10 ปีไทยลีกยุคใหม่... สโมสรเปลี่ยนชื่อและย้ายถิ่นฐานไปแล้วกี่ครั้ง?

10 ปีไทยลีกยุคใหม่... สโมสรเปลี่ยนชื่อและย้ายถิ่นฐานไปแล้วกี่ครั้ง?

10 ปีไทยลีกยุคใหม่... สโมสรเปลี่ยนชื่อและย้ายถิ่นฐานไปแล้วกี่ครั้ง?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

พัทยา ยูไนเต็ด กลายเป็นสโมสรล่าสุดของศึกฟุตบอล โตโยต้า ไทยลีก ที่มีการขอเปลี่ยนชื่อทีม และย้ายสนาม

จากเดิมที่ยึดโยงเตะที่ สนามเทศบาลเมือง หนองปรือ จ.ชลบุรี มานานหลายปี ไปยังรังเหย้าใหม่ ที่สนาม กกท. บางพลี จ.สมุทรปราการ พร้อมกับแปลงโฉมเป็นทีม “สมุทรปราการ ซิตี้”

แต่นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่สโมสรฟุตบอลบนลีกสูงสุดเมืองไทย มีการเปลี่ยนแปลงสนามแข่งขัน และชื่อสโมสร หากนับเฉพาะแค่ช่วงเวลา 1 ทศวรรษของฟุตบอลไทยลีก ยุคใหม่

พบว่ามีการย้ายสนามแข่งขันมากถึง 33 ครั้ง และเปลี่ยนชื่อสโมสรไปทั้งสิ้น 31 ครั้ง (ไม่นับชื่อแรกและสนามแรกของแต่ละทีม)

เหตุผลหลัก มาจากการที่สโมสรไม่ได้มีสิทธิ์ขาดในการเป็นเจ้าของสนาม มาตั้งแต่แรก และการลงทุนสร้างสนามต้องใช้เม็ดลงทุนมหาศาล

จึงนิยมใช้รูปแบบ การเช่าสนามแข่งขัน ที่มีอยู่แล้ว รวมถึงการย้ายสนามไปตามกลุ่มทุน เจ้าของทีมที่เข้ามาเทคโอเวอร์สิทธิ์ ตลอดจนการขยายตัวออกไปสร้างฐานแฟนคลับตามต่างจังหวัด

ล้วนเป็นเหตุผลที่ทำให้ช่วง 10 ปีที่ผ่านมา การย้ายสนามจึงเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นแทบทุกฤดูกาล จนไม่สามารถการันตีได้เลยว่า สมุทรปราการ ซิตี้ จะเป็นทีมสุดท้ายของไทยลีกหรือไม่? ที่มีการโยกย้ายรังเหย้าของตัวเองไปเริ่มต้นใหม่

โอสถสภา แชมป์เปลี่ยนชื่อ, แชมป์ย้ายสนาม
หนึ่งในสโมสรลูกหนังเก่าแก่ของฟุตบอลไทย “โอสถสภา” จัดเป็นทีมที่มีการเปลี่ยนแปลงมากสุดในไทยลีกยุคใหม่ โดยพวกเขามีเปลี่ยนชื่อทีมถึง 4 ครั้ง เริ่มจาก โอสถสภา M-150, โอสถสภา M-150 สระบุรี, โอสถสภา M-150 สมุทรปราการ และ ซุปเปอร์พาวเวอร์ สมุทรปราการ

นอกจากนั้น ยังได้ชื่อว่าเป็นทีมที่มีการย้ายสนามบ่อยสุด ในรอบ 9 ปี ไล่มาตั้งแต่ สนามหมู่บ้านธนารมณ์, สนามองค์การบริหารส่วนจังหวัดสระบุรี, สนามราชมังคลากีฬาสถาน, สนามเทพหัสดิน, สนามราชมังคลากีฬาสถาน (รอบสอง) และสนามการกีฬาแห่งประเทศไทย บางพลี จ.สมุทรปราการ

ทำให้ พวกเขา กลายเป็นทีมที่ย้ายถิ่นฐานข้ามจังหวัดมากสุด ถึง 3 จังหวัด เทียบเท่า ทีทีเอ็ม (พนักงานยาสูบ เดิม) ที่มีการย้ายสนามและเปลี่ยนชื่อ 3 ฤดูกาลติดต่อกัน (2010-2012) เป็น ทีทีเอ็ม สมุทรสาคร, ทีทีเอ็ม พิจิตร และ ทีทีเอ็ม เชียงใหม่ ก่อนตกชั้นไปในปี 2013 และพักทีมไปหลังจบฤดูกาล 2015

สาเหตุสำคัญที่ทำให้ โอสถสภา มีการเปลี่ยนแปลงบ่อยครั้ง เกิดขึ้นจาก เดิมทีรายได้หลักของสโมสร มาจาก บริษัทแม่อย่าง บ.โอสถสภาฯ

แต่เนื่องจากองค์กรใหญ่ต้องเตรียมเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ และจำเป็นต้องตัดหนี้เสียทิ้ง จึงมอบสิทธิ์การทำทีมให้แก่กลุ่ม ซุปเปอร์พาวเวอร์ ไปบริหารจัดการแทน ในช่วงเลกสอง ฤดูกาล 2016 ก่อนจะตกชั้นไปในปี 2017 และขายสิทธิ์ดังกล่าวให้แก่ จัมปาศรี ยูไนเต็ด ที่ถูกทาง เอเอฟซี ระงับสิทธิ์ไปเมื่อช่วงต้นปีนี้

เพื่อนตำรวจไม่เคยเตะที่บุญยะจินดา และสนามยอดฮิตไม่ใช่ ราชมังฯ
ด้วยความที่ ราชมังคลากีฬาสถาน จัดเป็นสนามเช่ายอดฮิตอันดับ 1 ของประเทศ ที่ไม่ว่าจะเป็น ฟุตบอล คอนเสิร์ต หรืออีเวนต์อะไรก็ตาม ที่ต้องการความยิ่งใหญ่ อลังการ มักจะนึกถึงที่นี่

ในทางฟุตบอลลีกอาชีพ ราชมังฯ เคยต้อนรับ สองสโมสรในยุคใหม่ไทยลีก อย่าง บีบีซียู และ โอสสภา ที่ไปเช่าสนามแห่งนี้เป็นรังเหย้าของตัวเองมาแล้ว

แต่สนามที่ได้รับความนิยมและถูกสโมสรใช้งานมากสุด กลับเป็น "สนามสถาบันการพลศึกษา วิทยาเขตชลบุรี" ที่มี 3 สโมสรเคยมาใช้สนามแห่งนี้เป็นสนามเหย้า ได้แก่ ชลบุรี เอฟซี, พัทยา ยูไนเต็ด และราชนาวี

ดังนั้น สนาม สพล. ชลบุรี จึงเป็นสนามที่มีทีมไทยลีกมาใช้งานมากสุดถึง 3 ทีม

ขณะที่ เพื่อนตำรวจ สโมสรที่มีภาพลักษณ์ชัดเจนว่าเป็นทีมของตำรวจ แต่ใครจะไปเชื่อว่าในช่วงตั้งแต่ปี 2009 จนถึง 2014 ที่พวกเขาอยู่บนเวทีไทยลีก “สุภาพบุรุษโล่เงิน" กลับไม่เคยได้ใช้สนาม บุญยะจินดา ภายในสโมสรตำรวจ เป็นสนามเหย้า (ปี 2015 ที่กลับมาใช้ เป็นช่วงที่ตกชั้นไปอยู่ ดิวิชั่น 1)

เพื่อนตำรวจ เลือกใช้สนามคลองจั่น ในฤดูกาล 2009 ต่อมาย้ายมาเล่นที่ สนามมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต เป็นรังเหย้าตั้งแต่ปี 2010-2014 จนตกชั้นและพักทีมไปในปี 2016

อย่างไรก็ดี ในฤดูกาล 2017-2018 กลุ่มตำรวจ นำโดย พลตำรวจเอก จักรทิพย์ ชัยจินดา ได้เข้ามาร่วมบริหารสโมสรบีอีซี เทโรศาสน พร้อมกับเปลี่ยนชื่อสโมสรเป็น โปลิศ เทโร เอฟซี โดยไฮไลท์สำคัญ คือการนำทีมมังกรไฟ คราบสุภาพบุรุษโล่เงิน ย้ายมาเล่นที่สนามบุญยะจินดา บนเวทีไทยลีกสำเร็จเสียที

กรุงเทพฯ จังหวัดเดียว มีสนามฟุตบอลไทยลีกเท่ากับ ภาคเหนือ-กลาง-ใต้ รวมกัน
กรุงเทพมหานคร เป็นจังหวัดที่มีสนามฟุตบอลใช้งานในไทยลีกมากสุด ถึง 11 สนาม ประกอบด้วย สนามบีอีซีเทโรศาสนหนองจอก, สนามเทพหัสดิน, สนามเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา มีนบุรี, สนามบุญยะจินดา, สนามหมู่บ้านธนารมณ์, สนามราชมังคลากีฬาสถาน, สนามจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย, สนามกีฬากองทัพบก, สนามกีฬาไทย-ญี่ปุ่น ดินแดง, สนามกีฬาคลองจั่น และ สนามแพท สเตเดียม

ซึ่งเป็นจำนวนมากเท่ากับ การเอาสนามฟุตบอลที่เคยใช้ในไทยลีกของ ทีมใน 3 ภูมิภาคอย่าง ภาคเหนือ (3 สนาม) ภาคกลาง (6 สนาม) ภาคใต้ (2 สนาม) มารวมกันได้ที่ 11 สนาม

ส่วนจังหวัดที่มีสนามฟุตบอลไทยลีกรองลงมา ได้แก่ ชลบุรี 6 สนาม เหตุผล กรุงเทพมหานคร และ ชลบุรี มีสนามแข่งขันฟุตบอลไทยลีกมากสุดเป็น 2 อันดับแรก เกิดจากสโมสรส่วนใหญ่ที่มีพื้นฐานมาจากไทยลีกยุคแรก

ล้วนแล้วแต่เป็นทีมองค์กร จึงเลือกใช้สนามในกรุงเทพมหานครเป็นหลัก เพราะสะดวกต่อการเดินทาง อีกอย่างในเวลานั้น ทีมต่างจังหวัดมีส่วนร่วมกับไทยลีกน้อยมาก เพราะยังมี โปรลีก จัดเป็นรายการคู่ขนานอยู่

ขณะที่ในช่วงต้นของ ไทยลีกยุคใหม่ ชลบุรี ในห้วงเวลาหนึ่งพวกเขาเคยมีสโมสรถึง 4 ทีมโลดแล่นในลีกสูงสุด (ชลบุรี, ศรีราชา, พัทยา, ราชนาวี) ทำให้เกิดรังเหย้าไทยลีกที่นี่ มากถึง 6 สนาม ประกอบการที่จังหวัดชลบุรี ค่อนข้างเป็นจังหวัดที่มีชื่อเสียงด้านกีฬาหลายๆชนิด ในระดับประเทศอยู่แล้ว สนามจึงกระจายไปรอบๆ จังหวัด

สำหรับภูมิภาคที่มี สนามฟุตบอลมากสุด แน่นอนว่าต้องเป็น กรุงเทพและปริมณฑล มีสนามที่เคยผ่านการใช้งานในไทยลีกยุคใหม่มากถึง 21 สนาม

ส่วนภูมิภาคที่มีรังเหย้าไทยลีกน้อยสุดได้แก่ ภาคใต้ มีเพียง 2 สนามเท่านั้น ได้แก่ สนามติณสูลานนท์ จ.สงขลา ของ วัวชน (สงขลา ยูไนเต็ด) กับ สนามสามอ่าว สเตเดียม ของ พีที ประจวบ เอฟซี

15 เปอร์เซนต์เท่านั้นที่สนามฟุตบอลไทยลีกเป็นของเอกชน หรือเจ้าของทีม
อย่างที่กล่าวไปข้างต้น สโมสรส่วนใหญ่ ที่มาโลดแล่นในไทยลีก ไม่ได้สร้างสนามเป็นของตัวเอง โดยอาศัยการเช่า หรือทำข้อตกลงร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ, รัฐวิสาหกิจ และสถานศึกษา ที่เป็นเจ้าของสนาม ในการเช่าใช้สนามฟุตบอล เพื่อทำการแข่งขัน

จาก 52 สนามที่เคยถูกใช้งานตลอด 10 ปีไทยลีกยุคใหม่ พบว่า เจ้าของสนาม อันดับ 1 คือ ภาครัฐ มีสนามไทยลีกในครอบครองมากถึง 32 สนาม คิดเป็น 61.5 เปอร์เซนต์ ยกตัวอย่าง สนามขององค์การบริหารส่วนจังหวัด, สนามกีฬากลาง, สนาม สนามของกองทัพ ฯ

อันดับ 2 สนามของสถานศึกษา ที่ถือสิทธิ์เป็นเจ้าของที่ดิน และเปิดให้สโมสรเข้าเช่าใช้ มีทั้งสิ้น 9 สนาม คิดเป็น 17.3 เปอร์เซนต์ มากกว่าอันดับ 3 สนามที่เอกชนหรือสโมสรสร้างขึ้น ที่มีเพียง 8 สนามเท่านั้น คิดเป็น 15.3 เปอร์เซนต์

อันดับสุดท้ายคือ สนามของรัฐวิสาหกิจ ที่มีเพียง 3 สนาม สาเหตุสำคัญเนื่องจากฟุตบอลไทยลีกยุคใหม่ ทีมที่เป็นหน่วยงาน รัฐวิสาหกิจ เริ่มลดน้อยถดลง จากเงื่อนไขคลับ ไลเซนซิ่ง ของเอเอฟซี ที่สโมสรต้องจดทะเบียนเป็น นิติบุคคล

ทำให้ทีมหน่วยงานเริ่มหายไปจาก ไทยลีก พลอยให้สนามลดลงไปด้วย มีเพียง แพท สเตเดียม สนามแห่งเดียวของรัฐวิสาหกิจ ที่ยังคงถูกใช้บนเวทีไทยลีกให้กับทีม การท่าเรือ เอฟซี

ส่วนสนาม ทีโอที หรือ สนามกีฬาคลองจั่น (เจ้าของคือ การเคหะฯ) ปัจจุบันถูกปล่อยให้สโมสรอื่นเข้าใช้งาน โดยที่ ทีมทีโอที เอสซี เจ้าของสนาม ทีโอที แจ้งวัฒนะ ไม่ได้ส่งทีมเข้าร่วมการแข่งขัน ตั้งแต่ฤดูกาล 2016

“อีกครั้งแล้วสินะที่ฉันต้องโยกย้าย”...

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook