียนไว้...

 5

นับตั้งแต่เดบิวท์ให้กับ นิปปอนแฮม ในปี 2013 ผลงานของ โอตานิ ก็เริ่มพัฒนาอย่างค่อยเป็นค่อยไป เขาทำได้ดีขึ้นทั้งในตำแหน่ง พิชเชอร์ และฮิตเตอร์ สองตำแหน่งที่เขามุ่งมั่นอย่างไม่ลดละ

ปี 2014 เขากลายเป็นผู้เล่นญี่ปุ่นคนแรกที่ทำโฮมรัน และพาทีมชนะเป็นเลขสองหลัก ในขณะเดียวกันก็สามารถทำลายสถิติขว้างบอลได้เร็วที่สุดใน NPB ด้วยสถิติ 163 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ทำลายสถิติตลอดกาลของ มาร์ค ครูน ลงได้สำเร็จ

 

ฟอร์มการเล่นของโชเฮ โอตานิ ปีที่สองเริ่มยอดเยี่ยมมากแล้ว นั่นทำให้เขาติดทีมชาติครั้งแรก  ลงแข่งขันในรายการ Suzuki All-Star Series ด้วยวัยเพียง 19 ปีเท่านั้น และกลายเป็น นักเบสบอลมัธยมปลายคนแรกที่มีรายได้เกิน 100 ล้านเยนในรอบ 10 กว่าปี ต่อจาก ไดซุเกะ มัตสุซาวะ ที่ทำไว้เมื่อปี 2001 ด้วยตัวเลขนี้มันอาจยังเทียบไม่ได้กับที่เขาฝันไว้ว่าจะสร้างรายได้ 1,500 ล้านเยน ในวัย 20 ปี หากได้เล่นกับทีมในเมเจอร์ลีก เบสบอล แต่มันก็มากโขสำหรับเด็กในวัยนั้นแล้ว  

เบบ รูธ นักเบสบอลในตำนานของอเมริกา ยุคระหว่างปี 1914 - 1935 กับทีมบอสตัน เบรฟส์ คือ ผู้เล่นที่สามารถทำผลงานได้อย่างน่าอัศจรรย์ทั้งในฐานะพิชเชอร์ และฮิตเตอร์ การเล่นได้ยอดเยี่ยมทั้งสองตำแหน่งของโอตานิในปีดังกล่าว ทำให้สำนักข่าวชื่อดังอย่างรอยเตอร์ นำเขาไปเปรียบเทียบรูธ พร้อมตั้งชื่อว่า Nito-ryu หรือ “ซามูไรสองดาบ”   

ผลงานของ โอตานิ นับวันยิ่งดีวันดีคืน ปี 2015 เขากลายเป็นพิชเชอร์ ที่ทำทีมเสียคะแนนน้อยที่สุดของ แปซิฟิคลีก และทำสไตรท์เอาท์ได้มากที่สุดเป็นอันดับ 2 ของลีก และติดทีมยอดเยี่ยมโซนแปซิฟิค (เบสไนน์) ในตำแหน่งพิชเชอร์  รวมได้รับรางวัลผู้เล่นแห่งปีของสมาพันธ์เบสบอลซอฟท์บอลโลก

ฝีไม้ลายมือของเขามาสุกงอมอย่างเต็มที่ในปี 2016 เมื่อเขาทำผลงานได้อย่างสุดยอดในฐานะฮิตเตอร์ ด้วยสถิติตีขึ้นเบส 382 ครั้ง โดยเป็นโฮมรันไปถึง 22 ครั้งที่มากที่สุดเป็นอันดับ 8 ของลีก จาก 104 เกม ส่วนในตำแหน่งพิชเชอร์ ก็ยอดเยี่ยมไม่แพ้กัน ทำสถิติเสียแต้มน้อยที่สุดในอาชีพ (ERA) ที่ 1.86 กับอีก 174 สไตรท์เอาท์ จาก 140 อินนิ่ง แถมยังทำสถิติขว้างบอลได้เร็วที่สุดตลอดกาลในลีกเบสบอลอาชีพญี่ปุ่นด้วยความเร็ว 165 กิโลเมตร ในเกมพบกับ ซอฟท์แบงค์ ฮอว์ค

 

เขายังพา นิปปอนแฮม ผ่านเข้าไปเล่นในรอบ เจแปน ซีรีย์ ซึ่งเปรียบเหมือนรอบเพลย์ออฟชิงแชมป์ของเบสบอล ก่อนที่สุดท้าย ความฝันที่แม้จะไม่ได้บันทึกไว้ในสมุด แต่เชื่อว่าเป็นสิ่งที่เขารอคอย นั่นคือการคว้าแชมป์ซีรีย์ จะจบลงด้วยความสมหวัง หลังเอาชนะ ฮิโรชิมา โทโย คาร์ป ในนัดชิงชนะเลิศ ซึ่งขณะนั้นเขามีอายุเพียง 22 ปี

จากผลดังกล่าวทำให้ โอตานิ ได้รับเลือกติดทีมยอดเยี่ยมของลีกแปซิฟิคทั้งตำแหน่ง พิชเชอร์ และ ฮิตเตอร์ กลายเป็นคนแรกในประวัติศาสตร์ที่ทำได้ รวมไปถึงคว้ารางวัลผู้เล่นยอดเยี่ยมแห่งปี (MVP) ของลีกแปซิฟิค มาครองได้อีกตำแหน่ง

“โอตานิ มีความต่างตั้งแต่เริ่มต้น” จิม อัลเลน จากสำนักข่าวเคียวโด นิวส์ ผู้คร่ำหวอดในวงการเบสบอลญี่ปุ่นมากว่า 30 ปีกล่าว

“เขาใช้เวลากับมันไปนานเหมือนกันกว่าที่เขาจะเป็นเขาในวันนี้ การเป็นทั้งฮิตเตอร์และพิชเชอร์ ทั้งหมดไม่ได้เกิดขึ้นทันทีทันใด”

ช่วงเวลาที่ท็อปฟอร์มสุดขีดของโอตานิในปี 2016 ทำให้เขามีชื่อติดทีมชาติญี่ปุ่นในรายการเวิลด์ เบสบอล คลาสสิค 2017 (WCB) มันคือการแข่งขันชิงแชมป์โลกที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของเบสบอล การแข่งขันครั้งแรกเริ่มต้นในปี 2009 และจัดขึ้นเป็นประจำทุก 4 ปี เหมือนกับทัวร์นาเมนต์เมเจอร์อย่าง ฟุตบอลโลก หรือกีฬาโอลิมปิก… มันคือความฝันของนักเบสบอลทุกคน เช่นเดียวกับตัวเขา ที่เคยบันทึกไว้ว่าต้องติดทีมชาติญี่ปุ่นไปแข่งขันเวิลด์ เบสบอล คลาสสิค ในวัย 23 ปี และเขาก็กำลังจะทำได้ โดยที่ไม่ต้องไปเริ่มต้นอาชีพที่สหรัฐอเมริกาตั้งแต่อายุ 18 ปีด้วยซ้ำ

เคราะห์ร้าย...อาการบาดเจ็บที่ข้อเท้าระหว่างภารกิจช่วย นิปปอนแฮม คว้าแชมป์เจแปน ซีรีส์ กำเริบขึ้นมา

 6

“สภาพความพร้อม (ของข้อเท้าของโอตานิ) ไม่ถึงเกณฑ์ที่เราหวังเอาไว้ เราไม่ได้อยู่ในจุดที่สามารถผลักดันเขาไป (แข่งขันรายการเวิลด์ เบสบอล คลาสสิค) ได้” คำพูดจากฮิโรกิ โคคุโบะ ผู้จัดการทีมชาติญี่ปุ่น ยืนยันว่าเขาไม่พร้อมกับการแข่งขันครั้งนี้ เหตุการณ์นี้ทำลายฝันเขาจนสลาย

เริ่มต้นนับหนึ่งอีกครั้ง

ปี 2017 โอตานิ ลงสนามแบบไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วยเท่าไหร่ เพราะมีอาการบาดเจ็บมาจากเจแปน ซีรีส์ ในปีก่อนหน้านี้ ซึ่งเป็นเหตุผลให้เขาชวดไปเวิลด์ เบสบอล คลาสสิค ด้วย… อย่างไรก็ตามผลงานที่เขาฝากไว้ใน NBL ตลอด 5 ปี ก็เพียงพอที่จะพูดได้ว่าเขาพิชิตจุดสูงสุดแล้ว…

 7

ความสำเร็จในชีวิตนักเบสบอลข้อแรกที่โอตานิ บันทึกไว้สมัยมัธยมปลาย คือ การเป็นนักเบสบอลอาชีพในเมเจอร์ลีก สหรัฐฯ เขาก็ออกเดินทางมุ่งหน้าสู่ความตั้งใจข้อแรกอีกครั้ง… ใช่ โอตานิในวัย 23 ปี กำลังจะไปอเมริกา และไล่ล่าความสำเร็จตามที่เขาเคยเขียนบันทึกส่งคุณครูประจำชั้น ไว้ตอนอายุ 18 ปี  

นิวยอร์ค แยงกีส์, ลอสแองเจลิส ดอดเจอร์, ซานฟรานซิสโก ไจแอนท์, ชิคาโก คับส์, ซีแอทเทิล มาริเนอร์ และ เท็กซัส เรนเจอร์ นี่ คือ เหล่ารายชื่อทีมดังที่ให้ความสนใจรุมทึ้งแย่งตัว แต่ลอสแองเจลิส แองเจิลส์ คือทีมที่ โอตานิ เลือกเซ็นสัญญา

ท่ามกลางสื่อมวลชนที่เข้ามาเก็บภาพกันอย่างคับคั่ง โอตานิ สวมยูนิฟอร์มสีแดงของต้นสังกัดใหม่ ขึ้นมายืนบนโพเดียม ที่เป็นการประกาศอย่างเป็นทางการว่าเขาคือผู้เล่นของแองเจิลส์ ตั้งแต่ฤดูกาล 2018 เป็นต้นไป

“ผมรู้สึกเป็นเกียรติที่ถูกนำไปเปรียบเทียบกับ เบบ รูธ แต่ผมไม่คิดเลยว่าผมอยู่ในระดับเดียวกับเขา” โอตานิกล่าวผ่านล่ามในงานแถลงข่าว

“แต่วันนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นที่แท้จริงสำหรับผม”

โอตานิ สถาปนาตัวเองขึ้นมาอยู่ในทีมชุดแรกได้อย่างรวดเร็ว เขาได้ประเดิมสนามด้วยการออกสตาร์ทเป็น DH (ฮิตเตอร์ที่ตีลูกแทนพิชเชอร์) ตั้งแต่เกมแรกของฤดูกาล และตีขึ้นเบสได้ทันทีในเกมนั้น

เขายังได้รับโอกาสได้เล่นสองตำแหน่งเฉกเช่นเดียวกับสมัยตอนอยู่ญี่ปุ่น ในอีกไม่กี่วันต่อมา โอตานิ ออกสตาร์ทด้วยตำแหน่งพิชเชอร์ โอตานิ ทำไป 6 สไตร์ทเอาท์ ให้คู่แข่งได้วิ่งแค่ 3 ครั้งใน 6 อินนิ่งที่เขาขว้าง พร้อมเก็บชัยชนะแรกของตัวเองในเมเจอร์ลีก

3 เมษายน 2 วันต่อมาจากตำหน่งพิชเชอร์ โอตานิก็กลับมาตีอีกครั้ง ก่อนที่มันจะกลายเป็นวันประวัติศาสตร์ของตัวเอง เขาได้ออกมาตีตอนที่ทีมกำลังเสมอกันอยู่ 2-2 และฟูลเบส โอตานิ บรรจงหวดบอลโค้งความเร็ว 120 เมตรต่อชั่วโมงของ จอช ทอมลิน พุ่งแหวกอากาศลอยละลิ่วไปตกทางอัฒจันทร์ฝั่งขวา กลายเป็นโฮมรันแรกของโอตานิในเมเจอร์ลีก

จากโฮมรันดังกล่าวเขายังเป็นผู้เล่นคนแรกที่ขว้างบอลพาทีมชนะ แล้วทำโฮมรันได้ทันทีในเกมต่อมา ต่อจาก เบบ รูธ นักเบสบอลระดับตำนานที่เคยทำไว้ตั้งแต่ปี 1921

“เห็นได้เลย พรสวรรค์ของเขามันเหลือเชื่อมาก” ไมค์ เทราท์กล่าวถึงเพื่อนร่วมทีม

โอตานิ เดินหน้าสร้างสถิติของตัวเองอย่างต่อเนื่อง เขามาตีโฮมรันที่ 2 และ 3 ได้ในอีกสองเกมต่อมา กลายเป็นผู้เล่นแองเจิลส์ ที่ทำโฮมรันในบ้านได้สองนัดติด และผู้เล่นหน้าใหม่แองเจิลส์คนแรกที่ทำโฮมรันได้ 3 นัดติดต่อกัน ก่อนที่จะมาเป็นรูกีส์ชาวญี่ปุ่นที่ทำโฮมรันได้มากที่สุดในประวัติศาสตร์ หลังทำโฮมรันที่ 19 ในเดือนสิงหาคม

ในขณะเดียวกันเขาก็ยังได้โอกาสลงเล่นในตำแหน่งพิชเชอร์ และทำผลงานได้ไม่เลว สถิติการขว้างบอลของเขา ทำให้โอตานิ กลายเป็นผู้เล่นคนแรกในรอบศตวรรษที่ทำโฮมรันได้ถึง 15 ครั้ง และขว้างไป 50 อินนิ่ง ต่อจากเบบ รูธ นอกจากนี้ เขายังครองสถิติร่วมกัน รูธ ในฐานะผู้เล่นที่ลงเล่นเป็นตัวจริงในฐานะพิชเชอร์ 10 นัด และสามารถทำโฮมรันได้ 20 ครั้งในฤดูกาลเดียว

ตีให้ไกล...ไปสู่ฝัน

เมเจอร์ลีก เบสบอล สหรัฐ ฤดูกาล 2018 โอตานิ ในตำแหน่งฮิตเตอร์ด้วยสถิติ .285 และทำโฮมรัน 22 ครั้ง ขโมยเบส 10 ครั้ง และ 51 RBI (ตีหนึ่งครั้งทำให้ทีมได้ 2 คะแนน) ในขณะที่ตำแหน่งพิชเชอร์ เขาทำสถิติ 4-2 จาก 3.31 (ทำทีมเสียคะแนน) และ 63 สไตรท์เอาท์

 8

จากผลดังกล่าวทำให้เขาได้รับเลือกให้เป็นนักกีฬาหน้าใหม่ยอดเยี่ยมแห่งปี กลายเป็นคนญี่ปุ่นคนแรกในรอบหลายสิบปี ต่อจาก อิจิโร ซูซูกิ นักเบสบอลระดับตำนานของวงการซามูไร ที่เคยได้รับรางวัลนี้เมื่อปี 2001

“ผมรู้สึกมีความสุขจริงๆ และรู้สึกเป็นเกียรติอย่างมากที่ได้รางวัลนี้ในปีแรกของผมที่อเมริกา” โอตานิเผยความรู้สึกผ่านล่ามทางวิดีโอคอนเฟอเรนซ์

“ผมรู้สึกดีใจจริงๆ  เพราะผมคิดว่าคนที่สนับสนุนผมรู้สึกดีใจเหมือนกับผม”

“ผมเคยดูอิจิโร มาตั้งแต่ตอนเป็นเด็ก เขาเป็นผู้เล่นที่ผมนับถือ”

กระดาษที่บันทึกเป้าหมายที่โชเฮ โอตานิ เขียนไว้ มีจุดเริ่มต้นที่อเมริกา… วันนี้...วันเวลาของเขาที่สหรัฐฯ ผ่านไป 1 ปีแล้ว เขาอาจไม่ได้เริ่มความฝันในศึกเมเจอร์ลีก เบสบอล ตั้งแต่อายุ 18 ปี แบบที่ตั้งใจไว้แต่แรก แต่การเก็บเกี่ยวประสบการณ์ในญี่ปุ่น 5 ปี จนแกร่งพอก็ช่วยให้เขาเริ่มต้นปีแรกในอเมริกาได้น่าประทับใจ   

เช็คลิสต์ 25 ข้อ ที่โอตานิ ตั้งใจจะทำให้สำเร็จ ตั้งแต่อายุ 18 - 42 ปี กับวัย 24 ปีขณะนี้… เขาเพิ่งทำได้เพียงข้อเดียว คือ การได้ร่วมทีมเมเจอร์ลีก เบสบอล… ยังมีเป้าหมายที่เขาต้องพุ่งชนอีกมากมาย ทั้งการคว้ารางวัล Cy Young Awards, การติดทีมชาติญี่ปุ่นไปลุย เวิลด์ เบสบอล คลาสสิค ที่เขาเคยพลาดไปเมื่อปี 2017, การคว้าแชมป์  เวิลด์ เบสบอล คลาสสิค พร้อมกับคว้า MVP ให้ได้… ยังมีสิ่งที่เขาต้องทำนอกสนามด้วย อย่างเช่นการมีลูกชายคนแรกตอนอายุ 27 ปี และให้ลูกชายเริ่มเล่นเบสบอลเหมือนเขา ทั้งหมดไม่ใช่เรื่องง่ายเลย แต่ก็ไม่ใช่เรื่องเป็นไปไม่ได้ เมื่อเขาได้ปรากฏตัวอยู่บนเส้นทางที่เขาฝันไว้แล้ว และเขาก็ทำได้ดีเสียด้วย…

9

“โอตานิเป็นคนที่มีแผนสำหรับปีหน้า อีกสองปีข้างหน้า 5 ปี หรืออีก 10 ปีข้างหน้า”

“เขาเป็นคนที่มีหัวจิตหัวใจที่แข็งแกร่งมาก” โทโมฮิโร คุโรกิ อดีตนักเบสบอลที่เป็นโค้ชให้กับ นิปปอนแฮม กล่าวทิ้งท้ายถึงอดีตลูกศิษย์ราวกับเชื่อมั่นว่า…ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น เขาต้องทำตามสิ่งที่ตัวเองตั้งเป้าไว้ได้แน่

อัลบั้มภาพ 9 ภาพ

อัลบั้มภาพ 9 ภาพ ของ บันทึกถึงคุณครูประจำชั้นของ "โชเฮ โอตานิ"

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook