ยู ติง จัน : ชายผู้แกะสลักสบู่ขาย เพื่อหาเงินมาบุกเบิกตะกร้อไต้หวัน

ยู ติง จัน : ชายผู้แกะสลักสบู่ขาย เพื่อหาเงินมาบุกเบิกตะกร้อไต้หวัน

ยู ติง จัน : ชายผู้แกะสลักสบู่ขาย เพื่อหาเงินมาบุกเบิกตะกร้อไต้หวัน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ตะกร้ออาจเป็นกีฬาที่คนไทยคุ้นเคย และแทบไม่ต้องเสียเงินสักแดงเดียว เพื่อฝึกฝน จากแวดล้อมของชาติที่อันดับ 1 ในโลกตะกร้อ แต่สำหรับชาวต่างชาติ นี่คือกีฬาที่พวกเขาต้องทำงานเก็บเงิน เพื่อมาฝึกตะกร้อที่เมืองไทย

เด็กผู้ชายไทย กับ ตะกร้อ แทบจะเป็นของคู่กัน ไม่ต่างกับเด็กชายชาวบราซิล ที่สามารถเตะบอลได้ตามข้างถนน หนทาง ส่วนเด็กไทย ก็สามารถไปฝึกหัดตะกร้อ ตามคอร์ตตะกร้อ ที่มีอยู่แทบทุกตำบล และใช้อุปกรณ์การเล่นแค่ รองเท้าผ้าใบ กับลูกตะกร้อเท่านั้น

 

นั่นเป็นธรรมชาติ และสภาพแวดล้อมที่เด็กผู้ชายไทยน่าจะคุ้นเคยอย่างดี ไม่แปลกที่ชาติเราจะเป็นชาติมหาอำนาจในกีฬาเซปัคตะกร้อของโลก รวมถึงยังเป็นจุดหมายปลายทางของ ชาวต่างชาติ ที่พร้อมเสียเวลา เสียเงิน ทำงานแลกกับ การได้มาสัมผัสประสบการณ์ตะกร้อที่เมืองไทย

ยู ติง จัน นักตะกร้อทีมชาติไต้หวัน เป็นอีกคนหนึ่งที่มีความรักในกีฬาตะกร้อ ไม่แพ้กับคนไทย แม้จะเกิดและเติบโตบนเกาะไต้หวัน ที่โอบล้อมไปด้วยกีฬายอดนิยมอย่าง เบสบอลและบาสเกตบอล

แต่การได้เห็นลีลาการเล่นตะกร้อ ผ่านจอทีวี ก็ทำให้เขาตกหลุมรัก กีฬาที่เขาไม่เคยพบเจอได้ที่นี่ และตั้งเป้าหมาย ที่จะเป็นผู้บุกเบิกกีฬาชนิดนี้ บนแผ่นดินไต้หวัน

เรื่องราวการผจญภัยของ ชายไต้หวันผู้แกะสลักสบู่ขาย เพื่อบินข้ามน้ำข้ามทะเลมายังประเทศไทย จะเป็นอย่างไร? ตะกร้อ 2 ลูกที่เขาขอจากสมาคมตะกร้อแห่งประเทศไทย ในวันนั้น… วันนี้ช่วยยกระดับวงการตะกร้อของ ไต้หวัน ไปไกลขนาดไหน?

กีฬามหัศจรรย์

"สวัสดีครับ ฉันเป็นนักตะกร้อทีมชาติไต้หวัน ฉันชื่อ ยู ติง จัน ครับ" เข้าประโยคเปิดบทสนทนาด้วยการพูดไทย ติดสำเนียงจีนของชายวัย 34

 1

"ฉันได้รู้จักกับตะกร้อครั้งแรก ตอนอายุ 18 ปี เมื่อตอนเอเชี่ยนเกมส์ 2002 ที่ ปูซาน เกาหลีใต้ ผ่านทางการถ่ายทอดสดทางทีวี”

“ฉันคิดว่ามันมหัศจรรย์ และอยากรู้ว่านักตะกร้อเหล่านั้นกระโดดตีลังกาฟาดตะกร้อได้ยังไง นั่นทำให้ฉันอยากที่จะเล่นตะกร้อให้ได้ และเป็นจุดเริ่มต้นนับจากวันนั้น"

ย้อนกลับไปเมื่อประมาณ 16 ปีที่แล้ว ยู ติง จัน หนุ่มวัยทำงานชาวไต้หวัน หลงรักกีฬาเซปัคตะกร้อเข้าเต็มเปา จากการได้เห็นท่วงท่าการฟาดตะกร้อที่สวยงาม ระหว่างการชมกีฬาชนิดนี้ ในเอเชียนเกมส์ 2002

จนทำให้เบนเข็มจากการเล่น เบสบอลและบาสเกตบอล กีฬายอดนิยมของคนไต้หวัน มาศึกษาเกี่ยวกับตะกร้ออย่างจริงจัง

แม้สภาพแวดล้อมของไต้หวัน ในเวลานั้น จะไม่มีแม้แต่คอร์ตตะกร้อ หรือตะกร้อสักลูกให้เขาได้ฝึกฝนก็ตาม เขามีเพียงความเชื่อว่า ตัวเองพอมีทักษะ จากที่เคยฝึกเล่นกีฬา ชัตเติลค็อก (กีฬาเตะลูกขนไก่) ก็น่าจะพอเล่นตะกร้อได้

 2

"หลังจากนั้น ฉันก็หาข้อมูลในอินเตอร์เนต และได้เห็นการเล่นของ เทระโมโต้ ซูซูมุ (นักตะกร้อทีมชาติญีปุ่นและผู้บุกเบิกกีฬาตะกร้อในญี่ปุ่น)"

“ฉันได้เห็นเรื่องราวการฝึกตะกร้อของเขา ฉันก็บอกกับตัวเองว่า สักวันหนึ่ง ฉันจะเป็นแบบเขาให้ได้ ฉันจึงเริ่มเรียนรู้กีฬาตะกร้อผ่านยูทูป"

"ก่อนหน้านี้ ฉันเคยเล่นชัตเติ้ลค็อก และบาสเกตบอลมาก่อน ชัตเติ้ลค็อก กับ ตะกร้อ มีความคล้ายกันตรงที่ใช้เท้าเตะเหมือนกัน แต่ตะกร้อเล่นกันเร็วกว่าชัตเติ้ลค็อก และสามารถเล่นได้หลากหลายกว่า ฉันจึงเปลี่ยนมาเล่นตะกร้ออย่างจริงจัง"

เสน่ห์ของตะกร้อที่เห็นในจอคอมพิวเตอร์ ยิ่งทำให้ ยู ติง จัน สนใจและอยากเรียนรู้กีฬาชนิดนี้มากขึ้น เขาตัดสินใจเก็บเงินก้อนแรกจาการทำงาน เพื่อเดินทางมาฝึกฝนวิชาตะกร้อ ยังประเทศที่เขาเรียกว่า “ดินแดนยอดฝีมือ"

ลูกตะกร้อสองลูกแรกในไต้หวัน

"ฉันตัดสินใจเดินทางมาที่ประเทศไทย เพื่อฝึกตะกร้อ นี่เป็นการมาเมืองไทยครั้งแรกของฉันด้วย  ฉันเดินทางไปที่ จ.นครปฐม หลังจากลองติดต่อ และสอบถามไปยัง เทระโมโต้ ที่เคยมาเล่นตะกร้ออาชีพที่นครปฐม"

 3

"ครั้งแรกที่ได้สัมผัสกับลูกตะกร้อจริงๆ หลังจากที่มองผ่านจอมานาน ฉันรู้สึกตกหลุมรักตะกร้อทันที ฉันบอกกับตัวเองว่า นี่มันความฝันหรือความจริง ฉันรู้สึกแบบนั้นจริงๆนะ แต่ว่าฉันก็รู้แหละว่ามันเป็นเพียงแค่การเริ่มต้นเท่านั้น"

“เป้าหมายในตอนนั้นฉัน อยากเรียนรู้พื้นฐานการเล่นให้ได้มากที่สุด เพื่อให้ฉันได้เป็นนักตะกร้อรุ่นแรกของไต้หวัน และนำเอาความรู้ที่ฉันได้ ไปสอนเด็กๆ และคนอื่นๆในไต้หวันที่สนใจ”

"ตอนนั้นมันเป็นเรื่องยากมากๆ เพราะฉันพูดภาษาไทยไม่ได้ ฉันไม่รู้อะไรเลย แต่มันคือการผจญภัย และสิ่งที่ฉันต้องทำคือ... ลงมือสู้กับมัน"

 4

เขาเปรียบการเดินทางครั้งนี้ เหมือนกับการท่องยุทธจักรของเหล่าจอมยุทธ ในหนังกำลังภายในจีน เพื่อฝึกปรือวิชา และสักวันหนึ่ง จะกลับไปทำสิ่งยิ่งใหญ่ที่บ้านเกิด

สำหรับคนไทย นี่อาจจะเป็นกีฬาที่เล่นไม่ยาก และเล่นได้อย่างเป็นธรรมชาติ แต่สำหรับชาวต่างชาติ ตะกร้อ ถือเป็นกีฬาที่ยากสุด และต้องอาศัยการฝึกฝนอย่างหนักหน่วง

ติง จัน เริ่มต้นทุกอย่างศูนย์ เหมือนเด็กน้อยคนหนึ่งที่หัดเล่นตะกร้อ แต่ด้วยความรัก และความตั้งใจจริง ก็ทำให้ฝีมือของ ชายหนุ่มชาวไต้หวัน เริ่มดีขึ้นเรื่อยๆ ในทุกวัน… จนครบกำหนดที่ต้องเดินทางกลับ

นอกจากภาษาไทยที่เขาได้ติดตัวกลับไปแล้ว ติง จัน ยังนำเอาของสำคัญอีกหนึ่งอย่าง ติดตัวกลับไปด้วย ซึ่งของสิ่งนั้นได้เปลี่ยนวงการตะกร้อของ ไต้หวัน ไปอย่างสิ้นเชิงในอีกหลายปีต่อมา

 5

"ก่อนเดินทางกลับไต้หวัน ฉันไปที่สมาคมตะกร้อแห่งประเทศไทย เพื่อขอลูกตะกร้อ" ติง จัน ย้อนความหลัง

"พวกเขาถามว่า ยู จะเล่นได้หรอ มันยากนะ ฉันเลยตอบไปว่าฉันทำได้ และฉันขอลูกตะกร้อแค่ 2 ลูก หลังจากนั้นฉันก็เริ่มต้นฝึกกับลูกตะกร้อ 2 ลูกนั่นแหละ ฉันเล่นกับน้องชายตัวเองและเพื่อนในทีม"

 6

"ในตอนนั้นไม่มีเหตุผลไหนที่จะห้ามให้ฉันไม่ทำมัน ถ้าคุณเป็นนักกีฬา สิ่งเดียวที่ต้องทำ คือ ลงมือทำ และตอนนั้นฉันคิดว่า ถ้าฉันทำให้คนไต้หวัน รู้จักตะกร้อมากขึ้น คงเป็นเรื่องที่ดีมากๆเลย"

แกะสบู่ขายเพื่อตะกร้อ

ยู ติง จัน กลับแผ่นดินเกิด และยังคงฝึกฝนตะกร้ออย่างต่อเนื่อง รวมถึงได้รับใช้ทีมชาติไต้หวัน ลงแข่งตะกร้อระดับนานาชาติ ในทัวร์นาเมนต์ต่างๆ ตลอดหลายปีที่ผ่านมา แม้ผลการแข่งขันส่วนใหญ่ มักลงเอยด้วยความพ่ายแพ้

 7

แต่ในอีกบทบาทหนึ่ง ติง จัน ได้ไปเผยแพร่กีฬาตะกร้อให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น โดยเริ่มจากกลุ่มเพื่อนที่มีความสนใจเล่นด้วยกัน จากนั้นค่อยขยับสู่เยาวชนในสถานศึกษา

จากความชื่นชอบในกีฬาตะกร้อของวัยรุ่นคนหนึ่ง ในวันนั้น... ปัจจุบัน ติง จัน ได้กลายมาเป็น อาจารย์หนุ่มที่สอนการเล่นตะกร้อแก่เด็กรุ่นใหม่ ควบคู่การทำหน้าที่โค้ชทีมชาติในชุดเยาวชน และนักกีฬาตะกร้อทีมชาติไต้หวันชุดใหญ่

 8

"ฉันคิดว่าทุกกีฬาก็มีเสน่ห์ของมัน ดังนั้นถ้าคุณอยากจะเรียนตะกร้อ ฉันก็พร้อมที่จะสอน สอนทั้งวิธีการเล่น เพื่อให้คุณนำไปส่งต่อกับคนอื่น ฉันรู้ว่ามันไม่ง่าย แต่ฉันก็ทำมันไปเรื่อยๆ จนวันหนึ่ง ตะกร้อ เริ่มเป็นที่รู้จักในไต้หวัน"

“เราได้จัดการแข่งขันและถ่ายทอดสดทางทีวี นั่นทำให้หลายๆคนได้รู้จักตะกร้อมากขึ้น เราเริ่มสอนตะกร้อให้กับเด็กระดับประถมฯ ไปจนถึงมัธยมและต่อยอดไปได้ไกลถึงระดับมหาวิทยาลัย"

 9

“มีคนที่สนใจเพิ่มมากขึ้นในหลายๆเมืองทั้ง ไทเป ปิงดอง ไถ่จง เกาชง ที่ติดต่อมาหาฉันว่าอยากเรียนตะกร้อ ฉันก็ได้ส่งคนไปสอน และไม่คิดเงินด้วย ตอนนี้ฉันก็อายุมากขึ้น ดังนั้นหน้าที่ของฉันคือการสร้างนักตะกร้อหน้าใหม่ให้มากขึ้น”

“เรามีทีมเยาวชนอายุไม่เกิน 19 ปี โดยมีฉันเป็นโค้ช ฉันอยากจะถ่ายทอดพื้นฐานที่ดีให้พวกเขา เพื่อซักวันหนึ่ง พวกเราจะได้ไปแข่งขันเอเชี่ยนเกมส์ แม้ว่ามันจะเป็นงานที่ยากมากๆ แต่ฉันจะทำมันให้ได้”

 10

กุนซือตะกร้อทีมชาติไต้หวัน ชุด U-19 ได้เข้าไปเปิดโลกการเล่นตะกร้อมากมาย จนมีลูกศิษย์และเยาวชนที่เขาฝึกฝน ในไต้หวันจำนวนหนึ่ง แต่ถึงกระนั้น ยู ติง จัน ในฐานะของผู้บุกเบิก ก็อยากให้เด็กๆเหล่านี้ ได้รับประสบการณ์การเรียนรู้ศาสตร์ตะกร้อ จากต้นตำรับที่ประเทศไทย

ติง จัน จึงวางแผนนำเยาวชนชาวไต้หวัน มาฝึกหัดตะกร้อเก็บตัวที่นี่ ทว่าแผนที่เขาวางไว้ จำเป็นต้องใช้ งบประมาณ และค่าใช้จ่าย ที่ใช้เงินมากพอสมควร หากจะมาฝึกฝนที่นี่

โค้ชหนุ่มรายนี้ เลยเกิดไอเดียด้วยการซื้อสบู่เปล่า มาเพิ่มมูลค่าด้วยการให้ลูกศิษย์ของเขา รวมถึงเจ้าตัวแกะสลัก เพื่อนำส่วนต่างกำไรมาใช้ในการเดินทาง

 11

"ฉันบอกเด็กๆนักตะกร้อทุกคนว่า ฉันอยากพาทุกคนไปที่ประเทศไทยเพื่อฝึกตะกร้อ แต่ว่างบประมาณเรามันไม่พอ ฉันเลยตัดสินใจไปซื้อสบู่แล้วเอามาแกะสลัก ตอนนั้นก็ไม่รู้ว่าทำไมถึงเลือกวิธีนั้น (หัวเราะ) "

"ผลลัพธ์ก็ออกมาดีเลย เพราะมีทั้งคุณครูและหลายๆคนที่มาช่วยอุดหนุนสบู่แกะสลักของพวกเราทำให้ได้เงินเพียงพอที่จะพาเด็กๆมาที่ประเทศไทย"

"ฉันอยากสอนเด็กๆไปในตัวด้วยว่า อย่ายื่นมือขอ โดยไม่มีอะไรแลกเปลี่ยน พวกเขาต้องทำอะไรบางอย่างเพื่อให้ได้มันมา และนั่นคือความภาคภูมิใจ"

 12

เงินกำไรที่ได้จากการแกะสลักสบู่ อาจไม่ได้มีมูลค่ามากมาย เมื่อเทียบกับบทเรียนที่เขาได้สอนให้ เด็กๆเหล่านี้ รู้จักคุณค่าของเงิน และพยายามทำอะไรสักอย่าง เพื่อสิ่งที่ตนรัก โดยที่ไม่รอคอยโชคชะตา เหมือนกับที่เขาพยายามมาตลอด 16 ปี

จากคนที่เล่นตะกร้อไม่เป็น ไม่เคยจับลูกตะกร้อจริงๆ ยู ติง จัน พากเพียร จนมาถึงวันที่เขากลายเป็น บุคคลสำคัญของวงการตะกร้อไต้หวัน ที่มีเป้าหมายอยากให้ ตะกร้อทีมชาติไต้หวัน ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ  

 13

“เรามีนักตะกร้อสายเลือดใหม่ที่ก้าวขึ้นมาในทีมตะกร้อไต้หวัน เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ  เป้าหมายของเราคือ สร้าง ทีมตะกร้อทีมชาติไต้หวัน ไปแข่งขันที่ประเทศไทย , ประเทศญี่ปุ่น หรือที่ใดๆก็ตามเพื่อเพิ่มพูนประสบการณ์ และหารูปแบบการเล่นที่เหมาะกับพวกเรา"

"เราหวังว่าในอนาคต ตะกร้อทีมชาติไต้หวัน จะเป็นทีมที่ใครๆก็ประมาทไม่ได้" ยู ติง จัน กล่าวทิ้งท้าย

อัลบั้มภาพ 13 ภาพ

อัลบั้มภาพ 13 ภาพ ของ ยู ติง จัน : ชายผู้แกะสลักสบู่ขาย เพื่อหาเงินมาบุกเบิกตะกร้อไต้หวัน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook