หลังม่านการกลายร่างเป็น "แซมบ้าน้อย" แห่งอาเซียนของ "ติมอร์ เลสเต"

โชเซ่ อัลเมย์ด้า, เฮนริเก้ ครูซ, ฟิโลมิโน่ จูเนียร์, รูฟินโญ่ กาม่า และอื่นๆ อีกมายมายเหล่านี้ไม่ใช่รายชื่อนักเตะชาวบราซิลที่จะมาค้าแข้งในไทยลีก
แต่ทุกคนที่กล่าวมาคือรายชื่อของนักเตะจากทีมที่จะต้องพบกับ ทีมชาติไทย ในนัดเปิดสนาม ซูซูกิ คัพ 2018 ณ ราชมังคลากีฬาสถาน ในวันศุกร์ที่ 9 พฤศจิกายนนี้ ซึ่งเราเองก็พอเข้าใจหากคุณๆ ผู้อ่านจะเกาหัวด้วยความสงสัยว่า พวกนี้มันเป็นใครกันแน่?
ติมอร์ เลสเต อาจจะไม่ใช่ชาติที่คนไทยรู้จักดีมากนัก รู้เพียงแต่ว่า ประเทศนี้มีนักเตะสัญชาติและเชื้อชาติบราซิลเต็มทีมไปหมดเกือบจะทั้ง 11 ตำแหน่งตัวจริง บ้างก็เกิดใน ติมอร์ บ้างก็โอนสัญชาติมาจากเเดนแซมบ้า เหตุใดชาติในภูมิภาคอาเซียนจึงอุดมไปด้วยนักเตะจากเเดนไกลมากมายขนาดนี้ ติดตามเรื่องราวทั้งหมดได้ที่นี่
ต้องเริ่มที่การเมือง
ย้อนกลับไปเมื่อนานนม ติมอร์ เลสเต ในชื่อเดิมคือ ติมอร์ตะวันออก เป็นเพียงจังหวัดหนึ่งของประเทศ อินโดนีเซีย และพยายามแบ่งแยกประเทศในช่วงปี 1999 โดยอาศัยจังหวะที่อินโดนีเซียกำลังประสบกับปัญหาเศรษฐกิจขั้นรุนแรงจากวิกฤติต้มยำกุ้ง การผลักดันในการแยกตัวเป็นอิสระครั้งนี้เกิดเรื่องวุ่นวายไม่น้อย มีการเสียชีวิตจากการเข่นฆ่ากันเองของกลุ่มคนในประเทศ 2 ฝั่งที่ไม่เห็นด้วย แต่ที่สุดเเล้วในปี 2002 ทุกอย่างก็กระจ่างชัด ติมอร์ ตะวันออก ในชื่อเดิมแยกประเทศออกมาเป็น ติมอร์ เลสเต (ภาษาโปรตุกีส) และปกครองตัวเองตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
ทำไมต้องตั้งชื่อประเทศเป็นภาษาโปรตุเกส? ... ทุกอย่างมีที่มา เพราะก่อนหน้านี้ ติมอร์ตะวันออก เคยเป็นอาณานิคมของโปรตุเกส เรื่องการตกเป็นประเทศภายใต้การปกครองต้องย้อนไปไกลถึงปี 1500 ต้นๆที่มีชาวโปรตุเกสเดินทางเข้ามาด้วยเรือ และเห็นว่าดินเเดนแห่งนี้มีความอุดมสมบูรณ์มากโดยเฉพาะ "ไม้จันทน์" ที่ ชาวโปรตุเกส อยากจะได้มาเป็นสินค้าหลักของประเทศ จึงได้ค่อยๆ คืบคลานรุกล้ำเข้ามาเรื่อยๆ จนกระทั่งสามารถปกครอง ติมอร์ ได้จนถึงช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่แทนที่จะได้เป็นเอกราชหลังปลดแอกจากการเป็นเมืองขึ้นโปรตุเกสเมื่อปี 1975 พวกเขากลับถูกอินโดนีเซีย ที่มีประเทศมหาอำนาจให้การหนุนหลังบุกยึดครองประเทศทันที เพื่อสกัดอิทธิพลลัทธิคอมมิวนิสต์ที่กำลังระบาดในเอเชียอย่างหนัก
ชาวโปรตุเกสที่เดินทางเข้ามายังดินแดนแห่งนี้ได้แต่งงานกับชาวพื้นเมือง ทายาทที่เป็นลูกครึ่งจากการแต่งงานนี้เรียกว่า “โทปาส” หรือ "โปรตุเกสดำ" ซึ่งเรื่องราวทั้งหมดจึงกลายเป็นเหตุผลที่ว่าทำไม ติมอร์ฯ จึงต้องใช้ภาษาโปรตุเกสเป็นภาษาราชการไปโดยปริยาย
ว่ากันต่อถึงช่วงหลังจากที่ ติมอร์ แยกออกมาปกครองตัวเองได้อย่างอิสระในรอบ 400 ปี พวกเขาก็มีประธานาธิบดีคนแรกของประเทศได้แก่ นาย ซานานา กุสเมา ผู้ที่เกิดและโตที่ ติมอร์ แต่มีพ่อและแม่เป็นชาวโปรตุเกส
การที่ตกอยู่ภายใต้การปกครองของ โปรตุเกส ทำให้ ติมอร์ ได้เข้าร่วมกับกลุ่มประเทศที่ใช้ภาษาโปรตุเกส (Community of Portuguese Language Countries) ซึ่งทำให้ ติมอร์ มีความสัมพันธ์ที่ดีร่วมกับ บราซิล ตั้งแต่ก่อนที่พวกเขาจะแยกออกมาปกครองตัวเองในปี 2000
บราซิลในฐานะพี่ใหญ่ของ CPLC ยื่นมือเข้าช่วย ติมอร์ เลสเต หลายอย่างทั้งเรื่องการเมืองที่ผลักดันให้มีการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย สร้างสถานฑูตบราซิลใน ติมอร์ เลสเต ขณะที่กรุงบราซิเลียนั้นก็มีสถานฑูตของ ติมอร์ เลสเต ตั้งอยู่และเป็นชาติเดียวในเอเชียเท่านั้นที่ตั้งอยู่ในเมืองแห่งนี้
นอกจากนี้ทั้งสองประเทศยังมีโครงการต่างๆทีเกิดขึ้นร่วมกันมากมายไม่ว่าจะเรื่องเทคโนโลยี, การสอนภาษาโปรตุเกสให้คนติมอร์ท้องถิ่น และที่เห็นชัดเจนเป็นรูปธรรมมากที่สุดก็คือเรื่องของ "ฟุตบอล"
ท่านผู้นำที่มีปูมหลังระดับโลก
ซานานา กุสเมา ผู้นำคนสำคัญที่นำเอกราชมาสู่ประเทศ และอดีตนายกรัฐมนตรีของ ติมอร์ คือผู้อยู่เบื้องหลังการผลักดันความก้าวหน้าของฟุตบอลอย่างแท้จริง ซึ่งหลายคนอาจไม่เคยรู้มาก่อนว่า ท่านผู้นำคนนี้มีฟุตบอลซ่อนอยู่ในสายเลือดมาเป็นเวลานาน ก่อนหันหน้าสู่เส้นทางการเมืองเสียอีก
การส่งเสริมฟุตบอลของ ติมอร์ เลสเต้ เกิดขึ้นอย่างจริงจังในปี 2001 ณ เมืองหลวงของประเทศอย่าง ดิลี่ มีการส่งมอบอุปกรณ์ในการฝึกซ้อมเเละแข่งขันให้กับ 13 เขตทั่วประเทศ และเรื่องของฟุตบอลก็มาพร้อมกับการเผยเเพร่ศาสนาคริสต์เมื่อ ท่านบิช็อป คาร์ลอส ฟิลิปเป้ ซิเมเนซ เบโล่ เข้ามาสร้างคริสตจักรพร้อมๆ กับแจกลูกฟุตบอลกว่า 1,000 ลูก ตามโบสถ์ต่างๆ ทั่วประเทศ ซึ่งช่วยเพิ่มองค์ความรู้ด้านฟุตบอลให้กับ ติมอร์ฯ มากขึ้น พร้อมกับสิ่งตอบแทนมากมายรวมถึงการได้เข้ามาเป็นสมาชิกของ เอเอฟซี และ ฟีฟ่า อีกด้วย
ฟีฟ่ามอบทั้ง โทรทัศน์, วีดีโอ, เครื่องโปรเจ็คเตอร์ และอุปกรณ์จำเป็นอื่นๆ ให้กับสมาคมฟุตบอล ติมอร์ นอกจากนี้ยังได้เงินสนับสนุนเพื่อพัฒนาบุคลากรฟุตบอลอีกถึง 200,000 ดอลล่าร์สหรัฐอีกด้วย
แผนการพัฒนาของ กุสเมา และ ฟีฟ่า ตรงกันนั่นคือการสร้างเยาวชนในประเทศให้หลีกหนีจากยาเสพติดและการค้าประเวณี กุสเมา อยากให้เด็กเหล่านั้นโชคดีเหมือนกับเขา มีโอกาสได้ไปเห็นโลกกว้างโดยมีฟุตบอลเป็นเครื่องนำทาง
จริงๆ แล้วเส้นทางลูกหนังของ กุสเมา ควรจะไปได้ไกลกว่านี้ เพราะในอดีตเขาคือผู้รักษาประตูตัวจริงของ ดิลี่ อคาเดมิก ซึ่งโด่งดังระดับประเทศ แต่ในช่วงปี 1975 ที่อินโดนีเซียเข้ารุกราน ติมอร์ตะวันออก เป็นช่วงเวลาที่ความฝันเเละเป้าหมายในอาชีพนักฟุตบอลของเขาต้องพังลง กุสเมา ถูกเชิญชวนแกมบังคับให้ร่วมเดินขบวนต่อต้านร่วมกับนักเคลื่อนไหวทางการเมืองของ ติมอร์ตะวันออก จนที่สุดเเล้วเขาถูกจับขังคุกที่กรุงจาการ์ต้าประเทศอินโดนีเซีย
ภายหลังจากทุกอย่างคลี่คลายและเขาได้อิสรภาพ กุสเมา ต่อสู้และนองเลือดกว่า 25 ปีจนได้เป็นผู้นำและเขาพร้อมจะเปลี่ยนให้เยาวชนในประเทศ
"คนหนุ่มสาวเหล่านี้จะกลายเป็นผู้นำประเทศของผมในวันข้างหน้า และสิ่งดีๆจะเกิดขึ้นกับพวกเขาในอนาคต ฟุตบอลจะช่วยเด็กๆ เหล่านี้ได้อย่างมากมายมหาศาล" กุสเมา กล่าวหลัง ติมอร์ เลสเต ได้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของสมาชิกฟีฟ่า
การที่ ติมอร์ เลสเต มีผู้นำอย่าง กุสเมา มีผลอย่างมากในการสร้างฟุตบอลให้เเข็งแกร่งขึ้นกว่าที่เคยไม่ว่าจะในทางตรงหรือทางอ้อม ท่านผู้นำชอบการเล่นที่มีสไตล์แบบละตินที่เขาเคยได้สัมผัส ซึ่งจุดนี้มาจากความฝันส่วนตัวของเขาเอง เพราะก่อนที่จะผันตัวมาเป็นผู้รักษาประตู กุสเมา อยากจะเป็นนักเตะที่เก่งกาจแบบ "เสือดำแห่งโมซัมบิก" หรือ ยูเซบิโอ้ ตำนานนักเตะของ เบนฟิก้า ที่กุสเมาเคยเชิญมาให้ความรู้กับเยาวชนใน ติมอร์ เลสเต มาเเล้ว
ยุคทองแห่งการโอนสัญชาติ
ทั้งหมดที่กล่าวมาในข้างต้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งของแผนงานของสมาคมฟุตบอล ติมอร์ ในช่วงแรกๆ ที่ ติมอร์ เข้าร่วมกับ AFC เพื่อลงเล่นในระดับทวีปเอเชียช่วงปี 2004 นั้นพวกเขาเป็นเหมือนหมูสนามที่ลงเล่นทีไรก็แพ้เละเทะทุกที ดังนั้นจึงไม่เคยได้เเข่งขันในรายการระดับทวีปทีถูกจัดขึ้นอย่างเป็นทางการเลย
แม้จะอยากพัฒนาให้เก่งกาจด้านฟุตบอลมากขึ้นแต่ด้วยความพวกเขามีทรัพยากรน้อย ดังนั้นจึงต้องอาศัยการสนับสนุนจากคนนอกและจะมีใครเหมาะไปกว่า บราซิล ชาติที่มีความสัมพันธ์กันเป็นอย่างดี จงเริ่มไอเดียการโอนสัญชาติให้นักฟุตบอลง่ายขึ้น
หนึ่งในนั้นคือ เจสซี่ ปินโต้ นักเตะทีมชาติ ติมอร์ เลสเต แต่ก็ไม่ใช่ชาว ติมอร์ฯ เต็ม 100% เพราะมีเชื้อสายแองโกล่าซึ่งเป็นชาติหนึ่งที่อยู่ในกลุ่ม CPLC
ปินโต้ ได้เป็นกัปตันทีมชาติ ติมอร์ฯ ในปี 2005 ดังนั้นเขาจึงเป็นนักเตะทีมชาติในยุคแรกๆ ที่ได้เห็นการเปลี่ยนแปลงด้วยการนำนักเตะโอนสัญชาติเข้ามาในช่วงรอยต่อทศวรรษ 2010 ติมอร์ฯ ได้โอนสัญชาตินักเตะชุดแรกมา 8 คนและช่วยให้พวกเขาสามารถเอาชนะเกมแรกในการแข่งขันอย่างเป็นทางการได้หลังจากเข้าร่วมเป็นสมาชิกของ ฟีฟ่า เมื่อปี 2012 เหนือ กัมพูชา ในศึก เอเอฟเอฟ ซูซูกิคัพ รอบคัดเลือก
หลังจากนั้นความเกี่ยวพันระหว่างทีมชาติติมอร์ เลสเต กับ นักเตะบราซิลโอนสัญชาติก็มากขึ้นแบบไม่รู้ตัว แต่ความง่ายในการโอนสัญชาติทำให้ไม่สามารถควบคุมคุณภาพนักเตะทีเข้ามาได้
"ผู้เล่นที่โอนสัญชาติมาส่วนใหญ่เป็นผู้เล่นที่อยู่กับสโมสรเล็กๆ ในท้องถิ่น พวกเขาอาจจะเล่นแบบไม่ได้เงินเลยด้วยซ้ำตอนอยู่บราซิล" ปินโต้ เล่าย้อนความถึงการเปลี่ยนแปลงของฟุตบอลในประเทศของเขา
"ผมไม่ได้บอกว่าพวกเขาเป็นนักเตะที่ไม่ดีหรอกนะ แต่เพราะพวกเขาไม่มีโอกาสที่จะได้เล่นในทีมใหญ่ๆ และหาเงินจากฟุตบอล นั่นคือเหตุผลที่ว่าทำไมพวกเขาถึงต้องย้ายมาที่ ติมอร์ฯ"
หากคุณยังสงสัยว่าการโอนสัญชาตินั้นง่ายแค่ไหน นักฟุตบอลเชื้อสายบราซิลที่ปัจจุบันเล่นให้กับทีมชาติ ติมอร์ เลสเต อย่าง แพทริก อัลเวส ซึ่งถือว่าเป็นนักเตะกลุ่มแรกที่ได้รับการโอนสัญญาติ เขาเปิดใจถึงเรื่องดังกล่าวว่าการอยากพัฒนาฟุตบอลของ ติมอร์ เลสเต ทำให้เรื่องการโอนสัญชาติง่ายชึ้นชนิดที่ว่าไม่ต้องขอก็พร้อมจะยอมให้เลยทีเดียว
"ผมได้รับคำเชิญชวนจากพวกเขาและมีคนบอกผมว่า "เราให้พาสสปอร์ตคุณได้นะ ถ้าคุณมาเล่นให้เรา เราชื่นชมสไตล์การเล่นของคุณมาก เราต้องการกองหน้าอย่างคุณ" อัลเวส เล่าถึงความง่ายดายต่อการเป็นพลเมือง ติมอร์ เลสเต ในช่วงเวลาสัก 4-5 ปีที่เเล้ว
เรื่องที่ อัลเวส อธิบายคือสิ่งที่เป็นไปในทิศทางเดียวกันกับ ปิติศักดิ์ โชติพิบูลย์ทรัพย์ ผู้สื่อข่าวของ GOAL THAILAND ที่เคยได้ไปสัมผัสบรรยากาศของฟุตบอล ติมอร์ เลสเต ถึงที่กรุงดิลี่เมืองหลวงของประเทศมาเเล้ว
เขาได้เห็นความนิยมของแฟนบอลชาว ติมอร์ฯ ที่เข้ามาชมเกมอุ่นเครื่องที่เจอกับ ชลบุรี เอฟซี กันแบบเต็มความจุของสนาม นอกจากนี้ยังได้เห็นท่านผู้นำ ซานานา กุสเมา เข้ามาชมเกมนี้และยังร่วมเตะบอลกับเด็กๆ อีกด้วย
ในช่วงเวลาดังกล่าวเป็นช่วงที่ ติมอร์ เลสเต มีนักเตะบราซิลโอนสัญชาติมามากมาย ทั้ง จูนินโญ่ อดีตนักเตะไทยลีกที่เคยอยู่กับ ทีโอที เอสซี นอกจากนี้ยังมี ติอาโก้ คุนญ่า ดาวยิงของ ชลบุรี และการท่าเรือ เอฟซี ที่เป็นหนึ่งในกลุ่มนักเตะที่สมาคมฟุตบอล ติมอร์ เลสเต ให้ความสนใจ เช่นกัน
"นโยบายของผู้นำมีส่วนที่ทำให้นโยบายโอนสัญชาติง่ายขึ้น ช่วงนั้นนักบอลโอนสัญชาติเยอะ อย่าง จูนินโญ่ ของ TOT อย่าง คุนญ่า ก็ด้วยมันได้ง่ายมาก" ปิติศักดิ์ ผู้เคยไปทัวร์ประเทศ ติมอร์ เลสเต้ ร่วมกับ สโมสร ชลบุรี เอฟซี ในปี 2015 กล่าวถึงช่วงยุคทองแห่งการโอนสัญชาติ
อย่างไรก็ตามการโอนสัญชาติก็ไม่ใช่สิ่งที่ ติมอร์ฯ หวังไว้ในระยะยาว เพียงแต่ว่าการที่พวกเขาเป็นประเทศที่เริ่มหัดเดินบนเส้นทางลูกหนังจึงทำให้การสร้างผลผลิตในประเทศไม่ทันใช้ ดังนั้นการโอนสัญชาติจึงเป็นเรื่องที่จำเป็นต้องทำเพื่อเสริมความแข็งแกร่งในระยะสั้น
"ติมอร์ ไม่ได้มีตัวเลือกเยอะอยู่เเล้ว จริงๆ ติมอร์ฯ มีแผนที่จะสร้างเด็กของเขาเอง แต่ว่าด้วยความที่พวกเขาเป็นประเทศใหม่ มันจึงไม่สามารถสร้างผลผลิตได้ในเวลา 3-4 ปีนี้ ดังนั้นการโอนสัญชาติทำให้เขาพอสู้กับชาติอื่นได้ "
“การโอนสัญชาติเป็นหนึ่งในแผนงานของเขา ซึ่งจริงๆ แล้วในระยะยาวไม่ได้หวังจะโอนสัญชาติอยู่ตลอด เขามีอคาเดมี่ของสมาคม โดยตั้งเป้าว่าเด็กของเขากำลังจะก้าวขึ้นมาเล่นทีมชาติชุดใหญ่แต่คงต้องใช้เวลา 4-5 ปีหลังจากนี้"
เหตุผลที่ทำให้ ติมอร์ เลสเต รู้ว่านักเตะบราซิลคนไหนน่าสนใจ นั่นก็เพราะว่าก่อนหน้านี้บุคลากรฟุตบอล
ในสมาคมฟุตบอล ต่างก็เคยค้าแข้งอยู่ทั้งในลีกของโปรตุเกส และ บราซิล มาก่อน โดยเฉพาะกลุ่มโค้ชชุดแรกๆ เดินทางมาใช้ชีวิตอยู่ที่ ติมอร์ เลสเต ต่างก็มีความรู้ความเข้าใจในฟุตบอลเป็นอย่างดี และเหนือสิ่งอื่นใดคือโค้ชเหล่านี้มีความสัมพันธ์กับนักเตะบราซิลท้องถิ่นหลายราย ดังนั้นการใช้เครือข่ายแบบปากต่อปากทำให้รู้ตัวอีกทีนักเตะ บราซิล ก็โอนสัญชาติมาเล่นให้ทีมชาติ ติมอร์ เลสเต เยอะมากครั้งที่วงการฟุตบอลเอเชียตื่นตัวที่สุดคือพวกเขาส่งนักเตะโอนสัญชาติลงสนามถึง 10 คน ในช่วงรอบคัดเลือกฟุตบอลโลก 2018 ซึ่งถือเป็นรอบคัดเลือกรอบแรกของศึกเอเชี่ยนคัพ 2019 ด้วย
ผลที่ออกมาคือพวกเขาสามารถสร้างเซอร์ไพรส์ด้วยการแบ่งแต้มจากปาเลสไตน์และมาเลเซีย และช่วงเวลานั้นอันดับโลกของ ติมอร์เลสเต ขยับสูงขึ้นถึง 60 อันดับ (จากอันดับ 203 มาเป็น อันดับที่ 146) เลยทีเดียวภายในเวลาแค่ไม่กี่เดือน
แรงจูงใจที่โอนสัญชาติ
การมาเล่นให้ ติมอร์ เลสเต มีอะไรที่น่าดึงดูดใจที่ทำให้นักเตะจาก บราซิล อยากโอนสัญชาติมากมายขนาดนี้ ประเทศก็เล็กแถมรายได้ประชากรต่อหัวก็ถือว่าน้อยมากหากเทียบกับชาติอื่นๆ ในอาเซียน?
ว่ากันว่า 90% ของประชากรชายชาวบราซิลนั้นเตะบอลเป็นทุกคน พวกเขาผลิตนักเตะเยาวชนเข้าสู่ระบบปีละหลักหลายแสนคน ดังนั้นมันจึงเป็นเรื่องยากมากที่นักฟุตบอลคนหนึ่งจะสามารถก้าวขึ้นไปติดทีมชาติชุดใหญ่ได้ นี่คือที่มาที่ว่าทำไมนักเตะทีมชาติบราซิลจึงถูกเรียกว่า "เซเลเซา" เพราะคำนี้มีความหมายเป็นภาษาไทยว่า "ผู้ถูกเลือก"
แน่นอนทุกเรื่องถูกคิดวิเคราะห์มาเป็นอย่างดีจากทั้งฝั่งสมาคมฟุตบอลติมอร์เลสเต และ ตัวของนักเตะ บราซิล ที่เต็มใจและอยากจะเล่นให้กับ ติมอร์เลสเต ด้วย สิ่งที่พวกเขาต้องการคือ เวิร์คเพอร์มิต หรือใบอนุญาตทำงาน ซึ่งจำเป็นมากสำหรับการเดินทางไปทำมาหากินในประเทศที่พัฒนาเเล้ว
หนึ่งในกฎของการขอเวิร์คเพอร์มิตสำหรับนักฟุตบอลนั้น คือจำนวนการเล่นในระดับทีมชาติที่ต้องตีเป็นเปอร์เซนต์ยิบย่อยออกมาให้ได้ตามกฎที่แต่ละประเทศวางไว้อีก ทว่านักฟุตบอลชาวบราซิลหลายคนก็ไม่ได้มีความสามารถพอสำหรับการเล่นให้ชาติบ้านเกิด นั่นจึงเท่ากับว่าการขอ เวิร์ตเพอร์มิต แทบจะเป็นไปไม่ได้เลย ดังนั้นการโอนสัญชาติไปเล่นให้กับชาติเล็ก จะทำให้เหมือนเป็นการเปิดโอกาสให้เขาเหล่านั้นมีจำนวนเกมทีมชาติเพิ่มขึ้นได้โดยไม่ต้องง้อทีมชาติบราซิล และเมื่อได้จำนวนเท่าที่กฎกำหนดไว้พวกเขาจะสามารถต่อยอดอาชีพค้าแข้งได้แบบสบายๆ เลยทีเดียว และเหนือสิ่งอื่นใดการโอนสัญชาติมาเป็นชาว ติมอร์ เลสเต มันง่ายทั้งในแง่วิธีการและการปรับตัวด้วยทั้งสิ้น
"สิ่งที่นักเตะบราซิลเลือกมาเล่นติมอร์ ก็คงเป็นเพราะโอนสัญชาติง่าย นอกจากนี้ยังคิดว่าเรื่องภาษาเนี่ยง่ายเพราะใช้ภาษาโปรตุเกสเหมือนกัน แล้วก็อย่างที่รู้กันว่าบราซิลผลิตนักฟุตบอลเยอะมาก ดังนั้นการออกมาก็เหมือนการหาโอกาสได้ลงเล่นให้กับตัวเองและอาจจะติดทีมชาติ ที่ถึงแม้จะไม่ใช่บ้านเกิดแต่อย่างน้อยก็ผูกพันจากความสัมพันธ์ระหว่างประเทศแล้วก็ภาษาด้วย มันก็เหมือนเป็น บราซิลแห่งอาเซียนดีๆ นี่เอง" นักข่าวสายฟุตบอลเอเชียของ GOAL THAILAND เล่าถึงสิ่งที่เขาได้สัมผัสในปี 2015
นอกจากเรื่องของเวิร์คเพอร์มิตแล้ว การได้สัญชาติ ติมอร์ฯ คือใบเบิกทางที่จะทำให้เหล่านักเตะ บราซิเลี่ยน หรือชาติอื่นๆ หาเงินกับฟุตบอลลีกในเอเชียได้ง่ายขึ้นอีกด้วย
แทบทุกลีกในทวีปเอเชียจะจำกัดโควต้านักเตะต่างชาติทั้งสิ้น ดังนั้นหากพวกเขามีสัญชาติติมอร์ฯ นั่นหมายความว่าพวกเขาจะได้อยู่ในโควต้านักเตะเอเชีย ซึ่งเป็นช่องทางที่ง่ายต่อสโมสรที่จะดึงตัวไปร่วมทีมเพราะไม่ต้องไปเบียดกับโควต้าต่างชาติรายอื่นๆ
ความเปลี่ยนแปลงที่ไม่ทันได้ตั้งตัว
ติมอร์ เลสเต เห็นความสำเร็จในระยะเวลาสั้นจากการใช้งานนักเตะบราซิล พวกเขาสามารถทำให้ ปาเลสไตน์ และ มาเลเซีย ลิ้นห้อยได้ด้วยเหล่าเเซมบ้ากลายพันธุ์ทั้งหลาย นั่นคือเหตุผลที่ว่าทำไมถึงแม้จะมีแผนการพัฒนาเยาวชนแต่พวกเขายังเชื่อมั่นในการโอนสัญชาติอยู่ มันเหมือนช่วงเวลาน้ำขึ้นให้รีบตัก
ติมอร์ฯ พยายามจะโอนสัญชาติทั้ง เฮแบร์ตี้ เฟร์นันเดส รวมถึง ติอาโก้ คุนญ่า เข้าไปร่วมศึกครั้งนี้ด้วยทว่าที่สุดเเล้ว ฝันก็ค้างเพราะ ฟีฟ่า เข้ามาติดเบรกเรื่องงานโอนสัญชาติของ ติมอร์ ที่นักเตะบราซิลบางคนยังมีปัญหาทางเอกสารไม่ถูกต้องจึงไม่สามารถเล่นให้กับทีมชาติ ติมอร์ เลสเต ได้อีกต่อไป และการผลักดันให้ฟีฟ่า และ เอเอฟซี เข้ามาตรวจสอบครั้งนี้คือ ปาเลสไตน์ ที่พวกเขาบุกไปขโมยเเต้มถึงถิ่น และ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ที่กำลังจะต้องเล่นกับ ติมอร์ เลสเต ในเกมต่อไป
“ทำไมเราถึงใช้ผู้เล่นทั้งเจ็ดคนที่เป็นบราซิเลียนไม่ได้ มันเป็นคำถามที่ดีนะ แต่ผมไม่รู้จริงๆ ผมเป็นแค่โค้ช แน่นอน ผมอยากทำให้ทีมของผมแข็งแกร่งที่สุดเท่าที่ทำได้” เฟอร์นันโด อัลคันทารา หัวหน้าผู้ฝึกสอน ทีมชาติ ติมอร์ เลสเต เผยว่าพวกเขาจะไม่สามารถใช้นักเตะที่โอนสัญชาติมาจากบราซิลได้ โดยไม่ยอมเปิดเผยรายละเอียดมากนัก
ขณะที่ เฮแบร์ตี้ ซึ่งเวลานั้นเล่นให้ ราชบุรี มิตรผล เอฟซี ก็โอนสัญชาติไปเป็น ติมอร์ เลสเต ไม่สำเร็จเช่นกัน
"ผมรู้สึกเสียดายมากเลยนะ ที่ไม่สามารถช่วยติมอร์ เลสเตในศึกฟุตบอลโลกรอบคัดเลือกสองนัด มันเป็นเพราะตอนนี้ผมมีปัญหาเรื่องเอกสารบางอย่างทำให้ทีมไม่สามารถใส่ชื่อผมได้" เฮแบร์ตี้ ที่ปัจจุบันทำสถิติยิงในไทยลีกครบ 100 ประตูกล่าว
จากผลการตรวจสอบแบบจริงจัง คณะกรรมการตัดสินให้ สมาคมฟุตบอลติมอร์ ถูกตัดสิทธิ์การเข้าร่วมการแข่งขันฟุตบอล เอเชียน คัพ ยาวถึงปี 2023 พร้อมปรับเงินอีกจำนวน 20,000 ดอลลาร์ (หรือประมาณ 7 แสนบาท) พร้อมกับสั่งแบน มร. อมานดิโอ นายกสมาคมฟุตบอลติมอร์ฯ ห้ามยุ่งเกี่ยวกับกีฬาฟุตบอลเป็นเวลา 3 ปี ปรับ 9,000 ดอลลาร์ (หรือประมาณ 3 แสนบาท)
นอกจากนี้คณะกรรมการได้ออกคำสั่งให้ปรับแพ้ติมอร์ฯ ในเกมที่ส่งผู้เล่นผิดกฏลงสนามทุกนัด นอกจากนี้สมาคมฟุตบอลติมอร์ฯ ต้องจ่ายค่าปรับอีกจำนวน 56,000 USD (หรือประมาณ 2 ล้านบาท) และห้ามร่วมการแข่งขันอีกสองปี
นี่คือการฝันค้างอย่างแท้จริง หลังจากนั้นการโอนสัญชาติไปเป็น ติมอร์ เลสเต ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายอีกต่อไป มีเพียงนักเตะที่โอนสัญชาติชุดเก่าๆ เท่านั้นที่ยังมีสิทธิ์เล่นให้ทีมชาติ ขณะที่ตัวหลักๆ ซึ่งใช้อยู่ปัจจุบันก็เป็นเหล่านักเตะท้องถิ่นที่มีเชื้อสายทั้ง โปรตุกีส และ บราซิเลี่ยน เท่านั้น
ในวันที่ 9 พฤศจิกายน นี้ ติมอร์ เลสเต จะใช้นักเตะชุดที่มีอายุเฉลี่ยน้อยที่สุดในซูซูกิ คัพ 2018 ประมาณ 20 ปี และนักเตะที่อายุมากที่สุดอายุเพียงแค่ 26 ปีเท่านั้น
แม้จะเป็นสิ่งที่พวกเขาคาดไว้ก่อนอยู่แล้วสำหรับการผลักดันเยาวชนกันแบบยกชุด แต่ต้องยอมรับว่าการที่ ฟีฟ่า และ เอเอฟซี ช่วยกันสอดส่องดูแลช่องโหว่ในการโอนสัญชาติของ ติมอร์ฯ คือสิ่งที่ทำให้ นโยบายสร้างผลผลิตในประเทศของพวกเขาต้องมาเร็วกว่าที่คิดไป 2-3 ปี
แล้วแฟนบอลไทยจะได้เห็นกันว่าการโอนสัญชาตินักเตะเพื่อความสำเร็จในระยะสั้น จะช่วยสร้างพื้นฐานให้กับเยาวชนในประเทศระยะยาวได้หรือไม่? 1 ทุ่มตรงวันศุกร์นี้ คำตอบนั้นจะปรากฎใน 90 นาทีที่ราชมังคลากีฬาสถาน
อัลบั้มภาพ 13 ภาพ