นี่สินะ.. "รสชาติของการเป็นแชมป์"

นี่สินะ.. "รสชาติของการเป็นแชมป์"

นี่สินะ.. "รสชาติของการเป็นแชมป์"
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ความทรงจำแรกของผมกับ "ฟุตบอล" มันออกจะผิดแผกแตกต่างจากเด็กคนอื่นๆไปสักหน่อย ตรงที่เริ่มเชียร์ฟุตบอล "ทีมชาติ" ก่อนทีม "สโมสร" และมันก็นานแสนนานเหลือเกิน กว่าจะได้สัมผัสความรู้สึกของคำว่า "แชมเปี้ยน" อีกครั้ง..

ย้อนไปเมื่อ 18 ปีที่แล้ว ฟุตบอลยูโร 1996 ด้วยวัยเพียง 8 ขวบยังไม่รู้ประสีประสาเท่าไรนัก เด็กหนุ่มคนหนึ่งตื่นขึ้นมากลางดึกเพื่อนั่งชมอะไรบางอย่างกับคุณพ่อ ผู้ชายรูปร่างท้วมผิวขาวหัวสีดอกเลา กระดกลูกกลมๆข้ามหัวผู้ชายร่างใหญ่ผมยาวสีทองในสีเสื้อกรมท่า แล้วตะบันเต็มข้อเข้าไปตุงตาข่าย..

ผู้ใหญ่ในจอทีวีเขาทำบ้าอะไรกันวะ? เท่ชะมัด!..

ใช่ครับ! ผมกำลังพูดถึง "พอล แกสคอยน์" โชว์เหนือใส่ "โคลิน เฮนดรี้" กองหลังตัวเก่งทีมชาติสก็อตแลนด์ แล้วซัดผ่าน "แอนดี้ โกแรม" กลายเป็นช็อตบรรลือโลกลูกนั้นแหละ!..

หลังจากคืนนั้น ผมก็จะตื่นมากลางดึกเพื่อดูไอ้กีฬาที่คนเป็นสิบๆ วิ่งไล่แย่งลูกกลมๆในสนามหญ้าสีเขียวนี้กับพ่อตลอด ดูไปงั้นแหละ เห็นว่ามันสนุกดี โดยเฉพาะเมื่อมีการทำประตูเกิดขึ้น ตื่นเต้นอ่ะ! แต่ก็ยังไม่รู้จักการเชียร์ทีมใดเป็นพิเศษ ใครได้บอลก็เชียร์ฝั่งนั้น..

แชมป์ยุโรป 1996 ความสำเร็จครั้งสุดท้ายก่อนมาบราซิล

จนเมื่อมาถึงนัดชิงชนะเลิศ ทีมเสื้อสีแดง(สาธารณรัฐเช็ก) ขึ้นนำไปก่อนจากจุดโทษ จำได้ว่าตอนนั้นตนเองเริ่มมีความรู้สึกร่วมกับเกมขึ้นมา เริ่มมีส่งเสียงเชียร์ทีมเสื้อสีขาว(เยอรมัน)แล้วเพราะโดนนำ ไม่รู้เป็นอะไร อยากให้พวกเขาตีเสมอให้ได้ และมันก็เกิดขึ้นจริงๆ..

"โอลิเวอร์ เบียร์โฮฟฟ์"(ตอนนั้นผมก็ยังไม่รู้จักชื่อหรอกนะครับ) ตัวสำรองที่ลงมาในช่วง 20 นาทีสุดท้าย โดนเปลี่ยนลงมาแป๊ปเดียว โขกตุงตาข่ายซะงั้น เฮลั่นบ้านแบบไม่รู้ตัว!..

จบ 90 นาที เสมอ 1-1 ต้องต่อเวลาพิเศษ เบียร์โฮฟฟ์ เอาอีกแล้ว ซัดด้วยซ้ายในเขตโทษ บอลกลิ้งหลุนๆเข้าไป เกมจบทันที! อะไรคือโกลเด้นโกล? ไม่รู้สิตอนนั้น ไม่เข้าใจหรอก รู้สึกตัวอีกทีก็เห็นเจ้าถ้วยสีเงินใบเขื่องโดนชูขึ้นเหนือหัว "เจอร์เก้น คลิ้นส์มันน์" และถูกแห่ไปรอบๆสนามพร้อมกับบรรดาแข้งเยอรมันแล้ว..

นั่นแหละครับ จุดเริ่มต้นของการเป็นสาวก "อินทรีเหล็ก" ของผม..

หลังจากนั้นเป็นต้นมา ความชอบในกีฬาฟุตบอลของผมก็เติบโตขึ้นตามวัย ถึงจะติดตามฟุตบอลสโมสรอังกฤษเป็นหลัก แต่ก็แอบเช็คข่าวทีมชาติเยอรมันอยู่ไม่ห่าง บุนเดสลีกาหาดูยากก็อาศัยอ่านและดิ้นรนหาข้อมูลมาเสพอยู่ไม่ขาด ถึงจะไม่มีทีมในลีกเยอรมันเชียร์เป็นหลัก แต่กับทีมชาติแล้ว "ด๊อยช์ทลันด์" คืออันดับ 1 ในใจเสมอมาเท่านั้น(ทีมชาติไทยยกไว้ในอีกฐานะนึงนะครับ)..

ทีมชุดตกรอบแรกยูโร 2004 ชนะไม่ได้กระทั่งลัตเวีย!

แต่หารู้ไม่ เส้นทางแห่งการอกหักช้ำชอก ปวดร้าวสะสมแบบจัดเต็ม ก็เกิดขึ้นนับจากวันนั้นเช่นกัน..

ฟุตบอลโลก 1998 พลิกล็อคแพ้โครเอเชียเละ 0-3 ตกรอบ 8 ทีมสุดท้าย เริ่มรู้ประสาแล้วก็รู้สึกหงอยนิดๆ..
ยูโร 2000 ตกรอบแรก อันนี้รู้สึกงงและผิดหวัง อะไรวะ? ไม่เก่งเลยอ่ะ แข่ง 3 นัด เสมอ 2 แพ้ 1..
ฟุตบอลโลก 2002 แพ้บราซิลรอบชิงฯ 0-2 คราวนี้มีน้ำตาซึมแล้วครับ ยังจำสีหน้าของ โอลิเวอร์ คาห์น ได้ติดตาจนทุกวันนี้..
ยูโร 2004 ปีของ "เทพนิยายกรีก" แต่เป็น "ฝันร้ายแข้งเบียร์" ตกรอบแรกอีกครั้ง! ก็สมควรครับ ทำไปได้ เสมอกระทั่งทีมชาติลัตเวีย! แต่นี่ก็ถือเป็นโอกาสดีที่ทีมชาติได้เกิดการปฏิวัติครั้งใหญ่ "เจอร์เก้น คลิ้นส์มันน์" เข้ารับตำแหน่งบุนเดสเทรนเนอร์!!..
ฟุตบอลโลก 2006 ได้โอกาสจัดบอลโลกในบ้านตัวเองแท้ๆ แต่ทำได้เพียงคว้าอันดับ 3 ในปีที่ "คาเตนัชโช่" ของทีมชาติอิตาลีครองโลก เซ็งสุดๆ..
ยูโร 2008 ได้รองแชมป์ พ่ายแก่สเปนรอบชิง 0-1 ผิดหวังมาก ถือเป็นจุดเริ่มต้นความยิ่งใหญ่ของระบบติกิ-ตาก้าแห่งขุนพลแดนกระทิงดุด้วย..
ฟุตบอลโลก 2010 ได้อันดับ 3 อีกครั้ง และก็เหมือนเดิม โดนสเปนย้ำแค้นในรอบรองฯ 1-0 เริ่มชินกับความช้ำ..
ยูโร 2012 ตกรอบรองชนะเลิศ แพ้อิตาลีไป 1-2 จากการเหมาประตูของ "เกรียนโอ้" มาริโอ บาโลเตลลี่ แหม่ เงิบสุดๆครับ..

อย่างไรก็ตาม จะเห็นได้ว่า 4 ทัวร์นาเม้นต์หลังสุด "อินทรีเหล็ก" เข้ารอบลึกๆหรือไม่ก็ใกล้เคียงกับคำว่า "แชมป์" มาตลอด นับตั้งแต่ "โยอัคคิม เลิฟ" ก้าวจากตำแหน่งมือขวาของ "คลิ้นซี่" ขึ้นมาเป็นหัวเรือใหญ่เองในปี 2006 แต่ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม ก็ทำได้แค่ "เกือบ" เท่านั้น..

อาจจะมองว่าโชคร้ายก็ได้ ที่ "อินทรีเหล็ก" ยุคสร้างทีมใหม่ มาเริ่มเก่งผิดยุค เพราะ "ติกิ-ตาก้า" ของสเปนช่างน่าเกรงขามและทรงประสิทธิภาพเหลือเกิน..

"คลิ้นส์มันน์" กับ "เลิฟ" ครั้งยังทำงานร่วมกัน

"ฟุตบอลโลก 2014" ก็เช่นกัน เยอรมันมาบราซิลด้วยความพร้อมสุดขีด ครั้งนี้ผมค่อนข้างมีความมั่นใจพอสมควร(อีกแล้ว)ว่า "ครั้งนี้ถึงทีข้าบ้างล่ะ!" เพราะอะไรน่ะเหรอ? สาเหตุหลักๆเลยคือบรรดาขุนพลจากบาเยิร์น มิวนิค และส่วนตัวคิดว่า นักเตะชุดนี้ โยกี้ เลิฟ ผสมผสานบรรดาแข้งเก๋า-แข้งดาวรุ่งได้ลงตัว แต่ละคนล้วนท็อปฟอร์มในลีกทั้งนั้น มั่นใจจนกล้าพนันเล่นๆกันในหมู่เพื่อนสนิทว่า ทีมรักจะคว้าแชมป์ได้ด้วยซ้ำ!!(การพนันไม่ดีนะครับ แต่เล่นหน่อยก็ดี ฮาาา)..

และสุดท้าย ละครชีวิตลูกหนังของโลกที่ฉายมา 1 เดือนเต็มๆ ตั้งแต่เริ่มต้น จนจบลงไปเมื่อเช้าตรู่วันนี้ นอกจากจะได้ผู้ชนะเลิศแล้ว ก็ทำให้ผมได้ข้อสรุปของเหล่าบรรดาทีมเต็งแชมป์ที่อกหักว่า..

"สเปน" ระบบติกิ-ตาก้าล่มสลาย แข้งเก๋าหมดแรงจูงใจ, "อิตาลี" ตีเขาไม่ได้จนถูกเขาบุกมาตีหัวถึงในบ้าน, "อุรุกวัย" ซัวเรซโดนแบนคือจุดเริ่มต้นของการตกรอบ, "บราซิล" สไตล์แซมบ้าที่สาบสูญ, "ฮอลแลนด์" วาสนายังคงเป็นได้แค่พระรองในเวทีฟุตบอลโลก และ "อาร์เจนติน่า" เกมรับดีแค่ไหน แต่เกมรุกจะพึ่ง "ลิโอเนล เมสซี่" คนเดียวนั้นไม่อาจทำให้ทีมถึงฝั่งฝัน..

แต่ "เยอรมัน" เป็นทีมที่ไม่มีสตาร์ เป็นฟุตบอลระบบที่เน้นทีมเวิร์คและระเบียบวินัยอย่างเคร่งครัด ลงตัวจนบอกไม่ถูกว่า เกมรับ-เกมรุก อะไรคือจุดเด่นกว่ากัน? ระหว่างทัวร์นาเม้นต์อาจมีกระท่อนกระแท่นบ้างก็เหอะ แต่จะให้มองอย่างเป็นกลาง ไม่เข้าข้างทีมตัวเอง ผมก็คิดว่า โดยรวมแล้วก็ดูมีภาษีกว่าชาติอื่นอยู่ดี(แฮร่! อวยสุดๆ)..

ทีมชุดนี้ผสานแข้งเก๋ากับดาวรุ่งอย่างลงตัว

"โยกี้ เลิฟ" ไม่ลืมให้เครดิต คลิ้นส์มันน์ อดีตลูกพี่ที่ตนมาสานงานต่อ ว่าเป็นผู้วางรากฐานจากความน่าอับอายเมื่อปี 2004 จนทำให้ทีมมีวันนี้ ไม่ลืมพูดถึงลูกทีมทุกคน และขุนพลแข้งซีเนียร์อย่าง "แพร์ แมร์เตซัคเคอร์, ลูคัส โพดอลสกี้, บาสเตียน ชไวน์สไตเกอร์, ฟิลิปป์ ลาห์ม และมิโรสลาฟ โคลเซ่" ที่อยู่กับทีมชุดนี้มาโดยตลอด..

จบเสียที! สิ้นสุดการรอคอย 24 ปีนับจากแชมป์โลกครั้งสุดท้ายปี 1990 ของชาวเยอรมัน..

ส่วนผมเอง 18 ปีจากแชมป์ยูโร 1996 วันนี้ได้มีโอกาสเฮเต็มๆเสียงอีกครั้ง หลังจากอกหักมาตลอดอย่างสม่ำเสมอทุกๆ 2 ปี และที่สำคัญเป็น "แชมป์โลก" เสียด้วย!..

ไหนจะสถิติสำคัญ 2 อย่างที่ทำลายลงได้อีก คือ..

- ทีมจากยุโรปชาติแรกที่ได้เถลิงแชมป์โลกบนแผ่นดินอเมริกาใต้..

- "มิโรสลาฟ โคลเซ่" กับ 16 ประตูประวัติศาสตร์ ทำลายสถิติ "โรนัลโด้" บนแผ่นดินเกิดตัวเอง แถมยังยิงใส่บราซิลซะด้วย!..

อภิมหาซูเปอร์ฟินครับงานนี้!!!..

"มาริโอ เกิทเซ่" โจ๊กเกอร์ผู้ทำประตูชัยในนัดชิงดำ

ในฐานะแฟน "อินทรีเหล็ก" คนนึง ขอขอบคุณ โยกี้ เลิฟ, สตาฟฟ์โค้ชทุกคน, ทัพนักเตะทั้ง 23 ชีวิต รวมไปถึง "มาร์โค รอยส์" แข้งฟอร์มฮอตที่ดวงกุดไม่ได้บินมาสู้ศึกครั้งนี้ ขอบคุณที่ "คืนความสุข" มาให้ผมอีกครั้ง..

และสุดท้ายขอบคุณ "แพทริก แบร์เกอร์" สตาร์ทีมชาติเช็ก ในวันที่ 30 มิถุนายน 1996 ที่ไม่พลาดจุดโทษให้ทีมขึ้นนำ "ทีมชาติเยอรมัน" 1-0 ในนัดชิงชนะเลิศ..

เป็นจุดกำเนิดให้ผมรู้จัก "ฟุตบอล" และรอคอยจนได้รู้ว่า "รสชาติแห่งความสำเร็จ" มันช่างหอมหวานตราตรึงใจ คุ้มค่าแห่งการเฝ้ารอเหลือเกิน...

"น้องเพชร"

ติดตามข่าวบอลโลก 2014 โปรแกรมบอลโลก ผลบอลโลก ได้ที่
http://sport.sanook.com/worldcup

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook