ศรัทธาหรืองมงาย : ไสยศาสตร์ กับ ความเชื่อ ในฟุตบอลไทย

ศรัทธาหรืองมงาย : ไสยศาสตร์ กับ ความเชื่อ ในฟุตบอลไทย

ศรัทธาหรืองมงาย : ไสยศาสตร์ กับ ความเชื่อ ในฟุตบอลไทย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

วิทยาศาสตร์ อาจมีส่วนสำคัญ ในการยกระดับ และทำให้คุณภาพของ ฟุตบอลลีกไทยดีขึ้น แต่ถึงกระนั้นความเชื่อ ในสิ่งที่มองไม่เห็น ยังเป็นเรื่องที่เราสามารถพบเจอได้อยู่ทั่วไป ในแวดวงลูกหนังบ้านเรา แม้บางคนอาจจะมองว่า มันแทบไม่เกี่ยวกันด้วยซ้ำ

ฟุตบอลเป็นเกมที่ใช้ผู้เล่นข้างละ 11 คน ในสนามแข่งขันกัน เพื่อช่วงชิงจังหวะทำประตู ที่ต้องอาศัยแท็คติก เทคนิค ทักษะ รวมถึงความเข้าใจเกม เข้าใจแผนการเล่น ประกอบกับสภาพร่างกายที่ดี เพื่อกุมความได้เปรียบ และคว้าชัยชนะในการเล่นกีฬาชนิดนี้

ถ้ามองมุมหนึ่ง แทบไม่เห็นความจำเป็นเลยทำไม “สโมสร นักกีฬา สตาฟฟ์โค้ช ผู้บริหารทีม” จะต้องไหว้เจ้าที่ เจ้าทาง บริกรรมคาถา ตลอดจนพกเครื่องลาง ของขลังติดตัวไว้ ถือเคล็ดต่างๆ ที่ตัวเองเชื่อ เพราะฟุตบอลชนะกันด้วย 11 คนในสนาม และคงไม่มีเจ้าที่เจ้าทาง องค์ไหน จะวิ่งลงไปเตะบอลด้วยเป็นผู้เล่นคนที่ 12 ให้กับทีมนั้นๆ

กระทั่งแฟนบอลบางส่วน เลือกจะวิ่งแก้บน ในวาระต่างๆ ที่ทีมเชียร์ของพวกเขาสามารถบรรลุเป้าหมาย ในสิ่งที่ได้ขอไว้กับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ก็เป็นภาพที่เราเห็น หรือได้ยินข่าวอยู่บ่อยครั้ง ทั้งที่ฟุตบอลก็เป็นเรื่องของ 11 คนในสนามของทั้งสองทีมอยู่ดี ไม่ใช่เปลี่ยนแปลงผลการแข่งขันได้จากคำบนบานของกองเชียร์บนอัฒจันทร์

ถึงแม้ว่า โลกของกีฬา จะมีวิวัฒนาการก้าวไปไกลมาก และวิทยาศาสตร์เข้ามามีบทบาท ไข้ข้อข้องใจ และอธิบายหลายๆที่เรื่องน่าสงสัยของกีฬาได้แล้ว แต่ทำไมความเชื่อที่ดูเหมือนเป็นเรื่องงมงาย ไม่ Make Sense ถึงยังคงอยู่ในฟุตบอลไทย ไม่ว่าจะในอดีต หรือปัจจุบัน?

ผีสางเกิดก่อนกีฬา
หากย้อนกลับไปก่อนพุทธกาล ศริสต์กาล ถือกำเนิดขึ้น… มนุษย์ ไม่ได้เกิดมาแล้วมี ที่ยึดเหนียวจิตใจที่เรียกว่า ศาสนา แบบที่เรามีอย่างในทุกวันนี้  

000_par2004032437942
ความเชื่อต่างๆ และสิ่งที่ผู้คนนับถือ จึงเป็นในรูปแบบของ ผีสาง เทวดา เทพเจ้า เรื่องเล่าปรัมปรา ที่แตกต่างกันออกไปในแต่ละภูมิภาค ขณะที่ กีฬา ในอดีตกาล มีจุดกำเนิดขึ้นมาจากการเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมทางศาสนา เพื่อการบูชา

ยกตัวอย่าง โอลิมปิก เกมส์ ยุคโบราณ (Ancient Olympic Games) เป็นเทศกาลที่จัดแข่งขันกีฬา ขึ้นเพื่อจุดประสงค์ในการบูชาเทพเจ้าซูส ตามความเชื่อของ กรีกโบราณ โดยในการแข่งขันครั้งแรกเกิดขึ้นเมื่อ 776 ปีก่อนคริสต์กาล

ในตอนนั้น มีการจัดการแข่งขันทุกๆ 4 ปี และกีฬาที่ใช้แข่งขันในกิจกรรมตามความเชื่อนี้ ก็มีวิวัฒนาการเรื่อยๆ จาก วิ่ง ขึ้นเขา เริ่มมีกีฬาเข้ามาด้วย เช่น ขว้างจักร, พุ่งแหลน, มวยปล้ำ, ชกมวย, ศิลปะป้องกันตัวแพนเครชั่น, แข่งรถม้า ฯ

ตามหลักฐานที่ค้นพบ มีการจัด โอลิมปิก เกมส์ ยุคโบราณ ทั้งสิ้น 145 ครั้ง ก่อนสิ้นสุดลงในช่วง 300-400 ปีก่อนคริสต์กาล หลังจากอาณาจักรโรมัน เข้ามามีอิทธิพลในกรีก ประกาศห้ามจัดกิจกรรม จนมาถึงการสั่งทำลายเทวสถานต่างๆของ กรีกโบราณ

จากนั้นได้มีความพยายามอยากกลับมาจัด การแข่งขันกีฬา โอลิมปิก เกมส์ ขึ้นอีกหน จากหลายๆชาติ ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 16-17 ก่อนที่จะประสบความสำเร็จ ในการจัดโอลิมปิก เกมส์ สมัยใหม่ อย่างเป็นทางการ ขึ้นเป็นครั้งแรกในฤดูร้อนปี 1896 ที่ประเทศกรีซ

โดยมีวัตถุประสงค์ และจุดมุ่งหมาย รูปแบบการแข่งขัน กติกา ที่ปรับเปลี่ยนให้เป็นสากลมากขึ้น  และแข่งกันเพื่อความเป็นเลิศ ไม่ได้จัดการแข่งขันขึ้นมา ด้วยเหตุผลเพื่อบูชาเทพเจ้าเหมือนอย่าง โอลิมปิก ยุคโบราณ

ขณะที่ประเทศไทย ในอดีต ก็มีความเชื่อที่ไม่แตกต่างจากชาติอื่นๆ ในช่วงที่ยังไม่มีศาสนาต่างๆ เข้ามาที่นี่ โดยมาก จะนับถือผี เทวดา บรรพบุรุษที่เสียชีวิตไปแล้ว หรือตามความเชื่อของอาณาจักรต่างๆ ต่อมาจึงค่อยได้รับอิทธิพลจากศาสนาต่างๆ ที่ส่งผู้เผยแผ่ ศาสนา เข้ามาที่นี่

44478063_1883768051743128_236
เช่น ศาสนาพุทธ ที่เข้ามาโดยคณะนักบวชจากอินเดีย ศรีลังกา ตั้งแต่ในสมัยทรารวดี, ศาสนาคริสต์ ที่เข้ามาผ่าน มิชชั่นนารียุโรป ในยุคการล่าอาณานิคมของลัทธิจักรวรรดินิยม, ศาสนาอิสลาม ที่เริ่มเข้าผ่าน พ่อค้าจากอิหร่าน, ตุรกี ที่เข้ามาทำหากิน ตั้งรกฐานครอบครัว, อาณาจักรมลายู ที่ประชาชนเปลี่ยนจากนับถือมาเข้ารีตตามเจ้าผู้ปกครอง เป็นต้น

ความเชื่อต่างๆ ทั้งตามหลักศาสนา รวมถึงความเชื่อส่วนบุคคล ความเชื่อตามลัทธิ จึงเป็นสิ่งที่ผู้คนไม่ใช่แค่ไทย แต่ยังรวมถึงมนุษย์ทั่วโลก ได้รู้จักกับสิ่งเหล่านี้ ก่อนกีฬาเสียอีก

ถึงกระนั้นแม้ กีฬา มีวิวัฒนาการไปเรื่อยๆ ความเชื่อเหล่านี้ที่ถูกฝังรากลึกมานาน ยังไม่เคยหายไปไหน และยังมีปรากฏให้เห็นแม้จะเข้าสู่ พุทธศตวรรษที่ 26 และคริสต์ศตวรรษที่ 21
 
ศรัทธาหรืองมงาย
ทุกๆ ครั้งที่รถบัสทีมชาติไทย แล่นมาถึงบริเวณหน้าสนามราชมังคลากีฬาสถาน ก่อนเกมการแข่งขัน พลพรรคช้างศึก จะหยุดรถและลงไปทำพิธีกรรมบางอย่างราวๆ 5-10 นาที ก่อนขึ้นรถต่อเพื่อเดินทางไปเข้าสู่สนามต่อไป เตรียมตัวสำหรับการแข่งขัน

พิธีกรรมที่ว่านั้น คือ การให้นักฟุตบอลทีมชาติไทย และสตาฟฟ์โค้ช ที่มีทั้ง ชาวพุทธ, คริสเตียน และมุสลิมฯ ไปไหว้ หรือทำความเคารพ (ตามที่แต่ละคนสะดวก) ต่อ ศาลพระพรหม สิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำสนาม ซึ่งเป็นเทวรูปตามความเชื่อของศาสนา ฮินดู (ที่ไม่มีในใครทีมนับถือฮินดูฯ)

ข่าวดังกล่าวถูกนำเสนอออกไป จนดูเป็นเรื่องปกติของทีมชาติไทย และไม่ได้ถูกตีความเป็นเรื่องที่แปลก แม้คนที่ไหว้และเคารพ จะเป็นคนต่างศาสนากับเทวรูป

45688679_1971393076503581_858
เหตุผลที่เป็นเช่นนั้น ต้องยอมรับก่อนว่า สังคมไทย เป็นสังคมที่มีการผสมผสานกันของหลายๆ วัฒนธรรม และหลายๆความเชื่อเข้าไว้ด้วยกัน โดยไม่ได้ปิดกั้นว่า ต้องนับถืออะไร และยึดมั่นเพียงอย่างเดียว

อย่างที่กล่าวไปข้างต้น พื้นเพของคนไทย ก็ไม่ใช่ชนกลุ่มที่อยู่ในพื้นที่ของต้นกำเนิดศาสนาใด แต่เดิมก็มีความเชื่อเรื่องผีสางนางไม้ เจ้าที่เจ้าทาง เจ้าป่าเจ้าเขา รวมถึงความเชื่อ ที่ว่าทุกสถานที่ มีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ดูแลปกปักรักษาอยู่

คำสอนประเภทที่ว่า “ไปมาลาไหว้” จึงไม่ได้หมายถึง แค่การเคารพผู้อาวุโสกว่าเท่านั้น แต่ยังหมายรวมไปถึง การให้เคารพในสถานที่ต่างๆ และสิ่งที่มองไม่เห็น

อย่างน้อยที่สุด การเดินทางไปยังสถานที่ใดก็ตาม การไหว้เจ้าที่เจ้าทาง จึงเป็นเหมือนเรื่องพื้นฐานที่ ชาวไทยพุทธ นิยมทำเป็นประการแรกๆ เพื่อขออนุญาตและให้ภารกิจ การงาน ที่จะทำ ณ ที่แห่งนี้ ลุล่วงไปได้ด้วยดี และเพื่อความสบายใจของกลุ่มคนที่เดินทางไป

ไม่ใช่แค่ในระดับทีมชาติไทย แต่แนวคิดในการให้เคารพเจ้าที่ ยังแพร่กระจายไปยังสโมสรฟุตบอลในลีก ทุกระดับ ที่ล้วนแล้วแต่จะปฏิบัติคล้ายๆกัน ในการไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำสนามแข่งขัน เป็นอันดับแรก หรือถ้าต้องออกเดินทางไปเยือนไกลๆ ก็จะไปสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เคารพนับถือของจังหวัดตนเอง ก่อนเดินทางเสมอ เพื่อความเป็นสิริมงคล และขอให้การเดินทางปลอดภัย

“คนไทยใจซื่อ เขาถือแต่โบราณกาล แค่เพียงข้าวสุกหนึ่งจาน ใครลืมของท่านนั้นเนรคุณ” ท่อนหนึ่งของเพลง สยามเมืองยิ้ม ที่สื่อให้เห็นว่า คนไทย ค่อนข้างให้ความเคารพแม้กระทั่งข้าวในจาน ที่หลายๆครอบครัว สอนให้ลูกหลานไหว้ หรือตระหนักให้เห็นถึงความสำคัญ ไม่ใช่แค่อาหารที่จะกินทิ้งขว้างได้

41990808_1446958658768281_674
ต่อ เจียงฮาย -  พีรวัตร สืบสวัสดิ์นิติกุล ผู้สื่อข่าวฟุตบอลไทย FourFourTwo Thailand ที่มีประสบการณ์ และคลุกคลีกับแวดวงลูกหนังในทุกระดับ เผยว่า จากประสบการณ์ที่เขาได้ไปสัมผัสมา แทบทุกสโมสร ล้วนแต่มีความเชื่อ และที่ยึดเหนี่ยวใจ ที่แตกต่างกัน แม้บางสโมสรอาจเลือกไม่นำเสนอข่าวด้านนี้ แต่ก็ไม่ได้แปลว่าพวกเขาละเลยสิ่งศักดิ์สิทธิ์ไป

“สโมสรในไทย น่าจะเกือบทั้งหมด ก็มีความเชื่อในแบบของตัวเอง เพียงแต่ว่าสโมสรนั้นมีภาพลักษณ์ เป็นอย่างไร และทีมมีเดียเขาต้องการนำเสนอมุมไหน”

“สังเกตไหมว่า ทีมต่างจังหวัดในลีกรอง มักจะถ่ายรูปอัพลงเพจตลอดว่า ทีมกำลังทำอะไร ไหว้ศาล ไปทำอะไร แต่อย่าง บีจีฯ เราแทบไม่เคยเห็นภาพพวกนั้นเลย ไม่ใช่ว่าเขาไม่ไหว้ หรือไม่นับถือ แต่สโมสรก็คงมีเหตุผลว่าจะนำเสนอภาพอะไร ไม่นำเสนอภาพอะไร”

“อย่างการไปไหว้ศาลของทีมชาติไทย มีมานานมากแล้วนะ ไม่ใช่ว่าเพิ่งมี แต่เมื่อก่อนนักข่าวสายฟุตบอลไทย มีเพียงไม่กี่สำนัก คนก็ไม่ได้สนใจเรื่องนอกสนามเท่าไหร่ สนใจแค่ว่า ไทย แข่งกับใคร สกอร์เป็นไง ใครยิง? นักข่าวยุคเก่าๆก็จะไปรอในสนามเลย แต่ในยุคหลังตั้งแต่ ซิโก้ (เกียรติศักดิ์ เสนาเมือง) ทำทีม สื่อมีเยอะขึ้น ก็เริ่มแข่งขันกัน หามุมอื่นๆ นอกเหนือจากผลการแข่งขัน มานำเสนอ”

“หลังๆ นักข่าวก็เลยต้องไปดักรอตรงศาลทางเข้าสนามฯ เพื่อรอเก็บภาพ และได้รู้ว่า อ่อ ทีมชาติไทย ก่อนไปเตะก็มีไหว้ศาลก่อน เหมือนกับในอดีตเราไม่รู้เลยว่า บนรถบัสนักบอล เขาทำอะไรก่อนเดินทางก็เข้าใจว่า คงทำสมาธิก่อนแข่ง แต่พอยุคนี้มี ไลฟ์ มีวิดีโอบรรยากาศให้เราเห็น ก็เลยรู้ว่า เขาก็มีความเชื่อว่า ต้องเปิดเพลงจังหวะปลุกใจเพื่อกระตุ้นตัวเองก่อนแข่ง”

45748902_1971393033170252_909
ไม่เพียงเท่านั้น ความเชื่อของสโมสรฟุตบอลไทยบางทีม ยังถูกสะท้อนออกมา ผ่าน สีชุดแข่ง, โลโก้ทีม, ฮวงจุ้ยในการตั้งสนาม รวมไปถึง การทำบุญสนาม, การบนบานศาลกล่าว, ติดผ้ายันต์ เครื่องรางของขลังไว้บนสนาม ฯ

ตัวอย่างในรอบปีที่ผ่านมา ชัยนาท ฮอร์นบิล ทีมในโซนหนีตาย ได้ทำการบนว่า หากรอดตกชั้นจะนำพิซซ่ามาถวาย ศาลพระภูมิเจ้าที่ บริเวณสนามเขาพลองสเตเดี้ยม และคำอธิษฐานนั้นก็เป็นจริง ชัยนาทฯ รอดตกชั้นในเกมสุดท้าย และหลังจากนั้น พิซซ่าจำนวน 9 ถาด ถูกนำมาถวายแก่เจ้าที่

แต่พีคที่สุดคงต้องยกให้รายงานของ สยามกีฬา ที่นำเสนอเรื่องราวเบื้องหลังฟอร์มอันร้อนแรงในรังของ พีที ประจวบ เอฟซี ฤดูกาล 2018 มาจากการที่สโมสรอัญเชิญปลัดขิกหลวงพ่อนน แห่งสำนักสงฆ์เขาพรานธูป มาติดตั้งไว้บริเวณที่นั่งวีไอพี

ไฮไลท์อยู่ตรงที่ ทุกครั้งที่การแข่งขันในสนามเหย้า สามอ่าว สเตเดียม จะมีทีมงานไปเปิดหนังโป๊ ให้ปลัดขิกดู และทำให้ “ต่อพิฆาต” ชนะ 8 จาก 9 นัดแรกในบ้าน แพ้ทีมเยือนเพียงแค่ 2 นัดในฤดูกาลนี้

นอกจากความเชื่อของสโมสรแล้ว ความเชื่อเฉพาะตัวบุคคลก็ยังเป็นสิ่งที่หลายๆชีวิตในสังคมฟุตบอลไทย ไม่ว่าจะนับถือศาสนาไหน ก็ล้วนแล้วแต่มีความเชื่อ วิธีการปฏิบัติ ที่แตกต่างกันออกไป ตั้งแต่ชื่อ-นามสกุล ที่สามารถเปลี่ยนแปลงตามความเชื่อได้ ไปจนถึงการสวดภาวนา ท่องคาถา ถึงการพกของบางอย่างไปสนาม

เช่น กรณีของ สมพร ยศ ที่นำพระเสืออุ้มทรัพย์หลวงพ่ออุทัย ไปแขวนไว้หลังตาข่าย ในเกมฟุตบอล U-23 ชิงแชมป์เอเชีย นัดที่เสมอกับ ซาอุดิอาระเบีย 1-1 โดยเกมนั้นเจ้าตัวโชว์ซูเปอร์เซฟ หลายครั้ง และสามารถป้องกันจุดโทษช่วยให้ทีมรอดพ้นความปราชัยไปได้ ก่อนตกเป็นข่าวโด่งดัง เมื่อมีการเปิดเผยภาพ เสืออุ้มทรัพย์ ที่นายด่านรายนี้นับถือ ถูกแขวนไว้อยู่ที่ตาข่าย

46311963_192031231700222_4928
หรือ เนวิน ชิดชอบ ประธานสโมสรบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ที่ต้องทำการบริกรรมคาถาก่อนแข่ง กรวดน้ำ รวมถึงการเงยหน้าขึ้นฟ้า พร้อมท่องอะไรบางอย่าง เป็นเวลา 2-3 นาที บางส่วนแสดงความเห็นว่า เป็นคาถาทางไสยศาสตร์ ตามความเชื่อทางอีสานใต้ บ้างก็บอกว่า เป็นการทำเพื่อข่มขวัญคู่ต่อสู้ ให้รู้สึกเกรงกลัว เพราะสโมสรบุรีรัมย์ฯ ดันเป็นทีมที่ประสบความสำเร็จต่อเนื่องเสียด้วย

ประเด็นนี้ “ต่อ เจียงฮาย” ผู้สื่อข่าวฟุตบอลไทย เล่าเสริมว่า แม้ว่าส่วนใหญ่ นักบอล โค้ช ผู้บริหารสโมสรในไทย เลือกที่จะไม่อธิบายตรงๆ ผ่านสื่อว่า เจ้าตัวนับถืออะไร, ทำแบบนี้เพื่อหวังผลอะไร แต่ก็พอสรุปได้ว่า ทั้งหมดทำไปนั้นมีเหตุผล และไม่ใช่เรื่องที่ทำไปด้วยความงมงาย โดยไม่รู้สาเหตุ

“เคยสังเกตไหมว่า ทำไมประตูคนไทย ต้องไหว้เสาโกล ต้องเอามือไปแตะคาน แตะเสา ก่อนบอลจะเขี่ย ถ้าเราไปถามเขาตรงๆ เขาอาจจะไม่บอกหรอกครับ ถ้าลองสังเกตดูก็จะเห็น นักบอลไทยบางคน ก้าวเท้าซ้ายเข้าสนามก่อนเท้าขวา เพราะมีความเชื่อว่า “ขวาร้าย ซ้ายดี” นักบอลบางคนในทีมต่างจังหวัด พกช้อนมาด้วย เพราะเชื่อถ้าตัวเองเอาภาชนะเข้าสนาม จะทำให้ทีมชนะ (ภาชนะ พ้องเสียงคำว่า พาชนะ) บางคนถือเคล็ดวันแข่ง ต้องใส่กางเกงในสีขาว ก็มี”

“อย่างคุณเนวิน (ชิดชอบ) ถึงแม้ว่าทีมเขาจะมี ระบบวิทยาศาสตร์ที่ดีมากสุดทีมหนึ่งในไทย แต่ทุกนัดก่อนบอลจะเตะ เขาก็จะไหว้ และสวดคาถาของเขา เช่นเดียวกับ มาดามแป้ง (นวลพรรณ ล่ำซำ) ที่มีการท่องคาถาทุกนัดในบ้าน ตรงที่ซุ้มม้านั่งสำรอง และต้องเอาพวงมาลัยไปตั้งหลังโกล)”

“ถามว่าประตูคนนั้นเก็บคลีนชีตได้ทุกนัดไหม คุณเนวิน - มาดามแป้ง ท่องคาถาแล้วชนะทุกเกมหรือเปล่า? ก็ไม่ได้เป็นแบบนั้นตลอด แต่ผมเชื่อว่าเขาทำ เพื่อหวังถึงผลการแข่งขันที่ดีของทีม ไม่มีใครหรอก มานั่งท่องคาถา ถือเคล็ดต่างๆ แล้วหวังอยากเห็นทีมแพ้ ซึ่งความเชื่อของแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน เขาทำแล้วมีความสุขกว่าไม่ได้ทำ"

20180425_173205_1
“แต่ไม่ใช่ทีมพวกนี้ ไม่เชื่อวิทยาศาสตร์ อย่างบุรีรัมย์ฯ ใครๆก็รู้ว่า ทีมเขามีระบบฟิตเนส วิทยาศาสตร์การกีฬาที่ดีมาก แต่เขาก็ยังมีความเชื่อเรื่องพวกนี้ เพราะเขาก็ต้องหวังพึ่งทุกทาง ที่ทำให้นักกีฬาทีมเขาพร้อมมากที่สุด ทั้ง ด้านร่างกาย และจิตใจ”

“สมัยก่อน นักบอลบราซิล ทำไมต้องใส่หูฟังเพลงก่อนเข้าสนาม ถ้าเป็นตามความเชื่อของเขา การฟังเพลงที่ตัวเอง อาจทำให้เขารู้สึกมีความสุข แล้วเล่นได้ดี แต่ถ้าในวิทยาศาสตร์ อาจอธิบายได้ว่า เพลง มีส่วนกระตุ้นสมอง อะไรแบบนี้”

ขณะที่คำอธิบายเรื่องความเชื่อ ในมุมมองของจิตวิทยา “เอเฟรน ดิอาซ” นักจิตวิทยาประจำทีม สปอร์ติง กิฆอน แสดงความเห็นว่า “ผมมองว่า พฤติกรรมความเชื่อต่างๆ มันช่วยทำให้นักกีฬา เกิดความรู้สึกเชื่อมั่นในการกระทำของตัวเองเพิ่มขึ้น เหมือนพอได้ทำบางอย่าง จะรู้สึกมั่นใจ และสามารถทำอะไรต่อไปได้ทุกอย่าง”

“แต่บางคนถ้ายึดติดกับมันมากเกินไป ก็อาจจะกังวลและนึกกลัวว่าตัวเอง จะยังไม่ทำพฤติกรรมตามความเชื่อ มากกว่าเกมตรงหน้า ทุกอย่างก็ต้องอยู่ในความพอดี”
 
ฟุตบอล = ศาสนา
แม้ในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่า องค์กรต่างๆ ที่ควบคุมดูแลเรื่องกีฬา ได้ลงมากำกับดูแล รักษาภาพลักษณ์ กีฬา ให้เป็นไปในแง่ของการแข่งขัน มากกว่าความเชื่อในสิ่งที่มองไม่เห็น และพยายามทำให้เรื่องพวกนี้ ค่อยๆ หายไปจากวงการกีฬา

ตัวอย่างเช่น ในอดีต ทีมจากทวีปแอฟริกา ขึ้นชื่อในเรื่องของการเล่นของ จากหมอผี ที่เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในวัฒนธรรมฟุตบอล

พวกเขามักเชิญ หมอผี ผู้นำทางจิตวิญญาณ มาร่ายคาถา เล่นของกันโต้งๆ ในสนาม แต่ช่วงก่อนฟุตบอลโลก 2010 ที่ประเทศแอฟริกาใต้  ฟีฟ่า ได้ลงมาเข้างวดกับเรื่องนี้มากขึ้น มีการสั่งแบนเจ้าหน้าทีม ที่ทำพิธีเล่นของ ตั้งแต่นั้นมา การการเล่นของจากชาติในในแอฟริกา ก็เงียบไปพอสมควร

44849607_2757236327635339_855
คล้ายๆกับ เอเอฟซี ที่สั่งแบน ไม่ให้ ทีมชาติไทย นำเครื่องรางของขลัง “เสืออุ้มทรัพย์” เข้าสู่สนามในอีก 2 เกมที่เหลือของรอบแบ่งกลุ่ม ซึ่งปรากฏว่า เกมนัดต่อมา ไทยแพ้ญี่ปุ่น 4-0 และเสมอเกาหลีเหนือ 2-2 ตกรอบไป

การเข้ามาจัดการดูแลเรื่องพวกนี้ ในกีฬายุคใหม่ขององค์กรกีฬา ระดับนานาชาติ ก็มีความเห็นแบ่งออกไปสองส่วนหลักๆ ส่วนแรก มองว่า องค์กรเหล่านี้ ถ้าไม่เชื่อว่าสิ่งศักดิ์สิทธิ์มีจริง เหตุใดถึงแบน ในเมื่อคิดว่ามันไม่มีผล?

อีกส่วน มองว่า เป็นเรื่องที่ดีนำเอาเรื่องพวกนี้แยกออกจากกีฬา เพราะดูเป็นเรื่องงมงาย และไม่เข้ากับกีฬายุคใหม่ ที่เทคโนโลยี วิทยาศาสตร์ รุดหน้าไปไกลมากแล้ว

มีกรณีศึกษาหนึ่งที่น่าสนใจของ ฟุตบอลไทย ในเว็บไซต์ FourFourTwo ได้นำเอาสัมภาษณ์ “บังดีน” สุรินทร์ สง่าบ้านโคก ชายผู้ถูกเรียกว่าเป็น หมอผี ประจำทีมฟุตบอลจังหวัด สตูล และเป็นที่มาของฉายา “หมอผี” ของสโมสร สตูล ยูไนเต็ด ที่ส่งแข่งขันในลีกอาชีพในปัจุบัน

บังดีน เผยว่าความจริงตนเองไม่ได้เป็นหมอผี อย่างที่หลายคนเข้าใจ เขาเป็นเพียงแค่เจ้าหน้าที่ทีมคนหนึ่ง ที่คอยแจกผ้าเย็น น้ำดื่ม ดูแลเสื้อผ้า และเดินทางไปกับทีมเสมอ เพียงแต่เขา มีตำราเล่มนึง ที่บอกว่า ทีมของเขาควรก้าวลงสนามเวลาไหน ในทิศทางใด รวมถึงสีเสื้อที่ต้องดูว่า คู่แข่งมาสีอะไร จะแก้เคล็ดด้วยสีอะไร

26231961_1071666399642291_780
นอกเหนือจากพิธีละหมาดขอพร ตามความเชื่อศาสนาอิสลาม ที่ทำเป็นประจำแล้ว มีเกมหนึ่งในตำราเขียนไว้ว่า ทีมของเขาต้องลงสนามช้ากว่าคู่แข่ง เจ้าตัว เลยเล่นดึงเวลาด้วยการท่องคาถาให้กับนักฟุตบอลในทีม จนเจ้าหน้าที่มาเคาะประตูตาม จ.สตูลลงสนาม ทำให้เขาเริ่มถูกมองว่าเป็น ผู้มีวิชาอาคม ตามสายตาของแฟนบอลคู่แข่ง

อีกเกมหนึ่ง สตูล เจอคู่แข่งที่มีสีเสื้อเด่นกว่า และไม่สามารถเจรจาขอเปลี่ยนชุดแข่งจากทางฝ่ายจัดได้ฯ ในตอนนั้นขวัญกำลังใจของนักฟุตบอลในทีมหายไป บังดีน จึงตัดสินหยิบไข่ไก่มาเป่าแก้เคล็ด แล้วปาลงพื้น เพื่อเรียกขวัญให้นักเตะทุกคนกลับมามีกำลังใจ จนกลายเป็นที่มาของฉายา หมอผี และเข้าใจได้ว่า สตูล เป็นทีมที่เล่นของ ทั้งที่ตอนนั้นเขาทำลงไปด้วยเจตนาที่ต้องการให้ นักบอล เชื่อว่าตัวเองได้ทำพิธีกรรมจริงๆ ช่วยให้พวกเขามั่นใจขึ้น

อีกกรณีหนึ่งเกิดขึ้นในแผ่นดินอังกฤษ แต่กลับมีความเกี่ยวข้องกับความเชื่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในไทย ในฤดูกาล 2015-2016 เลสเตอร์ ซิตี้ สร้างประวัติศาสตร์ด้วยการคว้าแชมป์ พรีเมียร์ลีก อังกฤษ มาครองได้ราวกับเทพนิยาย

โดยในช่วงก่อนเปิดฤดูกาล และระหว่างฤดูกาล เจ้าของสโมสรชาวไทย ได้นำคณะพระสงฆ์จากบ้านเกิด นำโดย เจ้าคุณธงชัย ไปทำบุญสนาม รวมถึงนักเตะ สตาฟฟ์โค้ช เจ้าหน้าที่สโมสร พร้อมกับมอบผ้ายันต์ โดยเจ้าคุณธงชัย ได้บอกว่า เลสเตอร์ จะคว้าแชมป์ลีกได้ในปีนี้

ผลออกมาเป็นไปตามคำทำนายของ เจ้าคุณธงไชย ทำให้ผ้ายันต์ของพระเกจิรายนี้ ได้รับความนิยมอย่างมาก แต่ที่อังกฤษ แฟนบอลแดนผู้ดี กลับไม่ได้คิดเช่นนั้น

36812708_2251106194906737_504
พวกเขามีความเชื่ออีกทิศทาง โดยบอกวา การได้แชมป์ที่เหมือนปาฏิหาริย์ เป็นผลพวงจากการขุดพบ พระอัฐิสัณฐาน ของกษัตริย์ริชาร์ดที่ 3 แห่งอังกฤษ ที่หายสาบสูญไปนานกว่า 500 ปี ในเมืองเลสเตอร์ พระองค์จึงมีส่วนช่วยดลบันดาลให้เกิดความสำเร็จครั้งนี้ ในเมืองของพวกเขา

“แนวคิดพื้นฐานของศาสนาที่มีต้นเกิดจากพระเจ้าองค์เดียวกัน ทั้ง อิสลาม, คริสต์, ยิว (ยูดาห์) จะมีความคล้ายคลึงกันตรงที่เชื่อว่า พระเจ้าเป็นผู้ที่สามารถให้และไม่ให้ทุกอย่างบนโลกได้ ทุกอย่างเป็นไปตามพระประสงค์ของพระองค์” ธนะ วงษ์มณี บรรณาธิการบริหาร สำนักข่าว โกล ประเทศไทย กล่าวเริ่ม

“เมื่อเชื่อว่า พระเจ้าสามารถให้ทุกอย่างได้ เวลาต้องการอะไรดีๆ นักบอลมุสลิม, คริสเตียน ก็จะสวดขอจากพระเจ้า ซึ่งจะได้หรือไม่ได้นั้น พระองค์ล้วนแล้วมีแต่เหตุผล เช่น ไม่ได้ เพราะวันนี้เราอาจยังไม่สมควรได้”

“เวลานักบอลทำประตูได้ ทีมชนะ ถ้าเขามีความเชื่อในพระเจ้า เขาก็แสดงท่าดีใจด้วยการขอบคุณ ทั้งการชี้นิ้วขึ้นฟ้า หรือการแสดงความเคารพสูงสุดด้วยการเอาส่วนบนสูงของร่างกายศีรษะ ก้มแตะกับพื้น”

“ถ้าอธิบายตามหลักของมนุษย์ เวลาที่มนุษย์รู้สึกว่า พลังในตัวเองไม่เพียงพอ จะเอาชนะอุปสรรคที่ยากลำบาก ก็ย่อมนึกถึงอำนาจ ที่มากกว่าอยู่แล้วโดยพื้นฐาน ขึ้นอยู่กับว่า แต่ละคนต้องการอำนาจที่มากกว่าจากทางไหน”

487825647
“อย่าง นักฟุตบอลพุทธ ก่อนลงสนาม ก็จะมีการพนมมือ ไหว้ สวดมนต์ ท่องคาถา นักบอลต่างชาติที่นับถือศาสนา อิสลาม, คริสต์ ก็จะเอามือขึ้นมาขอพร อธิษฐานต่อพระเจ้า ก่อนลงสนาม สุดแล้วแต่ว่านักบอลคนนั้นจะมีความเชื่อแบบไหน”

ขวัญกำลังใจ จึงเป็นเรื่องสำคัญของ นักฟุตบอล ก่อนเกมการแข่งขัน "จเด็จ มีลาภ" หัวหน้าผู้ฝึกสอน การท่าเรือ เอฟซี มองว่า หากนักเตะในสังกัด มีความเชื่อไปในทิศทางใด พวกเขาสามารถแสดงออกมาได้ก่อนเกม เพราะเชื่อว่า ผลจากการได้ทำตามความเชื่อ จะทำให้นักกีฬา ลงไปเล่นด้วยสภาพร่างกายและจิตใจที่พร้อมมากที่สุด

“ความเชื่อ เป็น จิตวิทยาอย่างหนึ่ง ถ้าบางครั้งเรารู้สึกไม่โอเค ยังมั่นใจไม่มากพอ ก็เป็นเรื่องปกติที่คนจะต้องหาแรงกระตุ้น หรือที่พึ่งให้ตัวเองรู้สึกดี ผมไม่เคยห้ามนักฟุตบอลทุกคน ว่าใครจะมีความเชื่อเป็นอย่างไร ใครสะดวก นับถืออะไรก็ทำแบบนั้น”

“อย่างเช่นคนไทย บางคนก็จะนั่งสมาธิ หลบอยู่ในมุมเงียบๆ ไปไหว้เจ้าที่เจ้าทาง ต่างชาติก็จะสวดมนต์ ขอพรจากพระเจ้า บางคนใช้วิธีการเปิดเพลงฟัง แต่ละคนก็มีความเชื่อไม่เหมือนกัน ถ้าเขาทำแล้วไม่สร้างความเดือดร้อนให้คนอื่น ทำแล้วสบายใจ ทำแล้วรู้สึกมั่นใจในการเล่นมากขึ้น ผมก็มองไม่เห็นว่าทำไมเราต้องห้ามเขาทำ” เซอร์เด็จ กล่าว

ศาสนา ความเชื่อ กับกีฬา บางครั้งก็ดูเหมือนจะเป็นเรื่องที่ยาก จะแยกออกจากกันได้ จนมีบางคนกล่าวไว้ว่า “ฟุตบอลเป็นเหมือนศาสนาหนึ่ง” ที่แฟนบอลเปรียบเสมือนสาวกของศาสนา ที่จะมาร่วมเข้าพิธีกรรม (การแข่งขัน)

มีการร้องเพลงที่เปรียบเสมือนบทสวด และเกิดศรัทธาขึ้นที่นี่ นักฟุตบอลที่มีชื่อเสียง และทำผลงานจนเป็นที่รักแก่ฟุตบอล ก็ถูกยกให้เป็นหนึ่งในศาสดาของศาสนานี้

000_1a640i
เหมือนกับ ธีรศิลป์ แดงดา ถูกยกย่องให้เป็น “เทพเจ้ากิเลนผยอง”, เลอันโดร โอลิเวียรา ได้รับจากยกย่องจาก แฟนบอลการท่าเรือฯ ว่าเป็น “คิง เลอันโดร”  ไม่ต่างกับเมืองนอกที่ ดิเอโก มาราโดนา เป็นเทพเจ้าของนาโปลี และชาวอาร์เจนตินา เช่นเดียวกับที่ เปเล่ เป็นเช่นนั้นกับ คอลูกหนังบราซิล

เรื่องบางเรื่อง พฤติกรรม พิธีกรรมบางอย่างที่ถูกทำลงไป บางครั้งอาจดูงมงาย เพ้อเจ้อ ไม่เกี่ยวกัน แต่เชื่อเถอะ ความเชื่อเหล่านั้น มีพลังมากกว่าที่ วิทยาศาสตร์ จะหาคำจำกัดความกับความเชื่อที่เกิดขึ้นในเกมลูกหนัง ที่เปรียบได้ดั่งศาสนาของแฟนบอลหลายๆคน

“ไม่มีอะไรเกินไปเลย เพราะวิทยาศาสตร์ในปัจจุบันก็ยังไม่ใช่พลังที่สูงสุด มันยังมีองค์ความรู้เพิ่มเติมขึ้นทุกวัน สำหรับกีฬาอาชีพไม่มีคำว่าเตรียมตัวพร้อมมากเกินไป เพราะวิทยาศาสตร์ ยังพัฒนาไปได้อีกเรื่อยๆ ดังนั้นทุกทีม ถ้าเขาสามารถทำให้ทีมตัวเองพร้อมากสุด และทำให้ทีมเขามีโอกาสชนะเพิ่มขึ้น ทำไมเขาจะไม่ทำ”

“เชื่อว่าทุกวันนี้ สนามแอนฟิลด์ น่าจะสร้างห้องละหมาดไว้ให้กับ นักบอลมุสลิม ที่ต้องการแค่ห้องที่มีพื้นสะอาด ขนาดเท่าโลงศพ ไว้ทำพิธีกรรมตามความเชื่อ ถ้าสโมสรที่เห็นความสำคัญ ทำไมจะทำให้ไม่ได้เรื่องแค่นี้”

“ผมว่าสำคัญที่สุดของกีฬาคือทีมเวิร์ก ถ้าทุกคนต่างเรียนรู้ และเคารพซึ่งกันและกัน เข้าใจว่าอะไรที่ทำให้เราสบายใจ อะไรที่ทำให้เพื่อนร่วมทีมสบายใจ ลูกทีมสบายใจ อาจช่วยให้สภาพจิตใจของนักบอลของทีมนั้น ดีขึ้นอีก 3-5 เปอร์เซนต์ เพราะบางครั้งในทางฟุตบอล 3-5 เปอร์เซนต์ที่เพิ่มขึ้น ก็อาจเปลี่ยนแปลงถึงผลแพ้-ชนะ ในสนามได้ โดยที่ไม่มีอะไรเสียไปเลย  ธนะ วงษ์มณี บก.บริหารจากโกล ประเทศไทย ทิ้งท้าย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook