ข้อค้นพบใหม่ทำไมอังกฤษเกลียดที่อเมริกันเรียก "ฟุตบอล" ว่า "ซ็อคเกอร์"

ข้อค้นพบใหม่ทำไมอังกฤษเกลียดที่อเมริกันเรียก "ฟุตบอล" ว่า "ซ็อคเกอร์"

ข้อค้นพบใหม่ทำไมอังกฤษเกลียดที่อเมริกันเรียก "ฟุตบอล" ว่า "ซ็อคเกอร์"
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

สำหรับชาวไทยแล้วอะไรอะไรไม่ซับซ้อนนักเพราะเราก็เรียกมันว่าฟุตบอลเหมือนๆกันไปหมด แต่สำหรับชาวอังกฤษกับชาวอเมริกันแล้วการเรียกชื่อของกีฬาที่มีฝ่ายละ 11 คนลงไปแย่งลูกบอลกลมๆว่าอะไรนั้นเป็นเรื่องใหญ่ที่ยอมกันไม่ได้ อย่างที่เรารู้กันอยู่ว่าทางฝั่งอังกฤษจะเรียกมันว่า Football แต่ชาวอเมริกันจะเรียกมันว่า Soccer ทั้งที่มันเป็นกีฬาเดียวกันแท้ๆ

โดยทั่วไปแล้วภาษาอังกฤษแบบอังกฤษกับภาษาอังกฤษแบบอเมริกันมีส่วนที่ต่างกันบ้างอยู่แล้ว สำหรับชาวอังกฤษ pudding หมายถึงทุกๆอย่างที่พวกเขามองว่าเป็นของหวาน แต่สำหรับชาวอเมริกัน pudding คือของหวานชนิดหนึ่งที่ชาวอังกฤษเรียกว่า Custard ยังไม่ต้องนับ pie ที่ก็ไม่เหมือนกัน แต่ก็คงยังไม่ใช่อะไรที่เถียงกันเท่า Football กับ Soccer การโต้เถียงระหว่างสองฝ่าย เป็นไปอย่างดุเดือดเสมอ ยิ่งโดยเฉพาะกับฝ่ายอังกฤษ ที่มองว่าตนเองเป็นผู้ให้กำเนิดมันขึ้นมา

 

เรามักเชื่อกันว่ากีฬาชนิดนี้กำเนิดมาด้วยชื่อว่า Football จนเมื่อมันเข้าไปในอเมริกาแล้วชาวอเมริกันได้เรียกมันเสียใหม่ว่า Soccer เพื่อให้ไม่สับสนกับกีฬายอดนิยมของที่นั่นที่ (คนอื่น) เรียกว่าอเมริกันฟุตบอล หรือพูดไปให้ไกลกว่านั้นได้ว่ามันอาจหมายถึงการที่อเมริกาต่อต้านอังกฤษเสียด้วยซ้ำ

1

แต่ล่าสุด ในหนังสือ It's Football, Not Soccer (And Vice Versa) : On the History, Emotion, and Ideology Behind One of the Internet's Most Ferocious Debates ที่เพิ่งออกเมื่อปี 2018 นี้ Stefan Szymanski ศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์และการจัดการกีฬาแห่งมหาวิทยาลัย Michigan และ Silke-Maria Weineck ศาสตราจารย์ด้านเยอรมันศึกษา และวรรณคดีเปรียบเทียบจากมหาวิทยาลัยเดียวกันได้ศึกษาที่มาที่ไปของคำว่า Soccer และชี้ให้เห็นว่ามันมีเรื่องราวที่ซับซ้อนกว่านั้นและอาจแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ในอีกแบบหนึ่งที่กลับหัวกลับหางกับความเชื่อเดิมเลยต่างหาก (สำหรับคนที่สนใจเศรษฐศาสตร์ของกีฬาก็อาจคุ้นๆชื่อของ Szymanski อยู่บ้าง เพราะเขาคือหนึ่งในผู้เขียนหนังสือ Soccernomics ที่ใช้ไอเดียทางเศรษฐศาสตร์มาอธิบายปรากฏการณ์ต่างๆของฟุตบอลจนโด่งดังไปทั่วโลกมาแล้ว)

Soccer ไม่ได้เริ่มใช้ในอเมริกา และ Football ก็ไม่ได้หมายถึงแค่ฟุตบอล

หลายคนอาจคิดว่าคำที่ชาวอังกฤษเกลียดนักเกลียดหนาอย่าง Soccer นั้นเริ่มใช้ในอเมริกา แต่จริงๆแล้วมันเป็นคำที่ชาวอังกฤษเริ่มใช้ก่อนต่างหาก และยิ่งไปกว่านั้น Football เองก็ไม่ได้หมายถึงแค่ฟุตบอล

 2

เดิมทีนั้นคำว่า Football หมายถึงการละเล่นพื้นบ้านอย่างหนึ่งของชาวอังกฤษ และเมื่อมันเป็นการละเล่นพื้นบ้านมันก็ไม่ได้เป็นกิจกรรมที่มีมาตรฐานตายตัวมากนัก มันมีรูปแบบหลากหลายไปตามแต่ละท้องถิ่น มีทั้งที่ใช้เท้าใช้มือ กระทั่งบางแบบทำร้ายฝ่ายตรงข้ามได้ด้วยซ้ำ (กษัตริย์อังกฤษหลายคนเคยออกกฎหมายแบนการละเล่นนี้มาแล้วเพราะมันทำให้คนบาดเจ็บจนไม่ได้ฝึกทหาร)

จนกระทั่งศตวรรษที่ 19 สถาบันการศึกษาชั้นนำหลายแห่งในอังกฤษรวมตัวกันพยายามกำหนดกติกามาตรฐานขึ้นมา แต่ด้วยรูปแบบการเล่นของแต่ละที่ที่ต่างกันทำให้ตกลงกันได้ยาก เรื่องที่เถียงกันหลักๆก็คือจะให้มันเป็นกีฬาที่ใช้มือหรือเท้าดี รวมไปถึงว่าจะให้มีการปะทะหนักๆ หรือกระทั่งเตะหน้าแข้งกันได้หรือเปล่าด้วยซ้ำ สุดท้ายการละเล่นนี้ก็ได้แยกกันออกเป็นกีฬาสองสาย สายแรกคือกีฬาที่เล่นด้วยการใช้เท้าเตะลูกบอลเป็นหลัก นำโดยมหาวิทยาลัย Cambridge เรียกมันว่า Association Football สายที่สองคือกีฬาที่ใช้มือเล่นลูกบอลและมีการปะทะหนักๆได้ นำโดยโรงเรียนที่ชื่อว่า Rugby และเรียกมันว่า Rugby Football แน่นอน มันคือฟุตบอล กับรักบี้ที่เรารู้จักกันในปัจจุบัน

แล้ว Soccer มาจากไหนล่ะ? มันก็มาจากคำว่า Association Football นั่นแหละ เนื่องจากว่าในตอนนั้นที่ Cambridge กับ Oxford นิยมเรียกอะไรแบบสั้นๆด้วยการตัดคำแล้วเติม er ลงไปต่อท้าย พวกเขาเรียก Rugby Football แบบสั้นๆว่า Rugger และเรียก Association Football ว่า Soccer (เข้าใจว่าตัดคำจาก association)

สรุปว่า Soccer ก็เริ่มใช้จากอังกฤษนั่นแหละ!

นอกจากนั้นแล้วในตอนแรก Football เองก็ไม่ได้หมายถึงฟุตบอลแบบทุกวันนี้ เพราะมันเป็นคำเรียกกว้างๆเสียมากกว่า ซึ่ง Association Football ก็เป็นแค่แขนงหนึ่งของมัน แบบเดียวกับ Rugby Football รวมไปถึง football ที่ถูกดัดแปลงไปอีกอย่าง Gaelicfootball ของไอร์แลนด์, Australian Rules football ของออสเตรเลีย, กระทั่ง Americanfootball ของอเมริกาเสียด้วยซ้ำ

ไปๆมาๆ Football เองก็ไม่ได้หมายถึงแค่ฟุตบอล

การรุกคืบของอเมริกาและการต่อต้าน Soccer ของอังกฤษ

หลังจากที่อังกฤษมีคำว่า Soccer อเมริกาก็เริ่มรับคำนี้เข้าไปช่วงต้นศตวรรษที่ 20 เพื่อใช้แบ่งแยกระหว่าง American Football กับฟุตบอลแบบอังกฤษ ตรงนี้ยังเป็นข้อมูลอย่างที่คนทั่วไปเข้าใจกันอยู่

 3

เพื่อที่จะสืบหาร่องรอยการใช้คำว่า Soccer Szymanski กับ Weineck สำรวจความถี่ของการใช้คำนี้ในสื่อสิ่งพิมพ์ทั้งของอังกฤษและอเมริกา และก็พบแนวโน้มความเปลี่ยนแปลงที่น่าสนใจ โดยเฉพาะในฝั่งอังกฤษ

พวกเขาพบว่าในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 นั้นในอังกฤษใช้คำ Soccer อยู่บ้างแต่ก็ไม่มากนัก มันมักถูกใช้เฉพาะในกลุ่มชนชั้นสูงที่มีการศึกษาโดยเฉพาะจากสถาบันชั้นนำที่เป็นต้นกำเนิดฟุตบอล ไม่ได้แพร่หลายไปถึงคนทั่วไป ขณะที่ในช่วงเดียวกันนั้นคำว่า Soccer ถูกใช้อย่างแพร่หลายที่อเมริกาไปแล้ว แต่ที่น่าสนใจก็คือตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1960s อังกฤษเริ่มใช้คำ Soccer เยอะขึ้นเรื่อยๆ แต่พอถึงทศวรรษ 1980s ก็ค่อยๆลดลง ข้อมูลนี้นำมาสู่การทำความเข้าใจคำๆนี้ได้อย่างดี เพราะเมื่อเอาช่วงเวลานี้มาเทียบกับความเปลี่ยนแปลงของทั้งสองประเทศ มันทำให้เห็นเรื่องน่าสนใจหลายเรื่อง

ข้อแรก ทศวรรษ 1960s คือช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ซึ่งวัฒนธรรมอเมริกาเริ่มเข้ามามีอิทธิพลในอังกฤษมากขึ้น โดยเฉพาะจากทหารอเมริกาที่เข้ามาในอังกฤษเป็นจำนวนมาก ก็พาเอาคำ Soccer (กลับ) มาที่อังกฤษด้วย พูดง่ายๆก็คือคำ Soccer เกิดขึ้นมาในอังกฤษ ไปเติบโตที่อเมริกา แล้วถูกนำกลับมาทำให้แพร่หลายที่อังกฤษอีกที

ความประหลาดคือตอนนั้นอังกฤษก็ไม่ได้รังเกียจคำว่า Soccer เหมือนอย่างปัจจุบันเลย พวกเขารับมันกลับมาจากอเมริกาแล้วใช้กันทั่วไป กระทั่งหนังสือชีวประวัติของ George Best ที่ออกปี 1969 ก็ใช้ชื่อว่า George Best: The Inside Story of Soccer's Super Star หรือหนังสืออัตชีวประวัติของตำนานผู้จัดการทีมแมนฯยูไนเต็ดอย่าง Sir Matt Busby ที่ออกปี 1973 ก็ใช้ชื่อว่า Soccer at the Top : My life in Football

 4

แล้วชาวอังกฤษเริ่มเกลียดคำนี้ตั้งแต่เมื่อไหร่? คำตอบก็คือตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1980s ที่พวกเขาเริ่มเลิกใช้มัน

นั่นนำมาสู่เรื่องน่าสนใจข้อที่สอง มันเกิดอะไรขึ้นในทศวรรษ 1980s Szymanski กับ Weineck วิเคราะห์ว่ามันคือช่วงที่อเมริกากำลังรุกคืบเข้าสู่วงการฟุตบอล พวกเขาเริ่มมีลีกฟุตบอลของตัวเอง ปี 1975 นักฟุตบอลที่ยิ่งใหญ่ที่สุดตลอดกาลอย่างเปเล่ถูกดึงตัวไปเล่นให้ New York Cosmos อเมริกาพยายามเสนอตัวเป็นเจ้าภาพบอลโลก (ที่จะจัดปี 1986) ตั้งแต่ปี 1983 จนมาได้เป็นเจ้าภาพบอลโลก 1994 (อเมริกาได้รับการคัดเลือกตั้งแต่ปี 1988)

 5

การที่พญาอินทรีย์อย่างอเมริกาเริ่มสยายปีกเข้ามาสู่วงการฟุตบอลทำให้อังกฤษเริ่มหวั่นไหว (Odon Vallet นักประวัติศาสตร์ชาวฝรั่งเศสเคยกล่าวไว้ว่าขณะที่โลกภาพยนตร์ถูกครอบครองโดยฮอลลีวูด การเงินถูกควบคุมโดยวอลล์สตรีท ฟุตบอลยังเป็นเพียงสิ่งที่เดียวที่ไม่ถูกอเมริกาครอบงำผ่านโลกาภิวัฒน์) ประกอบกับกระแสการต่อต้านความยิ่งใหญ่คับโลกของอเมริกาเริ่มเพิ่มสูงขึ้น คำว่า Soccer จึงกลายเป็นเสมือนตัวแทนการรุกคืบของอเมริกา อังกฤษที่มองตัวเองเป็นผู้ให้กำเนิดฟุตบอลจึงไม่อยากที่จะใช้คำนี้อีกต่อไป แล้วก็กลายเป็นเกลียดมันในที่สุด

 6

สรุปให้รวบรัดอย่างเข้าใจง่ายๆ Szymanski กับ Weineck เสนอข้อค้นพบใหม่ว่า เอาเข้าจริงแล้วการที่อเมริกาเรียกฟุตบอลว่า Soccer นั้นไม่ใช่แค่เพราะพวกเขาพยายามปลดแอกอเมริกันฟุตบอลออกจากฟุตบอลเท่านั้น แต่ปัจจัยอีกด้านหนึ่งนั้นมาจากทางฝั่งอังกฤษเองที่หวั่นไหวต่อการรุกคืบเข้ามาของอเมริกาจนไม่ยอมใช้คำ Soccer ที่พวกเขาสร้างขึ้นมาเองและเคยใช้มันมาก่อนเสียด้วยซ้ำ

อัลบั้มภาพ 6 ภาพ

อัลบั้มภาพ 6 ภาพ ของ ข้อค้นพบใหม่ทำไมอังกฤษเกลียดที่อเมริกันเรียก "ฟุตบอล" ว่า "ซ็อคเกอร์"

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook