"ใบเตย" วิภารัตน์ : รองแชมป์โลกชาวไทย ผู้พิสูจน์ว่า “ซูโมเป็นมากกว่าแค่กีฬาของคนอ้วนชนกัน”

"ใบเตย" วิภารัตน์ : รองแชมป์โลกชาวไทย ผู้พิสูจน์ว่า “ซูโมเป็นมากกว่าแค่กีฬาของคนอ้วนชนกัน”

"ใบเตย" วิภารัตน์ : รองแชมป์โลกชาวไทย ผู้พิสูจน์ว่า “ซูโมเป็นมากกว่าแค่กีฬาของคนอ้วนชนกัน”
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

“เอาจริงๆ ตอนที่มีคนมาชวนเล่นซูโม ความรู้สึกเราคนไทย ซูโมดูเป็นเรื่องตลกอะ ซูโมกิ๊ก งั้นเหรอ? ดูเหมือนเป็นกีฬาที่เอาคนอ้วน วิ่งมาชนกัน ยังไงเราก็ไม่ยอมเล่นเด็ดขาด”

สำหรับคนไทย “ซูโม” (Sumo) ถือเป็น หนึ่งในกีฬาที่ค่อนข้างไกลตัว น้อยคนนักที่จะรู้จัก และยากจะเข้าถึงแก่นแท้ของกีฬาที่มีต้นกำเนิดมาจากประเทศญี่ปุ่นชนิดนี้

ด้วยความที่ ซูโม ไม่ใช่กีฬาที่แพร่หลายและได้รับความนิยมในเมืองไทยมากนัก แถมยังมีภาพจำที่ว่า ซูโม เป็นกีฬาต่อสู้ สำหรับคนน้ำหนักตัวมาก ที่ใช้แรงพุ่งชนกัน เพื่อทำให้อีกฝ่ายออกจากวงกลม นั่นคือภาพ ที่หลายๆ คนน่าจะคิดคล้ายๆกัน หากเอ่ยถึง ซูโม…  

แต่ความเป็นจริง ซูโม มีความลึกซึ้งมากกว่าความเข้าใจข้างต้น กล่าวคือ กีฬาชนิดนี้มีลักษณะเฉพาะตัวที่แตกต่างกับ กีฬาทั่วไปทั้งหลายที่คนส่วนมากรู้จักโดยสิ้นเชิง

ซูโมอาชีพ มีจัดการแข่งขันเฉพาะผู้ชายเท่านั้น โดยจุดสูงสุดของวงการซูโม อยู่ที่การได้ตำแหน่ง โยโกซึนะ (Yokozuna) เปรียบได้ดั่งกับ ตำแหน่งสำหรับผู้ยิ่งใหญ่ของวงการ

เมื่อนักซูโมคนนั้น ได้เป็น โยโกซึนะ แล้ว พวกเขาจะไม่มีวันถูกปลดออกจากตำแหน่ง นอกเสียจาก จะลาออกเอง พวกเขาจะได้รับเงินเดือนจากรัฐบาลญี่ปุ่น กว่า 800,000 บาทไทยต่อเดือน ปัจจุบันมีโยโกซึนะ เพียง 3 คนเท่านั้นที่ยังดำรงตำแหน่งนี้อยู่ ส่วนผู้หญิง สามารถลงแข่งได้แค่แบบ สมัครเล่น เท่านั้น

จึงไม่แปลก หากเราจะไม่ค่อยได้รับรู้เรื่องชีวิตของนักซูโมมากนักว่า ทำไมต้องขุนน้ำหนักตัวให้อ้วน ที่สำคัญอาจไม่รู้ด้วยซ้ำว่า มีคนไทย เคยไปถึงตำแหน่งแชมป์เอเชีย และรองแชมป์โลกของกีฬาซูโมมาแล้ว หรือแม้กระทั่ง อาจไม่รู้มาก่อนว่า มีสมาคมซูโมแห่งประเทศไทย อยู่บนแผ่นที่ประเทศเราด้วย

547a3587
ใบเตย - วิภารัตน์ วิทูธีรศานต์ คือ เจ้าของประโยคเปิดเรื่องนี้ เธอยอมรับว่า ซูโม ไม่ใช่กีฬาชนิดแรกที่เธอคิดจะเล่น และเคยปฏิเสธมันด้วยซ้ำ เนื่องจากภาพจำของกีฬา

แต่หลังจากที่ อดีตนักยูโดหญิงดีกรีแชมป์ประเทศไทย ได้มาสัมผัสด้วยตัวเอง และก้าวไปถึงตำแหน่งรองแชมป์โลก มุมมองเธอที่มีต่อ ซูโม เปลี่ยนไปมากแค่ไหนจากตอนนั้น…  หรือมันก็ยังเป็นเพียงแค่ กีฬาที่คนอ้วนใช้แรงวิ่งชนกันแบบที่เธอเคยคิดเหมือนเดิมอยู่ดี?

 จากเด็กสมาธิสั้นสู่สนามยูโด
“ตอนเด็กเราไม่เล่นกีฬาเลย ก็เหมือนเด็กคนอื่นๆ ไปโรงเรียน เลิกเรียน กลับบ้าน กินขนม แต่ไม่รู้แม่คิดไปเองหรือเปล่า เขามองว่าเราเป็นคนสมาธิสั้น แม่ก็จะพยายามหากิจกรรมให้ทำตลอด ไปร้องเพลง ไปเล่นดนตรีไทย ไปทำผ้าบาติกอะไรอย่างนี้ ตามสไตล์ที่เขาทำ”

“เราเล่นซออู้ ตั้งแต่ 9 ขวบ ก็ได้ออกงาน ทำกิจกรรมของโรงเรียน แต่มาเปลี่ยน จริงๆตอนอายุ 12-13 ที่เริ่มเล่นยูโด ที่ต้องตื่นเช้าไปซ้อมกีฬา ซ้อมเสร็จไปเรียน เลิกเรียนมาซ้อมต่อ”

วิภารัตน์ ย้อนความหลังในวัยเด็กของตัวเอง เธอเติบโตในครอบครัวที่มีคุณแม่ทำงานธนาคาร (ในเวลานั้น) และคุณพ่อรับราชการ เป็นกำนันที่ตำบลพลวง จังหวัดจันทบุรี

หลังจบชั้นประถมศึกษา เธอเข้าศึกษาต่อระดับมัธยมฯ ที่ โรงเรียนศรียานุสรณ์ สถานศึกษาที่มีการสอนยูโด กีฬาที่เธอตัดสินใจเล่นด้วยเหตุผลที่คุณอาจคาดไม่ถึง…

a1
“ยูโด เป็นกีฬาที่ดังของจันทบุรี เวลามีใครไปแข่งได้เหรียญ เขาก็จะเอาไปแห่ ไปติดป้ายที่ศาลากลางบ้าง ด้วยความที่เราเป็นเด็กเรียนไม่เก่ง ไม่ชอบอ่านหนังสือ กว่าจะอ่านออกก็น่าจะสักประมาณ ป.3-ป.4. มั้ง (หัวเราะ) เลยรู้สึกอยากลองเล่น ยูโด เห็นในป้าย ชุดดูเท่ดี มีผูกสายอะไรแบบนี้ น่ารักดี”

“พอได้มาเล่น เรากลับรู้สึกสนุก เหมือนได้เจอเพื่อนที่คุยภาษาเดียวกัน เราไม่เคยออกแรงแบบนี้มาก่อน นึกออกไหม? เราเคยแต่สีซอ แล้วเปลี่ยนมาฉุดกระชากลากถูกอะไรแบบนี้ เราสนุกดี ครั้งแรกที่ซ้อม เราไม่ได้มีพื้นฐานมาก แต่ได้ยินเสียงพี่คนนู้น คนนี้เชียร์ “เตย เอาดิ เตยเอาหน่อย” เราก็รู้สึกแบบ เราทำได้นะ อินมาก อยากแข่งเยอะๆ ยิ่งแข่ง ก็ยิ่งอยากชนะ”

ทัวร์นาเมนต์แรกของ วิภารัตน์ วิทูธีรศานต์ กลับไม่ได้เป็นไปอย่างที่คิด ความพ่ายแพ้ในครั้งนั้น กลายเป็นบทเรียนสำคัญที่ทำให้เธอเรียนรู้ว่า การเดินบนเส้นทางของนักกีฬาต่อสู้หญิงของเธอ มีอะไรอีกหลายอย่างที่ต้องเรียนรู้มัน

“ยูโดเหรอ? แข่งครั้งแรกแพ้แบบน่าตบกระโหลกมาก” ใบเตย วิภารัตน์ เริ่มกล่าวอย่างออกรสออกชาติ

“อย่างตอนซ้อม โค้ชเขาก็สอนพื้นฐานหลักๆ เหมือนกับคนเริ่มเล่นกีฬาอะไรสักชนิด เขาจะสอนให้เราป้องกันตัวก่อนไปเข้าทำคนอื่น ทีนี้ ยูโด จะมีท่าที่เรียกว่า ตบเบาะ เราก็ตบไปด้วยความที่ไม่รู้ว่า ไอ้การตบเบาะมันทำให้เราแพ้ได้นะ”

“ตอนแข่งครั้งแรก จังหวะนั้นคู่แข่งเข้าท่าเรามา เราก็ลงไปตึ้ง! ตบเบาะ เปรี้ยง ทั้งที่ความจริงเราไม่ต้องทำก็ได้ แต่นาทีนั้นเราไม่รู้ไง เขาชอบพูดประโยคหนึ่งว่า แข่งให้เหมือนซ้อม ซ้อมให้เหมือนแข่ง นึกออกไหม? เราก็เลยแพ้แบบโง่ๆ”

547a3579
“การแพ้ในครั้งนั้น ทำให้เราเปลี่ยนวิธีคิด พอรู้ว่าจะมีรายการลงแข่ง เราต้องทำความเข้าใจก่อนว่า เราต้องแข่งยังไงถึงจะชนะ เราต้องพาคู่แข่งไปในทิศทางไหน โค้ชเขาก็ทำเหมือนเดิม แต่เราเปลี่ยนวิธีคิดใหม่”

ชัยชนะและความพ่ายแพ้
“ความจริง ยูโด เป็นศาสตร์แห่งความสุภาพและอ่อนโยน ตามที่ ท่านปรมาจารย์ จิโกโร คาโน (ผู้ก่อตั้งวิชา ยูโด) เคยบอกเอาไว้ เมื่อก่อนเราก็เข้าใจ ยูโด ในแบบเด็กๆ ไม่ได้ลึกซึ้งอะไร ก็เล่นไปจนถึง จุดที่รู้สึกว่า ยูโด เป็นศาสตร์แบบที่ท่านว่าไว้จริงๆ”

“สมมุติเราทำได้ถูก ก็แทบจะไม่ต้องออกแรงเลยก็ได้ เป็นเรื่องที่มหัศจรรย์มาก นึกออกไหม เราจะยกคนหนึ่งไปทิ้ง โดยที่ไม่ต้องใช้แรง จะเป็นไปได้ไง จนได้มาสัมผัสด้วยตัวเอง เออ ยูโด มันไม่ใช่แบบที่เราเห็น มันลึกซึ้งกว่านั้น”

“ตอนประมาณ ม.2-ม.3 เราไปแข่งกีฬาแห่งชาติที่ จ.ตรัง ครั้งนั้นเราเจอพี่ที่ชื่อแอน อยู่ทีมศรีสะเกษ เขาเล่นน้ำหนักตัวอยู่แค่รุ่น 52 กิโลฯ และ 57 กิโลฯ ส่วนเราตอนนั้นน่าจะสัก 80-90 กิโลฯ ห่างกันเกือบเท่าหนึ่ง จังหวะนั้น เรากำลังเข้าท่าอยู่ พอจะถอนออก พี่เขาโยนเราออก ตู้ม! สรุปเราแพ้”

ความพ่ายแพ้ กลายเป็นคุณครูที่สอนให้เธอแข็งแกร่งขึ้น หลังจากไม่ประสบความสำเร็จเลยตลอดช่วงแรกของชีวิตนักสู้  

12
“ใบเตย วิภารัตน์” ก็ได้ลิ้มรสชาติของชัยชนะ ที่หอมหวาน ชวนหลงใหล และอยากได้มันอีกเรื่อยๆ จนแทบจะทุ่มทุกอย่างในชีวิต เพื่ออุทิศกับกีฬายูโด

“เข้าปีที่สองก็เริ่มมีผลงาน ได้เหรียญกลับมา หลังจากนั้นก็เหมือนชีวิตเราทุ่มให้ยูโด จนถึงอายุสัก 17-18 เราเป็นคนมีเป้าหมายที่อยากเอาชนะให้ได้ อย่างรายการแรกที่เราแพ้ คือรายการนนทบุรี ซึ่งเด็กเล่นยูโด เขาจะเรียกว่า แมตช์ เดอะ มอลล์ เป็นรายการเล็กๆ สำหรับเด็กที่เริ่มเล่นใหม่ๆ เราตั้งใจมาก ว่าจะเป็นแชมป์เดอะ มอลล์ ให้ได้”

“จนเรามาได้เป็นแชมป์เดอะ มอลล์ เราก็อยากได้แชมป์ เยาวชน แชมป์ประเทศไทย แชมป์กีฬาแห่งชาติ วางแผนเป็นขั้นๆเลยนะ ว่าอายุเท่าไหร่ต้องติดทีมชาติ เราตั้งใจกับยูโดมาก เรื่องเรียนพูดตรงๆเลยว่า ตอนนั้นเรียนแบบทิ้งๆ ขว้างๆ ไปเรียนบ้าง ไม่เรียนบ้าง เรื่องอื่นเราแทบไม่โฟกัสในหัวเลย นอกจากยูโด”

ชัยชนะครั้งแล้ว ครั้งเล่า ที่เธอได้รับทั้งในระดับประเทศ รวมถึงระดับนานาชาติ ดูเหมือนจะเป็นผลตอบแทนที่คุ้มค่ากับเหงื่อและเรี่ยวแรงที่เธอลงทุนไปกับกีฬา ยูโด ตลอดช่วงเวลาหลายปี

จนมาถึงวันหนึ่ง ความสำเร็จเหล่านั้น กลับกลายเป็นสิ่งที่ตามมาหลอกหลอนเธอ ในวันที่พ่ายแพ้ และทำให้เธอรู้สึกเบื่อหน่ายกับกีฬายูโด

“ช่วง ม.4 เราไปจุดสูงสุดในสายตัวเองแล้ว คือได้เป็นแชมป์ประเทศไทย ได้แชมป์แมตช์เดอะ มอลล์ เริ่มเป็นที่รู้จัก ไปแข่งที่ไหนเขาก็จะเริ่มจับตามองเรา “คนนี้ไงเด็กจันท์ ที่ติดทีมชาติ” คนอื่นเขาก็เริ่มรู้ทางว่าเราเล่นยังไง ตรงนี้แหละที่ทำให้เรารู้สึกเริ่มตันกับยูโด”

11
“ตันเพราะทุกคนเขารู้แล้วว่าเราเล่นอะไร เพราะเราใช้แต่แรงไง คือเราจะมีท่าหนึ่งชื่อท่ามากิอูมิ เป็นท่าที่เราใช้ประจำ เป็นท่าม้วนๆ ลงไป พอถึงวันหนึ่งทุกคนเขารู้ เขาก็แก้ทางให้เราเข้าท่าไม่ได้  จำได้ว่าปีนั้น ไปแข่งที่ไหนก็ไม่เหรียญเลย (จากที่เคยได้ตลอด) โดนโค้ชด่า ทำไมถึงไม่ทำยังงั้น ยังงี้ เป็นช่วงที่รู้สึกแย่สุด ตั้งแต่เล่นยูโดมา”

“ด้วยความที่ เราโอเคกับท่านี้แล้ว เราใช้ท่านี้ได้เหรียญเงินเยาวชนแห่งชาติ, ได้เหรียญทองชิงแชมป์ประเทศไทย, ได้เหรียญทองกีฬาแห่งชาติ, ได้เหรียญทองแดงชิงแชมป์เอเชีย ระดับเยาวชน ไปแข่งรายการที่ฮ่องกง ก็ได้เหรียญติดมือกลับมา ทำให้เราไม่อยากเปลี่ยน”

“เราเป็นเด็กขิงอะ (หัวเราะ) ก็เล่นแต่ท่านี้ ได้แชมป์แล้ว ทำไมต้องมีท่าอื่น คิดแบบเด็กโง่คนหนึ่งเลย เลยทำให้เราตันเร็ว ทั้งที่ความจริงยูโด มันเล่นได้ทั้งซ้ายและขวา แต่เราไม่ฟังไง พูดง่ายๆคือ เรามีช่วงเวลาพีคแค่ปีเดียวเอง”

“หลังจากนั้น เราไปเข้าโครงการสปอร์ตฮีโร ของ กกท. ทำให้เราได้เจอโค้ชใหม่ๆ ผู้เล่นใหม่ๆ เขาก็มาสอน มาแนะนำ บวกกับเราเริ่มคิดได้ ก็เลยค่อยๆเปลี่ยนจากตรงนั้น”

10
การต่อสู้ครั้งใหม่
วิภารัตน์ เข้ามาอยู่ในโครงการสปอร์ตฮีโร พร้อมกับเข้าศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในโควต้าของนักกีฬา แต่ด้วยความที่เธอไม่สามารถเดินทางไปซ้อมที่ จังหวัดจันทบุรี จึงต้องเปลี่ยนตัวผู้ฝึกสอน เพื่อให้ตัวเองสามารถฝึกซ้อมที่กรุงเทพฯได้ และเรื่องราวของนักซูโมหญิง ดีกรีรองแชมป์โลกชาวไทย ก็เริ่มต้นขึ้นที่นี่…

“เขาเปลี่ยนโค้ชให้มาเป็น พี่แดน (จรัสพิมพ์ ศรีบุญเรือง - ปัจจุบันเป็นเลขาธิการสมาคมซูโมแห่งประเทศไทย) ซึ่งเป็นโค้ชยูโดของหอการค้าฯ ตั้งแต่ครั้งแรกๆที่คุยกัน พี่แดนก็ชวนให้มาเล่น ซูโม”

“เอาจริงๆ ตอนนั้น ความรู้สึกเราก็เหมือนกับคนไทยคนอื่นๆอะ ซูโมดูเป็นเรื่องตลกอะ ซูโมกิ๊ก งั้นเหรอ? ดูเหมือนเป็นกีฬาที่เอาคนอ้วน วิ่งมาชนกัน ยังไงเราก็ไม่ยอมเล่นเด็ดขาด ไม่ยอมไปเล่นแน่นอน”

“จากนั้นก็มารู้จักที่คนหนึ่งที่เป็นช่างภาพ และเรียนอยู่ที่สารพัดช่างฯ เขาเล่นซูโมเหมือนกัน พอดีเขาอยากได้แบบที่ดูอ้วนๆ ขาวๆหน่อย มาถ่ายรูป เขาก็เลยชวน หลังจากถ่ายเสร็จ พี่เขาก็พูดถึงแต่ซูโมว่า ซูโมดีอย่างนั้น อย่างนี้ เราก็เลยหลงกลมาซ้อมครั้งแรก สุดท้ายก็วนเข้าลูปเดิม แบบตอนเล่นยูโด (หัวเราะ)”

“น้องเตยแข็งแรงมาก” “น้องเตยเก่งมาก ชนได้ทุกคนเลย” คำชมจากสองรุ่นพี่กลายเป็นกำลังใจชั้นดี ให้เธอกลับมามีความสุขกับการเล่นกีฬาอีกครั้ง หลังจากต้องเผชิญกับความกดดันมากมาย ตลอดหลายปีหลังในการเล่นยูโด

09
ซูโม กลายเป็นโลกใบใหม่ ที่เธอไม่ถูกคนสนใจ ไม่ถูกแก้ทาง แถมยังไม่มีความกดดันใดๆ ในการเล่นเลย ไม่หนำซ้ำ เธอยังกลายเป็น ม้ามืดที่ยากจะจับทางได้ ด้วยนำเอาทักษะของยูโดมาปรับใช้กับ ซูโม ซึ่งหากมองผิวเผินก็เป็นกีฬาที่คล้ายกัน

“เราไม่เคยศึกษา ซูโม มาก่อนภาพจำของเราคิดแค่ว่าเป็นการต่อสู้ของคนอ้วนๆ แต่จำได้ว่าวันแรกที่ไปซ้อม ปรากฏว่าขากลับบ้าน เราเดินขึ้นสะพานลอยไม่ได้ กีฬาซูโม มันจะมีให้ทำท่าที่ยืนแล้วยกขาขึ้นอะ (เปรียบเสมือนท่าฝึกพื้นฐานของซูโม่) จะรู้เลยว่าเมื่อยมาก แต่ว่าวันนั้นเราได้รับคำชมเยอะ ก็สนุกสนานดี”

“เอาจริงๆ ถ้าไม่ติดต้องแข่งกีฬามหาลัยฯ อาจเลิกเล่นยูโด มาเล่นซูโมอย่างเดียวด้วยซ้ำ เรารู้สึกว่าเราปัง เราทำตรงนี้ได้ดีจังเลย เรามีความสุข แต่อย่างยูโด เราเล่นมานาน เราคิดเยอะมาก เราเป็นแชมป์ ถ้าแพ้เด็กโนเนม ก็จะรู้สึกอาย เสียความมั่นใจไปเลย แต่สำหรับ ซูโม เราไม่มีความกดดันเลย เราเป็นหน้าใหม่ ไม่มีใครรู้จักเรา เล่นแล้วสบายใจ อยากเล่นต่อ”

“ช่วงแรกเล่นสองรุ่น คือรุ่น 75 กิโลกรัมขึ้นไป (เฮฟวีเวต) กับรุ่นโอเพ่น (ไม่จำกัดน้ำหนัก) เล่นสลับกัน จริงๆ ยูโด กับ ซูโม มันเป็นความเหมือนในความต่างนะ ถ้าลองเล่นครั้งแรก แล้วเอาเทคนิคของยูโดมาเล่น จะรู้สึกว่าเหมือนกัน”

“หลังจากซ้อมซูโม ได้ประมาณ 4 เดือน ก็ได้ไปแข่งครั้งแรก เราขึ้นคู่แข่งด้วยท่ายูโด เขาจับทางเราไม่ได้ เพราะเราเป็นม้ามืด เขาไม่รู้จักเรา อยู่ๆ มาท่ายูโดเฉยเลย ไปทุ่ม ไปดีดเขา ไปเกี่ยวขาเขา คือมันไม่ใช่ซูโมเลยอะ”

“ความจริงเราก็พอรู้แหละว่า ซูโม ต้องทำอะไรบ้าง แต่เราเล่นยูโดมาเป็น 10 ปี เหมือนเป็นสัญชาตญาณมากกว่า แต่พอเล่นไปสักพักหนึ่ง เราก็ไม่สามารถทำแบบนั้นได้ตลอด และเราต้องหันมาเดินวิถีของซูโมจริงๆ ว่าเขาซ้อมกันยังไง”

08
แม้ว่าประเทศไทย จะมีสมาคมซูโมฯ (ที่เกิดขึ้นจากนักธุรกิจชาวญี่ปุ่น) แต่ว่าการแข่งขัน ซูโม ภายในประเทศนั้น ยังไม่เคยเกิดขึ้น ดังนั้นนักซูโมทุกคนจึงต้องฝึกฝน และหาโอกาสไปแข่งยังต่างแดนเท่านั้น

ประสบการณ์ในต่างประเทศที่ วิภารัตน์ ได้รับจาก กีฬาซูโม จึงเป็นโลกอีกใบ ที่แตกต่างกับการเล่น ยูโด ที่เธอสามารถหาทัวร์นาเมนต์ในไทย ลงแข่งได้ไม่ยากนัก

“ซูโมไม่มีแข่งในไทย เราต้องเดินทางไปแข่งต่างประเทศอย่างเดียว รายการแรกของเรา คือชิงแชมป์เอชีย ได้เหรียญเงินมา จากนั้น ก็ไปได้เหรียญทองแดง ชิงแชมป์โลก ปี 2014 ที่ไต้หวัน”

“ตอนที่ไปแข่งชิงแชมป์โลกที่ไต้หวัน ซูโม เป็นกีฬาที่ดูอลังการมาก ข้างบนคล้ายๆกับผ้าม่าน ข้างล่างสนามแข่งขันเป็นลานดิน ทุกอย่างเกิดขึ้นเร็วมาก อย่าง ยูโด เขาจะแข่งเป็นรอบใช่ไหม รุ่นไหนคนเยอะสุดให้แข่งก่อน เพื่อหาคนเข้ารอบ วนกันไปเรื่อยๆ แต่ซูโม จะเรียกเป็นรุ่นเลย เช่น ไลท์เวท มิดเดิลเวท สมมุติไลท์เวทมี 24 คน ก็ต้องแข่งให้จบในรอบนั้นเลย จนได้ที่ 1”

“ทุกอย่างเลยไปเร็ว แทบไม่มีการพัก เราขึ้นไปแข่งเสร็จ ลงจากเวที ก็ต้องมารอแข่งต่อทันทีเลย เราจึงรู้สึกมันยิ่งใหญ่มาก”

07
ในเวทีระดับโลก เป็นสนามแข่งขันที่เต็มไปด้วยคู่แข่งที่เก๋าเกมด้านซูโมกว่าเธอ ในทุกๆสนามแข่งขัน นอกจากจะทำให้เธอเห็นความแตกต่างของ ยูโด กับ ซูโม ชัดเจนขึ้นแล้ว ประสบการณ์ยังทำให้เธอเริ่มเข้าใจ ซูโม มากขึ้นในมุมที่เปลี่ยนไป

“อย่างตอนชิงแชมป์เอเชีย ก็รู้สึกเซอร์ไพรส์แหละที่ได้เหรียญมา แต่ก็มีเรื่องการตัดสินนี่แหละ ที่แตกต่างกับกีฬาอื่น หากกรรมการไม่แน่ใจ เขาอาจขอดูภาพช้า ภาพสโลว์ เพื่อตัดสินใช่ไหม แต่ซูโม ไม่ใช่แบบนั้น ถ้ากรรมการเกิดความรู้สึกไม่มั่นใจ เขาจะให้แข่งใหม่ทันที อย่างนัดนั้น เราชนะไปแล้ว แต่กรรมการบอกว่า เขายังไม่ชัวร์”

“กรรมการซูโม มี 6 คน ถ้าเขาไม่แน่ใจเขาจะเริ่มใหม่เลย ถ้าสมมุติกรรมการบนสนาม เห็นต่างกับกรรมการที่นั่งฝั่งนักกีฬาออก เขาจะเรียนขึ้นมาคุย ถ้าเขากวักมือเรียก แปลว่า นักกีฬาต้องเดินเข้าไปในสนาม เพื่อทำการแข่งขันต่อ”

“อย่างตอนชิงแชมป์เอเชีย เราชนะคนที่ได้ที่ 1 ไปแล้ว ในรอบชิงฯ แต่กรรมการเขาไม่ชัวร์ว่าเราจับเสื้อเขาหรือเปล่า ไปกระชากลากมาไหม? ตอนนั้นเราก็ไม่ชัวร์เหมือนกัน เพราะเวลาเล่นยูโด เราจับไง ซึ่งก็เป็นไปได้ เราเลยต้องแข่งใหม่อีกรอบ”

05
ประสบการณ์จากได้ไปฝึกฝน และแข่งขันในต่างแดน การเรียนรู้จากความพ่ายแพ้ และการพัฒนาไม่หยุดอยู่กับที่ ทำให้ในการแข่งขันชิงแชมป์เอเชีย และชิงแชมป์โลก อีกสองปีถัดมา กลายเป็นปีทองของเธอ

“ปี 2016 น่าจะเป็นช่วงเวลาที่ท็อปฟอร์มสุดแล้ว เราไปแข่งชิงแชมป์เอเชียก็ได้เหรียญทอง ไปแข่งชิงแชมป์โลก ก็ได้เหรียญเงิน รวมถึงรายการที่ญี่ปุ่น เราก็ได้เหรียญทองทั้งรุ่น เฮฟวีเวท และโอเพ่นเวท”

“ปีต่อมา เราได้ไปเวิลด์เกม ก็ได้รับคำชมเยอะ มีนักซูโมบราซิล กับ มองโกเลีย มาคุยด้วย เพราะเขาเข้าใจว่าเราเป็นญี่ปุ่น เขาบอกว่า เราเล่นสไตล์ญี่ปุ่น ย่อต่ำดี อะไรอย่างนี้ เขาก็ชมเรามาเยอะ เขาก็เหมือนจับสังเกตเรา แต่ถ้าเราแข็งแรงมากพอ เราจะสามารถเรียนเทคนิคต่อไปได้”

“บางอย่างถ้าเป็นช่วงที่เราไม่แข็งแรง เราทำไม่ได้หรอก เพราะต้องใช้กำลัง ต่อให้บางเทคนิคที่เขาบอกว่า ไม่ต้องใช้แรง ก็ต้องใช้แรงอยู่ดี เพราะฉะนั้นทุกอย่างคือประสบการณ์ เล่นแล้วแพ้ ก็คือประสบการณ์ เราเล่นซูโมมา 4 ปี เราก็ยังรู้ไม่หมด”

“แค่เรื่องเท้า รู้ไหมว่า ในซูโม ส่วนที่สูงกว่าข้อเท้าห้ามโดนพื้น อธิบายตอนแรกก็ไม่มีใครเข้าใจ แต่เวลาลงแข่ง มีแค่ฝ่าเท้าเท่านั้นที่โดนพื้นได้ ส่วนอื่นนิดเดียว โดนพื้นก็แพ้แล้ว ซูโม เป็นกีฬาที่ต้องใช้ความเข้าใจมากพอสมควร และต้องอย่าหยุดที่จะเรียนรู้”

02
บทเรียนจากขา แขน และการก้มหัว
“ปีที่แล้วเป็นช่วงเวลาที่ได้เรียนรู้หลายๆอย่างจาก ซูโม เพราะว่าปีนั้นเป็นปีที่ว่าง ไม่มีแข่งชิงแชมป์โลก และชิงแชมป์เอเชีย (จัด 2 ปีต่อหนึ่งครั้ง) แต่มีแข่งสามรายการ ซึ่งเราได้เหรียญมาแค่รายการเดียว แถมยังเป็นประเภททีมด้วย”

“ปีนั้นเราเพิ่งย้ายไปอยู่ที่ประเทศจีน พูดภาษาจีนก็ไม่ได้ ภาษาอังกฤษที่นั่น ก็เหมือนไม่ค่อยมีประโยชน์ เพราะไม่มีใครฟัง มันเป็นช่วงที่ต้องปรับตัว ร้องห่มร้องไห้ทุกวัน แล้วปักกิ่งอากาศลบ 18 องศา ทำให้เราแทบไม่ได้ซ้อม ซ้อมก็ต้องซ้อมคนเดียว ไม่เหมือนตอนอยู่ไทย ที่เรายังมีเพื่อน”

“พอไม่ได้ซ้อม วันแข่งเลยต้องเอาเทคนิคยูโดมาใช้ ความจริงทั้ง 3 รายการ เราควรจะได้เหรียญประเภทบุคคล อย่างน้อยสักเหรียญ แต่มันไม่ได้เลย แถมรายการอินวิเตชั่นที่ญี่ปุ่น เราแพ้คนที่ตัวเล็กกว่ามาก เป็นช่วงเวลาที่เรารู้สึกแย่มากจริงๆ”

สถานการณ์ และความกดดันถาโถมเข้ามาใส่เธออีกครั้ง เหมือนกับเมื่อหลายปีก่อนที่ วิภารัตน์ เคยพบเจอเมื่อครั้งเล่น ยูโด แต่คราวนี้เธอจัดการกับมันได้ดีกว่าเดิม และกลับมาประสบความสำเร็จอีกในปี 2018 ด้วยการคว้า 1 เหรียญทองในศึกชิงแชมป์เอเชีย, 1 เหรียญทองแดง รายการชิงแชมป์โลก, 1 เหรียญทองในรายการอินวิเตชั่นที่ญี่ปุ่น และ 1 เหรียญทอง 1 เหรียญทองแดงจากทัวร์นาเมนต์ที่ไต้หวัน

แม้จะได้ชื่อว่าเป็น นักกีฬาซูโมหญิงคนไทยที่ประสบความสำเร็จในกีฬาต่อสู้ แต่ใครเล่าจะรู้ว่า แท้จริงแล้ว วิภารัตน์ มีไลฟ์สไตล์ที่ตรงข้ามกับภาพลักษณ์ที่เราเห็นว่าเธอเป็น นักซูโมที่แข็งแรง บึกบึน

“หนูชอบแต่งหน้ามากค่ะ ชอบมากๆๆ (ย้ำเสียง) ปกติหนูเป็นคนไม่มีคิ้ว เริ่มจากหัดเขียนคิ้วก่อน แต่ถ้าเราเขียนคิ้วแล้วบนหน้าไม่มีเครื่องสำอาง ก็ดูตลกอะ จนเริ่มใช้บลัชออน ลิปสติก แป้งรองพื้น จากนั้นไปอายชาโดว์ ตอน ม.6 รู้สึกตอนนั้นตัวเองจริงจังกับการแต่งหน้ามาก”

04
“เรามีความสนใจเรื่องความสวยความงาม เราติดตาม Beauty Blogger พวก Youtuber คนต่างๆ ที่ทำคอนเทนต์เกี่ยวกับเรื่องพวกนี้ จะอินมากๆ อย่าง Eyeta เราชอบมาก”

“เพื่อนที่รู้จักเรา เขาก็สนใจเรามาก เข้ามาถามประมาณว่า “ฉันนะ อยากคุยกับแกมากเลย จะมีนักกีฬาต่อสู้สักกี่คน ที่ติดขนตาปลอมมาเรียน” คือเบอร์นั้นเลยนะ เวลาอยู่กับเพื่อน เราก็เหมือนเป็นกูรูเครื่องสำอาง กูรูแต่งหน้าไปเลย (หัวเราะ)”

“เราแค่รู้สึกว่ามันไปด้วยกันได้นะ การแต่งหน้ากับการเล่นกีฬา เราต้องจริงจัง ถ้าวันไหนไม่แต่ง ต้องไม่แต่งเลย แต่ถ้าวันไหนแต่งหน้า ต้องไปให้สุดทุกทาง (หัวเราะ)”

“ขึ้นอยู่กับว่าวันไหน เราจะไปที่ไหน ไปทำอะไร เช่น ไปทะเลอาจใส่ทูพีซ ไปห้างอาจเป็นอีกชุดที่เราชอบ ไปซ้อมอาจใส่แค่เสื้อโง่ๆ กางเกงธรรมดาก็ได้ เพื่อนก็จะรู้ว่า เราใจกล้า กล้าแต่งอะไรอย่างนี้ ไม่รู้สิ หนูไม่รู้สึกว่าน้ำหนักตัว เป็นอุปสรรคต่อความสวย”

ด้วยความที่ ซูโม เป็นกีฬาที่ต้องการความหนาของร่างกาย เพื่อช่วงชิงความได้เปรียบ เราจึงเห็นได้ว่า นักกีฬาซูโม ส่วนมาก ล้วนแล้วแต่ต้องทำน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น ถ้ามองในมุมของนักกีฬาคนหนึ่ง มันเป็นเหมือนหน้าที่ของ นักซูโม ที่ต้องขุนให้ตัวเองอ้วนขึ้น

แต่ถ้ามองในมุมของผู้หญิงธรรมดา ที่รักสวยรักงาม นี่เป็นเรื่องฝืนใจ ใบเตย วิภารัตน์ หรือเปล่า? ที่ต้องเพิ่มน้ำหนักตัว มากขึ้นเรื่อยๆ

“เราไม่ไขว้เขวนะ เรื่องกินให้เยอะขึ้น แล้วทำน้ำหนัก การกินเป็นความสุขอย่างหนึ่งนะ เรามีเพื่อนที่ชอบกินเยอะมาก ไปทุกครั้ง ก็รู้สึกสนุก จริงๆ เขาไม่ได้บังคับให้หนูเพิ่มน้ำหนัก แต่ตอนนี้ก็เดินหน้าเพิ่มน้ำหนักอย่างเดียว ไม่มีถอย (หัวเราะ)”

“ตอนแรกที่เล่น ซูโม หนักอยู่ประมาณ 110 กิโลฯ ตอนนี้น่าจะอยู่ที่ 130-132 กิโลฯ แล้วมั้ง เราคิดว่าน้ำหนักเป็นเรื่องสำคัญ เราไม่ได้เพิ่มน้ำหนักตามคู่แข่ง แต่เราเพิ่มเพราะเราจริงจังกับซูโม เราอาจจะไม่ได้มีเทคนิคดีนัก เราก็ต้องเดินในทางของเราต่อไป น้ำหนักก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ เราได้เปรียบ”

4 ปี อาจไม่ใช่ระยะเวลาที่ยาวนานนัก สำหรับนักซูโมคนหนึ่ง แต่มันก็เป็นเวลาที่มากพอ ที่ทำให้เธอได้เรียนรู้กับหลายๆ บทเรียน ที่แฝงอยู่ในกีฬาต่อสู้ชนิดนี้ ที่สำคัญเธอ ได้เรียนรู้มันจากการลงมือปฏิบัติ หาใช่จากการอ่านด้วยตำราเล่มใด

“อย่างที่เราบอก เราแทบไม่รู้อะไรเกี่ยวกับ ซูโม เลย แต่มันมีหลักบางอย่างที่เราเอามาปรับใช้ได้ โดยที่ไม่ต้องอิงประวัติศาสตร์ ความลึกซึ้งบางทีมันอยู่ที่เราปฏิบัติมากกว่าทฤษฎีนะ”

03
“สมมุติซูโม บอกไม่ให้เรายกเท้า ให้เราเดินไถเท้าไป เราไม่รู้หรอกว่า เราทำแบบนี้เพื่ออะไร จนกว่าเราจะทำสำเร็จ และรู้ว่า การไถเท้าทำให้คู่แข่ง ไม่สามารถงัดเท้าเรา  ซึ่งก็จริงแบบนั้น เราไม่ชอบอ่านหนังสือ เราไม่ชอบทำนู่นทำนี่ แต่ในกีฬาซูโม มีเรื่องราวใหม่ๆ เซอร์ไพรส์เราตลอดเวลา เราได้เรียนรู้อะไรหลายอย่างจากประสบการณ์ที่เพิ่มทุกปี”

“มีคำหนึ่งที่ตราตรึงใจเรามาก ตั้งแต่ครั้งแรกที่เล่นจนถึงทุกวันนี้ คือคำว่า “ขาจะทำให้เราไม่แพ้ แต่แขนจะทำให้เราชนะ” เราว่าคำนี้จริงมากเลยนะ อย่างเวลาแข่งซูโม แขนเราต้องแข็งแรงเพื่อผลักคู่แข่งออกไป แต่จริงๆแล้วมันใช้ทั้งตัว สมอง รวมถึงขา ถ้าขาพี่ไม่แข็งแรงจริง ก็ยืนอยู่ไม่ได้ เพราะซูโมต้องย่ออยู่ตลอด”

“หลักการนี้เราเอาไปใช้ได้กับหลายอย่างในชีวิต เราเป็นคนไม่ตั้งใจเรียน แต่ตอนเรียนมหาลัยฯ ก็เรียนนิติศาสตร์นะ มันดูย้อนแยงกันดี แต่เราต้องไม่แพ้ และต้องชนะไปในเวลานั้นด้วย ขาเราต้องเดินต่อไป แต่มือเราต้องเปิดหนังสืออะไรแบบนี้”

ซูโม ในความหมายของ วิภารัตน์ วิทูธีรศานต์ ในวันนี้ จึงไม่ใช่แค่ กีฬาของคนอ้วนที่พุ่งชนกัน แต่เธอยังได้เรียนรู้หลักของการใช้ชีวิต และยอมรับซึ่งกันและกัน ผ่านการแข่งขัน กติกา และวัฒนธรรมที่ไม่เหมือนกีฬาชนิดใดในโลก

“เราชอบวิธีการตัดสินของ ซูโม มันอยู่ในจุดที่แฟร์มากๆ ถ้าไม่ชัวร์ก็แค่เอาใหม่ กรรมการมีตั้งหลายคน นึกออกไหมว่า ไม่มีการฮั้วกันแน่นอน เพราะรอบๆวงมีทรายอยู่ ถ้ามีรอยเท้าอยู่ที่ทราย แสดงว่ามีคนเดินออกจากวงไปแล้ว ทุกอย่างเห็นได้ด้วยตา ใครทำอะไร ใครออก ใครได้ ถ้าไม่ชัวร์ แค่เล่นใหม่ เท่านั้น แฟร์มาก”

“สำหรับเรา เรามองว่า ซูโม เป็นกีฬาทีต้องใช้ความอดทนมากกว่า ยูโด นะ ในความรู้สึกของเรา กีฬาอะไรเดินย่อทั้งเกม ถ้ายืดคือแพ้เลย ซูโม สอนเราคือเรื่องการก้มหัวให้คนอื่น เพราะ ซูโม จะไม่ให้เรายืดเลย แม้แต่ตอนที่เราชนะ เขาก็จะให้นั่งลง”

“ถ้าเป็นกีฬาอื่นแข่งเสร็จ นักกีฬาจะโค้ง ไม่โค้ง ก็ไม่เป็นไร แต่ซูโมนี่ต้องนั่งลงเลยนะ จากนั้นกรรมการจะบอกทิศทางว่าใครเป็นฝ่ายชนะ พอเขาผายมือเสร็จ ก็กลับมาที่มุมตัวเอง แล้วนั่งลง ก้ม คำว่าก้มของเขา จึงไม่ใช่การยอมแพ้ แต่เป็นการให้เกียรติซึ่งกันและกัน”

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook