มองมุมต่างอย่างเข้าใจ "แก้ พ.ร.บ.มวยเด็ก" ใครควรได้ประโยชน์สูงสุด?
คำที่ถูกค้นบ่อย
    Sanook//s.isanook.com/sr/0/images/logo-new-sanook.png60060
    //s.isanook.com/sp/0/ud/166/831849/ee.jpgมองมุมต่างอย่างเข้าใจ "แก้ พ.ร.บ.มวยเด็ก" ใครควรได้ประโยชน์สูงสุด?

    มองมุมต่างอย่างเข้าใจ "แก้ พ.ร.บ.มวยเด็ก" ใครควรได้ประโยชน์สูงสุด?

    2018-11-27T17:19:00+07:00
    แชร์เรื่องนี้

    การแก้ไข “พ.ร.บ.กีฬามวย พ.ศ.2542” กลายเป็นประเด็นที่ถูกนำมาพูดถึงในสังคมวงกว้างอีกครั้ง ภายหลังการเสียชีวิตของ เพชรมงคล ป.พีณภัทร นักชกวัย 13 ปี จากอาการเลือดคั่งในสมอง ที่เกิดขึ้นระหว่างการชก

    170 ไฟต์ในรอบ 5 ปี คือจำนวนแมตช์การชกตลอดชีวิตนักมวยอันแสนสั้นของ ด.ช.อนุชา ทาสะโก (เพชรมงคล ป.พีณภัทร) นักมวยไทยวัย 13 ปี ที่ต้องจบชีวิตลงในการชกไฟต์สุดท้าย ด้วยการแพ้น็อก ฟ้าใหม่ ว.สุดประเสริฐ

    ข่าวดังกล่าว สร้างความเศร้าสลด แก่ผู้คนในวงการมวย รวมถึงคนทั่วไป ยิ่งเมื่อย้อนดูปูมหลังชีวิตของ เด็กชายจากจังหวัดกาฬสินธุ์ ก็ยิ่งให้เรื่องราวน่าเศร้าเข้าไปใหญ่

     

    เนื่องจากเจ้าตัวเป็นเด็กกำพร้า และต้องย้ายอาศัยอยู่กับคุณลุง ที่จังหวัดสมุทรปราการ  ก่อนฝึกฝนวิชามวยไทย และตระเวนชกมวยตามเวทีต่างๆ ตั้งแต่อายุ 8 ขวบ เพื่อหาเงินเลี้ยงดูตัวเองรวมถึงครอบครัว

    การเสียชีวิตของ เพชรมงคล ป.พีณภัทร นอกจากจะสร้างความเสียใจอย่างที่สุดต่อคนรอบข้างแล้ว ในอีกมุมหนึ่ง ผลพวงที่ตามมายังได้สร้างแผลเป็นในจิตใจ ที่ยากจะลบออกไปได้ต่อ ฟ้าใหม่ ว.สุดประเสริฐ นักชกรุ่นอายุไล่เลี่ยกัน  

     1

    คู่ชกของ เพชรมงคล ต้องพบเจอกับกระแสโจมตีต่างๆนานา แถมยังถูกผู้คนบางส่วน ตราหน้าเขาว่าเป็น “ฆาตกร” จน กำปั้นวัย 15 ปี ต้องออกมาระบายความรู้สึกของเด็กคนหนึ่ง ที่ต้องพบเจอประสบการณ์ที่เลวร้ายในอาชีพนักชก

    “ใครจะด่าผมก็ด่าไป ผมทำตามหน้าที่ของผมบนเวที ทำตามสัญชาตญาณ เรื่องแบบนี้ผมไม่อยากให้เกิดขึ้น ผมเสียใจอย่างมาก แต่ผมอยู่บนเวที ผมต้องทำหน้าที่ของตัวเองในการเอาชนะคู่แข่ง เพื่อแลกกับการหาเงินส่งตัวเองเรียนหนังสือ ถ้าผมไม่ทำเขา เขาก็ทำผม ใครจะด่าผมก็เชิญ แต่ผมต้องเดินทางสายนี้ต่อไปให้ถึงที่สุด เพื่อครอบครัว เพื่อคนข้างหลังผม”

    นอกจากนี้ ยังมีการถกเถียงเป็นวงกว้างในสังคม จากกรณีที่ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ กำลังพิจารณาร่างแก้ไข พระราชบัญญัติกีฬามวย พ.ศ.2542 โดยเฉพาะในมาตรา 29 ที่ต้องการให้มีการเพิ่มรายละเอียด เรื่องการจำกัดอายุของการชกมวย

    ความเห็นถูกแบ่งออกเป็นสองฝ่ายหลักๆ ฝ่ายหนึ่ง มองว่า การปิดกั้นไม่ให้เด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี ขึ้นชกมวย เป็นการทำลายโครงสร้างของมวยไทย ที่ต้องสร้างนักมวยให้แกร่งตั้งแต่อายุยังน้อย รวมถึงยังเป็นการตัดโอกาสในการหารายได้ของ นักมวยเด็ก หากมีการแก้ไข มาตราดังกล่าว

    ขณะที่อีกฝ่ายหนึ่งที่เห็นด้วย เพราะมองเห็นถึงอันตราย ในการนำนักมวยไทยเด็กๆ มาชกตั้งแต่อายุยังน้อย โดยเฉพาะผลกระทบด้านสมอง และพัฒนาการ ซึ่งจะส่งผลเสียต่อตัวเยาวชนในระยะยาว รวมถึงเหตุการณ์น่าสลดใจเช่นนี้…แล้วแนวทางกันไหนที่เป็นทางออกที่ดีสุดของเรื่องนี้ ก่อนผลการพิจารณา พ.ร.บ.กีฬามวย ฉบับแก้ไขจะมีการประกาศใช้

    กตัญญู ความยากจน และ ธุรกิจแสนล้านบนสังเวียนหลอมยอดมวย

    “มวย เป็นกีฬาพื้นฐานที่คนจนเข้าถึงได้ง่ายที่สุด อีกทั้งยังเป็นวิชาชีพเลี้ยงตัว และนักมวยไทยที่เติบโตสร้างชื่อเสียงให้ประเทศชาติ ก็ล้วนแต่ชกมวยมาตั้งแต่อายุต่ำกว่า 12 ปีแทบทั้งสิ้น”

    “ณ ตอนนั้น ผมไม่มีทางเลือก พ่อผมตายตั้งแต่ ป.4 ต้องกัดฟันเรียนและต่อยมวยไปด้วยจนสำเร็จการศึกษาระดับ ป.7 แม่ผมก็ลำบาก มวยเป็นวิถีทางเดียว แต่ก็ได้ผลเกินคาด ต่อยครั้งแรก ๆ ได้ 90 บาทต่อครั้ง จนหาเงินได้เป็นแสนบาท ซึ่งมากกว่าแม่ผมทำงานทั้งปี"

     2

    “ขาวผ่อง สิทธิชูชัย” ทวี อัมพรมหา คณะกรรมาธิการสมาคมมวยไทยนายขนมต้ม ย้อนถึงจุดเริ่มต้นความสำเร็จ ในการเป็น แชมป์มวยไทย และนักมวยสากลสมัครเล่น เหรียญเงินโอลิมปิกคนแรกของไทย ของตัวเองนั้นมีพื้นฐานมาจากการขึ้นสังเวียนชกมวยตั้งแต่อายุยังน้อย  

    นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ เจ้าตัว พร้อมด้วย ครูมวย, อดีตนักชกหลายคน ลุกขึ้นมาคัดค้านการพิจารณาแก้ไขร่าง พ.ร.บ. กีฬามวยฯ ฉบับใหม่ ของ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ หลังจากฉบับเดิม มีการประกาศใช้มาตั้งแต่ พ.ศ 2542

    แม้ว่าประเทศไทย มี พ.ร.บ.กีฬามวย ฉบับเก่า ใช้ควบคุม “มวยไทย” เป็นเวลาเกือบ 2 ทศวรรษ แต่ในความจริง มวยไทย มีความสัมพันธ์ และผูกเข้ากับสังคม เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมไทย มาเป็นเวลาช้านานตั้งแต่สมัย สุโขทัย จนถูกวางตำแหน่งไว้เป็น “ศิลปะการต่อสู้ประจำชาติไทย”

    มวยไทย มีวิวัฒนาการ เปลี่ยนไปตามสภาพ และบริบทของสังคม ในแต่ละยุค อย่างในยุคหนึ่ง เป็นศาสตร์การต่อสู้ ป้องกันตัวแขนงหนึ่ง ที่มีจุดเด่น ในการใช้ ส่วนต่างๆของร่างกาย เป็นอาวุธโจมตีคู่ต่อสู้, ข้าศึกในสงคราม

    เรื่อยมาถึงยุคที่มีการจัดการแข่งแบบ มวยไทยคาดเชือก ก่อนเปลี่ยนผ่านมาถึงยุคปัจจจุบันที่เป็น มวยไทยอาชีพ ที่มี การใส่นวม แทนการคาดเชือกที่มือ (เนื่องจากเคยมีนักมวยถูกชกจนเสียชีวิต) และกำหนดกฎ กติกา การสร้างเวที สนามมวยให้ได้มาตรฐานสากล

    อย่างไรก็ดี สิ่งหนึ่งที่ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปมากนักของ มวยไทย จากยุคโบราณถึงยุคปัจจุบัน คือ แนวคิดที่ยังคงถูกปลูกฝัง ส่งต่อ ในเรื่องของความกตัญญู บุญคุณ ที่ถูกสะท้อนออกมาผ่านรายละเอียดต่างๆ ที่ถูกใส่ไว้ใน มวยไทย

    ตั้งแต่การนับถือผู้ฝึกสอนของตนเองว่าเป็น “ครูมวย” ซึ่งเป็นมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย ชายที่ต้องการฝึกฝนวิชามวยไทย จะต้องเข้าไปอยู่ในสำนักมวย และต้องผ่านพิธียกครูก่อนเท่านั้น จึงจะได้รับการฝึกสอนจากครูมวย

    ดังนั้นทุกครั้งก่อนการขึ้นชก นักมวยไทย จะทำการแสดงความเคารพผู้ฝึกสอน ด้วยการไหว้ครู รวมถึงระลึกถึงบิดา มารดา และผู้มีคุณพระคุณ  โดยด้านบนของศีรษะนักมวย จะสวมมงคลเอาไว้ อีกทั้งแนวคิดพื้นฐานของสังคม ที่ชายไทย ต้องมีความกตัญญู และเป็นเสาหลักของครอบครัว

     3

    ความสัมพันธ์ของ นักมวยไทย กับครูมวย จึงเป็นไปในลักษณะของ ลูกศิษย์กับอาจารย์ ขณะที่ เจ้าของค่าย กับ นักมวย ก็จึงเป็นไปในรูปแบบของ ผู้ปกครอง กับ บุตร ที่จะรับนักมวยเข้ามาเลี้ยงดู ฝึกสอนเชิงมวย รวมถึงส่งแข่งขันตามเวทีต่างๆ เริ่มจากมวยงานวัด, มวยเดินสาย มวยท้องถิ่น ซึ่งมีผลตอบแทนคือ เงินรางวัล รวมถึงเงินเดิมพัน

    ในยุคสมัยที่ มวยไทย มีวิวัฒนาการมาเป็น กีฬาอาชีพ และจัดเป็นแหล่งรายได้ที่เยาวชนสามารถเข้าถึง ทำให้เด็กๆ เริ่มเข้าสู่อุตสาหกรรมนี้เร็วขึ้น

    เร็วที่สุดที่มีการพบคือ 2-3 ขวบ เริ่มจากฝึกในค่ายท้องถิ่น ต่อยมวยค่าตัวถูกๆ และอาศัยการสั่งสมกระดูกมวย ใครพอมีฝีมือ ก็มีโอกาสได้ไปชกรายการใหญ่ ได้ค่าตัว เงินรางวัลสูงขึ้น รวมถึงมีโอกาสได้ไปอยู่ค่ายใหญ่ ถูกซื้อตัว นั่นทำให้ในอุตสาหกรรมมวยไทย มีเด็กเยาวชน มากกว่าแสนชีวิตวนเวียนอยู่บนสังเวียน

    ตามพระราชบัญญัติ กีฬามวย พ.ศ 2542 ที่เป็นกฎหมายสำหรับควบคุมวงการหมัดมวยบ้านเรา ซึ่งระบุไว้ว่า นักมวยที่สามารถจดทะเบียนได้นั้น มีหลักเกณฑ์ด้วยกัน 4 ข้อ 1.ต้องอายุไม่ต่ำกว่า 15 ปี 2.ไม่เป็นโรคพิษสุราเรื้อรัง หรือติดยาเสพติดให้โทษฯ หรือเป็นโรคที่คณะกรรมการฯ กำหนด 3.ไม่เป็นคนวิกลจริต จิตฟันเฟื่อนไม่สมประกอบ 4.ไม่เป็นผู้มีความประพฤติเสียหาย ซึ่งคณะกรรมการเห็นว่าจะนำมาซึ่งความเสียหายแก่วงการมวย

    ข้อมูลจากผลการสำรวจของคณะกรรมกีฬามวย การกีฬาแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ตั้งขึ้นมาเพื่อเป็น นายทะเบียน ตาม พ.ร.บ.กีฬา พ.ศ.2542 (ข้อมูลเมื่อเดือน มีนาคม 2560)  

    พบว่าในช่วงปี พ.ศ.2553-2560 นักมวยที่มีอายุครบ 15 ปีบริบูรณ์ ได้ทำมีการขึ้นทะเบียนนักมวยไว้ทั้งสิ้น 10,373 คน ซึ่งเป็นสัดส่วนที่ไม่ต่างกับ นักมวยที่อายุเกิน 15 ปี ที่มีการขึ้นทะเบียนไว้ 17,508 คน นี่เป็นตัวเลขอย่างเป็นทางการ ที่มีการจดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย

     4

    แต่ตัวเลขที่มีการคาดไว้เมื่อปี พ.ศ.2550 นักมวยไทยเด็ก ทั้งหมด กระจายตัวอยู่ทั่วประเทศไทยนั้น อยู่ที่ 100,000 คน และคาดการณ์ว่าปัจจุบันน่าจะเพิ่มขึ้นถึง 200,000 คน

    เหตุผลหนึ่งที่ นักมวยเด็กเหล่านี้ เดินเข้าสู่สังเวียนเลือดมากขึ้น ในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา เพราะมวยไทยเป็นกีฬาพื้นฐานที่เด็กในครอบครัวยากจนสามารถเข้าถึงได้ง่ายสุด ตามที่ ขาวผ่อง สิทธิชูชัย กล่าวไว้ข้างต้น

    ความเหลื่อมล้ำทางสังคม เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เด็กในต่างจังหวัด หันมาฝึกหัดชกมวยไทยตั้งแต่อายุน้อย โดยเฉพาะเมื่อสัก 20-40 ปีที่แล้ว มวยไทย เป็นอาชีพเพียงไม่กี่อย่าง ที่เด็กต่างแดน ในพื้นที่ห่างไกลความเจริญ สามารถเข้าถึง ฝึกฝนได้

    สังเกตได้จากนักมวยดังๆ ที่มีชื่อเสียง น้อยคนนักที่จะเป็นเด็กที่มาจากครอบครัวร่ำรวย หรือเป็นคนกรุงเทพโดยกำเนิด เพราะในจังหวัดที่มีความเจริญมาก เด็กๆ ในพื้นที่ก็มีทางเลือกที่หลากหลายกว่า และไม่จำเป็นต้องชกมวยเพียงอย่างเดียว ส่วนมาก นักมวยไทย มักมีพื้นเพภูมิลำเนา มาจาก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ, ภาคใต้ อาจมี ภาคกลาง และเหนือบ้างบางส่วน

    เมื่ออุตสาหกรรมมวยไทยเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ยิ่งทำให้เด็กถูกเรียกร้องเข้าสู่สังเวียนเร็วขึ้น ดูได้จากทัวร์นาเมนต์จัดการแข่งขัน มวยเดินสาย ที่มีเยอะมาก โดยเฉพาะในต่างจังหวัดที่หาชมได้ง่าย ตามงานวัด งานประจำปี เทศกาลต่างๆ

    ประกอบกับความเชื่อที่ว่า มวยที่เก่งต้องต่อยตั้งแต่อายุยังน้อย ยิ่งต่อยเยอะ ก็ยิ่งกระดูกมวยแข็งขึ้น รวมถึงแนวคิดพื้นฐานที่ เด็กผู้ชายต้องอดทน ต้องกตัญญู และเป็นเสาหลักของครอบครัว

    จึงทำให้เด็กๆเหล่านี้ มีแรงขับเคลื่อน ที่สมัครใจขึ้นไปชกมวย เพื่อแลกมาซึ่งเงินทอง อย่างไม่เกรงกลัวอันตราย อีกทั้ง ยังมีตัวอย่างความสำเร็จมากมายของ นักมวยไทย, นักมวยสากลดังในอดีต ที่พลิกชีวิต และมีชื่อเสียง ด้วยการฝึกหัดชกมวยตั้งแต่เด็ก และเป็นช่องทางที่นำพาพวกเขาพ้นจากความยากจน ความเหลื่อมล้ำทางสังคมได้

    มีการเปิดมูลค่าของอุตสาหกรรมมวยไทย ที่เกิดขึ้น จากสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ว่ามีเงินสะพัดอยู่ในอุตสาหกรรมนี้มากถึง ระบุว่า 100,000 ล้านบาทต่อปี

    ดังนั้นการแก้ไข พ.ร.บ.มวย ย่อมส่งผลกระทบมหาศาลต่อธุรกิจมวยไทย และอาจเปลี่ยนวิถีที่เคยเป็นมา จึงเป็นเหตุผลที่นักมวยไทยที่มีชื่อเสียงหลายคน โปรโมเตอร์ ตลอดจนผู้บริหารองค์กรฯ ของมวยไทย ต่างออกมาแสดงความเห็น ต้องการให้มีการทบทวน และชะลอการแก้ไขกฎหมายฉบับนี้ก่อน

    โดยหยิบยกเรื่องการแก้กฎ กติกา รวมถึงเพิ่มอุปกรณ์ให้นักมวยเด็ก ได้รับความปลอดภัยมากขึ้น  เพื่อป้องกันการเกิดเหตุไม่คาดฝัน แต่ไม่ใช่แก้ปัญหาด้วยการตัดตอนด้วยการเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี ขึ้นชก

     5

    อย่างกรณีการเสียชีวิตของ เพชรมงคล ป.พีณภัทร จากคลิปในไฟต์ดังกล่าว จังหวะที่ เพชรมงคล ถูกต่อยร่วงไปกองกับเวทีครั้งแรก ทาง ฟ้าใหม่ฯ คู่ชกได้เผยในงานศพของเพื่อนร่วมอาชีพว่า เขาได้ส่งสัญญาณไปยัง กรรมการบนเวที เนื่องจากเห็นว่า เพชรมงคล ตาลอย แต่กรรมการกลับไม่ได้ยุติการชก และปล่อยให้ต่อยต่อ จนทำให้เพชรมงคล ที่โดนหมัดไปอีกชุดของเขา สลบคาเวที ก่อนเสียชีวิตในเวลาต่อมาที่โรงพยาบาล

    ปริยากร รัตนสุบรรณ โปรโมเตอร์หญิง และกรรมการผู้จัดการ บ.วันทรงชัย จำกัด เปิดเผยกับ BBC Thai ว่า “ในฐานะที่เป็นผู้หญิง ที่มีความเป็นแม่ และอยู่ในวงการมวยมากว่า 30 ปี รู้สึกเสียใจสิ่งที่เกิดขึ้น หากมีลูกอยู่ในวัยกำลังเติบโตแบบนั้น”

    “การฝึกมวย เป็นการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ การรักกีฬาชนิดใดชนิดหนึ่งเป็นสิ่งที่ดี แต่ต้องไม่อยู่บนการขาดองค์ความรู้ การฝึกมวยเด็กที่มีอายุตั้งแต่ 5 - 6 ขวบ แม้ว่าจะเป็นช่วงเวลาที่เรียนรู้เร็ว แต่หากไม่มีใครช่วยให้แนวทางที่ถูกต้องและปลอดภัยก็เป็นสิ่งที่น่าเป็นห่วง”

    “หากมองในภาพรวมระบบของมวยไทย ยังมีช่องโหว่ตรงที่ว่า ให้เด็กขึ้นชก โดยไม่ได้มีการเข้มงวดมากนัก ทั้งในเรื่อง กฎ กติกา การกำหนดระยะพักฟื้น การขออนุญาตในการแข่งขัน  และการขึ้นทะเบียนขึ้นนักมวย"

    ส่วน "ขาวผ่อง สิทธิชูชัย" หรือ ทวี อัมพรมหา เลขาธิการสมาคมมวยไทยนายขนมต้ม เปิดเผยกับ BBC Thai ว่าเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นเรื่องที่วงการมวยต้องตื่นตัว ทั้งเรื่องมาตรฐานผู้ตัดสิน, การนำองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์การกีฬา, แพทย์สนาม รวมถึงการจัดหาอุปกรณ์ป้องกันมาใช้สำหรับมวยเด็ก

    แค่เฮดการ์ดไม่พอ

    ในความเข้าใจเบื้องต้นของคนทั่วไปส่วนมาก เราเชื่อว่า “เฮดการ์ด” เป็นอุปกรณ์ที่ช่วยป้องกันการกระทบกระเทือน ของสมองได้ จากการเล่นกีฬา เช่น นักกีฬารักบี้ ที่ต้องสวมเฮดการ์ดตลอดเวลา

     6

    แต่ข้อมูลจากฝั่งแพทย์ ความเข้าใจข้างต้น เป็นเรื่องผิดกับกีฬามวยไทย เพราะการใส่ อุปกรณ์ป้องกันศีรษะ (Headguard) ไม่สามารถป้องกันอาการบาดเจ็บต่อสมองบาดได้ ที่เกิดขึ้นจจากการถูกกระทบกระเทือน โดย นพ.อี๊ด ลอประยูร ผู้อำนวยการ  ผู้อำนวยการบริหารโรงพยาบาลปิยะเวท และแพทย์ที่ดูแลอาการบาดเจ็บของนักกีฬาทีมชาติไทย เผยว่า

    “เมื่อถูกกระแทกด้านหน้าศีรษะจะถูกดันเอียงไปทางด้านหลังอย่างเร็วเนื้อสมองก็จะถูกเหวี่ยงไปกระทบกับกะโหลกศีรษะด้านหน้าอย่างแรง จากนั้นเมื่อศีรษะเหวี่ยงก้มกลับมาทางด้านหน้าอย่างเร็วสมองด้านหลังก็จะถูกเหวี่ยงไปกระแทกกับกะโหลกศรีษะด้านหลังอย่างแรงอีกครั้ง”

    “การที่สมองทั้งหมดถูกกระแทกเหวี่ยงไปมาก็จะเกิดการบาดเจ็บจะน้อยหรือมาก ขึ้นอยู่กับแรงหรือการกระแทกที่เกิดขึ้นว่ารุนแรงหรือต่อเนื่องอยู่นานเท่าใด แล้วการใส่ที่ป้องกันศีรษะ (เฮดการ์ด) จะช่วยอะไร? คำตอบคือ ช่วยลดการบาดเจ็บของใบหน้า เช่น การเกิดแผลแตก การมีใบหน้าช้ำ การแตกของกระดูกใบหน้า เป็นต้น”

    “นั่นคือเหตุผลที่ปัจจุบันมวยสากลสมัครเล่นเลิกบังคับให้นักมวยชายใส่ที่ป้องกันศีรษะเวลาขึ้นชก การบาดเจ็บของสมองเวลาศีรษะถูกกระแทกเกิดจากกลไก ตามลักษณะทางกายวิภาค สมองนิ่มๆของเราถูกบรรจุลอยอยู่ในกะโหลกศีรษะที่แข็งมากและมีน้ำอยู่เต็ม”

     7

    ในเว็บไซต์ Change.org ได้มีการรณรงค์และรวบรวมรายชื่อ ผู้ที่เห็นด้วยกับการแก้ไข พ.ร.บ. กีฬามวย พ.ศ.2542 โดย รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ผอ.สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว และ ผอ.วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี

    ข้อมูลหนึ่งที่น่าสนใจก็คือ จากการเก็บข้อมูลและศึกษาเรื่องนี้ พบว่า นักมวยเด็กได้รับความกระทบกระเทือน จากการถูกชกเข้าที่ศีรษะ อย่างน้อย 20 หมัดต่อไฟต์ สถิติสูงสุดที่เคยนับได้ต่อไฟต์คือ 40 ครั้ง ต่อ 1 ยก หรือประมาณ 2 นาที (มวยเด็กส่วนมากชก 3 ยก ยกละ 2 นาที) โดยที่ไม่มีอุปกรณ์ป้องกันศีรษะ

    “ความรุนแรงที่มาปะทะกับศีรษะจนทำให้เลือดออกในสมองและสร้างความเสียหาย ประกอบไปด้วย 2 แรง คือ แรงตรงกับแรงหมุน”  รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ กล่าวเริ่ม

    “แรงตรง  คือการกระแทกทางตรง ศีรษะเคลื่อนที่ตามแรงกระแทกนั้น ตัวอย่างเช่น ถูกหมัดพุ่งตรงมาด้านหน้า ส่งผลให้ศีรษะกระแทกไปด้านหลัง ลักษณะนี้เฮดการ์ดช่วยในการกระจายน้ำหนักและลดความรุนแรงที่พุ่งตรงมา”

    “แรงหมุน คือแรงที่กระแทกที่ใบหน้าด้านข้างหรือส่วนปลายคาง แรงหมุนลักษณะนี้อุปกรณ์อย่างเฮดการ์ดช่วยได้เพียงบางส่วนเท่านั้น เนื่องจากศีรษะเกิดการเคลื่อนที่เป็นวงกลมหรือหมุน จนกระทบต่อเส้นประสาท”

    “หมัดที่ชกเข้าใบหน้าด้านขวา ตัวแรงไม่ได้วิ่งจากขวามาซ้าย แต่ส่งผลให้ศีรษะหมุนสะบัดเป็นวงกลม ซึ่งทำให้สมองเกิดความเสียหาย เซลล์ประสาทด้านนอกเคลื่อนที่ด้วยความเร็วขณะหนึ่ง เส้นใยประสาทก็เคลื่อนที่ด้วยความเร็วขณะหนึ่งเช่นกัน ทำให้เกิดการฉีกขาด”

    “เฮดการ์ด จึงช่วยกระจายความรุนแรงเมื่อตอนปะทะ แต่จังหวะแรงหมุนสะบัดช่วยไม่ได้ นอกจากนั้นเฮดการ์ดยังทำให้น้ำหนักศีรษะเพิ่มมากขึ้น ตามหลักฟิสิกส์ แรงมันขึ้นอยู่กับมวล ฉะนั้นการใส่เฮดการ์ดกลับส่งผลเสียมากขึ้น สำหรับการถูกชกด้านข้างที่นำไปสู่แรงหมุน”

    ข้อมูลดังกล่าวสอดคล้องกับ ผลวิจัยสมองของนักมวยเด็ก โดย ศ.พญ.จิรพร เหล่าธรรมทัศน์ หัวหน้าศูนย์รังสีวินิจฉัยก้าวหน้า ศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยในเด็ก คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่านักมวยเด็กมีโอกาสได้รับอาการบาดเจ็บทางสมองมากกว่าเด็กทั่วไป

    ทีมวิจัย ได้ทำการสแกนสมอง ด้วยเครื่องเอ็มอาร์ไอ กับอาสาสมัครที่เป็นเด็กทั่วไป 253 ราย และนักมวยเด็ก 323 คน พบว่านักมวยเด็กร้อยละ 69 มีความผิดปกติทางสมอง

     8

    "เราติดตามกลุ่มนักมวยเด็กจำนวนหนึ่งมาหลายปีแล้ว ตามไปตรวจร่างกาย และฮอร์โมนต่อมใต้สมองก็ไม่เจออะไร วันหนึ่ง เราตรวจการบาดเจ็บของสมองนักมวยเด็กโดยเครื่อง MRI ปรากฎว่า นักมวยเด็กที่ตามอยู่ 10 กว่าคน พบว่ามีความผิดปกติทันที ตั้งแต่มีน้ำคั่งในสมอง แล้วก็มีปริมาณเลือดเก่าๆ ที่เก็บสะสม รวมไปถึงใยสมองที่ผิดปกติ เลยกลับมาทำเป็นเรื่องเป็นราว เพราะปัจจุบันมีเด็กหลายแสนคนที่อยู่ในอาชีพนี้”      

    “เด็กๆ เหล่านี้ เริ่มต้นชีวิตการเป็นนักมวยเด็ก ทำการฝึกตั้งแต่อายุ 2-3 ขวบ พออายุ 6-7 ขวบก็เริ่มขึ้นชก คนไหนฝีมือดีก็จะชกถี่หน่อย ชกไปจนถึงอายุ 15 ถ้าฝีมือดีก็จะได้ขึ้นเป็นนักมวยอาชีพ คนที่ฝีมือไม่ดีก็กลับไปใช้ชีวิตปกติ แต่ช่วงอายุตั้งแต่ 2 ขวบจนถึงอายุ 15 ปี เราไม่มีทางทราบเลยว่า เด็กกลุ่มนี้จะเป็นอย่างไร มีอะไรเกิดขึ้นกับร่างกายพวกเขาบ้าง"

    “แม้นักมวยเด็กจะมีความชำนาญในการเคลื่อนไหว โดยเฉพาะมือ และสายตาที่ดีกว่าเด็กทั่วไป แต่ข้อเสียก็มีอยู่มาก เห็นได้จากความผิดปกติของสมอง ที่สะท้อนความน่าเป็นห่วงออกมาหลายเรื่อง”     

    “เริ่มจากสมองส่วนความจำ เมื่อเทียบกับเด็กปกติแล้ว กลุ่มนักมวยเด็กมีความผิดปกติอย่างเห็นได้ชัด นอกจากนี้ยังพบการกระจายที่ผิดปกติของใยสมอง ซึ่งคล้ายกันกับความผิดปกติในคนที่ประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์จากการชน หรือเบรกแล้วชะงักกลับมาอย่างรุนแรง”    

    “ยิ่งไปกว่านั้น ยังพบว่า สมองของนักมวยเด็กมีปริมาณธาตุเหล็กสะสมสูง เพราะสมองมีเลือดออกมาก เป็นสาเหตุของการทำลายเนื้อสมอง รวมไปถึง ภาวะน้ำในสมองมาก จนอาจสกัดกั้นการเจริญเติบโตในสมอง ซึ่งเด็กที่อายุน้อย สมองพวกเขางไม่เติบโตเต็มที่”     

    "ยิ่งชกนาน และถูกชกซ้ำแล้วซ้ำอีก เลือดที่สะสมในสมองก็จะยิ่งมากขึ้น อันตรายก็จะมีมากขึ้นตามไปด้วย เพราะมีการสะสมของเหล็กสูงขึ้น ชี้ชัดให้เห็นว่า ยิ่งเด็กชกนาน สมองของเด็กก็จะยิ่งแย่ลง โดยเฉพาะบริเวณที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับความจำจะมีความเสียหายมากขึ้นเรื่อยๆ"

    ความกังวลต่ออาการบาดเจ็บสมอง ในการชกมวยเด็ก ไม่ได้เกิดขึ้นแค่เฉพาะสังคมมวยบ้านเรา อย่างในสหรัฐอเมริกา ได้มีการแถลงเชิงนโยบายจาก สมาคมกุมารแพทย์ประเทศสหรัฐอเมริกา เรื่องการเล่นกีฬาชกมวยในเด็ก และวัยรุ่น

    ถ้อยแถลงดังกล่าว มีใจความสำคัญว่า แม้การชกมวยจะเป็นประโยชน์แก่ผู้เล่นในเรื่องการออกกำลังกาย, การสร้างระเบียบวินัย, การสร้างความเชื่อมั่นในตนเอง แต่ก็ยังเป็นกีฬาที่เอาชนะกันด้วยวิธีการชกไปที่ศีรษะและใบหน้าโดยตรงอีกด้วย ผู้ที่ชกมวยจึงมีความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บบริเวณศีรษะใบหน้าและลำคอทั้งในแง่ของการบาดเจ็บเรื้อรังหรือการบาดเจ็บเฉียบพลันที่รุนแรงต่อสมองได้จนถึงขั้นเสียชีวิต

    โดยเฉพาะภาวะกระทบกระเทือนต่อสมอง ที่ไม่สามารถมองเห็นได้จากภายนอกชัดเจน แต่ทำให้เกิดความผิดปกติต่อการทำงานของสมอง (cerebral concussion) ก็พบเห็นได้บ่อยมาก สมาคมกุมารแพทย์ของสหรัฐอเมริกา จึงมีความเห็นขัดแย้งอย่างชัดเจนต่อที่จะให้ มวยเป็นกีฬา ที่มีการแข่งขันโดยเฉพาะสำหรับในเด็กและวัยรุ่น

    ด้าน ณัฐเดช วชิรรัตนวงศ์  โปรโมเตอร์หนุ่มจากค่ายเพชรยินดี ให้สัมภาษณ์กับ ข่าวสด โดยเขามองว่าส่วนหนึ่งของปัญหาการชกมวยเด็กในไทย เกิดขึ้นจากหารไม่บังคับใช้กฎหมาย และความยากลำบาก ในการควบคุมให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.กีฬา โดยเฉพาะมวยท้องถิ่นที่สามารถจัดการแข่งขันได้ทั่วไป

    "เรามีกฎหมายก็จริง แต่คนบังคับใช้กฎหมายไม่มีอำนาจเพียงพอจะดูแลควบคุมได้ทั่วทั้งประเทศ ควบคุมได้แค่กรุงเทพฯ ในเวทีมาตรฐานอย่าง ลุมพินี หรือ ราชดำเนินเท่านั้น พอไปเวทีต่างจังหวัด แต่ละจังหวัดก็จะมี เจ้าหน้าที่ กกท. เพียงจังหวัดละ 1 คน ของสำนักงานกีฬามวย ซึ่งไม่เพียงพออยู่แล้วที่คน 1 คนจะดูแล 1 จังหวัด เขาก็ไม่ไปขออนุญาตอะไร เขาก็จัดชกกันไป นั่นแหละคือปัญหา"

    คำสัมภาษณ์ของ ณัฐเดช สอดคล้องกับข้อมูล สถิติการชกมวยของ เพชรมงคล ป.พีณภัทร นักมวยวัย 13 ปีที่เสียชีวิต เขาผ่านการชกมาแล้ว 170 ไฟต์ เฉลี่ยชกปีละ 34 ครั้ง หรือ 11 วันต่อ 1 ไฟต์

    ซึ่งไม่เป็นไปตามที่ พ.ร.บ.กีฬามวย ที่ระบุว่า นักมวยแข่ง 3 ยก ต้องพัก 14 วันก่อนการชกครั้งต่อไป นักมวยที่แพ้น็อก ต้องพักก่อนการชกครั้งต่อไป 30 วัน หรือนักมวยที่แพ้จากการโดนน็อกเอาต์ โดยได้รับการกระทบกระเทือนที่ศีรษะ 2 ครั้ง ต้องพัก 90 วัน รวมถึงต้องได้รับการรับรองจากแพทย์สำหรับการชกครั้งต่อไป

    อีกทั้ง มวยที่ถูกจัดอยู่ตามท้องถิ่น ที่เป็นเวทีแรกเริ่มของมวยเด็ก จำนวนไม่น้อย เป็นสังเวียนที่ทำผิด พ.ร.บ.กีฬามวย ตั้งแต่การไม่ได้ทำเรื่องของอนุญาตจัดจากนายทะเบียน รวมถึงเรื่องการจัดการ และความปลอดภัย ก็ยังไม่ได้มาตรฐาน และเป็นเรื่องที่จะไปตามจับเอาผิดได้ เนื่องจากรายการลักษณะนี้ มีแข่งขันมากมาย แม้แต่ในลานวัด

    ด้าน ศ.ดร.นพ.พรชัย โอเจริญรัตน์ ประธานอนุกรรมการแพทย์ในวงการกีฬามวย มองว่า แม้วิทยาศาสตร์และในทางการแพทย์ จะพยายามคิดค้นหาวิธีการป้องกัน เพื่อลดอาการบาดเจ็บ แต่นั่นเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ แต่ต้นเหตุที่แท้จริง เกิดขึ้นจากการปล่อยปละละเลย ให้มีการจัดมวยเด็กที่ไม่ได้มาตรฐาน และเรื่องของผลประโยชน์ที่เกี่ยวกับคนบางกลุ่ม

     9

    "มีงานวิจัยบอกว่า เด็กร้อยละ 30 ขึ้นชกสัปดาห์ละ 1 ครั้ง ตามพ.ร.บ.กีฬามวย ที่ได้รับทราบจากเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง การจะชกใหม่ในครั้งต่อๆ ไป ต้องเว้นช่วงไม่ต่ำกว่า 3 สัปดาห์”

    "กรณีของมวยเด็ก  ฝ่ายอนุกรรมการแพทย์ เริ่มคิดว่าจะเริ่มทำอย่างไรให้ป้องกันอุบัติเหตุของนักมวยเด็กได้ ทำไมถึงปล่อยให้เด็ก 3 ขวบขึ้นชกได้ คนที่รักษากฎของฝ่ายการกีฬาก็แจ้งว่า ในพ.ร.บ.กีฬามวยไม่ได้ห้ามไว้ ไม่ได้เขียนไว้เลยว่า 3 ขวบห้ามขึ้นชก”

    “ไม่ได้เขียนว่ากี่ขวบห้ามชก เพียงแต่เขียนว่า เด็กจะลงทะเบียนเป็นนักกีฬามวยได้ต้องอายุ 15 ปีแค่นั้น อ้าวแล้วยังไง ก็ห้ามไม่ได้สิครับ แล้วพ่อแม่่ละ พ่อแม่ก็ห้ามไม่ได้ครับ บางท่านมาคุมเด็กข้างเวทีเลยด้วยซ้ำ"

    ความเห็นของ ศ.นพ. พรชัย เป็นไปในทิศทางเดียวกันกับ ผศ.สุรัตน์ เสียงหล่อ อดีตหัวหน้าผู้ฝึกสอนนักมวยไทยสมัครเล่นทีมชาติไทย เจ้าของค่ายมวยเดชรัตน์ ที่แสดงความเห็นว่า กฎหมาย พ.ร.บ.ฉบับเดิม มีช่วงโหว่อยู่ ดังนั้นคนที่ควรปกป้องนักชกเด็กได้ดีที่สุดด่านแรก ควรเป็นพ่อแม่ ผู้ปกครอง ที่ต้องดูแลเรื่องนี้

    “ความจริงกฎหมายกำหนดชัดเจนในการชกมวยเพื่อการแข่งขันต้องเป็นเยาวชนอายุ 15 ปีขึ้นไป แต่ช่องโหว่ที่ทำให้เกิดปัญหา คือมีการนำเด็กเล็กอายุ 7-8 ปี แม้กระทั่งเด็กผู้หญิงมาชกต่อยแข่งขัน เพราะไม่มีการควบคุมและบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง”

    “เราต้องพยายามให้ความรู้กับพ่อแม่ได้ตระหนักถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับสมองเด็ก หากได้รับการกระทบกระเทือน รวมทั้งต้องมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง มวยไทยสำหรับเด็กควรเป็นการเรียนรู้เสริมทักษะในการป้องกันตัวและเผยแพร่ศิลปะแม่ไม้มวยไทยไม่ใช่เป็นการแข่งขันชกต่อย”

    อีกเรื่องที่ ศ.พญ จิรพร ผู้ทำวิจัยการบาดเจ็บสมองของนักมวยเด็ก เล็งเห็นว่ามีความสำคัญไม่แพ้กัน คือ เรื่องของการนำเด็กกลุ่มนี้ไปตรวจสุขภาพเป็นระยะๆด้วย เพื่อเช็คดูความผิดปกติของร่างกาย โดยเฉพาะเรื่อง สมอง ที่นักมวยเด็ก ยังอยู่ในช่วงวัยที่สมองกำลังเจริญเติบโต

    "ส่วนตัวมองว่า ศิลปะแม่ไม้มวยไทยเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับคนไทยมาหลายร้อยปีแล้ว เป็นสิ่งที่ต้องรักษาไว้ แล้วเชิดชูให้ขึ้นสู่ความเป็นสากลให้ได้ แต่การรักษาเหล่านี้ควรดูแลเด็กของเราด้วย มีกติกาที่ปกป้องเด็ก เพราะเด็กคืออนาคตของชาติ ถ้าไม่ใส่ใจดูแล ปล่อยให้เด็กมีปัญหา โตขึ้นไปก็จะเป็นภาระมากกว่า”  

    “ดังนั้น ถ้าเด็กน็อคบนเวที อย่างน้อยต้องทำ MRI เพื่อที่จะดูความผิดปกติ หรือกรณีที่ชกมานาน ก็ต้องตรวจสุขภาพอย่างต่อเนื่อง ถ้ามีความอันตรายมากก็ควรจะต้องเลิกชก วิธีนี้ช่วยไม่ให้เด็กชกไปเรื่อยๆ จนสมองพัง แก้ไม่ได้มีให้เห็นในนักมวยอาชีพหลายๆ คนที่พอแก่ตัวไปมือสั่นทำอะไรไม่ได้"

     "ถ้าเป็นผู้ใหญ่ที่สมองหยุดการเจริญเติบโตแล้ว เราก็คงไม่คิดอะไรมากกับเรื่องพวกนี้ แต่กับเด็กที่เข้าสู่อาชีพตั้งแต่เล็กๆ ซึ่งเป็นช่วงที่พวกเขาสมองกำลังเติบโต เรื่องนี้น่าเป็นห่วง"

    ใครควรได้ผลประโยชน์สูงสุดจากการแก้กฎหมาย

    อย่างที่กล่าวไปข้างต้น มวยไทย ถือเป็นส่วนหนึ่งของสังคม และวัฒนธรรมของชาติ รวมถึงในปัจจุบันมีผู้คนหลายแสนชีวิตเกี่ยวข้องอยู่ในอุตสาหกรรมมวยไทยอาชีพ จนทำให้การพิจารณาร่างแก้ไข พ.ร.บ. กีฬามวย พ.ศ. 2542 เป็นประเด็นที่สังคมกำลังให้ความสำคัญ

     10

    ตัวแทนของ คณะกรรมการ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ได้ทำการชี้แจงผลการหารือ การแก้ไขร่าง พ.ร.บ. กีฬามวย ฉบับปรับปรุงว่า “สนช. จะเร่งพิจารณาออกเป็นกฎหมาย ให้ได้ ภายในเดือนธันวาคมนี้ เพื่อให้เป็นกฎหมายที่ควบคุมการชกมวยเด็ก โดยห้ามไม่ให้เด็กอายุต่ำกว่า 12 ปีขึ้นชกมวยเด็ดขาด ป้องกันเกิดปัญหาเสียชีวิตจากการชกมวยและมีสภาพร่างกายที่ไม่พร้อม แต่จะอนุญาตเฉพาะเด็กที่มีความพร้อมอายุ 12-15 ปี”

    “สนช. มีความเป็นห่วงเพราะจากการศึกษา พบตัวเลขมวยเด็กมีมากถึง 1 แสนคน ที่ไม่ได้รับการควบคุมเนื่อง จากพระราชบัญญัติกีฬามวยฉบับเดิมหละหลวม แม้จะมีการห้ามเด็กต่ำกว่า 15 ปีขึ้นชกแต่ไม่สามารถบังคับใช้ได้จริง ทำให้เยาวชนที่ชกมวยไม่ได้รับการฝึกอย่างถูกต้องตามช่วงวัยที่เหมาะสม จนส่งผลกระทบต่อสมองของเด็กในระยะยาว”

    หากยึดตามคำชี้แจงของต้นของ คณะกรรมการ สนช. รวมถึง การให้สัมภาษณ์ของ โฆษกกระทรวงกลาโหม ที่เปิดเผยว่า รัฐบาล ได้กำชับให้ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา พิจารณาความเหมาะสมของ พ.ร.บ.กีฬา มวย พ.ศ.2542 ด้วยความรอบคอบ และดูแลความปลอดภัยของนักกีฬามากขึ้น โดยเฉพาะนักกีฬาเด็กและเยาวชน

    เท่ากับว่า มีโอกาสสูงมาก การแก้ไข พระราชบัญญัติกีฬามวย พ.ศ. 2542  จะผ่านการพิจารณา และนำมาประกาศใช้ เพื่อปรับกฎหมายให้มีการคุ้มครองเด็กและเยาวชนมากขึ้น

    สำหรับข้อเรียกร้องที่มีการรณรงค์ในเว็บไซต์ Change.org ให้มีการแก้ไข พ.ร.บ.กีฬามวย พ.ศ.2542 โดย รศ.นพ. อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ที่พยายามผลักดันนโยบายดังกล่าวมากว่า 10 ปี ได้ระบุไว้ว่า ขอให้ยกเลิก ข้อความตอนหนึ่งในมาตรา 29  ที่ระบุว่า ผู้เยาว์ที่ได้จดทะเบียนเป็นนักมวยแล้ว อาจทำนิติกรรมอันเกี่ยวข้องกับการแข่งขัน กีฬามวยได้โดยไม่ต้องได้รับความยินยอม จากผู้แทนโดยชอบทำ

    เนื่องจากมองว่าข้อความนี่ เข้าข่ายการ “หาผลประโยชน์จากเด็ก” ซึ่ง เป็น หนึ่งในเหตุผลที่ทำให้ไทยถูกจัดอยู่ในระดับ Tier 3 จากรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ (TIP Report) ของสหรัฐอเมริกา ซึ่งจัดเป็นการใช้แรงงานชั้นเลวร้ายที่สุด อีกข้อหนึ่งคือการมีการระบุในมาตรา 29 เพิ่มว่า ผู้มีอายุน้อยกว่า 15 ปี สามารถเล่นกีฬามวยไทย แต่ต้องแก้ไขระเบียบมวย ให้เป็นดังนี้

    นักมวยที่มีอายุต่ำกว่า 9 ปี ให้แค่รำมวย แสดงท่าทางอันหลากหลายของแม่ไม้มวยไทย เน้นสวยงาม เตะต่อยเป้า นักชกอายุ 9-12 สามารถให้แข่งขันแบบปะทะได้ แต่ห้ามห้ามชกศีรษะ ถ้าชกที่ศีรษะจะไม่ได้คะแนน แถมถูกตัดคะแนน หรือจับแพ้ ที่สำคัญต้องใส่บอดี้การ์ด หรือเฮดการ์ดด้วย

    ส่วนนักมวยอายุ 13-15 ปี แข่งแบบปะทะได้ มุ่งเป้าศีรษะได้ แต่ต้องชกแบบเบา เน้นเข้าเป้า ไม่เน้นการทำให้น็อก  การได้คะแนนจะวัดจากความแม่นยำ มากกว่าเน้นการชกแบบที่เป็นอยู่

     11

    “กติกาเป็นตัวกำหนดพฤติกรรมนักกีฬา เราควรเน้นไปที่ความแม่นยำมากกว่าความรุนแรง เป็นลักษณะสัมผัสเท่านั้น  ผมไม่คิดว่าเด็กจะเก่งน้อยลง หากเรารักษาสมองของเขาตามวัย” รศ.นพ. อดิศักดิ์ เผย

    แม้ว่าจะยังไม่มีผลสรุปออกมาว่า ข้อเรียกร้องจาก รศ.นพ. อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ จะถูกนำไปประกอบพิจารณาร่างแก้ไข พระราชบัญญัติกีฬามวย ฉบับปรับปรุง ของ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ มากน้อยแค่ไหน  

    แต่หากมองตามความเป็นจริง ต่อให้ข้อเรียกร้องของ รศ.นพ. อดิศักดิ์ ถูกนำไปใช้ทั้งหมด ก็ต้องยอมรับว่า ยังเป็นเรื่องยากอยู่พอสมควรที่จะควบคุมการจัดการแข่งขันมวยเด็ก และบังคับใช้กฎหมายนี้ ในวงกว้าง ได้จริง

    หากต้นตอของปัญหายังไม่เคยถูกแก้ไขอย่างจริงจัง ที่ผลักให้เด็กๆเหล่านี้ ต้องออกมาชกมวย เหมือนกับกฏหมายที่เขียนว่า นักมวยที่จะขึ้นทะเบียนชกอาชีพได้ต้องอายุ 15 ปีขึ้นไป แต่การแข่งขันมวยเด็ก ที่อายุต่ำกว่านั้น ยังมีให้เห็นได้ทั่วไป

     12

    “การเติบโตของเด็กควรได้รับการดูแลพัฒนาทักษะที่หลากหลายตามวัย การนำเด็กไปสู่โหมดของการฝึกฝนเพื่อเป็นนักมวยอาชีพตั้งแต่ยังเล็ก ส่งผลให้เขาได้รับการพัฒนาเพียงแค่ด้านเดียวคือความชำนาญในการเป็นนักมวยเท่านั้น ทั้งที่การเติบโตเป็นผู้ใหญ่อย่างสมบูรณ์ไม่ได้มีแค่นั้น”

    “เราไม่ควรปล่อยให้เด็กเข้ามาสู่สังเวียนตั้งแต่เล็ก ที่บอกว่าต้องทำเพื่อช่วยเหลือพ่อแม่ มันกลับบทบาทกันหรือเปล่า? ผู้ปกครองต่างหากที่ต้องทำหน้าที่เลี้ยงดูเด็กตามมาตรฐานขั้นต่ำของกฎหมาย คำถามคือ การส่งเสริมให้เด็กชกมวย เป็นประโยชน์สูงสุดที่เด็กหรือผู้ใหญ่ได้รับกันแน่”

    “เขาเข้าถึงบริการของรัฐหรือเปล่า? คือสิ่งที่เราต้องทำให้สังคมเข้าใจ คุณทำให้คนเหล่านั้นเข้าถึงสิ? ไม่ใช่เอาชีวิตเด็กไปเสี่ยง มันมีความจนจริง แต่ก็มีทางออกอื่น ถ้าคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของเด็ก อย่าเอาคำเหล่านี้มาอ้างเลย” วาสนา เก้านพรัตน์ ผู้อำนวยการมูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก กล่าวผ่าน VoiceTV

    ความเหลื่อมล้ำทางสังคม และกระจายตัวทางเศรษฐกิจ ในปัจจุบันอาจไม่ได้มีความห่างมากนัก เมื่อเทียบกับสักประมาณ 20 กว่าปีที่แล้ว ระหว่างสังคมเมือง กับสังคมต่างจังหวัด ในเรื่องการเข้าถึงบริการสาธารณะ การศึกษา แต่ใช่ว่าความเหลื่อมล้ำนั้นจะหายไป

    วัดได้จาก การที่คนต่างจังหวัดจำนวนมาก ยังคงเข้ามาขายแรงงานในกรุงเทพฯ เนื่องจากการกระจายตัวทางเศรษฐกิจ ยังกระจุกอยู่แค่ในหัวเมืองใหญ่ๆ ย่านอุตสาหกรรม และในพื้นที่รอบๆ เมืองหลวงฯ

    การชกมวยของเด็กนับแสนชีวิต จึงไม่ได้เป็นไปด้วยเหตุผลทางด้านกีฬาเพียงอย่างเดียว หรือเพื่อสุขภาพ เพื่อการสันทนาการ แต่ยังมีแรงขับทางสังคม ความยากจน ที่ทำให้พวกเขาต้องออกมาเป็น แรงงานราคาถูก-แพง ฝึกหัดชกมวย ต่อยตามเวทีต่างๆ เพื่อสร้างอนาคตใหม่ นำพาตัวเองและครอบครัว ก้าวข้ามความเหลื่อมล้ำของสังคม ด้วยการชกมวยอาชีพ

    ตราบใดที่สังคมไทย ยังไม่สามารถลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม และยังเป็นในรูปแบบ รวยกระจุก-จนกระจาย ก็ย่อมทำให้ ผู้คนมีทางเลือกไม่มากพอ ซึ่งเป็นช่องทางและโอกาสที่เปิดให้ เด็กๆจวนเวียนกลับไปอยู่ในวัฏจักรเดิม

    แถลงการณ์จาก องค์กร ยูนิเซฟ ประเทศไทย ตอนหนึ่ง ระบุว่า “ตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก เด็กมีสิทธิจะเล่นกีฬาให้เหมาะสมกับอายุ แต่ในขณะเดียวกัน เด็กยังมีสิทธิที่จะได้รับคุ้มครองจากการแสวงหาประโยชน์ทางธุรกิจ และการทำงานที่เป็นอันตรายสุขภาพ ที่สำคัญสุด เด็กทุกคนมีสิทธิ์จะมีชีวิต และพัฒนา”

    “ไม่ว่าเราจะมองว่ามวยเป็นกีฬา เป็นกิจกรรมสันทนาการ หรือเป็นอาชีพ การเข้าร่วมนั้นไม่ควรทำให้เด็กต้องสูญเสียพัฒนาการ สูญเสียอนาคตได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต”

    “บางคนอาจอ้างว่า นักมวยเด็กเหล่านี้กำลังหาเลี้ยงครอบครัว แต่เราควรใช้การศึกษาระบบสวัสดิการทางสังคม และการมีโอกาสที่เท่าเทียมเพื่อช่วยให้เด็กหลุดพ้นจากความยากจน ไม่มีเด็กคนใดควรจะต้องเสี่ยงชีวิตหรือสุขภาพของตนเพื่อเป้าหมายนั้น ผู้ใหญ่มีหน้าที่ปกป้องเด็กจากอันตรายต่อสุขภาพกาย และสติปัญญา ไม่ใช่แสวงประโยชน์จากพวกเขา”

    ในมุมมองของ ผศ.ดร.ศุกล อริยสัจสี่สกุล อาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์การกีฬา และสุขภาพ สถาบันกรมพลศึกษา วิทยาเขตกรุงเทพฯ มองว่า ถึงเวลาที่สังคมมวยไทย ต้องมองภาพของการฝึกสอนมวยไทย ให้เป็นรูปแบบของการศึกษาศาสตร์การต่อสู้แขนงหนึ่ง มากกว่าจะมองเพียงภาพของ มวยไทยอาชีพเท่านั้น

    “ครูมวยต้องมีความรู้พอสมควร และเตรียมสภาพเด็ก ให้พร้อมทั้งร่างกาย และจิตใจ รวมไปถึงการขึ้นชก ต้องเลือกคู่ชกให้เหมะสมทั้งน้ำหนักตัว และอายุ เรื่องอบอุ่นร่างกายก็สำคัญ ถ้าไม่ได้วอร์ม หรือวอร์มได้ไม่ครบทุกส่วน อาจทำให้เกิดการบาดเจ็บได้"

    "การเอาเด็กขึ้นมาชกมวยได้เงินไม่เท่าไรหรอก ซึ่งเด็กเหล่านั้นในอนาคต เขาอาจจะไปประกอบอาชีพอื่นได้อีกมาก หรือแม้กระทั่งมาเรียนหลักสูตรมวย ต่อยอดเป็นครูสอนมวยไทย อย่างจา พนม (Tony Jaa) เรียนจบสถาบันการพลศึกษา จ.มหาสาคาม เขาเก่งมาก ทั้งมวยไทย และยิมนาสติก”

    “ถ้าเขามัวแต่ไปชกมวยตอนอายุ 10 ขวบก็คงไม่ได้เป็นจา พนมอย่างทุกวันนี้ เพราะฉะนั้นต้องเลือกทางเดินให้ลูกอย่างถูกทาง"    

     5

    อุปกรณ์ป้องกัน, วิทยาการทางการแพทย์, กฎ-กติกา, กฎหมาย ที่มีการพูดถึงมาทั้งหมด ต่างถูกออกแบบเพื่อปกป้องเด็กๆ เยาวชน ให้พ้นจากอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากกีฬามวยไทย  

    ทุกๆความเห็น ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายที่เห็นด้วย และไม่เห็นด้วย ก็ล้วนแล้วแต่มองไปที่ “ตัวเด็ก” เป็นส่วนสำคัญ และแสดงความห่วงใยในมุมที่แตกต่างกันออกไป บางคนกังวลเรื่องรายได้ที่เด็กควรได้รับ และทักษะด้านการชกมวยที่อาจหายไป, บ้างกังวลเรื่องสุขภาพ พัฒนาการด้านการเจริญเติบโต, ตลอดจนความกังวลเรื่องการนำเอาเด็กมาใช้แรงงาน ตั้งแต่อายุน้อย

    ถ้าทุกคนต่างเข้าใจในจุดที่แต่ละคนยืน และมองว่า “เด็กและเยาวชน” คือกลุ่มคนที่ควรได้รับผลประโยชน์สูงสุด รวมถึงการคุ้มครอง เอาใจใส่มากที่สุดของวงการมวย เชื่อว่าปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นจะลดลง  

    มุมมอง แนวคิดความเชื่อ และความเข้าใจ ของผู้ใหญ่ ผู้ที่เกี่ยวข้อง ที่มีต่อตัวเด็ก บางครั้งก็มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่า อุปกรณ์ป้องกัน, วิทยาการทางการแพทย์ กฎหมายฯ … หากเรามองเด็กนับแสนชีวิตในวงการมวยบ้านเรา ด้วยสายตาที่เห็นว่า “เขาเป็นเด็กคนหนึ่ง มากกว่านักมวยคนหนึ่ง”

    อัลบั้มภาพ 13 ภาพ

    อัลบั้มภาพ 13 ภาพ ของ มองมุมต่างอย่างเข้าใจ "แก้ พ.ร.บ.มวยเด็ก" ใครควรได้ประโยชน์สูงสุด?