อเมริกันฟุตบอล - รักบี้ : 2 กีฬาสุดโหดที่ผู้เล่นรายได้ต่างกันสุดขั้ว

อเมริกันฟุตบอล - รักบี้ : 2 กีฬาสุดโหดที่ผู้เล่นรายได้ต่างกันสุดขั้ว

อเมริกันฟุตบอล - รักบี้ : 2 กีฬาสุดโหดที่ผู้เล่นรายได้ต่างกันสุดขั้ว
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

แม้จะมีชื่อเหมือนกัน แต่ทุกคนคงทราบกันดีว่า “ฟุตบอล” ของคนทั่วโลก กับคนอเมริกันนั้นมีความแตกต่างโดยสิ้นเชิง เมื่อฟุตบอลที่คนทั่วโลกรู้จักคือกีฬาที่ใช้เท้าเล่น ส่วนฟุตบอลของชาวอเมริกัน กลับใช้มือในการเล่นเป็นหลักเสียอย่างนั้น

 

และเมื่อมองถึงความแตกต่างที่สำคัญในเรื่องนี้ ไม่ต้องสงสัยเลยว่าฟุตบอลของชาวอเมริกัน หรือที่ทั่วโลกบัญญัติศัพท์ให้ใหม่เป็น “อเมริกันฟุตบอล” ดูจะมีความคล้ายคลึงกับ รักบี้ ซึ่งเป็นกีฬาที่ใช้มือเป็นหลักในการเล่นเช่นเดียวกันมากกว่า

จากอังกฤษสู่อเมริกา

“ไก่กับไข่อะไรเกิดก่อนกัน?” อาจจะเป็นคำถามโลกแตก แต่สำหรับอเมริกันฟุตบอลและรักบี้ เรื่องนี้ไม่ถึงกับโลกแตกขนาดนั้น เมื่อมีหลักฐานว่ากีฬาหนึ่งคือต้นแบบรากฐานให้กับกีฬาอีกชนิดหนึ่งอย่างชัดเจน

 1

หลักฐานทางประวัติศาสตร์ได้ระบุว่า กีฬาที่ถือกำเนิดขึ้นก่อนคือ รักบี้ ซึ่งมีความเชื่อกันว่า กีฬาดังกล่าวเริ่มมีเล่นตั้งแต่สมัยก่อนคริสตกาลสมัยที่อาณาจักรโรมยึดครองสหราชอาณาจักรด้วยซ้ำ โดยจุดเริ่มต้นของกีฬารักบี้ที่ดูจะมีหลักฐานมากที่สุด จารึกอยู่บนแผ่นศิลาที่โรงเรียนรักบี้ ในแคว้นวอร์วิกเชียร์ของอังกฤษว่า “ปี 1823 นักเรียนชื่อ วิลเลี่ยม เว็บบ์ เอลลิส รู้สึกไม่สนุกในกติกาของกีฬาฟุตบอล เขาจึงใช้มือถือลูกบอลแล้วออกวิ่ง และนั่นคือจุดเริ่มต้น ของกีฬารักบี้”

เข้าสู่ทศวรรษ 1830 การใช้มือถือลูกบอลออกวิ่งอย่างที่เอลลิสริเริ่ม ก็กลายเป็นรูปแบบการเล่นที่ได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งในปี 1845 นักเรียนที่โรงเรียนรักบี้ 3 คน ก็ได้ร่วมกันเขียนสิ่งที่เรียกว่า “รูปแบบการเล่นเกมรักบี้” ซึ่งได้กลายเป็นจุดเริ่มต้นของกีฬาดังกล่าวตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

ด้วยความที่ประเทศอังกฤษคือหนึ่งในชาติมหาอำนาจในยุคสมัยนั้น จึงไม่แปลกที่พวกเขาจะส่งออกวัฒนธรรมต่างๆ รวมถึงกีฬาไปทั่วทุกมุมโลก ซึ่งหนึ่งในอดีตอาณานิคมอย่างสหรัฐอเมริกาก็เช่นกัน โดยกลุ่มแรกที่ริเริ่มเล่นกีฬาดังกล่าวก็หนีไม่พ้นนักศึกษา ซึ่งแม้หลักฐานทางประวัติศาสตร์จะชี้ว่า ฟุตบอลเกมแรกในสหรัฐอเมริกาเกิดขึ้นภายใต้กติกาของฟุตบอล ทว่าหลังจากนั้นไม่นาน การเล่นภายใต้กติการักบี้กลับได้รับความนิยมในสถาบันต่างๆ ของสมัยนั้นมากกว่า รักบี้จึงกลายเป็นแกนหลักของกีฬาฟุตบอลที่ชาวสหรัฐอเมริกาเล่นไปด้วยนั่นเอง

และเมื่อถึงปี 1876 วอลเตอร์ แคมป์ นักศึกษามหาวิทยาลัยเยล ก็ได้นำกติกาของรักบี้มาดัดแปลง โดยเปลี่ยนสาระสำคัญหลายประการ ทั้งจำนวนผู้เล่น รวมถึงรูปแบบการเล่น จนกลายเป็นกติกาอเมริกันฟุตบอลฉบับแรก ซึ่งทำให้แคมป์ถูกจารึกชื่อว่าเป็น “บิดาของกีฬาอเมริกันฟุตบอล” ไปโดยปริยาย

 2

มาถึงตรงนี้ หลายคนอาจจะสงสัยว่า ในเมื่ออเมริกันฟุตบอลที่เราคุ้นเคยในปัจจุบันมีที่มาจากกีฬารักบี้ แล้วเหตุใดพวกเขาถึงตั้งชื่อกีฬาที่พวกเขาคิดค้นว่า “ฟุตบอล” แม้ไม่มีการอธิบายถึงคำตอบดังกล่าวอย่างชัดเจน แต่ประวัติศาสตร์ในยุคสมัยนั้นพอจะทำให้เราเห็นภาพอยู่บ้าง เพราะช่วงเวลาดังกล่าว ฟุตบอลยังเป็นกีฬาที่มีหลากหลายรูปแบบในการเล่น ไม่ว่าจะเป็นในสหรัฐอเมริกา หรือแม้แต่อังกฤษที่เป็นต้นกำเนิด บ้างก็เล่นภายใต้กติกาของฟุตบอล บ้างก็เล่นในกติกาของรักบี้ แต่ไม่ว่าจะแบบไหน ก็ยังมีคำว่าฟุตบอลห้อยท้ายเช่นกัน เมื่อคนอเมริกันคิดค้นกติกาใหม่จึงได้นำคำว่าฟุตบอลมาใช้เพื่อนิยามว่า นี่คือฟุตบอลในรูปแบบของชาวอเมริกันนั่นเอง

ต่างกันตั้งแต่การเล่น

จากประวัติศาสตร์ข้างต้น เราได้เห็นแล้วว่า อเมริกันฟุตบอลและรักบี้ ถือเป็นกีฬาที่มีความเกี่ยวพันทางประวัติศาสตร์ แต่ก็อย่างที่ได้บอกไปข้างต้นเช่นกันว่า ชาวอเมริกันก็ได้เปลี่ยนแปลงกติกาต่างๆ ให้เป็นไปในรูปแบบของตนเอง ซึ่งทำให้กติกาของทั้งสองชนิดกีฬาแตกต่างอย่างมากเลยทีเดียว

 3

นอกจากขนาดสนามและลักษณะของลูกบอล จำนวนผู้เล่น ก็เป็นสิ่งที่แตกต่างระหว่าง 2 กีฬา ซึ่งแรกเริ่มเดิมที รักบี้มีจำนวนผู้เล่นฝั่งละ 15 คน ก่อนที่จะมีการแบ่งแยกเป็น รักบี้ยูเนี่ยน ซึ่งใช้ผู้เล่นฝั่งละ 15 คนเท่าเดิม, รักบี้ลีก ที่ลดจำนวนผู้เล่นเหลือ 13 คน รวมถึง รักบี้ 7 คนในเวลาต่อมา นอกจากนี้ รักบี้ยังมีการจำกัดจำนวนตัวสำรองที่สามารถใช้ได้ในแต่ละเกมอีกด้วย ขณะที่อเมริกันฟุตบอล กลับใช้กติกาในเรื่องจำนวนผู้เล่นเช่นเดียวกับฟุตบอล คือมีผู้เล่นในสนามฝั่งละ 11 คน ทว่าไม่มีการจำกัดตัวผู้เล่นสำรอง จึงสามารถแยกเป็นทีมบุก ทีมรับ และทีมพิเศษ เพื่อใช้งานในสถานการณ์ต่างๆ ของเกมได้

ประการต่อมา แม้อเมริกันฟุตบอลและรักบี้จะมีเป้าหมายของการเล่นที่คล้ายคลึงกัน คือการนำบอลไปให้ถึงสุดเขตแดนฝ่ายตรงข้าม แต่วิธีการนั้นต่างกัน โดยรักบี้จะเรียกว่า วางทรัย เพราะนอกจากจะต้องนำลูกไปถึงสุดเขตแดนแล้ว พวกเขายังต้องนำลูกสัมผัสพื้นเสียก่อน ซึ่งสามารถทำได้เพียงการวิ่ง หรือการส่งย้อนหลังไปเรื่อยๆ เท่านั้น ขณะที่อเมริกันฟุตบอลเรียกว่า ทำทัชดาวน์ โดยสามารถทำได้ทั้งการวิ่ง หรือส่งขึ้นหน้าได้ 1 ครั้ง ซึ่งจะต้องส่งจากหลังแนววางลูกเท่านั้น โดยไม่จำเป็นต้องนำบอลสัมผัสพื้นก็ได้ ไม่เพียงเท่านั้น การนับคะแนนต่างๆ ทั้งการวางทรัย-ทำทัชดาวน์ รวมถึงการทำแต้มพิเศษยังนับต่างกันอีกด้วย

ขณะเดียวกัน กติกาของอเมริกันฟุตบอลที่มีระบบ ดาวน์ โดยหากบุกได้ถึงระยะที่กำหนด จะสามารถบุกได้ต่อเนื่อง แม้วัตถุประสงค์ดั้งเดิมที่ วอลเตอร์ แคมป์ บิดาแห่งอเมริกันฟุตบอลคิดค้นคือการทำให้เกมลื่นไหลขึ้น แต่มันกลับส่งผลตรงข้ามในทางปฏิบัติ เมื่อเกมอเมริกันฟุตบอลในการเล่นจริงกลับกินเวลานานกว่า เนื่องจากมีการหยุดเกมเป็นระยะๆ จากกติกาที่มีรายละเอียดเยอะกว่านั่นเอง

แม้เกมอเมริกันฟุตบอลต่อนัดจะกินเวลายาวกว่ารักบี้ ทว่าในมุมมองของ เนท เอ็บเนอร์ ผู้เล่นอเมริกันฟุตบอลดีกรีแชมป์ซูเปอร์โบวล์ของ นิวอิงแลนด์ เพเทรียตส์ และนักรักบี้ทีมชาติสหรัฐอเมริกา ซึ่งเคยลงเล่นในมหกรรมกีฬาโอลิมปิก 2016 กลับมองว่า การเล่นอเมริกันฟุตบอลนั้นเครียดกว่าอย่างเห็นได้ชัด

“สำหรับผมนะ เกมรักบี้มันมีความลื่นไหล ซึ่งแม้ดูเหมือนจะทำให้คุณผ่อนคลายได้หน่อยๆ แต่มันก็ทำให้คุณเหนื่อยมาก เพราะคุณต้องเล่นต่อเนื่องทั้งเกมรุกเกมรับ ส่วน NFL แม้ผมจะเล่นแค่ช่วงที่ทีมตั้งรับ (เจ้าตัวเล่นตำแหน่งเซฟตี้) แต่รูปเกมมันเร็วมาก คุณแทบจะพลาดไม่ได้เลย ถึงกระนั้น การที่ผมเล่นอเมริกันฟุตบอล มันก็ช่วยในการเล่นรักบี้ไม่น้อย คือผมสามารถคุมจังหวะเกมให้เร็วขึ้นช้าลงได้”

 4

“อย่างไรก็ตาม อเมริกันฟุตบอลกับรักบี้มันก็แตกต่างกันมาก หลายคนมองว่าทั้งสองกีฬาต่างก้มีการปะทะที่คล้ายๆ กัน แต่ทักษะที่ต้องใช้มันแตกต่างกันเยอะ อเมริกันฟุตบอลต้องใช้การระเบิดพลังและความเร็วชั่วพริบตา รวมถึงความแข็งแกร่งที่สูงมากๆ เอาง่ายๆ ก็คือ แค่วิธีการเข้าสกัด การเล่นเกมรับ มันก็ต่างกันแล้ว”

ความเสี่ยงบนความโหด

อย่างที่ได้กล่าวไปข้างต้นว่า ทั้งอเมริกันฟุตบอลและรักบี้ต่างก็เป็นกีฬาที่มีการปะทะ ทว่าการปะทะของทั้งสองกีฬาก็มีความแตกต่างอยู่มากเช่นเดียวกัน

 5

นอกจากรูปแบบการเข้าปะทะอันแตกต่างแล้ว สิ่งที่มีความแตกต่างอย่างมาก คงหนีไม่พ้นอุปกรณ์ป้องกัน เนื่องจากอเมริกันฟุตบอลมีกฎข้อบังคับให้นักกีฬาสวมอุปกรณ์มากมาย ทั้งหมวกกันน็อก, ฟันยาง รวมถึงเกราะแข็งตามส่วนสำคัญต่างๆ เช่น ไหล่, หน้าอก และต้นขา ขณะที่รักบี้ บังคับใส่เพียงฟันยาง ไม่เพียงเท่านั้น หากผู้เล่นต้องการสวมอุปกรณ์ป้องกัน เช่น หมวกกันน็อก หรือเกราะตามส่วนต่างๆ ก็จะสามารถสวมได้เพียงแบบอ่อนเท่านั้น

ด้วยอุปกรณ์ป้องกันที่แตกต่างของสองชนิดกีฬา เรามักจะเข้าใจว่า รักบี้คือกีฬาที่เสี่ยงต่ออาการบาดเจ็บมากกว่า เพราะเมื่อดูภาพการแข่งขันเราก็จะเห็นว่า มักมีเหตุการณ์เลือดตกยางออกของเหล่าผู้เล่นอยู่เป็นประจำ และด้วยจำนวนผู้เล่นที่มีจำกัด (เนื่องจากกฎบังคับจำนวนผู้เล่นสำรองไว้) สิ่งที่พวกเขาทำเมื่อเจออาการบาดเจ็บดังกล่าว คือปฐมพยาบาล แล้วกลับไปสู้ต่อ การเปลี่ยนตัวส่วนใหญ่ มักจะเกิดขึ้นเมื่อผู้เล่นไม่ไหวจริงๆ เท่านั้น จนหลายคน รวมถึง เจเค โรลลิ่ง ผู้เขียนนิยายดังอย่าง แฮร์รี่ พอตเตอร์ เคยทวีตว่า “รักบี้นี่แหละ กีฬาลูกผู้ชายตัวจริง”

ถึงกระนั้น ผลการศึกษาจากหน่วยงานต่างๆ กลับให้ความจริงที่สวนทาง เพราะกลายเป็นว่า อเมริกันฟุตบอลที่มีอุปกรณ์ป้องกันมากกว่า แถมยังมีผู้เล่นสำรองให้ใช้ไม่จำกัด กลับสร้างความเสี่ยงต่อผู้เล่นจากการอาการบาดเจ็บระยะยาวมากกว่าเสียด้วยซ้ำ

เรื่องดังกล่าว นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยบอสตันได้ศึกษาอาการบาดเจ็บทางสมองของนักกีฬาและทหารทั้งชายและหญิง ที่อาจลุกลามสู่การเป็นโรค CTE หรือ โรคเนื้อเยื่อสมองเสื่อมรุนแรงเรื้อรัง (chronic traumatic encephalopathy) ซึ่งทำให้พบกับความจริงที่น่าตกใจว่า ในบรรดากรณีศึกษาซึ่งเป็นอดีตนักอเมริกันฟุตบอลอาชีพ 35 คน มีถึง 34 คนที่ปรากฎสัญญาณนี้

โรค CTE ซึ่ง ดร.เบ็นเน็ตต์ โอมาลู แพทย์ชาวสหรัฐที่เกิดในไนจีเรียค้นพบจากการผ่าศพอดีตนักกีฬาอเมริกันฟุตบอลหลายคน ได้กลายเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้นักกีฬาและญาติรวมกว่า 4,000 คนยื่นฟ้อง NFL ผู้ปกปิดและไม่ให้ความสำคัญต่อเรื่องนี้

เหตุใดที่กีฬาอเมริกันฟุตบอล ซึ่งดูมีอุปกรณ์เซฟตี้ที่ดีกว่า กลับสร้างอาการบาดเจ็บระยะยาวให้กับนักกีฬามากกว่า เรื่องนี้ จิม แม็คเคนน่า อาจารย์และโค้ชกีฬารักบี้จากมหาวิทยาลัย ลีดส์ เมโทรโปลิแตน ชี้ว่า รูปแบบการเข้าปะทะที่แตกต่างกันของสองกีฬา คือสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดสิ่งเหล่านี้ขึ้น

“ธรรมชาติของกีฬาอเมริกันฟุตบอล พวกเขาจะใช้ศีรษะในการเข้าปะทะคู่ต่อสู้ ซึ่งจะว่าไปก็เหมือนหัวรบของจรวดที่มีน้ำหนักตัวอันมหาศาลตามมาดีๆ นี่เอง ขณะที่อุปกรณ์ป้องกันอย่าง หมวกกันน็อก, เกราะแข็ง กลับจะยิ่งทำให้แย่กว่าเดิมด้วยซ้ำ เพราะพวกเขารู้ดีว่าต้องใช้แรงมากกว่าเดิมถึงจะหยุดคู่ต่อสู้ได้”

 6

แม้การเข้าปะทะด้วยศีรษะจะเป็นสิ่งที่ไม่เห็นบ่อยนักในกีฬารักบี้ ซึ่งเท่ากับว่าโอกาสบาดเจ็บทางสมองมีน้อยกว่า แต่รักบี้ก็ยังเป็นกีฬาที่มีความเสี่ยงต่ออาการบาดเจ็บเช่นกัน ซึ่งจุดที่เสี่ยงมากที่สุดนั้นคือ กระดูกสันหลัง จากการสกรัมแย่งลูกนั่นเอง โดยจากสถิติพบว่า มีนักกีฬารักบี้ในสหราชอาณาจักรมากถึง 110 คนที่เป็นอัมพาตจากการเล่นกีฬานี้ อัลลิสัน พอลล็อค ศาสตราจารย์ด้านสาธารณสุขของอังกฤษแสดงความกังวลมากว่า รูปแบบการเข้าปะทะดังกล่าวอาจส่งผลเสียต่อนักรักบี้สมัครเล่น โดยเฉพาะเยาวชนที่อาจหมดอนาคตก่อนวัยอันควร ซึ่งเธอเคยเสนอให้ยกเลิกการสกรัมในกีฬารักบี้สมัครเล่นเมื่อปี 2010 แต่ไม่ได้รับการตอบสนองแต่อย่างใด

ความนิยม-รายได้ที่สวนทาง

แม้ผลการศึกษาจะชี้ให้เห็นค่อนข่างชัดเจนว่า อเมริกันฟุตบอลถือเป็นกีฬาที่มีความเสี่ยงต่ออาการบาดเจ็บระยะยาวมากกว่า แต่จากข่าวที่ปรากฎ เรากลับเห็นข่าวนักกีฬารักบี้ที่เปลี่ยนมาเล่นอเมริกันฟุตบอลมากกว่า อาทิ จาร์เร็ด เฮย์น และ จอร์แดน ไมตาล่า สองนักรักบี้ทีมชาติออสเตรเลียที่มาเล่นใน NFL แม้แต่ เนท เอ็บเนอร์ ก็เปลี่ยนจากที่เคยเล่นรักบี้ในสมัยไฮสคูล มาเป็นนักกีฬาอเมริกันฟุตบอล ก่อนจะแว่บกลับไปเล่นรักบี้ให้ทีมชาติในโอลิมปิก

 7

สาเหตุสำคัญที่ทำให้เรามักได้ยินเรื่องราวเหล่านี้อยู่บ่อยๆ ในระยะหลัง ก็เนื่องมาจากความแตกต่างของรายได้นั่นเอง ยิ่งเมื่อดูความแตกต่างของรายได้ก็ยิ่งทำให้เข้าใจ เมื่อนักกีฬารักบี้ที่มีรายได้มากที่สุดในขณะนี้อย่าง อายุมุ โกโรมารุ นักกีฬาทีมชาติญี่ปุ่น ได้รับค่าเหนื่อยจาก ตูลง ทีมดังแห่งฝรั่งเศสเพียง 1.4 ล้านปอนด์ หรือ 60 ล้านบาทต่อปี ขณะที่ แอร่อน ร็อดเจอร์ส ควอเตอร์แบ็กทีม กรีนเบย์ แพ็คเกอร์ส ในศึก NFL ได้ค่าเหนื่อยในฤดูกาล 2018 สูงถึง 66.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 2,200 ล้านบาท

 8

และแม้ค่าเหนื่อยของนักกีฬาสองชนิดนี้จะมีความแตกต่างอย่างมากตามตำแหน่งที่เล่น เมื่อดูรายได้เฉลี่ยของผู้เล่นก็ยิ่งเห็นความแตกต่างอยู่ดี เมื่อค่าเหนือเฉลี่ยต่อปีของนักรักบี้อาชีพในยุโรป ซึ่งถือเป็นดินแดนมหาอำนาจในระดับสโมสรอยู่ที่ราว 70,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 2.3 ล้านบาทต่อปี ขณะที่นิตยสาร Forbes สำรวจพบว่า นักกีฬาใน NFL ได้ค่าเหนื่อยเฉลี่ยปีละสูงถึง 2.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 69 ล้านบาทเลยทีเดียว

ซึ่งหากจะหาสาเหตุ ก็มีอยู่หลายเหตุผล เรื่องแรกก็คือ ความเป็นระบบอาชีพ เพราะแม้รักบี้จะกำเนิดระบบอาชีพขึ้นก่อนในปี 1895 แต่เรื่องดังกล่าวก็นำมาซึ่งความแตกแยกในวงการ เกิดการแบ่งรักบี้เป็น 2 ขั้ว คือ รักบี้ลีก ที่เป็นฝ่ายแยกตัวสู่ระบบอาชีพ กับ รักบี้ยูเนี่ยน ซึ่งกว่าจะปรับเปลี่ยนสู่ระบบอาชีพอย่างเต็มตัวก็ต้องรอจนถึงปี 1995 โดยมีความสำเร็จจากศึกรักบี้ชิงแชมป์โลกที่แอฟริกาใต้ในปีดังกล่าวเป็นแรงกระตุ้นสำคัญ

ยิ่งไปกว่านั้น การพัฒนาสู่การเป็นระบบอาชีพของรักบี้ลีก ยังถูกขัดขวางจากรัฐบาลประเทศต่างๆ ที่ไม่สนับสนุนกิจกรรมทางกีฬาในช่วงสงครามโลกทั้ง 2 ครั้ง เพื่อระดมสรรพกำลังในการสู้รบอย่างเต็มที่ ต่างจากลีกอเมริกันฟุตบอลอาชีพอย่าง NFL ซึ่งก่อตั้งในปี 1920 หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 1 และรัฐบาลสหรัฐอเมริกาก็ให้การสนับสนุนให้กิจกรรมดังกล่าวดำเนินไปอย่างปกติในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2

นอกเหนือจากเรื่องดังกล่าว การถ่ายทอดสด ยังเป็นอีกสิ่งสำคัญที่ทำให้มูลค่าของลีกรักบี้และ NFL มีความแตกต่างอย่างเห็นได้ชัด เมื่อมีการถ่ายทอดสดเกม NFL ตั้งแต่ยุค 1950 ทำให้ผู้ชมในสหรัฐอเมริกาและทั่วโลกสามารถรับชมการแข่งขันได้มากขึ้น นั่นทำให้มูลค่าของลีกสูงขึ้นตาม ต่างจากรักบี้ซึ่งเริ่มบุกตลาดถ่ายทอดสดหลังจาก NFL หลายปี และด้วยสหภาพผู้เล่นที่มีความเข้มแข็ง พวกเขาจึงสามารถต่อรองผลประโยชน์กับลีกและต้นสังกัดได้ ซึ่งช่วยให้ผู้เล่นได้รับค่าเหนื่อยที่สูงขึ้นตามไปด้วย

 9

อีกสิ่งที่สามารถสะท้อนถึงมูลค่าของลีก และค่าเหนื่อยของผู้เล่นของ NFL ที่สูงกว่า คือจำนวนผู้ชม โดยในศึกรักบี้ชิงแชมป์โลกปี 2015 ที่ประเทศอังกฤษ ซึ่ง เวิลด์ รักบี้ องค์กรที่ควบคุมการแข่งขันเผยว่าเป็นการแข่งขันที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในประวัติศาสตร์ มีจำนวนผู้ชมตลอดทั้ง 48 นัดในสนามที่ราว 51,500 คนต่อนัด ส่วน NFL ฤดูกาล 2017 ที่ผ่านมา มีจำนวนผู้ชมเฉลี่ยในสนามสูงถึงราว 67,500 คนต่อนัด

ส่วนตัวเลขผู้ชมทางโทรทัศน์ แม้ศึกรักบี้ชิงแชมป์โลกรอบชิงชนะเลิศครั้งล่าสุด จะมีผู้ชมผ่านการถ่ายทอดสดสูงถึง 120 ล้านคน ซึ่งมากกว่าศึกซูเปอร์โบวล์ครั้งล่าสุด ที่มีผู้ชมราว 105 ล้านคน ทว่ายอดผู้ชมของศึกซูเปอร์โบวล์ดังกล่าวนับเฉพาะเพียงผู้ชมในสหรัฐอเมริกา ต่างจากรักบี้ชิงแชมป์โลกที่นับรวมจากทั่วโลก ซึ่งเมื่อนับจำนวนผู้ชมในต่างประเทศด้วยแล้ว ไม่ต้องสงสัยเลยว่า ตัวเลขผู้ชมผ่านการถ่ายทอดสดของศึกซูเปอร์โบวล์จะสูงกว่าแน่นอน

 10

แม้ NFL จะเป็นลีกที่ได้รับความนิยมมากกว่าในฐานะผู้ดู แต่หากเป็นเรื่องของผู้เล่น เห็นได้ชัดว่ารักบี้ได้รับความนิยมมากกว่า ด้วยการที่กีฬารักบี้นั้นถือกำเนิดขึ้นก่อน บวกกับวัฒนธรรมของอังกฤษที่เผยแพร่ไปทั่วโลกผ่านลัทธิล่าอาณานิคมในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ซึ่งหากนับชาติที่ผลัดขึ้นมาเป็นมหาอำนาจแห่งวงการลูกหนำเลี้ยบก็มีหลายชาติ ทั้งอังกฤษ, ฝรั่งเศส, แอฟริกาใต้, ออสเตรเลีย, นิวซีแลนด์ แถมชาติอย่าง อาร์เจนติน่า, ญี่ปุ่น หรือแม้กระทั่งสหรัฐอเมริกาเอง ก็ยังพัฒนาฝีมือจนมาอยู่ในระดับโลกได้แล้วเช่นกัน

ขณะที่อเมริกันฟุตบอล ดูจะเป็นกีฬาที่คนอเมริกัน “เล่นกันเอง” เสียมากกว่า เมื่อการที่พวกเขาตั้งชื่อกีฬานี้ว่า “ฟุตบอล” กลายเป็นสิ่งที่ทำให้ตัวเองเสียเปรียบไม่น้อยในการเผยแพร่กีฬานี้สู่ชาวโลก เนื่องจากประเทศส่วนใหญ่ รู้จักฟุตบอลในฐานะ “กีฬาที่ใช้เท้าเตะ” ซึ่งอังกฤษเผยแพร่มาก่อนหน้านี้นานนมแล้ว

และอีกเหตุผลที่สำคัญไม่แพ้กันก็คือ รักบี้ คือหนึ่งในกีฬาที่ได้รับการบรรจุให้มีการชิงเหรียญรางวัลในกีฬาแห่งมวลมนุษยชาติอย่าง โอลิมปิก ทั้งในอดีตซึ่งเป็นการแข่งขันรักบี้ 15 คน และในปัจจุบัน ซึ่งรักบี้ 7 คนได้เป็นหนึ่งในกีฬาชิงเหรียญเมื่อโอลิมปิก 2016 ที่ผ่านมา ขณะที่อเมริกันฟุตบอล ยังไม่ใกล้เคียงเลยแม้แต่น้อย แม้พวกเขาจะคิดค้น แฟลกฟุตบอล หรืออเมริกันฟุตบอลเวอร์ชั่นลดการปะทะ ด้วยการกระตุกธงที่ตัวผู้เล่นแทนการเข้าปะทะจริงขึ้นมาแล้วก็ตาม แต่ก็ยังไม่มีวี่แววที่จะเป็นหนึ่งในกีฬาโอลิมปิกแต่อย่างใด

 11

และอีกเหตุผลสำคัญที่ทำให้มีคนเป็นนักกีฬารักบี้มากกว่าอเมริกันฟุตบอลคือ กีฬารักบี้เป็นกีฬาที่เปิดรับนักกีฬาต่างๆ ที่มีความหลากหลายมากกว่า โดย ไวเซล เซเรวี่ อดีตนักรักบี้ทีมชาติฟิจิที่ผันตัวเองมาเป็นโค้ชรักบี้ให้กับเด็กๆเผยว่า “ใช่ว่าทุกคนจะสามารถเล่นฟุตบอลกับอเมริกันฟุตบอลได้ แต่สำหรับรักบี้ ไม่ว่าจะมีขนาดตัวแบบไหนก็สามารถเล่นได้ มีเด็กหลายคนบอกผมว่า เคยเล่นฟุตบอลหรืออเมริกันฟุตบอลมาก่อน ผมว่ารักบี้มันมีความสนุกที่หลากหลายนะ เพราะคนๆ เดียวสามารถทำได้ทั้งวางทรัย, ไล่แท็คเกิ้ล รวมถึงวิ่งหนีคู่แข่งอีกด้วย”  

เรื่องที่เราเพิ่งได้กล่าวไป คงจะเป็นบทพิสูจน์ได้ดีว่า อเมริกันฟุตบอลกับรักบี้ ช่างเป็นกีฬาสุดโหดที่มีความแตกต่างอย่างสุดขั้วอย่างแท้จริง

อัลบั้มภาพ 11 ภาพ

อัลบั้มภาพ 11 ภาพ ของ อเมริกันฟุตบอล - รักบี้ : 2 กีฬาสุดโหดที่ผู้เล่นรายได้ต่างกันสุดขั้ว

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook