มือโปรอีสปอร์ตสมักเลิกไวกว่านักกีฬาประเภทอื่น แถมมีบาดเจ็บคล้ายนักสู้ MMA?

มือโปรอีสปอร์ตสมักเลิกไวกว่านักกีฬาประเภทอื่น แถมมีบาดเจ็บคล้ายนักสู้ MMA?

มือโปรอีสปอร์ตสมักเลิกไวกว่านักกีฬาประเภทอื่น แถมมีบาดเจ็บคล้ายนักสู้ MMA?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

วิทยาการที่ล้ำหน้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องวิทยาศาสตร์การกีฬา ได้กลายเป็นตัวช่วยสำคัญให้นักกีฬาในยุคสมัยใหม่หลายคน สามารถไปถึงจุดพีคของศักยภาพร่างกายได้เร็วขึ้น รวมถึงอยู่ในจุดสูงสุดได้นานกว่าเดิม

ทว่าในวงการอีสปอร์ตส์ซึ่งกำลังเป็นกระแสที่มาแรงในยุคสมัยนี้ กลับมีสิ่งที่น่าประหลาดใจซ่อนอยู่ เมื่อหากดูตามรายการแข่งขันต่างๆ โดยเฉพาะในระดับโลกก็จะพบว่า นักกีฬาอีสปอร์ตส์ส่วนใหญ่จะมีอายุในช่วงวัยรุ่นตอนปลายถึงผู้ใหญ่ตอนต้น หาได้ยากมากที่จะมีนักกีฬารุ่นอายุ 20 ปลายๆ ขึ้นไป

 

ยิ่งไปกว่านั้น สิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างคือ มีการค้นพบว่าลักษณะอาการบาดเจ็บของนักกีฬาอีสปอร์ตส์ ยังมีความคล้ายคลึงกับนักสู้ในกีฬาศิลปะการต่อสู้แบบผสม หรือ MMA ทั้งๆ ที่ลักษณะกีฬาทั้งสองชนิดนี้แตกต่างราวฟ้ากับเหวด้วย … ว่าแต่เหตุใดถึงเป็นเช่นนั้นไปได้กันล่ะ?

สถิติที่นำมาซึ่งความสงสัย

ESPN สื่อกีฬาระดับโลกเคยทำการสำรวจเมื่อปี 2017 ซึ่งพบว่า นักกีฬาอีสปอร์ตส์ในเกมดังๆ อย่าง Counter Strike: Global Offensive (CS:GO), StarCraft II รวมถึง League of Legends (LoL) มีอายุเฉลี่ยต่ำกว่านักกีฬาอาชีพในหลายๆ กีฬาเสียอีก โดยนักกีฬาของเกม CS:GO มีอายุเฉลี่ยที่ 23.4 ปี, StarCraft II 23 ปี และ LoL มีอายุเฉลี่ยเพียง 21.2 ปี น้อยกว่านักกีฬาอาชีพอย่าง อเมริกันฟุตบอล NFL ซึ่งมีอายุเฉลี่ย 26.6 ปี และ บาสเกตบอล NBA 26.8 ปีอย่างเห็นได้ชัด

 1

แต่ขณะเดียวกัน เราก็มักจะได้ยินข่าวอยู่เนืองๆว่า โปรเกมเมอร์หลายคนตัดสินใจอำลาวงการแข่งขันอาชีพด้วยวัยที่น้อยเกินคาด อย่างเช่น ไฮ แลม อดีตนักกีฬาอีสปอร์ตส์เกม LoL จากทีม Cloud9 ซึ่งประกาศเลิกเล่นด้วยวัยเพียง 22 ปีจากอาการบาดเจ็บ แม้แต่ทาง Roit Games บริษัทผู้สร้างเกม LoL ยังยอมรับเลยว่า ผู้เล่นอาชีพในเกมของพวกเขาส่วนใหญ่มักจะเลิกเล่นในช่วงวัย 20 กลางๆ เท่านั้นเอง ซึ่งต่างจากนักกีฬาอื่นๆ อย่าง ฟุตบอล, อเมริกันฟุตบอล และบาสเกตบอล ที่หากไม่โชคร้ายประสบกับอาการบาดเจ็บตั้งแต่วัย 20 กว่าๆ ส่วนใหญ่มักจะเลิกเล่นในช่วงขึ้นเลขหลักสามกันแล้วทั้งสิ้น

และนั่นก็นำมาซึ่งข้อสงสัยว่า เหตุใดนักกีฬาอีสปอร์ตส์จำนวนไม่น้อยถึงต้องยุติเส้นทางอาชีพในวัยที่เปรียบเสมือนช่วงกำลังสร้างชื่อเมื่อเทียบกับกีฬาอื่นๆกัน?

เมื่อสมองไม่ไวเท่าใจสั่ง

คณะอาจารย์จากมหาวิทยาลัย ไซม่อน เฟรเซอร์ ประเทศแคนาดา นำโดย โจเซฟ ธอมป์สัน, มาร์ค แบลร์ และ แอนดรูว์ เฮนรี่ย์ ได้ทำการศึกษาเมื่อปี 2014 โดยใช้กลุ่มตัวอย่างจำนวนมากถึง 3,305 คนในช่วงอายุระหว่าง 16-44 ปี พวกเขาให้ผู้เข้ารับการศึกษาเล่นเกม StarCraft II เพื่อดูว่าการตอบสนองของสมองในแต่ละช่วงวัยเป็นอย่างไร

 2

ผลปรากฎว่า การตอบสนองของกลุ่มตัวอย่างจากวัย 16 ปีจะค่อยๆ ดีขึ้นจนถึงอายุ 24 ปี หลังจากนั้นก็จะค่อยๆ ถดถอยตามอายุที่มากขึ้น โดยในทุก 15 ปี ความเร็วในการตอบสนองของสมองจะลดลงถึง 15% คิดง่ายๆ ก็คือปีละ 1% เลยทีเดียว

ที่สำคัญคือ ไม่ว่ากลุ่มตัวอย่างจะมีฝีมือในการเล่นเก่งขนาดไหน ก็ได้ผลลัพธ์ที่ไม่ต่างกันอีกด้วย

โจเซฟ ธอมป์สัน หนึ่งในหัวหอกสำคัญของทีมงานวิจัยนี้เผยว่า "สาเหตุของเรื่องดังกล่าวส่วนหนึ่งเกิดจากความสัมพันธ์ระหว่างความเร็วและความแม่นยำ เราพบว่าผู้เล่นที่มีอายุมากมักจะมีการตัดสินใจที่ช้าลง เพื่อให้ความสำคัญกับการเคลื่อนที่อันแม่นยำตลอดจนการวางแผน"

"อย่างไรก็ตาม แม้เกมเมอร์ที่มีอายุมากจะมีการตอบสนองช้ากว่า แต่ดูเหมือนพวกเขาจะชดเชยสิ่งที่ถดถอยด้วยการใช้กลยุทธ์ที่เรียบง่ายกว่า รวมถึงใช้งานอินเตอร์เฟซต่างๆ ของเกมได้อย่างมีประสิทธิภาพกว่าเกมเมอร์หนุ่มๆ ซึ่งทำให้พวกเขาสามารถรักษาทักษะที่มีอยู่ไว้ได้"

เรื่องดังกล่าวยังถือว่าสอดคล้องกับสิ่งที่เกิดขึ้นในการแข่งขัน The International ของเกม Dota 2 ซึ่งถือเป็นทัวร์นาเมนต์อีสปอร์ตส์ที่ชิงเงินรางวัลสูงที่สุดในโลก โดยในการแข่งขันปี 2018 ที่เพิ่งผ่านพ้นไป ผู้เล่นส่วนใหญ่ของทีมที่ผ่านเข้ารอบสุดท้ายล้วนมีอายุในช่วง 21-23 ปี ยิ่งไปกว่านั้น ค่าเฉลี่ยความสามารถส่วนบุคคล หรือพูดแบบให้เข้าใจง่ายคือ ฟอร์มการเล่นส่วนบุคคล (Individual Match Performance: IMP) ของผู้เล่นที่อายุมาก ก็สู้ผู้เล่นซึ่งมีอายุน้อยกว่าไม่ได้อีกด้วย

 3

ประเด็นที่กล่าวไปข้างต้น ทำให้เราค้นพบเรื่องที่น่าสนใจอีกประการ นั่นคือผู้เล่นอายุน้อยกว่า มักจะได้ประจำอยู่ในตำแหน่ง 1 หรือ 2 อันเปรียบเสมือนเป็นหัวหอกในการต่อสู้ของแต่ละเกมที่ทำการแข่งขัน ส่วนผู้เล่นที่มีอายุมากกว่า ซึ่งโดยมากคือกัปตันทีม จะไปอยู่ในตำแหน่ง 5 ที่เปรียบเสมือนเป็นตัวซัพพอร์ตมากกว่า (ถ้าเทียบกับฟุตบอลก็คล้ายๆ กับ ไรอัน กิ๊กส์ ที่ในวัยเริ่มร่วงโรยก็ถูก เซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน จับมาเล่นมิดฟิลด์ตัวกลางคอยคุมจังหวะเกมแทนที่จะใช้ให้เป็นปีกกระชากลากเลื้อยเหมือนตอนหนุ่มๆ นั่นแหละ)

แต่แน่นอนว่า ผลลัพธ์จากการศึกษานี้ไม่ใคร่จะถูกใจเหล่าเกมเมอร์เท่าใดนัก พวกเขาหลายคนเชื่อว่า อายุไม่ได้เป็นอุปสรรคในการแข่งขันเกมระดับสูงแต่อย่างใด เพราะมีตัวอย่างให้เห็นมาแล้วก็ไม่น้อย

ทิโมธี่ "autimatic" ทา โปรเกมเมอร์ CS:GO วัย 21 ปีของทีม Cloud9 เปิดใจถึงเรื่องนี้ว่า "แม้แต่ในทีมของผมเอง ผมก็ยังคิดว่าผู้เล่นอายุมากหลายๆ คนมีทักษะ, ปฏิกิริยา และการตอบสนองดีกว่าผมนะ ซึ่งเชื่อว่ามันเป็นผลจากการฝึกซ้อมอย่างยาวนานมากกว่า สำหรับผม เวลาในการตอบสนองอันรวดเร็วเหลือเชื่อไม่ใช่ประเด็นเท่าไหร่ เพราะขอแค่คุณมีเวลาทาบเป้าที่หัวคู่ต่อสู้แบบจั๋งๆ ก็พอแล้ว"

ความเหนื่อยล้าและกดดันที่สะสม

การตอบสนองของสมองที่ไม่ไวเท่าใจสั่ง ถือเป็นสาเหตุสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้นักกีฬาอีสปอร์ตส์หลายรายตัดสินใจเลิกเล่นในวัยที่หลายคนคิดไม่ถึง แต่เสียงโต้แย้งจากนักกีฬาบางส่วน ก็เห็นได้ชัดว่า นั่นไม่ได้เป็นเหตุผลสำคัญเพียงประการเดียวเท่านั้น ยังต้องมีเหตุผลอื่นประกอบด้วย

 4

และหากจะหาสาเหตุประการต่อมาเมื่อพูดถึงสาเหตุที่ทำให้นักกีฬาอีสปอร์ตส์หลายคนตัดสินใจเลิกเล่นด้วยวัยที่น้อยเมื่อเทียบกับกีฬาอื่นๆ ก็คงจะเป็น ความเหนื่อยล้าและความกดดันที่สะสมเป็นเวลาทั้งจากการฝึกซ้อมและแข่งขัน เพราะหากเทียบกับกีฬาอื่นๆ เราจะพบว่า นักกีฬาอีสปอร์ตส์นั้นฝึกซ้อมกันหนักหน่วงกว่ากันมาก

เรื่องดังกล่าว เนวิน ชิดชอบ ประธานสโมสร บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ที่เพิ่งนำทีมปราสาทสายฟ้าเข้าไปลุยโลกของอีสปอร์ตส์ในปี 2018 นี้เอง เปิดใจกับทาง a day Bullentin ถึงความเข้มข้นในการซ้อมของนักกีฬาอีสปอร์ตส์ว่า

“กว่าจะเป็นมืออาชีพทีมบุรีรัมย์ได้ มันยากไม่น้อยกว่าการเป็นนักฟุตบอลทีมบุรีรัมย์ ทีมฟุตบอลเราขึ้นชื่อเรื่องวินัยเคร่งครัด ไม่มีหลุดเหลวไหล ซ้อมเต็มที่เฉลี่ยวันละ 2 ชั่วโมง แต่นักกีฬาอีสปอร์ตส์ระดับแถวหน้าซ้อมวันละไม่ต่ำกว่า 10 ชั่วโมง เก็บตัวในบ้าน มีคนหุงอาหารเพื่อให้มีสมาธิกับเกม กินนอนด้วยกัน ดูสิ มันบ้ากว่านักฟุตบอลอีก แสดงว่าพวกนี้ต้องมีวินัยสูงซ้อมหนัก ถึงเป็นอาชีพได้ เราจะไปเหมารวมพวกเล่นเกมไปวันๆ ไม่ใช่ จากใจเลยนะ ฟังวิธีสร้างทีมอีสปอร์ตส์ ผมว่าให้กลับไปทำทีมฟุตบอลง่ายกว่า”

ขณะเดียวกัน สตีเฟ่น "Snoopeh" เอลลิส อดีตนักกีฬาอีสปอร์ตส์เกม LoL ซึ่งอำลาวงการแข่งขันเกมอาชีพด้วยวัยเพียง 23 ปี ยอมรับว่า ด้วยกิจวัตรประจำวันของพวกเขา บางครั้งมันก็ส่งผลร้ายต่ออาชีพของตัวเองเกินกว่าที่คาดคิด

 5

"โปรเกมเมอร์เกิดความเหนื่อยล้าได้จากหลายทางครับ ยกตัวอย่างก็เช่น คุณเล่นเกมถึงวันละ 12 ชั่วโมง 6 วันต่อสัปดาห์ เป็นเวลาต่อเนื่องถึง 4 ปีครึ่ง ไม่เพียงเท่านั้น คุณยังอยู่กับสถานการณ์เดิมๆ ทุกเมื่อเชื่อวัน แทบจะปิดสวิตช์ตัวเองไม่ได้เลย มันเป็นสภาพแวดล้อมที่บีบคั้นและเป็นพิษไม่น้อยนะ และสิ่งนั้นแหละ ที่ส่งผลให้การเล่นของคุณไม่ดีเท่าเดิม แถมจะยิ่งแย่กว่าเดิมด้วย ซึ่งหลายๆ ทีมก็เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงในเรื่องนี้ ด้วยการสร้างบรรยากาศที่แตกต่างจากเดิม"

ไม่เพียงเท่านั้น สภาพการแข่งขันในวงการอีสปอร์ตส์ที่นับวันยิ่งสูงจากกระแสความนิยมที่เพิ่มขึ้น ก็ได้ส่งผลกระทบถึงตัวนักกีฬาเอง เพราะพวกเขารู้ดีว่า สำหรับวงการนี้ ผลการแข่งขันคือเครื่องชี้วัดที่ชัดเจนที่สุด หากไม่สามารถทำผลงานที่ดีในการซ้อมและการแข่งได้ ก็มีโอกาสเสียตำแหน่งให้คนที่เคยคิดว่ามีฝีมือด้อยกว่า ตลอดจนคนรุ่นใหม่ที่ก้าวสู่วงจรของอีสปอร์ตส์มากขึ้นเรื่อยๆ หลายคนจึงตัดสินใจที่จะอำลาวงการอีสปอร์ตส์ในฐานะนักกีฬา เปลี่ยนสถานภาพเป็นอย่างอื่นเช่น สตรีมเมอร์ หรือ นักแคสเกม ซึ่งมีความกดดันน้อยกว่า แถมยังสร้างรายได้ไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน เพราะต้องไม่ลืมว่าอย่างน้อยๆ พวกเขาก็มีฐานแฟนคลับอยู่แล้วนั่นเอง

อีสปอร์ตส์ - MMA … ความเหมือนที่แตกต่าง?

หลายคนอาจจะคิดว่า นักกีฬาอีสปอร์ตส์ที่นั่งอยู่หน้าจอแทบทั้งวันจะมีความเสี่ยงอะไรกับอาการบาดเจ็บ แต่เรากลับค้นพบความจริงที่น่าสนใจว่า พวกเขามีความเสี่ยงที่จะตกอยู่ในสภาวะดังกล่าวไม่ต่างอะไรกับพนักงานออฟฟิศเลย

 6

ยิ่งไปกว่านั้น อาการบาดเจ็บที่พบส่วนใหญ่ ยังมีความคล้ายคลึงกับนักสู้ในกีฬาศิลปะการต่อสู้แบบผสม หรือ MMA (Mixed Martial Arts) อย่างที่คุณๆ อาจนึกไม่ถึงอีกด้วย

เรื่องดังกล่าว ดร.เลวี่ แฮร์ริสัน ศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการรักษามือและร่างกายส่วนบนในมหานครลอสแอนเจลิสเปิดเผยว่า แม้คนไข้ของเขาส่วนใหญ่มักจะเป็นนักสู้ MMA แต่สัดส่วนที่มากรองลงมาก็คือ เหล่านักกีฬาอีสปอร์ตส์นั่นเอง

“ระยะหลังผมรักษานักสู้ MMA กับเกมเมอร์มากที่สุดในบรรดาคนไข้ทั้งหมดละ” ดร.แฮร์ริสันเผย “เหล่านักสู้ใน UFC ที่ผมรักษา พวกเขามีอาการบาดเจ็บที่มืออันสุดจะบรรยาย ซึ่งส่วนใหญ่มาจากแรงปะทะ ทว่าในส่วนของเกมเมอร์เนี่ย อาการบาดเจ็บส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นจากการเคลื่อนไหวซ้ำๆ กันมากกว่า ถึงอย่างนั้น ทั้งสองแบบก็นำมาซึ่งปัญหาใหญ่ไม่ต่างกันเลยครับ”

แพทย์ผู้นี้เล่าต่อว่า โดยทั่วไปอาการบาดเจ็บของนักกีฬาอีสปอร์ตส์มักเกิดขึ้นใน 3 จุดหลักๆ คือ ข้อมือ จากอาการกลุ่มประสาทมือชา (Carpal Tunnel Syndrome: CTS), ข้อศอก จากโรคเอ็นอักเสบข้อศอกด้านนอก (Tennis Elbow) และ นิ้วมือ จากอาการนิ้วล็อก (Trigger Finger หรือ Stenosing Ttenosynovitis)

เมื่อเห็นลักษณะอาการบาดเจ็บของนักกีฬาอีสปอร์ตส์ หลายคนคงเข้าใจว่าเหตุใดพวกเขาถึงประสบปัญหาเช่นนี้ เพราะอย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่า วิถีชีวิตประจำวันของพวกเขาหมดไปกับเกมอย่างน้อยก็ครึ่งวันแล้ว ด้วยเหตุนี้อาการบาดเจ็บจึงสามารถเกิดขึ้นได้ ไม่เพียงเท่านั้น สาเหตุที่อาการบาดเจ็บของเหล่าเกมเมอร์แย่ลงในหลายๆ กรณี เหมือนอย่างเช่นเคสของ ไฮ แลม ซึ่งเจ็บข้อมือจนต้องประกาศเลิกเล่น ยังคล้ายคลึงกับนักสู้ MMA อีกเช่นกัน

 7

"หากคุณไม่ให้ร่างกายได้พักรักษาตัวเองเสียบ้าง ก็ไม่มีโอกาสที่อาการบาดเจ็บจะทุเลาและหายไปได้หรอกครับ" ดร.แฮร์ริสันกล่าวต่อ "ไม่ว่าจะเป็นการเล่นเกม หรือซ้อม MMA แบบไม่พักไม่ผ่อน ที่สุดแล้ว ร่างกายมันไม่ชอบอะไรแบบนี้ ซึ่งแน่นอน มันมีราคาที่ต้องจ่ายเสมอ"

แม้อายุที่มากขึ้นจะส่งผลให้ปฏิกิริยาตอบสนองของสมองช้าลง ถึงกระนั้นมันก็ยังไม่ใช่สาเหตุหลักของการที่นักกีฬาอีสปอร์ตส์จำนวนไม่น้อยต้องอำลาเส้นทางอาชีพไป เมื่อสาเหตุส่วนใหญ่มาจากความเหนื่อยล้า และเครียดจากวัฏจักรของวงการรวมถึงการฝึกซ้อมอันแสนเข้มข้นเสียยิ่งกว่ากีฬาที่เรารู้จักโดยทั่วไป ไม่เพียงเท่านั้น อาการบาดเจ็บที่ได้รับจากการใช้ร่างกายแบบไม่บันยะบันยัง ยังส่งผลให้หลายคนต้องอำลาสังเวียนก่อนวัยอันควรอีกด้วย

เรื่องดังกล่าวถือเป็นภัยคุกคามเหล่าเกมเมอร์ในแบบที่ไม่มีใครคาดคิด ซึ่งการจะลดความเสี่ยงนี้ ถือเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องช่วยกัน ไม่ว่าจะเป็นต้นสังกัด หรือแม้กระทั่งตัวนักกีฬาเอง เพราะแม้จะมีนักกีฬาหน้าใหม่หลั่งไหลสู่วงการอีสปอร์ตส์อย่างสม่ำเสมอทั้งในตอนนี้และอนาคต แต่การรักษาทรัพยากรมนุษย์ที่มีค่าให้เขาได้ทำในสิ่งที่รักต่อไปนานๆ ก็ถือเป็นเรื่องที่สำคัญด้วยเช่นกัน

อัลบั้มภาพ 7 ภาพ

อัลบั้มภาพ 7 ภาพ ของ มือโปรอีสปอร์ตสมักเลิกไวกว่านักกีฬาประเภทอื่น แถมมีบาดเจ็บคล้ายนักสู้ MMA?

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook